แผนที่รถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปี 2019
เปิดแผนที่โครงการรถไฟฟ้าครบทุกสี ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีโครงการอะไรบ้าง การก่อสร้างคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว แต่ละสายจะได้ใช้เมื่อไหร่ มาอัพเดทกัน
รถไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหารถติดของคนเมือง รวมทั้งอำนวยความสะดวกในเรื่องการเดินทาง ขณะที่ภาคธุรกิจเองก็จะได้รับผลบวก เพราะรถไฟฟ้าจะนำความเจริญเข้าสู่พื้นที่ต่าง ๆ โดยปัจจุบันเรามีรถไฟฟ้าเปิดให้บริการแล้ว 5 สาย ซึ่งยังมีอีกหลายโครงการกำลังก่อสร้าง และเตรียมเปิดให้บริการในเร็ว ๆ นี้ ขณะเดียวกันก็ยังมีการศึกษาเส้นทางรถไฟฟ้าใหม่ ๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่
เพราะตามแผนแล้วจะมีรถไฟฟ้าหลายสายเลยที่จะเปิดให้ได้ใช้งานกันในปีนี้… แผนที่ที่ว่านี้คือเราจะมาอัพเดตข้อมูลรถไฟฟ้าพร้อมกับแผนที่ BTS (บีทีเอส), MRT (เอ็มอาร์ที) และรวมถึง Airport Rail Link ด้วย ที่ทางรัฐเตรียมเปิดทั้งหมด 13 เส้นทาง ว่าจะมีสถานีไหนที่เปิดให้บริการกันไปแล้วบ้าง และในสถานีที่ยังสร้างไม่เสร็จแต่ละเส้นมีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว มาอัพเดตข้อมูลกันเลยค่ะ
1. รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม (ธรรมศาสตร์-มหาชัย)
เส้นทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเดินทางเข้า-ออกกรุงเทพ และปริมณฑล จากทางทิศเหนือ (ดอนเมือง รังสิต ปทุมธานี อยุธยา) และทิศใต้ (บางบอน มหาชัย) ที่น่าสนใจคือ รถไฟฟ้าช่วง บางซื่อ-รังสิต ถูกออกแบบมาเป็นเส้นขนานเดียวกับ Airport Rail Link และมีการเดินรถแยก 2 แบบ คือ การเดินรถธรรมดา (จอดทุกสถานี) และ การเดินรถด่วน (จอดบางสถานี) โดยจะเปิดให้ใช้งานกันประมาณช่วงกลางปี 2564 นะคะ
แนะนำโครงการน่าอยู่ตามรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม
2. รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน (ศาลายา-หัวหมาก)
โครงการเชื่อมโยงฝั่งพระนครและธนบุรี หรือชานเมืองทางทิศตะวันออก(หัวลำโพง-ชุมทางฉะเชิงเทรา) – ชานเมืองทิศตะวันตก (หัวลำโพง-นครปฐม) ปัจจุบัน โครงการส่วนแรก (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ พ.ศ. 2554 แต่ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้เนื่องจากต้องรอการก่อสร้างอาคารสถานีกลางบางซื่อ ที่จะเปิดให้บริการได้ในช่วงกลางปี 2564
แนะนำโครงการน่าอยู่ตามรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน
3. Airport Rail Link – แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ)
ช่วงแรกเป็นการเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ-พญาไท ต่อมาภายหลังได้มีการศึกษาในการเปลี่ยนระบบรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง เพื่อให้เชื่อมโยงกัน โดยมีสถานีพญาไทเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังศูนย์กลางสายสีเขียวที่เป็นแหล่งช้อปปิ้งและบันเทิง ตามกำหนดเดิมจะเปิดในปี 2571 ส่วนการเชื่อมต่อสนามบินสุวรรณภูมิไปยังสนามบินอู่ตะเภาจะมีกำหนดเสร็จในปี 2569 ยังไงก็ลองติดตามข้อมูลกันอีกทีนะคะ
แนะนำโครงการน่าอยู่ตามเส้นทาง Airport Rail Link
4. รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้มส่วนต่อขยาย (สายสุขุมวิท)
เป็นการเชื่อมต่อพื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพเข้ากับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเดิมที่เราคุ้นเคยกันดี โดยเป็นแนวเส้นทางที่เริ่มตั้งแต่ BTS หมอชิตเดิม ขึ้นไปทางเหนือบนเส้นถนนพหลโยธินยาวไปเลย จนไปถึงแถวธูปะเตมีย์ แล้วจะเบี่ยงขวาไปโผล่แถวสถานีตำรวจภูธรคูคต และสิ้นสุดที่นี่ / แถมในอนาคตยังมีแผนส่วนต่อขยายจากคูคตไปจนถึงลำลูกกาเลย
แนะนำโครงการน่าอยู่ตามรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม
5. รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อนส่วนต่อขยาย (สายสีลม)
รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อนหรือรถไฟฟ้าBTS สายสีลม เป็นระบบรถไฟฟ้าที่มีโครงสร้างเป็นทางยกระดับเหนือพื้นดินตลอดโครงการ และเป็นเส้นทางที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ฝั่งธนบุรีได้เป็นสายแรกของประเทศไทย โดยมีแนวเส้นทางเป็นแนวตะวันตก-ใต้ เน้นขนส่งผู้โดยสารจากบริเวณใจกลางฝั่งธนบุรีให้เข้าสู่พื้นที่ใจกลางกรุงเทพได้อย่างรวดเร็ว ในอนาคตจะมีแผนพัฒนา 1 สถานีต่อจากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ได้แก่ สถานียศเส และอีก 6 สถานีทางฝั่งบางหว้า ได้แก่ สถานีบางแวก, สถานีบางเชือกหนัง, สถานีบางพรม, สถานีอินทราวาส, สถานีบรมราชชนนี และสิ้นสุดสถานีตลิ่งชัน ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณานะคะ
แนะนำโครงการน่าอยู่ตามรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน
6. รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (รถไฟใต้ดินบางซื่อ )
เป็นรถไฟฟ้าที่เปิดมาให้ใช้ตั้งแต่แรกๆ ปัจจุบันเปิดใช้งานครบวงจรทั้งหมดแล้ว โดยส่วนต่อขยายแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ “บางซื่อ-ท่าพระ” และ “หัวลำโพง-เตาปูน” เส้นทางการเดินรถจะวิ่งวนครอบคลุมพื้นที่ใจกลางเมืองที่สำคัญๆ เชื่อมฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนครเข้าด้วยกัน เน้นอำนวยความสะดวกให้กับคนในเมือง ถือว่าเป็นรถไฟฟ้าสายเดียวในประเทศไทยในตอนนี้ที่วิ่งเป็นวงกลม
แนะนำโครงการน่าอยู่ตามรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
7.รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ)
จุดมุ่งหมายหลักของรถไฟฟ้าสายนี้คือ ต้องการเชื่อมต่อการเดินทางจากทางทิศตะวันออก (บางใหญ่ นนทบุรี) ที่เปิดใช้งานกันไปแล้ว และทิศใต้ (ราษฎร์บูรณะ-พระประแดง) ซึ่งเส้นทางนี้จะหันคนละทิศกับเส้นสีแดงเข้ม โดยส่วนแรกเตาปูน – บางใหญ่ก็เปิดให้ใช้งานกันไปแล้ว ส่วนเตาปูน – ราษฎร์บูรณะยังอยู่ในขั้นตอนของการประมูลหาผู้รับสัมปทานก่อสร้างโครงการค่ะ
แนะนำโครงการน่าอยู่ตามรถไฟฟ้าสายสีม่วง
8.รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – แยกร่มเกล้า)
เป็นโครงการที่เชื่อมกรุงเทพฝั่งตะวันออกกับกรุงเทพฝั่งตะวันตกเข้าด้วยกัน โดยเส้นทางจะเชื่อมต่อตั้งแต่มีนบุรี-ตลิ่งชันเลยค่ะ โดยปัจจุบันก่อสร้างช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะเสร็จประมาณปี 2567 ซึ่งจะเป็นระบบรถไฟฟ้าแบบใต้ดินและแบบยกระดับ มีระยะทางประมาณ 22.57 กิโลเมตร และหลังจากนั้นจะเป็นช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการประมูลหาผู้รับสัมปทานก่อสร้างโครงการค่ะ
แนะนำโครงการน่าอยู่ตามรถไฟฟ้าสายสีส้ม
9.รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว – สำโรง)
เป็นสถานีแบบยกระดับ ซึ่งจะมีระดับความสูงแตกต่างกันไป ตามแนวเส้นทางและข้อจำกัดของบริเวณสถานีนั้นๆ โดยจุดมุ่งหมายหลักๆ คือเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรบนถนนลาดพร้าว ที่มีปัญหาการจราจรมาอย่างยาวนาน เป็นลักษณะวงแหวนรอบนอกจากทิศตะวันออกของกรุงเทพ และสิ้นสุดที่จังหวัดสมุทรปราการ คาดว่าจะเปิดให้ใช้บริการกันได้บางส่วนภายในปี 2564 นี้ และจะเสร็จทั้งสายประมาณปลายปี 2565 ค่ะ
แนะนำโครงการน่าอยู่ตามรถไฟฟ้าสายสีเหลือง
10.รถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย – มีนบุรี)
เป็นประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือ Monorail มีลักษณะเป็นโครงสร้างยกระดับตลอดแนวเส้นทาง มีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างเขตมีนบุรีและจังหวัดนนทบุรี โดยเริ่มที่บนถนนรัตนาธิเบศร์ และสิ้นสุดที่แยกร่มเกล้า มีความยาวของแนวเส้นทางทั้งสิ้นประมาณ 34.5 กม. โดยตามแผนคาดว่าจะค่อยๆเปิดจากมีนบุรี – ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะให้เริ่มใช้บริการกันได้ภายในปี 2564 นี้ค่ะ และจะเสร็จทั้งสายประมาณปลายปี 2565
แนะนำโครงการน่าอยู่ตามรถไฟฟ้าสายสีชมพู
11.รถไฟฟ้าสายสีเทา (วัชรพล-ทองหล่อ และ พระโขนง-ท่าพระ)
(วัชรพล-ทองหล่อ และ พระโขนง-ท่าพระ) เป็นโครงการเส้นทางระบบขนส่งมวลชนรองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่เชื่อมต่อภายในกรุงเทพเอง โดยเป็นระบบรถไฟฟ้ายกระดับแบบรางเดี่ยว หรือ Monorail แนวเส้นทางจะแบ่งออกเป็นสองช่วงแยกขาดจากกัน โดยตามแผนคาดว่าจะเปิดประมูลโครงการในระยะแรกได้ปี 2563-2564 และเริ่มก่อสร้างช่วงปี 2564 หรือ 2565 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 ยังไงรอติดตามสรุปแผนพัฒนากันอีกทีนะคะ
12.รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี)
เป็นสายที่เชื่อมต่อเมืองด้านฝั่งแคราย กับฝั่งเกษตร-นวมินทร์ที่มีอัตราการเติบโตสูงเข้าด้วยกันโดยเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือ Monorail มีระยะทางทั้งสิ้น 21 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในช่วงพิจารณาการก่อสร้างโครงการนะคะ
13.รถไฟฟ้าสายสีทอง (กรุงธนบุรี – ประชาธิปก)
เป็นโครงข่ายรูปแบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือ Monorail ในย่านฝั่งธนบุรีสายสั้นๆเพียง 4 สถานี มีจุดประสงค์หลักคือ เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่ศูนย์การค้าไอคอนสยามได้สะดวก โดยนับจากรถไฟฟ้า BTS สายสีลม บริเวณสถานี กรุงธนบุรี แล้วขึ้นเหนือไปตามถนนเจริญนคร ผ่านแยกคลองสาน และไปสิ้นสุดตรงก่อนจะถึงถนนประชาธิปก ระยะทางรวมประมาณ 2.8 กม. ซึ่งปัจจุบันก็สร้างเสร็จเปิดให้ใช้บริการกันไปแล้วเมื่อปลายปี 2020 ที่ผ่านมาสำหรับ 3 สถานีแรก กรุงธนบุรี – เจริญนคร – คลองสาน ส่วนอีกสถานีสุดท้ายอย่าง “ประชาธิปก” ก็รอแผนกันอีกหน่อยนะคะ
รถไฟฟ้า MRT เปิดกี่โมง?
รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ได้แก่ รถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายแรก) รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง และเตาปูน-ท่าพระ ให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น. ความถี่ปกติไม่เกิน 10 นาที/ขบวน ส่วนช่วงเวลาเร่งด่วน (06.00 – 09.00 น. และ 16.30-19.30 น.) จะใช้เวลาอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 5 นาที/ขบวน
รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ได้แก่ รถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม หรือสถานีคลองบางไผ่-สถานีเตาปูน ให้บริการวันจันทร์-ศุกร์ตั้งแต่เวลา 05.30-24.00 น. และให้บริการในวันเสาร์-อาทิตย์ตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น. ความถี่ปกติ 9 นาทีต่อขบวน ส่วนช่วงเวลาเร่งด่วน (วันจันทร์-ศุกร์ 06.30-08.30 น. / 17.00-19.30 น.) จะใช้เวลาอยู่ที่ประมาณ 6 นาที/ขบวน
รถไฟฟ้า BTS เปิดกี่โมง?
- รถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท เปิดให้บริการเวลา 05.15-00.30 น. ความถี่ช่วงเวลาปกติจะมีหลายเวลาเลย ตั้งแต่ 3.35-8.00 นาที/ขบวน ส่วนเวลาเร่งด่วน (7.00-9.00 น. / 16.30 – 20.00 น.) ช่วงระหว่างสถานีหมอชิต – สำโรง ความถี่จะอยู่ที่ประมาณ 2.40 นาที/ขบวน ส่วนช่วงระว่างสถานีสำโรง – เคหะฯ และ หมอชิต – คูคต ความถี่จะอยู่ที่ประมาณ 5.20 นาที/ขบวน
- รถไฟฟ้า BTS สายสีลม เปิดให้บริการเวลา 05.30-00.30 น. ความถี่ช่วงเวลาปกติจะอยู่ที่ประมาณ 6 นาที/ขบวน (ยกเว้นช่วง 22.00-24.00 น. จะอยู่ที่ 8 นาที/ขบวน) ส่วนช่วงเวลาเร่งด่วน (7.00-9.00 น. / 17.00 – 20.00 น.) จะอยู่ที่ประมาณ 3.45 นาที/ขบวน
- รถไฟฟ้า BTS สายสีทอง เปิดให้บริการเวลา 6.00-24.00 น. ความถี่ช่วงเวลาปกติจะอยู่ที่ประมาณ 8 นาที/ขบวน (ยกเว้นช่วง 22.00-24.00 น. จะอยู่ที่ 12 นาที/ขบวน) ส่วนช่วงเวลาเร่งด่วน (7.00-9.00 น. / 17.00 – 20.00 น.) จะอยู่ที่ประมาณ 6 นาที/ขบวน
ค่ารถไฟฟ้า MRT ราคาเท่าไร?
- แบบบัตรโดยสารปกติจะมีอัตราค่าโดยสารที่ 17-42 บาท หากนั่งต่อสายสีม่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ที่ รฟม. ลดราคาจาก 14-42 บาทเหลือเพียง 14-20 บาทตลอดสาย และจะเสียค่าสูงสุด 48 บาท จากเดิม 70 บาท
- สำหรับผู้ถือบัตรโดยสารประเภทเด็ก อายุไม่เกิน 14 ปี (วันเกิดครบรอบ 14 ปี) และมีความสูงระหว่าง 91-120 เซนติเมตร และผู้สูงอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จะได้รับส่วนลด 50%
- ผู้ถือบัตรโดยสารประเภทนักเรียน/นักศึกษา ที่มีอายุเกินวันเกิดครบอายุ 14 ปี แต่ไม่เกินวันเกิดครบ 23 ปี จะได้รับส่วนลด 10% จากอัตราค่าโดยสารใหม่ข้างต้น
ค่ารถไฟฟ้า BTS ราคาเท่าไร?
สำหรับบัตรโดยสารเที่ยวเดียวจะมีราคาอยู่ที่ 16-44 บาท
หมายเหตุ:
– ผู้โดยสารสามารถกดรับบัตรเที่ยวเดียวที่ตู้จำหน่ายตั๋วโดยสาร หรือติดต่อห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร
– บัตรแรบบิท ต้องมีเงินขั้นต่ำภายในบัตร 15 บาท เพื่อเดินทางเข้าส่วนต่อขยาย สำหรับช่วงให้บริการเดินทางฟรี ระบบจะไม่หักเงิน 15 บาท แต่จำเป็นต้องมีสำรองไว้ภายในบัตรโดยสารนั่นเอง
– ราคาข้างต้นเป็นราคาบัตรโดยสารบุคคลทั่วไปเท่านั้น
หวังว่าทุกท่านคงจะได้ประโยชน์กับบทความนี้ไม่มากก็น้อย และหากผิดพลาดประการใดขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ
สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้แล้ววันนี้
ThinkofLiving มี LINE Official Account แล้วนะคะ
ไม่อยากพลาดข้อมูลข่าวสารก็ Add เลย > https://lin.ee/svACOxc