สวัสดีค่ะ หลังจากเฝ้ารอการใช้งานรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ-รังสิตมาสักพักใหญ่แล้วและก็เห็นว่าตัวสถานีเอง รางรถไฟฟ้าเอง ก็ดูจะเสร็จครบแล้ว เมื่อไหร่จะพร้อมเปิดสักที ในเดือนนี้มีข่าวคืบหน้ากันแล้วว่าจะพร้อมให้ประชาชนได้ลองใช้งานกันในเดือนมีนาคม 2564 และเปิดใช้จริงปลายปี 2564 ซึ่งก่อนที่จะเริ่มเปิดใช้งานกัน เรามาดูตำแหน่งของสถานีรถไฟฟ้า สายสีแดงบางซื่อ-รังสิตนี้ พร้อมเจาะจุดเด่นทำเลแต่ละสถานีกันค่ะ 🙂


รถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ – รังสิต

รถไฟฟ้าสายสีแดงช่าง บางซื่อ-รังสิตนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากจุดมุ่งหมายหลักคือ ต้องการทำเส้นทางการเดินทางเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนให้เดินทางเข้า-ออกกรุงเทพและปริมณฑล (รังสิต-ปทุมธานี) ให้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการนี้ตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (M-MAP)

เส้นทางนี้ยังออกแบบมาเป็นเส้นขนานเดียวกับ Airport Rail Link และมีการเดินรถแยก 2 แบบ คือ การเดินรถธรรมดา (จอดทุกสถานี) และ การเดินรถด่วน (จอดบางสถานี) ช่วยกระจายคนใช้งานได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอใช้ Airport Rail Link เพียงอย่างเดียว

ซึ่งพูดถึงในเรื่องสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยตามรถไฟฟ้าสายสีแดงนี้ต้องบอกว่าโดยรวมแล้วจะมีบรรยากาศที่แตกต่างจากรถไฟฟ้าในเมืองปัจจุบันที่เราได้ใช้กันอยู่นะคะ ยกตัวอย่าง รถไฟฟ้าสายสีเขียวหลัก และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่เปิดให้ใช้กันอยู่ เพราะเราจะเห็นว่ามีคอนโดมิเนียมมาเปิดในละแวกสถานีเยอะมากเกือบทุกสถานี แต่ในทางกลับกันลักษณะของทำเลในละแวกรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิตนี้จะเป็นบรรยากาศที่ผสมกันระหว่างอาคารสูง (คอนโดมิเนียม) และโครงการแนวราบ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะอิงไปทางโครงการแนวราบเสียด้วยซ้ำ อีกทั้งตัวสถานีกับโครงการเองอาจจะไม่ได้อยู่ใกล้โครงการในระยะที่เดินได้ทั้งหมด เนื่องจากภาพของทำเลเป็นทำเลที่อยู่ชานเมือง ซึ่งรูปแบบของถนนหนทางต่างๆ ก็จะมีขนาดใหญ่เป็น Super Highway บ้าง การสัญจรด้วยการเดินริมฟุตบาธ มีร้านค้าตลอดทางเหมือนในตัวเมืองก็จะไม่ได้มีให้เห็นมากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นแนวชุมชนในซอยใหญ่ต่างๆ เสียมากกว่า
โดยในแต่ละสถานี และแต่ละโซนที่รถไฟฟ้าสายนี้ตัดผ่านไปก็จะแยกย่อยสภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัยต่างกันไปอีก โดยสรุปแล้วเราจะสามารถแบ่งออกเป็น 4 โซนด้วยกัน ได้แก่

1. สถานีกลางบางซื่อ
2. สถานีจตุจักร, วัดเสมียนนารี, บางเขน
3. สถานีทุ่งสองห้อง, หลักสี่, การเคหะ
4. สถานีดอนเมือง, หลักหก, รังสิต


1.สถานีกลางบางซื่อ

สำหรับสถานีบางซื่อนี้ต้องขอยกมาอธิบายเดี่ยว เนื่องจากสถานีนี้จะกลายมาเป็นศูนย์กลางการคมนาคมแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ (Main Station) แทนที่หัวลำโพงปัจจุบัน และยังเป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายระบบคมนาคมทางรางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนแทนที่สถานี KL Sentral ของกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
โดยสถานีนี้จะเป็นสถานีชุมทางของการสัญจรผ่านรางทั้งหมด ดังนี้

  • รถไฟทางไกลสายเหนือ, สายตะวันออก และสายใต้
  • ระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ที่เป็นรถไฟฟ้า
  • รถไฟฟ้าเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง (แอร์พอร์ต เรล ลิงค์)
  • รถไฟความเร็วสูงที่จะพัฒนาในอนาคต

นอกจากสถานีกลางบางซื่อที่มีการก่อสร้างและพัฒนาเป็น Transit Hub ขนาดใหญ่แล้ว บริเวณโดยรอบยังมีการวางแผนที่จะออกแบบให้เป็น TOD (Transit Oriented Development) หรือ การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน เพื่อให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เช่น สำนักงาน ร้านค้า พลาซ่า โรงแรม ที่พักอาศัย เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางหรือใช้งานรอบสถานีกลางบางซื่อนี้ ซึ่งต้องบอกว่าแผน TOD นี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการให้ร.ฟ.ท.หาผู้ร่วมลงทุนตามพ.ร.บ.ร่วมทุน โดยยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าจะเป็นผู้ร่วมทุนรายใด และรายละเอียดโครงการเป็นอย่างไร แต่หากเป็นไปตามแผนนั้นจะส่งเสริมให้มีรายได้จากการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อพอสมควร ส่งผลต่อการช่วยลดค่าโดยสารของประชาชน หรือถึงขั้นสามารถคืนทุนได้โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณรัฐมากนัก อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นและฮ่องกง เป็นต้น

หากพูดถึงในแง่ความอุดมสมบูรณ์ย่านบางซื่อปัจจุบันก็ถือว่ามีการเจริญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากแต่เดิมที่หลายคนอาจจะเห็นภาพเป็นแหล่งชุมชนที่มีแนวตึกแถวเก่าเรียงรายทั้ง 2 ฝั่งถนน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยแนวราบ แต่หลังจากการมาของรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีบางซื่อก็ส่งผลให้พื้นที่บริเวณนี้กลายเป็นทำเลนี้ มีการเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทั้งความอุดมสมบูรณ์และการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม High Rise ตามรัศมีรถไฟฟ้า และต่อมาทางรัฐบาลได้ประกาศแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน , สายสีม่วง และ สายสีแดงทั้งแดงเข้มและแดงอ่อน ซึ่งปัจจุบันก็มีบางสายเริ่มก่อสร้างและบางสร้างใกล้ที่จะเปิดให้ใช้บริการแล้ว อีกทั้งยังมีสถานีกลางบางซื่อหรือ Grand Station ก็ส่งผลต่อเนื่องในด้านความอุดมสมบูรณ์

มาดูสถานที่สำคัญรอบๆโครงการกันบ้าง สำหรับแหล่งงานในบริเวณใกล้ๆก็จะมีเครือซีเมนต์ไทย หรือ SCG ซึ่งมีพนักงานจำนวนค่อนข้างเยอะ ส่วนถ้าเป็นอาคารสำนักงานจะไม่ค่อยเห็นส่วนมากจะอยู่ในโซนจตุจักรหรือถนนวิภาวดีรังสิตมากกว่า สำหรับอาหารการกินและความอุดมสมบูรณ์ถือว่ามีค่อนข้างสูง ใกล้ๆกับโครงการก็มีตลาดเตาปูนและตลาดบางโพ ถ้าอยากหาของกินของใช้ก็สามารถหาได้จาก ร้านค้า ร้านอาหารด้านล่างแนวตึกแถวฝั่งที่ติดถนน ฝั่งตรงข้ามโครงการก็เป็น Tesco Lotus ประชาชื่น สามารถเดินข้ามฝั่งไปจับจ่ายใช้สอยได้ ส่วนห้างใหญ่ๆหรือ Community mall บริเวณนี้ก็มี Gateway บางซื่อที่เปิดให้ใช้บริการแล้ว
และขยับออกมาในระยะรอบๆ 2 กิโลเมตร ก็มีทั้งตลาดขนาดใหญ่อย่าง ตลาดเตาปูน, ตลาดนัดสวนจตุจักร, ตลาดอตก. หรือจะเป็นห้างที่เปิดใหม่ก็มีอย่าง Gateway บางซื่อ รวมไปถึงสวนอย่างสวนจตุจักรและสวนรถไฟอีกด้วย

รูปแบบที่อยู่อาศัย

สำหรับที่อยู่อาศัยในทำเลนี้ รูปแบบจะเป็นคอนโดมิเนียมเกือบทั้งหมดแล้วนะคะ และต้องบอกว่าคอนโดที่ใกล้รถไฟฟ้าสถานีบางซื่อในระยะเดินได้เลยจริงๆ อาจจะไม่มี เนื่องจากบริเวณโดยรอบมี SCG เส้นทางรถไฟฟ้าขนาดใหญ่และพื้นที่โดยรอบสถานีที่จะทำเป็น Complex ขนาดใหญ่ ดังนั้นคอนโดส่วนใหญ่จึงขยับไปอีกหน่อยในระยะ 1.5 กิโลเมตรจากสถานีบางซื่อ มีหลายโครงการทีเดียว ซึ่งอยู่ในโซนของสถานีเตาปูนแทนนะคะ สามารถนั่งรถไฟฟ้ามาสถานีนึง หรือจะต่อรถสาธารณะอื่นๆ ก็ไม่ยากค่ะ


2.โซนสถานีจตุจักร – วัดเสมียนนารี – บางเขน

สถานีจตุจักร

ลักษณะสถานีออกแบบให้เป็นสถานียกระดับรองรับเฉพาะรถไฟชานเมือง โดยตำแหน่งของสถานีนี้ไม่ได้อยู่ใกล้กับ MRT จตุจักร (รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน) อย่างที่ใครหลายคนคุ้นหูกันมาตลอดนะคะ แต่สถานีที่ชื่อเหมือนกันของรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มนี้ตั้งอยู่ที่ ถนนกำแพงเพชร 2 และถนนกำแพงเพชร 6 ใกล้กับบ้านพักนิคมรถไฟ กม.11

บรรยากาศของทำเลนี้เรียกได้ว่าเป็นบรรยากาศชุมชนพักอาศัยดั้งเดิมขนาดใหญ่ ไม่ได้อยู่ในจุดที่สามารถเดินทางต่อด้วยรถสาธารณะสะดวกมากนัก ในอนาคตน่าจะ Shuttle Service หรือนำรถสาธารณะที่วิ่งไปยังโซนห้าแยกลาดพร้าว รัชดาภิเษก ซึ่งเป็นแหล่งทำเลคึกคัก และควรมีการจัดทำอาคารจอดแล้วจร เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารให้เดินทางต่อได้สะดวก

รูปแบบที่อยู่อาศัย

สำหรับที่อยู่อาศัยในละแวกสถานีนี้มีไม่เยอะมาก เนื่องจากทำเลไม่ได้โดดเด่นในเรื่องความคึกคัก และความอุดมสมบูรณ์ในระยะเดินที่จะเหมาะกับเป็นทำเลคอนโดมิเนียม แต่จะพัฒนาเป็นโครงการแนวราบก็มีพื้นที่ไม่ได้มากนัก ทำให้ส่วนใหญ่จึงเห็นเป็นคอนโดมิเนียมเก่า ไม่มีโครงการใหม่ขึ้น และขายในระดับ Super Economy – Economy ที่ขยับออกมาจากสถานีมาอิงบริเวณทางด่วนศรีรัช ประชาชื่น ซึ่งไม่ได้อยู่ในระยะเดินเลยนะคะ จำเป็นต้องอาศัยนั่งรถต่อ แต่แลกมากับราคาคอนโดที่หยิบจับง่าย ซึ่งใครที่งบน้อยลงมา อยากได้ที่อยู่อาศัยราคาเบา ยอมนั่งรถหลายต่อเพื่อเดินทางเข้า-ออกเมืองได้ ทำเลใกล้สถานีนี้ก็น่าสนใจค่ะ

สถานีวัดเสมียนนารี

ลักษณะสถานีออกแบบให้เป็นสถานียกระดับรองรับเฉพาะรถไฟชานเมือง โดยตำแหน่งที่ตั้งสถานีอยู่ติดกับวัดเสมียนนารีฝั่งทางเข้าถนนกำแพงเพชร 6 เลยค่ะ ซึ่งหากเทียบกับสถานีจตุจักรก่อนหน้านี้แล้ว สถานีนี้เป็นสถานีที่มาตอบโจทย์ผู้คนที่อาศัยอยู่ในละแวกประชาชื่นได้ดี แม้อาจจะต้องต่อรถอีกหน่อยก็ตาม ซึ่งปัจจุบันก็มีรถสองแถววิ่งคอยให้บริการอยู่แล้วด้วย ความสะดวกในการเดินทางเข้าเมืองหรือออกนอกเมืองไปทางดอนเมืองของผู้คนละแวกนี้จะมีมากขึ้นอีกทีเดียวค่ะ

ในแง่ความอุดมสมบูรณ์นี้จัดว่าดีมาก ด้วยความที่เป็นย่านชุมชนเก่าดั้งเดิม มีความคึกคักมานาน ส่วนใหญ่ร้านค้าจะอยู่ริมถนนเทศบาลสงเคราะห์เลยไปจนถึงถนนประชาชื่น และก็ยังมีตลาดใหญ่ๆ อย่างตลาดประชานิเวศน์ รวมไปถึงบอง มาร์เช่ ซึ่งเป็น Lifestyle Mall ที่รวบรวมร้านอาหาร ตลาดอีกด้วย

รูปแบบที่อยู่อาศัย

รูปแบบที่อยู่อาศัยมีให้เห็นทั้งโครงการแนวราบและโครงการคอนโดมิเนียม โดยเน้นไปที่โครงการแนวราบเสียมากกว่า แต่ไม่ค่อยมีโครงการเปิดใหม่เท่าไหร่นักนะคะ หากมองหาโครงการเปิดใหม่ต้องขยับไปโซนสถานีการเคหะ และดอนเมือง ที่จะมีให้เลือกเยอะมากพอสมควรเลย แต่หากต้องการทำเลนี้เพื่ออิงไปโซนบางซื่อ Interchange เข้าเมืองได้สะดวกมากกว่าก็อาจจะต้องดูเป็นโครงการบ้าน Re-Sale เป็นส่วนใหญ่นะคะ
สำหรับโครงการคอนโดมิเนียมมีให้เลือกไม่เยอะมากเช่นเดียวกัน โดยจะมีอยู่ฝั่งตรงข้ามสถานีติดถนนวิภาวดีรังสิต อย่าง U Delight รัชวิภา คอนโดสร้างเสร็จ ราคาขายก็อยู่ที่พนักงานเงินเดือนสามารถจับต้องได้นะคะ โดยจุดเด่นโครงการนี้คือการเดินทางทั้งรถยนต์ และพึ่งพิงรถไฟฟ้าได้ แลกกับความอุดมสมบูรณ์ที่ด้อยกว่าฝั่งวัดเสมียนนารี – ประชาชื่น ส่วนอีกโซนของคอนโดจะอยู่ติดถนนประชาชื่นเลยค่ะ อย่าง ลุมพินีวิลล์ ประชาชื่น-พงษ์เพชร 1-2 ต้องบอกว่าเป็นคอนโดที่ไม่ได้ใกล้รถไฟฟ้ามากในระยะเดินได้ อาศัยต่อรถอีกต่อ แต่มีตัวเลือกให้ไปขึ้นได้ทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีชมพู ได้ความอุดมสมบูรณ์มากกว่า คอนโดติดถนนวิภาวดีรังสิต

สถานีบางเขน

ลักษณะสถานีออกแบบให้เป็นสถานียกระดับรองรับเฉพาะรถไฟชานเมือง โดยที่ตั้งของสถานีบางเขนนี้อยู่บริเวณถนนกำแพงเพชร 6 ตัดกับถนนงามวงศ์วานตรงข้ามมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ฝั่งถนนวิภาวดีรังสิต ทำเลของสถานีนี้อิงไป 2 โซนด้วยกัน

เริ่มจากการอิงไปที่ถนนงามวงศ์วาน ที่รู้กันดีว่าเป็นทำเลราชการ มีข้าราชการจำนวนมากที่ทำงานแถวนี้ทั้งเรือนจำกลางคลองเปรม และสำนักงานใหญ่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งการมาของรถไฟฟ้าสถานีนี้ช่วยตอบโจทย์การเดินทางของข้าราชการเหล่านี้ได้ดีมากทีเดียว เพราะจัดว่าอยู่ในระยะเดินได้ทั้งหมด

อีกโซนอิงไปทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน โดยเฉพาะ เพราะตัวสถานีมีการทำทางเชื่อมไปยังหน้าทางเข้ามหาวิทยาลัยฝั่งวิภาวดีรังสิตเลย จัดว่าสะดวกมากทีเดียวสำหรับนักศึกษาและบุคคลากรที่ทำงานในมหาวิทยาลัยเอง

ส่วนความอุดมสมบูรณ์หลักย่านนี้อิงไปที่ถนนงามวงศ์วานบริเวณแยกพงษ์เพชรจะเป็นโซนที่มีความคึกคักมากที่สุด เพราะมีทั้งตลาดสด, ห้าง The Mall งามวงศ์วาน และ HomePro ประชาชื่น, Hyper Market อย่าง Tesco Lotus พงษ์เพชร Esplanade งามวงศ์วาน ซึ่งจากสถานีเองไปยังแยกพงษ์เพชรนั้นจะอยู่ห่างไปประมาณ 2 กิโลเมตร จำเป็นต้องอาศัยนั่งรถต่อหรือขับรถส่วนตัว

รูปแบบที่อยู่อาศัย

ในรัศมีรถไฟฟ้าสถานีนี้แบ่งออกเป็น 2 โซนใหญ่ๆ ตามสภาพทำเล ซึ่งทั้ง 2 โซนนี้ก็มีรูปแบบการอยู่อาศัยที่แตกต่างกันค่อนข้างชัดเจนค่ะ

สำหรับใครที่เป็นผู้ปกครองของนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หรือเป็นบุคลากรนั้น จะต้องอิงไปที่ถนนงามวงศ์วานตอนต้นช่วงระหว่างถนนพหลโยธินและถนนวิภาวดีรังสิต เลยไปถึงถนนพหลโยธินช่วงแยกเกษตร โดยรูปแบบที่อยู่อาศัยจะเป็นคอนโดมิเนียมทั้งหมดนะคะ ดังนั้นต้องบอกว่าคนที่อาศัยอยู่ในคอนโดแถบนี้จะมีตัวเลือกในการเดินทางรถไฟฟ้า 2 สายด้วยกัน ทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีเขียว แต่ต้องบอกว่าราคาต่อตารางเมตรไม่ต่างกันเท่าไหร่ ไม่ว่าจะอิงไปฝั่งรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือสีแดงก็ตาม ดังนั้นเราสิ่งที่เราควรพิจารณาก็คือรถไฟฟ้าสายไหนที่เราเดินทางเป็นประจำ หรือคิดในแง่ของนักศึกษาคือคณะที่เรียนใกล้กับประตูเข้า-ออกฝั่งไหนมากกว่ากัน ระหว่างวิภาวดีรังสิต (สายสีแดง) กับพหลโยธิน (สายสีเขียว)

อีกโซนคือโครงการบนถนนงามวงศ์วาน โดยส่วนใหญ่ที่อิงถนนเส้นนี้จะเห็นเป็นคอนโดมิเนียมค่อนข้างเยอะเลยค่ะ ซึ่งจะเกาะกลุ่มอยู่ช่วงใกล้แยกพงษ์เพชร เลยไปถึงแยกแครายที่เป็นจุดตัดกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง มีราคาถูกกว่าโซนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


3.โซนสถานีทุ่งสองห้อง – หลักสี่ – การเคหะ

สถานีทุ่งสองห้อง 

ลักษณะสถานีออกแบบให้เป็นสถานียกระดับรองรับเฉพาะรถไฟชานเมืองโดยตำแหน่งสถานีอยู่บริเวณถนนกำแพงเพชร 6 และ ถนนวิภาวดีรังสิต ใกล้กองกำกับการสุนัขและม้าตำรวจ สำหรับสถานีนี้บรรยากาศจะมีความแตกต่างบางส่วนและคล้ายคลึงกับสถานีบางเขนบางส่วนนะคะ สำหรับความแตกต่างที่ค่อนข้างชัดเจนและเป็นกับสถานีที่มักจะอยู่ระหว่างจุดตัดแยกสำคัญต่างๆ คือตัวเลือกในการเดินทางที่จะน้อยกว่า รวมไปถึงไม่มีสถาน.ที่สำคัญเป็น Node ชัดเจน ทำให้บรรยากาศรอบสถานีนี้จะเงียบสงบมากกว่าสถานีที่อยู่ระหว่างจุดตัดกับถนนใหญ่อื่นๆ นะคะ แต่ส่วนที่คล้ายคลึงกันคือในย่านนี้เป็นย่านชุมชนขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน

หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วทำไมต้องมาตั้งตำแหน่งสถานีตรงนี้ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีจุดสำคัญให้คนใช้งานเท่าไหร่ แต่จริงๆ แล้วตำแหน่งนี้มีความน่าสนใจตรงที่ย่านนี้เป็นย่านหมู่บ้านเก่าขนาดใหญ่อย่าง ชินเขต รวมไปถึงด้านหลังติดถนนประชาชื่นก็มีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต จึงทำให้สถานีตอบโจทย์คนในชุมชนและนักศึกษาและบุคลากรจากมหาวิทยาลัยได้ดี ซึ่งต้องบอกว่าการเดินทางจากสถานีไปยังหมู่บ้านหรือมหาวิทยาลัยนี้จะไม่ใช่ระยะเดิน ยังต้องอาศัยรถต่ออยู่ แต่ก็ถือว่ายังต่อรถได้ไม่ยากเพราะทางสนามกอล์ฟนอร์ธปาร์คนี้เปิดถนนให้คนได้ใช้เส้นทางผ่านอยู่แล้ว

นอกจากนี้การมาของสถานีนี้ยังช่วยเพิ่มตัวเลือกในการเดินทางสำหรับพนักงานออฟฟิศอย่างเดลินิวส์, 3M และยาคูลย์ ที่ตั้งอยู่ฝั่งติดถนนวิภาวดีงรังสิตได้อีกด้วยนะคะ

รูปแบบที่อยู่อาศัย

สำหรับที่อยู่อาศัยในละแวกสถานีนี้ส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านดั้งเดิมแทบทั้งหมด โครงการดังๆ ก็จะมีอย่าง แกรนด์คาแนล หมู่บ้านใหญ่ที่มีทะเลสาบในโครงการ ส่วนโครงการแนวราบใหม่มีอยู่เพียงไม่กี่โครงการบนถนนประชาชื่นอย่างโครงการโคราซอน ประชาชื่น ซึ่งเป็นทาวน์โฮม 3 ชั้นครึ่ง

สถานีหลักสี่

ลักษณะสถานีออกแบบให้เป็นสถานียกระดับรองรับเฉพาะรถไฟชานเมืองโดยตั้งอยู่บริเวณถนนกำ แพงเพชร 6 ทางด้านทิศเหนือของแยกหลักสี่ ตรงข้ามกับอาคารไอทีสแควร์ติดถนนแจ้งวัฒนะ สถานีนี้มีความน่าสนใจหลายอย่างทีเดียวค่ะ เพราะการมาของรถไฟฟ้าสถานีนี้ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทางแนวเหนือ-ใต้ให้กับผู้คนในละแวกนี้แล้วยังสามารถเดินทางแนวตะวันออก-ตะวันตกได้ด้วยเพราะมี Interchange กับรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่วิ่งจากรามอินทราเชื่อมเข้าถนนแจ้งวัฒนะ

นอกเหนือจากการเดินทางระบบรางที่เด่นกว่าสถานีข้างเคียงแล้ว ต้องบอกว่าย่านนี้จัดเป็นย่านศูนย์ราชการใหญ่ใกล้เคียงกับย่านสถานีบางเขน ประกอบด้วย TOT, ไปรษณีย์ไทย และกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น ทำให้สถานีนี้เป็นสถานีที่ตอบโจทย์กลุ่มข้าราชการให้เดินทางมาทำงานได้ง่ายมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการต่อรถไฟฟ้าไปยังสถานที่ต่างๆ อีกด้วย ดังนั้นหากมองอีกแง่คือข้าราชการเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องหาที่อยู่อาศัยใกล้ศูนย์ราชการมากนักก็ได้ หากใครต้องการทาวน์โฮมราคาหยิบจับได้ง่ายมากขึ้นสามารถขยับไปอยู่แถวดอนเมืองหรือปากเกร็ดแทนและนั่งรถไฟฟ้าอีกไม่กี่สถานีมายังศูนย์ราชการได้ไม่ยากค่ะ

สำหรับความอุดมสมบูรณ์เด่นใกล้สถานีที่สุดก็คือ ไอทีสแควร์ ห้างที่รวบรวมร้านค้าเกี่ยวกับไอทีต่างๆ รวมไปถึงยังมีร้านค้าต่างๆ ภายในให้มาเดินเล่นซื้อของกันได้ และ Foodland ด้านล่างที่เปิด 24 ชั่วโมงสามารถมาซื้อของกินของใช้ได้ตลอดเวลา ซึ่งถือว่าห้างนี้เป็นห้างเดียวที่มาตอบโจทย์กลุ่มคนที่อาศัยในละแวกที่ต้องการมาเดินซื้อของในห้าง ที่สามารถเข้าถึงได้โดยการเดินทางผ่านรถไฟฟ้าสายสีแดงนี้ได้สะดวก

รูปแบบที่อยู่อาศัย

รูปแบบที่อยู่อาศัยในย่านนี้ส่วนใหญ่เป็นคอนโดมิเนียมติดถนนแจ้งวัฒนะ ลักษณะเป็น Low Rise มีให้เห็นตั้งแต่ต้นถนนแจ้งวัฒนะไปจนถึงจุดตัดกับทางด่วนศรีรัชเลยนะคะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคอนโด Re-Sale แล้ว หรือหากจะมองหาคอนโดใหม่ก็จะพอมีอยู่บ้างในซอยย่อยลงมา ซึ่งราคาเฉลี่ยต่อตารางเมตรก็ยังอยู่ในระดับเดียวกับโครงการ Re-Sale ในละแวก เช่น The Props Condominium

และอีกโครงการที่เด่นในย่านนี้ก็เห็นจะเป็น Plum Condo แจ้งวัฒนะ ที่เป็นโครงการ Low Rise ขนาดใหญ่มีทั้งหมด 4 เฟสด้วยกัน รวมยูนิตแล้วกว่า 4,000 ยูนิต โดยด้านหน้าจะมี Community ขนาดย่อมๆ รองรับลูกบ้านจำนวนมากให้สะดวกในการซื้อของต่างๆ พร้อม Facilities แยกแต่ละเฟสชัดเจน

สถานีการเคหะ

ลักษณะสถานีออกแบบให้เป็นสถานียกระดับรองรับเฉพาะรถไฟชานเมือง โดยตั้งอยู่บริเวณถนนกำ แพงเพชร 6 และถนนวิภาวดีรังสิตใกล้กับแฟลตการเคหะฯ ดอนเมือง จัดเป็นสถานีที่อยู่ใกล้กับท่าอากาศยานดอนเมืองแล้วนะคะ ในย่านนี้เป็นย่านชุมชนมาตั้งแต่ดั้งเดิมเลยอย่าง หมู่บ้านช่างอากาศอุทิศ เชิดวุธอากาศ โกสุมรวมใจ โดยจะอยู่บริเวณถนนกำแพงเพชร 6 และถนนประชาชื่นด้านหลัง ซึ่งการมาของรถไฟฟ้าสถานีนี้จะตอบโจทย์คนในหมู่บ้านเหล่านี้ได้ดีมากๆ

ส่วนความอุดมสมบูรณ์แถวนี้โดยส่วนใหญ่อยู่ในซอยย่อยที่มีชุมชนดั้งเดิมอยู่นะคะ ลักษณะจะเป็นร้านค้า ร้านอาหารทั่วไป แต่ไม่ได้มี Hyper Market หรือห้างใหญ่นะคะ ซึ่งหากจะหาความคึกคักสูงสุดในย่านนี้จะอยู่ที่เมืองทองธานีแทบทั้งหมด มีทั้งศูนย์แสดงสินค้า Community mall ร้านอาหาร รวมไปถึงคอนโดราคาถูกอีกด้วย

รูปแบบที่อยู่อาศัย

ส่วนที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะอิงไปทางสถานีดอนเมืองมากกว่าสถานีการเคหะด้วยความที่ย่านใกล้ดอนเมืองมีความคึกคักและความอุดมสมบูรณ์มากกว่า รวมไปถึงความต้องการของผู้คนที่มองหาที่อยู่ใกล้สนามบินด้วย ย่านนี้จึงจะเงียบกว่าสถานีดอนเมือง แต่ก็ยังมีศักยภาพและที่ดินที่สามารถพัฒนาเป็นโครงการแนวราบได้อยู่หลายแปลง เพียงแต่ Developer ส่วนใหญ่ก็จะเลือกไปทางสถานีดอนเมืองมากกว่าเนื่องจาก Demand (ความต้องการ) ที่มีมากกว่า เราจึงไม่ค่อยเห็นโครงการใหม่ในละแวกสถานีนี้มากนัก

ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นโครงการแนวราบนะคะ แต่ไม่ใช่ไม่มีคอนโดมิเนียมเลย เพราะในย่านนี้เคยมีโครงการเก่าอย่าง Parkview วิภาวดี คอนโด Low Rise, Den Condominium ที่มีทั้งเจ้าหน้าที่สนามบินอยู่กันค่อนข้างมาก เพราะใกล้กับสนามบินดอนเมืองเดินทางสะดวก


4.โซนสถานีดอนเมือง – หลักหก – รังสิต

สถานีดอนเมือง

สถานีดอนเมืองเป็นสถานีที่โดดเด่นมากเพราะเป็นสถานีที่ตั้งใจให้เชื่อมกับท่าอากาศยานดอนเมืองได้ ดังนั้นจึงมีการออกแบบสถานีที่พิเศษกว่าสถานีอื่นๆ มากขึ้นอีกหน่อย โดยสถานีนี้จะรองรับทั้งรถไฟชานเมือง รถไฟทางไกล รวมไปถึงในอนาคตจะก่อสร้างเพิ่มเติมเพื่อรองรับรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานและรถไฟความเร็วสูงอีกด้วย เพื่อตอบโจทย์ทั้งผู้คนที่ใช้รถไฟฟ้าปกติ และสามารถอำนวยความสะดวกผู้เดินทางเข้า-ออกระหว่างประเทศและต่างประเทศได้อีกด้วย จึงถือเป็นสถานีที่จะคึกคักมากๆ ของโซนนี้เลยค่ะ

ความอุดมสมบูรณ์ก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็น Node สำคัญของย่านเรื่องความอุดมสมบูรณ์จึงหมดห่วง ส่วนใหญ่เป็นร้านค้า ร้านอาหารตามถนนย่อยอย่างสรงประภาเลยไปถึงเลียบคลองปะปา รวมไปถึงตลาดสดต่างๆ ที่มีให้ซื้อของสดกลับไปทำอาหารกินได้ และศักยภาพของพื้นที่แถวนี้หากรถไฟฟ้าสายสีแดงได้เปิดให้ใช้งานแล้วก็น่าจะมีการพัฒนาโครงการต่างๆ เช่น Community Mall หรือ Hyper Market ขนาดใหญ่ขึ้นมาเพื่อรองรับ Demand แถวนี้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

รูปแบบการอยู่อาศัย

ในย่านดอนเมือง – สรงประภานี้ถือเป็นทำเลทองของโครงการแนวราบเลยก็ว่าได้นะคะ  จากแต่เดิมเลยนั้นส่วนมากจะเป็นชุมชนแนวราบในพื้นที่ทางการเกษตร และพื้นที่ว่าง ในช่วงระยะเวลา 10-20 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินไปเนื่องมาจากการขยายตัวของเมือง ทำให้ย่านดอนเมือง – สรงประภา เป็นทำเลที่คนมาอยู่อาศัยกันมากขึ้น พิจารณาได้จากจำนวนที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการที่อยู่อาศัยย่านดอนเมือง – สรงประภา ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่แนวราบกระจายอยู่บนถนนหลักและถนนรองต่างๆ ได้แก่ ถนนสรงประภา ถนนศรีสมาน ถนนช่างอากาศอุทิศ ถนนเลียบคูนายกิม ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นถนนในแนวตะวันออก-ตะวันตกเชื่อม Local Road (กำแพงเพชร 6) กับถนนเลียบคลองประปา โดยศูนย์กลางความเจริญหรือชุมชนจะหนาแน่นบริเวณด้านที่เชื่อมกับ Local Road เป็นหลัก และเริ่มมีที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมบ้างบางส่วน ส่วนมากเป็น คอนโดมิเนียม Low Rise 7-8 ชั้น ยังไม่มีอาคารสูง High Rise

โดยกลุ่มราคาที่อยู่อาศัยย่านนี้ จะสามารถแยกออกได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ ตามรูปแบบของประเภทที่อยู่อาศัย ได้แก่

  • บ้านเดี่ยว 2 ชั้น :  จัดเป็นที่อยู่อาศัยที่เป็นที่นิยมรองจากบ้านประเภททาวน์โฮมในพื้นที่ย่านดอนเมือง – สรงประภา เพื่อมาตอบโจทย์ของกลุ่มผู้ซื้อที่ต้องการขยายครอบครัวขนาดกลาง-ขนาดใหญ่  หรือมีสมาชิกในครอบครัว 3-4 คน ขึ้นไป ต้องการพื้นที่และบริเวณบ้านในการอยู่อาศัย มีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มมากขึ้น
  • ทาวน์โฮม 2 ชั้น :  จัดเป็นประเภทที่อยู่อาศัยที่พบมากและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในย่านดอนเมือง – สรงประภา เพราะด้วยระดับราคาที่สามารถจับต้องได้ง่าย ได้พื้นที่ใช้สอย มีบริเวณบ้านนิดหน่อย เหมาะกับครอบครัวขนาดเล็ก-ขนาดกลาง หรือกลุ่มผู้ที่จะเริ่มสร้างครอบครัวมี สมาชิก 2-3 คน ทาวน์โฮมจึงตอบโจทย์ของผู้ซื้อในกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี
  • คอนโดมิเนียม : ที่พบมากที่สุดจะเป็นคอนโดมิเนียม Low Rise ที่เริ่มเข้ามาตีตลาดที่อยู่อาศัยบนถนนสรงประภา ซึ่งแต่เดิมมีแต่บ้านแนวราบ จัดเป็นตัวเลือกใหม่ด้วยราคาที่ไม่แพง เหมาะกับกลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มสร้างตัว สร้างครอบครัว หรือต้องการขยับขยายหาที่อยู่อาศัยใหม่ของตนเอง แม้แต่ซื้อไว้เพื่อการลงทุน ปล่อยเช่าในระยะยาว เพราะรูปแบบของคอนโดมิเนียมจะเน้นความพร้อมอยู่มีส่วนกลางครบให้ใช้งาน จึงเป็นที่ตอบโจทย์ของกลุ่มวัยทำงาน อยู่อาศัยกัน 1-2 คนได้ มีพื้นที่ใช้สอยเหมาะกับการใช้งานของครอบครัวขนาดเล็ก

สถานีหลักหก

สำหรับสถานีหลักหกนี้เป็นสถานีรถไฟที่ลดระดับลงมาเสมอดินแล้วนะคะ และจะรองรับเฉพาะรถไฟชานเมืองอย่างเดียว ความน่าสนใจของสถานีนี้คือเป็นสถานีที่อยู่ใกล้กับถนนเอกทักษิณ ซึ่งเป็นถนนสำคัญในย่านที่เชื่อมจากถนนพหลโยธินเข้าสู่ถนนกำแพงเพชร 6 พร้อมเชื่อมเข้าหมู่บ้านเมืองเอก หมู่บ้านใหญ่ดั้งเดิมประจำย่านรังสิตนี้ซึ่งภายในหมู่บ้านนี้ไม่ได้มีเพียงบ้านเท่านั้น แต่ด้วยความที่รูปแบบโครงการเป็นโครงการเปิด โดยภายในมีทั้งร้านค้า ร้านอาหาร และตลาดนัดขนาดใหญ่ให้ลูกบ้านในโครงการไม่จำเป็นต้องขับรถไปไหนไกลเลยนะคะ ในโครงการเองเรียกว่ามีความอุดมสมบูรณ์ครบแล้ว แต่ที่พิเศษกว่านั้นคือ ภายในโครงการเองก็มีมหาวิทยาลัยรังสิตอยู่ด้วยนะคะ ทำให้โครงการหมู่บ้านเมืองเอกนี้ไม่ใช่เป็นเพียงคนที่มีบ้านภายในโครงการ และผู้คนในทำเลที่มากินข้าว ซื้อของในหมู่บ้านนี้เท่านั้น แต่มีนักศึกษารวมไปถึงบุคลากรมหาวิทยาลัยอีกด้วย

ซึ่งการมาของรถไฟฟ้าสถานีนี้จึงช่วยความสะดวกในการเดินทางมายังเมืองเอกได้สะดวก ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาแต่เพียงรถยนต์เท่านั้นอีกต่อไป และนอกจากเมืองเอกแล้วบริเวณหน้าปากซอยที่เชื่อมกับถนนพหลโยธินนั้นก็มีความคึกคักมากทีเดียวนะคะ โดยมีทั้งตลาดสี่มุมเมือง และ Makro สาขารังสิต รวมไปถึงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล สาขารังสิต

รูปแบบการอยู่อาศัย

ต้องบอกว่าโครงการในย่านนี้มีให้เลือกทั้งโครงการแนวราบและคอนโดมิเนียมนะคะ ซึ่งโครงการแนวราบจะอยู่ขยับออกห่างจากถนนพหลโยธินไปตามถนนรอง (ถนนนาวงประชาพัฒนา, ถนนเทิดราชัน) โดยรูปแบบนั้นจะเหมือนกับโครงการในย่านสถานีดอนเมือง แต่สิ่งที่แตกต่างคือมีคอนโดมิเนียมราคาน่าคบหาระดับ Super Economy – Economy ติดถนนพหลโยธินเลย อย่าง Plum พหลโยธิน 89, Plum Premium พหลโยธิน-รังสิต, CondoU รังสิต และ U delight รังสิต คอนโดเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ทั้งผู้ปกครองที่ซื้อให้ลูกๆ ที่กำลังเรียนมหาวิยาลัยใกล้ๆ อยู่แทนที่การเช่าอพาร์ทเม้นท์หรือหอพัก ซึ่งมีเรทค่าเช่าไม่ต่างกับการผ่อนคอนโดมากนัก อีกกรณีก็ตอบโจทย์กับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าตลาดสี่มุมเมือง, ตลาดรังสิต รวมไปถึงพนักงานห้างในละแวกอีกด้วยเช่นกัน

สถานีรังสิต

สถานีรังสิตนี้เป็นสถานีปิดท้ายของรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต นี้แล้วนะคะ แต่ในอนาคตสายรถไฟฟ้านี้มีแผนการขยายต่อไปอีก 4 สถานี รวมระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร โดยจะไปสุดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งหากแล้วเสร็จทั้งเส้นนี้จะช่วยเรื่องการเดินทางของคนย่านรังสิต-ปทุมธานีให้มีตัวเลือกในการเดินทางเข้า-ออกเมืองได้มากขึ้น ไม่ใช่เพียงการเดินทางด้วยรถยนต์เพียงอย่างเดียวแล้วนะคะ อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนนได้อีกด้วย

สำหรับสถานีรังสิตนี้เป็นสถานีที่ตั้งอยู่ใกล้กับถนนเลียบคลองเปรมประชากร และหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี ที่อยู่ด้านหลัง Tesco Lotus รังสิตฝั่งตรงข้ามกับ Future Park รังสิตและ ZPELL ห้างใหญ่ประจำย่านรังสิตนี้ ส่วนรูปแบบของสถานีออกแบบมาให้เป็นทั้งสถานีรถไฟระดับดินรองรับรถไฟชานเมืองและรถไฟทางไกล 

การมาของสถานีนี้ต้องบอกว่าช่วยเพิ่มตัวเลือกในการเดินทางให้กับชุมชนขนาดใหญ่และหมู่บ้านจำนวนมากทางฝั่งรังสิต-ปทุมธานี ซึ่งเป็นทำเลที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องหลังจากโซนหมู่บ้านฝั่งรังสิต-นครนายกมีการพัฒนาโครงการไปถึงจุดที่เริ่มหนาแน่นแล้วนะคะ นอกจากผู้คนที่อาศัยอยู่ฝั่งนี้แล้ว ก็ยังมีพนักงานของแหล่งงานขนาดใหญ่ในละแวกนี้ที่ได้ผลประโยชน์นี้เช่นกัน อย่าง Workpoint Entertainment ก็อยู่ในทำเลนี้เช่นเดียวกัน

รูปแบบที่อยู่อาศัย

ที่อยู่อาศัยในย่านนี้ทั้งหมดยังเป็นแนวราบขนาดเล็กอย่างทาวน์โฮม 2 ชั้น ไปจนถึงบ้านเดี่ยวขนาดใหญ่นะคะ ส่วนใหญ่กระจุกอยู่ที่ถนนรังสิต-นครนายก ตามคลองต่างๆ (คลอง 1 ไปจนถึง คลอง 4) ส่วนฝั่งรังสิต-ปทุมธานีก็มีการพัฒนาที่ดินเป็นโครงการต่างๆ พอสมควร ส่วนใหญ่ยังเป็นทาวน์โฮมราคาย่อมเยา จับต้องได้ง่ายมากกว่านะคะ ยกตัวอย่างโครงการใหม่ๆ ในฝั่งนี้ก็จะมี สิริเพลส รังสิต จากแสนสิริ ที่ปี 2018 เปิดตัวในราคา 1.99 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่ฮือฮามากๆ พร้อมกับยอดขายที่ได้รับการตอบรับดีมากทีเดียว และยังมีโครงการทาวน์โฮมจากพฤกษาบนถนนเลียบคลองเปรมประชากรอีกหลายโครงการ อย่างพฤกษาวิลล์ และบ้านพฤกษาระดับราคาใกล้เคียงอยู่ที่ประมาณ 1.7 – 3 ล้านบาท