ตามที่ ดร. สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊ก กรณีรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยระบุว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่ – เตาปูน (โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม) มาตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2559 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้ว แต่ยังมีผู้ใช้บริการน้อยมาก ทำให้ต้องรับภาระขาดทุนเฉลี่ยประมาณ 3.5 ล้านบาทต่อวัน นั้น

รฟม. ใคร่ขอเรียนชี้แจงว่า การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และรวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ก่อให้เกิดการสร้างงาน เพิ่มผลิตภาพและศักยภาพ การผลิตในระยะยาว  สำหรับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (โครงการรถไฟฟ้าฯ) นี้เป็นการดำเนินการโครงการในรูปแบบของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน โดยเป็นรูปแบบการดำเนินงานที่ภาครัฐเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ Public Private Partnership (PPP) ในรูปแบบ PPP Gross Cost กล่าวคือ รัฐลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสาร ในขณะที่เอกชนลงทุนระบบรางและระบบรถไฟฟ้าและทำหน้าที่เดินรถไฟฟ้า โดยรัฐจ่ายชำระเป็นเงินลงทุนให้แก่เอกชนสำหรับค่ารถไฟฟ้าและค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าแบบกำหนดราคาคงที่ ซึ่งจากรูปแบบการดำเนินโครงการดังกล่าวจึงส่งผลให้ รฟม. ในฐานะหน่วยงานของรัฐมีภาระค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงจากค่าผ่อนชำระระบบรถไฟฟ้าและค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าเมื่อเทียบกับรายได้ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการ

นอกจากนี้นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านระบบขนส่งสาธารณะ ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะผลตอบแทนทางด้านการเงินแต่เน้นผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม  ดังนั้นหากพิจารณาเฉพาะผลตอบแทนทางด้านการเงินจากผลการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าฯ ที่ผ่านมาจะพบว่าโครงการรถไฟฟ้าฯ มีผลการดำเนินงานขาดทุน ทั้งนี้เพราะมูลค่าการก่อสร้างระบบขนส่งทางรางที่สูง  ในขณะที่กำหนดอัตราค่าโดยสารที่ต่ำ ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับนโยบายภาครัฐที่มุ่งเน้นที่จะสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะเพิ่มมากขึ้น รวมถึงให้ประชนชนที่มีรายได้น้อยมีโอกาสเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะในรูปแบบของรถไฟฟ้าได้

อย่างไรก็ตามในการพิจารณาความคุ้มค่าการลงทุนของโครงการในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าฯ ที่มุ่งเน้นผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมนั้นจะพิจารณาจากการที่ โครงการรถไฟฟ้าฯ สามารถช่วยลดการใช้พลังงานในภาคการขนส่งอันเป็นผลจากการจราจรติดขัด ตลอดจนลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการลดก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซส์  ลดค่าใช้จ่ายจากการกำจัดมลพิษ เกิดการเพิ่มการจ้างงาน ลดการเกิดอุบัติเหตุจากการเดินทาง ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการประหยัดเวลาในการเดินทางและความปลอดภัยจากการเดินทางที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะอื่น อาทิเช่น รถแท็กซี่ รถตู้โดยสาร เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม รฟม. ก็เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการลดการภาวะการขาดทุนของโครงการรถไฟฟ้าฯ โดย รฟม. อยู่ระหว่างดำเนินมาตรการเร่งรัดการเพิ่มจำนวนการใช้บริการรถไฟฟ้าและรายได้ ดังนี้

  1. รฟม. อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการจัดให้มีรถโดยสาร (Feeder Bus) เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับและส่งประชาชนตามแนวสายทางโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น แยกไทรน้อย สนามบินน้ำ ห้าแยกปากเกร็ด แคราย ตลิ่งชั่น ทั้งนี้ รฟม. อยู่ระหว่างการศึกษาเส้นทาง Feeder ที่เหมาะสม ซึ่งจะสามารถดำเนินการเป็นรูปธรรมประมาณกลางปี 2560
  2. การดำเนินการเร่งรัดการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าระหว่างสถานีเตาปูน – บางซื่อ ซึ่ง รฟม. จะลงนามสัญญาจ้างบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 และมีกำหนดแล้วเสร็จเดือนสิงหาคม 2560
  3. การปรับลดอัตราค่าโดยสารจาก 14 – 42 บาท เป็น 14 -29 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2559 เป็นต้นมา นอกจาก รฟม. อยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการเพิ่มเติม โดยการคิดค่าโดยสารในอัตรา 15 บาท ตลอดสายในช่วงวันหยุด ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 เป็นต้นไป ทั้งนี้จนกว่าการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าระหว่างสถานีเตาปูน – บางซื่อ จะแล้วเสร็จสมบูรณ์
  4. การศึกษาการออกผลิตภัณฑ์บัตรโดยสารรูปแบบใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการและพฤติกรรมของผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า อาทิเช่น บัตรโดยสารรายเดือน บัตรโดยสารประเภทจำกัดเที่ยว เป็นต้น
  5. การจัดให้มีการพัฒนาเชิงพาณิชย์ และบริการเสริมบริเวณสถานีและขบวนรถไฟฟ้า อาทิเช่น การโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ร้านค้าปลีก เครื่องบริการถอนเงินอัตโนมัติ โทรคมนาคม ที่นั่งรอรถ เป็นต้น
  6. การร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อจัดให้มีสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ใช้บริการ อาทิเช่น การใช้บัตรโดยสารรถไฟฟ้าเพื่อเป็นส่วนลดร้านค้าและบริการ การได้รับเครดิตเงินคืนจากการใช้บัตรชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า เป็นต้น
  7. การดำเนินกิจกรรม/โครงการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ อาทิเช่น การจัดงาน OTOP การจัดกิจกรรมร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
  8. การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าให้กับประชาชนตามแนวสายทางรถไฟฟ้า อาทิเช่นหน่วยงานและโรงเรียนตามแนวสายทางรถไฟฟ้า ประชาชนตามแนวสายทางรถไฟฟ้า เป็นต้น

ท้ายสุดนี้ รฟม. ตระหนักดีถึงภาระหน้าที่ในการเร่งรัดก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้เป็นไปตามเป้าหมายและนโยบายของรัฐบาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางขนส่งของประชาชน และลดปัญหาวิกฤติจราจรในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม รฟม. ก็มิได้นิ่งนอนใจในการปรับปรุงการให้บริการเดินรถให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการกำหนดมาตรการในการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าให้มีมากยิ่งขึ้น เพื่อให้โครงการรถไฟฟ้าฯ มีความคุ้มค่าต่อการลงทุนมากที่สุด