ปกบทความ

สวัสดีค่ะ วันนี้แอบนำเนื้อหาเล็กๆน้อยๆในหนังสือเล่มใหม่ ‘เล็ก.อยู่.ได้’ ออกมาฝากกัน เผื่อใครสงสัยว่า เอ๊ะ!หนังสือเล่มนี้จะมีเนื้อหาตรงกับที่สนใจหรือเปล่า ก็ลองอ่านดูกันก่อนได้เลยค่ะ สำหรับหนังสือเล่มนี้ก็เป็นอีกเล่มที่ทางทีมงาน Think of living จัดทำขึ้น ภายในเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดพื้นที่ใช้สอยในคอนโดและทาวน์โฮมขนาดเล็ก ว่าควรตกแต่งอย่างไรให้อยู่สบาย สำหรับเนื้อหาที่จะนำมาฝากกันวันนี้เกี่ยวกับทาวน์โฮมหน้ากว้างต่างๆ ว่าส่งผลต่อพื้นที่ใช้สอยภายนอกอย่างไร และมีวิธีจัดพื้นที่ในส่วนต่างๆทั้งหน้าบ้าน หลังบ้าน และบ้านแปลงมุมอย่างไรค่ะ

ลงทะเบียนรับหนังสือเล็กอยู่ได้ ที่ทำขึ้นเพื่อตอบแทนให้กับผู้อ่านโดยจะแจกฟรีในงาน Living EXPO 2016 วันที่ 25 -28 สิงหาคมนี้ คลิกที่นี่

บทความพิเศษ (2 of 1) copy

การเลือกซื้อ “ทาวน์โฮม” ในการอยู่อาศัยนั้น สิ่งที่ควรพิจารณาเป็นลำดับต้นๆในการเลือกทาวน์โฮมก็คือแบบบ้าน ส่วนใหญ่แล้วทาวน์โฮมตามโครงการต่างๆที่พบในปัจจุบันก็จะมีขนาดแปลงบ้านและพื้นที่ใช้สอยในบ้านที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งความแตกต่างที่ดูง่ายที่สุดสำหรับทาวน์โฮมก็คือหน้ากว้างของตัวบ้านค่ะ โดยหน้ากว้างที่แคบที่สุดของทาวน์โฮมมีหน้ากว้างเริ่มต้นที่ 4 เมตร ซึ่งในตลาดปัจจุบันนี้ก็มีหน้ากว้างตั้งแต่ 4 ม. ไปจนถึงหน้ากว้างที่สุดที่ผู้เขียนเคยเจอก็ 10 ม.เลยนะคะ

เรามาลองเปรียบเทียบแปลนทาวน์โฮมในแบบหน้ากว้างต่างๆกันนะคะ ตั้งแต่แบบหน้ากว้าง 4 – 10 เมตร โดยจะนำแปลนทาวน์โฮมของแต่ละหน้ากว้างมาเรียงต่อกัน แล้วแบ่งพื้นที่หลักทั้ง 3 ส่วนของทาวน์โฮมออกเป็น 3 สี 

  • หมายเลข 1 แทนพื้นที่หน้าบ้าน (ส่วนสีฟ้า) : คือพื้นที่ภายนอกบ้านตั้งแต่รั้วบ้านมาจนถึงประตูเข้าตัวบ้าน มักใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถ, พื้นที่สีเขียวของบ้าน และพื้นที่นั่งเล่นหน้าบ้าน
  • หมายเลข 2 แทนตัวบ้าน (ส่วนสีชมพู) : คือพื้นที่อยู่อาศัยภายในอาคารทั้งหมด ทั้งห้องนั่งเล่น ห้องทานอาหาร ห้องน้ำ ห้องนอน เป็นต้น
  • หมายเลข 3 แทนพื้นที่หลังบ้าน (ส่วนสีเหลือง) : คือพื้นที่ในส่วนของลานซักล้างหลังบ้าน ที่หลายบ้านมักนิยมต่อเติมให้เป็นห้องครัวของบ้าน

Untitled-2

สังเกตความแตกต่างของทาวน์โฮมหน้ากว้างต่างๆในกรณีที่พื้นที่ใกล้เคียวกันนะคะ ยิ่งทาวน์โฮมหน้าแคบแปลงที่ดินก็ยิ่งมีความลึกมากแปลนบ้านก็จะเป็นแนวยาวลึกเข้าไปด้านในตามรูปของแปลงที่ดิน ส่วนทาวน์โฮมแบบที่หน้าบ้านกว้างจะมีความลึกน้อยลง รูปทรงของตัวบ้านจะเปลี่ยนจากสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสทำให้การจัดวางฟังก์ชันเปลี่ยนไปและส่งผลต่อบรรยากาศโดยรวมของบ้านด้วยค่ะ

เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆจากตัวอย่างของแบบบ้านที่หน้ากว้างแคบที่สุด (4 เมตร) และแบบหน้ากว้างกว้างที่สุด (10 เมตร) นะคะ แบบทาวน์โฮมหน้ากว้าง 10 เมตร ทำให้แปลนบ้านออกมาค่อนข้างสั้น แต่จะได้หน้ากว้างแทน พื้นที่ใช้สอยภายในบ้านจะมีความโปร่ง เพราะหน้าต่างทั้งฝั่งหน้าบ้านและหลังบ้านจะรับแสงธรรมชาติเข้ามาในอาคาร ด้วยความลึกของตัวบ้านที่ไม่มาก จึงทำให้แสงสามารถส่องเข้ามาได้ทั่วพื้นที่ภายในบ้าน ในขณะที่ทาวน์โฮมหน้ากว้าง 4 เมตร จะมีพื้นที่หน้าต่างที่น้อยกว่าเพราะหน้ากว้างแคบกว่า แต่ตัวอาคารที่ลึกกว่าจะทำให้พื้นที่บริเวณตรงกลางบ้านได้รับแสงน้อย อาจจะต้องเปิดไฟในบ้านช่วยแม้ในเวลากลางวัน  นอกจากหน้ากว้างของทาวน์โฮมจะส่งผลต่อรูปร่างของแปลงที่ดิน และแปลนบ้านแล้ว ยังส่งผลต่อพื้นที่ใช้งานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านด้วยนะคะ

บทความพิเศษ (1 of 7)

ขนาดพื้นที่หน้าบ้านที่ต่างกัน ..ก็ทำให้มีพื้นที่จอดรถมากน้อยได้ไม่เท่ากัน อย่างบ้านหน้ากว้าง 4 เมตร จะสามารถจอดรถหน้าบ้านได้แค่คันเดียว ถ้าหน้ากว้าง 5 เมตร จะจอดได้ 2 คันแบบที่เปิดประตูยากหน่อย ถ้าหน้ากว้าง 6 เมตร แล้วจอดรถ 2 คันก็จะเหมาะสมกว่า ส่วนบ้านหน้ากว้าง 10 เมตร จะสามารถจอดรถได้ 2-3 คันเลย เวลาจะเลือกแบบบ้านจึงควรคำนึงถึงจำนวนรถยนต์ของที่บ้านด้วยว่ามีกี่คัน เป็นรถอะไรบ้าง ถ้ามีมอเตอร์ไซค์หรือจักรยานจะจอดตรงไหน สำหรับพื้นที่จอดรถนอกจากจะพิจารณาเรื่องหน้ากว้างแล้ว ต้องดูเรื่องความลึกของหน้าบ้านด้วยนะคะ บางครอบครัวใช้รถกระบะ พอจอดรถหน้าบ้านแล้วไม่สามารถปิดประตูหน้าบ้านได้ก็มี จึงต้องดูว่ารถกระบะที่ขับนั้นยาวเท่าไหร่ อย่างปัจจุบันที่ยาวประมาณ 5.2 เมตรก็พวก Nissan Navara, Toyota Vigo หรือที่ยาวเป็นพิเศษหน่อยก็ Ford Ranger, Chevrolet Colorado, Mazda BT-50 ยาวประมาณ 5.4 เมตร

บทความพิเศษ (3 of 7)

พื้นที่ใช้สอยหลังบ้าน พื้นที่ด้านหลังส่วนใหญ่จะให้ความกว้างมาไม่ต่ำกว่าขนาด 2 เมตร ตามกำหนดขั้นต่ำระยะถอยร่นตามกฎหมาย พื้นที่ส่วนนี้เป็นพื้นที่ที่ผู้อยู่อาศัยนิยมต่อเติมมาก ส่วนใหญ่จะต่อเติมเป็นครัวและพื้นที่ส่วนซักล้างของบ้าน ถ้าแบบทาวน์โฮมที่หน้ากว้าง 4 เมตรก็จะทำให้พื้นที่ใช้งานในส่วนหลังบ้านมีขนาดประมาณ 4 x 2 เมตร ทำให้พื้นที่ครัวและลานซักล้างมีขนาดเล็กหน่อย ถ้าเลือกแบบทาวน์โฮมที่หน้ากว้างขึ้นมาก็จะทำให้มีพื้นที่ลานซักล้างด้านหลังกว้างขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ขนาดพื้นที่ใช้สอยหลังบ้านอาจไม่เท่ากันแล้วแต่แปลงที่ดินด้วยนะคะ อย่างเช่นถ้าโครงการทาวน์โฮมหน้ากว้าง 4 เมตรแต่ด้านหลังโครงการเป็นคลองกว้าง 10 เมตรต้องมีระยะถอยร่นหลังบ้านถึง 6 เมตร ก็จะทำให้พื้นที่ใช้สอยหลังบ้านกว้าง 4 x 6 เมตร ได้ ก็ต้องพิจารณาเป็นรายแปลงไป

นอกจากนี้ได้นำตัวอย่างของการจัดพื้นที่ใช้สอยภายนอกทาวน์โฮมมาฝากกันด้วย แบบที่นำมาเป็นตัวอย่างนี้คือแบบหน้ากว้าง 5.7 เมตร แบบที่จอดรถ 1 คัน ส่วนใหญ่จะเหลือพื้นที่ใช้สอยเพียงด้านหน้าบ้านฝั่งหนึ่ง ขนาดประมาณ 4 x 3 เมตร พื้นที่ตรงนี้จะเชื่อมต่อกับเฉลียงหน้าบ้านและห้องนั่งเล่นในบ้าน ทำให้พื้นที่ส่วนนี้สามารถมองเห็นออกมาจากภายในบ้านได้ จึงควรทำเป็นพื้นที่สีเขียวให้กับตัวบ้าน เวลาที่นั่งเล่นอยู่ในบ้านก็สามารถมองออกมาเห็นพื้นที่สีเขียวได้ค่ะ

ภาพที่ 9

การจัดบ้านเพื่อให้ใช้ประโยชน์ของพื้นที่ให้คุ้มค่าที่สุดนั้น ก็ควรจัดพื้นที่ตรงนี้ให้คุ้มค่าทั้ง 3 ฟังก์ชั่น คือ

  • ฟังก์ชั่นแรก เป็นพื้นที่สำหรับปลูกไม้พุ่มหรือติดระแนงกันสายตาจากบ้านข้างเคียง เพื่อทำให้พื้นที่อยู่อาศัยภายในบ้านเกิดความเป็นส่วนตัว โดยใช้ไม้พุ่มปลูกริมรั้ว พันธุ์ไม้สามารถเลือกได้หลากหลาย ต้นที่นิยมปลูกกัน เช่น โมก คริสติน่า ไทรเกาหลี เป็นต้น หรือถ้าหากไม่ค่อยมีเวลาดูแลต้นไม้ก็สามารถใช้เป็นระแนงตีทึบเลยก็ได้ค่ะ
  • ฟังก์ชั่นที่ 2 เป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อให้ร่มเงาแก่ตัวบ้าน เพราะพื้นที่ตรงนี้เป็นตำแหน่งเดียวที่สามารถวางต้นไม้ใหญ่ได้ พันธุ์ไม้ที่แนะนำจะเป็นกลุ่มที่รากไม่แผ่กว้างมาก และต้องดูว่าต้นที่เลือก จะมียาง มีลูกผลไม้ หรือกิ่งไม้หล่นใส่รถ ได้รึเปล่า พันธุ์ไม้ที่นิยมปลูกกัน เช่น ลีลาวดี แคนา เป็นต้น
  • ฟังก์ชั่นที่ 3 เป็นพื้นที่นั่งเล่นด้วยความที่พื้นที่สวนในบ้านมีขนาดเล็กจึงควรเพิ่มฟังก์ชั่นลงไปในพื้นที่สวนให้เป็นพื้นที่ที่สามารถเข้าไปใช้งาน นั่งเล่น หรือพื้นที่สำหรับจัดปาร์ตี้เล็กๆกับครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อนสนิท 3-4 คนได้นั่นเอง โดยเฟอร์นิเจอร์ที่เลือกก็ควรเลือกแบบที่เป็น Multi Function จะทำให้ประหยัดพื้นที่ใช้สอยได้ 

แปลนตัวอย่างการจัดพื้นที่สีเขียวหน้าบ้านแปลนนี้จะใช้พื้นที่หน้าบ้านทั้ง 3 ฟังก์ชัน มีไม้พุ่มบังสายตาจากภายนอกบ้าน มีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา และมีพื้นที่สำหรับนั่งเล่นในสวนได้ค่ะ

ต่อไปเป็นส่วนหลังบ้านเราลองมาดูแปลนตัวอย่างการจัดพื้นที่หลังบ้านกัน สำหรับทาวน์โฮมที่ครัวภายในบ้านไม่ได้ออกแบบให้มีการกั้นปิดอย่างมิดชิดหรือไม่ได้ติดตั้งเครื่องดูดควันไว้คงจะมีปัญหาเรื่องกลิ่นฟุ้งกระจายในบ้านเวลาทำอาหารใช่ไหมคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารไทยที่มีกลิ่นฉุนของเครื่องเทศ ทั้งต้ม ผัด แกง ทอด จนควันฟุ้งไปทั่วบริเวณทีเดียว ทาวน์โฮมส่วนใหญ่จึงนิยมต่อเติมครัวไทยด้านหลังบ้าน ซึ่งนับเป็นไอเดียที่ได้รับความนิยมเสมอมา แปลนตัวอย่างพื้นที่ด้านหลังบ้านนี้จะมาในคอนเซปต์ “ครัวไทยในสวนหลังบ้าน” ที่จะทำเป็นแบบครัวเปิด เนื่องมาจากลักษณะการทำอาหารไทยที่มีกลิ่นฉุนจึงเหมาะกับพื้นที่นอกบ้านที่มีอากาศปลอดโปร่งและมีลมถ่ายเทอยู่เสมอ นอกจากนี้ถ้าพื้นที่หลังบ้านอยู่ทางทิศใต้ยังเป็นช่องเปิดของบ้านให้ลมสามารถพัดเข้ามาตัวบ้านได้จากทางด้านหลังอีกด้วย แต่ถ้าอยู่ทางทิศตะวันตกก็ต้องติดกันสาดให้ยาวนิดหนึ่ง เพื่อกันแสงแดดส่องเข้าบ้าน จะทำให้พื้นที่อยู่อาศัยภายในบ้านร้อนได้ค่ะ