แม้ว่าทุกวันนี้ยังไม่มีใครออกมาเปิดเผยถึงความชัดเจนในการประมูล “ที่ดิน 25 ไร่ของสถานทูตอังกฤษ” แต่สมรภูมิอสังหาริมทรัพย์ใจกลางเมืองก็ยังระอุอย่างต่อเนื่อง ? ล่าสุดกลุ่มเซ็นทรัลที่เขาว่ากันว่าน่าจะเป็นผู้ชนะในการประมูล ก็โนสนโนแคร์ ?  ปล่อยเรื่อง ?️โครงการใหม่มูลค่าหลายหมื่นล้านที่ร่วมทุนกับทางดุสิตธานี ออกมาชิงพื้นที่สื่อให้ลืมๆเรื่องสถานทูตไปก่อน ?

ส่วนคู่ชิงอย่าง TCC Group ก็ไม่ใช่ย่อยนะคะ เตรียมปัดฝุ่นลุยพัฒนาที่ดินใจกลางเมืองที่ยังค้างคาอีกหลายแปลง งานนี้สนุกแน่ ซึ่งทาง Think of Living ก็ได้ลองรวบรวมพอร์ตอสังหาริมทรัพย์ของคู่ชิงสถานทูตอังกฤษนัดสุดท้าย อย่าง Central Group กับ TCC Group มาให้ดูเรียกน้ำย่อยกันก่อน

TCC Group ก่อตั้งโดย “เจริญ สิริวัฒนภักดี” 

เจ้าสัวเจริญ ครอบครองทั้งอาณาจักร TCC Group และ Thai Berverage ร่ำรวยเป็นลำดับที่ 2 ในไทยจากการจัดลำดับของ Forbes มีทรัพย์สินรวมๆ แล้วประมาณ $ 13.6 Billion

คุณเจริญเกิดและเติบโตในย่านธุรกิจทรงวาด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของไชน่าทาวน์ ในครอบครัวชาวจีนโดยเริ่มค้าขายตั้งแต่ยังหนุ่ม ต่อมาได้สมรสกับคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ร่วมกันพัฒนากิจการจากเล็กสู่ใหญ่ จากการขายสินค้าให้โรงงานสุรา พัฒนามาสู่การเป็นเจ้าของโรงงานสุรา จนได้รับสัมปทานโรงงานสุราทั้งหมดเมื่อเข้าสู่ยุคการค้าสุราเสรี ได้ประมูลโรงกลั่นสุราในนามกลุ่มแสงโสม และได้ขยายกิจการไปสู่ธุรกิจ อุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง รวมทั้งหมด 5 กลุ่มธุรกิจได้แก่

  1. อาหารและเครื่องดื่ม
  2. อุตสาหกรรมและการค้า
  3. ประกันและการเงิน
  4. เกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
  5. อสังหาริมทรัพย์

อสังหาริมทรัพย์ในเครือเจ้าสัวเจริญ

เมื่อ 30 ปีที่แล้ว คุณเจริญเริ่มลงทุนในที่ดิน แตกหน่อเป็นสายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายใต้ TCC Land ที่ครบวงจรทั้งโรงแรม ห้าง บ้านและคอนโด  อาศัยกลยุทธ์หลักเข้าซื้อกิจการและปรับปรุง เริ่มต้นจากโรงแรมเครืออิมพีเรียลจากอากร ฮุนตระกุล  จัดตั้งเป็น TCC Hotel Group ขยายการลงทุนต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ปัจจุบันมีโรงแรมและรีสอร์ทที่อยู่ภายใต้การบริหารถึง 51 แห่งใน 11 ประเทศ มีจำนวนห้องพักรวมทั้งสิ้นกว่า 10,000 ห้อง

Image 1/2

ด้านธุรกิจศูนย์การค้า มี TCC Asset World  เป็นผู้บุกเบิกศูนย์การค้าไอทีต้นแบบแห่งแรกของไทย ที่พันธุ์ทิพย์ พลาซ่าประตูน้ำ  นอกจากนั้นยังเป็นผู้พลิกฟื้นโครงการการริมแม่น้ำอย่าง Asiatique Riverfront ให้กลายเป็นศูนย์การค้าท่องเที่ยวไลฟสไตล์ครบวงจรที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ

ในปี 2550 TCC Land เดินหน้าขยายอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์อย่างจริงจัง ด้วยการเข้าซื้อกิจการของ บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันได้ขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์พัฒนาเพื่อขายในนาม Grand Unity Development และโครงการ Park Ventures Ecoplex อาคารสำนักงานและโรงแรมสุดหรูหัวมุมถ.วิทยุ ต่อมาในปี 2555 ยูนิเวนเจอร์ ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) หรือ Golden Land และเดินหน้าพัฒนาโครงการแนวราบกว่า 50 โครงการ

แต่เส้นทางการเทคโอเวอร์ยังไม่จบแค่นั้น ถัดมาอีก 2 ปี Golden Land ก็ได้ประกาศซื้อหุ้น 100% ใน บริษัท กรุงเทพบ้านและที่ดิน จำกัด (มหาชน) หรือ KLAND ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาคอนโดและบ้านเดี่ยวระดับ Hi-End เพื่อต่อจิ๊กซอว์ในตลาดอสังหาฯให้ครบถ้วน

ที่ดินในมืออีกหลายหมื่นล้านที่รอการพัฒนา

Credit: Posttoday

จากบทความผ่าอาณาจักรอสังหาฯ เจริญ สิริวัฒภักดีของนสพ. ฐานเศรษฐกิจ ในพื้นที่กทม. ยังมีที่ดินอีกหลายแปลงใหญ่ มูลค่าหลายหมื่นล้านที่รอการพัฒนา  อาทิ

  • โรงเรียนเตรียมทหารเก่า หรือสวนลุมไนท์เก่า จำนวน 90 กว่าไร่
  • ตลาดสามย่านเก่า จำนวน 13 ไร่ อยู่ระหว่างพัฒนาเป็น Mixed-Use มูลค่า 8,500 ลบ. มีชื่อว่าสามย่าน มิตรทาวน์
  • เวิ้งนาครเกษม ซื้อจากตระกูลบริพัตร จำนวน 14 ไร่ มูลค่ากว่า 4,500 ลบ. มีแผนจะพัฒนาเป็นห้างและโรงแรม
  • ห้างบางลำภู สาขาบางโพ จำนวน 9 ไร่ ที่ซื้อจากตระกูลหวังเชิดชูกุล ทีแรกใช้เงิน 200 ลบ. ปรับเป็นเดอะ มาร์เก็ตบางโพศูนย์การค้าขนาดเล็ก แต่เมื่อปลายปีที่แล้วได้ตัดสินใจรื้อทิ้ง พร้อมทุ่มเงินอีก 4,000 ลบ. เตรียมพัฒนาเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ “Gateway บางซื่อ

Central Group ก่อตั้งโดย “เตียง จิราธิวัฒน์”

ย้อนไปในปี 2540 “เตียง จิราธิวัฒน์และสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ลูกชายคนโต เริ่มก่อตั้งห้างเซ็นทรัลแห่งแรก เป็นร้านค้าตึกแถวครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้นขนาด 1 คูหา ปากตรอกกัปตันบุช (ปัจจุบันคือซอยเจริญกรุง 30) ย่านสี่พระยา จำหน่ายหนังสือ รวมทั้ง เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า และ เครื่องสำอาง ทั้งสินค้าในประเทศและสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยเซ็นทรัลเป็นกิจการใหม่ ที่สานต่อจากกิจการร้านชำ เข่งเซ่งหลี ย่านบางขุนเทียน ของเตียง

เซ็นทรัล ลาดหญ้า

ในปี 2500 เตียง ได้ร่วมทุนกับบุตรชายทั้งสามคน อันได้แก่ สัมฤทธิ์ วันชัย และ สุทธิพร เปิดทำการห้างสรรพสินค้าเต็มรูปแบบที่ย่านวังบูรพาภิรมย์ โดยใช้ชื่อว่า เซ็นทรัล วังบูรพา ต่อมาจึงขยายสาขาสู่ย่านเยาวราช แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงเปิดสาขาใหม่ที่ย่านราชประสงค์ในปี 2507 สาขาสีลมในปี 2511 และ 2516 เปิดห้างสรรพสินค้าที่ชิดลม ต่อมา 2524 ได้ขยายกิจการตั้งสาขาลาดหญ้า ในฝั่งธนบุรี และเปิดสาขาลาดพร้าว ในปี 2526 ซึ่งสมบูรณ์และใหญ่ที่สุดในบรรดาห้างสรรพสินค้าไทยในสมัยนั้น ในปี 2535 ได้ขยายสาขาไปต่างจังหวัด ที่อุทยานการค้ากาดสวนแก้ว เชียงใหม่ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ ขยายสาขาไปสู่ต่างจังหวัด

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 กลุ่มเซ็นทรัลได้จัดผังการบริหารองค์กรใหม่ทั้งหมด เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหาร และจัดการทรัพยากรต่างๆ ทำได้ดีมากขึ้น ซึ่งภายหลังจากที่มีการจัดผังองค์กรใหม่ทั้งหมด กลุ่มเซ็นทรัล ได้ประกาศรวมหน่วยธุรกิจ และแยกหน่วยธุรกิจออกเป็นทั้งหมด 8 กลุ่ม ดังต่อไปนี้

  1. ศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์
  2. ห้างสรรพสินค้า
  3. สินค้าอุปโภค บริโภค
  4. วัสดุก่อสร้าง สินค้าตกแต่งบ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้า
  5. อุปกรณ์เครื่องเขียน หนังสือ และออนไลน์
  6. ธุรกิจร้านอาหาร
  7. บริการและจัดการสินค้านำเข้า
  8. โรงแรมและรีสอร์ท

Central Embassy และความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับสถานทูตอังกฤษ

ถ้ายังจำกันได้ เมื่อปี 2549 กลุ่มเซ็นทรัลฯ เคยทุบสถิติซื้อที่ดินราคาแพงที่สุด 950,000 บาท/ ตร.วา จากสถานทูตอังกฤษ เพื่อสร้าง Flagship Project อย่าง Central Embassy โดยมีมูลค่าลงทุนสูงถึง 18,000 ลบ. และคิดเป็นเงินลงทุนต่อตารางเมตรสูงสุดในประวัติศาสตร์รีเทลไทย (อ้างอิงจาก Marketeer)

ปัจจุบัน Central Embassy เปิดตัวมาได้เกือบ 4 ปีแล้ว และก็น่าจะถึงเวลาที่กลุ่มเซ็นทรัลจะต้องสานต่อให้โครงการนี้ครบวงจรด้วยการร่วมประมูลที่ดินอีก 25 ไร่ที่เหลือ ถ้าทำสำเร็จที่ดินแปลงดังกล่าวจะเชื่อมระหว่าง Central Chidlom กับ Central Embassy ให้เป็นอาณาจักรเดียวกัน  โดยวางลงทุนเม็ดเงินเบื้องต้นไว้ที่ 20,000 ลบ. ซึ่งสูงสุดในรอบ 70 ปีตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทฯมา

มีหลายฝั่งเชื่อว่า กลุ่มเซ็นทรัลฯ น่าจะเป็นผู้ชนะในการหยิบชิ้นปลามัน เนื่องจากมีข่าวลือแว่วๆ ว่าเตรียมผนึกกำลังกับ Hong Kong Land กลุ่มทุนอสังหาฯรายใหญ่จากฮ่องกงมาช่วยกันดันโครงการนี้ว่าแต่จะจริงเท็จแค่ไหนคงต้องอดใจรอกันอีกซักนิด

จับตาสองกลุ่ม เปิดศึก Mixed-Use ใจกลางเมือง

90 ไร่ โรงเรียนเตรียมทหารเก่า โดย TCC Group วันนี้ยังไม่ชัดเจน

โรงเรียนเตรียมทหารปี 2511 (Credit: noom11)

ชนะประมูลตั้งแต่ปี 2556 ทุกวันนี้ที่ดินรร.เตรียมทหารเก่า  ซึ่ง TCC Group ประมูลได้จากสำนักงานทรัพย์สินฯ ระยะเวลาการเช่า 30 ปี + 30 ปี ทุกวันนี้ก็ยังไม่คืบหน้า โดยก่อนหน้านั้นได้เปิดเผยว่าเตรียมงบลงทุนหลายหมื่นล้าน เล็งปั้นคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ 62 ไร่ ประกอบด้วย ศูนย์วัฒนธรรม โรงแรม สำนักงาน ศูนย์การค้า  และพื้นที่เปิดโล่ง โครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่สีเขียวอีกกว่า 30 ไร่

ขณะนี้รื้อโรงเรียนเตรียมทหารแล้ว รอเอกชนเสนอแบบให้พิจารณา รูปแบบจะสอดคล้องกับทีโออาร์เป็นมิกซ์ยูส มีที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า สำนักงาน ศูนย์การศึกษา และศูนย์วัฒนธรรม คาดว่าจะใช้เงินลงทุนเกิน 5 หมื่นล้านบาท ตามสัญญาจะให้เวลาก่อสร้าง 7 ปี ส่วนการพัฒนาก็ยังไม่แน่จะพัฒนาเองทั้งหมดหรือร่วมทุนกับรายอื่น และในสัญญาก็เปิดกว้าง

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ-

กลุ่มเซ็นทรัลไม่รอดีลสถานทูต ผนึกเครือดุสิตธานี ต่อสัญญาเช่าที่อีก 30+30 ปี ปั้นแลนด์มาร์คใหม่

ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน เมื่อจู่ๆเซ็นทรัลฯ จะจับมือกับดุสิตธานี เตรียมรื้อโรงแรมเก่าที่อยู่คู่ย่านนี้มาเกือบ 50 ปี พลิกโฉมเป็น Mixed-Use ครบวงจร จัดเต็มทั้งที่พัก ที่อยู่ สำนักงาน และศูนย์การค้า มูลค่าโครงการรวม 36,700 ลบ. ถือเป็นการท้าชนที่ดินโรงเรียนเตรียมทหารเก่าอย่างจัง!

ครั้งหนึ่งรร.ดุสิตธานีเคยครองแชมป์ตึกที่สูงที่สุดในกทม. ก่อนที่จะถูกล้มด้วยตึกโชคชัย  ตลอด 48 ปีที่ผ่านมา เวลานี้ถึงยุคเปลี่ยนผ่าน แต่ในยุค 4.0 นั่น การอยู่รอดในธุรกิจทุกแขนงต้องอาศัยพันธมิตร และ CPN ก็ #มาทันเวลาพอดี แม้ว่าจะใช้เวลาเจรจากันนานถึง 1 ปี!

ทั้งคู่มีความตั้งใจเดียวกัน ที่จะพัฒนา Mixed-Use ที่มีอัตลักษณ์ สร้างประโยชน์ในหลาย ๆ มิติ เช่น มีพื้นที่สีเขียวภายใต้แนวคิดนาขั้นบันได ให้สอดรับกับสวนสาธารณะลุมพินีฝั่งตรงข้าม โดยในส่วนของโรงแรมการออกแบบจะยังคงยอดแหลมของอาคารที่เป็นสัญลักษณ์ของดุสิตธานีไว้

“ส่วนพื้นที่ศูนย์การค้าจะเป็นลักษณะของไลฟ์สไตล์มอลล์แบบโลว์ไรส์ 2-3ชั้น และเป็นส่วนที่ลงไปชั้นใต้ดิน 2 ชั้น และชั้นจอดรถใต้ดินอีก 2 ชั้น โดยเรามีความตั้งใจอยากเชื่อมต่อส่วนของศูนย์การค้าใต้ดินเข้ากับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน เป็นสิ่งที่เราได้หารือกัน หากทางบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการ MRT เห็นชอบ ก็อาจจะมีการเชื่อมต่อให้คนเดินทางได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ต่อเนื่องไปถึงสีลมคอมเพล็กซ์ เป็นการซินเนอร์ยี่กับพื้นที่ตรงนี้ทั้งหมด เหมือนในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐ ญี่ปุ่น และฮ่องกง ที่ศูนย์การค้ามีการเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า นี่คือความฝันที่เราอยากเห็น

-‘ศุภจี สุธรรมพันธุ์’ ให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจ ใน “เปิดเบื้องลึก ดุสิตธานี ผนึก CPN ลงทุนโปรเจ็กต์ใหญ่หัวถนนสีลมพระราม 4″

ปัจจุบันเซ็นทรัลฯ และดุสิตธานีอยู่ระหว่างพิจารณาแผนพัฒนาโครงการ โดยจะมีการประชุมผู้ถือหุ้นปลายเดือนเมษ. นี้ หากผู้ถือหุ้นเห็นชอบ บริษัทก็จะเริ่มทุบอาคารเก่าโอลิมเปีย ไทยประกัน และตึกแถวส่วนที่เป็นที่ดินที่ได้ทำสัญญาเช่าเพิ่ม เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับก่อสร้างโรงแรมใหม่ให้เร็วที่สุด โดยโรงแรมใหม่จะมีห้องพักประมาณ 300 ห้อง ส่วนรร.ดุสิตธานีจะยังให้บริการจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2561 แล้วค่อยเริ่มรื้อถอนในเดือนกรกฎาคม และจะหยุดบริการไปประมาณ 3 ปี

เป็นไงล่ะปีนี้ นี่แค่ครึ่งปีที่ดินใจกลางเมืองก็จะลุกเป็นไฟอยู่แล้วววว ? ส่วนจะเป็นหมอกหรือควันนั้นต้องดูกันยาวววๆ ?

 Source of Information:

  • ประชาชาติธุรกิจ
  • ฐานเศรษฐกิจ
  • Wikipedia