สวัสดีค่ะ ช่วงปีใหม่ก็เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนได้วางแผนไปเที่ยวกันใช่ไหมคะ ยิ่งปีที่ผ่านมาเป็นมีเรื่องราวต่างๆเข้ามามากมาย ช่วงปีใหม่ได้หยุดหลายวันก็อยากจะพักผ่อนกันบ้าง หลายๆคนได้วางแผนปิดบ้าน/คอนโดออกไปเที่ยวยาวๆกันแล้ว แต่อย่าลืมเช็คความปลอดภัยก่อนที่จะไม่อยู่บ้านกันนะคะ ไม่อย่างนั้นเทศกาลปีใหม่กลับมาอาจจะเป็นการเริ่มต้นปีที่เราไม่อยากนึกถึงเลย
แล้วเราควรจะเริ่มต้นดูแลบ้านยังไง ? ก่อนจะไม่อยู่บ้านนานๆ วันนี้เรานำปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ภายในบ้านมาบอก พร้อมวิธีการเช็คดูแต่ละจุดว่าควรตรวจสอบอะไรบ้าง และปิดท้ายด้วยการเพิ่มอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยภายในบ้าน ให้ไปเที่ยวได้อย่างสบายใจ หายห่วงกันไปเลยค่ะ
Part 1 : ปัญหาที่อาจะเกิดขึ้นเมื่อไม่อยู่บ้าน
Part 2 : จุดที่ควรตรวจสอบก่อนออกจากบ้าน
Part 3 : ติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติม
ปัญหาที่อาจะเกิดขึ้นเมื่อไม่อยู่บ้าน
เวลาที่เราไม่อยู่บ้านหลายๆวัน อาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ โดยอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในบ้านของเราก็คือ ไฟไหม้, น้ำท่วม(เกิดจากน้ำรั่ว หรือเปิดน้ำทิ้งไว้) และมีขโมยเข้าบ้านนั่นเองค่ะ เราไปดูกันว่าอะไรคือเป็นความเสี่ยงให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ได้บ้าง
ไฟไหม้
เริ่มจากปัญหาไฟไหม้ ถือเป็นปัญหาที่ถ้าเกิดขึ้นแล้วทำให้เกิดความเสียหายใหญ่ทีเดียวค่ะ เนื่องจากภายในบ้านมักจะมีวัตถุที่เป็นเชื้อเพลิง ทำให้เกิดการลุกไหม้ที่หนักขึ้นได้ โดยสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ความประมาท ไม่ได้ระมัดระวังและตรวจสอบให้ดีก่อน เช่น
- ใช้ปลั๊กไฟไม่ได้คุณภาพ เกิดการช็อต
- ลืมปิดแก๊ส หรือเตาไฟ
- ลืมปิด/ ถอดปลั๊กเครื่องทำความร้อน
- เสียบปลั๊กไฟทิ้งไว้
- ทิ้งก้นบุหรี่ หรือเชื้อไฟไว้ในบ้าน เช่น ธูป, เทียน
- เกิดการสะสมของสารบางชนิดและลุกไหม้ได้เอง
ซึ่งสาเหตุดังกล่าวสามารถป้องกันได้ถ้าเราตรวจสอบให้ดีก่อนออกจากบ้าน เดี๋ยวเราจะพาไปดูในหัวข้อถัดไปค่ะ ส่วนสาเหตุอีกข้อหนึ่งของการเกิดเพลิงไหม้ คือ เกิดจากความตั้งใจ หรือไม่ได้เกิดจากความประมาทของเราเอง เช่น
- ไฟไหม้ลามมาจากพื้นที่ข้างเคียงที่มีความเสี่ยง
- การลอบวางเพลิง/ การก่อวินาศกรรม
ซึ่งสาเหตุนี้เราอาจจะป้องกันได้ยาก แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เราสามารถดูแลและแจ้งเหตุได้ทันท่วงที จากการติดตั้งอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยภายในบ้านทำเองได้ ในหัวข้อสุดท้ายค่ะ
น้ำรั่ว / น้ำท่วม
ปัญหานี้หลายคนอาจจะมองว่าไกลตัวเพราะบ้านไม่ได้อยู่ในทำเลที่มีน้ำท่วมบ่อยๆ แต่สาเหตุของน้ำท่วมที่เราพูดถึงไม่ได้เป็นเรื่องน้ำท่วมภายนอกค่ะ ผู้เขียนเองเคยมีประสบการณ์น้ำท่วมห้องครัว จากการลืมปิดเครื่องกรองน้ำตอนกรอกน้ำเสร็จแล้ว ! เราเดินออกจากห้องนั้นมานั่งเล่นดูหนังที่ห้องนั่งเล่นโดยไม่ได้รู้เลยว่าน้ำได้ออกมานองเป็นแอ่งภายในห้องครัวเสียแล้วค่ะ กว่าจะรู้ตัวก็ทำให้เฟอร์นิเจอร์ชื้นจนบวม ใช้งานไม่ได้เสียเงินไปง่ายๆเลยค่ะ ยิ่งถ้าพื้นห้องใครที่เป็นพื้นลามิเนตละก็อาจจะได้ปูพื้นใหม่ เป็นเรื่องใหญ่เลยก็ว่าได้ นอกจากสาเหตุที่กล่าวมาแล้วก็มีสาเหตุอื่นๆอีก เช่น
- ฝนตกหนัก หลังคารั่ว
- ฝนตกหนักแล้วน้ำรั่วที่ขอบประตู / หน้าต่างเข้ามาในบ้าน
- ลืมปิดหน้าต่าง / ประตู ทำให้น้ำฝนสาดเข้ามาในบ้าน
- ฝนตกหนัก แล้วมีใบไม้อุดตันในท่อระบายน้ำทำให้น้ำท่วมระเบียงจนเข้ามาภายในบ้าน / ห้องได้
- ลืมปิดก๊อกน้ำ
- ท่อน้ำรั่ว
ปัญหาน้ำรั่ว นอกจากจะทำให้ทรัพย์สินภายในบ้านเสียหายแล้ว ถ้าเกิดจากเราลืมปิดน้ำประปาก็ยังทำให้เสียค่าน้ำเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย ยิ่งใครที่อยู่หอพัก หรือคอนโดมิเนียมที่มีค่าน้ำต่อหน่วยสูงๆ ก็เสียหายพอๆกับซื้อเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่เลยค่ะ
ขโมยขึ้นบ้าน
โจรกรรมก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ไม่ว่าใครก็ไม่อยากมีประสบการณ์กันทั้งนั้นนะคะ บางคนเก็บสมบัติและทรัพย์สินที่มีทั้งหมดไว้ภายในบ้าน มีแม่บ้านที่ไว้ใจไม่ได้เข้ามาทำงาน รู้ทุกซอกทุกมุมของบ้าน โดนขโมยขึ้นบ้านครั้งเดียวขโมยไปได้หมดทุกอย่างเลย บางคนพยายามไม่ให้คนนอกเข้ามาในบ้าน แต่บางครั้งบ้านของเราอาจจะจูงใจให้โจรเข้ามาหาด้วยเหมือนกันนะคะ ขโมยขึ้นบ้านมีสาเหตุหลายประการ เช่น
- รั้วบ้านไม่แน่นหนา ปีนเข้ามาได้ง่าย
- มีของมีค่าภายในบ้านและภายนอกบ้านเป็นที่สังเกตได้
- บริเวณบ้านมืด มองเห็นได้ยาก
- ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันขโมย เช่น กล้อง CCTV, สัญญาณกันขโมย
- บ้านไม่ได้ล็อค
- บริเวณสวนมีต้นไม้แน่นทึบ มองเห็นได้ยาก
ใครที่พอทราบปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อเราไม่อยู่บ้านแล้วหมดสนุกไม่อยากไปเที่ยวแล้ว ไม่ต้องกังวลไปนะคะ สาเหตุที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเรามีวิธีที่สามารถป้องกันได้ โดยการตรวจเช็คจุดต่างๆภายในบ้านกันค่ะ
จุดที่ควรตรวจสอบก่อนออกจากบ้าน
ใครที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มตรวจสอบจากตรงไหนก่อนดี แนะนำให้แยกเป็นหมวดหมู่เพื่อความเข้าใจและจำง่ายๆค่ะ โดยเราจะป้องกัน 3 ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น คือ ปัญหาไฟไหม้, น้ำรั่ว/น้ำท่วม และขโมยขึ้นบ้าน สามารถไล่เช็คไปทีละห้อง พร้อมๆกันได้เลยค่ะ
ระบบไฟฟ้า
ระบบไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านมักเป็นสาเหตุอันดับต้นๆของเหตุเพลิงไหม้ภายในบ้านพักอาศัยเลยค่ะ ซึ่งก่อนออกจากบ้านเราควรปิดสวิตซ์ไฟภายในบ้านให้มากที่สุด ถ้าปิดได้หมดเลยก็ดีค่ะ แต่เราก็มักจะมีของแช่ในตู้เย็น หรือต่อกับสัญญาณกันขโมย กล้อง CCTV ไว้ หรือแม้แต่บางบ้านมีสัตว์เลี้ยง น้องหมา น้องแมว ต้องเปิดไฟ, พัดลม เปิดเครื่องทำออกซิเจนในตู้ปลาไว้ ก็ทำให้ไม่สามารถปิดไฟฟ้าภายในบ้านได้ทั้งหมด เราจึงควรป้องกันให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ค่ะ
- ปิดการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องทำความร้อน เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น, เตาไฟฟ้า, เตารีด, เตาอบ เพราะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้กำลังไฟมาก ก็มีโอกาสเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้มากตามไปด้วย
- ถอดปลั๊กไฟที่ไม่ได้ใช้งานทั้งหมด เช่น TV, เตาไฟฟ้า, พัดลม, หม้อหุงข้าว, โคมไฟ เป็นต้น
- เลือกใช้ปลั๊กพ่วงที่มีคุณภาพ ไม่ใช้ปลั๊กพ่วงต่อๆกันหลายชั้น
เตาแก๊ส / เปลวไฟ
อีกสาเหตุหลักๆของเพลิงไหม้เลยก็คือภายในครัว หรือจุดที่มีการใช้เปลวไฟอย่างเตาแก็ส, ห้องพระ เป็นต้น เราจึงควรตรวจสอบให้ละเอียดก่อนจะออกไปเที่ยวยาวๆนะคะ เพราะเกิดเพลิงไหม้ขึ้นมาจะไม่คุ้มนะ
- อย่าลืมปิดเตาแก๊ส ไม่ใช่แค่บริเวณเตานะคะ จะต้องปิดวาล์วที่ถังแก๊สด้วย เพราะอาจจะเกิดสายชำรุด มีสัตว์มากัดแทะแล้วทำให้แก๊สรั่วได้
- ไม่ควรทิ้งก้นบุหรี่ไม่เป็นที่ เพราะอาจจะไปเจอกับเศษใบไม้แห้ง หรือวัตถุที่เป็นเชื้อเพลิงทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้นได้
- อย่าลืมดับธูป เทียนให้หมด เพราะอาจจะมีลมพัดไปโดนวัตถุที่เป็นเชื้อเพลิงเช่นกันค่ะ
สารเคมี
นอกจากแปลวไฟตรงๆแล้ว ยังควรระวังสารเคมีติดไฟด้วยค่ะ
- ไม่ควรวางสารเคมีติดไฟได้ไว้ในที่แสงแดดส่องถึง หรือมีความร้อนสูง
- ไม่ควรวางกระป๋องสเปรย์ไว้ในที่มีความร้อนสูง
มีวิธีการป้องกันแล้ว ยังควรมีอุปกรณ์แก้ไข อย่างถังดับเพลิง*สำรองไว้ที่บ้านเผื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ เจ้าหน้าที่ในหมู่บ้าน หรือเพื่อนบ้านเราจะได้สามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ทันท่วงทีด้วยค่ะ
*ถังดับเพลิงมีหลายชนิด ดับไฟจากเชื้อเพลิงที่แตกต่างกัน รายละเอียดอ่านได้ที่อุปกรณ์ป้องกันเพลิงไหม้ ในหัวข้อถัดไปค่ะ
ระบบประปา
ก่อนออกจากบ้านยาวๆ เพื่อป้องกันน้ำรั่ว น้ำท่วม ทำให้เสียค่าน้ำไปฟรีๆโดยที่เราไม่รู้ตัว และอาจะเกิดความเสียหายให้กับวัสดุพื้น หรือเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านของเราได้ ขอแนะนำให้ทำตามวิธีดังนี้ค่ะ
- ปิดก๊อกน้ำให้สนิททุกจุด น้ำที่หยดเล็กๆออกจากก๊อกที่ปิดไม่สนิทอาจรวมกันแล้วไหลนองออกมาโดนพื้น หรือเฟอร์นิเจอร์ของเราจนเสียหายได้
- เช็คว่ามีน้ำรั่วตรงไหนหรือไม่ ถ้ามีให้ซ่อมแซมแก้ไขเสียก่อน
- ปิดวาล์วน้ำที่มิเตอร์หน้าบ้าน
หลังคา / ขอบประตูหน้าต่าง / ระเบียง
นอกเหนือจากการที่เราประมาทลืมปิดน้ำเองแล้ว ยังมีสาเหตุของน้ำรั่ว / น้ำท่วมที่เราไม่ได้คาดคิดอย่างฝนตกหนักอีกด้วย ถ้าเราทราบจุดที่น้ำอาจรั่วเวลาฝนตก ควรแก้ไขและป้องกันไว้ก่อนค่ะ
- ถ้าหลังคาน้ำรั่ว และมีการหยดลงมาจากฝ้า ให้หาถังมารองตรงจุดที่รั่วไว้ก่อน
- ถ้ามีประตู / หน้าต่างที่กรอบบานรั่ว น้ำซึมเข้ามาได้ ให้ใช้ซิลิโคน, ยาแนวอุดรอยร้าว หรือรูที่อาจเกิดการรั่วซึมได้
- ตรวจดูท่อระบายน้ำว่ามีอะไรอุดตัน/ขวางทางน้ำหรือไม่ ถ้ามีให้เอาออกเพื่อให้น้ำระบายได้ดี
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ >> รวมปัญหาบ้านหน้าฝน รั่ว ซึม ตรงไหน ต้องรู้อะไรบ้าง?
ประตู / หน้าต่าง
ประตู / หน้าต่าง นอกจากจะเกิดการรั่วซึมของน้ำแล้ว ยังเป็นสาเหตุอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ขโมยตัดสินใจเข้ามาบ้านเราได้ค่ะ โดยเฉพาะคนที่ชอบเปิดประตูบ้านทิ้งไว้ คิดว่าไม่เป็นไร หมู่บ้านมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตลอด แต่หลายๆครั้งขโมยก็เลือกที่จะขึ้นบ้านจัดสรรเพราะปีนได้ง่าย และเจ้าหน้าที่มักอยู่แต่ที่ซุ้มประตูทางเข้าเท่านั้นค่ะ
- ล็อคประตู หน้าต่าง ให้ครบทุกบาน และอย่าซ่อนกุญแจไว้ด้านนอกบ้าน
- มีอุปกรณ์ป้องกันขโมย เช่น Magnetic sensor, Shock Sensor เป็นต้น
- ถ้าเป็นประตูกระจกควรปิดม่านให้มิดชิด ไม่ให้มองเห็นสิ่งของจากภายนอกได้
- ถ้าอยู่คอนโดอย่าลืมล็อคประตู / หน้าต่างทางฝั่งระเบียง
มาถึงการดูแลสวนและพื้นที่รอบๆบ้านกันบ้างค่ะ การมีพื้นที่สวนที่เปิดโล่ง มีรั้วที่แน่นหนาช่วยกันขโมยที่จะมาขึ้นบ้านของเราได้ อย่างน้อยๆก็ทำให้การเข้าถึงภายในบ้านได้ยากขึ้น เพื่อนบ้านสามารถมองเห็นและช่วยเป็นหูเป็นตาให้เราได้ค่ะ นอกจากนั้นการจัดพื้นที่สวนให้โล่งไม่เป็นที่สุมของกองใบไม้แห้ง ยังช่วยลดโอกาสในการลุกไหม้เป็นเปลวไฟได้อีกด้วยค่ะ
รั้ว
- รั้วควรมีความสูง และปีนได้ยาก
- มองเห็นเลขที่บ้านได้ชัดเจน เวลาแจ้งเหตุฉุกเฉินเจ้าหน้าที่สามารถระบุตำแหน่งได้รวดเร็ว
- มีอุปกรณ์ป้องกันขโมย เช่น เหล็กแหลม, รั้วไฟฟ้า เป็นต้น
บริเวณภายนอกบ้าน
- ควรมีแสงสว่างรอบๆบ้าน เพื่อให้ง่ายต่อการมองเห็น
- ไม่ควรวางของมีค่าไว้ในพื้นที่สวนและในบ้าน ที่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก
- ไม่ควรมีอุปกรณ์ งัด ทุบ ไว้ด้านนอกบ้าน เพราะจะทำให้ขโมยสามารถงัดแงะเข้ามาภายในบ้านได้ง่ายขึ้น
- มีอุปกรณ์ป้องกันขโมย เช่น กล้อง CCTV บริเวณรอบๆบ้านเมื่อเกิดเหตุสามารถรับรู้ได้รวดเร็ว
Check List สิ่งที่ต้องตรวจเช็คก่อนออกจากบ้าน
ติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติม
เราได้ตรวจเช็คภายในบ้านกันไปแล้วนะคะ ใครที่ยังรู้สึกว่าไม่มั่นใจยังห่วงบ้านอยู่ละก็ แนะนำให้เพิ่มความมั่นใจโดยการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันภายในบ้านเพิ่มเติม การมีอุปกรณ์ที่ไว้ใจได้ก็เหมือนกับเราได้อยู่ดูแลบ้านเอง หรือมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลบ้านให้เราอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเราจะขอแนะนำเป็นอุปกรณ์ที่ติตตั้งง่ายๆได้ที่บ้านโดยไม่ต้องเดินระบบให้วุ่นวาย และสามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไปค่ะ
ป้องกันไฟไหม้
- ปลั๊กไฟตั้งเวลา
บางครั้งเรามีความจำเป็นจะต้องเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าบางอย่างไว้ เช่น ตู้เย็น, เครื่องให้อาหารสัตว์อัตโนมัติ ฯลฯ แล้วอาจจะเผลอลืมปิด ตัวปลั๊กไฟ(เต้ารับ) ตั้งเวลาจะเป็นตัวช่วยในการตัดกระแสไฟฟ้าเมื่อครบกำหนดเวลา ช่วยให้เราไม่ต้องกังวลตอนไม่อยู่บ้านค่ะ
ราคา ปลั๊กไฟตั้งเวลา : 200 – 500 บาท/ชิ้น
- ถังดับเพลิง
นอกจากจะมีการป้องกันแล้วยังควรมีถังดับเพลิงไว้แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยนะคะ ซึ่งถังดับเพลิงสามารถหาซื้อได้ที่ ร้านขายอุปกรณ์ภายในบ้านทั่วไปเลยค่ะ
ข้อควรระวังคือเชื้อเพลิงแต่ละประเภทจะใช้ถังดับเพลิงคนละชนิดกันนะคะ เรามาดูประเภทเพลิงไหม้กันก่อนค่ะ
– เพลิงไหม้ที่เกิดจากวัตถุติดไฟได้ง่ายอย่างเช่น ผ้า ไม้ กระดาษ ขยะ ที่สามารถใช้น้ำเปล่าในการดับไฟได้ ให้ใช้ถังดับเพลิงที่มีสัญลักษณ์ตัว A (เพลิงไหม้ประเภท A (Ordinary Combustibles))
– เพลิงไหม้ที่เกิดจากแก๊สรั่ว สารเคมีจากน้ำมันดิบ เช่น น้ำมันก๊าซ น้ำมันหล่อลื่น สามารถลุกไหม้ได้นานเมื่อมีออกซิเจนอยู่รอบๆ ให้ใช้ถังดับเพลิงที่มีสัญลักษณ์ตัว B (เพลิงไหม้ประเภท B (Flammable Liquids))
– เพลิงที่เกิดจากอุปกรณ์ที่มีไฟฟ้าคือ ถังที่มีสัญลักษณ์ตัว C (เพลิงไหม้ประเภท C (Electrical Equipment) )
– เพลิงไหม้จากเชื้อเพลิงที่เป็นโลหะติดไฟได้ เช่น ไทเทเนียม (Titanium), แมกนีเซียม (Magnesium), อลูมิเนียม (Aluminium) และ โพแทสเซียม (Potassium) เป็นต้น ไม่สามารถใช้น้ำเปล่าดับได้ จะต้องใช้ถังดับเพลิงที่มีสัญลักษณ์ตัว D (เพลิงไหม้ประเภท D (Combustible Metals))
– เพลิงไหม้จากน้ำมัน ในห้องครัว หรือไขมัน ห้ามใช้น้ำเปล่าในการดับนะคะ ให้ใช้ถังดับเพลิงที่มีสัญลักษณ์ตัว K (เพลิงไหม้ประเภท K (Combustible Cooking))
ประเภทของถังดับเพลิงในท้องตลาด
– ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง (Dry Chemical Extinguishers) : ดับเพลิงชนิด A,B,C
– ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาเหลวระเหย HCFC-123 (Halotron Extinguishers) : ดับเพลิงชนิด A,B,C
– ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาโฟม (Foam Extinguishers) : ดับเพลิงชนิด A,B
– ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide (CO2) Extinguishers) : ดับเพลิงชนิด B,C
– ถังดับเพลิงชนิดน้ำ (Water Extinguishers) : ดับเพลิงชนิด A
– ถังดับเพลิงชนิด Wet Chemical Class K : ดับเพลิงชนิด K
ราคา ถังดับเพลิง : 550 – 1,200 บาท/ถัง
- อุปกรณ์ตรวจจับควัน (smoke detector)
อุปกรณ์ตรวจจับควันก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยเตือนอัคคีภัยให้กับบ้านของเราได้ค่ะ ตัวเครื่องจะทำงานจากการวัดความโปร่งแสงมีทั้งแบบ อินฟราเรด(Infrared) และ แบบ LED สามารถตรวจจับได้รวดเร็ว เพราะตรวจจับควันก่อนที่จะมีไฟลุกลาม (เร็วกว่าอุปกรณ์ตรวจจับความร้อน (Heat Detector)) แต่จะมีราคาที่สูงกว่า Heat Detector ซึ่งปัจจุบันก็มีอุปกรณ์ตรวจจับที่สามารถส่งสัญญาณเตือนเราใน Application ได้ค่ะ
ราคา Smoke detector : 500 – 2,500 บาท/เครื่อง
ป้องกันขโมย
- ไฟ Motion Sensor
ไฟ Motion Sensor เป็นอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่ติดตั้งง่าย และใช้งานได้ดีค่ะ เมื่อเราเดินผ่านไฟจะติดขึ้นมาเองอัตโนมัติ ปัจจุบันมีแบบที่ใช้ไฟจากโซลา เซลล์ ไม่ต้องต่อกับไฟฟ้าเลย และมีราคาถูก สามารถติดได้ทุกตำแหน่งรอบบ้าน (ที่รับพลังงานจากแสงแดดได้)
ราคา ไฟ Motion Sensor : 50 – 390 บาท/ชิ้น
- Motion Sensor
Motion Sensor เป็นอุปกรณ์ตรวจจับความเคลื่อนไหว สามารถติดตั้งไว้ที่ประตู หน้าต่าง หรือจุดอื่นๆตามต้องการ เมื่อมีการเคลื่อนไหว ตัวอุปกรณ์จะแจ้งเตือนโดยส่งเสียง หรือแจ้งไปทาง Smartphone ของเจ้าของบ้านให้รู้ตัวได้ทัน ซึ่งส่วนใหญ่จะติดต้ังพร้อมกับกล้องวงจรปิด ให้มองเห็นภาพแบบ Realtime ไปพร้อมๆกันเลย
ราคา Motion Sensor : 390 – 2,500 บาท/เครื่อง
- กล้องวงจรปิด IP Camera
กล้องวงจรปิดแบบ IP Camera ปัจจุบันแทบทั้งหมดจะสามารถเชื่อมต่อกับ Application ใน Smartphone โดยใช้ Internet เพื่อให้เราสามารถดูภาพได้แบบ Realtime เหมือนกับอยู่บ้านเลยค่ะ เวลามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก็จะสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันเวลา โดยในท้องตลาดก็มีกล้องให้เลือกหลากหลายแบบ เช่น กล้องที่สามารถหมุนได้ 360 องศา
Tips : กล้อง IP Camera ต่างกับ CCTV อย่างไร ?
กล้อง CCTV : ต้องเชื่อมต่อกับเครื่องบันทึกภาพ แต่ไม่ต้องพึ่งพา Internet มีความเสถียรสูง แต่จะมีความยุ่งยากในการติดตั้งมากกว่า IP Camera และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
กล้อง IP Camera : ติดตั้งง่าย แต่จะต้องต่อกับระบบ Internet ได้ภาพที่คมชัดกว่ากล้อง CCTV มีให้เลือกหลากหลายแบบ
ราคา กล้องวงจรปิด IP Camera : 750 – 3,200 บาท/ เครื่อง