การเคหะแห่งชาติร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิจัย “โครงการศึกษามาตรฐานความอยู่สบายของที่อยู่อาศัยและชุมชน เพื่อการวางแผนพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยกระบวนการมีส่วนร่วม” โดยมี นายดุลมลชัย วิวัฒน์บวรวงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการสัมมนา เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัย รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงต่อยอดงานวิจัยดังกล่าว ณ ห้องบอลรูม ชั้น 3 โรงแรมเดอะแกรนด์ โฟร์วิงส์ คอนเวนชั่น เมื่อเร็วๆ นี้
นายดุลมลชัย วิวัฒน์บวรวงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า การเคหะแห่งชาติมุ่งเน้นการพัฒนา ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางทั่วประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ความต้องการด้านที่อยู่อาศัย พร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญของปัญหา รวมถึงการวางแผนและคัดเลือกรูปแบบการจัดสร้างที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่น ตลอดจนมีการศึกษาพัฒนาและกำหนดมาตรฐานที่อยู่อาศัยสำหรับชุมชนให้มีภาวะอยู่สบายสร้างความพึงพอใจให้กับผู้อยู่อาศัยในแต่ละท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว การเคหะแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการ ศึกษาวิจัย “โครงการศึกษามาตรฐานความอยู่สบายของที่อยู่อาศัยและชุมชน เพื่อการวางแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยกระบวนการมีส่วนร่วม” เพื่อใช้เป็นเกณฑ์วัดสภาวะความสบายของที่อยู่อาศัยและชุมชน ซึ่งจะเป็นการสร้างมาตรฐานที่อยู่อาศัยและชุมชนในเชิงคุณภาพ (Housing and Community Performance Standards) ซึ่งการเคหะแห่งชาติได้คัดเลือกพื้นที่ชุมชนริมแควอ้อม ในอำเภอบางคนที และอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นพื้นที่ศึกษาเพื่อดำเนินโครงการศึกษาวิจัยมาตรฐานความอยู่สบายของที่อยู่อาศัยและพัฒนามาตรฐานความอยู่สบายของที่อยู่อาศัยและชุมชน เนื่องจากเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ระบบนิเวศน์ และเป็นพื้นที่ที่มีที่อยู่อาศัยที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีภาวะอยู่สบาย เพื่อจะนำมาใช้ในการวางแผนพัฒนาที่อยู่อาศัย ในอนาคต โดยส่วนหนึ่งอาจปรับให้เป็นมาตรฐานทั่วไปที่ใช้ได้ในทุกพื้นที่ และอีกส่วนหนึ่งเป็นการพัฒนามาตรฐานเฉพาะพื้นที่ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับพื้นที่ศึกษา
ด้านรศ.ดร.กุณฑลทิพย พานิชภักดิ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะวิจัยฯ กล่าวถึงการศึกษาวิจัยฯ ว่า คณะวิจัยฯ ได้ทำการศึกษาในเชิงวิชาการควบคู่ไปกับกระบวนการ มีส่วนร่วม โดยเริ่มต้นจากการสืบค้นมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจัดตั้งภาคีเครือข่ายเพื่อกำหนดเป้าหมายร่วมกัน ประกอบด้วย การเคหะแห่งชาติ ปราชญ์ท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานส่งเสริมการศึกษา นอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดสมุทรสงคราม และหน่วยงานระดับจังหวัด เป็นต้น โดยการศึกษาในระยะแรก เป็นการสำรวจภาพรวมการอยู่สบายของชุมชนริมแควอ้อม ทั้งในด้านกายภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการบริหารจัดการ จากนั้นได้ทำการยกร่างมาตรฐานความอยู่สบายเบื้องต้นขึ้น รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากพื้นที่ศึกษาอย่างละเอียดเพื่อให้ภาคีเครือข่ายได้ประเมินพร้อมเสนอแนะข้อคิดเห็น และได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้มาตรฐานที่สมบูรณ์ ถูกต้อง แม่นยำ มากที่สุด ซึ่งได้มาตรฐานความอยู่สบายของที่อยู่อาศัยและชุมชน แบ่งออกเป็น ระดับ : บ้าน และ ระดับ : ชุมชน ประกอบด้วย หมวดที่ 1 กายภาพ, หมวดที่ 2 สิ่งแวดล้อม, หมวดที่ 3 เศรษฐกิจ, หมวดที่ 4 สังคมและวัฒนาธรรม, หมวดที่ 5 การบริหารจัดการ และหมวดที่ 6 การเรียนรู้พัฒนาประโยชน์ที่จะได้รับจากการศึกษาวิจัยโครงการดังกล่าวดังกล่าวนี้ การเคหะแห่งชาติจะนำผลการศึกษามาพัฒนามาตรฐานความอยู่สบายของที่อยู่อาศัยชุมชน
โดยใช้ความรู้พื้นถิ่นเป็นหลัก คู่ขนานไปกับการศึกษาวิชาการตามแนวคิดของประเทศตะวันตกเป็นครั้งแรก อันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติและเป็นความก้าวหน้าทางวิชาการ รวมทั้งจะนำมาตรฐานความอยู่สบายที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้ไปปรับใช้พัฒนามาตรฐานที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติในโครงการต่างๆ โดยส่วนหนึ่งอาจปรับให้เป็นมาตรฐานทั่วไปที่ใช้ได้ในทุกพื้นที่ อีกส่วนหนึ่งพัฒนามาตรฐานเฉพาะพื้นที่ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับพื้นที่ศึกษา เพื่อให้การวางแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติมีความสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ที่แตกต่างจากบริบทแบบเมือง