สวัสดีผู้อ่านทุกท่านนะคะ เนื่องจากช่วงนี้กระแสรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายกำลังมาแรงเพราะส่วนต่อขยายบางสายใกล้จะเปิดให้บริการกันแล้ว ทางทีมงานเลยจะพาไป Update ความคืบหน้าแต่ละสถานีกันซักหน่อยนะคะ
ถ้าใครสนใจอยากอ่านฉบับเต็มเป็นหนังสือ 4 สี พร้อมแผนผังรถไฟฟ้า สามารถลงทะเบียนฟรี!! และรับเล่มจริงได้ที่งาน Think of Living Condo Expo 2016 วันที่ 25 – 28 กุมภาพันธ์ 2559 ณ สยามพารากอน, ชั้น 1, แฟชั่นฮอลล์
หลังจากมีรีวิว Update มองหาทำเลน่าอยู่รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (ตอนแรก) ที่พูดถึงภาพรวมของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย สำโรง-เคหะสมุทรปราการ และ 3 สถานีช่วงต้นกันไปแล้ว ถึงตาตอนที่ 2 นี้ จะเป็นการเจาะอีก 6 สถานีหลัง ได้แก่
- สถานีโรงเรียนนายเรือ (E17)
- สถานีสมุทรปราการ (E18)
- สถานีศรีนครินทร์ (E19)
- สถานีแพรกษา (E20)
- สถานีสายลวด (E21)
- สถานีเคหะสมุทรปราการ (E22)
สำหรับสายสีเขียวต่อขยายบนถนนสุขุมวิทที่มาทางจังหวัดสมุทรปราการจะมีจุดประสงค์ในการวางผังเมืองที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่อุตสาหกรรมจุดต่างๆทางตะวันออกของกรุงเทพที่จะเห็นว่าตามสถานีจะเป็นแหล่งโรงงานมากกว่าแหล่งชุมชนพักอาศัย ซึ่งช่วงสำโรง-พิพิธภัณฑ์เอราวัณก็จะมีความอุดมสมบูรณ์มากหน่อย ส่วนโรงเรียนนายเรือ-เคหะสมุทรปราการความอุดมสมบูรณ์ก็จะน้อยลงตามระยะห่างจากตัวเมืองนะคะ
ตัวสถานทั้ง 6 สถานีที่เราจะพูดถึงกันใน Part2 ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อขยายนั้นล้วนแล้วแต่อยู่ภายในจังหวัดสมุทรปราการ คนทั่วไปที่ไม่ใช่คนในพื้นที่หรือคนที่คุ้นเคยก็น่าจะนึกถึงสถานที่ตามป้ายบอกทางสำหรับการท่องเที่ยวของสมุทรปราการอย่าง ฟาร์มจระเข้หรือเมืองโบราณที่โรงเรียนชอบพามาตอนเด็กๆ หรือไม่ก็สถานตากอากาศบางปูที่เป็นที่นิยมหน่อยในสมัยก่อน
เรามาเริ่มต้นที่สถานีแรกกันก่อนเลย สถานีโรงเรียนนายเรือ (E17) เป็นสถานีที่ 4 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ ตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิท ห่างจากสถานีพิพิธภัณฑ์เอราวัณ สถานีก่อนหน้าประมาณ 2 กิโลเมตร รอบๆสถานีจะเป็นสถานที่ราชการซะเป็นส่วนใหญ่ อย่างตัวสถานีจะติดกับโรงเรียนนายเรือที่ฝั่งตรงข้ามเป็นพิพิธภัณฑ์ทหารเรือ มีไปรษณีย์ แล้วก็ชุมชนพักอาศัยแนวราบไปเรื่อยๆ
ขออัพเดทภาพจริงของการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายกันนิดนึงก่อนนะคะ จากภาพรวมแล้วเส้นทางระหว่างสถานีถือว่าเรียบร้อยเกือบจะ 100% แต่ตัวสถานีขึ้น-ลงจริงๆนั้นส่วนใหญ่จะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี อย่างเช่นในรูปคือตัวชั้นชานชาลานั้นเกือบเรียบร้อยแล้ว มีหลังคากันแดดกันฝน ส่วนชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร, บันไดทางขึ้น-ลงรวมถึงบันไดเลื่อนยังไม่มีการเชื่อมดี ซึ่งทำให้ทางเดินเท้ารอบๆข้างก็ยังไม่อยู่ในสภาพที่เดินได้เรียบร้อยเหมือนปกติ
เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะเป็นเส้นทางตามแนวถนนสุขุมวิทออกนอกเมืองมาเรื่อยๆ ทั้งฝั่งขาเข้าและฝั่งขาออกตอนนี้จะเดินรถได้ 2 เลน ตรงกลางยังกั้นเป็นพื้นที่ก่อสร้าง การข้ามถนนไปมาก็จะต้องใช้สะพานลอยข้ามฝั่งที่มีอยู่เรื่อยๆ
ฝั่งขาเข้ากรุงเทพก็จะมีโรงเรียนนายเรือตั้งอยู่ เป็นสถานที่ทางราชการขนาดใหญ่ที่กินพื้นที่ฝั่งขาออกรอบบริเวณระยะเดินยาวประมาณ 800 เมตร ภายในก็จะมีอาคารเรียน มีสนามกีฬา มีบ้านพัก โดยขึ้นชื่อว่าโรงเรียนนายเรือก็จะต้องติดกับน้ำอย่างแม่น้ำเจ้าพระยาและมีท่าเรือเป็นของตัวเอง ทำให้พื้นที่ที่ระหว่างถนนสุขุมวิทและแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งขาเข้านั้นหมดไป พื้นที่ส่วนที่พัฒนาเป็นพื้นที่อยู่อาศัยภายในระยะเดินได้สบายๆของสถานีโรงเรียนนายเรือก็จะเป็นฝั่งขาออกแทน
เนื่องจากเป็นสถานที่ราชการก็จะต้องมีความเข้มงวดในการกวดขันนิดนึง ฝั่งตรงข้ามกับทางเข้าโรงเรียนนายเรือก็จะเป็นพิพิธภัณฑ์ทหารเรือที่มีบริเวณกว้างๆโล่งๆเช่นกัน ใครขับรถผ่านไปมาลองเปิดกระจกรับลมดู จะสัมผัสได้ถึงความชื้นและกลิ่นความเป็นทะเลได้เลย
กลับมาที่ถนนสุขุมวิทขาออกมุ่งหน้าตัวเมืองสมุทรปราการ จะมีสถานีสมุทรปราการ (E18) อยู่ใกล้กับสะพานข้ามคลองมหาวงษ์ที่อยู่ใกล้กับวัดมหาวงษ์ จะเห็นว่าตัวสถานีจะค่อนข้างต่ำนิดนึง ตรงนี้จะควบคุมความสูงอยู่ที่ประมาณ 4.5 เมตร สภาพแวดล้อมรอบข้างตัวสถานีจะคึกคักกว่าสถานีที่แล้วที่มีแต่สถานที่ราชการเยอะมาก โดยทางซ้ายมือหรือฝั่งขาออกจะมีอาคารพาณิชย์ ชั้นล่างเปิดให้บริการเป็นร้านต่างๆ ในซอยมีคอนโด The Parkland Lite สุขุมวิท-ปากน้ำ อยู่ในซอยด้วย ส่วนทางขวาของตัวสถานีคือวัดมหาวงษ์ที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นกัน
การตั้งชื่อของสถานีที่ชื่อว่าสถานีสมุทรปราการนั้นมีที่มา เนื่องจากตรงจากตัวสถานีบนถนนสุขุมวิทขาออกมามาประมาณ 130 เมตร ก็จะเจอกับสามแยกปากน้ำ ซึ่งเส้นทางรถไฟฟ้าจะเลี้ยวตามถนนสุขุมวิทไปทางซ้าย แต่ถ้าตรงเข้าถนนประโคนชัยเข้าไปก็จะมีสถานที่ราชการของจังหวัดสมุทรปราการ มีตลาด ท่าเรือ ร้านอาหารแบบอาคารพาณิชย์เยอะมากๆ ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นสถานีที่คนนิยมขึ้น-ลงมากที่สุดในส่วนต่อขยายทั้ง 6 สถานี
เราจะพาไปชมพื้นที่รอบๆสถานที่ราชการของจังหวัดสมุทราปราการกันซักหน่อย จากสามแยกปากน้ำตรงเข้ามาถนนประโคนชัย จะเป็นถนนเดินรถทางเดียว ขวามือจะเป็นศาลจังหวัดสมุทรปราการ ที่ว่าการอำเภอ สำนักเทศบาลนครสมุทรปราการ มีพื้นที่ลานจอดรถขนาดใหญ่ และมีพระบรมรูปร.5 อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนฝั่งซ้ายมือคือกรมธนารักษ์ สรรพากร สถานีตำรวจจังหวัด
ตรงเข้ามาตามทางเดินรถทางเดียว ฝั่งซ้ายมือคือวัดพิชัยสงคราม เลยมาหน่อยจะเป็นอาคารพาณิชย์สูง 4-5 ชั้น ด้านล่างเปิดเป็นร้านค้า ร้านอาหาร ร้านบริการต่างๆ เดินรถสะดวกได้ 2 เลน ส่วนสองเลนซ้ายขวาเป็นเลนจอดรถอย่างที่เห็น ด้านหน้าจะมีสี่แยกไฟเขียวไฟแดง ตรงไปจะเจอศาลเจ้าพ่อหลักเมือง แต่เราจะเลี้ยวขวาไปวนรถดูรอบใกล้ๆกันนะคะ
เลี้ยวขวาจากสี่แยกมาก็จะเห็นวงเวียนอยู่ตรงกลาง รอบๆคึกคักมากเป็นตลาด มีธนาคารสาขาย่อย มีร้านทอง มีตุ๊กๆจอดรอให้บริการ สุดทางด้านหน้าไปทางซ้ายเดินไปเรื่อยๆจะมีตลาดสดปากน้ำ มีตลาดจังหวัดขนาดใหญ่ต่อกันไปอีกเพียบ
วนรอบวงเวียนก็จะเจอกับทางเข้าท่าเรือ ซึ่งท่าเรือนี้มีชื่อว่าท่าเรือวิบูลย์ศรี สองทางเข้าก็จะมีตลาดยาวเข้าไปข้างในอีกเพียบ
และจากท่าเรือ แน่นอนว่าก็จะต้องมีขนส่งอีกรูปแบบหนึ่งคอยให้บริการอย่างรถสองแถว ซึ่งเป็นที่นิยมมากๆในพื้นที่นี้ ทั้งวิ่งบนถนนสุขุมวิทหรือเขตชุมชนอย่างบริเวณนี้ เมื่อมีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าก็อาจจะมีการเพิ่มจุดรับ-ส่งจากตัวสถานีสมุทรปราการเข้ามายังแถวตลาดนี้ คิดเป็นระยะทางเดินแล้วอยู่ที่ 800 เมตร
กลับมาที่ถนนสุขุมวิทฝั่งขาออก ระหว่างสถานีสมุทรปราการและสถานีแพรกษานะคะ รถเดินได้ 2 เลน การจราจรติดมากแม้จะไม่ใช่วันทำงานธรรมดาหรือเวลาเร่งด่วนใดๆ จากป้ายบอกทางคือถ้าเราตรงไปเรื่อยๆบนถนนสุขุมวิทจะมุ่งหน้าชลบุรี ถ้าเลี้ยวซ้ายจะไปบางกะปิได้
เห็นตัวสถานีแล้ว สถานีนี้คือ สถานีศรีนครินทร์ (E19) เลยจากสามแยกปากน้ำมาบนถนนสุขุมวิทประมาณ 1 กิโลเมตร อยู่ก่อนจะถึงเลี้ยวซ้ายเข้าถนนศรีนครินทร์ สองฝั่งก็จะเป็นบ้านพักอาศัยแนวราบในซอยย่อยตามปกติ แทรกด้วยโรงเรียนสตรีสมุทรปราการ โรงเรียนนพคุณวิทยา กรมสรรพากร วัดในสองหาร
ถัดจากตัวสถานีเลยก็จะมีทางเลี้ยวซ้ายไปยังถนนศรีนครินทร์ ซึ่งจะสามารถไปตัดกับเส้นวงแหวนกาญจนาภิเษกได้ ถ้าตรงไปเรื่อยๆอีกก็จะไปตัดกับทางคู่ขนานบางนา-ตราดซึ่งมีทางด่วนบูรพาวิถีอยู่ด้านบน หรือจะตรงไปเรื่อยๆอีกเข้าเมืองก็ได้ ทางขวามือจะเห็นว่ามีสะพานข้ามแยก เป็นทางจากเส้นสุขุมวิทขาเข้าชิดขวาไว้จะมีสะพานให้ขึ้นข้ามแยกเพื่อลดรถติด อย่างที่เห็นในภาพว่าติดทุกทาง
ข้ามมาฝั่งตรงข้ามให้ดูทางขึ้นสะพานของฝั่งถนนสุขุมวิทขาเข้า ว่าจะมีทางชิดขวาขึ้นสะพานข้ามแยกเข้าถนนศรีนครินทร์เลย ส่วนถ้าชิดซ้ายไว้ก็จะมุ่งหน้าไปยังสามแยกปากน้ำที่เราผ่านกันมา ตรงนี้ยังไม่มีป้ายบอกทางติดไว้นะคะ ระวังกันด้วย
ชิดซ้ายจากทางแยกมาหน่อยก็จะเจอกับทางเข้าอาคารสูงเด่นมากที่มองเห็นได้จากถนนสุขุมวิทตั้งแต่แถวสถานีโรงเรียนนายเรือ เราหาคำตอบมาให้ว่าอาคารสูงเด่นนี้คือส่วนหนึ่งของอุทยานการเรียนรู้อ่าวไทย ซึ่งยังอยู่การก่อสร้าง สามารถเข้าได้จากทั้งซอยแถวสามแยกปากน้ำ แต่ทางเข้าหลักจะอยู่บนถนนสุขุมวิทขาออกที่ใกล้กับสถานีศรีนครินทร์
กลับมาบนถนนสุขุมวิทฝั่งขาออกระหว่างสถานีศรีนครินทร์และสถานีแพรกษา ทางซ้ายจากนี้ไปเรื่อยๆจนสุดเส้นทางรถไฟฟ้า จะขนานคู่กับคลองบางปิ้ง ซึ่งทำให้เวลาจะข้ามไปยังอีกฝั่งจะต้องสร้างสะพานข้ามคลองไป ซึ่งบางสะพานเป็นสะพานปูนอย่างดี บางสะพานเป็นสะพานเล็กๆเข้าร้านอาหาร บางสะพานกว้างพอที่จะขับรถผ่านได้ แต่บางอันก็เหมาะกับการเดินมากกว่า ซึ่งตรงนี้ก็จะมีบ้านพักอาศัยแนวราบซะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะมีแซมเป็นหมู่บ้านจัดสรรบ้างจาก Developer ท้องถิ่น
ตรงมาเรื่อยๆบนถนนสุขุมวิทก็จะเจออีกสถานีหนึ่งคือ สถานีแพรกษา (E20) ที่เห็นรถสองแถวจอดกันเยอะมากเพราะมีการประชันหน้ากันของศูนย์การค้าสองฝั่งข้างๆตัวสถานีเลย นั้นก็คือ BigC Supercenter ที่มาก่อนอยู่ทางฝั่งขาเข้า และฝั่งขาออกที่ใหม่กว่าคือ Robinson ซึ่งความสำคัญของสถานีนี้นั้นก็คือความอุดมสมบูรณ์ในแบบฉบับคนเมือง ที่ภายในศูนย์การค้าก็จะมีร้านอาหารและบริการต่างๆมากมาย
กำลังยืนอยู่บนสะพานที่คนในพื้นที่ใช้เวลาเดินข้ามเข้า Robinson นะคะ โดยรถสองแถวก็จะเจอใต้ร่มไม้ทางขวา ปล่อยให้คนลงเดินข้ามสะพานนี้ก็จะเป็นทางลัดเข้าห้างได้เลย แต่ทางรถก็จะต้องเลยไปหน่อยเป็นสะพานข้ามอีกอันนึง ส่วนฝั่ง BigC ก็ไม่ต้องข้ามสะพานข้ามคลอง ซึ่งจะอยู่ติดกับตัวสถานีเป๊ะๆเลย
ฝั่ง Robinson ก็จะเป็นอาคารสูงประมาณ 3 ชั้น มีที่จอดรถกลางแจ้งด้านหน้า ภายในก็จะมีห้างร้านต่างๆเหมือนในศูนย์การค้าที่อยู่ในเมืองตามปกติ
ใกล้ๆกับสถานีฝั่งถนนสุขุมวิทขาเข้าก็ยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสมุทรปราการซึ่งมีขนาดใหญ่พอสมควรเลยทีเดียว
ต่อมาก็ตรงมาบนถนนสุขุมวิทขาออกไปเรื่อยๆ ก็จะโค้งซ้ายนิดหน่อย
ตรงมาจากสถานีที่แล้วประมาณ 650 เมตร ก็จะถึงสถานีสายลวด (E21) ชื่อสถานีมากจากตรงไปอีกประมาณ 200 เมตร ฝั่งถนนสุขุมวิทขาเข้าจะมีแยกซ้ายเข้าไปยังถนนสายลวดที่เป็นตรงไปเรื่อยๆจะไปเจอกับวงเวียนห้าแยกที่เป็นที่ตั้งของกรมเจ้าท่า ซึ่งหนึ่งในถนนห้าแยกก็จะมีถนนประโคนชัยที่สามารถใช้เป็นทางลัดไปยังสามแยกปากน้ำได้ ระหว่างทางของถนนสายลวดก็จะมีทั้งโรงงานขนาดเล็ก บ้านพักอาศัยแนวราบ และสุสานปากน้ำ
ตัดมาให้ดูฝั่งถนนสุขุมวิทขาเข้า จะมีทางเบี่ยงซ้ายแบบไม่ต้องรอไฟเขียวไฟแดงเข้าถนนสายลวด ส่วนถ้าตรงไปบนถนนสุขุมวิทจะติดไฟเขียวไฟแดงหน่อย เพราะจะมีรถจากถนนสุขุมวิทขาออกเลี้ยวเข้าถนนสายลวด
มาดูบริเวณรอบๆของตัวสถานีทางฝั่งซ้ายกันบ้าง ก็จะเห็นคลองบางปิ้ง ฝั่งตรงข้ามก็จะเป็นที่ดินว่างเปล่า ปักป้ายโฆษณากันไป มองไกลๆก็จะเห็นหอพักบ้าง บ้านพักอาศัยบ้าง จะไม่เห็นคอนโดทั้ง Low-rise และ High-rise เลย เนื่องจากถือว่าออกจากตัวเมืองมาพอสมควร แต่ก็ไม่ไกลจากแหล่งความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่เท่าไร
ที่น่าแปลกใจคือแถวๆสถานีสายสวดจะมีทางจักรยานยาวๆไปเรื่อยๆ เลยสถานีสุดท้ายไปอีก ซึ่งเทไว้แบบ 2 เลนสวนกันได้สบายๆ แต่ก็ยังไม่เห็นคนมาใช้บริการมากนัก ซึ่งในบางเวลาก็จะกลายเป็นทางเดินเลียบถนนสุขุมวิทขาออกไป
นอกจากจะมีเส้นทางจักรยานแล้วก็ยังมีที่จอดให้พักจักรยานตามระยะต่างๆ
สถานีสุดท้ายของ Phase 1 คือสถานี สถานีเคหะสมุทรปราการ (E22) อยู่แถวซอยเทศบาลบางปู 51 มีอาคารจอดรถหรือที่เรียกว่าจอดแล้วจรหรือ Park and ride ไว้รองรับผู้คนที่รอบนอกที่จะมาใช้งานรถไฟฟ้า แถวนี้ก็จะมีเคหะต่างๆทั้งเคหะสมุทรปราการ เคหะบางพลี มีแบบจัดสรรอยู่ทางฝั่งขาออกอย่างทรัพย์รุ่งเรืองซิตี้ มีสะพานข้ามคลองเอง มีอาคารพาณิชย์อยู่ด้านหน้า หรือกิตตินคร ฝั่งขาเข้าก็จะมีบ้านเมฆฟ้าวิลล์
เนื่องจากเป็นสถานีสุดท้าของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเฟส 1 ก็จะมีการหยุดการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าไว้ที่ตรงจุดนี้ โดยจะมีเส้นทางรถไฟฟ้าเลี้ยวเข้าศูนย์ซ่อมบำรุงทางฝั่งขาเข้าหรือฝั่งซอยเทศบาลบางปูเลขคู่
ภายในพื้นที่อาคารศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจรตั้งอยู่บนพื้นที่ 123 ไร่ ภายในสามารถรองรับได้ถึง 1200 คัน ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในช่วงก่อสร้างและมีรถเข้า-ออกตลอดเวลา
ซึ่งสุดทางของสถานีเคหะสมุทรปราการก็จะมีวัดพุทธศิวิไลและศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูสวางคนิวาสของสภากาชาดไทย
จากจุดนี้ก็จะจบการก่อสร้างสำหรับ Phase1 ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายสำโรง-เคหะสมุทรปราการแล้วนะคะ ส่วน Phase 2 นั้นก็จะต่อยาวไปอีกถึงนิคมบางปู ซึ่งถ้ามีการก่อสร้างครบทุกสถานีแล้วก็จะสามารถเดินทางจากนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้าตัวเมืองได้โดยตรงแบบไม่ต้องเปลี่ยนไปต่อรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ ในทางของอสังหาริมทรัพย์คือจะมีการขยายของเมืองมากขึ้น ไม่จำเป็นจำต้องมีที่พักใกล้กับที่ทำงาน แต่ยังได้เลือกที่พักที่อยู่ไกลออกไปหน่อย โดยสามารถกำหนดเวลาเดินทางได้เที่ยงตรงมากกว่าการเดินทางด้วยรถยนต์
สรุป สถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายนี้เป็นส่วนต่อขยายโซนสุขุมวิทตอนปลายที่จะเริ่มเปิดให้ใช้บริการกันประมาณปี 2563 การพัฒนาพื้นที่ส่วนใหญ่จะเน้นไปทางรองรับแหล่งงานในย่านอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการเป็นหลัก บางสถานีใกล้สถานที่ราชการ บางสถานีมีชุมชนเยอะหน่อย มีศูนย์การค้า มีตลาดก็จะมีข้อดีเรื่องความอุดมสมบูรณ์ แต่ด้วยสภาพชานเมืองของพื้นที่แล้วก็จะมีแหล่งที่อยู่อาศัยที่เป็นแนวราบซะเป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้อยมากจะเป็นแบบหมู่บ้านจัดสรรจาก Developer ในพื้นที่ที่ก็ถือว่าสร้างแล้วขายได้ เพราะมีการขยาย Phase 2 เพิ่มขึ้นอีก ส่วนคอนโดจะมีเพียงไม่กี่ตึก ส่วนใหญ่จะอยู่ที่แถวสำโรง-ปู่เจ้าสมิงพรายที่ใกล้เมืองมากกว่า แต่บริเวณรอบๆสถานีในระยะเดินยังมีพื้นที่ว่างเปล่าเหลืออีกมาก ทำให้ต้องจับตาดูการขยายของเมืองเมื่อมีการเปิดใช้งานจริงค่ะ