กรุงเทพมหานครปลดล็อกพื้นที่รอบอาคารรัฐสภาเกียกกาย เผยข้อบัญญัติคุมความสูงถูกยกเลิกไปเมื่อต้นปี 2555 เนื่องจากสามารถสร้างตึกสูงเกิน 8 ชั้นได้ตามผังเมืองใหม่สีน้ำตาล
แหล่งที่มาข้อมูลและภาพประกอบ: หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,887 วันที่ 13-16 ตุลาคม 2556
ยกร่างข้อบัญญัติ เสนอสภา
นายทรรน ศิลาทอง รองผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม. ยกร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภทในพื้นที่บางส่วนในท้องที่บางซื่อ เขตดุสิต และเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร แล้วเสร็จและเตรียมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภากรุงเทพมหานคร ทั้งนี้เพราะข้อบัญญัติดังกล่าว หมดอายุไปเมื่อ วันที่ 28 มกราคม 2555
สาระสำคัญข้อบัญญัติเดิม
ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภทในพื้นที่บางส่วนในท้องที่บางซื่อ เขตดุสิต และเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ออกตามความในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 และบังคับใช้ต่อเนื่องหลังประกาศกระทรวงมหาดไทยของกรมโยธาธิการฯ ห้ามก่อสร้างดัดแปลงอาคารบริเวณรัฐสภา
สาระสำคัญ กำหนดไว้ 2 บริเวณรอบรัฐสภา ดังนี้
บริเวณที่ 1 หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณระหว่างทิศเหนือ ทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันตกจดแนวขนานซึ่งห่างจากแนวเขตที่ดินของรัฐสภาแห่งใหม่ 300 เมตร (พื้นที่สีเขียว ดังภาพ)
ห้ามก่อสร้าง
- อาคารที่มีความสูงเกิน 15 เมตร หรืออาคารสูงเกิน 5 ชั้น
- โรงงานทุกประเภท
- โรงมหรสพ
- อาคารสถานีขนส่งตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
- อาคารเลี้ยงสัตว์ทุกชนิด
- อาคารขนาดใหญ่
- ตลาดตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขที่มีพื้นที่ทุกชั้นในหลังเดียวกันหรือหลายหลังรวมกันเกิน 300 ตารางเมตร
- โรงซ่อมสร้างยวดยาน
- คลังน้ำมันเชื้อเพลิง
- ป้ายทุกชนิด เว้นแต่ป้ายบอกชื่อสถานที่ความสูงไม่เกิน 12 เมตร
- โรงกำจัดขยะ
- ฌาปณสถาน
- อาคารเก็บสินค้า หรืออาคารที่ส่วนหนึ่งส่วนใดเป็นที่เก็บพักหรือขนถ่ายสินค้า หรืออุตสาหกรรมซึ่งมีพื้นที่รวมกันเกิน 100 ตารางเมตร
บริเวณที่ 2 หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณระหว่างทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้จดแนวขนานซึ่งห่างจากแนวเขตของบริเวณที่ 1 ด้านเหนือ ด้านตะวันออก และด้านใต้ 500 เมตร ทิศตะวันตกจดแนวขนานซึ่งห่างจากแนวเขตของบริเวณที่ 1 ด้านตะวันตกไปจนจดแนวขนาน ซึ่งห่างจากเขตถนนจรัญสนิทวงศ์ ฟากตะวันออก 300 เมตร (พื้นที่น้ำตาล ดังภาพ)
ห้ามก่อสร้าง
- อาคารที่มีความสูงเกิน 23 เมตร หรือเกิน 8 ชั้น และอาคารทุกประเภทเช่นเดียวกับบริเวณที่ 1
ซึ่งข้อบัญญัติดังกล่าว ได้หมดอายุไปแล้ว จึงทำให้ กทม. สามารถการปรับพื้นที่ควบคุมความสูงรอบสภาเกียกกายได้ โดยมีเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้
ปรับพื้นที่ควบคุมความสูง
เขตจรัญสนิทวงศ์
เนื่องจากผลการสำรวจจากประชาชนในพื้นที่พบว่า ชาวบ้านต้องการให้ยกเลิกควบคุมความสูง เพราะกินอาณาบริเวณที่มากเกิน ซึ่งอาคารรัฐสภาคั่นด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา จึงไม่เป็นธรรมที่ฝั่งตรงข้ามจะต้องถูกควบคุมไปด้วยจึงส่งผลให้ กทม. ปรับลดโซน ควบคุมความสูงให้แคบลง ครอบคลุมบริเวณ ถ.จรัญสนิทวงศ์
ดังนั้น พื้นที่บริเวณนี้จึงสามารถสร้างตึกสูงเกิน 23 ตร.ม. หรือ เกิน 8 ชั้น ได้ และด้วยผังเมือง กทม. ใหม่ กำหนดให้พื้นที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่สีน้ำตาล จึงสามารถสร้างตึกสูงกว่า 30 ชั้นได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านคมนาคม ที่บริเวณนี้มีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินพาดผ่าน จึงทำให้ ราคาที่ดินขยับตัวพุ่งสูงตารางวาละ 120,000 – 250,000 บาท
อย่างไรก็ตาม แม้จะได้ประโยชน์จาก แต่ในทางปฏิบัติจริงอาจติดปัญหา EIA เนื่องจาก คณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อมชุมชนอสังหาริมทรัพย์ มองว่า ไม่สามารถอนุญาตสร้างอาคารสูงได้เนื่องจากบดบังทัศนียภาพ และความมั่นคง
เขตดุสิต
แม้อาจมองว่า ได้รับผลกระทบจากการปลดล็อกควบคุมความสูงรอบสภาครั้งนี้ แต่เนื่องจากใกล้เขตพระราชฐานที่มีข้อบัญญัติควบคุมอยู่แล้วจึงต้องออกกฎคุมความสูงต่อไป เพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพ
แหล่งที่มาข้อมูลและภาพประกอบ: หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,887 วันที่ 13-16 ตุลาคม 2556