“ลุมพินี วิสดอม” ระบุ “พลังงาน-สิ่งแวดล้อม-สุขภาพ” เป็นสินค้าที่มาแรงในปี 2566 เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 และสถานการณ์ที่ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด(LWS) บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) กล่าวถึงแนวโน้มการพัฒนาสินค้าและบริการในปี 2566 ว่า หลังการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส สายพันธ์ใหม 2019 (COVID-19) และสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นผลจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ในปี 2565 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ที่ให้ความสำคัญกับการซื้อที่อยู่อาศัยที่คำนึงถึง การประหยัดพลังงาน คุณภาพของสิ่งแวดล้อม และสร้างเสริมสุขอนามัยที่ดี ซึ่งกลายเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นมาตรฐานใหม่(New Standard) ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ซื้อที่เปลี่ยนแปลงไป

“ในอดีตเมื่อพูดถึง ที่อยู่อาศัยที่ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างเสริมสุขอนามัยที่ดี เป็นเรื่องที่ดูเหมือนไกลตัว ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยไม่ได้ให้ความสำคัญหรือให้ความสำคัญน้อยเพราะคิดวาต้องจ่ายแพงขึ้น ยังไม่จำเป็น แต่หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ปี 2563 ผู้ซื้อเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม และสุขอนามัย กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย รวมไปถึงงานบริการ และในปี 2565 เมื่อเกิดสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครน ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น ค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ซื้อบ้านเริ่มให้ความสำคัญกับการซื้อที่อยู่อาศัยที่ประหยัดพลังงาน และพลังงานทางเลือกมากขึ้น เป็นโจทย์สำหรับผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่ต้องพัฒนาที่อยู่อาศัยและงานบริการที่ประหยัดพลังงาน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และสุขอนามัยที่ดี ที่เป็นสิ่งที่ต้องทำและเราจะเห็นมากขึ้นในปี 2566” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว

จากแนวโน้มดังกล่าว นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า ทำให้ในปี 2566 ผู้ประกอบการอสังหาฯ จะปรับกลยุทธ์ธุรกิจในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและงานบริการหลังการขายที่ให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็นหลักนี้ กล่าวคือ

ด้านพลังงาน:

ผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะพัฒนาโครงการที่คำนึงถึงการประหยัดพลังงานมากขึ้น ทั้งการพประหยัดพลังงานผ่านการออกแบบโดยคำนึงถึงทิศทางการวางผังอาคารที่เรียกว่า Passive Design และการประหยัดพลังงานในรูปแบบของการใช้อุปกรณ์ หรือ Active Design เช่น การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าภายในบ้าน รวมไปถึงการเลือกใช้วัสดุในการก่อสร้างที่ช่วยในการประหยัดพลังงาน รวมไปถึงการติดตั้งระบบระบายความร้อนบนหลังคาร่วมกับการติดฉนวนกันความร้อน การติดตั้ง EV Charger สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า การติดตั้ง Energy Monitoring สำหรับเช็คการใช้พลังงานภายในบ้าน เป็นต้น อุปกรณ์เหล่านี้กำลังจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของที่อยู่อาศัยในปี 2566 และในอนาคต

ด้านสิ่งแวดล้อม:

จากงานวิจัยของ Baramizi Lab พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยชอบที่จะอยู่กับธรรมชาติถึง 85.2% จากงานวิจัยดังกล่าว ทำให้การออกแบบที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่สีเขียวจะสามารถตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ซื้อได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้การพัฒนาโครงการโดยคำนึงถึงการเลือกใช้วัสดุที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เช่น การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) หรือเป็นวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ในการสร้างพื้นที่ส่วนกลางเช่น ถนน ทางเท้าในโครงการ รวมไปถึงการพัฒนางานบริการในการการแยกขยะ และการจัดเก็บ เพื่อให้เป็นชุมชนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในปี 2566

ด้านสุขภาพ:

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปี 2563 ถึงปัจจุบัน การพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งอาคารชุดและบ้านพักอาศัย ผู้ประกอบการอสังหาฯ จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาโดยคำนึงถึงสุขอนามัยที่ดีในการอยู่อาศัย ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานสำหรับที่อยู่อาศัยในทุกระดับ

นอกจากการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่คำนึงถึงสุขอนามัยที่ดีแล้ว สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการอยู่อาศัยเช่นเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ต่างๆ ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องของสุขอนามัยที่ดีเช่นกัน เช่น งานบริการตกแต่งบ้านแบบ Fit-in จาก 10DK ที่มีแนวคิดการให้บริการด้านการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ลดการใช้สารที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้สารเคลือบ และสีแบบสารระเหยต่ำ (Low VOCs) ซึ่งปลอดภัยต่อผู้พักอาศัย นอกจากนี้ยังมีการเลือกวัสดุจากธรรมชาติเป็นหลัก ใช้ผลิตภัณฑ์จากชุมชน และไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง รวมถึงการสร้างรายได้ให้ชุมชนโดยการให้กลุ่มโดยใช้ช่างฝีมือชุมชน โดยบริการดังกล่าวจะมีค่าบริการเริ่มต้นที่ประมาณ 200,000 บาท ซึ่งอนาคตหากเกิดการแข่งขันทางธุรกิจที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมากขึ้นจะส่งผลให้ราคาการให้บริการในตลาดต่ำลงจนทำให้ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการที่เกี่ยวกับบ้านที่ดีต่อสุขภาพคนอยู่ได้มากขึ้น

นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องของ “การประหยัดพลังงาน สิ่งแวดล้อม และสุขอนามัย” ไม่ได้เป็นแนวโน้มเฉพาะการพัฒนาที่อยู่อาศัยในปี2566 เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในทุกระดับ ทั้งการพัฒนาโรงแรม อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนต์ โกดังสินค้า หรือโรงงานอุตสาหกรรม ก็มีการนำมาตรฐานการก่อสร้างและการบริหารจัดการโดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลักข้างต้น โดยการนำเกณฑ์ต่างๆ มาเป็นดัชนีชี้วัดในการก่อสร้างและการปรับปรุงอาคาร เช่น มาตรฐานอาคารของ Leadership in Energy and Environment Design หรือ LEED , WELL Building Standard คือมาตรฐานทางสุขภาวะระดับสากลที่ประเมินอาคารภายใต้แนวคิดสำคัญ 7 ข้อ ได้แก่ อากาศ น้ำ สาธารณูปโภค แสง การออกกำลังกาย สภาพแวดล้อม และจิตใจ, EDGE คือระบบอาคารพักอาศัยและอาคารพาณิชย์สีเขียว ที่ถูกสร้างขึ้นโดยบริษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) เพื่อส่งเสริมโครงการอาคารเขียวในประเทศที่กำลังพัฒนาโดยใช้ระบบการให้คะแนนที่เรียบง่าย เป็นต้น

จากผลสำรวจของ Statista บริษัทวิจัยจากประเทศเยอรมัน ได้มีการทำสำรวจในปี 2560 พบว่า นักท่องเที่ยวกว่า 19% ยอมเสียค่าบริการเพิ่มมากขึ้นสำหรับการเข้าพักโรงแรมที่ได้รับรอง Green Hotel ในช่วงวันหยุดพักผ่อน ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีโครงการของภาครัฐที่ได้มีการทำโครงการโรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Hotel) โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม มีการเริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน และมีการเข้าร่วมของภาคธุรกิจโรงแรมอย่างต่อเนื่องทุกปีโดยโครงการโรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะมีแนวคิด และเป้าหมาย คือ

  1. ส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ
  2. มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี
  3. ยกระดับมาตรฐานการบริการ
  4. ขยายเครือข่ายโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับมาตรการการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานภาครัฐ และการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  5. เตรียมความพร้อมสู่การประเมินมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในระดับสากล อันจะทำให้เกิดการพัฒนา และส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศอย่างยั่งยืน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป

“จากแนวโน้มและทิศทางดังกล่าว เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งโครงการที่อยู่อาศัย อาคารในเชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรม ที่จะพัฒนาโดยคำนึงถึง 3 ประเด็นหลักคือ เรื่องของ พลังงาน สิ่งแวดล้อม และ สุขอนามัยที่ดี ซึ่งไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ที่จะเกิดแต่กำลังเป็นมาตรฐานใหม่ในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในทุกระดับ ในปี 2566 โดยมีเป้าหมายที่จะนำไปสู่การพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองแห่งความยั่งยืน (Sustainable city) ในปี 2573 ตามที่ประเทศไทยและประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติรวม 193 ประเทศ ได้ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 เพื่อสร้างโลกที่ดี และยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว