ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เรามักจะเห็นเทรนในการอยู่อาศัยแตกต่างจากไปเดิมนะคะ โดยคนรุ่นใหม่นิยม ‘เช่าบ้าน’ มากกว่าการตัดสินใจที่จะ ‘ซื้อบ้าน’ แต่ปัจจัยอะไรทำให้คนเริ่มหันมาเช่าแทนที่จะซื้อบ้านเป็นทรัพย์สินของตัวเอง เราตามไปชมกันค่ะ

ทำไมคนถึงนิยมเลือกที่จะ ‘เช่าบ้าน’

  • ผลกระทบจากเศรษฐกิจ

สำหรับคนที่กำลังจะซื้อบ้านคงมีไม่กี่คนที่จะซื้อด้วยเงินสดใช่ไหมคะ เนื่องจากบ้านเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง คนส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องขอ ‘สินเชื่อ’ ในการซื้อ แต่ในปัจจุบันเราก็เห็นข่าวกันว่าหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยสูงกว่า 90% ของ GDP กันแล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ (Non-Productive Loan) เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตกว่า 69% ของบัญชีหนี้ครัวเรือนไทย (ถ้ามองดูสินเชื่อที่อยู่อาศัยคิดเป็นประมาณ 36.5%* ของมูลค่าหนี้ทั้งหมดเท่านั้นเองค่ะ) ซึ่งหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตมีดอกเบี้ยที่สูงมาก ทำให้คนส่วนใหญ่มีภาระผ่อนต่อเดือนที่สูง ส่งผลให้เกิดหนี้เสียตามมา

อีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นส่วนให้คนซื้อบ้านไม่ไหวคือ กลุ่มวัยทำงานที่มีอายุ 20 – 35 ปี หรือที่เราๆมักเรียกว่าเป็น ‘กลุ่มคนรุ่นใหม่’ มีฐานเงินเดือนเริ่มต้นใกล้เคียงกับเมื่อ 10 กว่าปีก่อน แต่ปัจจุบันหลังจาก Covid-19 มามีค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากค่ะ จากข้อมูลเครดิตแห่งชาติพบว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีสินเชื่อที่ไม่สร้างรายได้สูงที่สุด และเป็นสัดส่วนของหนี้เสียถึง 1 ใน 4 เลยทีเดียว

ทางฝั่งราคาบ้านก็ไม่น้อยหน้า ในปีที่ผ่านมาก็มีการปรับตัวสูงขึ้นมาก ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (AREA) พบว่าในปี 2566 มีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดใหม่จำนวนยูนิตลดลง 5.2% แต่มูลค่าโครงการกลับเพิ่มขึ้นถึง 18.5%

สรุปแล้วด้วยปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นเป็นผลพวงให้คนมีกำลังในการซื้อที่อยู่อาศัยลดลง ธนาคารเองก็มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อบ้านราคา 1 – 3 ล้านบาท ซึ่งอยู่ใน Segment ที่คนรุ่นใหม่ (วัยทำงาน) เข้าถึงได้ ทำให้คนที่ไม่ได้มีเงินก้อนสำหรับดาวน์สูงๆ หรือไม่ได้มีทรัพย์สินค้ำประกันก็มักจะกู้ไม่ผ่านกันเป็นส่วนใหญ่

*[ที่มา: บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ปี 2566]

  • Lifestyle การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป

นอกจากเรื่องของเศรษฐกิจแล้วการใช้ชีวิตของกลุ่มคนอายุ 20 – 30 ปี ก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากที่มักทำงานที่บริษัทเดิมเป็นเวลานานๆ ก็มีการโยกย้ายเปลี่ยนงานมากขึ้น มี Lifestyle ที่ต้องการอิสระมากขึ้น การเช่าบ้านก็สามารถตอบโจทย์ได้ เพราะเปลี่ยนที่ได้ง่าย บางคนอาจไปทำงานที่ต่างประเทศ หรือเปลี่ยนงานบ่อยๆ ไม่อยากเดินทางไกลก็เลือกเช่าในที่ใกล้ที่ทำงานแทน คนที่กู้ซื้อบ้านแล้วก็จะไม่ได้ความคล่องตัวตรงนี้ค่ะ

ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้นนะคะ ในต่างประเทศอย่างประเทศญี่ปุ่นหรือสวิตเซอร์แลนด์ ก็นิยมเช่าบ้านกันมากกว่าซื้อ ทำให้เราเกิดความรู้สึกว่ายังมีคนอีกมากมายที่เขาเช่าบ้านอยู่ ไม่เห็นจำเป็นต้องซื้อบ้านอย่างที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ทำตามกันมาเลย..

จากทั้งผลกระทบจากเศรษฐกิจ หรือ Lifestyle การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปก็ตาม ทำให้เกิดคนเริ่มมามองหาบ้านหรือคอนโดมิเนียมให้เช่าแทนการกู้ซื้อบ้านค่ะ เกิดเป็นเทรนในการ ‘เช่า’ ดีกว่า ‘ซื้อ’ ขึ้นมา..แล้วการเช่าบ้านหรือซื้อบ้าน มีข้อดี-ข้อควรคำนึงอย่างไรมาพิจารณาไปพร้อมๆกันค่ะ


เช่าบ้านดีอย่างไร ?

  • ไม่มีข้อผูกมัดระยะยาว 

หลายคนคงทราบกันดีว่าถ้าเราเลือกที่จะซื้อบ้านแล้วเราจะต้องเป็นหนี้ไปหลายสิบปี โดยปัจจุบันนี้มีสินเชื่อบ้านที่ให้ระยะเวลาผ่อนชำระยาวถึง 40 ปีเลยทีเดียวค่ะ ด้วยข้อผูกมัดแบบนี้ทำให้บางคนต้องทนทำงานที่ไม่ชอบไปตลอด (เพื่อให้มีเงินไปผ่อนบ้าน) หรือบางคนคิดว่าผ่อนไหว แต่ในอนาคตเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ตกงาน หรือมีภาระทางการเงินกะทันหัน เกิดผ่อนไม่ไหวขึ้นมาก็จะมีปัญหาทางการเงินตามมาทันที

การเลือกที่จะเช่าจึงมีความยืดหยุ่น และลดภาระข้อผูกมัดหนี้ระยะยาวไปได้แบบสบายๆ (อย่างน้อยสัญญาเช่าก็ปีต่อปี) เกิดอะไรขึ้นมาก็สามารถขยับไปเลือกเช่าบ้านที่ราคาตรงกับกำลังจ่ายในช่วงชีวิตนั้นๆได้ค่ะ

  • ไม่มีค่าใช้จ่ายจุกจิก ค่าใช้จ่ายที่บานปลาย  

ค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านแต่ละทีไม่ได้มีแค่ค่าบ้านนะคะ โดยเราจะแจกแจงมาให้ทุกคนดูค่ะ

สำหรับการซื้อบ้าน/คอนโด 1 ยูนิต

– เงินจอง
– เงินทำสัญญา
– เงินดาวน์
– ค่าผ่อนรายเดือน

โดยส่วนเงินจอง, ทำสัญญา, เงินดาวน์ และค่าผ่อนรายเดือนเป็นส่วนเดียวกัน อยู่ในราคาที่เราตกลงจะซื้อค่ะ พอเราเลือกบ้านที่ต้องการได้แล้วจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ดังนี้

– ค่าประกันภัย (ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร)
– ค่าส่วนกลาง (มักจ่ายล่วงหน้า 2 ปี)
– ค่าจดจำนอง 1% ของราคาบ้าน
– ค่าโอน 2% ของราคาบ้าน (มักจะแบ่งเป็นคนละ 1 %)

นอกจากนั้นสิ่งที่เราจะต้องเตรียมหลังจากมีบ้านก็คือค่าใช้จ่ายที่ควบคุมได้ยากที่สุดเลยค่ะ จะบานปลายหรือไม่บานปลายก็อยู่ที่ส่วนนี้เลย ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 10-20% ของราคาบ้านค่ะ

– ค่าต่อเติม ทำครัวด้านนอก, ทำหลังคากันสาดที่จอดรถ, ตกแต่งสวน ฯลฯ
– ค่าตกแต่งภายใน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ต่างๆ
– ค่าน้ำค่าไฟ

การเช่าบ้านอยู่จึงลดภาระค่าใช้จ่ายตรงนี้ที่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ไปได้ เพราะส่วนใหญ่ถ้าเป็นคอนโดให้เช่าก็จะมาพร้อมกับเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าครบพร้อมอยู่แล้วค่ะ แต่ถ้าเราซื้อบ้าน/คอนโดในราคา 5 ล้านบาท ก็จะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ กว่าจะเข้าอยู่ได้ก็ประมาณ 6 – 7 แสนบาทเลย (มีตัวอย่างการคำนวณให้ดูด้านล่างนะ)  อีกทั้งบ้านเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ ย่อมมีสภาพทรุดโทรม ข้าวของเครื่องใช้เริ่มเก่าต้องเตรียมเงินไว้รีโนเวททุกๆ 10 – 15 ปีเป็นเงินก้อนอีกส่วนหนึ่งด้วย

  • เลือกสภาพแวดล้อมเองได้

ข้อนี้ใครมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ให้ลองนึกภาพว่าเราเกิดดวงไม่ดีไปเจอเพื่อนบ้านไม่น่ารักแบบที่เป็นข่าวกันหลายๆครั้ง หรือเจอโครงการที่ไม่ได้มาตรฐาน พื้นทรุด ผนังร้าว ฝ้าตก กระจกแตก ฯลฯ ขึ้นมา กว่าจะแก้กันทีก็ปวดหัว บางครั้งต้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันเลยทีเดียว จะขายบ้านก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถขายได้ง่ายๆ ขึ้นอยู่กับทำเลและความต้องการของคนซื้อ บางคนต้องจำใจถือไว้เป็น 10 ปีกว่าจะขายได้ก็มีค่ะ

การเช่าบ้านจึงเป็นทางเลือกที่ได้อิสระมากกว่า เจอเพื่อนบ้านไม่ดีเราก็สามารถย้ายมองหาที่เช่าใหม่ได้ หรือเจอโครงการที่ใหม่กว่า มีพื้นที่ส่วนกลางและ Facility ที่ตอบโจทย์เรามากกว่าก็สามารถโยกย้ายได้สะดวก


ซื้อบ้าน ดีอย่างไร?

บอกข้อดีของการเช่าบ้านกันไปแล้ว มาดูมุมมองข้อดี-ข้อควรคำนึงของการซื้อบ้านกันบ้างค่ะ

  • มูลค่าสูงขึ้นตามกาลเวลา ชีวิตบั้นปลายมีทรัพย์สิน ส่งต่อให้ลูกหลานได้

บ้านเป็นทรัพย์สินที่มักจะมาพร้อมกับที่ดินค่ะ ซึ่งโดยปกติแล้วที่ดินจะมีราคาที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะที่ดินที่อยู่ในเมืองเป็นที่ต้องการของคนจำนวนมากราคาก็จะพุ่งสูงขึ้นแบบทวีคูณ สำหรับคอนโดมิเนียมก็เช่นกันค่ะ ถ้าเรามีคอนโดอยู่ในแหล่งที่มีความต้องการเช่า-ซื้ออยู่ตลอดเวลา ราคาก็จะเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย การซื้ออสังหาริมทรัพย์บางแห่งได้ผลตอบแทนมากกว่าลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ กันแบบเทียบไม่ได้เลยก็มี

รุ่นพ่อรุ่นแม่ของหลายๆคนจึงมีค่านิยมที่ปลูกฝังกันมาว่า ‘ซื้อบ้านสิดี’ ดีกว่าจ่ายเงินเช่าทิ้งไปวันๆ เวลาเราผ่อนหมดก็จะได้เป็นทรัพย์สินของเรา นอกจากจะไม่ต้องจ่ายค่าเช่าแล้ว ยังได้ส่วนต่างมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย (Capital Gain)

แต่ในขณะเดียวกันมีข้อคำนึงนะคะ เวลาเราซื้อบ้านหรือคอนโดในทำเลที่ไม่ได้อยู่ในเมือง หรือไม่เป็นที่ต้องการของตลาดมากนักราคาก็จะไม่ค่อยขยับ ตัวบ้านและคอนโดเองก็มีความเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา ถ้าใครเผลอไปได้คอนโดเก่ามา แล้วมีคอนโดใหม่มาขึ้นข้างๆที่ห้องถูกกว่า ใหม่กว่า Facility ดีกว่า ก็อาจทำให้บ้าน/คอนโดของเรามีราคาที่ลดลงได้

  • อิสระในการปรับเปลี่ยนบ้าน รีโนเวทได้ตามสไตล์ที่ชอบ 100%

ถ้าเราเช่าบ้านอยู่ส่วนใหญ่ก็จะมีข้อจำกัดในการเจาะผนัง ทุบต่อเติม หรือตกแต่งบ้านตามแบบที่เราชอบได้ ต้องขออนุญาตเจ้าของบ้านตัวจริงเสียก่อน แต่ถ้าเราเป็นเจ้าของบ้านเอง (แม้จะยังผ่อนไม่หมดก็ตาม) เราสามารถปรับเปลี่ยน ต่อเติมได้อิสระตามใจได้เลยค่ะ เพราะเรามีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของบ้านแล้ว

  • เมื่อมีปัญหาทางการเงิน สามารถนำบ้านมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อได้

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลายคนนึกไม่ถึงนะคะ ข้อดีของการมีบ้านเป็นของตัวเองก็คือ เมื่อใดก็ตามที่เราต้องการเงินก้อนหรือมีภาระทางการเงินกะทันหัน เราสามารถนำบ้านมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อขอสินเชื่อใหม่ได้ แม้จะยังผ่อนไม่หมดก็สามารถทำได้ค่ะ โดยการขอสินเชื่อธนาคารนำเงินที่ผ่อนไปกลับออกมาใช้ได้ (รีไฟแนนซ์กู้เพิ่ม) โดยอาจยืดระยะเวลาการผ่อนออกไปตามตกลงกับธนาคาร

บางคนนำบ้านไปเป็นหลักทรัพย์ขอสินเชื่อมาทำธุรกิจ เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวมากขึ้น โดยไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินนอกระบบ หรือใช้บัตรเครดิต,สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีดอกเบี้ยสูงกว่า

  • ได้ความภาคภูมิใจ ความรู้สึกมั่นคง 

อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนให้ความสำคัญมากๆ เป็นเรื่องของ ‘ความรู้สึก’ มั่นคงในจิตใจ เวลามีบ้านเป็นของตัวเองค่ะ ซึ่งเรื่องความรู้สึกนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละคนเลย ในหลายๆครั้งความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง เป็นแรงผลักดันให้ประสบความสำเร็จในชีวิตด้านอื่นๆด้วยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นด้านความสัมพันธ์ หรือด้านสุขภาพ

กลับกันคนกลุ่มนี้ถ้าไม่มีบ้านเป็นของตัวเองอาจจะรู้สึกเหมือนไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่รู้สึก Fulfill ในชีวิต ซึ่งการมีเงินเก็บ (แทนการซื้อบ้าน) ก็ไม่สามารถจะทดแทนได้

ในขณะที่กลุ่มคนที่เช่าบ้านอาจจะรู้สึกมั่นคงจากการเป็นอิสระด้านการเงินในแบบที่เราควบคุมได้เอง มั่นคงจากการไม่เป็นหนี้ระยะยาว ซึ่งก็ไม่มีแบบไหนผิดแบบไหนถูกนะคะ


เปรียบเทียบทางการเงินระหว่าง ซื้อ กับ เช่า บ้านตลอดชีวิต

เราลองมาดูตัวอย่างเปรียบเทียบการ เช่า Vs ซื้อบ้าน ถ้าเช่าไปตลอดชีวิตจะต้องเสียเงินเท่าไหร่ แลกกับข้อดีข้างต้นหรือควรวางแผนการซื้อบ้านอย่างไรกันค่ะ

ตัวอย่าง นาย A อายุ 30 ปี กู้ซื้อคอนโด 1 ห้อง 1 Bedroom ขนาด 25.85 ตารางเมตร ราคา 2.29 ล้านบาท ผ่อนระยะเวลา 30 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5% ต่อปี

ค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมสำหรับปีแรกของการซื้อ
– เงินจอง 999 บาท (ขึ้นอยู่กับโครงการ)
– เงินทำสัญญา 5,000 บาท (ขึ้นอยู่กับโครงการ)
– ค่าประกันภัย MRTA* (ทำหรือไม่ทำก็ได้)
– ค่าจดจำนอง 1% : 22,900 บาท
– ค่าโอน 1% : 22,900 บาท (คนละครึ่งกับผู้ขาย)
– ค่าส่วนกลาง 45 บาท/ตร.ม. จัดเก็บล่วงหน้า 2 ปี : 25.85×45 = 1,163 บาท/เดือน
1,163×24 = 27,918 บาท/2ปี
– ค่ากองทุน 500 บาท/ตร.ม. : 500×25.85 = 12,925 บาท
– ค่าตกแต่งภายใน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ต่างๆ ประมาณ 10-20% ของค่าบ้าน
ประมาณ 229,000 – 460,000 บาท
– ค่าผ่อนรายเดือน (ถ้าดอกเบี้ยเฉลี่ย 5% กู้ 30 ปี) 12,261 บาท/เดือน (ดูตารางด้านล่าง)
12,261×12 = 147,132 บาท/ปี
– ค่าน้ำค่าไฟ ประมาณการที่ 600 บาท/เดือน
600×12 = 7,200 บาท/ปี

วิธีการใช้เครื่องมือคำนวณเงินผ่อน >>โปะบ้านหมดไว คำนวณได้เองด้วย Application ฟรี!

กว่าจะมีบ้านที่พร้อมอยู่จริงๆ
ต้องเตรียมค่าจอง+ค่าทำสัญญา+ค่าจดจำนอง+ค่าโอน+ค่าส่วนกลาง2ปี+ค่ากองทุน+ค่าตกแต่งภายใน 10% +ค่าผ่อน 1 ปี+ค่าน้ำค่าไฟ 1 ปี

999+5,000+22,900+22,900+27,918+ 12,925+229,000+147,132+7,200= 475,974

  • รายจ่ายในปีแรกของการซื้อบ้านเป็นเงิน 475,974 บาท
    รายจ่ายทั้งหมดตอนอายุ 60 (เมื่อผ่อนหมด) ประมาณ 5,342,454 บาท
    (รวมค่าส่วนกลาง ค่าน้ำค่าไฟ ไม่ตกแต่งเพิ่มเติม และไม่คิดอัตราเงินเฟ้อ)
  • อยู่ถึงอายุ 85 ปี มีค่าใช้จ่ายคาดการณ์ขั้นต่ำประมาณ  6,331,429.00 บาท
    (ค่าใช้จ่าย 55 ปี รีโนเวท 1 ครั้งเป็นเงิน 460,000 และจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าส่วนกลางแบบไม่รวมเงินเฟ้อ)

ตัวอย่าง นาย B อายุ 30 ปี เช่าคอนโด 1 ห้อง 1 Bedroom ขนาด 25.85 ตารางเมตร (โครงการเดียวกันกับนาย A) ราคา 11,000 บาท/เดือน

ค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมสำหรับปีแรกของการเช่า
– ค่ามัดจำ (เป็นค่าประกันความเสียหาย ได้คืนเมื่อจบสัญญา) 2 เดือน = 22,000 บาท
– ค่าเช่าล่วงหน้า 1 เดือน = 11,000 บาท
– ค่าเช่ารายเดือน 11 เดือน = 121,000 บาท

  • รวมค่าใช้จ่ายในการเช่าปีแรก 154,000 บาท
    รายจ่ายทั้งหมดตอนอายุ 60 (เช่า 30 ปี) ไม่ต่ำกว่า = 3,982,000 บาท
    (ไม่คิดเงินเฟ้อ)
  • เช่าถึงอายุ 85 ปี มีค่าใช้จ่ายคาดการณ์ขั้นต่ำประมาณ = 7,282,000 บาท (ไม่รวมการขึ้นค่าเช่าและเงินเฟ้อ) 

สรุปค่าใช้จ่าย

การซื้อ : ค่าผ่อนบ้านในช่วงปีแรกถูกนำไปจ่ายดอกเบี้ยเป็นส่วนใหญ่ (9 พันกว่าบาทในกรอบเส้นประ) โดยเมื่อจบสัญญาเราต้องเสียดอกเบี้ยให้ธนาคาร 2.1 ล้านบาท พอๆกับค่าคอนโดเลยทีเดียว
การเช่า : ไม่มีค่าใช้จ่ายจุกจิก และข้อผูกมัด(หนี้)ระยะยาว สามารถเลือกห้องที่ราคาถูกลงหรือแพงขึ้นได้ตามช่วงชีวิต

ในเหตุการณ์ตัวอย่างจะเห็นว่าการซื้อคอนโดของนาย A ใช้เงินก่อนเริ่มต้นในปีแรกมากกว่านาย B ที่เช่าคอนโดประมาณ 3 เท่าเลยทีเดียวค่ะ แต่เมื่อเริ่มระยะเวลาที่นานมากขึ้น ในความเป็นจริงจะมีเรื่องของการขึ้นค่าเช่า อัตราเงินเฟ้อเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้ค่าใช้จ่ายของการซื้อคอนโด ถูกกว่าการเช่าคอนโดในระยะยาวๆ

นอกจากนั้นแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย เช่น การโปะบ้านเพื่อลดอัตราดอกเบี้ย และหมดหนี้ไวขึ้น, ถ้ากู้ซื้อบ้านในอัตราดอกเบี้ยสูง ค่าใช้จ่ายในระยะยาวจะเปลี่ยนไป หรือการเช่าสามารถต่อรองระยะยาวเพื่อให้ราคาค่าเช่าถูกลงได้ ฯลฯ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถตัดสินได้ว่าอันไหนคุ้มกว่ากัน แต่จะสามารถเลือกได้ว่าภาระค่าใช้จ่ายแบบไหนที่เหมาะกับเราในช่วงเวลานี้ค่ะ 

อ่านบทความเพิ่มเติม

*MRTA คืออะไร : กู้ซื้อบ้าน ต้องทำประกัน MRTA หรือไม่ ?
เทคนิคผ่อนบ้านให้หมดไว :“เทคนิคโปะบ้าน” อย่างไร จาก 30 ปี เหลือ 15 ปี
เช็คราคาค่าเช่าได้ที่ : DDproperty


เรามาดูกันว่า Checklist แต่ละข้อนี้ คุณจะเหมาะกับการเช่าบ้านหรือซื้อบ้านมากกว่ากันค่ะ

1. Lifestyle ในการอยู่อาศัย

  • เหมาะกับการซื้อ : ถ้าคุณเป็นคนติดที่ ไม่ชอบโยกย้ายหรือเปลี่ยนที่อยู่อาศัยบ่อยๆ ต้องการที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ใกล้ครอบครัวหรือเครือญาติ
  • เหมาะกับการเช่า : ถ้าคุณเป็นคนที่โยกย้ายที่ทำงานบ่อยๆ ยังไม่มีการใช้ชีวิตที่แน่นอน ชอบเปลี่ยนที่อยู่อาศัยไปเรื่อยๆ เพื่อค้นหาประสบการณ์

2. รายได้และความสามารถในการผ่อนชำระ

  • เหมาะกับการซื้อ ถ้าคุณเป็นคนที่มีเงินเก็บ เงินก้อนเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่อาจจะบานปลาย มีความสามารถในการผ่อนชำระได้ในระยะยาว มีหลายได้ประจำมั่นคง
  • เหมาะกับการเช่า : ถ้าคุณมีรายได้ไม่แน่นอน หรือไม่มีเงินก้อนใหญ่สำหรับดาวน์ หรือเสียค่าใช้จ่ายในการตกแต่ง, ซื้อของใช้เป็นจำนวนมาก, กู้ไม่ผ่าน หรือไม่ชอบภาระผูกพันในระยะยาว

3. การลงทุนในอนาคต / มรดกให้ลูกหลาน

  • เหมาะกับการซื้อ : ถ้าคุณต้องการบ้านในทำเลที่ดี มีแนวโน้มที่ราคาจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต และต้องการส่งต่อเป็นมรดกให้กับลูกหลาน หรือวางแผนปล่อยเช่า หารายได้จากทรัพย์สินชิ้นนี้
  • เหมาะกับการเช่า : ถ้าคุณเป็นคนไม่ยึดติดกับการมีบ้านเป็นของตัวเอง ชอบความคล่องตัวทางการเงิน นำเงินเก็บ (จากการที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายเยอะเหมือนกับซื้อบ้าน) มาลงทุนได้ผลตอบแทนเป็นมรดกให้กับลูกหลานได้

4. รูปแบบครอบครัว

  • เหมาะกับการซื้อ : ถ้าเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ อยู่กันหลาย Generation ไม่ถนัดถ้าจะต้องโยกย้ายที่อยู่อาศัย
  • เหมาะกับการเช่า : ถ้าคุณอยู่คนเดียวหรือเป็นครอบครัวขนาดเล็กที่ไปไหนไปด้วยกันได้

5.คุณค่าทางจิตใจ

  • เหมาะกับการซื้อ : ถ้าคุณเป็นคนที่มองเห็นบ้านเป็นความภาคภูมิใจ และความมั่นคงในชีวิต
  • เหมาะกับการเช่า : ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบอิสระ และรู้สึกมั่นคงทางการเงินมากกว่าถ้าไม่มีภาระผูกพันในระยะยาว

สรุป เช่า หรือ ซื้อ ดีกว่ากัน

จาก 5 ข้อที่กล่าวไปข้างต้นแต่ละคนก็ให้ความสำคัญในสัดส่วนที่แตกต่างกันนะคะ บางคนให้ความสำคัญกับคุณค่าทางจิตใจมากที่สุด ต้องการมีบ้านเพื่อเป็นความภาคภูมิใจในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินชิ้นใหญ่ หรือต้องการให้อสังหาริมทรัพย์ทำเงินในเราในอนาคตได้ ส่วนบางคนต้องการอิสระในการใช้ชีวิตเป็นอันดับแรก ไม่ชอบมีภาระเป็นข้อผูกมัดทางการเงินในระยะยาว

ดังนั้น เราไม่สามารถตัดสินได้ว่า เช่าบ้าน หรือ ซื้อบ้าน ดีกว่ากันค่ะ แต่ขึ้นอยู่กับกว่าคุณเหมาะกับการ เช่าบ้าน หรือ ซื้อบ้ามากกว่ากัน ใน Lifestyle และช่วงเวลาของชีวิตแต่ละคน หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เพื่อนๆ ตัดสินใจที่จะ ‘ซื้อบ้าน’ หรือ ‘เช่าบ้าน’ ได้ดีขั้นนะคะ

ใครที่มีประสบการณ์การเช่าหรือซื้อบ้านเป็นบทเรียนอยากแบ่งปัน สามารถคอมเมนต์ที่ช่องข้อความด้านล่าง หรือแชร์ให้เพื่อนๆอ่านกันได้เลยค่ะ