หลังจากเหตุการณ์โรงงานกิ่งแก้วระเบิดไปไม่นานนี้ สิ่งที่เรามองกลับมาเป็นบทเรียนใหม่ในการเลือกที่อยู่อาศัยจากเดิมที่เรามองเพียงแต่ด้านบวกของทำเล ไม่ว่าจะเรื่องใกล้สนามบิน ใกล้ถนนใหญ่ ใกล้ห้าง ต่อจากนี้มุมมองการเลือกทำเลสำหรับที่อยู่อาศัยนั้นคงไม่ใช่แค่ด้านบวกอย่างเดียวแล้ว ด้านลบก็เป็นน้ำหนักที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กันเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแหล่งเชื้อเพลิง และโรงงานอันตรายต่างๆ ที่อยู่ร่วมกันปะปนกันไปกับชุมชนบ้าง ที่อยู่อาศัยบ้าง ซึ่งในบทความนี้เรามาดูกันว่าทำเลไหนในกทม.ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย ไกลจากโรงงานอันตราย สำหรับเพื่อนๆ คนไหนที่กำลังวางแผนจะซื้อบ้านจะได้เลือกทำเลกันได้อย่างมั่นใจมากขึ้นค่ะ


หา “พื้นที่ปลอดภัย ที่ไม่อนุญาตให้มีโรงงาน” ผ่านการดู “ผังเมือง”

สิ่งแรกเลยที่เราคนทั่วไปอาจจะไม่รู้ก็คือ รัฐเองนั้นมีข้อกำหนดหรือกฎหมายรองรับในเรื่องของการจัดสรรที่ดิน จัดสรรโซนนิ่ง ให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัย การทำพาณิชยกรรม การทำโรงงานอุตสาหกรรม และอื่นๆ อยู่นะคะ ซึ่งข้อมูลนี้นับเป็นคีย์สำคัญในการที่จะบอกได้ว่าพื้นที่โซนไหนที่ปลอดภัย เพราะเป็นโซนที่รัฐได้มีกำหนดไว้ให้เป็นโซนที่เราอยู่อาศัยได้ ซึ่งนั่นก็อาจจะสามารถแปลความหมายได้ว่า เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยนั่นเองค่ะ โดยเราทุกคนสามารถเช็คข้อมูลเหล่านี้ได้ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “ผังเมือง”

ผังเมืองคืออะไร?

ตัวอย่างผังเมืองกรุงเทพมหานคร ปี 2556

ผังเมือง คือ การจัดสรรพื้นที่ดินส่วนต่างๆ ในประเทศและจังหวัดนั้นๆ ว่าแต่ละโซนควรนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบไหนบ้าง เช่น โซน A จัดสรรเป็นที่อยู่อาศัย โซน B จัดสรรเป็นพื้นที่เกษตรกรรม หรือโซน C จัดสรรเป็นโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ที่ต้องวางผังเมืองเพราะอะไร? ก็เพราะว่าเพื่อไม่ให้เกิดการใช้สอยที่ดินแต่ละโซนอย่างสะเปะสะปะ ซึ่งอาจจะนำมาสู่ความไม่ปลอดภัย การถูกเอารัดเอาเปรียบของที่ดินข้างเคียง รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่โดนทำลาย ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ได้นั่นเองค่ะ

แต่ก่อนต้องยอมรับผังเมืองไม่เป็นที่น่าสนใจของคนทั่วไปเสียเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นักลงทุน เสียมากกว่า แต่เดี๋ยวนี้เรามองว่าถ้าเพื่อนๆ รู้จักเรื่อง ผังเมือง แล้วน่าจะช่วยให้หลายคนมีข้อพิจารณาในการตัดสินใจเลือกทำเลที่ตั้งของบ้านตัวเองได้ดีมากขึ้น เช่น ไม่อยากอยู่บ้านใกล้โรงงาน หรือ ทำเลนี้มีแหล่งเชื้อเพลิงเปิดได้ขนาดไหน อันตรายไหม เป็นต้น

ผังเมืองแบ่งออกเป็นกี่โซน?

ผังเมืองมีการแบ่งโซนการใช้ประโยชน์หลักๆ อยู่ประมาณ 10 โซนด้วยกัน โดยรูปแบบการแบ่งนั้นจะแบ่งเป็นสีต่างๆ เพื่อให้ดูจากแผนที่ได้ง่ายมากขึ้น โดยมีสีดังนี้ค่ะ

  • สีเหลือง = ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย
  • สีส้ม = ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง
  • สีน้ำตาล = ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก
  • สีแดง = พาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก
  • สีน้ำตาลอ่อน = พื้นที่อนุรักษ์ศิลปวัฒนกรรมเพื่อส่งเสริมการพาณิชย์และท่องเที่ยว
  • สีม่วง = พื้นที่อุตสาหกรรม
  • สีเม็ดมะปราง (ม่วงอ่อน) = พื้นที่คลังสินค้า
  • สีเขียว = พื้นที่ชนบทและทำเกษตรกรรม
  • สีขาวทแยงเขียว = พื้นที่อนุรักษ์ชนบทและทำเกษตรกรรม
  • สีน้ำเงิน = ที่ดินของรัฐใช้เพื่อสถาบัน ราชการ และสาธารณะประโยชน์

ซึ่งแต่ละโซนสีนั้นก็จะมี “รหัสของผังสี” ที่เป็นตัวบอกข้อกำหนดต่างๆ ในรูปแบบที่ลึกลงไปอีกนะคะ แต่ส่วนนี้เองแหละค่ะที่ทำให้เรารู้ว่าโซนทำเลที่เรากำลังจะซื้อนั้นรัฐอนุญาตให้มีโรงงานขนาดใดบ้าง มีแหล่งเชื้อเพลิงได้ไหมนั่นเอง

ยกตัวอย่างผังเมืองกทม. 2556 ที่มีการกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ดินไว้ดังนี้

ขอบคุณข้อมูลจาก สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ asa.co.th

ดังนั้นจากข้อมูลเหล่านี้จึงสามารถสรุปเบื้องต้นได้ว่าตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงผังเมืองกทม.อีกครั้ง ทางรัฐไม่อนุญาตให้มีโรงงานที่มีขนาดใหญ่กว่า 500 ตร.ม. ขึ้นไปก่อสร้างในเขตที่อยู่อาศัยเลย รวมถึงสถานที่ที่ใช้เก็บน้ำมันเชื้อเพลิง สถานีเก็บก๊าซ รวมถึงสถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่ยังอนุญาตบางโซนที่อยู่อาศัย (สีเหลือง ส้ม น้ำตาล แดง) ก็ยังให้มีการเปิดได้ในพื้นที่ที่อยู่อาศัยก็จะเป็นโรงงานที่มีขนาดน้อยกว่า 500 ตร.ม. แต่ต้องเป็นรายชื่อที่อยู่ตามบัญชีท้ายกระทรวงกำหนดประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน พ.ศ. 2563 เท่านั้นค่ะ

โดยเราสามารถเช็คตำแหน่งบ้านว่าอยู่ผังเมืองสีอะไร ผ่านเว็บไซต์ https://map.longdo.com/ วิธีคือพิมพ์ชื่อโครงการบ้านหรือคอนโดหรือจะเป็นสถานที่ที่เราอยากรู้ว่าอยู่ผังเมืองสีไหน จากนั้นคลิกเลือกประเภทแผนที่เป็น ผังเมืองประเทศไทย เราก็จะเห็นแล้วค่ะว่าที่ที่ค้นหานั้นอยู่ผังเมืองสีอะไร และมีการกำหนดการใช้ประโยชน์รูปแบบไหน

แต่…ต้องยอมรับว่า จากข้อกฎหมายที่ชัดเจนนั้นอาจไม่สามารถทำให้เราสบายใจได้ทั้งหมดว่าโซนที่อยู่อาศัยจะเป็นโซนที่ปลอดภัยได้จริง เพราะว่าก่อนหน้าผังเมืองปัจจุบันที่เราใช้กันอยู่นั้นก็ไม่ได้จัดโซนในรูปแบบเหมือนกับผังเมืองปัจจุบัน (ปี 2556) มีการปรับเปลี่ยนให้ตรงกับการขยายตัวของเมืองตามไปด้วยเช่นกัน เดิมพื้นที่ A อาจจะเป็นสีเหลืองก็ถูกปรับให้เป็น สีแดง เป็นต้น

ยกตัวอย่าง Case Study ของโรงงานกิ่งแก้วนั้น เดิมทีสร้างในปี 2532 แต่ผังเมืองสมุทรปราการมีการปรับใหม่ในปี 2537 จากเดิมทำเลนั้นเป็นผังเมืองสีม่วง เขตอุตสาหกรรม ที่เปิดโรงงานได้อย่างถูกต้อง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผังเมืองทำเลนี้สีเปลี่ยนเป็นสีแดง เขตพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่น จึงทำให้สามารถมีที่อยู่อาศัย โครงการจัดสรรเข้ามาเปิดในเขตที่ดินนี้ได้ ทำให้เขตที่ดินนี้กลายเป็น สีผสม ไปซะอย่างงั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องเกิดจากการผลักดันของรัฐที่ให้โรงงานย้ายออกและมีค่าชดเชยให้อย่างเหมาะสม แต่เมื่อไม่มีการผลักดันเกิดขึ้นก็ทำให้มีการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงงานอันตรายกับที่อยู่อาศัยอย่างเช่นเคสนี้ ซึ่งต้องยอมรับว่ารูปแบบเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่เดียวโซนเดียว แต่มีกระจายอยู่ในกทม. หลายที่ด้วยกัน

ดังนั้นคำตอบว่าโซนพื้นที่ปลอดภัย ไกลโรงงานอันตรายนั้น จะเลือกทำเลที่มีผังเมืองโซนที่อยู่อาศัยอย่างเดียวไม่พอ ควรรู้บริบท สภาพแวดล้อมรอบข้างของโครงการที่เราจะซื้อบ้านด้วยว่าอยู่ใกล้โรงงานประเภทอันตรายด้วยไหม


โรงงานรูปแบบไหนจัดว่าเป็นโรงงานที่เป็นอันตรายต่อเรา?

โรงงานนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมก็แบ่งรูปแบบเป็นหลายต่อหลายประเภทนะคะ แต่ในส่วนที่เราเองมองว่าอันตรายก็คือ โรงงานที่สร้างความไม่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นได้ อย่าง อุบัติภัยต่างๆ และส่งผลเสียต่อสุขภาพนั่นเองค่ะ โดยแบ่งได้คร่าวๆ จากข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็น 2 รูปแบบด้วยกัน

1.โรงงานความเสี่ยงสูง

2.โรงงานที่จำเป็นต้องมีบุคคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน

โรงงานรูปแบบนี้เป็นโรงงานที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศใช้ให้จำเป็นต้องมีบุคคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงานเพื่อให้มีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลและควบคุมการปล่อยของเสีย มลพิษ หรือสิ่งใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ซึ่งคำถามถัดมาคือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าโรงงานที่อยู่ใกล้เราเป็นโรงงานประเภทที่อันตรายรึเปล่า?  คำตอบก็คือเราสามารถเช็คข้อมูลโรงงานได้ว่าเป็นโรงงานนั้นจัดอยู่ในโรงงานประเภทอะไร ผ่าน ข้อมูลโรงงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

ยกตัวอย่างการค้นหาข้อมูลโรงงาน

สามารถพิมแค่ชื่อโรงงานอย่างเดียวก็คลิกค้นหาข้อมูลได้ วิธีการดูชื่อโรงงานก็สามารถดูจากป้ายชื่อโรงงาน หรือดูจากชื่อโรงงานใน Google Maps ก็ยังได้เช่นกัน อีกวิธีหนึ่งก็คือพิมแขวง/เขตที่เราอยู่ก็จะมีลิสรายชื่อโรงงานขึ้นอยู่ค่ะ

หลังจากคลิกค้นหาข้อมูลแล้วเราก็จะเห็นว่าโรงงานนี้ประกอบกิจการแบบไหน ตรงกับประเภทโรงงานที่มีความเสี่ยงไหมได้ง่ายมากขึ้น เท่านี้ก็พอที่จะประเมินกันได้ว่าโครงการที่เรากำลังจะซื้ออยู่นั้นอยู่ใกล้กับโรงงานอันตรายหรือไม่ค่ะ


โรงงานควรอยู่ห่างจากที่อยู่อาศัยเท่าไหร่

อิงตามกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 โดยมีกำหนดระยะปลอดภัยไว้ดังนี้

1. ห้ามตั้งโรงงานจำพวกที่ 1 และโรงงานจำพวกที่ 2 ในบริเวณดังต่อไปนี้

(1) บ้านจัดสรรเพื่อการพักอาศัย อาคารชุดพักอาศัย และบ้านแถวเพื่อการพักอาศัย

(2) ภายในระยะ 50 เมตร จากเขตติดต่อสาธารณสถาน ได้แก่ โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา วัดหรือศาสนสถาน โรงพยาบาล โบราณสถาน และสถานที่ทำการงานของหน่วยงานของรัฐ และให้ความหมายรวมถึงแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

2. ห้ามตั้งโรงงานจำพวกที่ 3 ในบริเวณดังต่อไปนี้

(1) บ้านจัดสรรเพื่อการพักอาศัย อาคารชุดพักอาศัย และบ้านแถวเพื่อการพักอาศัย

(2) ภายในระยะ 100 เมตร จากเขตติดต่อสาธารณะสถาน ได้แก่ โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา วัดหรือศาสนสถาน โรงพยาบาล โบราณสถาน และสถานที่ทำการงานของหน่วยงานของรัฐ และให้หมายความรวมถึงแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

(3) ต้องตั้งอยู่ในทำเลและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมมีบริเวณเพียงพอที่จะประกอบกิจการอุตสาหกรรมตามขนาด และประเภทหรือชนิดของโรงงานโดยไม่อาจก่อให้เกิดอันตรายเหตุรำคาญหรือความเสียหายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นด้วย

**โรงงานประเภทที่ 1 = โรงงานที่มีแรงม้ารวมของเครื่องจักร 5-20 แรงม้า และ/หรือ มีจำนวนคนงาน 7-20 คน (ยกเว้นโรงงานที่มีมลภาวะให้จัดเป็นโรงงานจำพวกที่ 3)

โรงงานประเภทที่ 2 = โรงงานที่มีแรงม้ารวมของเครื่องจักรมากกว่า 20 แรงม้า แต่ไม่เกิน 50 แรงม้า และ/หรือมีจำนวนคนงาน 21-50 คน (ยกเว้นโรงงานที่มีมลภาวะให้จัดเป็นโรงงานจำพวกที่ 3) 

โรงงานประเภทที่ 3 = โรงงานที่มีแรงม้ารวมของเครื่องจักรมากกว่า 50 แรงม้า และ/หรือมีจำนวนคนงานมากกว่า 50 คน หรือเป็นโรงงานที่มีมลภาวะ


สรุปส่งท้าย

สรุปแล้วพื้นที่ปลอดภัยไกลโรงงานอันตรายนั้น สิ่งที่เราควรจะต้องดูมีอยู่ 2 ปัจจัยด้วยกันคือ 1. ดูจากผังเมืองว่าโซนที่อยู่อาศัยของเราอยู่ในพื้นที่ที่ทางรัฐจัดให้เป็นที่อยู่อาศัยได้หรือไม่ 2. ดูสภาพแวดล้อมโดยรอบว่าอยู่ในรัศมีที่ใกล้กับโรงงานในประเภทอันตรายหรือไม่ ผ่านการเช็คชื่อโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เท่านี้ก็น่าจะพอเป็นไกด์ไลน์ให้เพื่อนๆ ในการเลือกทำเลบ้านโซนไหนที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยในกทม.และในจังหวัดอื่นๆ ได้แล้วค่ะ 🙂