คอนโดติดรถไฟฟ้ายังคงเป็นที่นิยมในวงการนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการหลายๆ ราย ที่เคยจับแต่บ้านแนวราบ ก็หันมาลงทุนกับคอนโดแนวดิ่ง เช่นเดียวกับ คุณธนันต์ อนันต์ศิลป์ ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท รื่นฤดี ดีเวลล็อปเมนท์ เจ้าของโครงการแบรนด์ “รื่นฤดี” และ “ภัทรินทร์” บ้านจัดสรรที่อยู่คู่กับวงการอสังหาฯ มาเกือบ 20 ปี โดยเมื่อช่วงต้นปี 2557 ทาง “รื่นฤดี” ก็ได้เปิดตัว VIO คอนโดติดรถไฟฟ้าสายสีม่วง คอนโดโครงการแรกของ “รื่นฤดี” ภายใต้การดูแลของบริษัทลูก “Adamas”
วันนี้ทาง Think of Living ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณธนันต์ อนันต์ศิลป์ เกี่ยวกับแรงจูงใจในการหันมาจับตลาดอสังหาฯ แนวดิ่ง และทิศทางในอนาคตของบริษัทรื่นฤดี
บีม: อยากให้เล่าความเป็นมาของบริษัทรื่นฤดี กรุ๊ป จำกัด และโครงการบ้านที่ผ่านๆ มามีอะไรบ้าง
ตอนแรกทำงานอยู่สถาบันการเงิน แผนกสินเชื่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ดูแลผู้ประกอบการรายต่างๆ มีทั้งที่ประสบความสำเร็จ และไม่ประสบความสำเร็จ โดยส่วนตัวรู้สึกว่าการทำบ้านจัดสรร มันมีเสน่ห์ เราได้เห็นวิวัฒนาการทำโครงการมาตั้งแต่ปี 2520 และด้วยความที่ชอบในเรื่องของธุรกิจอสังหาฯ ก็สะสมความรู้มาเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2537 เลยชวนเพื่อนๆ มาทำโครงการอสังหาฯ “รื่นฤดี” เป็นที่แรก รามคำแหง 180 (สุขาภิบาล 3) เมื่อก่อนยังเป็นถนนเล็กๆ อยู่ วิ่ง 2 เลน สวนกัน ไม่เจริญอย่างทุกวันนี้ โครงการแรกก็ประมาณ 400 ยูนิต สมัยก่อนถ้ามียูนิตน้อยคนก็จะไม่สนใจ ซึ่งครั้งนั้นเราทำยอดได้ประมาณ 800-900 ล้านบาท ถือว่าประสบความสำเร็จดี
หลังจากที่ขายเสร็จ ปี 2539 แล้ว 2540 เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เราก็มาเปิดโครงการที่สอง ตอนนั้นราคาที่ก็ถูกลงมาก ทำให้มีโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้นมาก เราก็ไปลองศึกษาดู ก็เจอเห็นว่าทำเลหทัยราษฎร์-คู้บอน มีช่องทางการขยายตลาดอยู่ เพราะว่าที่ในเมืองราคาค่อนข้างสูง อีกทั้งยังเป็นทำเลที่เราชำนาญ เลยกลายมาเป็นโครงการที่ 2-3 และต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ส่วนมากก็จะอยู่ในโซนมีนบุรี มีแต่โครงการที่ 4 ที่ไปอยู่ตรงรังสิตคลอง 4
บีม: รวมๆ ทั้งหมดประมาณกี่โครงการครับ
ถ้าเป็นโครงการของ “รื่นฤดี” ก็จะประมาณ 7 โครงการ ส่วนบริษัทลูกก็จะมี “ภัทรินทร์” แล้วก็มี “Adamas” อีกบริษัท แตกมาเป็นแบรนด์ VIO สำหรับโครงการคอนโด ซึ่งจะเป็น 2 โครงการ ทั้ง High Rise และ Low Rise
บีม: จากที่ทำแนวราบมาตลอด 20 ปี เพราะอะไรถึงหันมาสนใจแนวดิ่ง
จริงๆ เราก็ศึกษามาหลายปีแล้ว เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เราก็เริ่มสะสมที่สำหรับทำคอนโด เราค่อนข้างพิถีพิถันมากในการเลือกทำเล เพราะเราต้องการให้แบรนด์ “รื่นฤดี” จับต้องได้ และลูกค้าที่ซื้อแบรนด์เราก็จะได้รับสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มทุกโครงการ จะสังเกตได้ว่าโครงการของเราจะอยู่ติดถนนใหญ่ หรือมีแนวโน้มที่ค่อนข้างแน่นอนว่าเจริญในอนาคต
บีม: รื่นฤดี ทำมา 7 โครงการมีอะไรบ้างครับ
แรกเริ่มเราทำทาวน์เฮ้าส์ กับอาคารพาณิชย์ ระยะหลังก็แตกไลน์มาทำบ้านเดี่ยว บ้านแฝด แล้วก็มาคอนโดทั้ง low rise และ high rise คือครอบคลุมทุก Product แล้ว
บีม: ทำไมถึงมาเป็น “Adamas”
เป็นบริษัทในเครือที่จะดูแลเรื่องคอนโดเป็นหลัก ครอบคลุมทั้งในเรื่องของการบริหารโครงการ การดูแลนิติบุคคล After Sale Service ด้วย และในอนาคตก็จะเป็นผู้ประกอบการด้วย คือทำครบวงจร ที่เราตั้ง” Adamas” ขึ้นมาใหม่ เพราะเราอยากแบ่งแบรนด์ให้ชัดเจนด้วย ว่าถ้าเป็นคอนโดก็จะเป็นของ ” Adamas” ส่วนบ้านแนวราบก็เป็นของ “รื่นฤดี”
บีม: ช่วงนี้ตลาดคอนโดไม่ค่อยเสถียรเท่าไหร่ ทาง VIO เป็นอย่างไรบ้างครับ
ก็ต้องยอมรับว่าเวลาในการเปิดตัวของเรา เตรียมพร้อมมาตั้งแต่ปลายปี แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมันเป็นปัญหาการเมือง ซึ่งมันกระทบไปถึงภาวะเศรษฐกิจ แต่ผมเชื่อว่าเมื่อการเมืองเริ่มดีขึ้น โครงสร้างทางเศรษฐกิจของบ้านเรามันดีอยู่แล้ว ภาคเอกชนก็เป็นตัวขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจ เดินต่อไปได้ เพราะฉะนั้นอาจมีสะดุดบ้าง 1-2 ไตรมาส ถ้าผู้ประกอบการที่มีความพร้อม ผมว่าก็ไม่ค่อยน่าห่วงเท่าไหร่
บีม: จากวิกฤตปี 40 ได้นำมาตราการช่วงนั้นมาปรับใช้ในภาวะนี้อย่างไรบ้าง
จริงๆ ของเราก็ยังถือว่าเป็นโครงการที่ลูกค้ายังให้การยอมรับดี เราจะสังเกตได้จากยอด Walk-in และ Pre-sale แม้ว่าจะไม่ได้มียอดที่ดีในภาวะปกติ แต่ในช่วงนี้ที่เราเปิดตัวแล้วได้ยอดแบบนี้ ก็ถือว่าสถานการณ์ก็ค่อนข้างดี
บีม: วางแผนปี 2557 ไว้อย่างไรบ้าง
ที่ผ่านมาผลประกอบการก็เพิ่มขึ้นทุกปี ปี 2556 ยอดก็แตะที่ 500 ล้านบาท ปีนี้ก็ต้องไม่น้อยกว่าปีโน้น เพราะว่าไม่ได้หยุดที่คอนโดอย่างเดียว บ้านแนวราบก็ยังคงทำต่อ เพราะเรามีทีมงานอยู่แล้ว ก็ต้องทำต่อไป
บีม: อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เลือกทำเล “ติวานนท์” มันมีข้อดียังไง
ผมมองว่าทำเล จ.นนทบุรี เป็นทำเลที่มีศักยภาพสูง เพราะว่า ณ วันที่เรามาซื้อที่เราเปรียบเทียบดูแล้วว่า ราคาที่ดินในกรุงเทพฯ สูงมาก ตรงนี้มันเป็นส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจบกับสายสีม่วง เพราะฉะนั้น Profiency ในอนาคตมันดีแน่นอน เราจะเห็นได้จากรถไฟฟ้าจากที่ต่อจากทางอ่อนนุชไปแบริ่ง ความเจริญมันเร็วมาก อันนี้เป็นปัจจัยบวก ของเราอยู่ต้นสาย มีทั้งหมด 10 สถานี เราอยู่สถานีที่ 3 จากบางซื่อ เพราะฉะนั้นเรื่องต้นทุนค่าที่ดินเราแจ่มมาก ทำเลตรงนี้เป็นสี่แยก เวลาขึ้นตึกใหม่ จะกลายเป็น New Landmark คิดว่าถ้าตึกดี ตึกสวยก็เป็น Property Value ที่ดีในอนาคต
บีม: ในปี 57-58 ทางแบรนด์ VIO คิดว่าจะทำอะไรกับแบรนด์นี้เพิ่มบ้าง
มีแผนอยู่ ปีนี้เราเปิดคอนโดประมาณ 2 โครงการก็คือ VIO แคราย กับ VIO ติวานนท์ แล้วก็มีเปิดรื่นฤดี 7 ตรงมีนบุรี ซ. หทัยราษฏร์ เป็นทาวน์เฮ้าส์และทาวน์โฮม และปีนี้อยากจะเพิ่มโครงการคอนโดอีก 1 โครงการ
บีม: จากที่ดูทำเลเดิมๆ จะมีที่มีนบุรี ติวานนท์ มีแผนที่จะลองทำเลอื่นๆ รึเปล่า อย่างเช่นต่างจังหวัด
ก็คิดไว้บ้าง แต่ก็ยังไม่ได้ตัดสินใจ บางครั้งมันขึ้นอยู่กับว่าเราได้ที่ดินแบบไหน ถ้าที่ดินอยู่ใกล้สถานที่ตากอากาศจะเป็นแบบไหน หรือถ้าเราได้ที่ๆ อยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรม ก็จะทำบ้านที่ตอบสนองคนที่ทำงานแถวๆ นั้น ทำงานในนิคม โดยรวมจะขึ้นอยู่กับว่าเราได้ที่ดินมายังไง เรายังไม่ได้กำหนดว่าจะเปิดคอนโดกี่โครงการ หรือบ้านเดี่ยวกี่โครงการ ซึ่งถ้าบ้านตากอากาศเราไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่ เพราะโดยธรรมชาติ เรามาทางบ้านจัดสรรมากกว่า ด้วยประสบการณ์เรามาทางนี้
บีม: ระหว่างทำเลกับตัวสินค้าคิดว่าให้น้ำหนักกับอะไรมากกว่ากัน
Real Estate มันเป็นเรื่องของ ทำเล และ ทำเล ซึ่งมาเป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องสินค้า มันก็ไปสอดคล้องกับราคา กับไลฟ์สไตล์
บีม: อะไรคือจุดเด่นของ VIO
โดยปกติเราจะให้ความสำคัญกับเงินที่ลูกค้าต้องจ่าย ถ้าลูกค้าจะซื้อ VIO กับผู้ประกอบการรายใหญ่ ก็ต้องได้ของที่ดีกว่า หรือถ้าของที่เหมือนกันซื้อเราต้องคุ้มกว่า
บีม: ในเมื่อเป็นผู้ประกอบการรายกลางก็อาจมีเรื่องของต้นทุนที่อาจสู้ผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่ได้ อะไรคือ Core Competitive ของรื่นฤดี
เมื่อก่อนเราก็ผ่านจากการเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก แต่พอรายได้แตะ 500 ล้านบาท ทุกๆ ปี ก็จะเรียกว่าเป็นผู้ประกอบการรายกลาง ส่วนที่เราเสียเปรียบผู้ประกอบการรายใหญ่ที่อยู่ในตลาดก็อาจเป็นในเรื่องของชื่อ ต้นทุนทางการเงิน ความพร้อมของบุคลากร แต่เรามีจุดเด่นกว่ารายใหญ่ในเรื่องการบริหารงาน คนที่เข้ามาทำตรงนี้จะเป็น owner และ partner ไม่ใช่พนักงานเหมือนรายใหญ่ เพียงแต่scale ของรายใหญ่ อาจจะใหญ่ว่าเรา 10-100 เท่า หลักๆ คือเราพยายามที่จะทำธุรกิจที่เราสามารถคุมได้ และไม่เกินตัว อีกทั้งในเรื่องของต้นทุนการเงิน เราไม่ได้เสียเปรียบ เพราะเราก็มีสถาบันการเงินที่สนับสนุน คือเรารู้ทางหนีทีไล่
บีม: ฝากอะไรถึงผู้ที่กำลังมองหาบ้าน โดยเฉพาะบ้านหลังแรก ควรมีหลักในการเลือกอย่างไร
บ้านไม่ใช่สิ่งที่เราจะซื้อได้บ่อยๆ เวลาจะซื้อก็ต้องเลือกหน่อย อย่างแรกก็คือ ทำเลต้องดี เราสามารถใช้สอยในทำเลที่ซื้อมาได้อย่างเต็มที่ สะดวก สบาย สามารถขายและเปลี่ยนมือได้ง่าย ถ้าไม่อย่างนั้น เขาก็จะขาดโอกาสในการเลือกที่อยู่ที่ดีกว่า ความคุ้มเป็นจุดสำคัญที่เราย้ำเสมอๆ
บีม: สุดท้ายอยากให้คุณธนันต์ฝากถึงผู้ประกอบการรายเล็ก มีหลักในการทำธุรกิจอสังหาฯ อย่างไร
ปรับองค์กรให้เร็วและเรียนรู้อย่างมืออาชีพ อย่างของรื่นฤดีคือเราก็เป็นรายเล็กมาก่อน คือเราต้องทำยังไงให้โครงการของเราจิ๋วแต่แจ๋ว พยายามทำตัวให้เป็นมืออาชีพ ซึ่งส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Real Estate มันมีเยอะมาก ตั้งแต่ การบริหารจัดการ สินค้า บริการหลังการขาย กฏหมาย การเงิน พาร์ทเนอร์ การเสียภาษี คือผู้บริหารต้องมีความรู้ในทุกเรื่อง และต้องพยายามหา Connection
การตกแต่งห้องนอนในโครงการ
การตกแต่งห้องครัวในโครงการ