ใกล้จะสิ้นสุดการรอคอยเสียที โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วง “บางซื่อ-บางใหญ่” ระยะทาง 23 กม. หลังใช้เวลาสร้างมา 6 ปี
ความคืบหน้าล่าสุด “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” จะเริ่มทดสอบระบบครั้งแรกวันที่ 5 ธ.ค.นี้ ก่อนจะเปิดบริการเต็มรูปแบบวันที่ 12 ส.ค. 2559
ขณะนี้รอรถ 3 ขบวนแรก กำลังเดินทางจากญี่ปุ่นมาถึงไทย ก.ย.นี้ ซึ่ง “บีเอ็มซีแอล-บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ” สั่งซื้อผ่านกลุ่มกิจการร่วมค้ามารุเบนิ-โตชิบา เพื่อจัดหาขบวนรถไฟฟ้า ระบบจ่ายไฟ ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบควบคุม และติดต่อสื่อสารมี “J-TREC” หรือ บจ.เจแปน ทรานสปอร์ตเอ็นจิเนียริ่ง เป็นผู้ผลิตขบวนรถไฟฟ้า และมี “JR-East” หรือ บจ.อีสต์เจแปน เรลเวย์ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้ารายใหญ่ของญี่ปุ่น รับผิดชอบการบำรุงรักษาเป็นเวลา 10 ปี
ทั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ผู้ผลิตจากแดนปลาดิบเจาะตลาดรถไฟฟ้าของไทยสำเร็จในรอบ 30 ปี นับจากส่งออกขบวนรถไฟดีเซลให้ “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” จำนวน 13 ตู้คมนาคมดูความพร้อม และเพื่อให้สัมผัสกับของจริง ล่าสุด 3 หน่วยงาน “คมนาคม-รฟม.-บีเอ็มซีแอล”นำทัพสื่อมวลชนร่วม 50 ชีวิต บินลัดฟ้าพาดูการผลิตรถไฟฟ้าสายสีม่วงถึงเมืองโยโกฮามา ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ และโรงงาน
“J-TREC” ซึ่งมีขนาดพื้นที่ 285,000 ตร.ม. พนักงาน 900 คน กำลังการผลิตรถ 720 คัน/ปีมีรถไฟฟ้าที่ผลิตตั้งแต่ปี 2557 ทั้งหมด 17,000 คัน
“สร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์” ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็นสายที่ 2 ของ รฟม.ที่เปิดใช้บริการ ต่อจากสายแรกรถไฟฟ้าใต้ดิน (บางซื่อ-หัวลำโพง) ระยะทาง 20 กม. เปิดใช้
10 ปีที่แล้ว ทาง รฟม.จะเริ่มทดสอบระบบครั้งแรก ธ.ค.นี้ สำหรับ 3 ขบวนแรก จำนวน 9 ตู้ ที่ผ่านการตรวจสอบความเรียบร้อยและทำพิธีรับมอบแล้ว ก่อนส่งลงเรือเมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา
จากนั้นจะทยอยส่งมอบขบวนรถที่เหลือจนครบ 21 ขบวน ม.ค. 2559 เพื่อเตรียมพร้อมทดสอบเสมือนจริง มีประชาชนมาใช้บริการฟรี พ.ค. จนถึง ส.ค.ที่จะเปิดเชิงพาณิชย์เก็บค่าโดยสาร ขณะนี้ รฟม.กำลังศึกษาอัตราค่าโดยสาร ต่อไปจะใช้ระบบตั๋วร่วมกับบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำระบบจะเสร็จปีหน้า
รถ 3 ขบวนแรกถึงไทย ก.ย.
“พีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล” ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า สายสีม่วง บริษัทบีเอ็มซีแอลเป็นผู้รับสัมปทานเดินรถ 30 ปี (2556-2586) โดยรถ 3 ขบวนแรก จะถึงท่าเรือแหลมฉบังวันที่ 15-16 ก.ย. หรืออาจจะล่าช้าเล็กน้อยเพราะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย จากนั้นจะทดสอบระบบต้น ธ.ค.นี้ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการ โดยจะให้ผู้สื่อข่าวร่วมนั่งขบวนรถด้วย ยังไม่เปิดให้คนทั่วไปใช้ต้องรอให้การทดสอบจนมั่นใจก่อน
“อัตราค่าโดยสาร รฟม.จะเป็นผู้กำหนด น่าจะเริ่มต้น 16 บาท เท่ากับรถไฟฟ้าใต้ดิน เมื่อเปิดใช้ปีแรกจะมีผู้โดยสาร 1 แสนเที่ยวคน/วัน” ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวและว่า สำหรับขบวนรถ ทาง รฟม.กับบีเอ็มซีแอลร่วมกันกำหนดรูปแบบดีไซน์ ไม่เน้นทันสมัยหรือเฉี่ยวมาก จะเน้นความคงทนและฟังก์ชั่นการใช้งานในระยะยาวมากกว่า ซึ่งขบวนรถจะผลิตจากสเตนเลสทั้งคัน จะทำให้ใช้งานได้นาน ต้นทุนซ่อมบำรุงไม่สูงมาก
ดีเดย์ พ.ค. 59 เปิดให้คนใช้ฟรี
ด้าน “วิทูรย์ หทัยรัตนา” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทบีเอ็มซีแอล กล่าวว่า รถขบวนแรกเริ่มทดสอบที่โรงงานผลิตในเมืองโยโกฮามาตั้งแต่ ก.ค.ที่ผ่านมา ก่อนที่ญี่ปุ่นจะส่งมอบให้บริษัท เมื่อขบวนรถมาถึงประเทศไทย ก.ย. ต้องวิ่งทดสอบบนรางภายในศูนย์ซ่อมบำรุง เพื่อทดสอบฟังก์ชั่นการทำงานแบบแยกระบบ จากนั้นจะเข้าสู่การทดสอบระบบร่วม
“จะใช้เวลา 3 เดือนตั้งแต่ ก.พ.-เม.ย. ทดสอบการทำงานร่วมกันของระบบต่าง ๆภายในระบบรถไฟฟ้า ก่อนเปิดบริการเต็มรูปแบบ ส.ค.ปีหน้า แต่ช่วงทดสอบเสมือนจริง3 เดือนสุดท้ายตั้งแต่ พ.ค. จะให้คนมาใช้บริการด้วย”
นายวิทูรย์กล่าวว่า สำหรับรถไฟฟ้านำมาวิ่งบริการของสายสีม่วง มี 21 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ รวม 63 ตู้ วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 80 กม./ชม. ตัวรถไฟทำจากสเตนเลสและปิดทับด้วยแผ่นไวนิล ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าติดกับตัวรถจะรับไฟจากรางที่ 3
รองรับผู้โดยสารได้ 921 คน/ขบวน
ขณะที่การเดินรถต่อเชื่อมระหว่างสถานีเตาปูน-บางซื่อ จำนวน 1 สถานี “วิทูรย์” อธิบายว่า รฟม.จ้างบริษัทเดินรถให้ โดยใช้รถขบวนเดิมของรถไฟฟ้าใต้ดินมาเดินรถรับส่งคนทั้งสายสีน้ำเงินเดิมและสายสีม่วง เนื่องจากบริษัทไม่สามารถซื้อรถใหม่ได้ทันเป็นความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีม่วงที่คนกรุงเทพฯ และนนทบุรี เฝ้ารอคอยมา 6 ปีส่วนรัฐบาลจะเร่งกำหนดตัดริบบิ้นเร็วขึ้นมอบเป็นของขวัญปีใหม่ ตามที่ “นายกฯบิ๊กตู่”เคยลั่นวาจาไว้หรือไม่ ต้องลุ้นกันต่อไป
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ