ใครที่ผ่านไปผ่านมาในย่านลาดพร้าว-วังหินอาจจะเคยสะดุดตากับบ้านสไตล์ลอฟท์ทรงสูงหลังนี้กันมาบ้าง ด้วยวัสดุหลักที่เป็นอิฐทั้งหลังต่อเนื่องกันถึง 4 ชั้น ทำให้บ้านหลังนี้โดดเด่นกว่าบ้านข้างเคียงและดูสวยไม่หยอกเลยนะคะ ซึ่งทางสถาปนิกเองก็ตั้งชื่อให้กับบ้านหลังนี้ว่า ” High Brick House”

ต้นกำเนิดของไอเดียของบ้านหลังนี้…หากใครยังจำหนังโรแมนติกเล็กๆ เรื่องหนึ่งที่ออกฉาย แต่กลับทำรายได้ถล่มทลายไปทั่วโลกอย่าง ‘Notting Hill’ กันได้ หลายคนคงเคยผ่านตากับความสวยงามของอาคารบ้านเรือนในหนังที่ถ่ายทำ ณ ย่าน Notting Hill ประเทศอังกฤษ ที่เกริ่นถึงหนังเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะในครั้งแรกที่เราไปถึงบ้านหลังนี้มันทำให้เรานึกถึงบรรยากาศในหนังเรื่องนี้ขึ้นมาค่ะ

…บ้านที่เราจะพาไปชมกันในวันนี้ เป็นบ้านสไตล์ลอฟท์ที่ถอดแบบออกมาจากความชื่นชอบส่วนตัวของเจ้าของบ้านที่ผูกพันกับบ้านในประเทศอังกฤษ ซึ่งมีลักษณะเป็นบล็อกสร้างด้วยอิฐ โดดเด่นด้วยหน้าบ้านเก๋ๆ ที่เป็นบันไดเดินเข้าบ้านที่ชั้น 2 และมีชั้นใต้ดินให้ใช้งาน… ดูอย่างไรก็เป็นบ้านโซนยุโรปชัดๆ จึงเป็นโจทย์ให้สถาปนิกแล้วค่ะว่าจะออกแบบให้เหมาะกับภูมิอากาศและภูมิประเทศของไทยได้อย่างไร?

ความต้องการของเจ้าของบ้านต้องมาก่อนความสวยงาม

Image 1/8
บ้านสไตล์ลอฟท์ที่ดีไซน์จากความต้องการของเจ้าของบ้านก่อนความสวยงาม

บ้านสไตล์ลอฟท์ที่ดีไซน์จากความต้องการของเจ้าของบ้านก่อนความสวยงาม

” จริงๆ ฟังก์ชันถูกถอดมาจากการใช้งานของเจ้าของทั้งหมด ผมแทบไม่ได้ทำอะไรใหม่ ผมแค่เพิ่มส่วนที่คิดว่าเป็นไปได้ อย่างการทำห้องนอนที่มีกระจกมองถึงกันได้ ดีไซเนอร์ จึงเป็นแค่ตัวแปรในการ Input บางอย่างที่คิดว่าน่าจะเป็นไปได้”

…สถาปนิกเริ่มต้นออกแบบโดยนำฟังก์ชันที่ทางเจ้าของบ้านต้องการทั้งหมดมาคลี่คลายก่อน แล้วจึงนำแต่ละฟังก์ชันมาจัดเรียงตำแหน่งที่เหมาะสม โดยตัวบ้านประกอบไปด้วย 1 พื้นที่นั่งเล่น 1 พื้นที่ทานอาหาร 1 ครัวเปิดไม่จำเป็นต้องมีครัวไทย 1 ห้องนอนใหญ่ 1 ห้องอ่านหนังสือ 1 ห้องอเนกประสงค์ 1 ห้องออกกำลังกาย และ 1 โรงจอดรถ ซึ่งทั้งหมดเป็น Requirement ที่เกิดจากกิจวัตรประจำวันของเจ้าของเอง

“ผมว่ามันเป็นดาบ 2 คมนะ บางทีเห็นบ้านในหนังสือแล้วชอบก็หยิบมาเลย มันเป็นไปไม่ได้ เพราะทิศทางของแดด ลม มันคนละแบบ เราก็ต้องบอกกล่าวเจ้าของบ้านให้เผื่อใจ …ว่ามันจะมีส่วนที่เป็นไปไม่ได้ตามนั้นเหมือนกัน”

เป็นเรื่องปกติธรรมดาเลยนะคะ ที่แต่ละคนจะมีแบบบ้านที่ชื่นชอบส่วนตัว อาจจะบอกได้เป็นสไตล์ เป็นภาพคร่าวๆ หรือมีรูป Reference บ้านที่ชอบเก็บไว้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นหนึ่งโจทย์ที่ทางดีไซเนอร์ต้องออกแบบให้เข้ากับแต่ละแปลงที่ดิน ให้เกิดความเหมาะสมกับทิศทางแดดลม และแน่นอนว่าต้องสวยงาม ซึ่งบ้านแต่ละหลัง ที่ดินแต่ละแปลงจะได้คำตอบออกมาไม่เหมือนกัน

“อย่างบ้านหลังนี้ในส่วนของ Living จะอยู่ทางทิศเหนือ -ใต้ พอดี จึงจงใจเปิดช่องทางทิศใต้ เพื่อให้ลมมันสอด บ้านจึงเย็นด้วยตัวเองตลอดทั้งวัน และ Set ฝั่งตะวันตกด้วยผนัง Solid สูงขึ้นไปเลย มันทำให้ตัวบ้านบังแดดให้ตัวเอง”

สำหรับเรื่อง ‘ลม’ ประเทศไทยนั้นมีทิศลมประจำอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้และทิศใต้ ดังนั้น สถาปนิกจึงจัดวางช่องเปิดของบ้านไว้ทางทิศนี้ เป็นช่องเปิดขนาดใหญ่ให้รับลมจากทิศใต้ ไปออกทางทิศเหนือได้สะดวก เวลาที่อยู่พื้นที่นี้จะสัมผัสได้ถึงลมที่พัดผ่านอยู่ตลอด เรียกว่า ‘ช่องลม’ ซึ่งทางสถาปนิกได้สร้างวางฟังก์ชันไว้เป็น Living+Dining ซึ่งเป็นพื้นที่พักผ่อนหลักของครอบครัว

ในส่วนของ ‘แสงแดด’ ปกติพระอาทิตย์ของบ้านเราจะวิ่งเป็นแนวตะวันออกแล้วอ้อมโค้งไปทางใต้ก่อนจะตกทางทิศตะวันตก ทำให้ทิศใต้เป็นทิศที่รับแดดมากที่สุด แต่ทิศที่ร้อนที่สุด คือ ทิศตะวันตก เพราะรับแสงแดดโดยตรงในช่วงบ่ายนั่นเอง ทางสถาปนิกจึงออกแบบให้บ้านทางฝั่งตะวันตกเป็นผนังทึบสูงขึ้นไปเลยเพื่อป้องกันแดดเข้าสู่อาคารค่ะ

ที่ดินเล็กแต่ต้องการตัวบ้านใหญ่ จึงต้องเพิ่มพื้นที่ใช้สอยในแนวตั้ง

“ด้วยความที่ออฟฟิศผมอยู่ใกล้ๆ แถวนี้ จึงเคยขับรถผ่าน ก็จำความรู้สึกได้ว่าโซนนี้เป็นชุมชนเก่าแก่ บ้านก็เป็นบ้าน 1-2 ชั้น ก็ต้องตีความออกมาให้ได้ว่าจากฟังก์ชันที่เจ้าของอยากได้ ทำยังไงให้เค้าใช้วิถีชีวิตได้อย่างเต็มที่… จึงคิดว่าเรียงฟังก์ชันเป็นสัก 4 ชั้นน่าจะดีนะ เพราะ บ้านหน้าแคบ แล้วจะทำอย่างไรให้เค้าเห็นกันตลอดเวลา เพราะเรากลัวว่าอยู่ 2 คนจะเหงาในพื้นที่บ้านขนาดใหญ่ เราจึงทำให้เสียงของกิจกรรมที่แต่ละคนกำลังทำอยู่ เป็น Sign ว่าเค้าไม่ได้อยู่คนเดียวนะ เค้าอยู่กับอีกคนหนึ่งตลอดเวลา”

ที่ดินหลังนี้มีขนาด 68 ตร.วา ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ขนาดเล็กนัก ใช้ปลูกบ้านเดี่ยวได้สบาย แต่ทว่ากลายเป็นที่ดินขนาดเล็กเมื่อเทียบกับฟังก์ชันที่ทาง Owner อยากจะได้ ราวๆ เกือบ 500 ตร.ม. พอหารกับพื้นที่ของตัวบ้านแล้วมันไม่พอ เป็นสาเหตุที่ทางสถาปนิกต้องเรียงฟังก์ชันในแนวตั้งให้สูงขึ้นไปเป็น 4 ชั้น

ประกอบกับบริบทและสภาพแวดล้อมของบ้านเดี่ยว 1-2 ชั้นที่รายล้อม บ้านจึงมีจุดชมวิวที่ดีตั้งแต่ชั้น 2 ขึ้นไป สถาปนิกจึงดันพื้นที่ใช้งานหลักให้สูงขึ้น โดยจัดให้พื้นที่อยู่อาศัยหลักและทางเข้าบ้านอยู่บน 2 ชั้น ทำหน้าที่เป็นเหมือนชั้น 1 ของบ้านทั่วไป ชั้น 2 ของตัวบ้านจึงประกอบด้วยห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร ส่วนชั้น 1 กลายเป็นโรงจอดรถ, ห้องฟิตเนส, ห้องเก็บของ เสมือนเป็นห้องใต้ดินของบ้านในยุโรป

ในส่วนของชั้น 3 จัดเป็นห้องนอนสำหรับเจ้าของบ้าน และห้องอ่านหนังสือ ส่วนชั้นบนสุดเป็นดาดฟ้า และห้องอเนกประสงค์ เป็นมุมโปรดของเจ้าของบ้านในยามเย็น ที่จะขึ้นมารับลม ชมวิว เปลี่ยนบรรยากาศค่ะ

มองหาความเป็นส่วนตัวบนทำเลที่มีเพื่อนบ้านล้อมรอบ

Image 1/5
มองหาความเป็นส่วนตัวบนทำเลที่มีเพื่อนบ้านล้อมรอบ

มองหาความเป็นส่วนตัวบนทำเลที่มีเพื่อนบ้านล้อมรอบ

“ที่เราเลือกให้ Living ขึ้นมาบนชั้น 2 เพราะว่าอยากให้เค้าหลุดจากบริบทโดยรอบที่เป็นบ้านชั้นเดียวซะเป็นส่วนใหญ่ …เวลาที่อยู่ชั้นเดียวมันอึดอัดครับ เราอยากให้เค้าได้รับลม ได้รับวิว ได้รับแดดที่เหมาะสม ประกอบกับพื้นที่เล็กแบบนี้ ทำให้เราใกล้ชิดกับเพื่อนบ้าน จึงจงใจยกขึ้นมาเพื่อให้หลบเพื่อนบ้านไปดีกว่า เค้าจะได้เห็นวิวที่ไกลขึ้นของทั้งทิศใต้และทิศเหนือ”

ประเด็นของที่ดินแปลงนี้คือตั้งอยู่ใจกลางเมืองย่านลาดพร้าววังหิน ซึ่งบ้านใกล้เรือนเคียงเป็นบ้าน 1-2 ชั้นทั้งหมด ทำให้ ‘ความเป็นส่วนตัว’ กลายเป็นโจทย์ใหญ่ให้กับสถาปนิก ทางออกที่ทำให้ตัวบ้านไม่อึดอัดก็คือ การยกพื้นที่ใช้สอยหลักอย่าง Living ขึ้นมาไว้บนชั้น 2  แทน

“ตอนที่เราทำผัง เรา Plot Graph ที่ดินด้วยผังถนน เราจึงรู้ว่าฝั่งตรงข้ามมีส่วนที่เป็นถนน มีที่โล่ง พอเห็นจากผังปั๊บ ก็เออ..ถ้ายกบ้านขึ้น ชั้น 2 ก็ได้เห็นที่โล่งเลย แล้วก็จริงอย่างที่เราเช็คมาในแผนที่”

ทางสถาปนิกได้สำรวจจนพบว่าจุดที่ได้วิวดีของบ้านจะเริ่มต้นตั้งแต่ชั้น 2 คือเป็นวิวของถนนซอยฝั่งตรงข้ามที่เป็นบริเวณสามแยก เป็นจุดที่นำสายตาออกไปเห็นวิวที่โปร่งกว่าบริเวณอื่น จึงยก Living ขึ้นมาไว้บนชั้น 2 ในจุดที่รับวิวได้

บ้านใหญ่ที่อยู่ด้วยกัน 2 คนแล้วไม่เหงา

Image 1/5
บ้านใหญ่ที่อยู่ด้วยกัน 2 คนแล้วไม่เหงา

บ้านใหญ่ที่อยู่ด้วยกัน 2 คนแล้วไม่เหงา

“ผมดีไซน์ให้เสียงของ Activity มีผลต่อการรับรู้ว่ามีอีกคนอยู่นะ ไม่ต้องเห็นกันก็ได้ แต่ละคนอาจมี Space ส่วนตัวทำนั่นนี่อยู่ ออกกำลังกายอยู่ หรือตักน้ำให้ปลาอยู่ แต่เสียงจะทำให้เราได้ยินว่าอีกคนยังอยู่  จึงออกแบบบ้านที่เป็นปล่อง เพราะเราจงใจให้พื้นที่มันเปิดโล่ง แต่บ้านปล่องบางทีอยู่คนเดียว มันจะอ้างว้างถ้าไม่รับรู้ว่าใครอีกคนหนึ่งยังอยู่ “

บ้านที่อยู่ด้วยกัน 2 คนแล้วไม่เหงา หมายความว่า พวกเขาสามารถมองเห็นและได้ยินเสียงกันได้ตลอดเวลา ซึ่งโจทย์ของบ้านหลังนี้เป็นบ้าน 4 ชั้นขนาดใหญ่ 500 ตร.ม. อธิบายให้เห็นภาพคร่าวๆก็คือ ใหญ่ประมาณตึกแถว 2 ห้องติดกัน คงจะดูอ้างว้างกว้างใหญ่สำหรับคู่สามี-ภรรยาที่อยู่ด้วยกัน 2 คน

ทางสถาปนิกจึงออกแบบให้มีปล่องบันไดอยู่กลางบ้าน เพื่อจุดประสงค์ 2 อย่าง อย่างแรกคือ ทำให้ทุกชั้นมองเห็นกันได้ และอย่างที่ 2 คือ ทำให้ปล่องเป็นพื้นที่เปิดกลางบ้าน เสียงจากกิจกรรมต่างๆ เช่น เสียงทีวี เสียงทำครัว เสียงจากการเล่นเปียโน สามารถดังไปยังชั้นอื่นๆ ได้นั่นเอง

Image 1/9
บ้านใหญ่ที่อยู่ด้วยกัน 2 คนแล้วไม่เหงา

บ้านใหญ่ที่อยู่ด้วยกัน 2 คนแล้วไม่เหงา

“…ทั้ง 4 ชั้นถูกร้อยเรียงด้วยโถงบันได เป็นบันไดที่ทำหน้าที่เชื่อมพื้นที่เข้าหากัน และเป็นพื้นที่เปิดมุมมองให้แต่ละฟังก์ชันเห็นกันหมด จะเห็นว่าในขณะที่เรานั่งอยู่กลางบ้าน เราจะเห็นว่ามีคนทำอะไรอยู่ชั้นล่าง มีคนอ่านหนังสืออยู่ข้างบน หรือแม้กระทั่งอยู่ในห้องนอนก็ตามแต่คู่รักทั้ง 2 คน จะไม่รู้สึกขาดจากกัน ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ไหนของบ้าน อันนี้เป็น Key ที่ทำให้คนอยู่อาศัย 2 คนภายในพื้นที่ใหญ่ได้โดยไม่เหงา”

เทคนิคการออกแบบจะเรียงร้อยพื้นที่แต่ละชั้นให้มองเห็นกันผ่านโถงบันไดเหล็กซ้อนเกลียวและช่องเปิดที่เป็น Double Space ตรงกลางบ้าน เพื่อให้สมาชิกในบ้านเชื่อมโยงกันได้ด้วยสายตา สามารถมองเห็นทุกส่วนของบ้านได้จากทุกพื้นที่ โดยพื้นที่แต่ละส่วนถูกดีไซน์ให้อยู่เหลื่อมกัน เพื่อให้สมาชิกเห็นกันได้ และยังสามารถมองวิวภายนอกได้ทุกส่วนและทำให้ดูโปร่งโล่ง เห็นบรรยากาศภายนอกได้

บ้านที่สามารถนอนในเวลากลางวันได้

“ห้องนอนถูกทำให้มืด ตาม Requirement ของ Owner เป็นหลัก …Owner ต้องการให้ห้องนอนมืด เพราะไม่อยากนอนแบบรู้เวลา เพราะบินกลับมาบางที Jet Lack ก็อยากนอนในที่ๆ แสงไม่เข้า”

Image 1/7
บ้านที่สามารถนอนในเวลากลางวันได้

บ้านที่สามารถนอนในเวลากลางวันได้

เนื่องจากตารางบินที่สามารถมีได้ทั้งกลางวันกลางคืน จึงมีช่วงพักผ่อนที่ไม่ค่อยเป็นเวลา ดีไซเนอร์เลยออกแบบห้องนอนของนักบินให้มีแสงสว่างน้อย ได้บรรยากาศกลางคืนตลอดทั้งวัน โดยมีผ้าม่านปิดถึงข้างหัวเตียงเลย ให้มืดที่สุดเท่าที่มืดได้ และทางผู้ออกแบบก็ต้องการให้ห้องนอนอยู่ในตำแหน่งที่เห็นส่วนต่างๆ ของบ้านได้เช่นเดียวกับห้องอื่นๆ จึงใช้ผนังฝั่งหนึ่งเป็นกระจกบานใหญ่ เวลาที่ต้องการพักผ่อนก็แค่ปิดม่าน

ทำบ้านอิฐให้ดูเบาต่างจากลักษณะของอิฐเดิมๆ

ขอบคุณภาพจาก itdang2009.com

เกริ่นก่อนว่าเจ้าของบ้านชื่นชอบบ้านสไตล์ลอฟท์เป็นพื้นฐานเดิม และมีโอกาสได้เห็นผลงานของคุณเติ้ล เผดิมเกียรติ สุขกันต์ สถาปนิกและหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Studiomiti ผ่านผลงานการออกแบบ Starbucks สาขาวังน้อย ที่ดีไซน์การก่ออิฐแบบสลับครึ่งเว้นช่อง เป็นรูปทรงเครื่องหมายบวก เพิ่มช่องแสงที่จะส่องเข้าไปในตัวอาคารทรงกระบอกที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งคุณเติ้ลเองก็ออกตัวว่าได้เรียนผิดเรียนถูกมาหลายครั้งจนเกิดเป็นความชำนาญในโครงสร้างอิฐ แต่ไม่ใช่ชำนาญเฉพาะอิฐนะ วัสดุอื่นๆ ก็ออกแบบได้ ซึ่งคุณเติ้ลได้ถ่ายทอดเทคนิคการใช้อิฐบางส่วนมาให้เราทราบกันด้วยค่ะ

Image 1/3
ทำบ้านอิฐให้ดูเบาต่างจากลักษณะของอิฐเดิมๆ

ทำบ้านอิฐให้ดูเบาต่างจากลักษณะของอิฐเดิมๆ

“ปกติทำบ้านอิฐ อิฐมันจะดูหนา ดูตัน ผมใช้อิฐที่ทนไฟสูงหน่อย เผานานหน่อย ทำให้ได้ความหนาของอิฐประมาณนึง ซึ่งอิฐที่หนาและแกร่งนี้มันจะตัดและเฉือนได้ มันทำให้ผมตัดอิฐไปครึ่งนึงได้ เพื่อให้อิฐบางลง ให้มันแนบกับตัวโครงสร้างได้  นั่นคือการทำให้อิฐเปลี่ยน Meaning ของเค้า  …สันของอิฐที่เห็นอยู่ด้านนอกก็จะประกอบด้วยโครงสร้างและมี Finishing ของอิฐจริงแปะอีกชั้นหนึ่ง ก็ดูกลืนเป็นเรื่องเดียวกัน นั่นคือ เทคนิคที่เราพบ”

บ้านหลังนี้ใช้อิฐเป็นวัสดุหลักทั้งภายนอก และภายใน จึงมีความเป็นมวลของอิฐที่หนาและตัน ซึ่งทางสถาปนิกต้องออกแบบให้ดูโปร่งขึ้น เทคนิคที่ใช้คือลดความหนาของผนังอิฐให้เนียนไปกับโครงสร้าง ร่วมกับการออกแบบพื้นที่แต่ละห้องให้กว้าง มีพื้นที่กลวงๆ ตรงกลางเยอะๆ ก็ทำให้บรรยากาศดูโปร่ง และตัดความเลี่ยนของอิฐด้วยเหล็กสีดำ ทั้งบริเวณขอบประตู, ราวกันบันได, ชั้นวางของ ซึ่งสังเกตดีๆ จะเห็นว่าเหล็กแต่ส่วนออกแบบให้ดูบางเบา

” ผมพยายามทำให้โครงสร้างบางส่วนมันหายไป มันใช้ความท้าทายทางวิศวกรรม ก็ต้องทำงานร่วมกับวิศวกร “

ตัวบ้านมีการลดทอนมวลของเสาอาคารเพื่อลดความหนักของวัสดุ ด้วยการยื่นคานเหล็ก 3.5 เมตร ทำให้พื้นที่ชั้น 3 และ 4 ดูเสมือนลอยอยู่ในอากาศ ซึ่งส่งผลให้บ้านโปร่งจึงช่วยลดทอนความทึบตันไปได้

Image 1/4
การดีไซน์ให้เกิด Effect บนผนังเพื่อลดความทึบตันของอิฐ

การดีไซน์ให้เกิด Effect บนผนังเพื่อลดความทึบตันของอิฐ

“ผมก็พยายามเจาะช่องแสงบางช่อง ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ต้องแก้จากความแคบของพื้นที่ด้วย ทำให้เราต้องเจาะช่องแสงเป็น Skylight ทำให้บ้านมันดูไม่อึดอัด …ช่องเปิดต้องถูก Set ตามกฎหมายเนอะ อย่าง 2 ชั้นก็ 2 เมตร, 3 ชั้นก็ 3 เมตร ทั้งนี้ระหว่างชั้น 2 กับชั้น 3 จะมีระยะ Set ต่างกัน 1 เมตร เราจึงเปิด Skylight เพื่อให้บ้านไม่รู้สึกอึดอัด พอเราได้แสงลงมา ผมก็ดูในโมเดลครับว่า เอ๊..ถ้านั่งแล้วมองไปเห็นอิฐตันๆ คงน่าเบื่อ และด้วยความเล่นกับอิฐบ่อย ทำให้รู้ว่ามันมี Texture มีผิว Material ที่น่าสนใจ ถ้าเราก่ออีก Pattern หนึ่งก็จะเป็นอีก Effect หนึ่ง””

ทางสถาปนิกตั้งใจจะหาทางนำแสงเข้ามาในบ้านให้ได้เยอะที่สุด แต่จากความแคบของพื้นที่ทำให้การเลือกใช้ช่องแสงแบบ Skylight เป็นหนึ่งในวิธีที่ตอบโจทย์ โดยติดตั้งไว้บริเวณผนังข้างบันได ทำให้เวลาที่แสงส่องผ่านช่องหน้าต่างลงมา จะกระทบกับผนังอิฐช่วยลดความหนักทึบของวัสดุ

Image 1/5
ใช้บล็อกแก้วในการเปิดช่องแสง

ใช้บล็อกแก้วในการเปิดช่องแสง

“การดีไซน์อิฐให้เห็น Shade ของอิฐ ให้เห็นเงาบางส่วน เห็น Depth บางส่วน พอเห็นแสงจากข้างบน ก็ทดลองเรียง Pattern เรียงกับช่างบ้าง เรียงกับน้องในทีมบ้าง ก็ได้ผลลัพธ์ประมาณนี้ ..พอดีกับกฎหมายช่วงนั้นว่าถ้าใช้บล็อกแก้ว เค้าก็อนุโลมว่าไม่ต้องเป็นช่องปิดก็ได้ “

เมื่อเห็นทิศทางของแสงแล้วทางคุณเติ้ลจึงได้ออกแบบผนังอิฐตันๆ นี้ให้มี Pattern เพื่อโชว์ Texture ของอิฐ และเกิด Effect ของแสงที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาต่างๆ ของวัน …หากแดดดีๆ แดดคมๆ ตอนเที่ยง เราจะเห็นเหมือนเป็นงาน Art ชิ้นหนึ่งเลยค่ะ

หน้าบ้านที่ไม่ได้กั้นด้วยประตูรั้ว

“หน้าบ้านที่ไม่มีรั้ว จริงๆ เป็น Requirement ของ Owner นะ …Owner เคยไปใช้ชีวิตที่อังกฤษแล้วชอบบ้านที่เป็น Block เป็นตึกแถว บ้านที่อังกฤษจะเป็นบ้านที่สามารถเดินขึ้นไปครึ่งชั้นจึงเป็นทางเข้าบ้าน และลงไปอีกครึ่งชั้นเป็นห้องใต้ดิน อารมณ์ประมาณนี้ก็เลย ตกผลึกกันว่าหน้าบ้านควรมีบันไดที่ขึ้นมาชั้น 2 ได้เลยและไม่มีรั้วด้วย”

ทางสถาปนิกเล่าให้ฟังว่าการออกแบบโดยไม่มีประตูรั้วนั้นถือเป็นชุดความรู้ใหม่ เพราะไม่นิยมกันในประเทศไทยเลย แต่ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ อย่างในปัจจุบัน ก็ทำให้สถาปนิกและเจ้าของบ้านเชื่อว่าการทำบันไดสูงหน้าบ้าน ร่วมกับการใช้กล้อง CCTV จะช่วยให้ความปลอดภัยได้เพียงพอ

“ถึงไม่มีรั้วแต่คนนอกก็เข้าบ้านไม่ได้อยู่แล้ว เพราะที่ชั้น 2 ผมทำหน้าต่างเอาไว้เป็น Double Skinโดย Skin หนึ่งเป็นแบบปิดทึบสำหรับกันขโมย อีกชั้นเป็นช่องเปิดธรรมดาที่รับอากาศได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่ Owner ไม่อยู่ก็แค่ปิด และมีระบบกันขโมยที่ช่วยป้องกันได้ดี”

Feature พิเศษของหน้าต่าง คือ เป็น Double skin ชั้นนอกเป็นแผ่นเหล็กดำที่ทำหน้าที่แทนเหล็กดัด ช่วยบังสายตาจากคนภายนอก และป้องกันการงัดแงะ ในเวลาที่ไม่มีคนอยู่บ้านก็สามารถปิดทึบได้เสมือนเป็นกล่องดำ ส่วนหน้าต่างชั้นในเป็นกระจกบานใหญ่ที่ใช้รับแสงรับลมได้ตามปกติค่ะ

บ้านที่มีระเบียบ

Image 1/3
บ้านที่มีระเบียบ

บ้านที่มีระเบียบ

“ที่สำคัญบ้านจะสะท้อนความเป็นตัวตนของ Owner ซึ่งทั้ง 2 ท่านมีความเป็นระเบียบในตัว เพราะฉะนั้นเวลาออกแบบเราต้องมีวิธีในการจัดการ Space และฟังก์ชัน มีที่เก็บของ มีการวางเฟอร์ฯ ในสัดส่วนที่เหมาะสม มันถึงจะตอบโจทย์กับ Owner ได้อย่างสมบูรณ์แบบ”

เนื่องจากเจ้าของบ้านเป็นคู่รักนักบินที่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ขนาดจัดวางเฟอร์นิเจอร์หลักๆ ลงในบ้านจนครบแล้วก็ยังคงความรู้สึกโปร่งโล่ง ดูไม่รก ไม่เยอะจนเกินงาม  ซึ่งตัวช่วยก็คือการออกแบบตู้เก็บของส่วนใหญ่ให้มีหน้าบานปิดเกือบทั้งหมด เปิดเฉพาะส่วนที่ตั้งใจไว้ให้โชว์ของตกแต่งเท่านั้น ทำให้ทีมงานที่เข้าไปถ่ายภาพด้วยกันวันนั้น ถึงกับบ่นกันอุบว่าอยากกลับบ้านไปจัดของให้เข้าที่เลยทีเดียวค่ะ ><

บันไดหนีไฟในบ้านสไตล์ลอฟท์

Image 1/8
บันไดหนีไฟในบ้านสไตล์ลอฟท์

บันไดหนีไฟในบ้านสไตล์ลอฟท์

ตัวบ้านนี้มีความสูง 4 ชั้น จึงจำเป็นต้องมีบันไดหนีไฟตามกฎหมาย ทางสถาปนิกจึงออกแบบให้เข้ากับสไตล์ของบ้านโดยใช้เหล็กฉีกเป็นวัสดุปิดผิวแทนการปิดทึบ เพื่อให้บันไดนี้ดูไม่ทึบตันและยังกลายเป็นมุมสวยๆ เก๋ๆ มุมหนึ่งของบ้าน

ข้อแนะนำสำหรับคนที่ชอบบ้านสไตล์ลอฟท์

“ลอฟท์” เป็นชื่อเรียกของสไตล์การตกแต่งแบบโรงงานอุตสาหกรรม จึงมีกลิ่นอายของความดิบ โชว์วัสดุ โชว์โครงสร้าง ไม่ได้มีการฉาบเรียบเพื่อเก็บความเรียบร้อยหรือหรือทาสีทับ วัสดุที่ใช้ก็มีความหลากหลายทั้งอิฐ หิน เหล็ก ไม้ ความยากคือจะทำอย่างไรให้วัสดุเหล่านี้ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว?

Image 1/2
ข้อแนะนำสำหรับคนที่ชอบบ้านสไตล์ลอฟท์

ข้อแนะนำสำหรับคนที่ชอบบ้านสไตล์ลอฟท์

“เจ้าของบ้านต้องเตรียมตัวมาดีระดับหนึ่ง มี Taste ชัดเจน มีที่ว่างให้สถาปนิกเข้าไปช่วยจัดการ แล้ว Create สิ่งใหม่ขึ้นมา  บางทีมันอาจไม่เคยเห็น ตามสื่อใดๆ เพราะ ‘ไม่มีใครเหมือนใคร’ เป็นคำที่ผมชอบจากอาจารย์ท่านหนึ่ง งานของ Owner ก็จะไม่เหมือนกับของใครเช่นเดียวกัน เพราะเราต้อง Create ของที่ Match กับเจ้าของบ้านเป็นหลัก คือถ้าเจ้าของชอบอิฐแน่ๆ ผมจะขยายความจากอิฐแน่ๆ ถ้าชอบไม้ ชอบเหล็ก ผมจะเอา 3 วัสดุมารวมกัน แล้วจัดสัดส่วนบ้านให้เหมาะสม”

สำหรับใครที่ชื่นชอบบ้านสไตล์ลอฟท์ ดิบเท่ แล้วล่ะก็…ต้องตกตะกอนกับตัวเองว่าชอบจริงๆ เพราะราคาค่าก่อสร้างสูงกว่าปกติ อย่างเช่น

ค่าแรง : อิฐมอญมีขนาดเล็กกว่าอิฐมวลเบา จึงใช้เวลาในการก่อสร้างนานกว่า ใช้ค่าแรงมากกว่า

ค่าวัสดุ : ขนาดไม่มาตรฐานต้องฉาบปูนหนาเพื่อให้ได้ระดับที่เสมอกัน และผนังอิฐเป็นวัสดุที่อมความร้อนและไม่เป็นฉนวนกันความร้อนจึงต้องใช้เทคนิคก่อแบบ 2 ชั้น

เป็นที่แน่นอนว่าจะใช้ค่าก่อสร้างมากกว่าปกติ อย่างบ้านหลังนี้ก็ทำราคาก่อสร้างสูงกว่า 2x,xxx บาทต่อตารางเมตรเลยนะคะ ในขณะที่ราคาประเมินค่าก่อสร้างในปี 2562-2565 อยู่ในช่วง 11,600-16,400 บาทต่อตารางเมตรเท่านั้นค่ะ

” สำหรับบ้านหลังนี้เราโชคดีที่ Owner เตรียมตัวมาดี ให้พื้นที่กับฟังก์ชันที่ตัวเองชอบ และให้พื้นที่ที่เหลือกับเราในภาคดีไซน์ทั้งหมด”


Architect : STUDIOMITI
Lead Architect : เผดิมเกียรติ สุขกันต์, คุณธันวา จันทรเสนา
Interior : ชไมพร ละม้ายพันธุ์, อัชพร ชำนาญจักร์, นลินรัตน์ ไชยชาติ
Photographer : โศภิตา ปิยะทัต


ติดตามผลงาน STUDIOMITI ได้ที่
Facebook : www.facebook.com/studiomitidesign/
Ig : www.instagram.com/studiomiti_official/