ปี 2562 … เป็นปีที่เรื่องเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์มาแรงจริงๆ เริ่มตั้งแต่ #มาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือที่เราเรียกกันสั้นๆว่า LTV (Loan to Value) ของรัฐบาลที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ช่วง 1 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งมีไว้ป้องกันคนที่จะซื้อบ้านไว้เก็งกำไร และคนที่ซื้อบ้านสำหรับอยู่เองจะได้ราคาที่เหมาะสม โดยทางทีมงาน Think of living เคยทำบทความเจาะลึกไว้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ ที่นี่

หลังจากประกาศใช้มาตรการ LTV ไป ผลปรากฏว่าคนลดการลงทุนและเน้นซื้อโครงการสำหรับอยู่อาศัยจริงมากขึ้น จึงทำให้เศรษฐกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงนี้ซบเซาลง ทำให้ช่วงสิงหาคมที่ผ่านมา ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการปรับ #ลดอัตราดอกเบี้ย (MRR & MLR & MOR) ลง 0.25% ทำให้ธนาคารเอกชนเริ่มปรับตาม เพื่อให้จุดยืนสอดคล้องไปกับ ธปท. ซึ่งอัตราดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารจะเรทไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสภาพคล่องของแต่ละธนาคารด้วยนะ

สำหรับใครที่กำลังมองหาที่อยู่อาศัยเป็นบ้านหลังแรก คงปฎิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันราคาของอสังหาริมทรัพย์พุ่งขึ้นค่อนข้างสูง โดยเฉพาะโครงการที่อยู่ในทำเล Prime Area ย่านธุุรกิจ โครงการที่เปิดใหม่หลายแห่ง ราคาสูงเกินกว่างบประมาณของเรา ยิ่งเป็นคอนโดมิเนียม ยิ่งมีราคาที่สูงจนเกินหยิบจับ ซึ่งถ้าเรามองหา คอนโดในทำเลทอง โครงการมือสองจะซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่าคอนโดใหม่ๆค่ะ และบางโครงการมีขนาดห้องที่กว้างและทำเลเด็ดกว่าด้วยนะ

ดังนั้นในบทความนี้ เราจะเน้นไปที่การซื้อโครงการมือสอง ซึ่งการเลือกสินเชื่อบ้านนั้นมีหลากหลายแบบ มีให้เลือกหลากหลายธนาคาร วันนี้เราจะมาสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ว่าธนาคารไหนเหมาะกับความพร้อมทางการเงินและ lifestyle ของเรามากที่สุดค่ะ

ก่อนอื่นเลยเราเคยสงสัยกันไหมว่า MLR, MRR ที่ธนาคารประกาศออกมาคืออะไร ?? ต้องบอกก่อนเลยว่าดอกเบี้ยมีทั้งหมด 2 แบบ คือ *ดอกเบี้ยแบบคงที่และ **ดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่ง MLR กับ MRR ก็คืออัตราดอกเบี้ยลอยตัวนั้นเอง โดยธนาคารมักจะปล่อยให้กับลูกค้าชั้นดี ( บุคลลที่มีรายได้ มีธุรกิจหรือทำงานประจำ มีประวัติการชำระหนี้สินที่ดีตรงต่อเวลา หรือมี Credit Bureau ดีนั่นเอง ) แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าถ้าเรากู้เงินซื้อคอนโดหรือบ้านสักหลังจะได้ MLR หรือ MRR ตรงนี้คืออยู่กับนโยบายของแต่ละธนาคารว่าจะประกาศใช้ตัวไหนนะคะ

*อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fixed rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดเป็นตัวเลขชัดเจน โดยไม่เปลี่ยนแปลงตลอดเงื่อนไขสัญญา เช่น ปีที่ 1-3 ดอกเบี้ย 3.50% ซึ่งถ้าระหว่าง 3 ปีนี้ MRR ผันผวนขึ้น-ลง เราก็จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ก็มีข้อเสียนิดนึง ตรงที่ถ้าเกิดปีนั้นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวลดลง เราก็อาจจะจ่ายดอกเบี้ยแพงกว่าความเป็นจริง ณ เวลานั้นๆ

**อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Float rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่จะปรับขึ้น-ลงตามต้นทุนและผลประกอบการของธนาคาร นั้นก็คือตัว MRR หรือ MLR นั้นเอง เช่น ปีที่ 1-3 ดอกเบี้ย -3.50% ซึ่งก็ต้องเอาไปลบกับ MRR หรือ MLR ในปีนั้นๆ ทำให้มีโอกาสที่จะจ่ายได้ถูกกว่าตามหน้าสัญญา หรือแพงกว่าก็ได้นะ ตรงนี้ก็วัดดวงกันไปเนอะ ^^

นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายอีกส่วนหนึ่ง ที่เราต้องเตรียมเงินสดในตอนซื้อบ้านอีกด้วย ไปดูกันว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรกันบ้าง

  • ค่าประเมินทรัพย์ของธนาคาร แต่ละธนาคารจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกัน เนื่องจากธนาคารทุกแห่งจะต้องจ้างบริษัทประเมิน เพื่อดำเนินการในส่วนนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 3,210 บาท (+VATแล้ว ) แต่ก็มีบางธนาคารที่ให้ราคาดีกว่า เช่น

  • ธนาคารทหารไทย (TMB) – ฟรีค่าประเมินไปเลย
  • ธนาคารกรุงไทย (KTB) – ราคาประเมินเริ่มต้นอยู่ที่ 2,500 บาท
  • ธนาคารยูโอบี (UOB) & ธนาคารไทยพาณิชย์  (SCB) – ราคาประเมินเริ่มต้นอยู่ที่ 2,675 บาท
  • ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส) – ราคาประเมินเริ่มต้นอยู่ที่ 2,800 บาท

  • ค่าธรรมเนียมยื่นกู้ จะอยู่ที่ 0.10%-0.25% ของวงเงินอนุมัติ ซึ่งปัจจุบันหลายๆธนาคารก็มีการจัดโปรโมชันยกเว้นค่าธรรมเนียมยื่นกู้ ในการดึงดูดลูกค้าด้วยนะ
  • ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ คิด 2% (ของราคาประเมินจากกรมที่ดิน, ราคาซื้อขาย) แต่โดยทั่วไป มักจะแบ่งจ่ายกันคนละครึ่งกับผู้ขาย (แล้วแต่ตกลงกันในสัญญาซื้อ-ขาย)
  • ค่าจดจำนอง ต้องจ่าย 1% ของมูลค่าที่จดจำนอง ในวันโอนกรรมสิทธิ์ โดยต้องชำระให้สำนักงานที่ดิน เพื่อเป็นตัวประกันหนี้ให้กับธนาคาร
  • ค่าอากรปิดสัญญาสินเชื่อ 0.05% ของวงเงินอนุมัติ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราซื้อคอนโดในราคา 1 ล้านบาท เราจะเสียค่าอากรประมาณ 500 บาทค่ะ
  • ค่าประกันอัคคีภัย โดยหลังจากได้รับอนุมัติแล้ว เราจะต้องมีประกันยื่นให้กับธนาคาร แต่ธนาคารจะไม่บังคับให้เราทำกับธนาคาร เราสามารถเลือกใช้ประกันภายนอกได้ แต่เราต้องนำส่งสัญญาฉบับเต็มให้ทางธนาคารด้วยนะ
  • ข้อควรระวัง : พวกโปรโมชัน ฟรีค่าธรรมเนียมยื่นกู้ ฟรีค่าประเมิน ฟรีค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย เราต้องดูเงื่อนไขและรายละเอียดต่างๆด้วยนะ เพราะบางธนาคารก็อาจจะใช้ดึงดูดลูกค้า แต่พอเทียบดอกเบี้ยกับธนาคารอื่นแล้ว เราอาจจะต้องจ่ายดอกเบี้ยที่สูงกว่า ดูแล้วก็ไม่คุ้มเลยนะคะ หรือบางธนาคารมี ฟรีค่าจดจำนอง แต่เงื่อนไขคือห้าม Re-finance ไปธนาคารอื่นภายใน 5 ปี ซึ่งพอคำนวณดอกเบี้ยแล้ว อาจจะแพงกว่าค่าจดจำนองที่เราต้องจ่ายก็ได้นะ > <

    ต้องบอกก่อนว่าการขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านมือ 2 นั้นโอกาสที่จะได้รับวงเงินกู้ 100% ของราคาบ้านมีน้อย ในสมัยก่อนอยู่ในช่วง 75-85% เอง แต่หลังจากมาตรการ LTV ออก ส่งผลให้คนซื้อบ้านหลังแรกแต่เป็นโครงการมือ 2 ได้วงเงินกู้ได้ที่มากขึ้น เรียกได้ว่าใกล้เคียงกับโครงการมือ 1 เลยนะ แต่อาจจะน้อยกว่าสัก 5% คืออยู่ในช่วง 85-95% ของราคาประเมิน ไม่ถึง 100% เหมือนโครงการมือ 1 เนื่องจากธนาคารต้องคิดค่าเสื่อมของที่อยู่อาศัย และความเสี่ยงในการปล่อยขายทอดตลาด (นำไปขายต่อคนอื่น) ซึ่งตัวธนาคารเองมองว่าอาจจะไม่คุ้มกับสินเชื่อที่ปล่อยไปค่ะ นอกจากนี้เงื่อนไขก็จะแตกต่างกันเล็กน้อย เพราะบ้านหลังใหม่จะได้สิทธิในการผ่อนดาวน์ด้วย เป็นต้น

    ถ้าดูจากตารางที่ธนาคารปล่อยวงเงินกู้ขของโครงการมือ 2 สูงสุดอยู่ที่ 95% ซึ่งหมายความว่าเราต้องมีเงินก้อนประมาณ 5% เผื่อจ่ายให้ผู้ซื้อก่อน โดยที่ตัวธนาคารเองจะยึดตามราคาประเมินหรือราคาซื้อขายอย่างใดอย่างหนึ่งที่ราคาถูกกว่า ซึ่งส่วนใหญ่ราคาซื้อ-ขายจะใกล้เคียงกับราคาประเมิน หรือถูกกว่าราคาประเมินเล็กน้อยนะคะ

    ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าธนาคารประเมินห้องได้ 2,800,000 บาท แล้วราคาซื้อขายอยู่ที่ 2,500,000 บาท ธนาคารจะเลือกราคาซื้อ-ขายเพราะถูกกว่า โดยจะปล่อยให้ 95% ของวงเงินซื้อ-ขายก็คือ 2,375,000 บาท ดังนั้นเราต้องมีเงินสดจ่ายประมาณ 125,000 บาท อย่าลืมเผื่อเงินส่วนนี้กันด้วยนะ แต่เราจะตัดสินใจแค่วงเงินกู้ไม่ได้ เราต้องเจาะลึกลงไปดูดอกเบี้ยแต่ละปีของธนาคารด้วยว่าเป็นยังไง รวมถึงระยะเวลาการผ่อนด้วย เราแนะนำให้ศึกษาให้ดีก่อน เพราะจะมีผลกับเราในระยะยาวเลยนะคะ > <

    เรามาลองวิเคราะห์กันต่อว่าดอกเบี้ยธนาคาร ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2562 มีตัวไหนน่าสนใจกันบ้าง ซึ่งต้องบอกไว้ก่อนเลยนะคะ ว่าดอกเบี้ยและโปรโมชันของธนาคารมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา แนะนำให้สอบถามทางธนาคารเพิ่มเติมอีกทีด้วยนะคะ

    สำหรับสินเชื่อบ้านจะนิยมใช้อยู่ 2 ตัวคือ MLR และ MRR เพราะเป็นสินเชื่อที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน โดย MLR และ MRR จะลดหรือเพิ่มขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับการประกาศอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงค์ชาติ ซึ่งการเพิ่มหรือลดของอัตราดอกเบี้ยสองตัวนี้จะมีความสัมพันธ์ต่อการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ถ้ารัฐบาลต้องการที่จะกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ก็มักจะใช้วิธีประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้คนอยากซื้ออสังหาริมทรัพย์มากขึ้น

    ซึ่งต้องบอกก่อนเลยว่าดอกเบี้ยลอยตัว MRR หรือ MLR ราคาถูกก็ไม่ใช่ว่าจะได้ดอกเบี้ยถูกกว่าธนาคารที่ดอกเบี้ยลอยตัวสูงนะ เพราะแต่ละธนาคารมีต้นทุนทางการเงินไม่เท่ากัน ทำให้นอกจากจะดูส่วนนี้แล้ว เราจะต้องดูดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีของแต่ละ Option ที่ธนาคารเสนอมาให้ โดยบางธนาคารก็เสนอให้ 3-4 ทางเลือกเลยนะ ซึ่งเราสรุปมาให้คร่าวๆแล้วว่า อัตราดอกเบี้ยมีมทั้งหมดกี่แบบ แล้วแบบไหนเหมาะกับเราบ้าง ไปดูกันค่ะ

    วันนี้เราจะขอนำอัตราดอกเบี้ยที่ทางผู้เขียนได้ไปเดินสำรวจมาให้ดูกัน โดยมีเงื่อนไขว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยของโครงการมือ 2 และตัวผู้กู้เองเป็นพนักงานเงินเดือน อายุผู้กู้ 27 ปีค่ะ โดยแผนที่ธนาคารเสนอมาให้มีหลากหลายทีเดียว เราจะเป็นออกเป็นหลายๆหมวด เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้นนะคะ

    เริ่มจาก “อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed rate loan) ใน 3 ปีแรก” ที่ไม่มีการขยับขึ้น-ลง ทุกอย่างคงที่ตลอดระยะเวลาสัญญาที่กำหนดไว้ หลังจากนั้นค่อยปรับเป็นดอกเบี้ยลอยตัว แผนแบบนี้เหมาะกับคนที่เน้นความมั่นคง และต้องการวางแผนการเงินได้ชัดเจน เพราะเราจะผ่อนเท่ากันใน 3 ปีแรก เรามาดูวิธีคำนวณอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้านกัน โดยสมมติว่าเราต้องการกู้เงินมาซื้อบ้าน 2,500,000 บาท/ MRR 6.625%

    • ปีที่ 1-3 อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.30% ต่อปี = เราต้องจ่ายดอกเบี้ย 82,500 ต่อปี (3 ปีแรก)
    • พอปีที่ 4 MRR -0.50% ให้เอาไปลบกับดอกเบี้ยลอยตัว ณ.เวลานั้น ซึ่งถ้าเรามีประวัติการผ่อนที่ดี ไม่เคยเบี้ยวนัด เราก็สามารถคุยกับธนาคารเพื่อขออัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงได้ หรือใครจะ Re-finance ไปธนาคารอื่นก็ได้ค่ะ

    ถัดมาจะเป็น “อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating rate loan) ทั้งหมด” แผนแบบนี้เหมาะกับคนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ เพราะดอกเบี้ยจะผันผวนตามเศรษฐกิจของเวลานั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่อัตราดอกเบี้ยลอยตัวเฉลี่ย 3 ปี จะได้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าแบบคงที่ในธนาคารเดียวกัน ซึ่งอันนี้ก็แล้วแต่แผนการเงินของแต่ละคนเลยนะคะ

    มาดูอีกแผนหนึ่งเราเรียกแบบนี้ว่า “อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได” ซึ่งดอกเบี้ยในปีที่ 1 จะมีราคาที่ค่อนข้างถูก แต่พอปี 2-3 ก็จะต้องเสียดอกเบี้ยมากขึ้นทุกๆปี เหมาะกับคนที่สามารถหาเงินมาโปะได้เยอะในช่วง 2 ปีแรก ซึ่งถ้าเราจ่ายเงินต้นได้เยอะ ก็จะสามารถลดระยะเวลาการผ่อนได้ ทำให้เราเสียดอกเบี้ยให้กับธนาคารลดลงนะคะ

    หรือจะเป็นแบบ “อัตราดอกเบี้ยเท่ากันในปีที่ 2 และ 3” ซึ่งถ้าเทียบกับแบบด้านบน จะเห็นว่าดอกเบี้ยปีที่ 2-3 จะค่อนข้างสูง ทำให้แผนนี้เหมาะกับคนที่หาเงินมาโปะเงินต้นได้เยอะในปีที่ 1 ค่ะ เพราะอัตราดอกเบี้ยยังไม่สูงมากค่ะ

    หรืออีกแบบก็คือ “อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2 ปีแรก” และผันผวนในปีที่ 3 แบบนี้ก็จะการันตีดอกเบี้ยใน 2 ปีแรกเลย เหมาะกับคนที่จะหาเงินก้อนมาปิดได้ภายใน 2 ปี ซึ่งทำให้เราไม่ต้องลุ้นดอกเบี้ยลอยตัวต่อในปีที่ 3 นะคะ

    สรุปสุดท้าย ถ้าเราจะผ่อนกับธนาคารเต็ม 3 ปีอยู่แล้ว แนะนำให้เราดูอัตราเฉลี่ย 3 ปีแรกค่ะ เพราะเป็นเงื่อนไขของธนาคารที่เราไม่สามารถย้ายธนาคารได้ ซึ่งแต่ละทางเลือกก็จะเหมาะกับกลุ่มคนที่วางแผนการเงินที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น

    • ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) – เหมาะกับคนที่ต้องการอยู่อาศัยเอง และต้องการความมั่นคงในการผ่อนในช่วงแรก
    • ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) – เหมาะกับคนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ เพราะดอกเบี้ยจะผันผวนตาม MRR หลังจากนั้นเราก็ต้องลุ้นๆกันหน่อยนะคะ
    • ธนาคารออมสิน – เหมาะกับคนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ หรือคนที่ต้องการโปะเงินต้นเร็วในปีแรก เพราะดอกเบี้ยถูกมากกกกกกก
    • ธนาคารธนชาต –เหมาะกับคนที่อยากมีระยะเวลาประมาณ 2 ปีหาเงินมาโปะ เพื่อจะได้ไม่ต้องไปลุ้นดอกเบี้ยลอยตัวในปีที่ 3

    ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ด้วยนะคะ

    นอกจากนี้ถ้าเราเจาะลึกภายในธนาคารเอง ก็จะมีทางเลือกให้กับผู้กู้ได้เลือกอยู่นะคะ ซึ่งถ้าสังเกตดูดีๆจะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี สำหรับดอกเบี้ยแบบลอยตัว จะได้ดอกเบี้ยที่ถูกกว่า อันนี้เหมาะกับคนที่ยอมรับความผันผวนได้ แต่ถ้าคนที่ต้องการความมั่นคง แนะนำให้เลือกแบบคงที่ดีกว่า เราจะได้วางแผนการเงินในอนาคตได้ค่ะ

    ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก ธนาคารธนชาต ด้วยนะคะ

    ส่วนบางธนาคารก็มีการต่อสินเชื่อให้ผ่อนได้นานถึง 40 ปี เป็นการช่วยให้ผ่อนชำระในแต่ละเดือนลดน้อยลง ซึ่งยังไงลองสอบถามธนาคารที่สนใจกันดูนะคะ

    สรุปคุณเหมาะกับดอกเบี้ยแบบไหน แนะนำให้สังเกตจากจากสถานการณ์เศรฐกิจและดอกเบี้ย ลองเปรียบเทียบย้อนหลังไปประมาณ 20 ปี แล้วลองศึกษาดูว่าแนวโน้มว่าจะปรับสูงขึ้นหรือไหม แต่ถ้าดูจากสถานการณ์ปีหลังจากนี้ คาดว่าดอกเบี้ยจะถูกลงเรื่อยๆ เพราะเศรษฐกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มลดลง คนมีกำลังซื้อน้อยลง ทำให้ต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการลดดอกเบี้ยจูงใจคนเข้ามาซื้อ-ขาย

    ถ้าคิดว่าเราจะกู้อยู่เอง แล้วจะผ่อนกับธนาคารจนครบสัญญา น่าจะเหมาะกับอัตราดอกเบี้ยแบบ fix rate ในระยะแรก เพราะเราสามารถวางแผนการเงินเองได้ จ่ายเงิยเท่าเดิมตลอดตามงวดที่ตกลงกันในสัญญา (ใน 3 ปีแรก) หลังจากนั้นก็สามารถ Refinace ไปธนาคารอื่นได้ เพื่อหาอัตราดอกเบี้ยใหม่ให้เข้ากับสถานการณ์นั้นๆ

    หรือถ้าคิดว่าจะซื้อมาแล้วขายต่อได้ภายใน 1-2 ปี น่าจะเหมาะกับอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได เพราะดอกเบี้ยจะค่อนข้างถูกเลยในช่วงแรก ที่คุณถือครองกรรมสิทธิ์อยู่ ก่อนที่ดอกเบี้ยจะสูงขึ้นเราก็ขายโอนกรรมสิทธิ์ต่อไปให้คนอื่นเราจะได้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในราคาสูงขึ้น

    สุดท้ายนี้ เราก็พอรู้กันแล้วว่าถ้าเราอยู่ซื้อบ้านหลังแรก ที่เป็นโครงการมือ 2 ธนาคารไหนเหมาะสมกับการวางแผนการเงินของเรา รวมถึงรู้ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการกู้เงินด้วยว่ามีอะไรบ้าง แนะนำนิดนึงว่าถ้าเรายิ่งหาเงินมาโปะได้เร็วในปีแรกๆ เราก็จะเสียดอกเบี้ยลดลงด้วยนะคะ ยังไงถ้าตัดสินใจกู้กันแล้ว ก็ขอให้ศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียดด้วย เพราะมีผลกับเราถึง 30-40 ปีเลย  เรียกว่ารู้ตัวอีกทีก็มีสมาชิกเพิ่มกันแล้วนะ


    ถ้าเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ช่วยกด LIKE และ Share ให้หน่อยนะคะ จะได้มีกำลังใจทำบทความถัดๆไปค่ะ 

    บทความนี้ผู้เขียนพยายามศึกษาและรวบรวมข้อมูลที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่ต้องการกู้เงินโครงการมือ 2 หากมีตรงส่วนไหนที่ขาดตกบกพร่องหรือผิดพลาดไป ช่วยกันแนะนำได้นะคะ ^^


    ติดตามพวกเราได้ที่
    Website : www.thinkofliving.com
    Twitter : www.twitter.com/thinkofliving
    YouTube : www.youtube.com/ThinkofLiving
    Instagram : www.instagram.com/thinkofliving
    Facebook : ThinkofLiving