งานมหกรรมบ้านและคอนโดครั้งที่ 26 ที่มี Theme งานใหญ่เป็น “บ้านหลังแรก” ที่ทางกระทรวงการคลังเป็นผู้ส่งเสริม โดยกรมสรรพากรตั้งบูธใหญ่อยู่ตรงกลาง Hall ของศูนย์ประชุมแห่งชาติ คู่กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่นำสินเชื่อบ้านหลังแรกมาให้กันด้วย
รู้ไว้ ก่อนจะเป็นเจ้าของ “บ้านหลังแรก”
“ซื้อบ้าน ซื้อคอนโด (หลังแรก) ราคาไม่เกิน 5 ล้าน ไว้อยู่อาศัย รับสิทธิยกเว้นภาษีได้ 10% นาน 5 ปี”
- ต้องชำระเงินและ จดทะเบียนโอนฯ ระหว่าง 21 ก.ย. 54 – 31 ธ.ค. 55
- ใช้สิทธิยกเว้นภาษีครั้งแรกภายใน 5 ปี นับจากภาษีที่โอนฯ และต่อเนื่องนาน 5 ปี เท่าๆกัน
- ซื้อแล้วห้ามขาย ต้องเป็นเจ้าของติดต่อกัน ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับจากวันที่โอนฯ
- บ้านหรือคอนโดที่ซื้อต้องเป็น “ของใหม่แกะกล่องเท่านั้น” มือ 2 หมดสิทธิ์ (ซื้อดาวน์ได้นะครับ เพราะยังไม่นับเป็นมือ 2)
- ไม่เคย เป็นเจ้าของบ้านหรือคอนโดมาก่อนเลย (แม่ยกให้อด)
- ไม่เคย ใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเงินได้จากการขายบ้านขายคอนโดหลังเก่าเพื่อซื้อหลังใหม่
- ไม่เคย ใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เพื่อซื้อ หรือเช่าซื้อที่อยู่อาศัย
- ไม่เคย ใช้สิทธิยกเว้นภาษีจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร
ธอส. ก็ตั้งอยู่ติดๆกันเลย มาจากสังกัดกระทรวงการคลัง ที่เดียวกันกับกรมสรรพากร
กู้ไม่เกิน 30 ปี (อายุไม่เกิน 65 ปี) ปีที่ 1 – 3 ได้ดอกเบี้ย 0% ปีที่ 4 – 7 ได้ดอกเบี้ย MRR – 0.5 หรือ MRR และ ปีที่ 8 เป็นต้นไปได้ดอกเบี้ย MRR – 1 หรือ MRR – 0.5%
ป้ายนี้อ่านให้ละเอียดนะครับ!
เวทีกำลังจะเปิดงาน
ลูกค้าบ้านหลังแรกนั่งคุยกับกรมสรรพากรได้เลย มีสถานที่รองรับพร้อม!
ใครยังสงสัย ไม่ชัดเจนให้อ่านต่อไป ซึ่งเนื้อหาด้านล่างคัดลอกมาจาก ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 213 จากกรมสรรพากร ครับ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๒๑๓)
เรื่อง กำหนดวิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์
ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย
อาศัยอำนาจตามความในวรรคสอง ของมาตรา ๔ แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๒๘) พ.ศ. ๒๕๕๔ อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดวิธีการและเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ต้องเป็นไปตามวิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้
(๑) ต้องเป็นการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด มูลค่าไม่เกินห้าล้านบาท เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการทำสัญญาซื้อขายที่ดินและทำสัญญาจ้างปลูกสร้างอาคารแยกจากกัน
อสังหาริมทรัพย์ตามวรรคหนึ่งต้องไม่เคยผ่านการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์มาก่อน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(๒) การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เท่าจำนวนเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์จริง แต่ไม่เกินร้อยละสิบของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด
(๓) ต้องเป็นการจ่ายค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด ที่จ่ายไปในระหว่างวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ และต้องมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นให้แล้วเสร็จภายในช่วงเวลาดังกล่าว
(๔) ผู้มีเงินได้ต้องใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ครั้งแรกภายในห้าปีภาษี นับแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แล้ว และต้องใช้สิทธิเป็นเวลาห้าปีภาษีต่อเนื่องกัน โดยให้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนเท่า ๆ กันในแต่ละปี
(๕) กรณีผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด ให้ได้รับยกเว้นภาษีทุกคนโดยเฉลี่ยการได้รับยกเว้นภาษีตามส่วนของกรรมสิทธิ์ของแต่ละคน แต่รวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินจำนวนเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์จริง และไม่เกินร้อยละสิบของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด
(๖) กรณีผู้มีเงินได้มีสามีหรือภริยา ให้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยได้เพียงแห่งเดียว
(๗) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ดังนี้
(ก) กรณีภริยาไม่ใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา ๕๗ เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้รวมกันเท่าจำนวนเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์จริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกินร้อยละสิบของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด
(ข) กรณีภริยาใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา ๕๗ เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้กึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์จริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกินร้อยละสิบของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด ทั้งนี้ การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ครั้งแรกของสามีและภริยา จะต้องกระทำในปีภาษีเดียวกัน
(ค) กรณีสามีและภริยาต่างฝ่ายต่างมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้อยู่ก่อนแล้วให้สามีและภริยาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้รวมกันไม่เกินร้อยละสิบของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพียงแห่งเดียว
(๘) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ และความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี ซึ่งต้องยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากกัน ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ดังนี้
(ก) กรณีผู้มีเงินได้มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้อยู่ก่อนแล้ว ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างยังคงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เท่าจำนวนเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์จริง แต่ไม่เกินร้อยละสิบของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด
(ข) กรณีผู้มีเงินได้สมรสกัน ต่อมามีสิทธิได้รับยกเว้นภาษี ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้กึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์จริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกินร้อยละสิบของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด
(๙) ผู้มีเงินได้ต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยมาก่อน หรือไม่มีชื่อเป็นหรือเคยเป็นเจ้าบ้านในทะเบียนบ้านที่ใช้เป็นหลักฐาน เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยของตนเองหรือคู่สมรสตามทะเบียนบ้าน
(๑๐) กรณีการกู้ยืมเงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ร่วมกัน โดยผู้กู้ร่วมมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยของตนเอง หรือเคยใช้สิทธิหักลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีมาแล้ว ผู้กู้ร่วมจะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีในส่วนของเงินได้ที่ใช้กู้ร่วม
ข้อ ๒ การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานประกอบการยกเว้นภาษีเงินได้ ดังนี้
(๑) หนังสือรับรองจากผู้ขายที่พิสูจน์ได้ว่า มีการจ่ายค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยต้องมีข้อความอย่างน้อยตามที่แนบท้ายประกาศนี้
(๒) หนังสือรับรองตนเองว่าเป็นที่อยู่อาศัยแห่งแรก โดยต้องมีข้อความอย่างน้อยตามที่แนบท้ายประกาศนี้
(๓) สำเนาสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
(๔) สำเนาสัญญากู้ยืมเงิน (กรณีกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน)
ข้อ ๓ ผู้มีเงินได้ต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือมีชื่อเป็นคู่สัญญากับสถาบันการเงินที่ให้กู้ เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี แต่ไม่รวมถึงกรณีผู้มีเงินได้ถึงแก่ความตาย หรือกรณีเกิดเหตุสุดวิสัย
ข้อ ๔ การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ให้ผู้มีเงินได้นำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปหักจากภาษีที่ต้องชำระจากการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา ๔๘ (๑) และ (๒) แห่งประมวลรัษฎากร ก่อนการคำนวณเครดิตภาษี
กรณีผู้มีเงินได้มีภาษีที่ต้องชำระน้อยกว่าจำนวนค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ในแต่ละปีภาษี ผู้มีเงินได้ไม่มีสิทธิได้รับคืนเงินภาษีจากส่วนต่างดังกล่าว
ข้อ ๕ กรณีผู้มีเงินได้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด และได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้แล้ว และต่อมาปฏิบัติไม่เป็นไปตามวิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด ผู้มีเงินได้หมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีที่นำเงินค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุดไปหักออกจากภาษีที่ต้องชำระมาแล้ว พร้อมเงินเพิ่ม ตามมาตรา ๒๗ แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อ ๖ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕
สาธิต รังคสิริ
(นายสาธิต รังคสิริ)
อธิบดีกรมสรรพากร