มาเตรียมพร้อมทำความรู้จัก รถไฟฟ้าสายใหม่ จะได้ใช้ในอีก 3 ปีข้างหน้า (ปี 2562 – 2564)

เป็นเวลาเกือบ 20 ปี แล้วนะครับ ที่บ้านเราได้มีระบบขนส่งแบบรางอย่าง “รถไฟฟ้า” เกิดขึ้น กว่าจะเกิดโปรเจครถไฟฟ้าขึ้นมาได้ ก็มีปัญหาขึ้นมาไม่น้อย ทั้งเรื่องปัญหาการเวนคืนที่ดินตามแนวเส้นรถไฟฟ้าได้ช่างยากเย็นแสนเข็ญ ปัจจุบันรถไฟฟ้าบางสี ก็ยังไม่จบปัญหานี้และยังไปต่อไม่ได้ เช่น สายสีส้ม(ตอนต้น) ก็ต้องค่อยๆเคลียร์กันไป

ปัจจุบัน รถไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายต่างๆ ทั้ง BTS, MRT, ARL นับถูกเป็นตัวเลือกต้นๆสำหรับชีวิตคนกรุงในเมืองไปแล้วก็ว่าได้ สาเหตุหลักคงหนีไม่พ้น ปัจจัยในการควบคุมเวลาในการเดินทางได้ค่อนข้างแม่นยำนั้นเอง และยังมีความสะดวกสบาย ไม่ต้องเจอรถติด ปัญหาอุบัติเหตุที่มีมากมายบนท้องถนน และเจอกับควันจากจราจร(บางคนนั่งรถเมล์ นั่งพี่วิน) ถึงแม้ราคาค่าโดยสารอาจจะไม่ได้ถูกมากนักแหละ แต่ก็ยังเป็นระดับที่กลุ่มคนส่วนใหญ่พอรับได้ สำหรับคนหนุ่มสาวที่ออฟฟิศอยู่ตามตึกสูงใจกลางเมือง เพื่อซื้อเวลา และคุณภาพชีวิตเอา

นับว่าในช่วง 3-6 ปีที่ผ่านมา รถไฟฟ้าได้มีการรุดหน้าโรดแมพ สายสีต่างๆ นอกจากสายหลักเดิมที่มีอยู่แล้วไปหลายสีหลายเส้นอยู่เหมือนกัน อาทิเช่น สายสีม่วง “เตาปูน – คลองบางไผ่” ที่เปิดตัวไป 2 ปีที่แล้ว และมีการขยาย MRT สายสีนำ้เงินเดิม ที่จากเดิมสิ้นสุดที่บางซื่อ มาเป็นเตาปูน เพื่อจะได้เป็น Interchange ถึงกันได้ และ ล่าสุดอย่าง สายสีเขียวใต้ “แบริ่ง – สมุทรปราการ” ที่พึ่งเปิดใช้ในเดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมาครับ

ซึ่งเราก็จะเห็นได้เลยว่า การเปิดเส้นทางสายใหม่ๆ จะเป็นการนำคนจากกรุงเทพฯรอบนอก รวมถึงปริมณฑลเข้า-ออกตัวเมืองชั้นในกับชั้นนอกให้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพราะต้องการแบ่งเบาเรื่องปัญหาการจราจรจากการใช้รถยนต์ส่วนตัว เผื่อเข้ามาทำงานนั่นเอง

แล้วในอนาคตข้างหน้า เราจะได้ใช้รถไฟฟ้าสายใดบ้าง?

วันก่อนผมได้นั่งอยู่บนรถไฟฟ้าเรื่อยๆเพลินๆ และก็มานั่งคิดว่า เอ้อ.. วันนี้เรามีชีวิตทำงานอยู่ใจกลางเมืองได้ใช้รถไฟฟ้าปกติอยู่แล้ว แต่มานั่งคิดเผื่อถึงคนอื่นว่า กลุ่มคนในย่านไหนละ ที่จะได้ใช้บ้าง และจะได้ใช้ตอนไหนนะ? ก็เลยอยากจะลองเรียบเรียงไทม์ไลน์สั้นๆมาเล่าให้ฟังกันครับ

จากแผนผังรถไฟฟ้าด้านบน ชาวกรุงเทพฯและปริมณฑลกำลังจะอัพเดทเข้าสู่โซนรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย หรือสีใหม่ เริ่มตั้งแต่ปี 2562 – 2564 สัก 3 ปีข้างหน้าที่จะ “เปิดใช้” จะมีดังนี้

  • ปี 2562 (ปลายปี) : รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วง “หัวลำโพง – บางแค”
  • ปี 2562 (ปลายปี) : รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ “หมอชิต – คูคต”
                                 เปิดเพิ่มเฉพาะ สถานีห้าแยกลาดพร้าว 1 สถานี
  • ปี 2563 (ต้นปี)      : รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วง “เตาปูน – ท่าพระ”
  • ปี 2563 (กลางปี) : รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ “หมอชิต – คูคต” เปิดครบทั้งหมด
  • ปี 2564 (กลางปี) : รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม “บางซื่อ – รังสิต”
  • ปี 2564 (กลางปี) : รถไฟสายสีแดงอ่อน “บางซื่อ – ตลิ่งชัน”

พอมานั่งคิดดูแล้วอีก 3 ปีนี้ก็เผลอๆ แปปเดียวเองนะครับ เราจะมีระบบขนส่งรางสาธารณะที่เพิ่มขึ้นมากทีเดียวเลยล่ะ งั้นเราไปดูเส้นแรกที่จะเสร็จกันเลย


โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย

โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ซึ่งเป็นอีกสายหนึ่งที่มีการก่อสร้างไปแล้วเยอะพอสมควร โดยเส้นทางจะต่อขยายมาจากโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล หรือ รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ

  • ช่วงบางซื่อ – ท่าพระ  มีระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งแบบยกระดับทั้งหมดมีลักษณะเป็นทางวิ่งรางคู่บนเสาตอม่อบริเวณเกาะกลางถนน มีทั้งหมด 10 สถานี โดยเริ่มต้นจากสถานีบางซื่อซึ่งเป็นสถานีร่วมกับ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล , รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม , รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน และ แอร์พอร์ตลิงค์ เข้าสู่ถนนประชาราษฎร์สาย 2 สถานีต่อไปคือ สถานีเตาปูน อยู่บริเวณแยกเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ จากนั้นเส้นทางเดินรถจะผ่านสี่แยกบางโพ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนจรัญสนิทวงศ์บริเวณโรงเรียนเทคโนโลยีพระราม 6 ผ่านแยกบางพลัด แยกบรมราชชนนี แยกบางขุนนท์ (เชื่อมต่อกับสายสีส้มและสีแดงอ่อน) ที่แยกไฟฉาย และสิ้นสุดที่สถานีท่าพระ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค
  • ช่วงหัวลำโพง – บางแค มีระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดินมีลักษณะทางวิ่งอุโมงค์  คู่รางเดี่ยว ในช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ ระยะทาง 5 กิโลเมตร มีสถานีใต้ดินจำนวน 4 สถานี และทางวิ่งยกระดับในช่วงท่าพระ-บางแค ระยะทาง 9 กิโลเมตร มีสถานียกระดับจำนวน 7 สถานี โดยเส้นทางเริ่มจากสถานีหัวลำโพงเป็นเส้นทางใต้ดินตามแนวถนนพระรามที่ 4 เข้าสู่ถนนเจริญกรุง ผ่านวัดมังกรกมลาวาส ผ่าน  วังบูรพา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสนามไชย ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองตลาด ลอดใต้คลองบางกอกใหญ่ เข้าสู่ถนนอิสรภาพ แล้วเปลี่ยนเป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับมีลักษณะเป็นทางวิ่งรางคู่บนเสาตอม่อ บริเวณบนเกาะกลางถนนเข้าสู่สี่แยกท่าพระ ซึ่งจะมีสถานีร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ- ท่าพระ แล้ววิ่งไปตามถนนเพชรเกษม ผ่านบางไผ่ บางหว้า ภาษีเจริญ บางแค สิ้นสุดที่วงแหวนรอบนอกถนนกาญจนาภิเษก

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MAPรวม_ทำเล

ถ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายก่อสร้างแล้วเสร็จ  เส้นทางการเดินรถจะวิ่งวนครอบคลุมพื้นที่ใจกลางเมืองที่สำคัญๆ เชื่อมฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนครเข้าด้วยกัน เน้นอำนวยความสะดวกให้กับคนในเมือง ถือว่าเป็นรถไฟฟ้าสายเดียวในประเทศไทยในตอนนี้ที่วิ่งเป็นวงกลม ซึ่งจะต่างกับรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายอื่นๆที่เป็นเส้นยาวเน้นขนส่งคนจากนอกเมืองเข้าสู่ในตัวเมือง

ซึ่งจุดเด่นของ สายสีน้ำเงินนี้อีกส่วนจะมาอยู่ที่สถานี “ท่าพระ” ซึ่งจะเป็นการ  Interchange ของสายสีน้ำเงินด้วยกันเอง แต่จะกระจายคนเป็นจุดเปลี่ยนระหว่างจะเข้าเมืองไปทางพระราม 4/หัวลำโพง หรือขึ้นเหนือไปทางจรัญฯ เพื่อไปสู่ย่านบางซื่อ-จตุจักร-ลาดพร้าวได้

ขอบคุณที่มาข้อมูลจาก – การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

ขอบคุณภาพประกอบสถานีท่าพระ – Website&Facebook : Renderthailand

อ่านบทความทำเลรถไฟฟ้าสีน้ำเงินเพิ่มเติม  – คลิกที่นี่

ไทม์ไลน์การเปิดใช้ล่าเปิดใช้ล่าสุด

  • ปี 2562 (ปลายปี) : รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วง “หัวลำโพง – บางแค”
  • ปี 2563 (ต้นปี)  : รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วง “เตาปูน – ท่าพระ”

รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย สีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต)

รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย สีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) จะมีลักษณะเป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดเส้นทางโดยจะมีความยาวทั้งหมด 19 กิโลเมตร และมีจำนวนสถานีทั้งหมด 16 สถานี

แนวเส้นทางก็จะเริ่มตั้งแต่ BTS เดิมหมอชิต ขึ้นไปทางเหนือบนเส้นถนนพหลโยธินยาวไปเลย จนไปถึงแถวธูปะเตมีย์ แล้วจะเบี่ยงขวาไปโผล่แถวสถานีตำรวจภูธรคูคต และสิ้นสุดที่นี่ / และอนาคตยังมีแผนส่วนต่อขยายจากคูคตไปอีกยาวไปอีก

หลายๆคนมักเข้าใจผิดว่ารถไฟสายใหม่เส้นนี้ เรียกกันติดปากว่า BTS เปิดใหม่ทางกรุงเทพฯตอนเหนือ แต่จริงๆแล้วผู้ได้รับการดูแลจริงๆนั้นเป็นรฟม. นะครับ โดยได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งได้รับเงินทุนจากรัฐบาลมาสนับสนุน

แต่ปัจจุบันหลังจากผ่านการประชุมโดย ครม. มีการปรับเปลี่ยนความต้องการให้ กทม. เป็นเจ้าของรถไฟฟ้าสายสีเขียว รฟม. จึงได้ขายสัมปทานให้ กทม. รับไปทั้งหมด และได้จ้าง BTS เดินรถให้อีกต่อหนึ่ง แต่น่าจะเซ็นสัญญาสุดท้ายช่วงจัดซื้อตู้ขบวนก่อนเปิดให้ใช้นะครับ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วรถไฟฟ้าสายนี้ก็จะตกเป็นของ กทม. นั่นเองแหละ

แต่ก่อนแต่เดิม ระบบการเดินทางสาธารณะ บนเส้นพหลโยธินตั้งแต่ห้าแยกลาดพร้าวขึ้นเหนือไป สิ่งที่จะให้คนพึ่งพิงได้ก็มีเพียง รถเมล์ รถแท็กซี่เท่านั้น ซึ่งต้องบอกเลยว่า “สาหัสหนักหนาครับ” เพราะต้องผ่านพื้นที่สำคัญและแยกไฟแดงมากมายทั้ง ห้าแยกลาดพร้าว แยกรัชโยธิน แยกม.เกษตร แยกวงเวียนหลักสี่ สะพานใหม่ ฯลฯ เป็นต้น เรียกว่ามันไม่สะดวกเท่าไรหรอก แต่มันไม่มีตัวเลือกอื่นเหมือนกับย่านอื่นๆที่ยังพอมีรถสองแถว รถกระป๊อ นั่งเรือ หรือรถไฟฟ้า

จุดสังเกตได้อีกอย่างก็คือ การปรับตัวของราคาคอนโดมิเนียมใหม่ ที่พึ่งเปิดตัวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาครับ มีการเปิดเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งราคาของโครงการเปิดใหม่รอบๆสถานีนั้นพุ่งสูงขึ้นมาก อย่างสถานี “ห้าแยกลาดพร้าว” ซึ่งเป็นด่านแรกก็มีราคาต่อตร.ม.เริ่มต้นราวๆ 125,000 บาท/ตร.ม.ขึ้นไป หรือต้องมีเงินเริ่มต้นในการหาห้องราวๆ 3 ล้านกลางขึ้นไปครับ (ที่พูดมาเนี่ยห้องเล็กขนาด 2x กว่าตร.ม.เองนะ)

จุดที่น่าสนใจอีกจุดคือ “แยกรัชโยธิน” ซึ่งจะอยู่กึ่งกลางระหว่าง สถานี “พหลฯ24 – รัชโยธิน” ซึ่งใกล้ๆบริเวณนี้จะมีแหล่งงานขนาดใหญ่อยู่สองส่วน ส่วนแรกคือ SCB PARK หรือสนง.ใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ และอีกส่วนจะเป็นทางฝั่งศาลอาญาทั้งหลายตรงนั้นครับ แถวๆนี้มีห้างหลักให้พึ่งพิงอย่าง Major รัชโยธิน นั่นเอง

จะบอกว่าปริมาณคนและรถยนต์ที่ผ่านในบริเวณนี้ค่อนข้างสูงพอสมควร ใครได้มาสัมผัสรถติดก็คงติดใจกันไปหลายคนไม่น้อย แต่การมาของรถไฟฟ้าบริเวณแยกนี้ เชื่อว่าจะทำให้คนทำงานแถวนี้คงตั้งหน้าตั้งตารอกันไม่น้อยเลย

และอีกแยกใหญ่ที่สำคัญก็คงจะเป็นบริเวณ “วงเวียนหลักสี่-รามอินทรา” ซึ่งบริเวณนี้จะเป็นที่ตั้งของสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ แถมยังจะเป็นเครือข่าย Interchange กับรถไฟฟ้าสายสีชมพูอีกด้วย ก็จะช่วยแบ่งเบาปริมาณคนที่อยู่อาศัยจากเส้นรามอินทรา/แจ้งวัฒนะ ซึ่งต้องการใช้รถไฟฟ้าเข้าสู่ตัวเมือง ก็ต้องมาลงที่บริเวณนี้แหละ

ช่วงบริเวณใกล้ๆสุดปลายสถานีอย่าง : รพ.ภูมิพลอดุลยเดช , พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ, ก.ม.25 นั้นเรียกว่าเป็นสถานีที่เอาใจข้าราชการครับ เพราะว่าเป็นเขตที่ไม่มีที่อยู่อาศัยในรูปแบบการจัดสรรใหม่ หรือคอนโดใดๆ แต่เป็นสถานที่ราชการสำคัญล้วน ซึ่งก็มีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่ทำงานอยู่บริเวณนี้

ไทม์ไลน์การเปิดใช้ล่าเปิดใช้ล่าสุด

  • ปี 2562 (ปลายปี) : รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ “หมอชิต – คูคต” เปิดเพิ่มเฉพาะ สถานีห้าแยกลาดพร้าว 1 สถานี
  • ปี 2563 (กลางปี) : รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ “หมอชิต – คูคต” เปิดครบทั้งหมด

ปิดท้ายกันด้วย VDO ประกอบจากทาง Official Website : www.mrta-greenlinenorth.com ซึ่งประชาชนอย่างเรา ก็สามารถเข้าไปเช็ครายละเอียดความคืบหน้าในการก่อสร้างได้ จะมีอัพเดทประมาณเดือนละครั้งครับ หรือโทรไปสอบถามเจ้าหน้าที่ก็ได้


โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (รฟท.)

ขอบคุณภาพจาก bangsue-rangsitredline.com

จัดเป็นรถไฟฟ้าที่เดินรางเชื่อมระหว่างชานเมือง (รอบนอกกรุงเทพฯ) ทั้งทิศเหนือ-ใต้, ตะวันออก-ตะวันตก เพื่อเข้าสู่จุด Transit ขนาดใหญ่ตรงกลางอย่างสถานีกลางบางซื่อ โดยรฟท. (การรถไฟแห่งประเทศไทย) เป็นผู้พัฒนาและดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งสายรถไฟฟ้าสีแดงนี้ แบ่งออกเป็น 2 สายหลักได้แก่

  1. รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม – รถไฟชานเมืองสายเหนือ-ใต้ มีการวางเส้นทางของสายรถไฟฟ้ายาวตั้งแต่บ้านภาชี (จังหวัดอยุธยา) ลงไปทางใต้สุดสายที่ มหาชัย (จังหวัด….) รวมระยะทางทั้งหมด 114.3 กิโลเมตร และมีจำนวนสถานีรวม 38 สถานีด้วยกัน
  2. รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน – รถไฟชานเมืองสายตะวันออก-ตะวันตก มีระยะทางตั้งแต่นครปฐม-ชุมทางฉะเชิงเทรา รวม 127.5 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ชุมทางตลิ่งชัน-สถานีกลางบางซื่อ และอยู่ในช่วงระหว่างการทดลองเดินรถด้วยรถไฟดีเซล

โดยบทความนี้เราจะมาเจาะลึกทำเลย่านรถไฟฟ้าสายสีแดงที่มีกำหนดการณ์จะแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้ประชาชนได้ใช้งานกันคือ รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ช่วง บางซื่อ-รังสิต รวมทั้งหมด 10 สถานี ว่าเป็นยังไง

ขอบคุณภาพจาก bangsue-rangsitredline.com

รถไฟฟ้าสายสีแดงช่าง บางซื่อ-รังสิต จุดมุ่งหมายหลักของรถไฟฟ้าสายนี้คือ ต้องการทำเส้นทางการเดินทางเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนให้เดินทางเข้า-ออกกรุงเทพและปริมณฑล (รังสิต-ปทุมธานี) ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการนี้ตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (M-MAP) โดยได้รับอนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2556 ปัจจุบันมีบางสถานีที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ผลประโยชน์ของโครงการนี้ช่วยให้ประชาชนมีตัวเลือกในการเดินทางเข้า-ออกเมืองมากยิ่งขึ้น ลดปริมาณรถหนาแน่นลงได้ โดยคาดว่าเมื่อเดินรถระบบรถไฟฟ้าจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารจากรังสิตสู่บางซื่อไม่น้อยกว่า 306,608 คน/วัน ในปีที่เปิดดำเนินการ และเมื่อขยาย โครงการจากบางซื่อไปชุมทางบ้านภาชีในอนาคตจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสาร ที่คาดว่าจะมีประมาณ 449,080 คน/วัน อีกด้วย รวมไปถึงเส้นทางนี้ยังออกแบบมาเป็นเส้นขนานเดียวกับ Airport Rail Link และมีการเดินรถแยก 2 แบบ คือ การเดินรถธรรมดา (จอดทุกสถานี) และ การเดินรถด่วน (จอดบางสถานี) ช่วยกระจายคนใช้งานได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอใช้ Airport Rail Link เพียงอย่างเดียว

สถานีกลางบางซื่อ Bangsue Grand Station  – เป็นสถานีจุดเริ่มต้น กำลังพัฒนาเพื่อใช้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและจะมีการพัฒนาพื้นที่ 305.5 ไร่ให้เป็นเชิงพาณิชย์หรือคอมเพล็กซ์ซิตี้ อาทิเช่น สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ที่พักอาศัย และพื้นที่นันทนาการ ตามแนวคิด TOD (Transit Oriented Development) ปัจจุบันโครงการนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง การพัฒนาดังกล่าวทำให้บางซื่อ-เตาปูนวันนี้กลายเป็นทำเลเนื้อหอมที่มีผู้ประกอบการมาจับจองพื้นที่พัฒนาคอนโดแนวสูงเกาะตามแนวรถไฟฟ้ากันอย่างคึกคัก โดยราคาคอนโดย่านนี้จะอยู่ที่ 90,000 – 130,000 บาท/ตร.ม.

สำหรับการของผู้คนที่อยู่ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่อยู่ใกล้กับถนนกำแพงเพชร 6 – วิภาวดีรังสิต – การเคหะ – ทุ่งสองห้อง – ดอนเมือง – รังสิต ในการเข้าออกตัวเมือง ปัจจุบันที่ไม่มีรถไฟฟ้า การเดินทางสาธารณะจะได้รับความนิยมเป็นพวกรถเมล์โดยสาร กับ รถตู้ครับ หรือไม่ก็เป็นรถไฟแบบรางพื้นดิน(ใช้ระบบดีเซล) นี่แหละ

ขอบคุณภาพประกอบสายสีชมพูจาก Render Thailand

โดยจุดที่น่าสนใจและมีกลุ่มคนอยู่เป็นจำนวนมากก็คงจะหนีไม่พ้น สถานี “หลักสี่” ซึ่งบริเวณนั้นจะอยู่ใกล้กับถนนนวิภาวดี-กับถนนแจ้งวัฒนะ แน่นอนว่าบริเวณใกล้ๆนั้นมีแหล่งงานมหาศาลมากๆบนเส้นแจ้งวัฒนะอย่างศูนย์ราชการ, ทีโอที, ไปรษรีย์สนง.ใหญ่, เขตพื้นที่ศาล, ออฟฟิศ SME ขนาดเล็กกลางเต็มไปหมดครับ

ทำให้คาดการณ์ว่าสถานีนี้คงจะเป็นที่ฮอตฮิตมีปริมาณการใช้งานไม่น้อยทีเดียว อีกทั้งใกล้ๆกับสถานีหลักสี่ ยังมีรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่พอจะมาเปลี่ยนต่อการใช้งานได้ (แม้จะไม่ได้ติดเลย) อย่างสถานีทีโอทีนั่นเอง

สำหรับโซนถัดมา ที่เป็นแหล่งสำคัญของพื้นที่นี้ คงจะเป็นย่าน “ดอนเมือง-สรงประภา” ซึ่งก็จะมีสถานีดอนเมืองตั้งอยู่เป็นหลัก เมื่อก่อนคนในย่านนี้เวลาจะเข้าเมืองทีถ้าไม่ได้มีรถยนต์ส่วนตัว ก็คงจะต้องใช้รถสองแถวมาลงที่วัดพระอารามหลวง และก็ข้ามไปขึ้นรถเมล์สาย A2 ที่หน้าสนามบินดอนเมือง ก็ถือว่าลำบากนะครับ

ดอนเมืองไม่ได้เป็นย่านที่มีแต่สนามบินท่าอากาศยานนะ จริงๆพื้นที่นี้นับเป็นจุดฮอตแห่งนึงในการเลือกที่อยู่อาศัยประเภทแนวราบ ที่ราคาไม่แพงมากอีกแห่งนึงอีกด้วย บนเส้นสรงประภาหรือกำแพงเพชร 6 นั้นมีความหนาแน่นของชุมชนและความอุดมสมบูรณ์สูงเลยล่ะ และยังมีการพัฒนาไปต่อได้อีก ที่เห็นๆก็มีคอมมูนิตี้มอลล์มาเปิดใหม่ อีกทั้งถ้าใครมีรถส่วนตัวก็ยังมีทางด่วนให้เลือกใช้ถึงสองฝั่งเลย (ทางด่วนโทรเวย์กับด่านศรีสมาน)

จุดที่น่าสนใจสุดท้าย ก็คงเป็นสถานีปลายทางของสายนี้อย่าง “สถานีรังสิต” ต้องขอเกริ่นนิดหน่อยนะครับ มีเพื่อนๆหลายคนเข้าใจผิดอยู่บ้างว่ารถไฟฟ้าสายสีแดงเหนือเนี่ย จะวิ่งอยู่บนริมถนนใหญ่อย่าง วิภาฯ-พหล เกือบตลอดทั้งแนว (บางคนเข้าใจผิดว่ามาลงฟิวเจอร์ปาร์คได้เลยก็ยังมีนะ)  จริงๆแล้วการวิ่งของเส้นนี้จะอิงขนานกับถนนกำแพงเพชร 6 ทั้งหมดนะ

ซึ่งการสิ้นสุดของสถานีก็ถือว่าไม่ได้มาลงโซนที่แห้งแล้งไปต่ยากอะไร หลายๆคนคงรู้จักกับหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี กันอยู่แล้ว เพราะเป็นชุมชนดั้งเดิมบุกเบิกพื้นที่ขนาดใหญ่ในตรงพื้นที่นี้แหละ แน่นอนมีคนอยู่อาศัยมากเป็นหลักพันๆครัวเรือนที่ไม่ไกลจากสถานีครับ แต่ถนนด้านหน้าของสถานีจะอิงกับเส้นรังสิต-ปทุมธานี

ความอุดมสมบูรณ์ของโซนรังสิต-ปทุมธานีนี้ อาจไม่คึกคักเท่าอีกฝั่งที่เป็นรังสิต-นครนายก พื้นที่รอบๆยังเป็นพื้นที่โล่งเป็นส่วนมาก เหมาะสำหรับคนที่ชอบความสงบแต่ยังคงต้องการการเดินทางที่ง่าย ใกล้ทางด่วน ติดถนนใหญ่ และไม่ชอบรถติด ฝั่งนี้อาจเป็นอีกทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่กำลังมองหาทาวน์โฮมเเถวรังสิตนี้  ความอุดมสมบูรณ์หลักๆของทำเลนี้คงหนีไม่พ้นฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต ที่อยู่ห่างไปประมาณ 2-3 กม. ซึ่งตรงนั้นจะมีทั้งขนส่ง-รถตู้ ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล ตลาด กระจุกตัวอยู่ค่อนข้างหนาแน่น

ส่วนสถานศึกษาที่ใกล้เคียงบริเวณนี้ ก็มีสถานศึกษาที่มีขื่อเสียงเช่นมหาวิทยาลัยรังสิต , มหาวิทยาลัยกรุงเทพ , มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ศูนย์รังสิต) ที่อยู่ไม่ไกลจากทำเลนี้มากนัก ในแง่ของแหล่งงาน ทำเลนี้ยังใกล้กับสวนอุตสาหกรรมบางกะดี , บริษัท Workpoint Entertainment และหน่วยงานราชการของจังหวัดปทุมธานีเช่นกัน

ไทม์ไลน์การเปิดใช้ล่าเปิดใช้ล่าสุด

ปี 2564 (กลางปี) : รถไฟสายสีแดงอ่อน “บางซื่อ – ตลิ่งชัน”


บทสรุปส่งท้าย

การพัฒนาระบบรางที่มีไว้ขนส่งมวลชนจึงเป็นสิ่งจำเป็น มหานครต่างๆเชื่อมประชากรที่อาศัยอยู่ในจังหวัดใกล้เคียงเข้ามาสู่เขตธุรกิจใจกลางเมืองด้วยวิธีนี้ และปัจจุบันกรุงเทพมหานครกำลังอยู่ในขั้นตอนที่จะพัฒนาขึ้นไปถึงจุดนั้น รถไฟฟ้าสายปัจจุบันทั้ง BTS / MRT / รฟท.  ที่เปิดให้บริการอยู่นี้เป็นการเชื่อมจุดสำคัญหลายๆแห่งภายในกรุงเทพมหานครเข้าด้วยกัน

ในขณะที่รถไฟฟ้าหลากสีที่กำลังสร้างอยู่หรืออยู่ในขั้นตอนการพัฒนาทั้งปวงล้วนทำมาเพื่อเชื่อมศูนย์กลางเมืองกรุงเทพมหานครเข้ากับจังหวัดใกล้เคียงทั้งสิ้น เริ่มจากสายสีเขียวอ่อนที่เชื่อมเข้าสุขุมวิทสู่ตัวเมืองสมุทรปราการ สายสีเขียวเข้มและสายสีแดงที่เชื่อมหมอชิตเข้าสู่เมืองรังสิตปทุมธานี และสะพานใหม่คูคต สายสีม่วงที่เชื่อมบางซื่อเข้าสู่เมืองนนทบุรี สายสีน้ำเงินที่เชื่อมรัชดาภิเษกเข้าสู่เมืองนครปฐม ซึ่งจุดมุ่งหมายทั้งหมดต้องการจะพาผู้คนเชื่อมโยงกันได้ด้วยระบบรางนะครับ

ทั้งนี้การเลือกซื้อที่อยู่อาศัยก็จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง คอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้าจากเดิมที่มีอยู่ไม่กี่สถานี ก็จะเปลี่ยนเป็นหลักร้อยสถานี ซึ่งบางครั้งสินค้าเหล่านี้อาจจะไม่ใช่คอนโดมิเนียมก็ได้ เพราะที่ดินต่างจังหวัดที่ยังสามารถทำโครงการหมู่บ้านจัดสรรแนวราบ อาทิเช่นทาวน์โฮม 3 ชั้น อาคารพาณิชย์ หรือแม้กระทั่งบ้านเดี่ยวที่อยู่ในช่วงราคาหยิบจับได้ ไม่ไกลตัวจนเกินไปก็ยังมีอยู่ เราก็ควรทำการบ้านกับพื้นที่ของทำเลรอบโซนสถานีสายสีใหม่ๆที่อยู่ใกล้กับชีวิตประจำวันของเราเอง หรือเป็นโซนที่เงินในกระเป๋าของเราหยิบจับต้องได้ครับ