เมื่อสถาปนิกต้องมาออกแบบบ้านของตัวเอง…จะเป็นอย่างไร
หลายคนคงจินตนาการถึงบ้านหน้าตาหวือหวาในแบบที่ไม่ธรรมดา หรือบ้างก็คิดว่าบ้านของสถาปนิกจะต้องซุกซ่อนรายละเอียดไว้แบบอัดแน่น ในความเห็นของเราหลังจากไปชมบ้านหลังนี้…คิดว่าใช่ทั้งสองอย่าง เพราะบ้านหลังนี้ถูกออกแบบให้เป็น Art Gallery สีขาว ใช้เก็บสะสมงานศิลปะที่เป็นทั้งเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่ง พร้อมฟังก์ชันการใช้งานที่ซุกซ่อนอยู่ครบถ้วน โครงสร้างบ้านหลักๆ จะเป็นกำแพงสองฝั่งที่ช่วยป้องกันความวุ่นวายของชุมชนเมืองไม่ให้เข้าถึงตัวบ้าน ซึ่งบ้านหลังนี้มีชื่อเก๋ๆ ว่า “House Between The Wall” ซึ่งตอบโจทย์การเป็นพื้นที่พักอาศัยของคู่รักนักออกแบบ..คุณธนัทเกียรติ จงเกรียงไกร และ คุณกนกกาญจน์ เฮงอุดมทรัพย์ สถาปนิกและผู้ก่อตั้ง ANATOMY ARCHITECTURE + ATELIER ซึ่งนอกจากออกแบบแล้ว ทั้งคู่ยังเป็นเจ้าของบ้านอีกด้วย
บ้านในเมืองที่ต้องการความเป็นส่วนตัวสูง
บ้านในเมืองที่ต้องการความเป็นส่วนตัวสูง
“โจทย์แรกคือ รอบๆ ข้างของที่ดินมันล้อมด้วยเพื่อนบ้านหมดเลย ซึ่งเราให้ความสำคัญเรื่อง ความเป็นส่วนตัวมาเป็นลำดับแรก ทำให้ไอเดียของผนัง 2 ฝั่งนี้มันเกิดขึ้น เป็นกำแพงส่วนตัวของบ้านเราอีกที จึงออกมาเป็นชื่อบ้าน…House Between The Wall ”
เรื่องเพื่อนบ้านนับเป็นโจทย์คลาสสิคของการออกแบบบ้านพักอาศัย โดยเฉพาะบ้านในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ เพราะไม่ใช่แค่อยู่คนละรั้วกันแล้วจะได้มาซึ่งความเป็นส่วนตัวสมบูรณ์ 100% มันอาจจะมีสายตาจากบ้านใกล้เรือนเคียงมองลอดผ่านหน้าต่างเข้ามาได้ หรือเสียงจากบ้านเราอาจจะไปรบกวนบ้านข้างๆ ก็เป็นได้ …Solutions ที่ได้คือทั้งคู่ใช้ผนังทึบทั้ง 2 ฝั่ง เป็นโครงสร้างหลัก เพื่อป้องกันสายตาและเสียงจากภายนอกค่ะ
Living Room ที่อยู่ด้านในสุดของบ้าน
“เราวางฟังก์ชันห้องตามการใช้งานจริง Living Room จึงอยู่ด้านในสุด”
เหตุผลที่ทั้งคู่เลือกวางห้องนั่งเล่นจะอยู่ด้านในสุดเพราะเป็นห้องที่ใช้เวลาอยู่นานที่สุด จึงอยากให้มีความเป็นส่วนตัวสูงสุด ทั้งพักผ่อน, เล่นดนตรี, ฟังเพลง, ร้องเพลง จึงต้องทำพื้นที่ให้สามารถเสียงดังได้ ไม่รบกวนพื้นที่บริเวณอื่นในบ้าน และไม่รบกวนบ้านข้างเคียง
“จากโจทย์ว่าคุณแม่จะมาอยู่ด้วยเป็นครั้งคราว เราจึงแบ่งบันไดออกเป็น 2 ฝั่ง แบ่งพื้นที่เป็น 2 Wing เวลาอยู่ชั้นบนทั้ง Master Bedroom และห้องนอนแขกจะไม่สามารถเชื่อมกันได้ เพื่อให้ Privacy กับห้องนอน”
เนื่องจากทั้งคู่ให้ความสำคัญในเรื่องของความเป็นส่วนตัวบริเวณห้องนอนที่สูงมาก ไม่ใช่แค่หลบสายตาจากเพื่อนบ้านมันรวมถึงจากคนในบ้านด้วย ทำให้พื้นที่บนชั้น 2 จะแยกกันตั้งแต่บันได และวางแปลนให้ห้องนอนไม่สามารถมองเห็นและเดินเชื่อมถึงกันได้ จะมีเพียงพื้นที่บนชั้นล่างเท่านั้นที่เป็นพื้นที่ส่วนกลางให้อยู่อาศัยร่วมกัน
อีกเทคนิคหนึ่งคือ การวางหน้าต่างเพื่อรับแสง จะถูกจัดวางให้อยู่ในตำแหน่งที่เพื่อนบ้านไม่สามารถมองเห็น หรือจะมองเห็นได้เฉพาะบริเวณทางเดินไม่ใช่โซนพักผ่อนหลักของตัวบ้าน
อย่างเช่นห้องน้ำในห้องนอนของทั้งคู่ จะสามารถเปิดหน้าต่างโล่งได้โดยที่ไม่ต้องติดม่านบังสายตา เพราะมีผนัง 2 ฝั่งที่เป็นโครงหลักของบ้านบังสายตารอบข้างไว้แล้ว ส่วนช่องแสงที่อยู่ตรงข้ามกันก็ดีไซน์อยู่เกือบถึงฝ้าเพดาน ป้องกันสายตาจากคนในบ้านด้วยเช่นกัน
บ้านไม่อึดอัด..แม้โครงสร้างหลักเป็นผนังทึบ 2 ด้าน
ช่องแสงของตัวบ้าน
“พอเป็นผนังทึบ 2 ฝั่งหลายคนอาจจะมองว่าบ้านจะอึดอัด ซึ่งไม่นะ เราวางกำแพงทางฝั่งเหนือ/ใต้เพื่อบังแดดทางทิศใต้เป็นหลัก ส่วนช่องแสงจะวางในแนวตะวันออก/ตะวันตก ดังนั้นเวลาที่พระอาทิตย์อ้อมจากตะวันออกไปตะวันตก จะทำให้มีแสงเข้าตลอดเวลา ได้แสงสว่างตลอดทั้งวัน”
โดยแสงที่ทางเจ้าของบ้านต้องการนั้นจะเป็นแบบ Indirect Light คือไม่ต้องการให้แดดเข้ามาแบบตรงๆ เพราะฉะนั้นเวลาที่แดดโดนผนังหลัก แล้วมันจะกระจายแสงมาที่ชั้น 1 อีก ทำให้บ้านนี้แทบไม่ต้องเปิดไฟในช่วงกลางวันเลยค่ะ
เอฟเฟกต์แสงสวยๆ ในตอนเช้าที่ลอดผ่านหน้าต่างทรงยาว เป็นอีก Gimmick เก๋ๆ ที่หากเลือกใช้หน้าต่างแบบปกติก็จะไม่ได้เห็นเส้นแสงแบบนี้นะ
ใช้บล็อกแก้วเป็นช่องแสงแทนการใส่หน้าต่าง
อีกเทคนิคหนึ่งคือการใช้บล็อกแก้วเป็นช่องแสงแทนการใส่หน้าต่าง ก็เพราะทั้งคู่ต้องการความแข็งแรงและปลอดภัยด้วย แต่ก็ยังคงได้ช่องแสงจากธรรมชาติเข้ามาสู่ภายในบ้านค่ะ
อยู่ในบ้านที่ไม่ค่อยมีหน้าต่าง…โดยไม่ร้อน
ผนังเพิ่มความหนาเป็น 30 ซม. เท่ากับความหนาของเสาบ้าน
“เนื่องจากแสงเป็น Indirect ทำให้ความร้อนไม่ได้เข้ามาในตัวบ้านเยอะ และด้วยความหนาของผนังที่เบิ้ลเป็น 30 ซม. ก็ช่วยกันความร้อนได้เยอะมาก ไม่ต้องเปิดแอร์ก็ได้”
หากการออกแบบให้มีหน้าต่างในบ้านจำนวนมากจะช่วยให้รับลมได้มากที่สุด แต่ก็อาจจะไม่ตอบโจทย์สำคัญที่ทั้งคู่ต้องการความเป็นส่วนตัวสูงเทคนิคที่เลือกใช้คือการเพิ่มความหนาของผนัง จากเดิมที่ทั่วไปใช้กัน 20 ซม. บ้านหลังนี้เพิ่มความหนาเป็น 30 ซม. ซึ่งนอกจากจะช่วยกันความร้อนแล้ว ยังกันเสียงได้มากขึ้นด้วย
อีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดความร้อนของตัวบ้านได้ก็คือเรื่องสี โดยเฉพาะสีโทนอ่อนอย่างสีขาวก็จะช่วยสะท้อนแสงได้ดีกว่าโทนเข้มค่ะ
บ้านที่เรียบง่าย..เหมือนผืนผ้าใบสีขาวที่สาดงานศิลปะลงไป
เนื่องจากเป็นคู่รักนักออกแบบเหมือนกัน ทำให้ทั้งคู่มีความชอบที่จะไปเยี่ยมชม Museum ต่างๆ และเป็นแรงบันดาลใจให้กลับมาทำบ้านเป็น Art Gallery ซึ่งสะท้อนออกมาทั้งในเรื่องของการวางแปลนให้ดูโปร่งโล่ง ขาวคลีนตามสไตล์ Museum และมี Gimmick ที่ไม่เหมือนใครโดยใส่ Iconic Furniture ของดีไซเนอร์ชื่อดังที่สะสมไว้ลงไป…
วางแปลนโล่งเหมือน Museum แต่ปิดประตูกั้นโซนได้
“คอนเซปต์ของ Planning ต้องการจะให้บ้านเปิดโล่งเหมือน Museum ซึ่งสามารถเลือกปิดเปิดในแต่ละโซนได้”
ตัวบ้านจึงปรับพื้นที่ได้หลายรูปแบบ ตอบโจทย์ทั้งเวลาที่ต้องการใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ และการปิดประตูกั้นในเวลาที่ต้องการความเป็นส่วนตัว เช่น เวลาที่ต้องการความสงบในห้องทำงาน ก็สามารถปิดประตูแยกออกจากโซนครัวได้
พื้นเคลือบด้วย Epoxy กลมกลืนกับผนัง
“พื้นเป็น Epoxy ลง PU เคลือบด้านอีกทีนึง ซึ่งการใช้งานจะต้องดูแลรักษาเป็นพิเศษหน่อย”
ตามปกติแล้วเราจะเห็นการใช้เทคนิคเคลือบพื้นด้วย Epoxy ในกลุ่มโรงงาน โกดังสินค้า ที่ต้องการพื้นที่ไร้รอยต่อและทำความสะอาดง่าย เพราะวัสดุชนิดนี้มีจุดเด่นในเรื่องความทนทานต่อกรด-ด่าง-สารเคมีและน้ำมันได้ดี แต่ Epoxy เองก็มีข้อจำกัดในเรื่องของการเป็นรอยขีดข่วนได้ง่าย และลื่นเมื่อเปียกน้ำ รวมถึงหากมีความชื้นใต้ผิว Epoxy จะทำให้บวมพองได้ จึงต้องใช้งานด้วยความระมัดระวัง เช่น ใส่ Sleeper เดินในบ้าน, ไม่ลากเก้าอี้ต้องยกเท่านั้นนะ
บ้านในเมืองที่ต้องการความเป็นส่วนตัวสูง
“อาคารภายนอกเป็นสี Texture เนื่องจาก Mass ของผนังค่อนข้างใหญ่ อนาคตอาจจะมีการ Crack แตกได้ ผมจึงเลือกสี Texture ที่เป็นเม็ดใหญ่เพื่อมากลบรอยแตกไม่ให้มันเห็นชัดมากเกินไป”
สี Texture Paint คือ สีตกแต่งพิเศษที่ทำให้ผนังบ้านมีลวดลาย มีมิติมากกว่าผนังทาสีเรียบๆ แบบเดิม ซึ่งมีให้เลือกหลายลายเช่นลายหิน ลายทราย เป็นเทคนิคที่กำลังฮิตในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังช่วยปกปิดร่องรอยแตกร้าวต่างๆ หรือความไม่เรียบเนียนของผนังได้เป็นอย่างดี
บ้านสไตล์ Minimal / ออกแบบภายในสไตล์ Mid-Century
“ความต้องการด้านสไตล์ขอเป็น Minimal Architecture แต่ในส่วนของ Interior พยายามจะใส่ Element สไตล์ Mid-Century Modern เพื่อให้บ้านดูอบอุ่น มีเสน่ห์มากขึ้น”
Minimal Style มีคำจำกัดความว่า Less is more เป็นการตกแต่งบ้านที่เน้นความเรียบง่าย ใช้เฟอร์ฯน้อยชิ้น มีแต่ชิ้นที่จำเป็น และมีดีไซน์เฉพาะตัว ใช้งานได้อย่างครบครัน เน้นพื้นที่กว้างขวาง โปร่งโล่ง มักจะใช้สีโมโนโทนหรือโทนอ่อนๆ เช่น สีขาว สีเทา แต่ เพื่อให้เกิดความผ่อนคลายในการอยู่อาศัย
แต่ความขาวคลีนก็อาจทำให้ดูจืดชืดจนเกินไป ทั้งคู่จึงต้องการใส่ Element สไตล์ Mid-Century Modern ให้เกิดความโดดเด่นอย่างเรียบง่าย ซึ่งสไตล์นี้จะมีการลดทอนความเยอะของรายละเอียดที่ไม่จำเป็นออกไป ขณะเดียวกันก็คงความอิสระของรูปร่าง โดยสื่อผ่านเส้นสายและรูปทรงเรขาคณิต จนกลายเป็นงานดีไซน์ที่มีอิสระแต่ไม่ยุ่งเหยิง เพื่อให้บ้านดูมีเสน่ห์มากขึ้น
“ถึงแม้ว่าภาพรวมชอบคอนเซปต์อยากให้เป็นแบบ Minimal แต่ก็ไม่ได้อยากให้ทุกอย่างดู Mininal ซะทีเดียว ยังคงออกแบบภายในให้ดูสนุกสนาน มี Gimmick แต่ละจุด ให้เป็นเหมือนเป็นงาน Art Piece ในบ้าน อย่างบ้านที่ทำเป็นสีขาวก็เปรียบเหมือนผืนผ้าใบที่เราสาดสี ตกแต่ง วาดภาพลงไปเพื่อให้อีก Feeling นึงและพยายาม Collect เฟอร์นิเจอร์ของ Designer ที่ชอบ Mixed ของที่มันไม่เข้ากัน ให้มันเข้ากัน ดูมีเรื่องราว ดูมีสตอรี่”
“เสากลมนี้ใช้เพื่อตกแต่งให้ Relate กับบันไดซึ่งเป็นเหมือนหัวใจของบ้าน ออกแบบให้เหมือนบันไดนี้เป็น Sculpture ชิ้นหนึ่ง …เฟอร์นิเจอร์ที่เลือกมาก็มีความเป็น Curve ให้ดีไซน์ตอบรับกัน”
สอดคล้องกับหลักการ “Unity” ที่นิยมใช้ในงานออกแบบ เพื่อทำให้พื้นที่ทั้งหมดเป็นเรื่องราวเดียวกัน
“อย่างครัวก็พยายามดีไซน์ให้เหมือน Art Piece เป็นจุดเด่นชิ้นนึง โดยตรง Top ครัวจะใช้เป็นไม้ HMR พ่นสี เคลือบด้วย PU มาต่อกันทีละชิ้น ถ้าใช้เป็นหิน Cost จะสูงมาก ซึ่งเราพยายามที่จะทำของถูกให้มันดูแพง”
ผนังขาวที่ซ่อนฟังก์ชันไว้ภายใน
“เวลาเข้ามาเห็นทุกอย่างจะดูเป็นสีขาว เพราะเราพยายามทำให้มันดู Invisible ไม่ให้รู้ว่านี่คือตู้ อย่างเช่น ตู้รองเท้า, Laundry Room, Powder Room ทุกอย่างจะดูกลืนเป็นเหมือนผนังแต่จริงๆ แล้วเราซ่อนฟังก์ชันไว้ภายใน”
เทคนิคการออกแบบนี้ทำให้ตัวบ้านยังคงรักษาคอนเซปต์ Minimal ไว้ได้ และยังคงมีฟังก์ชันให้ใช้งานได้ครบถ้วนตามแบบที่บ้านควรจะมี
สวนสำหรับคนที่ไม่มีเวลารดน้ำต้นไม้
สวนสำหรับคนที่ไม่มีเวลารดน้ำต้นไม้
“ไลฟ์สไตล์ที่ไม่ค่อยมีเวลา แต่ยังต้องการความร่มรื่นให้กับบ้าน เราจึงคิดว่าเราจะไม่ได้ปลูกต้นไม้เยอะ วางแค่ 2 ต้นแต่ไม่ว่าจะอยู่จุดไหนของบ้านเราจะต้องเห็นมันได้”
การวางตำแหน่งต้นไม้ให้สามารถมองเห็นได้จากหลายๆ จุดของบ้านเป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่น่าสนใจของบ้านหลังนี้ ซึ่งจะวางไว้ให้พอดีกับบริเวณที่เป็นช่องหน้าต่างและบริเวณที่เป็นบล็อกแก้ว โดยที่ต้นไม้ทั้ง 2 จะสามารถมองเห็นได้จากทุกชั้นพักอาศัยตั้งแต่ชั้น 1, ชั้น 2 และบนดาดฟ้า
“House Between The Wall เป็นบ้านที่บ่งบอกตัวตนของเราสองคน บ่งบอกความรู้สึก ตอบโจทย์ทุกอย่างที่เรารอมาตั้งแต่เราอยู่คอนโด เราพยายามเน้นทั้งฟังก์ชัน ทั้งความสวยงามที่มันเป็นตัวตนของเราสองคนจริงๆ”
“ถ้าจะให้จำกัดคำนิยามของบ้านหลังนึง ผมคิดว่ามันยากมากเลยนะ เพราะ มันมีหลายอย่าง มันมีหลายอารมณ์ มันมีหลายคุณค่ามากเลยอ่ะ ที่จะจำกัดคำนิยามให้ออกมาแค่ประโยคเดียว …สำหรับผมมันเป็นจุดเริ่มต้น เป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ ที่มีบ้านหลังนี้ ผมเติมทุกสิ่งทุกอย่าง ผมดีไซน์ทุกสิ่งทุกอย่างเข้าไปกับบ้านหลังนี้พร้อมกับคุณกานต์ และมันออกมาได้แบบที่เราต้องการแทบจะ 100% เลย ทั้ง Moment ทั้งภาพลักษณ์ ทั้งเรื่องของการอยู่อาศัย…แฮปปี้มากๆ ครับ”
Owner : ธนัทเกียรติ จงเกรียงไกร และ กนกกาญจน์ เฮงอุดมทรัพย์
Architect : ธนัทเกียรติ จงเกรียงไกร จาก AA+A architect co.,ltd
Interior Designer : กนกกาญจน์ เฮงอุดมทรัพย์ จาก AA+A architect co.,ltd
Photographer : โศภิตา ปิยะทัต
ติดตามผลงาน AA+A architect co.,ltd ได้ที่
Facebook : Www.fb.com/anatomyarchitecture
Ig : @anatomyarchitecture
Www.anatomyarchitecture.com