เปิดให้คนต่างชาติซื้อบ้านและที่ดิน

เมื่อคนในอยากออก คนนอก(อาจ)อยากเข้า นโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็น “บ้านหลังที่สอง” ของชาวต่างชาติจึงเริ่มต้นขึ้น …ซึ่งปัจจุบันก็เป็นเวลาเกือบ 1 เดือนแล้ว ที่ได้เริ่มมีการโยนหินถามทางจากรัฐบาลเกี่ยวกับการปลดล็อคให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในไทยได้มากขึ้น

นโยบายหลัก ปลดล็อคให้ต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาในไทย ได้มากขึ้น

  1. ปรับสัดส่วนต่างชาติในการถือครองคอนโดเพิ่มจาก 49% เป็น 70-80% ซึ่งจะทำให้บริษัทที่มีคอนโดค้างสต็อกสามารถเอาไปขายชาวต่างชาติได้มากขึ้น แต่สิทธิ์การโหวตในคอนโดยังคงอยู่ที่ 49%
  2. ปลดล็อกโครงการแนวราบ บ้าน-ทาวน์โฮมระดับราคา 10-15 ลบ. ขึ้นไป ให้สามารถขายชาวต่างชาติได้ แต่จะต้องไม่เกิน 49% ของจำนวนยูนิตในโครงการ
  3. ปรับเพิ่มการเช่าระยะยาวของนักลงทุนต่างชาติจาก 30 ปี เป็น 50 ปี และต่อได้อีก 40 ปี

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเ ได้นำข้อมูลเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ที่สะท้อนภาวะของการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ของคนต่างชาติ (Freehold) และข้อมูลการเช่าที่อยู่อาศัยระยะยาวของคนต่างชาติ (Leasehold) มาสรุปภาวะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้เห็นเงื่อนไขสิ่งที่เกิดขึ้น

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่าในภาพรวมทั้งประเทศการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติในช่วงปี 2561 – 2563 มียอดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด 3 ปีสะสมรวมประมาณ 34,651 หน่วย (มูลค่า 145,577 ลบ.) เฉลี่ยปีละ 11,550 หน่วย (มูลค่า 48,526 ลบ.) และเมื่อพิจารณา 5 จังหวัดที่คนต่างชาติมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดสูงสุดถึง 96.2% ของหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติทั้งประเทศแล้ว พบว่า ภาพรวมสัดส่วนในหน่วยกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติทั้งประเทศ ในช่วงปี 2561 – 2563 มีเพียงประมาณ 9.0% (มูลค่าเท่ากับ 14.7%) และโดยจังหวัดที่มีสัดส่วนสูงสุด คือ ชลบุรี 30.3% รองลงมาคือ เชียงใหม่ 18.5%, ภูเก็ต 17.0%, กรุงเทพมหานคร 7.8% และสมุทรปราการ 6.3% สำหรับจังหวัดอื่นที่ไม่ได้ยกขึ้นมาแสดง มีสัดส่วนในหน่วยกรรมสิทธิ์ห้องชุดน้อยมากอย่างไม่มีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ หากมองสัดส่วนในกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติในมิติของราคาห้องชุด พบว่าคนต่างชาติส่วนใหญ่ 77.6% มีหน่วยที่ซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์ในระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท แต่มีสัดส่วนในหน่วยกรรมสิทธิ์ห้องชุดเพียง 7.7% ของหน่วย โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งประเทศ ขณะที่ห้องชุดในราคาเกินกว่า 5 ล้านบาท ซึ่งมีหน่วยที่ซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์รวมกันเพียง 22.4% กลับมีสัดส่วนในหน่วยกรรมสิทธิ์ห้องชุดสูงกว่า โดยมีประมาณ 20.0% ข้อมูลข้างต้นได้สะท้อนประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น คือ

  1. ในช่วงที่ผ่านมาชาวต่างชาติมีความสนใจที่จะซื้อห้องชุดในบางพื้นที่เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเมืองศูนย์กลางทางภูมิภาค เมืองขนาดใหญ่ และเมืองท่องเที่ยว
  2. ในภาพรวมอัตราส่วนหน่วยกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของคนต่างชาติน่าจะยังต่ำกว่า 49% ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่อาจมีอาคารชุดในบางพื้นที่อาจเป็นที่ต้องการของคนต่างชาติมาก จึงทำให้อัตราส่วนในกรรมสิทธิ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายไม่เพียงพอ
  3. ห้องชุดที่คนต่างชาติซื้อส่วนใหญ่ซื้อในระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่สอดคล้องกับกำลังซื้อของคนไทยส่วนใหญ่ แต่ด้วยห้องชุดประเภทนี้มีอุปทานในตลาดมากจึงทำให้ยังมีสัดส่วนหน่วยกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของคนต่างชาติไม่ถึง 10% ขณะที่ระดับราคาเกินกว่า 5 ล้านบาท มีสัดส่วนประมาณ 20% แต่โดยภาพรวมทุกระดับราคาของห้องชุดยังมีสัดส่วนในหน่วยกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติยังต่ำกว่า 49% ตามที่กฎหมายกำหนด

จากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นทำให้เห็นข้อสังเกตได้ว่า การขยายสัดส่วนในหน่วยกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้กับคนต่างชาติให้สามารถมีสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ได้มากกว่า 49% นั้น อาจจะมีความจำเป็นเพียงในบางพื้นที่เท่านั้น และห้องชุดในระดับราคาที่ควรส่งเสริมให้เพิ่มสัดส่วนในหน่วยกรรมสิทธิ์ให้สูงขึ้นสำหรับคนต่างชาติในการซื้อห้องชุดให้สูงขึ้นควรเป็นห้องชุดระดับราคามากกว่า 5 ล้านบาท เพื่อป้องกันไม่ให้ห้องชุดระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาทถูกซื้อไปโดยคนต่างชาติมากเกินควร นอกจากนี้ หากมีการเพิ่มสัดส่วนในกรรมสิทธิ์ห้องชุดสำหรับคนต่างชาติให้มากกว่า 49% แล้ว ควรคำนึงถึงการใช้ชีวิตของคนไทยในอาคารชุดให้สอดคล้องตามบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมของไทย โดยผ่านการกำหนดสิทธิในการโหวต (Voting Right) ในนิติบุคคลอาคารชุดของเจ้าของร่วมที่ควรให้ชาวต่างชาติให้มีน้อยกว่าของเจ้าของร่วมที่เป็นคนไทย

เปิดโอกาสให้ต่างชาติซื้อบ้าน-ที่ดินในไทย

สำหรับแนวทางเชิงนโยบายในเรื่องการเปิดให้คนต่างชาติสามารถซื้อและมีกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินนั้น ในปัจจุบันยังไม่ปรากฏข้อมูลที่มีนัยสำคัญ เนื่องจากกฎหมายยังคงจำกัดสิทธิของคนต่างชาติในการถือครองกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินอย่างมาก แต่ยังไม่มีข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการว่า คนต่างชาติบางรายมีการใช้ตัวแทน (Nominee) ในการถือครองกรรมสิทธิ์แทน หรือ อาจถือในนามนิติบุคคลที่มีชาวต่างชาติถือหุ้นอยู่

ดังนั้น หากประเทศไทยเปิดโอกาสให้คนต่างชาติเข้ามามีกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินแล้ว ก็คาดว่าน่าจะมีคนต่างชาติที่ต้องการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพอสมควร เนื่องจากราคาบ้านและที่ดินในประเทศไทยยังคงมีราคาต่ำกว่าในหลายประเทศมาก และบางประเทศกรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของรัฐ

ทั้งนี้ อาจต้องพิจารณากำหนดให้คนต่างชาติเข้ามาซื้อและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินในบ้านที่มีราคาสูงกว่า 15 ล้านบาทขึ้นไป เนื่องจากในปัจจุบันผู้ซื้อชาวไทยส่วนใหญ่ประมาณ 90% เป็นบ้านจัดสรรในระดับราคาไม่เกิน 15 ล้านบาท ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบในเรื่องของราคาบ้านปรับตัวขึ้นเร็วเกินไป

นอกจากนี้ควรการกำหนดสิทธิในการโหวต (Voting Right) ของคนต่างชาติในนิติบุคคลบ้านจัดสรรให้มีได้ไม่เกิน 49% เพื่อให้เจ้าของร่วมที่เป็นคนไทยสามารถมีสิทธิในการกำหนดกฎระเบียบ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในชุมชนอาคารชุดให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมตามบริบทของสังคมไทย

สัดส่วนชาวต่างชาติที่ถือครอง Leasehold

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาคนต่างชาติมีรูปแบบการครอบครองที่อยู่อาศัยทั้งอาคารชุดและบ้านและที่ดินในประเทศไทยอีกรูปแบบหนึ่งในการมีสิทธิ์ในการครอบครองที่อยู่อาศัยด้วย การทำสัญญาเช่าระยะยาว (Leasehold) ซึ่งตามกฎหมายที่ดินปัจจุบันกำหนดให้สามารถเช่าได้ไม่เกิน 30 ปี และสามารถต่ออายุได้รอบละ 30 ปี แต่ในทางปฏิบัติมักมีการทำสัญญาต่ออายุไว้เลยอีก 2 รอบ รวมเป็น 90 ปี ซึ่งที่ผ่านมามีคนต่างชาติที่ให้ความสนใจในรูปแบบนี้มีจำนวนไม่มากนัก ดังจะเห็นได้ว่าชาวต่างชาติที่มีการทำสัญญาเช่าระยะยาวในระหว่างปี 2561 – 2563 สะสมรวมทั้งหมด 1,483 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 5,390 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละ 494 หน่วย มูลค่า 1,797 ล้านบาท)

  • คอนโดมิเนียมจำนวน 1,280 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 4,503 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละ 427 หน่วย มูลค่า 1,501 ล้านบาท)
  • บ้านและที่ดิน 203 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 888 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละ 68 หน่วย มูลค่า 296 ล้านบาท)

ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ตลาดการเช่าที่อยู่อาศัยระยะยาวในช่วงที่ผ่านมาจึงมีขนาดเล็กมาก ซึ่งส่วนใหญ่ประมาณ 93.4% อยู่ในเมืองท่องเที่ยว คือ ภูเก็ต 78.8% ชลบุรี 10.3% และเชียงใหม่ 6.3%  นอกจากนี้ สัญชาติของคนต่างชาติที่เข้ามาเช่าระยะยาว ที่โดดเด่นมี 2 สัญชาติ คือ รัสเซีย ที่มีสัดส่วนการเช่าถึง 43.2% ของการเช่าทั้งหมด และ จีน มีสัดส่วนการเช่าถึง 23.5% ของการเช่าของคนต่างชาติทั้งหมด ซึ่งนิยมเช่าห้องชุดมากกว่าประเภทแนวราบ

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ตลาดการเช่าระยะยาวปัจจุบันยังมีขนาดเล็กมาก ซึ่งอาจเป็นผลจากระยะเวลาในการให้เช่ามีเพียง 30 ปี และสามารถต่อคราวละ 30 ปี อาจยังไม่จูงใจให้คนต่างชาติเข้ามาเช่าที่อยู่อาศัยระยะยาวในประเทศไทย ดังนั้น หากขยายเวลาเช่าระยะยาวออกเป็น 50 ปี และต่อได้อีก 40 ปี ก็น่าจะสร้างความมั่นใจในการตัดสินใจของต่างชาติมากขึ้น และถือเป็น Lifetime Tenant หรือ สิทธิ์ในการอยู่อาศัยต้นในชั่วชีวิตของคนเช่า เพราะชาวต่างชาติอาจกังวลว่าการต่อสัญญาอาจมีความไม่แน่นอนในการปรับราคาขึ้นของที่ดิน หรือ การเปลี่ยนแปลเงื่อนไขการเช่า หรือ เจ้าของต้องการใช้ที่ดินในลักษณะอื่น เป็นต้น ฉะนั้น ถ้าชาวต่างชาติสามารถเช่าได้ถึง 90 ปี ด้วยการการทำสัญญา 2 ครั้ง แทนที่จะเป็น 3 ครั้ง เท่ากับสามารถลดความเสี่ยงไปได้ 1 ใน 3

จากข้อมูลต่างๆ ข้างต้น ถ้านโยบายเหล่านี้สามารถทำได้จริง ก็จะเป็นผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างมาก เพราะเป็นนโยบายที่สามารถสร้าง Demand ใหม่ๆ จากต่างประเทศ แต่เนื่องจากกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัยต่างชาติในปัจจุบันยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยเพียงประมาณ 10% ของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยทั้งหมด และยังมีอุปสรรคในการขยายฐานจำนวนลูกค้ากลุ่มนี้ เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ชาวต่างชาติอาจขาดแรงจูงใจในการซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ซึ่งคาดว่านโยบายนี้จะช่วยสร้างแรงซื้อที่อยู่อาศัยของคนต่างชาติ ซึ่งเป็นเหมือนนโยบายเสริมในการช่วยฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยนโยบายเหล่านี้อาจไม่ได้ส่งผลบวกอย่างเป็นรูปธรรมทันที แต่น่าจะส่งผลในเชิง Sentiment และการวางแผนทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการในอนาคตได้อย่างดี

การดำเนินนโยบายเหล่านี้จะต้องชัดเจนในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะแก้ไขด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่างๆ รวมถึงการกำหนดไทม์ไลน์สำหรับดำเนินการให้ชัดเจน โดยปัจจัยที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในความสำเร็จของนโยบายนี้คือการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และสามารถเร่งเปิดประเทศเพื่อรับชาวต่างชาติเข้าประเทศให้เร็วที่สุด เพื่อให้เกิดกิจกรรมทางธุรกิจการค้า การประชุมสัมมนา การจัดนิทรรศการ และการท่องเที่ยว เพื่อให้อสังหาริมทรัพย์ของไทยได้รับสนใจคนต่างชาติดังเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของสิ่งเหล่านี้ในภูมิภาค ASEAN นี้

อย่างไรก็ตาม จากที่ในปัจจุบันคนไทยยังมีความต้องการที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองอยู่มาก การขยายสิทธิ์ในการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยให้แก่คนต่างชาติ ทั้งการเพิ่มอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดให้กับคนต่างชาติ หรือ การอนุญาตให้คนต่างชาติสามารถมีกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดิน หรือ การขยายเวลาเช่าระยะยาวออกเป็น 50 ปี และต่อ 40 ปี นั้น จึงควรจะต้องพิจารณาในจุดที่มีความเหมาะสม โดยอาจพิจารณากำหนดให้มีการขยายสิทธิ์ในการครอบครองที่อยู่อาศัยให้แก่คนต่างชาติในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ศูนย์กลางธุรกิจและพาณิชยกรรม เช่น กรุงเทพฯ EEC เชียงใหม่ และภูเก็ต เป็นต้น และ ที่อยู่อาศัยในระดับราคา เกินกว่า 15 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่มีกระทบน้อยมากต่อผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย

สำหรับคนที่อยากรู้ว่า ราคาอสังหาในต่างประเทศเป็นอย่างไร สามารถเข้าไปหาข้อมูลได้ที่ พาส่องราคาบ้าน 10 ประเทศน่าอยู่ทั่วโลก