บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สำหรับคนเมือง ที่มุ่งสร้างความแตกต่างด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมดีไซน์เพื่อพื้นที่ใช้สอยที่ไม่จำกัด จัดเวิร์คช้อปเชิงปฏิบัติการพิเศษ “LEAD – INNOVATE – DISRUPT – CHANGE” โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. ไมเคิล เลอเพ็คช์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Sustainable Engineering จาก Stanford มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เป็นวิทยากรและร่วมวางแผนกลยุทธ์ ผสาน 3 แนวทางหลัก ได้แก่ นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ (Product) กระบวนการ (Process) และการบริหารจัดการโครงสร้างองค์กร (Organization) โดยทั้ง 3 ส่วนงานต้องทำงานสอดรับกันสร้างข้อได้เปรียบทางธุรกิจให้แก่องค์กรแบบยั่งยืน พร้อมลงพื้นที่โครงการที่กำลังพัฒนา แชร์ประสบการณ์แบบเจาะลึก วิเคราะห์และวางกลยุทธ์ร่วมกับคณะผู้บริหารและทีมงานเอพี เพื่อความเป็นผู้นำทางธุรกิจอย่างยั่งยืนของเอพี ควบคู่ไปกับการสร้างเพื่อสังคมที่น่าอยู่
คุณอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอพี (ไทยแลนด์) เปิดเผยว่า “ภายใต้กลยุทธ์ ‘AP Think Different’ เราต้องการสร้างความได้เปรียบทางกลยุทธ์ที่จะนำพาองค์กรเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จแบบยั่งยืน วันนี้กระแสของเทคโนโลยีส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อพฤติกรรมทางสังคมอย่างมาก จึงเป็นเหตุผลที่เราเรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจ อย่าง ศาสตราจารย์ ดร. ไมเคิล เลอเพ็คช์ จากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกับทีมงานของเอพี ในการวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจแบบยั่งยืน”
ศาสตราจารย์ ดร. ไมเคิล เลอเพ็คช์ อาจารย์จาก Stanford มหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลก กล่าวว่า “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยมีความน่าสนใจมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจำนวนสิ่งปลูกสร้างที่ส่งมอบให้ลูกค้า กระบวนการก่อสร้าง เทคโนโลยีการออกแบบ และรูปแบบของระบบการก่อสร้าง นวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่แข่งขันสูงและมีความก้าวหน้าอย่างมาก รวมไปถึงจำนวนของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทยซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำตลอดเวลา ในยุคนี้องค์กรจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและความเป็นผู้นำในธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งหาแนวกลยุทธ์ที่จะเท่าทันและก้าวไปก่อนหรือพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทั้งระดับโลก (global change) ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่นเช่นในประเทศไทยเอง”
“สำหรับหลักการที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีปัจจัยหลักอยู่ 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) นั่นคือการพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น นวัตกรรมด้านกระบวนการทำงาน (Process Innovation) วิธีการก่อสร้างเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ใช้ต้นทุนอย่างคุ้มค่า และส่งมอบผลิตภัณฑ์ได้ตรงเวลา นวัตกรรมด้านการบริหารจัดการโครงสร้างองค์กร (Organization Innovation) ปรับเปลี่ยนองค์กรให้สอดคล้องกับกระบวนการองค์กร สมาชิกในองค์กรต้องพร้อมที่จะดำเนินงาน และทำให้กระบวนการการทำงานต่างๆ ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความได้เปรียบขององค์กรในเชิงกลยุทธ์ 3 ปัจจัยนี้ จะต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กัน จึงจะทำให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนเกิดขึ้นได้จริง” ศาสตราจารย์เลอเพ็คช์กล่าว
“อย่างไรก็ตาม นวัตกรรม (Innovation) ที่สำคัญที่สุดคือคนในองค์กร หากสังเกตจะเห็นว่าบริษัทใหญ่ๆ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังและประสบความสำเร็จในระดับโลก จะต้องมี CEO หรือผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ กล้า และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง นอกจากนั้นยังต้องมีทีมงานระดับผู้บริหารที่ตั้งใจที่จะทำงานร่วมกัน ประสานงานกันอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับเอพี (ไทยแลนด์) คุณสมบัติของผู้บริหารและพนักงานนั้นมีพร้อมอยู่แล้วสำหรับการพัฒนาเพื่อความสำเร็จแบบยั่งยืนในอนาคต” ศาสตราจารย์เลอเพ็คช์กล่าว
คุณอนุพงษ์กล่าวเสริมว่า “ผมมีความมั่นใจว่าพนักงานของเอพีทุกคนล้วนแล้วแต่มีศักยภาพ เพราะฉะนั้นแผนต่อไปคือการทำให้พนักงานทุกระดับ และทุกหน่วยงานในองค์กรมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกัน เพื่อที่ในที่สุดแล้วทิศทางการทำงานในองค์กรจะได้มาจากพนักงานโดยแท้จริง ประเด็นสำคัญคือเราจะต้องดึงศักยภาพของแต่ละคนออกมาให้ได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ทุกคนทำงานร่วมกันเป็นทีมและมองไปที่เป้าหมายเดียวกัน สิ่งที่ศาสตราจารย์เลอเพ็คช์จะมาสร้างให้เกิดขึ้นกับเอพี ไม่เพียงแค่สอนครั้งเดียวแล้วจบเท่านั้น แต่จะเริ่มตั้งแต่กระบวนการศึกษาวิจัย และให้ความรู้กับคนของเอพี”
คุณอนุพงษ์ กล่าวสรุปว่า “ในปัจจุบันนี้ เราอยู่ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อน ที่ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแผ่ขยายเป็นวงกว้างต่อประเทศไทยและทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องพร้อมที่จะแข่งขันกับนานาองค์กรทั่วโลก การศึกษาวิจัย และพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ จะช่วยให้พนักงานของเอพีทุกๆ คนพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง (หรือ Disruptive) ที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้องค์กรของเราสามารถแข่งขันได้กับองค์กรต่างๆ รวมถึงก้าวเดินไปถึงจุดหมายที่วางไว้ได้อย่างมั่นคง รวดเร็ว และยั่งยืน ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับประเทศ”