เข้าปี 2565 เผลอแป๊ปเดียวก็ผ่านไตรมาสแรกของปีกันไปแล้วนะคะ ใครที่กำลังตัดสินใจว่าจะซื้อบ้านปีนี้หรือปีหน้าดี วันนี้เรามาช่วยทุกคนให้ตัดสินใจง่ายขึ้นกันค่ะ ด้วยการรวบรวมมาตรการต่างๆ ที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ช่วยเหลือและลดภาระของคนอยากมีบ้าน ซึ่งจะมีมาตรการอะไรน่าสนใจบ้าง เราไปดูกันเลย!

6 มาตรการที่น่าสนใจ ดังนี้

  • ผ่อนคลายมาตรการ LTV ชั่วคราว
  • มาตรการลดค่าธรรมเนียมโอน – จดจำนอง
  • คงราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
  • คงอัตราค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
  • มาตรการคงดอกเบี้ยนโยบาย
  • การเคหะแห่งชาติ ช่วยคนซื้อบ้าน ดอกเบี้ย 4 ปีแรก 1.5%


กู้ซื้อบ้านได้ 100 %

มาตรการ LTV คืออะไร ?

ใครที่กำลังคิดจะขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้าน จะต้องรู้จักกับมาตรการ LTV หรือ Loan-To-Value Ratio มีชื่อภาษาไทยว่า หลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย ซึ่งจะบอกเป็นอัตราส่วนสินเชื่อต่อราคาบ้านค่ะ หรืออีกอย่างหนึ่งคือการกำหนดเงินดาวน์ขั้นต่ำนั่นเอง เช่น ถ้า LTV กำหนดที่ 90% นั้นหมายความว่าเราสามารถกู้ได้ 90% ของราคาบ้าน และจะต้องเตรียมเงินดาวน์ไว้ 10%

ตัวอย่าง บ้านราคา 3 ล้านบาท LTV = 90% หมายความว่าเราสามารถกู้ได้ 2.7 ล้านบาท ต้องวางเงินดาวน์ 3 แสนบาท

ซึ่งเดิมทีมาตรการ LTV ได้ปรับปรุงใหม่ไปเมื่อปี 2563 นะคะ โดยมีหลักเกณฑ์ตามตารางด้านล่างนี้

  • กรณีซื้อบ้านหลังแรก ที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท : ผ่อนปรนให้สามารถกู้เพิ่มได้อีก 10% ของมูลค่าบ้านสำหรับใช้เป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการเข้าอยู่อาศัย (สินเชื่อ Top-Up) เช่น การซื้อเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ซึ่งจะมีข้อดีคือดอกเบี้ยที่ถูกกว่าสินเชื่อส่วนบุคคลเยอะเลยค่ะ
  • กรณีซื้อบ้านหลังที่ 2 : ผ่อนปรนให้วางดาวน์ขั้นต่ำที่ 10% หากผ่อนหลังแรกมาแล้ว 2 ปีขึ้นไป (จากเดิมต้องผ่อนหลังแรกมาแล้ว 3 ปี) เพื่อตอบโจทย์ประชาชนกลุ่มที่จำเป็นต้องมีบ้าน 2 หลัง และมีวินัยในการผ่อนชำระมาแล้วระยะหนึ่ง

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย bot.or.th

  • สำหรับกรณีของการกู้ร่วม หากผู้กู้ร่วมไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย จะยังไม่นับสัญญานั้นว่าเป็นสัญญาของผู้กู้ร่วมค่ะ

ตัวอย่าง 

– กรณีที่ 1 ผู้กู้ A มีสัญญาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว 1 สัญญา และในครั้งนี้มาขอกู้ร่วมกับ B ซึ่ง B ยังไม่เคยกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมาก่อน

หากทั้ง A และ B มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยสำหรับการกู้ร่วม ให้นับสัญญาการกู้ร่วมดังกล่าวเป็นสัญญาที่ 2 ของ A (LTV 90% หรือ 80%) แต่หากกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยที่กู้ร่วมในครั้งนี้เป็นของ B แต่เพียงผู้เดียว จึงถือว่าสัญญาการกู้ร่วมในครั้งนี้ เป็นสัญญาแรกของ B และไม่นับเป็นสัญญาที่ 2 ของ A

– กรณีที่ 2 ผู้กู้ A และ B กู้ร่วมมาก่อน และในครั้งนี้ B มาขอกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (ปรับปรุงเพิ่มเติม)

ในการกู้ร่วมครั้งแรก หาก A มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยแต่เพียงผู้เดียว จะนับสัญญาที่กู้ร่วมเป็นสัญญาแรกของ A โดยไม่นับเป็นสัญญาแรกของ B ดังนั้น ในการกู้เดี่ยวของ B ในครั้งนี้ จะนับเป็นสัญญาแรกของ B แต่หากในการกู้ร่วมครั้งแรก B มีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่อยู่อาศัยดังกล่าวด้วย ก็จะนับสัญญาการกู้เดี่ยวของ B ในครั้งนี้ เป็นสัญญาที่ 2 นั่นเองค่ะ

แต่ในช่วงเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีนักเนื่องจากผลกระทบของโควิดที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงประกาศผ่อนคลายมาตรการ LTV ชั่วคราว เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2564 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ สำหรับสัญญาเงินกู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2564  ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เลยค่ะ

โดยผ่อนคลายมาตรการ LTV ชั่วคราว ดังนี้

  • กำหนดให้เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) เป็น 100% (กู้ได้เต็มมูลค่าหลักประกัน)
    – สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (รวมสินเชื่ออื่นนอกเหนือจากเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและมีที่อยู่อาศัยนั้นเป็นหลักประกันหรือสินเชื่อ Top-up แล้ว) ทั้ง 2 กรณี
    (1) บ้านราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 2 เป็นต้นไป
    (2) บ้านราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 1 เป็นต้นไป

ตัวอย่าง ซื้อบ้านหลังแรกราคา 15 ล้านบาท เดิมจะสามารถกู้ได้สูงสุด 90% และจะต้องวางเงินดาวน์ 1.5 ล้านบาท (10%) แต่มาตรการใหม่ สามารถกู้ได้สูงสุดถึง 15 ล้านบาท โดยไม่ต้องวางเงินดาวน์ค่ะ

เราสรุปมาให้ดูกันง่ายๆ ที่ตารางด้านล่างนี้เลย

ที่มา :

มาตรการ ลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนอง สำหรับที่อยู่อาศัยมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท ออกมาเพื่อช่วยลดภาระรายจ่ายผู้ซื้อบ้าน จากเดิมจะต้องเตรียมค่าธรรมเนียมให้กรมที่ดิน ดังนี้

  • ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ อัตรา 2% ของราคาประเมิน
  • ค่าธรรมเนียมการจดจำนอง อัตรา 1% ของราคาประเมิน

วันที่ 21 ธันวาคม 2564 กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัยหรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารที่อยู่อาศัยหรืออาคารพาณิชย์ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

  • ลดค่าธรรมเนียมการโอนเหลือเพียง 0.01%

  • ลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองเหลือ 0.01%

สำหรับอาคารที่อยู่อาศัยหรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารที่อยู่อาศัยหรืออาคารพาณิชย์ หรือห้องชุด ราคาซื้อขายและราคาประเมินไม่เกิน 3 ล้านบาท

  • สำหรับผู้ซื้อซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย
  • มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

ตัวอย่าง บ้านราคา 3 ล้านบาท

  • ค่าธรรมเนียมการโอนจากปกติต้องจ่าย 2% เป็นเงิน 60,000 บาท เมื่อลดเหลือ 0.01% จะจ่ายเพียง 300 บาท
  • การลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ จากปกติต้องจ่าย 1% เป็นเงิน 30,000 บาท เมื่อลดเหลือ 0.01% จะจ่ายเพียง 300 บาท

เรียกได้ว่าประหยัดไปได้เยอะเลยทีเดียวค่ะ สำหรับบ้านราคา 3 ล้านบาท จากที่ต้องเตรียมเงินไว้ 90,000 บาท เหลือเพียง 600 บาท เท่านั้นเอง (เหลือเพียงล้านละ 200 บาท จากเดิมล้านละ 30,000 บาท)

ที่มา :

กรมธนารักษ์ได้เลื่อนการประกาศใช้ราคาประเมินรอบใหม่ออกไปอีก 1 ปี ค่ะ โดยเตรียมการประกาศราคาใหม่วันที่ 1 มกราคม 2566 ทำให้ราคาประเมินที่ใช้ในปี 2565 ยังเป็นราคาประเมินในรอบปี 2559 – 2562 อยู่ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และธุรกิจ เนื่องจากราคาประเมินส่งผลต่อภาษี ค่าธรรมเนียมต่างๆที่เราได้กล่าวไว้ในหัวข้อลดค่าธรรมเนียมการโอน – จดจำนองด้วยค่ะ

ข้อดีของการเลื่อนประกาศใช้ราคาประเมินรอบใหม่

การใช้ราคาประเมินเดิมนั้นจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ จากการถือครองที่ดินและทรัพย์สินลงไปได้ค่ะ แม้ว่าราคาตลาดจริงๆ อาจจะขยับไปพอสมควรแล้ว แต่กฎหมายด้านภาษีต่างๆ ยังคงยึดเกณฑ์ราคาเดิม ทำให้เราไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้นนั่นเองค่ะ

ราคาประเมินที่ดินใช้เป็นราคามาตรฐานในการคิดภาษีและค่าธรรมเนียม ตามหัวข้อดังนี้

  • คิดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน และค่าธรรมเนียมการจดจำนอง จากราคาประเมิน อย่างที่เรากล่าวไปข้างต้น
  • คิดภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ด้วยราคาประเมิน
  • ภาษีธุรกิจเฉพาะหรืออากรแสตมป์ ใช้ราคาขายในการคิดภาษีหรือค่าอากร แต่ต้องไม่ต่ำกว่าราคาประเมินที่ดิน
  • ใช้ราคาประเมินในการ คิดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นภาระที่ผู้ครอบครองต้องจ่ายทุกปี

ซึ่งทั้งหมดนี้หมายความว่ายิ่งราคาประเมินที่ดินเพิ่มสูงขึ้น ภาษีที่จะต้องจ่ายก็จะสูงตามไปด้วยค่ะ เมื่อประกาศราคาประเมินรอบใหม่ในปี 2566 นั้น คาดการณ์ได้ว่าราคาที่ดินเฉลี่ยจะสูงขึ้นเฉลี่ย 10% ของราคาประเมินเดิมเลยทีเดียว

เช็คราคาประเมินที่ดินปัจจุบันได้ที่ : ระบบเผยแพร่ราคาประเมินทรัพย์สิน กรมธนารักษ์

ที่มา : 

ตามกันมาติดๆ ด้วยอัตราค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ที่คิดจากราคาประเมิน) เมื่อปี 2563 ครม. ได้มีมติเห็นชอบให้มีการออกพระราชกฤษฎีกาปรับลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ของอัตราเดิมไปแล้วนะคะ สำหรับการจัดเก็บภาษีในปี 2563 และปี 2564

แต่การปรับลดภาษีที่ว่านี้ทำให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดรายได้ที่จะนำมาใช้พัฒนาท้องถิ่นประมาณ 40,000 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกว่า 35,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้ปี 2565 นี้จะไม่ได้ลด 90% แล้วค่ะ แต่จะคงอัตราภาษีเดิมปี 2563 – 2564 ไว้ เพื่อให้ผู้เสียภาษีทุกคนได้มีระยะเวลาในการปรับตัวสำหรับการเสียภาษีในอัตราที่แท้จริงค่ะ โดยมีมาตรการบรรเทาภาษี ดังนี้

  • ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาและใช้ประกอบเกษตรกรรมได้รับยกเว้นภาษี
  • ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา และมีชื่อในทะเบียนบ้านในวันที่ 1 มกราคม จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท
  • กรณีที่เป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง ก็จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีสำหรับสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท ดังนั้น ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท หรือไม่เกิน 10 ล้านบาท แล้วแต่กรณี จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่สำหรับบุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท หรือเกิน 10 ล้านบาท แล้วแต่กรณี จะเสียภาษีเต็มอัตราเฉพาะส่วนที่เกินเท่านั้น* (ดูตารางด้านล่าง)
  • การผ่อนปรนภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีกรณีมีภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สูงกว่าค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ที่เคยชำระในปี 2562 จะบรรเทาภาระให้โดยเสียภาษีเท่ากับค่าภาษีปี 2562 บวกกับร้อยละ 75 ของส่วนต่างค่าภาษีปี 2565 กับปี 2562

ซึ่งเราสรุปเป็นตารางอัตราภาษีให้เข้าใจง่ายๆ ได้ด้านล่างนี้เลยค่ะ

ตัวอย่าง

– เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านหลังแรก ราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี
– เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านหลังแรก ราคา 80 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.05% เท่ากับ 40,000 บาท ( 80 ล้าน x 0.05%)
– เป็นเจ้าของที่ดินรกร้างราคาประเมิน 20 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.30% เท่ากับ 60,000 บาท ( 20 ล้าน x 0.30%)

ส่วนถ้าใครมีที่ดินอยู่แล้วไม่ได้ทำประโยชน์ ทำให้เสียภาษีแพง เราไปดูหลักเกณฑ์ขั้นต่ำในการใช้ประโยชน์ที่ดินทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์กันได้ที่นี่เลยค่ะ >> ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม

ที่มา :

ดอกเบี้ยนโยบายคืออะไร ?

ดอกเบี้ยนโยบาย คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายกำหนดโดยธนาคารกลาง เป็นอัตราดอกเบี้ยที่สำคัญที่สุดที่จะส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจ ส่งผลต่อเงินฝาก และดอกเบี้ยเงินกู้ของเรา ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 0.5%

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5%

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 30 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมามีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปีค่ะ แม้ว่าสำหรับคนที่ฝากเงินในธนาคารอาจจะดูน้อยไปหน่อย แต่ในขณะเดียวก็ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้นั้นไม่สูงมากนักด้วยค่ะ

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน

ที่มา :

การเคหะแห่งชาติ ได้ออกมาตรการช่วยคนอยากมีบ้าน ในระยะที่ 2 เริ่มต้นตั้งแต่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 – 30 กันยายน 2565 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจจากโควิดที่ผ่านมา ทำให้การเคหะแห่งชาติ ได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้าใหม่ 3 มาตรการให้สามารถเป็นเจ้าของบ้านการเคหะแห่งชาติได้ง่ายขึ้น ดังนี้

1 อัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อ ราคาพิเศษ

ผู้ซื้อที่รายได้น้อยสามารถยื่นขอสินเชื่อจากโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย

  • กรณีบุคคลทั่วไป อัตราดอกเบี้ย
    – ปีที่ 1 – 4 อัตราดอกเบี้ย 1.5%
    – ปีที่ 5 – 7 อัตราดอกเบี้ย 2.5%
    – ปีที่ 8 – 40 อัตราดอกเบี้ย 3.75%
  • กรณีกลุ่มเปราะบางหรือบุตรที่ซื้อบ้านในโครงการที่พ่อแม่อาศัยอยู่ โดยระยะเวลาการทำสัญญาเช่าซื้อ 40 ปี เมื่อรวมกับอายุผู้เช่าซื้อต้องไม่เกิน 70 ปี (อายุไม่เกิน 30 ปี) อัตราดอกเบี้ย
    – ปีที่ 1 – 5 อัตราดอกเบี้ย 1.5%
    – ปีที่ 6 – 7 อัตราดอกเบี้ย 2.5%
    – ปีที่ 8 – 40 อัตราดอกเบี้ย 3.75%

ส่วนกรณีลูกค้าที่ไม่ผ่านการพิจารณาสินเชื่อจากธนาคาร ยังสามารถยื่นขอสินเชื่อทำสัญญาเช่าซื้อกับการเคหะแห่งชาติได้โดยตรง (แต่ต้องขอกับธนาคารก่อนเป็นอันดับแรกนะ ได้ที่ธนาคารออมสินและธอส. เลย)

  • กรณีบุคคลทั่วไป อัตราดอกเบี้ย
    – ปีที่ 1  อัตราดอกเบี้ย 4%
    – ปีอื่นๆ ยังไม่ทราบข้อมูล
  • กรณีกลุ่มเปราะบางหรือบุตรที่ซื้อบ้านในโครงการที่พ่อแม่อาศัยอยู่ โดยระยะเวลาการทำสัญญาเช่าซื้อ 30 ปี เมื่อรวมกับอายุผู้เช่าซื้อต้องไม่เกิน 70 ปี (อายุไม่เกิน 40 ปี) อัตราดอกเบี้ย
    – ปีที่ 1 – 2 อัตราดอกเบี้ย 4%
    -ปีอื่นๆ ยังไม่ทราบข้อมูล

โดยการเคหะแห่งชาติได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเช่าซื้อโครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยฯ ดังนี้

1. ผู้เช่าซื้อต้องมีสัญชาติไทย
2. ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง (ซื้อบ้านหลังแรก)
3. รายได้ครัวเรือนไม่เกิน 41,600 บาท/เดือน/ครัวเรือน
4. อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 60 ปี (กรณีอายุเกิน 60 ปี ต้องหาผู้เช่าซื้อร่วม และจะพิจารณาแแยกเป็นเคสๆ)
5. ทำสัญญาเช่าซื้อร่วมได้ไม่เกิน 2 คนต่อสัญญา
6. เป็นผู้มีอาชีพและรายได้ที่สามารถตรวจสอบได้และสอดคล้องกับหลักฐานที่นำมาแสดง 7. ให้ความยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลเครดิต โดยผู้ที่สนใจสามารถยื่นขอสินเชื่อเช่าซื้อและตอบแบบสัมภาษณ์การขอเช่าซื้อ พร้อมแสดงเอกสารและหลักฐานครบถ้วนได้ที่สำนักงานใหญ่ การเคหะแห่งชาติ และสำนักงานเคหะนครหลวง หรือ สำนักงานเคหะจังหวัดในพื้นที่

โครงการที่เข้าร่วมโครงการ

  • โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุดที่ 1 เชิงสังคมที่มีราคาไม่เกิน 1,000,000 บาท
  • โครงการเคหะชุมชน (เดิม)
  • โครงการบ้านเอื้ออาทร ยกเว้น โครงการบ้านเอื้ออาทรสวนพลูพัฒนา, โครงการบ้านเอื้ออาทรรัฐเอื้อราษฎร์กองทัพเรือ, โครงการบ้านเอื้ออาทรพัทลุง

เลือกดูบ้านได้ที่ : การเคหะแห่งชาติ

2 บ้านราคาพิเศษ

ลดราคาขายโครงการบ้านเอื้ออาทร 56 โครงการ โปรโมชั่นราคาพิเศษหน่วยละ 250,000 – 520,000 บาท กรณีลูกค้าไม่ผ่านสินเชื่อธนาคารสามารถเข้าร่วมมาตรการที่ 1 อัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อพิเศษ หรือหากไม่ประสงค์ยื่นขอสินเชื่อธนาคาร สามารถทำเช่าซื้อกับการเคหะแห่งชาติโดยตรง ได้ทันทีในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ฟรีค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ สำหรับลูกค้าที่โอนกรรมสิทธิ์ภายใน 60 วัน นับจากวันทำสัญญา

3 เช่าราคาพิเศษ

มาตรการนี้จะเปิดให้เช่าราคาพิเศษ 2 ต่อ จำนวน 88 โครงการ ประกอบด้วย โครงการบ้านเอื้ออาทร 83 โครงการ และโครงการเคหะชุมชน 5 โครงการ

  • อัตราค่าเช่าราคาพิเศษ เริ่มต้น 999 – 1,200 บาทต่อเดือนในปีแรก (รวมค่าส่วนกลาง)

ที่มา :

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ หวังว่ามาตรการต่างๆ จะช่วยให้ทุกท่านตัดสินใจซื้อบ้านกันได้ง่ายขึ้น ถ้าใครมีข้อสงสัยอะไร หรืออยากทราบข้อมูลอสังหาฯ เรื่องไหน สามารถคอมเมนต์บอกกันที่ด้านล่างนี้เลย อย่าลืมติดกับบทความ รีวิวโครงการใหม่ๆ จาก ThinkofLiving ได้ทุกวันที่หน้าเว็บไซต์ และ Facebook ชื่อ  ThinkofLiving.Com กันนะคะ : )