…หากพูดถึงแผง ” โซล่าเซลล์ ” หลายคนคงรู้จักกันดีว่าเป็นอุปกรณ์ที่เอาไว้เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าใช้ทดแทนไฟจากการไฟฟ้า ช่วยประหยัดค่าไฟต่อเดือนได้ ซึ่งแต่ก่อนนิยมใช้กันในโรงงาน เนื่องจากใช้ไฟในการผลิตค่อนข้างสูง หรือถ้าใครติดในบ้านพักอาศัยส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนมีฐานะ เพราะมีค่าติดตั้งสูง 800,000-1,000,000 บาท โดยอายุการใช้งานที่มีประสิทธิภาพเพียง 25 ปี ทำให้หลายๆคนมองว่าไม่คุ้มค่าที่จะติดในบ้าน เพราะกว่าจะคืนทุนก็ใช้เวลาเกือบ 20-30 ปี

แต่ปัจจุบันมีการปรับลดราคาลงมา เพื่อให้บ้านพักอาศัยหยิบจับได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งมีการจัดแผงโซล่าเซลล์ ให้เหมาะกับการใช้ในบ้าน มีตั้งแต่ขนาด 1(เล็ก) จนถึง 12(กลาง) กิโลวัตต์(kWp.) หรือเข้าใจง่ายๆมีตั้งแต่ 1,000-12,000 วัตต์ ซึ่งก็สามารถเลือกขนาดให้เหมาะแก่การใช้งานได้ โดยช่วงราคาเริ่มต้น 120,000 – 200,000 บาท เรียกว่าปรับราคามาน่าสนใจทีเดียว ทำให้คนสนใจเรื่องนี้มากขึ้น ส่วนคำถามที่มักได้ยินบ่อยๆ คือ ” หลังคาบ้านโซล่าเซลล์ ประหยัดค่าไฟบ้านและคุ้มค่าในการลงทุนจริงหรอ? ” วันนี้เรามาหาคำตอบไปด้วยกันค่ะ ^^

1.มาทำความรู้จักแผงโซล่าเซลล์กันก่อน?

แผงโซล่าเซลล์(Solar Panel) ทำมาจากซิลิคอนบริสุทธิ์ที่สกัดมาจากดิน,หิน,ทราย เพื่อนำมาเป็นสารตั้งต้นในการผลิตโซล่าเซลล์ หลักการทำงานคือเอาแผงโซล่าเซลล์ไปตั้งกลางแดด วางเอียง 15 องศา เพื่อให้รับแสงอาทิตย์ได้เต็มที่ โดยพลังงานที่ได้จะเป็นกระแสตรง(DC) วิ่งเข้าเครื่อง Inverter เพื่อเปลี่ยนไฟฟ้าเป็นกระแสสลับ(AC) ก่อนส่งเข้าไปใช้ในบ้าน

สำหรับขนาดที่ใช้กันในบ้าน ส่วนใหญ่จะใช้เป็นแผง 24V หรือขนาด 1×2 m. ยกตัวอย่างถ้าเราจะติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อรับพลังงาน 3 กิโลวัตต์(kWp) หรือขนาด 3,000 วัตต์ เป็นค่าเฉลี่ยมาตรฐานที่คนส่วนใหญ่ใช้ไฟกัน โดยจะต้องติดประมาณ 8 แผง ใช้พื้นที่ประมาณ 16 ตร.ม. หรือขนาด 4×4 m. ที่ใช้พื้นที่ไม่มากติดตั้งบนหลังคาได้สบายๆ แต่ควรเช็คความแข็งแรงของหลังคาก่อนการติดตั้งนะคะ

สำหรับประเภทของแผง “โซล่าเซลล์” แสงอาทิตย์มีทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่

แบบผลึกเดี่ยว (Mono Crystalline) – เป็นแผงโซล่าเซลล์ชนิดแรกๆ ที่ได้รับการผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ เป็นชนิดที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด

  • วิธีสังเกต – มองเห็นสะพานไฟเป็นช่องๆสี่เหลี่ยมมุมโค้งหลายๆอันต่อกัน หรือผิวเผินจะเห็นเป็นสี่เหลี่ยมเล็กๆคั้นระหว่างช่องสี่เหลี่ยม
  • เหมาะกับ – คนที่มีพื้นที่ติดตั้งน้อย และต้องการประสิทธิภาพต่อแผงสูง ซึ่งก็จะตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงตามค่ะ

แบบผลึกรวม (Poly Crystalline) : เป็นแผงโซลาร์เซลล์ที่มีการใช้งานมากที่สุด เพราะเป็นเซลล์แสงอาทิตย์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นให้มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับ Mono แต่ได้ราคาต้นทุนที่ประหยัดกว่า

  • วิธีสังเกต – มองเห็นเส้นสะพานไฟตัดเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าเรียงต่อๆกันเต็มไปหมดเลย ซึ่งจะแตกต่างกับแบบ Mono ชัดเจน
  • เหมาะกับ – คนที่อยากได้ประสิทธิภาพการใช้งานใกล้เคียงกับแผง Mono แต่ต้องการราคาต้นทุนที่ต่ำกว่า

แบบฟิล์มบาง (Thin Film) : เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับการคิดค้นและพัฒนาขึ้น เพื่อประหยัดต้นทุน และเวลาในการผลิตแผ่นฟิล์ม แต่เนื่องจากเป็นฟิล์มบางเพียง 0.5 ไมครอน ทำให้ประสิทธิภาพต่ำที่สุด

  • วิธีสังเกต – มองเห็นเป็นแผ่นฟิล์มเรียบๆ ไม่มีเส้น และไม่มีรอยต่อใดๆทั้งสิ้น
  • เหมาะกับ – คนที่ใช้ทำเกษตรกรรมเพราะต้องใช้พื้นที่เยอะ ไม่เหมาะมาติดตั้งบนหลังคา ราคาถูก ประหยัดเงินในกระเป๋า แต่ก็แลกกับประสิทธิภาพที่ต่ำกว่าวัสดุอื่นๆ

แต่เดี๋ยวก่อนแผงโซล่าเซลล์จะเสื่อมสภาพลงทุกปี ดังนั้น เราจะคิดเต็มวัตต์ทุกปีไม่ได้ต้องคิดค่าเสื่อมสภาพเข้าไปด้วย โดยปีแรกจะได้เต็ม 300 วัตต์/แผ่น ปีที่สองประสิทธิภาพลดลง 2% เนื่องจากผลึกที่ประกอบเป็นโซล่าเซลล์ จะทำปฏิกิริยากับสภาพอากาศ และสภาพสิ่งแวดล้อม และช่วงปีที่ 2-25 ประสิทธิภาพจะลดลงปีละ 0.7% แต่ภายใน 25 ปี คำณวนแล้วจะไม่ต่ำกว่า 80% หลังจากนั้นโซล่าเซลล์ก็ยังสามารถใช้งานได้อยู่ แต่ทางวิศวกรจะไม่รองรับประสิทธิภาพในการใช้งาน ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนหรือปรับปรุงค่ะ

ขอบคุณภาพประกอบจาก SCG

นอกจากนี้สิ่งที่เราต้องคำนึงอีกอย่าง คือตำแหน่งที่ควรวาง แผงโซล่าเซลล์ สำหรับบ้านพักอาศัยแนะนำให้ติดบนหลังคาบ้านในทิศใต้ เนื่องจากประเทศไทยพระอาทิตย์อ้อมใต้ ที่ทำให้รับแสงได้เต็มที่ ช่วงเวลาที่รับแสงแดดได้ดีที่สุดคือ 11.00-15.00 น. โดยให้วางเอียง 15 องศา และควรวางในพื้นที่เปิดโล่ง ไม่มีอาคาร หรือต้นไม้บดบังค่ะ

2.ระบบ Solar System มีทั้งหมด 3 ระบบ ได้แก่

1. ระบบ On Grid – เป็นแบบที่ได้รับความนิยมสูงในขณะนี้ เนื่องจากเป็นลูกผสมที่ใช้ทั้งพลังงานสะอาด และไฟฟ้าจากการไฟฟ้า โดยเป็นแบบที่ต้องเปลี่ยนถ่ายกระแสไฟผ่าน On-Grid Inverter ก่อน เพราะต้องแปลงกระแสตรง(DC) เป็นกระแสสลับ(AC) 

  • ข้อดี – ไม่ต้องกังวลเวลามีพลังงานไม่เพียงพอ แล้วจะไม่มีไฟฟ้าใช้ในบ้าน เพราะระบบนี้เมื่อพลังงานจากแสงอาทิตย์หมด จะตัดเข้าการไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ
  • ข้อเสีย – กรณีไฟฟ้าดับ แม้ระบบโซล่าเซลล์ยังทำงานอยู่ แต่เครื่อง Inverter จะหยุดทำงาน ทำให้ไม่สามารถใช้ไฟฟ้าได้เช่นกัน ป้องกันไฟไหลย้อนกลับ
  • เหมาะกับ : คนที่นำไฟฟ้ามาใช้เอง เพื่อลดค่าใช้จ่ายบางส่วนภายในบ้าน แต่ยังต้องใช้ไฟจากการไฟฟ้าในเวลากลางคืน ซึ่งยังไงก็ต้องจ่ายค่าไฟอยู่ดีนะ ^^

2. ระบบ Off Grid หรือ Stand Alone – เป็นระบบที่แยกใช้งานเดี่ยวๆ ไม่เชื่อมต่อกับการไฟฟ้าเลย โดยมีแบตเตอรี่ในการเก็บไฟฟ้าสำรองของตัวเองใช้ในเวลากลางคืน ซึ่งระบบนี้ควรทำควบคู่ไปกับพลังงานลม พลังงานชีวมวล และ เครื่องยนต์ปั่นไฟ เป็นต้น เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานมากขึ้น

  • ข้อดี – ไม่ต้องเสียค่าไฟจากการไฟฟ้าสักบาทเดียว เป็นการผลิตไฟฟ้าใช้เองเลย
  • ข้อเสีย – มีค่าใช้จ่ายสูง เพราะต้องใช้แบตเตอรี่มาใช้ในการเก็บไฟสำรอง และต้องคำนวณการใช้ไฟให้เพียงพอต่อความต้องการ
  • เหมาะกับ : บ้านหรือสถานที่ที่ไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง หรือไม่คุ้มที่จะเดินลากสายไฟยาวๆเข้ามาด้านในที่มีค่าใช้จ่ายสูง

3. ระบบ Hybrid – เป็นแบบผสมผสานระหว่าง On Grid และ Off Grid โดยมีทั้งแบตเตอรี่สำหรับเก็บไป และไฟจากการไฟฟ้าหากยังไม่เพียงพอก็จะดึงไฟมาจากการไฟฟ้าชดเชยอีกทีหนึ่ง โดยถ้ากลางวันผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ได้ แล้วเราใช้ไม่หมดก็นำไปเก็บในแบตเตอรี่ ส่วนในเวลากลางคืนก็ดึงไฟจากแบตเตอรี่มาใช้ก่อนแล้วค่อยนำไฟฟ้าจากระบบการไฟฟ้ามาใช้ เพื่อลดค่าใช้จ่าย หรือจะปรับให้แบตเตอรี่ใช้ได้ในเวลาไฟดับก็ได้นะ (เหมือนไฟสำรอง)

  • ข้อดี – สามารถสลับระบบการใช้งานไปมาได้ โดยถ้ากลางวันเราผลิตไฟฟ้าได้มากก็สามารถเก็บในแบตเตอรี่สำรองได้ ส่วนกลางคืนก็สามารถเลือกใช้ไฟจากการไฟฟ้า หรือจากแบตเตอรี่ก็ได้ เวลาไฟดับฉุกเฉินจะได้มีไฟไว้ใช้นะ
  • ข้อเสีย – ระบบนี้มีเครื่อง Inverter ที่รองรับได้น้อย เพราะต้องต่อทั้งแบตเตอรี่ และมิเตอร์จากการไฟฟ้า และยังไม่ได้รับการยอมรับจากการไฟฟ้า (กฟผ.) รวมไปถึงมีอุปกรณ์เยอะ ค่าใช้จ่ายก็สูง ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนมากนัก
  • เหมาะกับ : คนที่มีกำลังทรัพย์มากหน่อย เพราะต้องเสียทั้งค่าไฟ และค่าบำรุงรักษาแบตเตอรี่ในอนาคต ที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงทีเดียว

3.คุ้มหรือไม่กับการลงทุนติดตั้งโซล่าเซลล์ใช้ภายในบ้าน?

วันนี้เราขอพูดถึงระบบ On grid เป็นระบบที่ทำงานเฉพาะตอนกลางวัน โดยแผงโซล่าเซลล์จะผลิตไฟฟ้าเข้ามาทดแทนไฟจากการไฟฟ้า ซึ่งปกติเราจะจ่ายให้การไฟฟ้าหน่วยละ 4 บาท แต่เมื่อเรานำแผงโซล่าเซลล์เข้ามาควบคู่ด้วย โดยแผงโซล่าเซลล์สำหรับบ้านพักอาศัยเริ่มต้นตั้งแต่ 1-12 กิโลวัตต์ (kWp.) โดยแผงโซล่าเซลล์ 1 แผ่นผลิตพลังงานได้ประมาณ 300-400 วัตต์(w) ซึ่งบริษัทที่ติดตั้งมักคิดเป็น Package มาให้เหมาะสมกับการใช้งานบ้านเรา ส่วนว่าจะคุ้มหรือไม่คุ้ม เราไปดู Case Study ตัวอย่างกันค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจากการไฟฟ้านครหลวง  <a href="https://www.mea.or.th/" target="_blank" rel="noopener">https://www.mea.or.th/</a>

ปัจจัยเบื้องต้นที่ต้องใช้ในการคำนวณความคุ้มค่า

  • ขนาดของกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าในแต่ละวัน
  • ปริมาณของแดด และระยะเวลาที่ใช้ผลิตแต่ละวัน (ตั้งไว้ที่ 4.5 ชั่วโมง/วัน คือจำนวนชั่วโมงที่รับแดดได้เต็มที่)
  • เงินลงทุน เพื่อคำนวณ จุดคุ้มทุนในแต่ละขนาดกำลังการผลิต
  • อัตราค่าไฟฟ้าปกติ ตั้งไว้ที่หน่วยละ 4.5 บาท (อัตราแบบก้าวหน้าขึ้นอยู่กับการใช้ไฟของแต่ละบ้าน)

**เป็นการคำนวณค่าไฟที่ประหยัดได้เบื้องต้น ยังไม่รวมค่าเสื่อสภาพของแผงโซล่าเซลล์ที่แต่ละปีจะมีค่าใช้จ่ายลดลงด้วยนะ

Example : บ้านหลังนี้มีคนอยู่บ้านตลอดเวลา โดยใช้ไฟช่วงกลางวันและกลางคืนเท่ากัน หลังจากดูการใช้งานที่บ้านเฉลี่ยจำนวนหน่วยที่ใช้ 1000 หน่วย/เดือน ถ้าต้องการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ให้เพียงพอกับการใช้งาน ต้องใช้เวลากี่ปีในการคืนทุน?

  1. คำนวณคร่าวๆเอา 1000/2 แบ่งเป็นช่วงกลางวัน 500 หน่วย และกลางคืน 500 หน่วย หารจำนวนหน่วยต่อวันได้ 500/30 = 16.66 หน่วย/วัน
  2. สำหรับแผงโซล่าเซลล์เลือกใช้ขนาด 2.2 กิโลวัตต์ (kWp.) x ระยะเวลาในการผลิต/วัน จะสามารถประหยัดค่าไฟได้ 2.2 x 4.5 = 9.9 หน่วย/วัน (297 บาท/เดือน) เอาไปลบค่าเดิมเป็นหน่วยที่เราต้องจ่าย 500-297 = 203
  3. เอาค่าไฟช่วงกลางวัน+กลางคืน จะได้จำนวนหน่วยที่ต้องจ่าย 500+203 = 703 หน่วย/เดือน จากปกติที่จ่ายค่าไฟเดือนละ 4,500 บาท ลดลงเหลือ 3,163.5 บาท หรือ ประหยัดค่าไฟไปได้เดือนละ 4,500 x 3,163.5 = 1,336.5 บาท ( 16,038 บาท/ปี)

สำหรับแผงโซล่าเซลล์ขนาด 2.2 กิโลวัตต์ ลงทุนค่าอุปกรณ์และติดตั้งโดยประมาณ 140,000 บาท เราจะคุ้มทุนประมาณ 8-9 ปี หลังจากปีที่ 9 เราจะได้ใช้ไฟฟรีเดือนละ 1,336.5 บาท ซึ่งถ้าใครรอเวลาได้ ก็น่าใช้งานอยู่นะคะ

สำหรับคนที่สนใจติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ ต้องเผื่อเวลาทำเรื่องขออนุญาตจากหน่วยราชการก่อนการติดตั้ง ทำให้มีระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน ดังนั้นเราจึงต้องวางแผนล่วงหน้าก่อนติดตั้งด้วยนะ หรือถ้าใครรู้สึกว่ายุ่งยาก ปัจจุบันก็มีบริษัทเอกชนหลายๆเจ้าทำระบบ One Stop Service นอกจากให้บริการติดตั้ง ดูแล ยังขอใบอนุญาตให้ด้วยค่ะ

  1. ยื่นขออนุญาตสำนักงานเขต เพื่อขออนุญาตปรับปรุงอาคารในการติดตั้งโซล่าเซลล์ โดยจะต้องมีแบบคำนวณโครงสร้างของวิศวกรโยธาแนบมาด้วย
  2. ยื่นการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) โดยต้องมีแบบ Single Line Diagram ที่เซ็นรับรองด้วยวิศวกรไฟฟ้า พร้อมทั้งติดตั้งเครื่อง Zero Export ป้องกันการไหลย้อนกลับไปที่มิเตอร์
  3. ยื่นกรมกำกับพลังงาน เพื่อขออนุญาตใช้โซล่าเซลล์อย่างเป็นทางการ

โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาภาคประชาชน” โดยรับซื้อปีละ 100 เมกะวัตต์จำนวน 10 ปี เป็นโครงการสำหรับเจ้าของบ้านที่ต้องการขายคืนให้กับภาครัฐ ส่วนตัวอยากให้มองเป็นผลพลอยได้มากกว่า เนื่องจากปัจจุบันภาครัฐซื้อคืนในราคาที่ต่ำกว่าสมัยก่อน โดยช่วงปี 2558-2559 รับซื้ออยู่ที่ 6.96 บาท/หน่วยแต่ปัจจุบันปี 2560 รับซื้อในราคา 1.68 บาท/หน่วย เนื่องจากคนหันมาใช้งานระบบ Solar Cell มากขึ้น เพราะหวังกำไรจากการขายให้การไฟฟ้า

ความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน

การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ เหมาะกับคนที่เน้นใช้ไฟในเวลากลางวันเป็นจำนวนมาก เช่นเปิดร้านค้า ร้านอาหาร โฮมออฟฟิศ หรือบ้านที่มีคนใช้งานช่วงกลางวันเป็นประจำ เพราะคำนวณจุดคุ้มทุนแล้วอยู่ที่ประมาณ 8-9 ปี แต่สำหรับคนที่ออกไปทำงานแล้วใช้งานไฟฟ้าช่วงกลางวันเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ จะมีจุดคุ้มทนเกิน 12-15 ปีขึ้นไป ซึ่งคุ้มหรือไม่คุ้ม ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละบุคคล รวมไปถึงเป็นการลงทุนระยะยาว ที่ไม่รู้ว่าค่าไฟฟ้าจะมีการเพิ่มลดหรือไม่ ยังไงก็ลองตัดสินใจกันดูนะคะ


บทความนี้ผู้เขียนหวังว่าจะเป็นประโยชน์ สำหรับคนที่อยากประหยัดค่าไฟฟ้าในบ้าน และมีเงินก้อนใหญ่จ่ายสำหรับการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ราคาเริ่มต้น 120,000-200,000 บาท และสามารถรอเวลาคุ้มทุนในอนาคตได้ สำหรับผู้อ่านท่านไหนเคยที่ติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ แล้วมีความรู้ เรื่องคำแนะนำเพิ่มเติมอยากแบ่งปันคนอื่นๆ ก็สามารถคอมเมนต์บอกเล่า ได้เลย ยินดีมากๆเลยค่ะ ^^

ติดตามพวกเราได้ที่
Website : www.thinkofliving.com
Twitter : www.twitter.com/thinkofliving
YouTube : www.youtube.com/ThinkofLiving
Instagram : www.instagram.com/thinkofliving
Facebook : ThinkofLiving