ทุกวันนี้ คนกรุงเทพฯ และเกือบทั่วประเทศ ต้องพบกับภาวะอากาศแปรปรวน จากฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่เกิดจากการใช้ชีวิตของพวกเรานั่นเอง เช่น ควันจากท่อไอเสีย และการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ การสูบบุหรี่ จุดธูป เผากระดาษ จุดพลุ หรือแม้แต่การทำอาหารประเภทปิ้งย่าง ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศเช่นกัน หรือเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงในต่างประเทศ

ภาวะ “กาซเรือนกระจก” เราคุ้นหูมานานกว่าหลายทศวรรษ แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งหรือลดความรุนแรงได้ โดยเฉพาะ 3 ปีในช่วงโควิดนี้ที่จำเป็นต้องใช้ภาชนะ อุปกรณ์ทางการแพทย์และวัสดุต่างๆ ที่สร้างขยะจำนวนมหาศาล โดยที่ไม่สามารถ recycle ได้ ต้องกำจัดแบบฝังกลบเท่านั้น และเชื่อว่า ณ ขณะนี้ ทุกคนเห็นถึงผลกระทบต่างๆ ทั้งภัยแล้ง อุทกภัย มลพิษ อุณหภูมิโลกที่ร้อนเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ น้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ปะการังเปลี่ยนสี สัตว์น้ำจำนวนมากตายเกยหาดโดยไม่ทราบสาเหตุ ข้อมูลโดย Inform Risk Index ระบุว่าภัยพิบัติที่น่ากังวลที่สุดสำหรับประเทศไทยคืออุทกภัย ซึ่งเรามีความเสี่ยงเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ทั้งน้ำหลากจากแม่น้ำ น้ำป่าไหลหลาก หรือน้ำท่วมจากชายฝั่ง โดยเหตุวิกฤติที่ในอดีต 100 ปีมีครั้ง อาจเกิดขึ้นทุก 50 ปีหรือ 25 ปี ทั้งหมดนี้คิดเป็นมูลค่าความเสียหายปีละกว่า 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

🔸 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หนึ่งในผู้ถูกชี้เป้า

ต้องยอมรับโดยดุษฎีว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวเร่งให้เกิดมลพิษต่างๆ จากการแปลงสภาพผืนดินให้เป็นคอนกรีตที่สะสมความร้อนมากกว่าเดิมเป็นสิบเท่า โดยเฉพาะในช่วงของขั้นตอนการก่อสร้าง ผู้ประกอบการจึงต้องร่วมกันป้องกันและมีการบริหารจัดการที่ดี ภายใต้ Green Construction Management และ ในขั้นตอนการบริหารจัดการชุมชนหลังการเข้าอยู่อาศัย หรือ Green Community Management ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญที่สุด เพราะเราต้องดูแลลูกค้าตลอดระยะเวลาที่ลูกค้ายังคงอยู่กับเรา และด้วยลูกค้าจำนวนมากเกือบ 1.5 แสนครอบครัว ย่อมมีการบริโภค (consume) ที่มีจำนวนมากตาม ทั้งสร้างขยะ สร้างน้ำเสีย มลพิษทางอากาศจากควันรถ ทั้งหมดนี้จึงนำไปสู่การร่วมมือ ป้องกัน ด้วยการวางแผนและบริหารจัดการอย่างดี ภายใต้ความร่วมมือ ร่วมใจ ของลูกค้าทุกคน

🔸 “Green Community Management” เส้นทางแห่งความยั่งยืน

ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องมีหลายส่วนด้วยกัน ทั้งผู้บริหารจัดการชุมชน คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดฯ ผู้จัดการชุมชนและเจ้าหน้าที่ทุกส่วน รวมถึงผู้ที่คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งก็คือทุกหน่วยงานในบริษัทผู้บริหารจัดการชุมชน ซึ่งยังไม่เคยได้กล่าวถึง ทั้งฝ่ายบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องโดยตรง ฝ่ายซ่อมแซมบำรุงรักษา ฝ่ายบริหารการเงินนิติฯ ฝ่ายบริหารสิ่งแวดล้อม ฝ่ายวิจัยและพัฒนา ฝ่ายควบคุมและตรวจสอบคุณภาพ และอื่นๆอีกมากมาย

และเมื่อมีการบริหารจัดการที่ดี สิ่งสำคัญถัดมาคือ การให้ความรู้แก่ผู้อยู่อาศัย เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ มีความเข้าใจแท้จริง และปฏิบัติร่วมกัน นอกจากนี้ คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด ตัวแทนของผู้อยู่อาศัยทั้งหมดในชุมชน ก็เป็นผู้ที่จะคอยช่วยแนะนำและส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันสร้างสังคมการอยู่อาศัยที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ทั้งการร่วมกันคัดแยกขยะ การร่วมกันรักษาความสะอาด ความน่าอยู่ของชุมชน ช่วยกันสร้างสรรค์และเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน

🔸 ถนนทุกสายมุ่งสู่ความยั่งยืน

เมื่อสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันปกป้องรักษา ดังนั้น จึงไม่ใช่เพียงแค่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น แต่องค์กรทุกประเภทจะต้องร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งเราจะเห็นการตื่นตัวที่เป็นสัญญาณดีที่บ่งบอกว่าทุกคนได้ตระหนักรู้ บางอย่างอาจจะต้อง back to basic เหมือนสมัยที่รุ่นปู่ย่าตายายเคยทำมา ใช้วัสดุที่เป็นมิตร จากที่เคยหิ้วตระกร้าไปจ่ายตลาด ก็กลายเป็นหิ้วถุงผ้าไปช้อปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป คุณจะได้อมยิ้มเมื่อได้เห็นไอเดียสร้างสรรค์ในธุรกิจการท่องเที่ยวของชาวบ้านหรือธุรกิจ SME ที่ใช้วัสดุตามธรรมชาติมานำเสนอต่อชาวต่างชาติ คนที่รีบทำความสะอาดรอบบ้านก่อนฝนจะตก เพื่อป้องกันขยะไปอุดตันตามท่อระบายน้ำ คนที่ช่วยเก็บขยะจากพื้นไปทิ้งให้ถูกที่ถูกทาง สังคมที่ร่วมแบ่งปันความช่วยเหลือในยามภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง เช่น นักศึกษาอาชีวะที่ใช้ทักษะความรู้ของตนมาช่วยซ่อมรถจักรยานยนต์ที่เสียหายจากการลุยน้ำท่วมให้บุคคลทั่วไป

แม้เราไม่อาจบอกได้ว่ารุ่นลูกหลานเราจะต้องอยู่อาศัยภายใต้สภาพแวดล้อมอย่างไร แต่เราทำได้ โดยร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้เกิดขึ้นในวันนี้ ด้วยการเริ่มที่ตัวเรา เพื่อความยั่งยืนตลอดไปค่ะ