“ขยะ” ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเรา ขนาดที่ถ้าจัดอันดับในการกำจัดขยะโดยการทิ้งลงทะเล บ้านเราถือว่ามีการทิ้งขยะลงทะเลมากสุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลกทีเดียว และแค่ในกรุงเทพมหานคร เราร่วมกันสร้างขยะมากถึงวันละ 8,500 ตัน ใช้งบมหาศาลถึงวันละ 16 ล้านบาท ในการจัดการ ซึ่งถ้านับรวมใน 1 ปี ต้องใช้งบประมาณมากกว่า 7,000 ล้านบาท/ปี (ขอบคุณข้อมูลจาก echo)
นี่เป็นเพียงการพิจารณาในแง่มิติด้านการเงินและงบประมาณที่ใช้ในการกำจัดขยะ แต่หากวิเคราะห์ถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ทั่วโลกล้วนได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างทวีคูณจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น การเกิดพายุ ไฟป่า ฝุ่น PM2.5 แผ่นดินไหวร้ายแรงที่ไต้หวัน แผ่นดินที่เป็นเขตร้อนเช่น “ดูไบ “ ต้องเผชิญกับน้ำท่วมแสนสาหัส ประเทศ “ซาอุดิอาระเบีย“ ต้องเจอกับพายุหิมะ แคนาดาเจอไฟป่าที่บ้าคลั่ง หรือแม้แต่เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดจากสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ตกหลุมอากาศอย่างแรง เพราะอุณหภูมิในบรรยากาศของโลกที่สูงขึ้นทำให้ลมกรดหรือ Jet Stream
ซึ่งเป็นลมที่ใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมการบินแปรปรวน ฯลฯ ในส่วนของบ้านเรา ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และนักวิชาการ ต่างก็ออกมาเตือนอยู่บ่อยครั้ง ถึงภาวะโลกร้อนและปรากฏการณ์ทั้ง ”เอลนีโญ“ ที่ทำให้อุณหภูมิในช่วงที่ผ่านมา ร้อนจัดทะลุ 50 องศา ส่งผลต่อสุขภาพ รวมถึงฝนตกน้อย น้ำน้อย ผลิตผลทางการเกษตรไม่ดีพอ เกิดภาวะแล้งจัดถึงเดือนพฤษภาคม และจะแปรเข้าสู่ภาวะ ”ลานีญา“ อย่างรวดเร็ว ที่จะทำให้เกิดฝนตกหนัก ปริมาณน้ำมากเกินความต้องการในเดือนมิถุนายน และเดือนสิงหาคมจะเข้าสู่ภาวะลานีญาเต็มรูปแบบ จนอาจเสี่ยงน้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ซึ่งเราน่าจะจดจำได้ถึงการเกิดน้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศในปี 2554 ที่รุนแรง และคร่าชีวิตผู้คนไปกับสายน้ำ
ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเรดดิง (University of Reading) Richard Allan ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตอนนี้ทั่วโลกต้องเร่งจัดการกับก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วน ก่อนที่อุณหภูมิเฉลี่ยโลกจะสูงกว่า 2°C เป็นการถาวร สร้างผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตที่ไม่อาจคาดเดาได้ บ้านเราเองก็เคยพบกับภัยธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งทรัพย์สินและผู้คนที่ล้มตาย จากเหตุสึนามิในปี 2547 ซึ่งยังคงสร้างความเจ็บปวดต่อครอบครัวผู้สูญเสีย
นอกจากนี้ น้ำที่ละลายจากขั้วโลกทั้งเหนือและใต้ จะทำให้หลายเมืองจมอยู่ใต้มหาสมุทร ซึ่งกรุงเทพมหานครก็เป็น 1 ใน 6 เมืองนั้น โดยคาดว่าภายในปี 2030 พื้นที่ 40% ของกรุงเทพฯ จะถูกน้ำท่วมเสียหาย ทั้งจากฝนที่ตกหนัก และน้ำหนักของตึกระฟ้าที่ยิ่งส่งผลให้เมืองกรุงเทพฯ ต้องจมลงในอัตรา 0.8 นิ้วต่อปี น้ำทะเลจะเป็นกรด ส่งผลต่อระบบนิเวศในทะเล พืชและสัตว์ทั้งบนบกและทะเลจะสูญพันธุ์ เกิดโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ สิ่งมีชีวิตเล็กๆ เช่น ยุง แมลง ไวรัส และเชื้อโรคต่างๆ ทำให้วงจรชีวิตของมันสั้นลงแต่แพร่ขยายพันธุ์เร็วขึ้น และอาจปรับตัววิวัฒนาการได้เร็วขึ้นด้วย
และจากการจัดลำดับความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk Index Score) ของ Germanwatch ได้ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเปราะบาง และมีความเสี่ยงสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ อยู่ในลำดับที่ 13 กรมอุตุนิยมวิทยาสรุปว่าตั้งแต่ปี 2016 – 2035 ประเทศไทยมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น โดยในวันที่อากาศร้อนสุดขีดจะเกิดบ่อยขึ้น ฤดูร้อนยาวนานขึ้น ส่วนฤดูหนาวมีระยะเวลาสั้นลง เกิดพายุหรือฝนตกอย่างหนัก และลมพัดรุนแรงขึ้นในแต่ละครั้ง เกิดภัยแล้งเพิ่มมากขึ้น
“Zero Waste” หรือ การมุ่งเน้นไปที่การลดปริมาณขยะที่สังคมสร้างขึ้น การลดปริมาณการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็น การใช้ซ้ำ และการคัดแยกเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ ก่อนที่จะนำขยะเหล่านั้นไปกำจัด เพื่อทำให้ของเหลือใช้หรือขยะเหล่านั้นเกิดประโยชน์สูงสุด จึงเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่เราทุกคนคงอยากให้เกิดขึ้น ซึ่งในฐานะผู้บริหารจัดการชุมชนกว่า 250 โครงการ ทั้งบ้านและคอนโดมิเนียม จึงมีแนวคิดในการบริหารจัดการขยะให้สามารถเข้าถึงปลายทางของการ Recycle หรือ Up-Cycling อย่างแท้จริง จึงได้เกิดความร่วมมือกับบริษัท “Recycle Day Thailand” ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมการแยกขยะ เพื่อการรับผิดชอบต่อสังคม ในการนำส่งขยะกำพร้า ขยะที่ไม่สามารถแปรรูปได้ในอดีต เช่น ถุงพลาสติกใส่อาหาร และขยะรีไซเคิลจากชุมชนต่างๆ เข้าสู่กระบวนการ Recycle อย่างแท้จริงได้ ในขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือจากลูกบ้านกว่า 2 แสนครอบครัว ในการร่วมกันคัดแยกขยะ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งตลอดมา เด็กๆได้เรียนรู้และสนุกสนานในการคัดแยกขยะผ่านถังขยะแยกประเภทในพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งมีป้ายบอกประเภทขยะอย่างชัดเจน ทั้งขยะที่เป็นกระดาษ พลาสติก ขวดแก้ว หรือแม้แต่ขยะพิษ ในขณะที่แต่ละชั้นของอาคารชุด ก็จะมีห้องเก็บขยะแบบแยกประเภท เป็นขยะเปียกและขยะแห้ง โดยมีแม่บ้านประจำโครงการทำหน้าที่จัดเก็บทุกวันในช่วงเย็น ด้วยถุงขยะที่มีความแน่นหนา เพื่อไม่ให้หกเลอะเทอะ และรวบรวมไว้ที่จุดพักขยะของโครงการ เพื่อเจ้าหน้าที่ของทาง กทม. จะสามารถจัดเก็บได้อย่างสะดวกและถูกสุขลักษณะ
นอกจากนี้ ก็มีวิธีง่ายๆที่เราสามารถมีส่วนร่วมได้ทันที ภายใต้หลักการ 1A3R เพื่อจัดการ Zero Waste คือ 1) Avoid หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งที่ก่อให้เกิดขยะเพิ่ม ลดปริมาณการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็นลง เช่น หลีกเลี่ยงการใช้ถุงพลาสติก แก้วพลาสติก หรือของที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง 2) Reduce ลดการใช้ทรัพยากรที่ก่อให้เกิดขยะ หรือให้เหลือเศษขยะน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น ใช้กล่องบรรจุอาหารแทนการใช้กล่องโฟม ลดการใช้กระดาษ (paperless)3) Reuse นำของที่ยังใช้ได้กลับมาใช้ใหม่ เช่น การใช้กระดาษสองหน้า เก็บบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกมาใช้ใหม่ พกถุงผ้าหรือกระบอกน้ำส่วนตัวไปซื้อของ 4) Recycle โดยแยกขยะให้ถูกต้องตามประเภทของวัสดุ เช่น แก้ว กระดาษ โลหะ พลาสติก ขยะอันตราย เพื่อการจัดการขยะที่ปลายทางอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
”เพื่อให้ขยะฝังกลบมีจำนวนเหลือน้อยที่สุด เราใช้กระบวนการคิดในลักษณะ
🔸 Refuse ปฏิเสธที่จะรับสิ่งของที่อาจทำให้เกิดขยะในครัวเรือน (รวมถึง Restrict คือจำกัดการใช้วัสดุต่างๆ)
🔸 Reduce ลดปริมาณขยะให้เหลือน้อยที่สุด (รวมถึง Redesign คือ การออกแบบให้ใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด และ Remove คือ การนำทรัพยากรและกระบวนการที่ไม่จำเป็นออกไป)
🔸 Reuse คือ การนำมาใช้ซ้ำ (รวมถึง Repair การซ่อม, Rebuilt การสร้างซ้ำ, Refurbish การตกแต่งใหม่ และ Resold การนำไปขายอีกครั้ง)
🔸 Recycle
🔸Rot (หรือ Decompose) คือ ฝังกลบเป็นวิธีสุดท้าย
ตั้งแต่ การออกแบบ ก่อสร้าง และใช้อาคาร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อาคารที่จะมีขยะจากการใช้งานเกิดขึ้นตลอดอายุการใช้งานของอาคารนััน) ในการขับเคลื่อน
โดยสิ่งที่บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN ให้ความสำคัญ คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) ปีละ 2.5% ตามแนวทางสากลและประเทศไทยที่ตั้งเป้าหมายการเป็น Carbon Neutrality ภายในปี 2030 และ Net-Carbon Emmission ภายในปี 2065 โดยเอา Zero Waste เป็นหนึ่งในแนวทางและกระบวนการ
สำหรับการจัดการ Waste ในชุมชนนั้น คือ “การจัดการขยะ“ โดยสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนในการรู้จักและจำแนกขยะ ยิ่งจำแนกได้มาก ยิ่งทำให้นำขยะนั้นไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น และขยะนั้นจะได้นำกลับไปใช้ใหม่ในรูปแบบอื่นๆ จึงทำให้ลดขยะที่หมุนเวียนในระบบไปโดยปริยาย
ปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด หรือ LPP ได้ทดลองการบริหารจัดการขยะ ภายใต้หลักการ 1A3R ในโครงการต้นแบบและสามารถคัดแยกขยะเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 13% จากเฉลี่ย 5-6% ในทุกๆ ปีที่ผ่านมา
ในปี 2567 นี้ LPP ได้ร่วมกับคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดและชุมชนต่างๆ ขยายผลสู่กว่า 100 โครงการ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถบริหารจัดการขยะให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ประมาณ 15-20%”
กว่า 30 ปี ของการให้ความรู้เรื่องขยะและการแยกประเภท ผ่านการลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรม คิดว่าแนวคิด ”Zero Waste” ได้เข้าไปอยู่ในใจหลายๆคนแล้ว และตอนนี้เราผ่านสถานการณ์โควิดที่จำเป็นต้องใช้ภาชนะ ถุง รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ แบบ “ต้องทิ้ง” จำเป็นต้องสิ้นเปลืองมาแล้ว เรามารวมใจกันอีกครั้งในการสานฝันทำขยะให้เป็นศูนย์กันนะคะ เพื่อโลกที่สวยงามและปลอดภัยค่ะ