เกร็ดความรู้ เคล็ดลับการจัดการเรื่องสำคัญต่างๆ ที่จำเป็นต้องรู้ หากคุณคิดจะปล่อยเช่าคอนโดให้กับชาวต่างชาติ

เชื่อว่าหลายคนกำลังมองหาโอกาสในการลงทุนเพื่อให้สินทรัพย์ที่มีอยู่งอกเงยขึ้นมา การนำคอนโดที่มีอยู่ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่นิยมในหมู่นักลงทุน และหลายคนก็นิยมที่จะเลือกลงทุนคอนโดในทำเลที่ Expat หรือชาวต่างชาตินิยมเช่า เพราะคิดว่าจะได้เรทของการปล่อยเช่าที่สูงกว่าเรทของคนไทยด้วยกันเอง

แต่ก็ยังมีข้อกำหนดและสิ่งที่คุณต้องรู้ในกรณีที่คุณจะปล่อยเช่าคอนโดให้กับชาวต่างชาติ เพราะเจ้าของห้องจะต้องแจ้งข้อมูลชาวต่างชาติที่เช่าห้องพักให้กับที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองหรือสถานีตำรวจในท้องที่ ซึ่งบุคคลต่างด้าว หรือชาวต่างชาติที่เช่านั้นจะต้อง “ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว” ในช่วงเวลาที่ย้ายเข้าพักอาศัยด้วย รวมถึงเข้ามาประกอบอาชีพ หรือทำธุรกิจภายในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

โดยพระราชบัญญัติ คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ว่า เจ้าของบ้าน หรือผู้จัดการโรงแรมซึ่งรับคนต่างด้าวเข้าพักอาศัย จะต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่ที่ เคหสถาน หรือโรงแรมนั้นอยู่ “ภายใน 24 ชั่วโมง” นับแต่เวลาที่คนต่างด้าวเข้าพักอาศัย แต่ถ้าท้องที่นั้นๆ ไม่มีที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองตั้งอยู่ ให้แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ณ สถานีตำรวจในท้องที่นั้นๆ

สิ่งสำคัญที่ต้องทราบอีกอย่างคือ ชาวต่างชาตินั้นจะต้อง “ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว” ในช่วงเวลาที่ย้ายเข้าพักอาศัยด้วย ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีที่เราจะขอหลักฐานการได้รับการอยู่อาศัยในประเทศไทยอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ก็เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความปลอดภัยของทรัพย์สินของเจ้าของห้องเองด้วย

ถ้าเจ้าของห้องรายใดไม่ปฏิบัติตาม กฎหมายได้กำหนดให้มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ในกรณีธุรกิจโรงแรม ผู้จัดการโรงแรมจำเป็นต้องแจ้งที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองเช่นกัน หากไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 10,000 บาท สำหรับวิธีการแจ้ง ให้แจ้งตามแบบ ตม. 30 โดยสามารถดาวน์โหลดได้ ที่นี่

สถานที่รับแจ้ง

  • หากทรัพย์สินตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้แจ้งที่กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี ถนนแจ้งวัฒนะ ซอย 7 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
  • ในกรณีที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด ให้แจ้ง ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดในเขตพื้นที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ส่วนวิธีการแจ้ง นอกจากจะแจ้งที่สถานที่ดังกล่าวแล้ว สามารถแจ้งทางไปรษณีย์ หรือ แจ้งทางอินเทอร์เน็ตผ่าน เว็บไซต์สำนักงานตรวจเข้าเมือง

โดยผู้ปล่อยเช่าต้องแจ้งข้อมูลและยื่นเอกสารเกี่ยวกับผู้เช่า (ชาวต่างชาติ) ให้เจ้าหน้าที่นิติบุคคลเก็บไว้เป็นหลักฐานเสมอ ตามระเบียบของนิติบุคคลอาคารชุดที่ 002/2555 ว่าด้วยเรื่อง การใช้ประโยชน์ห้องชุดสำหรับบริการเช่าพักอาศัย

เอกสารประกอบการเช่าพักอาศัยกรณีปล่อยเช่าให้ชาวต่างชาติ มีดังนี้

  1. สำเนาบัตรประจำตัวคนต่างด้าว หรือหนังสือเดินทาง และสำเนาใบสำคัญแสดงถิ่นที่อยู่ ของผู้เช่าพักอาศัยและบริวารในห้องชุด
  2. สำเนาใบรับการแจ้งรับคนต่างด้าวเข้าพักอาศัย ที่กองตรวจคนเข้าเมืองรับแจ้งเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่นิติบุคคลสามารถตรวจสอบได้กรณีผู้เช่ามีพฤติกรรมน่าสงสัย
  3. กรณีผู้เช่าเป็นบุคคลต่างด้าว จะเข้าพักได้ไม่เกิน 3 คนต่อหนึ่งห้องชุด ทั้งนี้เจ้าของร่วมต้องส่งข้อมูลผู้เช่าที่เป็นปัจจุบันให้ฝ่ายจัดการฯ และเพื่อความสงบปลอดภัยฝ่ายจัดการฯ จะทำการตรวจสอบเป็นประจำทุก 6 เดือน

ทีนี้เรามาดูกันว่า 5 ขั้นตอนของการปล่อยเช่าให้กับชาวต่างชาติ นั้นมีอะไรกันบ้าง ทั้งตัวเจ้าของห้อง ผู้เช่า และนิติบุคคล มีบทบาทและหน้าที่อย่างไร

เจ้าของบ้าน/ห้องชุด

  1. ตกลงและสรุปรายละเอียดของสัญญาเช่า
  2. เก็บเอกสารสำเนาแสดงตัวของผู้เช่า เช่น สำเนาบัตรประจำตัวคนต่างด้าว หรือหนังสือเดินทาง เป็นต้น
  3. แจ้งข้อมูลผู้เช่าให้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ทราบภายใน 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่เข้าพักอาศัย
  4. แจ้งข้อมูลและนำใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ซึ่งออกโดย สนง.ตรวจคนเข้าเมืองยื่นให้กับ สำนักงานนิติบุคคลฯ เก็บไว้เพื่อเป็นหลักฐาน
  5. ส่งข้อมูลผู้เช่าที่เป็นปัจจุบันให้ฝ่ายจัดการฯ นิติบุคคล เมื่อมีการตรวจสอบทุก 6 เดือน

ผู้เช่า

  1. ตกลงทำสัญญากับผู้ให้เช่า
  2. เก็บเอกสารการทำสัญญาเช่า
  3. นำสำเนาแสดงตัวของผู้เช่า เช่น สำเนาบัตรประจำตัวคนต่างด้าว หรือหนังสือเดินทาง ให้กับผู้ให้เช่า
  4. รับกุญแจห้อง จากผู้ให้เช่าหรือนิติบุคคล

นิติบุคคล

  1. รับทราบเรื่องการปล่อยเช่า
  2. เก็บสำเนาใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ซึ่งออกโดย สนง.ตรวจคนเข้าเมืองยื่นให้กับ สำนักงานนิติบุคคลฯ เก็บไว้เพื่อเป็นหลักฐาน
  3. ฝ่ายจัดการฯ จะทำการตรวจสอบข้อมูลผู้เช่าเป็นประจำทุก 6 เดือน