“บ้านสไตล์คลาสสิค เสาโรมัน พร้อมน้ำพุไฟหน้าบ้าน” มักจะเป็นหนึ่งในฉากของละครหลายๆ เรื่อง ทั้งจากช่องน้อยสีและหลากสี ด้วยรายละเอียดสถาปัตยกรรมที่น่าทึ่ง ทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามถึงที่มาและกระบวนการในการก่อสร้าง
วันนี้เรามีคำตอบมาเฉลยค่ะ บ้านหลายๆ หลังที่เราเคยเห็นในละคร ส่วนมากเป็นผลงานจากบริษัท The Emperor House บริษัทรับสร้างบ้านพรีเมี่ยม ที่อยู่คู่กับวงการรับสร้างบ้านมากำลังจะเข้าสู่ปีที่ 28 จุดเด่นของ Emperor คือรับสร้างบ้านสไตล์คลาสสิค ราคาเฉลี่ยประมาณ 70 ล้านขึ้นไป โดยเป็นบริษัทแรกๆ ที่บุกเบิกธุรกิจแนวนี้
และ…ก็เป็นโชคดีของ Think of Living เรามีโอกาสได้มานั่งคุยกับ “คุณอ้วน-สุรัตน์ชัย กึงฮะกิจ” ประธานกรรมการบริหารบริษัทฯ ผู้ก่อตั้ง The Emperor House ส่วนรายละเอียดเนื้อๆ จะเป็นอย่างไร ตามอ่านได้ในบทสัมภาษณ์กันเลยคะ
– สวัสดีคะ คุณอ้วน อยากให้เล่าถึงภาพรวมคร่าวๆ ของ The Emperor House ให้ฟังหน่อยคะ
The Emperor House เป็นบริษัทรับสร้างบ้าน ราคาระดับสูง โดยเฉลี่ยเริ่มต้นประมาณ 70-80 ล้านบาท เราจับราคาสูงที่สุดในตลาด ถ้าแค่บ้านเปล่าๆ จะอยู่ที่ 30 ล้านบาท มูลค่าการตกแต่งภายในอยู่ประมาณ 100-120% ของราคาบ้าน ซึ่งเมื่อรวมทั้งหมดแล้วทำให้ราคาพุ่งถึง 70-80 ล้านบาท
ก่อนที่เราจะมาจับบ้านเกรดนี้ ประมาณ 7-8 ปีแรก เราก็รับสร้างบ้านหรืออาคารทั่วๆ ไป แล้วประมาณช่วงพศ. 2539-40 เรา re-positioning ตัวเองใหม่ กลายเป็นบริษัทรับสร้างบ้านเลย เราไม่อยากสู้งานที่ตัดกันด้วยราคา อยากให้วัดที่มาตราฐานมากกว่า ทุกวันนี้ The Emperor House เป็นบริษัทรับสร้างบ้าน ซึ่งมีจุดยืนที่สูงที่สุดในวงการ เราผลิตสินค้าที่ “เหนือ” กว่าความคาดหวังของลูกค้า
คอนเซ็ปต์ของเราคือ “ครั้งหนึ่งในชีวิต” บ้านหลังนี้จะต้องเปรียบเสมือนความใฝ่ฝันสูงสุดของลูกค้า เป็นบ้านแห่งความภูมิใจ และสืบต่อไปรุ่นสู่รุ่น เพราะฉะนั้น… บ้านหลังนี้จะเหนือกว่าความคาดหวังทั่วไป กลายเป็น “ตำนานชั่วลูกชั่วหลาน” คนสร้างไม่ได้สร้างเพื่อตัวเอง สร้างเพื่อคนรุ่นต่อๆ ไป และเรานำมาต่อยอดเป็นแคมเปญล่าสุด “บ้าน 100 ปี” คือ 100 ปี ข้างหน้า บ้านหลังนี้ก็ยังดูสวยดูดี แล้วคนรุ่นต่อๆ ไป ก็จะพูดถึงอย่างคนสร้างรุ่นแรกอย่างภูมิใจ เหมือนวังหรือตำหนัก ที่เจ้านายชั้นสูงสร้างทิ้งไว้ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ โดยเราพยายามเน้นในเรื่องการบำรุงรักษา
ภาพ: บ้าน 100 ปี
– ขอให้คุณอ้วนเล่าย้อนถึงความเป็นมาของ The Emperor House ในยุคแรกๆ
The Emperor House เกิดมาจากทีมก่อสร้าง เราไม่ได้มีไอเดียทางการตลาดเลย โดยพื้นฐานผมเป็นวิศวกร ไม่ใช่สถาปนิก เติบโตจากการอยู่หน้างาน ไม่ว่าจะเป็นอาคารสูง สะพานแขวน ซึ่งมีมาตรฐานและมีการควบคุมคุณภาพสูง เพราะฉะนั้นผมพยายามดึงจุดตรงนั้นมาใช้ สมัยก่อนบ้านสร้างง่ายๆ ไม่ต้องใช้วิศวกรเลย มีแค่เสา คาน พื้น หลังคา ใส่หน้าต่างประตู ก็จบ… พอเราไปสัมผัสกับผู้รับเหมาสมัยนั้น
เราก็ตกใจว่าเขาทำกันอย่างนี้เหรอ (หัวเราะ) คือหลังจากที่เรียนจบมา ผมทำงานในบริษัทที่มีมาตรฐานสูงในการก่อสร้าง ทำให้ผมเข้าใจว่าทุกที่น่าจะเหมือนกันหมด จนกระทั่งผมย้ายไปทำบริษัทที่รับสร้างหมู่บ้าน ก็เลยเห็นว่าเขาทำงานกันยังไง ซึ่งผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่…ทำให้เกิดความคิดที่จะสร้างบ้านมาตรฐานสูงขึ้นมา
ความที่พื้นฐานทีมของผม มาจากทีมก่อสร้าง ทำให้เราเน้นหนักไปที่มาตรฐานการก่อสร้าง ข้อจำกัดของเราคือ การเติบโตของบริษัทยังไม่ค่อยสูงนัก 1 ปีเราสร้างบ้านได้แค่ 5-6 หลัง เราโตด้วยมูลค่าของบ้าน ไม่ได้โตด้วยมูลค่าของบ้าน เมื่อ 25 ปีก่อน เราก็สร้างแค่ปีละ 5-6 หลัง แต่มูลค่าของบ้านมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี โดยทุกๆ ช่วง เราจะมีบ้านกำลังก่อสร้างเสมอ บ้านหลังนึงใช้เวลาในการสร้างประมาณ 2-3 ปี
– บ้านสไตล์คลาสสิกของ Emperor ได้แรงบันดาลใจมาจากที่ไหนคะ
สมัยนั้นมีหมู่บ้านสไตล์คลาสสิคชื่อ “สุขุมวิท การ์เด้น ซิตี้” แต่ด้วยความเป็นหมู่บ้าน ก็ทำให้บ้านแต่ละหลังได้ไม่ใหญ่มาก เมื่อเร็วๆ นี้ ผมมีโอกาสได้เข้าไปหมู่บ้านนี้ ก็ยังดูมีเสน่ห์อยู่ แต่ด้วยข้อจำกัดของหมู่บ้านจัดสรร รูปแบบบ้านยังทื่อๆ แข็งๆ ฟังก์ชั่นยังไม่ค่อยดี
ภาพ: สุขุมวิท การ์เด้น ซิตี้
แรงบันดาลใจของผมก็มาจาก “สุขุมวิท การ์เด้น ซิตี้” ตอนนั้นบริษัทรับสร้างบ้านไม่มี มีแต่หมู่บ้าน ผมก็เลยตัดสินใจเอาแนวคิดตรงนั้นมาปรับใช้ ประกอบกับพื้นฐานของผมเป็นทีมก่อสร้าง ที่สร้างบ้านมาตรฐานสูงๆ มา ผมก็เลยจำเป็นต้องจับลูกค้าที่มีกำลังซื้อ …ก็เป็นอะไรที่ลงตัว เกิดเป็น The Emperor House ขึ้นมา
สาเหตุที่ผมเลือกทำบ้านสไตล์คลาสสิคของ Emperor เพราะมันมีเอกลักษณ์ที่ไม่มีวันหมดอายุ ซึ่ง The Emperor House ไม่ใช่แค่เอาเสาโรมัน หรือรูปปั้นมาตั้ง งานคลาสสิคมันขึ้นอยู่กับโครงสร้าง รูปแบบ และฟังก์ชั่นของบ้าน ซึ่งแต่ละอย่างจะมีมาตรฐานกำหนด บ้านหลังแรกที่เราสร้าง ก็ต้องเปิดตำราศึกษาจากสัดส่วนโบสถ์ วิหาร ของยุโรป แล้วนำมาย่อสัดส่วนให้เป็นบ้าน
– แล้ว The Emperor House เริ่มเป็นที่รู้จักของตลาดได้ยังไงคะ
เราเปิดตัวปีพ.ศ.25 39 ก่อนที่ฟองสบู่จะเริ่มแตก…ค่อนข้างฮือฮา และมีหลายคนปรามาสว่าธุรกิจแบบนี้ไม่น่าจะไปรอด กระทั่งเข้าปีพ.ศ. 2540 มีการประกาศค่าเงินบาทลอยตัว ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ คือ ธุรกิจนำเข้า เพื่อนผมทำโรงงานหินอ่อน สั่งเครื่องจักรมาจากอิตาลี ระหว่างเดินทาง ค่าเงินก็ขึ้น จากที่เคยจ่าย 1 ล้านเหรียญ ในราคา 25 ล้านบาท ขึ้นเป็น 40 ล้าน เกือบเท่าตัว ล้มกันไปหลายเจ้า แต่อย่างที่บอกทุกวิกฤตมีโอกาส ณ จุดนั้น เป็นโอกาสของผมกับผู้ส่งออก ขายของชิ้นนึง 25 ล้าน แต่ได้เงินมา 40 ล้านบาท บ้านหลังแรกที่ผมสร้างมูลค่า 40 ล้าน เขาบอกเหมือนเขาได้ฟรี เพราะมันได้จากส่วนต่างของค่าเงิน ขายแค่ซัก 3 ล้านเหรียญ ก็ได้เงินมาซื้อบ้านหลังนึงแล้ว
ในช่วงต้นๆ เราก็มีแต่ลูกค้าส่งออก แล้วบังเอิญว่าการสือสารของเราก็เข้าหากลุ่มนี้โดยบังเอิญ แล้วก็เข้าสู่ช่วงที่ 2 ประมาณ 10 ปีก่อน เราได้สร้างบ้านที่มีมูลค่าสูงสุดในวงการ 217 ล้านบาท แล้วบ้านหลังนั้นก็เป็นบ้านที่อยู่ในละครหลายๆ เรื่อง ประเด็นนี้นักข่าวก็เอาไปเล่นว่า บ้านที่แพงที่สุดในวงการฯ กลายเป็นกระแสขึ้นมา เราใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างจากบริษัททั่วไป ไม่ได้ลดแลกแจกแถม เหมือนเจ้าอื่น กลยุทธ์ของ The Emperor House จะเป็น Leadership Strategy เน้นความเป็นผู้นำ เมื่อ 10-20 ปีก่อนเราทำอะไร วันนี้หลายๆ รายก็เริ่มทำตาม
จุดเสียของ The Emperor House ก็คือเพิ่มปริมาณการก่อสร้างได้น้อย เพราะทีมงานก่อสร้างเราพัฒนายาก ทุกวันนี้เรามีทีมงานประมาณ 200 กว่าคน ส่วนมากจะเป็นช่างฝีมือ ซึ่งไม่ได้ฝึกกันง่ายๆ
ภาพ: บ้านหลังแรก
บ้านหลังแรกที่เราสร้างประมาณ 25 ปีที่แล้ว ถ้าวันนี้กลับไปดู…ก็ยังสวย ดูดี บางคนนึกว่าเพิ่งสร้างมา 2-3 ปี เพราะ โครงสร้าง และฟังก์ชั่นการใช้งาน ยังไม่มีการเสื่อมสภาพมากนัก และด้วยรูปแบบที่ยึดมาจากคลาสสิก ทำให้ไม่ค่อยล้าสมัยเท่าไหร่
– ความที่บริษัทค่อนข้างใหญ่ บริษัทมีเทคนิคในการดูแลพนักงานให้ทั่วถึงยังไงบ้างคะ
ส่วนใหญ่พนักงานจะอยู่กับเรานาน เพราะงานของเราเป็นงานละเอียด ถ้าคนของเราเปลี่ยนเรื่อยๆ ก็ต้องมาศึกษากันใหม่ เราใช้วิธีสร้างคน โดยในหน่วยงานก่อสร้างก็จะมีระดับ supervisor คอยเทรน และพัฒนาฝีมือให้ตลอดเวลา
ระดับเจ้าหน้าที่ ผมก็ส่งเรียนปริญญาโท ในหลายๆ สาขา ทั้ง Marketing สถาปัตย์ หรือวิศวะ ทุกวันนี้ ทีมบริหารของ The Emperor House ก็เป็นทีมที่ผมสร้างขึ้นมา ผมใช้คำว่า “ทีม 5+1” 5 คนมาจาก The Emperor House และ 1 คนมาจากเฟอร์นิเจอร์ (อีกบริษัท) หลักๆ ก็คือ พนักงานของเราที่อยู่มา 10-20 ปี เราก็พัฒนาคนเหล่านี้ให้กลายมาเป็น “Genreation 2” ต่อจากผม ไม่มีตระกูลของผมอีกแล้ว ในรุ่นต่อๆ ไป
เราก็สืบทอดกันด้วยฝีมือมากกว่าวงศาคณาญาติ ทุกวันนี้เรามองถึง “Generation 3” แล้ว ใครมีแววดีเราก็เร่งพัฒนาเขา ผมคิดว่าการสร้างคนมันต้องใช้เวลา อยากจะให้ The Emperor House อยู่รอดก็ต้องใช้วิธีนี้ ไม่ใช่แค่หมดรุ่นผมแล้วก็จบกัน
– ได้ยินว่าล่าสุด ทาง The Emperor House รับสร้างบ้านให้นักธุรกิจที่ลาว
ใช่ครับ ก่อนหน้านั้นก็มีหลายประเทศที่ติดต่อเข้ามา เจ้าแรกมาจาก Trinidad and Tobago เกาะเล็กๆ ส่วนนึงของ Spain เดินทางมาเที่ยวเมืองไทย แล้วมาเห็นงานโฆษณาของเรา ก็รู้สึกประทับใจ เลยไปถ่ายที่ดินในประเทศเขามาให้ดู อยากให้เราไปสร้างบ้านให้ แต่เราปฏิเสธ เพราะค่อนข้างไกล สุดท้ายเขาก็เลยให้เราออกแบบให้ ค่าแบบประมาณ 2 ล้าน หลังจากนั้นก็มี ปากีสถาน หรือบังคลาเทศ และประเทศอื่นๆ อีก ซึ่งเราก็ทำได้แค่ออกแบบให้
ส่วนที่ลาว เรียกได้ว่าเป็นความบังเอิญ เพราะเขาติดต่อเข้ามาเอง แล้วบินมาดูไซต์จริงที่เมืองไทย ปัจจุบันเสร็จไป 1 หลัง อีกหลังใกล้จะเสร็จแล้ว และ 2-3 หลังที่อยู่ระหว่างการเจรจา
– มาถึงคำถามสุดท้ายค่ะ ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ มองว่าธุรกิจรับสร้างบ้านจะเป็นยังไงคะ
จริงๆ ผมมองว่าสมาคมรับสร้างบ้านแข็งแรงนะ แต่…ธุรกิจจะอยู่รอด ถ้าคุณมี “จุดยืนทางการตลาด” ที่ชัดเจน กลุ่มลูกค้าคุณเป็นใคร สร้างบ้านราคาไหน สำหรับใครที่อยากลองมาชิมลางวงการนี้ ควรหาจุดแข็งของตัวเองให้ได้ก่อน เพราะตลาดค่อนข้างกว้าง มีพื้นที่ให้ลงเยอะมาก ขึ้นอยู่กับว่าเราอยากวางตัวเองตรงไหน …
เราขอจบบทสัมภาษณ์ฉบับนี้ ด้วยภาพบ้านสวยๆ จาก The Emperor House นะคะ ^^