ในช่วงวิกฤต COVID-19 ไวรัสวายร้ายที่ตอนนี้ทำให้คนทั่วโลกติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และลามมาจนถึงเศรษฐกิจเพราะมีการปิดทุกสิ่งอย่างเพื่อควบคุมโรคทั้งห้าง โรงเรียน ฟิตเนส ร้านค้าต่างๆ หลายคนต้อง Work From Home โดนพักงาน ลดเงินเดือน หรือโดนไล่ออกกันเลยก็มี ส่งผลให้ขาดรายได้มาจุนเจือครอบครัว ไม่มีเงินกินเงินใช้ ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ จากความเจ็บปวดนี้ทางธนาคารต่างๆจึงได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากเจ้าไวรัส โดยจะมีอะไรบ้างมาดูกันค่ะ
หลักแล้วมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จะแบ่งออกเป็นลูกค้าธุรกิจ พวกคนที่เป็นเจ้าของกิจการอะไรประมาณนี้ และลูกค้ารายย่อย พวกหนี้ทั่วๆไปในชีวิตประจำวันอย่างหนี้บ้าน บัตรเครดิต รถยนต์ และหนี้ส่วนบุคคลที่กู้เงินก้อนจากธนาคารเพื่อที่จะเอาไปใช้จ่ายในเรื่องต่างๆ ซึ่งรายละเอียดความช่วยเหลือนั้นแบ่งออกเป็นหลายประเภทด้วยกัน และแต่ละธนาคารก็มีความช่วยเหลือที่ไม่เหมือนกัน เดี๋ยวเราค่อยๆไปดูกันว่ามีอะไรบ้าง โดยเราจะขอเน้นไปที่สินเชื่อบ้านและที่อยู่อาศัยเป็นหลักนะคะ
เรามาเริ่มกันที่สินเชื่อบ้าน หรือเงินกู้ระยะยาวที่กู้ยืมจากธนาคารเพื่อมาซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัยกันก่อน สินเชื่อบ้านนี้ไม่ได้หมายความว่าเฉพาะแค่บ้านอย่างเดียวนะคะ แต่รวมถึง ทาวน์โฮม คอนโด หรืออาคารพาณิชย์ด้วยค่ะ
สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของสินเชื่อบ้านอันแรกคือ “พักชำระเงินต้น” หมายความว่าธนาคารจะให้เราจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย (เงินต้นยังอยู่เหมือนเดิม) ซึ่งเราต้องมาดูว่าโดยปกติแล้วเราจ่ายดอกเบี้ยไปเท่าไร บางคนดอกเบี้ยกับเงินต้นอาจจะพอๆกัน ถือว่ายังดีที่ลดภาระค่าใช้จ่ายในช่วงนี้ได้นะคะ สถานการณ์ปกติค่อยว่ากันใหม่ โดยธนาคารจะกำหนดจำนวนระยะเวลาในการพักชำระเงินต้นไม่เท่ากันและอาจจะมีเงื่อนไขอื่นๆอีก โดยจะแบ่งออกเป็นพักชำระเงินต้น 6 เดือน 12 เดือน และ 24 เดือน อย่างธนาคารออมสินให้รายละเอียดไว้ว่าพักเงินต้น 2 ปี สำหรับลูกค้ารายย่อย ซึ่งต้องโทรไปถามเพิ่มเติมกับทางธนาคารอีกทีนะคะ
บางธนาคารจะมีการช่วยเหลือโดยการลดอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าธรรมเนียมต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารกรุงเทพ , ธนาคารเกียรตินาคิน , ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง โดยจะมีกำหนดว่าลดลงเท่าไรหรือลดลงกี่เดือนเป็นรายกรณี ส่วนธนาคาร UOB นอกจากลดดอกเบี้ยแล้วยังลดค่าปรับต่างๆด้วย
ปรับยอดผ่อนชำระรายเดือนที่เราจ่ายเป็นงวดๆให้ต่ำลง โดยจะมีเงื่อนไขว่าปรับลงได้ไม่เกินกี่ % และกี่เดือน เช่น ธนาคารกรุงเทพปรับยอดผ่อนชำระรายเดือนลงสูงสุด 40% ไม่เกิน 24 เดือนค่ะ
สำหรับความช่วยเหลือที่น่าสนใจคือพักชำระหนี้ไปเลย หมายความว่าพักทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเลยนะ (ต่างจากธนาคารที่พักแต่เงินต้นอย่างเดียวนะ) โดยจะมีเวลากำหนดว่าพักได้ทั้งหมดกี่เดือน อย่างธนาคารธนชาต , ธนาคารทหารไทย สามารถพักชำระหนี้สูงสุดไม่เกิน 3 เดือน ธนาคารเกียรตินาคินพักได้ 6 เดือนเป็นต้น ซึ่งข้อดีถือว่าดีทำให้เราชลอการจ่ายหนี้ออกไป สามารถเอาเงินสดที่เก็บไว้ไปใช้ตอนวิกฤตไวรัสนี้ก่อนได้
สุดท้ายคือบางธนาคารให้ความช่วยเหลือโดยการขยายเวลาชำระหนี้ออกไปก่อน ตามระยะเวลาที่ธนาคารกำหนดค่ะ ธนาคาร UOB , ธนาคารทิสโก้ , ธนาคารเกียรตินาคิน , ธนาคาร CIMB , ธนาคารออมสิน และ ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์เป็นต้น ส่วนเงื่อนไขจะเป็นอย่างไรต้องสอบถามจากทางธนาคารอีกทีนะคะ
สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยประเภทอื่นๆ เช่นบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อรถยนต์ ก็มีความช่วยเหลือคล้ายกันกับบ้านคือมีการพักชำระเงินต้น (ผ่อนแต่ดอกเบี้ย) พักชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ยและค่าปรับอื่นๆ ขยายเวลาชำระหนี้ ดังนี้ค่ะ
ส่วนสินเชื่อของลูกค้าธุรกิจส่วนใหญ่ความช่วยเหลือจะเป็นการพักชำระเงินต้น (ผ่อนแต่ดอกเบี้ย) โดยระยะเวลาจะอยู่ที่ 6 – 18 เดือนขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร นอกนั้นจะมีการลดอัตราดอกเบี้ย เพิ่มวงเงินสินเชื่อและขยายเวลาชำระหนี้ค่ะ ดูได้ตามรูปด้านล่างได้เลย
เมื่อพบว่าผ่อนบ้านไม่ไหวในช่วงวิกฤต COVID-19 เราควรทำอย่างไร
ก่อนอื่นเมื่อพบว่าเราเริ่มมีปัญหาทางการเงินจากวิกฤต COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นการโดนลดเงินเดือน โดนไล่ออก ถูกกักตัว14วันทำให้ออกไปทำงานไม่ได้ หรือต้องสำรองค่าใช้จ่ายต่างๆเพราะไม่สามารถเปิดกิจการได้ ขั้นแรกให้เราใจเย็นๆและลอง List ค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วลองดูว่าอะไรที่เราพอจะผ่อนได้ จากนั้นให้ลองดูมาตรการเยียวยาต่างๆที่พอช่วยเราได้บ้าง เช่น ลงทะเบียนคืนเงินประกันไฟฟ้า หรือ มาตรการช่วยลูกหนี้จากธนาคาร และทำการติดต่อเพื่อสอบถามเงื่อนไขค่ะ
ข้อมูลทั้งหมดผู้เขียนพยายามสรุปเนื้อหาให้เข้าใจง่ายและหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่หาข้อมูลเรื่องมาตรการให้ความช่วยเหลือจากธนาคารในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ สุดท้ายผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆท่าน และยินดีเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการให้ความช่วยเหลือ เราจะผ่านมันไปด้วยกันค่ะ
ใครอยากอ่านมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากไวรัส COVID-19 แบบละเอียดสามารถคลิกเข้าไปดูที่ Website ของธนาคารแห่งประเทศไทยได้นะคะ >> คลิกที่นี่