…สิ่งที่เรียกว่า “ทรัพย์สิน” นอกจากเงินทอง บ้าน และที่ดินแล้ว ก็มี “รถยนต์” เนี่ยแหละครับ ที่ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง และโดยปกติแล้วเวลาเราไปซื้อบ้านตามโครงการต่างๆ ก็มักจะได้ที่จอดรถแบบเปิดโล่ง …ซึ่งผมเชื่อว่าใครหลายคนคงไม่อยากจอดรถ ที่ราคาเป็นแสนเป็นล้านของเรา ไว้ตากแดดตากฝนหรอกจริงมั๊ย?

นั่นจึงทำให้ผู้พักอาศัยส่วนใหญ่ต้องการ “ต่อเติมพื้นที่และหลังคาโรงจอดรถ” ซึ่งในปัจจุบันก็มีวัสดุมากมายหลากหลายรูปแบบ จนเลือกกันไม่ถูกเลยทีเดียว และไม่ใช่ว่าคิดจะทำก็ทำได้เลยนะครับ เพราะการต่อเติมบ้านสักครั้งนั้น ค่อนข้างใช้เงินก้อนใหญ่เลยทีเดียว ซึ่งทุกคนคงไม่อยากต้องมาคอยเปลี่ยน/ซ่อมแซม และเสียเงินอีกหลายๆครั้งในภายหลังหรอกจริงมั๊ย? ดังนั้น การเตรียมโครงสร้างและเลือกวัสดุที่ดี เหมาะสมกับลักษณะการใช้งาน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรรู้ก่อนลงมือต่อเติมบ้าน ซึ่งเราจะไปหาคำตอบเหล่านี้ไปพร้อมๆกันครับ


สรุปกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 ข้อง่ายๆที่ควรรู้

หากเราต้องการต่อเติมที่จอดรถ เราก็ต้องทำให้ถูกต้องถามกฎหมายด้วยนะครับ เพื่อที่จะได้ไม่เกิดปัญหาในภายหลัง โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ กฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จะมีข้อกำหนดถึงลักษณะการกระทำที่เข้าข่าย “การดัดแปลงอาคาร รื้อถอนอาคาร” ซึ่งผมสามารถสรุปได้ 3 ประเด็นง่ายๆคือ

  1. วัสดุ : มีการใช้วัสดุที่ต่างชนิด/ต่างขนาดกันจากโครงสร้างอาคารเดิม และกรณีที่ใช้วัสดุชนิดเดิม โครงสร้างใหม่นั้นจะต้องไม่เพิ่มน้ำหนักให้โครงสร้างเดิมมากเกิน 10%
  2. ขนาดพื้นที่ : การลดหรือขยายพื้นที่หลังคาเกิน 5 ตารางเมตร และกรณีที่ขนาดพื้นที่ไม่เกินที่กำหนด แต่มีการเพิ่ม/ลดจำนวนเสาหรือคานก็จะนับด้วยครับ
  3. การระบายน้ำ : อาคารที่ก่อสร้างหรือดัดแปลง ต้องจัดให้มีการระบายน้ำที่เหมาะสม (ติดตั้งรางน้ำฝน) เพื่อที่น้ำจากหลังคาจะได้ไม่ไหลกระเซ็นไปยังบ้านหลังข้างเคียง ไม่เกิดปัญหาระหว่างเพื่อนบ้านนั่นเองครับ

และเมื่อการต่อเติมที่จอดรถของเราเข้าเกณฑ์ตามกฎหมายข้างต้น เวลาจะทำที่จอดรถก็จำเป็นที่จะต้องยื่นแบบขออนุญาตกับสำนักงานเขต และอาจรวมถึงนิติบุคคล สำหรับบางโครงการที่มีการจัดตั้งนิติบุคคลและกฎระเบียบที่เคร่งครัดด้วยนะครับ


ประเภทบ้านพักอาศัย สามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณีคือ

  • กรณีที่ 1 : บ้านที่ปลูกสร้างเอง

สามารถออกแบบและกำหนดโครงสร้าง ที่เหมาะสมกับการใช้งานได้ด้วยตัวเอง โดยมีข้อกำหนดตามกฎหมายควบคุมอาคารเบื้องต้นที่ผมได้บอกเอาไว้ครับ

  • กรณีที่ 2 : บ้านที่ซื้อกับโครงการ

ควรสอบถามกับโครงการและวิศวกรประจำโครงการ ว่าที่จอดรถของบ้านเรานั้นเป็นแบบไหน เพื่อที่เราจะได้ประเมินเลือกโครงสร้างที่จะต่อเติมได้อย่างเหมาะสม รวมถึงสอบถามเรื่องข้อกำหนดต่างๆ และต้องยื่นแบบขออนุญาตต่อนิติบุคคลให้เรียบร้อยด้วยนะครับ เพราะโครงการจัดสรรหลายๆแห่ง มักมีการคุมธีมของ Facade ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้บรรยากาศภายในโครงการดูสวยงามนั้นเองครับ

ที่จอดรถมีการต่อเติมกี่แบบ และมีข้อจำกัด หรือข้อควรระวังอะไรบ้าง?

การต่อเติมพื้นที่จอดรถจะมีโครงสร้าง 3 รูปแบบหลักๆด้วยกันดังนี้

  • แบบที่ 1 : การต่อเติมโดยไม่ต้องตั้งเสา

วิธีนี้จะใช้การค้ำยันหรือลวดสลิงยึดติดกับผนังบ้าน ซึ่งมีข้อจำกัดคือ ระยะที่ยื่นออกมานั้นสามารถทำได้น้อย ประมาณ 1 – 2 m. (หรือหากต้องการระยะที่มากกว่านี้ จำเป็นต้องปรึกษาวิศวกรหรือช่างที่ชำนาญ) เหมาะกับงานโครงสร้างเหล็ก และวัสดุมุงหลังคาที่มีน้ำหนักเบา เพื่อลดภาระการรับน้ำหนักของตัวบ้านครับ

  • แบบที่ 2 : ฝากโครงสร้างพื้นที่จอดรถไว้กับโครงสร้างบ้าน

วิธีนี้เหมาะกับบ้านที่ถูกออกแบบโครงสร้างมา เผื่อการรับนำหนักส่วนต่อเติมในอนาคต (สอบถามวิศวกรหรือช่างของโครงการได้ครับ) โดยการตั้งเสาด้านหน้าเพิ่มเติม และนำคานหรือโครงหลังคาส่วนหนึ่งไปฝากไว้กับโครงสร้างเดิม เหมาะกับบ้านที่มีพื้นที่จำกัด และต้องการประหยัดงบประมาณ

แต่ข้อควรระวังคือ การทรุดตัวของโครงสร้างที่อยู่บนเข็มและคานที่ต่างชนิดกัน ซึ่งพื้นที่จอดรถที่ต่อเติมใหม่ หรือใช้เสาเข็มที่สั้นกว่านั้น มีโอกาสที่จะทรุดตัวได้ง่ายกว่าตัวบ้านที่ใช้เสาเข็มยาว และนอกจากนี้โครงสร้างใหม่ที่ทรุดตัวเร็วกว่า ก็อาจส่งผลกระทบกับโครงสร้างบ้านหลัก ด้วยการฉุดรั้งถ่วงน้ำหนัก ทำให้บ้านเกิดการเอียงและทรุดตัวไม่เท่ากันทั้งหลังได้ครับ

  • แบบที่ 3 : แยกโครงสร้างจากตัวบ้าน

เป็นวิธีที่ดีที่สุด เนื่องจากพื้นที่จอดรถใหม่จะไม่กระทบกับโครงสร้างเดิมของตัวบ้านเลยครับ แต่ก็ทำได้ยากมากที่สุดเช่นกัน เพราะต้องใช้ขนาดพื้นที่ค่อนข้างมาก ตัวบ้านจึงจำเป็นต้องมีที่ดินขนาดใหญ่ อาจเป็นบ้านแปลงมุม หรือบ้านที่มีขนาดเกือบ 100 ตร.วา ขึ้นไป และต้องไม่ติดปัญหาเรื่องงบประมาณในการต่อเติมอีกด้วย


โครงสร้างอยู่ได้ ด้วยรากฐานที่แข็งแรง

ก่อนที่เราจะทำเสาและโครงหลังคา เราจะต้องเริ่มจากฐานรากก่อน ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆด้วยกันคือ

  • พื้นคอนกรีตวางบนคาน (Slab on Beam)

พื้นชนิดนี้จะถ่ายน้ำหนักลงสู่คานและเสาเข็มโดยตรง ซึ่งจะมีความแข็งแรงและน้ำหนักได้ดี ช่วยลดปัญหาเรื่องการทรุดตัวในระยะยาวได้ด้วย เหมาะกับทำเลที่พื้นดินยังไม่แน่น หรือยังมีการทรุดตัวอยู่ ซึ่งเสาเข็มโดยทั่วไปที่ใช้กันจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. ) เสาเข็มยาว : มีความลึกมากกว่า 21 เมตร (หรือเท่ากับตัวบ้าน) ปกติแล้วไม่เป็นที่นิยมสำหรับการต่อเติมที่จอดรถ เพราะมีความยุ่งยากในการทำงาน และการขนย้ายวัสดุ มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างบ้านเดิมของตัวเองและเพื่อนบ้านอีกด้วย แต่ก็เป็นวิธีที่ดีที่สุดเช่นกันครับ

2.) เสาเข็มสั้น : มีความยาวประมาณ 2 – 6 m. (โครงการจัดสรรส่วนใหญ่จะพบขนาด 2 – 4 m. แต่ถ้าโครงการไหนที่ให้ลึกถึง 6 m. ถือว่าให้ของดีนะ ลองสอบถามเจ้าหน้าที่ดูได้ครับ) เสาเข็มประเภทนี้นิยมใช้สำหรับงานต่อเติมที่จอดรถ ด้วยวิธีการที่เรียกว่า “การลงเสาเข็มแบบปูพรม” ซึ่งจะช่วยชะลอการทรุดตัวของพื้นได้ดีในระดับหนึ่ง

เป็นการวางโครงเหล็กและเทคอนกรีตลงที่พื้นโดยตรง ซึ่งวิธีนี้ในเรื่องความแข็งแรงอาจสู้แบบมีเสาเข็มไม่ได้ แต่สามารถทำได้ง่ายไม่ยุ่งยาก และมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่ามาก โดยโครงสร้างประเภทนี้จะเหมาะกับบ้านที่อยู่ในทำเลพื้นดินแน่นและแข็งแรง หรือมีอัตราการทรุดตัวของดินน้อยนั่นเอง

จากตารางจะเห็นได้ว่า ค่าก่อสร้างพื้นคอนกรีตวางบนคาน (Slab on Beam) จะมีราคาที่สูงกว่าแบบพื้นคอนกรีตวางบนดิน (Slab on Ground) ค่อนข้างมาก เพราะนอกจากจะมีค่าเทพื้นและคานคอนกรีตเหมือนกันแล้ว ยังต้องมีค่าเสาเข็มและค่าแรงตอกเสาเข็มเพิ่มขึ้นอีกด้วยครับ

Q&A ควรใช้โครงสร้างพื้นแบบไหนดี?

คำถามนี้ตอบไม่ยากนะ ขอแค่คุณรู้ความต้องการและข้อจำกัดต่างๆของตัวเอง โดยผมแบ่งออกมาได้เป็น 2 เรื่องใหญ่ๆคือ

1. ) ความแข็งแรงของพื้นที่ต้องการ : หมายถึง “ความสามารถในการรับน้ำหนัก” ของโครงสร้างที่จอดรถ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ของหลายๆองค์ประกอบระหว่าง

  • ขนาดพื้นที่จอดรถ เช่น หากมีพื้นที่ขนาดใหญ่ และต้องจอดรถ 2 คัน (รถ 1 คัน หนักประมาณ 1,000 kg.) นอกจากโครงสร้างจะต้องรับน้ำหนักของตัวพื้นกับหลังคาแล้ว ยังต้องรับน้ำหนักของตัวรถอีกด้วย เคสแบบนี้จึงเหมาะกับโครงสร้าง On Beam
  • โครงสร้างและวัสดุมุงหลังคาที่ต้องการต่อเติม เพราะน้ำหนักของโครงสร้างและวัสดุทั้งหมดจะถ่ายเทลงที่พื้น ดังนั้น หากใช้วัสดุที่มีน้ำหนักมาก พื้นก็จะต้องแข็งแรงและอาจต้องใช้โครงสร้าง On Beam ในการช่วยรับน้ำหนัก
  • ลักษณะภูมิประเทศของบ้านที่ต่อเติม หากดินมีความแน่นและแข็งแรงมากพอ อัตราการทรุดตัวค่อนข้างน้อยเพราะไม่ใช่ที่ราบลุ่ม พื้นที่ก่อสร้างไม่ใหญ่มาก และจอดรถแค่คันเดียว รวมแล้วไม่ต้องรับน้ำหนักเยอะมากนัก ก็อาจใช้โครงสร้างแบบ On Ground ได้ครับ

2. ) งบประมาณในกระเป๋า : เชื่อว่าหลายๆคนก็คงอยากใช้โครงสร้างดีๆ รับน้ำหนักได้มากๆ อย่างการลงเสาเข็มยาวไปเลยใช่มั๊ยครับ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีงบเพียงพอนะ สุดท้ายแล้วคุณต้องกลับมามองเงินในกระเป๋า แล้วเลือกสิ่งที่คุณพอจะสามารถทำได้ ซึ่งก็จะเกิดคำถามต่อมาคือ “ถ้าใช้โครงสร้างแบบ On Ground พื้นจะทรุดหรือป่าว?”

…ถูกต้องครับ แต่ก็ใช่ว่าการลงเสาเข็มยาวที่ต้องใช้งบประมาณเยอะๆ จะจำเป็นเสมอไป เพราะปกติแล้วจะมีการแยกโครงสร้างพื้นที่จอดรถออกจากโครงสร้างบ้าน เพื่อที่เวลาเกิดการทรุดตัวจะได้ไม่กระทบกับโครงสร้างหลัก เรียกว่า “การตัด Joints” ซึ่งผมยังมีเคสตัวอย่างหนึ่งมาเล่าให้ฟังด้วยนะ

บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในทำเลที่พื้นดินมีการทรุดตัวได้ง่าย สังเกตจากพื้นถนนหน้าบ้านที่อยู่ต่ำกว่าพื้นบ้านที่ปลูกสร้างมากว่า 10 ปี โดยเจ้าของบ้านใช้วิธีต่อเติมพื้นที่จอดรถด้วยการลงเสาเข็ม จึงช่วยชะลอการทรุดตัวได้ค่อนข้างดี แต่กลับกัน…อาจเกิดปัญหาในการใช้งานได้ เพราะยิ่งนานวันทางลาดเอียง (Slope) หน้าบ้านก็จะยิ่งชันขึ้นเรื่อยๆ ไปตามพื้นถนนที่ทรุดลงไป จนอาจถึงจุดที่เป็นอัตรายต่อใต้ท้องรถบางรุ่นได้ครับ

ในเคสแบบนี้ผมแนะนำให้ใช้โครงสร้าง On Ground ให้พื้นที่จอดรถทรุดตัวลงไปพร้อมๆกับที่ดินและถนนหน้าบ้านไปเลยจะดีกว่า ซึ่งเราทำการตัด Joints ไว้แล้ว จึงไม่ส่งผลกระทบกับโครงสร้างบ้านหลักแต่อย่างใด ส่วนการเดินเข้าบ้านก็ใช้วิธีเพิ่ม Step ขั้นบันไดในการก้าวขึ้นแค่จุดเดียว จะทำได้ง่ายกว่าต้องมานั่งแก้ Slope หน้าบ้านทั้งหมดอีกครับ


มาเลือกวัสดุตกแต่งพื้นจอดรถกันเถอะ

สำหรับวัสดุปิดผิวของพื้นในท้องตลาดปัจจุบัน มีอยู่ค่อนข้างหลากหลายเลยนะครับ โดยในที่นี้ผมหยิบยกวัสดุ 5 แบบมาให้ดู ซึ่งเป็นที่นิยมและพบเห็นได้บ่อยที่สุด ประกอบด้วย

  • พื้นคอนกรีต

สามารถพบเห็นได้บ่อยเวลาเราไปซื้อบ้านมาใหม่ๆ ซึ่งเป็นการเผื่อไว้สำหรับการตกแต่งเพิ่มเติมในภายหลัง หากถามว่าแค่นี้มาสามารถใช้งานได้หรือไม่? คำตอบคือ..ใช้ได้ครับ แต่อาจไม่ได้สวยงามเหมือนวัสดุอื่นๆ และเวลาเกิดรอยแตกร้าวก็จะสังเกตเห็นได้ง่าย เหมาะกับคนที่ไม่ซีเรียสเรื่องความสวยงามนัก หรืออยากประหยัดงบประมาณในการตกแต่งบ้านครับ

  • พื้นกระเบื้อง

เป็นที่นิยมมากที่สุด เพราะมีลวดลายและสีสันให้เลือกหลากหลาย ราคาขึ้นอยู่กับเกรดของกระเบื้องที่เลือก ซึ่งมีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน สามารถติดตั้งและทำความสะอาดได้ง่าย โดยเราควรเลือกแบบที่เหมาะสมกับการใช้งานของพื้นที่คือ กระเบื้องสำหรับใช้งานภายนอก แบบผิวด้านกันลื่น เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน รวมถึงเป็นกระเบื้องที่สามารถรับน้ำหนักเยอะๆได้ดี เช่น กระเบื้องแกรนิตโต้ และกระเบื้องพอร์ซเลน เป็นต้น

  • พื้นทรายล้าง

เกิดจากการผสมของหิน + กรวด + ทราย และปูนซีเมนต์ เมื่อฉาบปูนลงบนพื้นคอนกรีตแล้วล้างปูนออก ก็จะเผยให้เห็นพื้นผิวของหิน ทราย และกรวดที่อยู่ภายใน มีความหยาบ ช่วยป้องกันการลื่นได้ดี และเวลาเกิดรอยร้าวก็จะสังเกตได้ค่อนข้างง่าย ซึ่งด้วยลักษณะพื้นผิวหยาบแบบนี้เอง จึงทำให้มีคราบสิ่งสกปรกเกาะติดได้ง่าย ควรหมั่นทำความสะอาดบ่อยๆครับ

  • พื้นคอนกรีตบล็อก

หรือบางคนอาจเรียกว่า “บล็อกตัวหนอน” ปัจจุบันมีลวดลายและสีสันให้เลือกเยอะ สามารถติดตั้งได้ง่าย และยังเลือกซ่อมแซมเฉพาะส่วนที่เสียหายได้อีกด้วย แต่ข้อจำกัดคือเรื่องความแข็งแรง เพราะคอนกรีตบล็อกส่วนใหญ่จะมีความสามารถในการรับน้ำหนักได้น้อย เราจึงมักเห็นพื้นประเภทนี้ในรูปแบบของทางเดินมากกว่า แต่หากเราต้องการใช้งานกับพื้นที่จอดรถ ก็อาจต้องเลือกแบบที่แข็งแรงเป็นพิเศษหน่อย รวมถึงเรื่องความหนาแน่นของดินและทรายในขณะติดตั้งก็มีส่วนเช่นกันครับ

  • พื้นคอนกรีตพิมพ์ลาย (Stamped Concrete)

ถือเป็นวัสดุที่แข็งแรงทนทานมากครับ เนื่องจากเป็นคอนกรีตที่ถูกยึดด้วยตาข่ายเหล็กเล็กๆภายใน ก่อนจะปาดมันที่พื้นผิวด้านบน จากนั้นจึงทำการพิมพ์ลวดลายต่างๆลงไป ซึ่งขั้นตอนต่างๆเหล่านี้มีข้อจำกัดคือ ต้องการช่างที่มีความชำนาญ และมีลวดลายหรือสีสันให้เลือกน้อย รวมถึงมีราคาค่าก่อสร้างที่ค่อนข้างสูงอีกด้วย


ใช้วัสดุมุงหลังคาอะไรดี?

สำหรับวัสดุมุงหลังคาที่มีขายในท้องตลาดนั้น ก็มีค่อนข้างหลากหลายเช่นกัน และบางชนิดก็มีลักษณะและคุณสมบัติที่คล้ายๆกันอีกด้วย โดยผมขอยกตัวอย่างมาเฉพาะวัสดุเด่นๆ ที่เป็นที่นิยมในท้องตลาดดังนี้ครับ

  • หลังคากระเบื้องลอนคู่

ค่อนข้างเป็นที่นิยม เพราะมีราคาถูก ดูแลรักษาง่าย สามารถเลือกเปลี่ยนเฉพาะแผ่นที่เสียหายได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนกระเบื้องใหม่ทั้งแผง ส่วนใหญ่ทำมาจากไฟเบอร์ซีเมนต์ แข็งแรง และมีอายุการใช้งานที่ยืนยาว แถมเวลาเกิดฝนตกก็จะไม่ส่งเสียงดังรบกวนอีกด้วย

ข้อเสียคือ มีน้ำหนักเยอะ ดังนั้นโครงสร้างหลังคาจึงต้องแข็งแรงมากส่วนหนึ่ง รวมถึงมักจะเกิดปัญหารั่วซึมผ่านรอยต่อได้ง่าย จึงต้องคอยปิดจุดรั่วต่างๆดีๆหน่อยนะ

  • หลังคาหรือกันสาดผ้าใบ

เป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ส่วนใหญ่จะสามารถพับเก็บได้ (มีทั้งแบบมือหมุนและอัตโนมัติ) ข้อดีคือ มีการใช้งานที่ยืดหยุ่น เหมาะกับคนที่ต้องการความโปร่งโล่งของหน้าบ้าน และไม่อยากให้หลังคามาบดบังทัศนียภาพของตัวบ้านมากนัก

ข้อเสียคือ ความทนทานและอายุการใช้งานที่น้อย (อย่างมากสุดคือ 5 – 10 ปี) อีกทั้งยังไม่ทนต่อแรงลมเยอะๆ หรือเวลาเกิดฝนตกหนักๆ ก็จำเป็นจะต้องพับเก็บครับ เนื่องจากโครงสร้างของหลังคาประเภทนี้ มักจะเป็นอลูมิเนียมที่มีน้ำหนักเบา ไม่สามารถรับน้ำหนักของน้ำฝนหรือแรงลมเยอะๆนั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อพับเก็บแล้ว รถของเราก็ต้องตากฝนอย่างช่วยไม่ได้ครับ

  • หลังคาโพลีคาร์บอเนต

ทำมาจากเม็ดพลาสติก ลักษณะเป็นลอนฟูก มีคุณสมบัติโปร่งแสงและน้ำหนักเบา สามารถดัดรูปร่างให้โค้งได้ตามต้องการ จึงมักนิยมใช้กับหลังคาหรือกันสาดที่มีรูปทรงโค้ง มีราคาถูก และมีสีสันให้เลือกเยอะ

ข้อเสียคือ เมื่อได้รับความร้อนจะมีการขยายตัวค่อนข้างสูง และหดตัวลงเมื่ออุณหภูมิลดลง ซึ่งส่งผลต่อความแข็งแรงของวัสดุที่อาจเกิดเปราะแตกได้ง่าย และเมื่อเกิดรอยร้าว ช่องว่างภายในก็จะมีฝุ่นและคราบตะไคร่น้ำเข้าไปสะสม ทำให้สกปรกและไม่สามารถทำความสะอาดจากภายนอกได้ และหากแผ่นหลังคาเกิดความเสียหาย ก็จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนใหม่หมดทั้งผืนครับ

  • หลังคาเมทัลชีท

ทำมาจากเหล็กที่ผ่านกระบวนการรีดจนบาง ก่อนจะขึ้นรูปเป็นลอนยาว ด้วยเหตุนี้เองจึงช่วยลดเรื่องการรั่วซึมของน้ำฝนได้ค่อนข้างดี อีกทั้งยังมีหลากหลายสีสันให้เลือก และมีราคาที่ไม่แพงมากอีกด้วย

ข้อเสียคือ ด้วยความที่เป็นเหล็กจึงกักเก็บและแผ่รังสีความร้อน ซึ่งค่อนข้างเยอะกว่าวัสดุชนิดอื่น (ปัจจุบันจึงมักติดตั้งฉนวนกันความร้อนเพิ่มเติมด้วย) อีกทั้งยังมักจะเกิดเสียงดังเวลามีฝนตก และความบางของเหล็กเมื่อผ่านระยะเวลานานๆ จะเกิดการชำรุดและผิดรูปได้ง่ายครับ

  • หลังคาไวนิล

ทำมาจาก UPVC เป็นพลาสติกคุณภาพสูงที่ค่อนข้างทน น้ำหนักเบา และสามารถติดตั้งได้ง่าย มีคุณสมบัติดูดซับเสียงได้ดี เวลาฝนตกหนักก็จะไม่เกิดเสียงดัง ค่อนข้างเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน

ข้อเสียคือ ราคาที่ค่อนข้างสูง และเกิดริ้วรอยได้ง่าย เมื่อใช้งานไปในระยะเวลานานๆ สีของตัววัสดุจะเปลี่ยนไป ไม่สดใสเหมือนเดิม

  • หลังคาไฟเบอร์กลาส

ผลิตมาจากเส้นใยแก้ว ซึ่งมีคุณสมบัติกึ่งโปร่งแสง เวลามีแสงตกกระทบเราจะเห็นเส้นใยจำนวนมากอยู่ภายใน ซึ่งแสงส่องจะผ่านได้ในปริมาณที่ไม่ได้รู้สึกร้อนจนเกินไป เพราะด้านบนมักเคลือบสารกัน UV เพื่อยืดอายุการใช้งาน น้ำหนักค่อนข้างเบาและมีความยืดหยุ่น จึงสามารถดัดเป็นหลังคาทรงโค้งได้อีกด้วย

ข้อเสียคือ มีราคาค่อนข้างสูง และเวลาฝนตกหนักๆ อาจเกิดเสียงดังรบกวนอยู่บ้าง อีกทั้งเวลาใช้งานผ่านไปนานๆ สีก็อาจเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามกาลเวลา


ตารางสรุปข้อมูลราคา และเคสตัวอย่างในการเลือก

หลังจากที่ได้ทราบข้อดี-ข้อเสียของโครงสร้าง และวัสดุแต่ละประเภทกันไปแล้ว ก็อาจทำให้สามารถตัดสินใจเลือกวัสดุ ที่เหมาะสมกับการใช้งานของแต่ละคนได้ง่ายขึ้นแล้วนะครับ ซึ่งคราวนี้เราลองมาจำลองตัวอย่างกันสักหนึ่งเคส เพื่อให้เห็นภาพกันมากขึ้นครับ

Case study : ชายคนหนึ่งมีงบประมาณอยู่ 50,000 บาท ต้องการทำที่จอดรถทาวน์โฮมหน้ากว้าง 5.7 m. สำหรับรถยนต์ 2 คัน โชคดีที่ทางโครงการบ้านได้ลงเสาเข็มสั้นเอาไว้ให้แล้ว จึงไม่ต้องยุ่งยากทำเพิ่มเอง ส่วนตัวของเจ้าของบ้านเป็นคนชอบให้บ้านสว่าง ได้รับแสงธรรมชาติ และโปร่งโล่งไม่อึดอัด รวมถึงชอบล้างรถด้วยตัวเองบ่อยๆอีกด้วย ดังนั้นวัสดุที่เหมาะจึงมีดังต่อไปนี้

  1. วัสดุปูพื้นทรายล้าง : เนื่องจากมีพื้นผิวที่เป็นทรายและหินกรวด ค่อนข้างเป็นธรรมชาติ อีกทั้งยังช่วยป้องกันอุบัติเหตุจากการลื่นล้ม เวลายืนล้างรถที่หน้าบ้านได้อีกด้วย
  2. วัสดุมุงหลังคาไฟเบอร์กลาส : มีความกึ่งโปร่งแสง ทำให้ได้ความโปร่งโล่งและมีแสงธรรมชาติส่องผ่านลงมา ให้ความสว่างแต่ไม่ร้อนจนเกินไป รวมถึงยังมีน้ำหนักเบา ไม่เป็นภาระในการเพิ่มน้ำหนักให้กับเสาเข็มสั้นที่พื้นมากเกินไป เพราะแค่รถ 2 คันก็มีน้ำหนักมากกว่า 2,000 kg. แล้วนั่นเองครับ

ลองมาคำนวณค่าใช้จ่ายกัน

  • สมมุติ พื้นที่ใช้งานจริงของทาวน์โฮมคือ 5.5 x 6 = 33 ตร.ม.
  • ค่าทำพื้นทรายล้าง 300 บาท/ตร.ม. , หลังคาไฟเบอร์กลาส 2,400 บาท/ตร.ม.
  • ดังนั้น ค่าทำพื้นทรายล้าง + ค่าหลังคาไฟเบอร์กลาส = (33 x 300) + (33 x 2,400) = 89,100 บาท (<<< เกินงบ 50,000 บาท)


  • ลองเปลี่ยนวัสดุหลังคามาใช้เป็นโพลีคาร์บอเนต ที่มีคุณสมบัติโปร่งแสงเหมือนกัน แต่มีราคาที่ถูกกว่า (1,200 บาท/ตร.ม.) แลกกับความแข็งแรงทนทานที่ลดลง
  • ค่าทำพื้นทรายล้าง 300 บาท/ตร.ม. , หลังคาโพลีคาร์บอเนต 1,200 บาท/ตร.ม.
  • ดังนั้น ค่าทำพื้นทรายล้าง + ค่าหลังคาโพลีคาร์บอเนต = (33 x 300) + (33 x 1,200) = 49,500 บาท


…จบไปแล้วนะครับสำหรับบทความ “ต่อเติมพื้นและหลังคาที่จอดรถ ต้องใช้งบเท่าไหร่?” หวังว่าจะเป็นประโยชน์และช่วยในการตัดสินใจเลือกวัสดุในการต่อเติมที่จอดรถหน้าบ้านของใครหลายๆคนได้นะครับ

และหากใครที่มีประสบการณ์ในการใช้งานวัสดุประเภทไหนอยู่ ก็สามารถมาแชร์กันได้ที่ comment ด้านล่างนี้ได้เลย และคราวหน้า ThinkofLiving จะมีบทความดีๆอะไรมาฝากกันอีก อย่าลืมติดตามกันด้วยนะ


ติดตามพวกเราได้ที่
Website : www.thinkofliving.com
Twitter : www.twitter.com/thinkofliving
YouTube : www.youtube.com/ThinkofLiving
Instagram : www.instagram.com/thinkofliving
Facebook : ThinkofLiving