สำหรับใครที่กำลังเล็งบ้านมือสองกันอยู่ ต้องไม่พลาดอ่านบทความนี้ก่อนตัดสินใจซื้อนะคะ อย่างที่ทุกคนรู้กันว่า บ้านมือสอง หมายถึงบ้านที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว มีอายุบ้านระดับนึง แน่นอนว่า “สิ่งสำคัญ” ก่อนจะซื้อเราควรจะต้องตรวจเช็คอะไรหลายๆ อย่าง เพื่อให้มั่นใจว่า บ้านมือสองที่เราตัดสินใจซื้อไปนั้นไม่กลายเป็นว่า “ได้ราคาถูก แต่ไม่คุ้มค่ากับการซ่อมแซมค่าเสียหาย”

ซึ่ง สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามก่อนเสียเงินซื้อบ้านมารีโนเวท ทางทีม Think of Living เราเคยได้เขียนไว้ในหลายๆ หัวข้อในพิจารณากันไปแล้ว แต่สิ่งที่เป็นข้อพิจารณาสำคัญและแน่นอนว่าถ้าไม่รู้ในเรื่องนี้อาจส่งผลกระทบแน่นอนในอนาคตก็คือเรื่อง “โครงสร้างและงานระบบของบ้าน” เรียกว่าเป็นจุดอ่อนของบ้านมือสองที่หลายคนชั่งน้ำหนักอยู่พอสมควรว่าจะเลือกบ้านมือสองดีไหม?

วันนี้เรามาดูกันว่า ในงาน “โครงสร้างและงานระบบของบ้าน”โดยเฉพาะบ้านมือสองเราควรจะตรวจเช็คที่ส่วนไหน / วิธีการเช็คง่ายๆ ด้วยตัวเองทำได้อย่างไร / จุดไหนที่เราพบเห็นแล้ว “ไม่ควรซื้อ” เพราะจะได้ไม่คุ้มเสียกันค่ะ


โครงสร้างบ้าน

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักโครงสร้างบ้านกันก่อนนะคะ โครงสร้างบ้านแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ ด้วยกันคือ

ซึ่งถ้าเป็นบ้านมือสองที่สร้างมาสักพักแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบ Conventional นั่นหมายถึงว่า เราสามารถต่อเติมหรือดัดแปลง “ได้” (**แต่ต้องปรึกษาสถาปนิกหรือวิศวกรเท่านั้น) อันนี้ก็สะดวกสำหรับใครที่คิดว่าจะ Renovate อยู่แล้ว

ส่วนอีกประเภทคือ บ้านที่สร้างด้วยระบบ Precast เดี๋ยวนี้มักจะฮิตกันสำหรับหมู่บ้านที่สร้างโดย Developer รายใหญ่ๆ หากคุณผู้อ่านซื้อบ้านรูปแบบนี้มา เบื้องต้นให้เข้าใจไว้ก่อนเลยว่า ดัดแปลงหรือต่อเติม “ยาก” เป็นไปได้ก็ไม่ควรดัดแปลง

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ตอนเราจะซื้อ **ต้องรู้ว่าบ้านที่จะซื้อสร้างด้วยโครงสร้างรูปแบบใดก่อน**


Checklist ตรวจเช็ค “โครงสร้างและงานระบบบ้าน”

จุดที่เราสามารถเช็คได้ด้วยตัวเองเบื้องต้น ก่อนจะตัดสินใจซื้อบ้าน สำหรับด้านคุณภาพของตัวบ้าน เราขอแบ่งเป็นหัวข้อใหญ่ 3 หัวข้อคือ

How to “Check” และวิธี “แก้ไข”

1.ขอแปลนบ้านเดิม (หากมีการต่อเติม ขอแปลนการต่อเติม)

เริ่มต้นด้วยการขอแบบบ้านก่อน ซึ่งจริงๆ แล้วแบบบ้านในความหมายของสถาปนิก-วิศวกรจะมีหลายแบบมากตั้งแต่

  • Preliminary Drawing (แบบร่างส่งเจ้าของ)
  • EIA Permission Drawing (แบบส่งการศึกษาสิ่งแวดล้อม)
  • Bank Loan Drawing (แบบเพื่อส่งกู้เงินธนาคาร)
  • Construction Permission Drawing (แบบขออนุญาตก่อสร้าง)
  • Bidding Drawing (แบบเพื่อประมูลราคา)
  • Construction Drawing (แบบเพื่อการก่อสร้าง)
  • Shop Drawing (แบบเพื่อรายละเอียดก่อสร้างแต่ละจุด)
  • Asbuilt Drawing (แบบบันทึกการก่อสร้างที่สร้างจริง)

แต่ที่จะดีมากสำหรับการเช็คโครงสร้างและงานระบบก็จะเป็นแบบ Construction Drawing, Shop Drawing และดีที่สุดคือ Asbuilt Drawing แต่น่าจะหายากสำหรับบ้านทั่วไป แค่ Construction Drawing ก็พอแล้วค่ะ

**ขอแบบบ้านไปทำอะไร? : ขอเพื่อเราสามารถเช็ค (การเดินท่อน้ำดี-ท่อน้ำเสีย, การเดินท่อระบายน้ำ, ดูตำแหน่ง Consumer ยูนิตและการเดินสายไฟ สวิตช์ต่างๆ, เช็คข้อกฎหมายหากมีการต่อเติมเพิ่มของบ้านเดิมแล้วไม่ได้ยื่นขออนุญาตก่อสร้าง)

2.งานระบายน้ำ

การระบายน้ำภายในบ้านจะต้องสามารถใช้ได้ครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการระบายน้ำจากห้องน้ำ, การระบายน้ำของห้องครัว, การระบายน้ำฝน และสุดท้ายคือการระบายน้ำเสียจากตัวบ้านสู่รางระบายน้ำโครงการ หรือบ้านไหนไม่ใช่บ้านจัดสรรก็ต้องสามารถระบายน้ำสู่ทางระบายน้ำสาธารณะได้โดยไม่ติดขัด

  • เช็คการระบายน้ำทุกจุด ทั้งห้องครัวและห้องน้ำ

ไม่ว่าจะเป็นจุดไหนของการระบายน้ำ เช่น สุขภัณฑ์ต่างๆ, Floor Drain (ท่อระบายน้ำที่พื้น), การระบายน้ำของเครื่องซักผ้า โดยเช็คว่าระบายน้ำได้ดีไหม ไม่อุดตัน

  • เช็คทางระบายน้ำ และ ความสะอาดของบ่อพักน้ำ

ถ้าผ่านสเต็ปที่ 1 มาแล้วให้เปิดแปลนบ้านดูผังสุขาภิบาล เพื่อเช็คการเดินทางของน้ำก่อนระบายสู่ทางสาธารณะหรือบ่อพักระบายน้ำใหญ่ในโครงการ

ตามรูปที่วงสีแดงไว้คือบ่อพักระบายน้ำ ให้เปิดบ่อพักดู มี 2 สิ่งที่ต้องดูคือ 1. เปิดน้ำไหลแล้วดูว่าทางน้ำไหลไปตามแปลนที่เราดูไหม 2.ความสะอาดในบ่อพัก

วิธีแก้ไข

1.ท่ออุดตัน / บ่อพักสกปรก = ให้ช่างมาลอกหรือทำความสะอาดท่อ
2.น้ำไม่ไหลไปตามทางเดินน้ำที่ดูจากในแบบก่อสร้าง = ให้สังเกตทิศทางน้ำว่าระบายไปทางไหน กรณีที่สร้างไม่ตรงแบบควรแก้ไขแล้วโดยการทำทิศทางระบายน้ำใหม่

3.งานระบบไฟฟ้า

ระบบไฟฟ้าจริงๆ การเชิงงานสถาปัตยกรรมเราแบ่งเป็น 2 ระบบ คือ ไฟฟ้าส่องสว่าง และไฟฟ้ากำลัง ซึ่งไฟฟ้าส่องสว่างนั้นงานปรับปรุงแก้ไขไม่ยากและค่าใช้จ่ายไม่สูง แต่ระบบที่สำคัญมากกว่าคือ งานไฟฟ้ากำลัง โดยอิงไปที่พวกการตัดไฟวงจรของบ้าน ยังสามารถใช้งานได้ดีไหม มีการลัดวงจรของไฟฟ้ารึเปล่า รวมไปถึงสภาพการใช้งานด้วย เพราะตัวระบบไฟฟ้าเองก็มีอายุการใช้งานเช่นเดียวกัน

  • เช็คการทำงานของหลอดไฟและดวงโคมทั้งหมด

กรณีที่ไฟเปิดไม่ติด สาเหตุอาจจะเกิดจากขั้วหลอดไฟเสีย หลอดไฟเสีย ก็เป็นไปได้หมด เรื่องนี้แก้ไขง่ายแค่เปลี่ยนขั้วเปลี่ยนหลอดค่ะ แต่แนะนำเพิ่มเติมสำหรับบ้านที่ค่อนข้างเก่าแล้วส่วนใหญ่ดวงโคมจะเป็นขั้วเก่า ที่ยังต้องใช้หลอดตะเกียบอยู่ ซึ่งเดี๋ยวนี้ LED ประหยัดไฟและอายุการใช้งานก็มากว่า ราคาเท่าๆ กันเลยก็มีให้เลือกแล้ว

วิธีการแก้ไข

แนะนำว่าเปลี่ยนดวงโคมและหลอดไฟเป็น LED ยกเซ็ท

  • เช็คการทำงานของเครื่องตัดไฟและตู้ควบคุมวงจรไฟฟ้า กรณีไฟฟ้าดูด, ไฟฟ้าช๊อต, ไฟฟ้าเกินพิกัด, ไฟฟ้าลัดวงจร

เครื่องตัดไฟ หรือคนส่วนใหญ่เรียกยี่ห้อขายเครื่องตัดไฟจนติดปาก “Safe T Cut” วิธีการเช็คว่าเครื่องนี้ยังทำงานไหม ให้ทดลองการทำงานโดยหาปุ่ม Test (หรือบางรุ่นใช้คำว่า T) หากกดลงแล้วเครื่องตัดไฟทำงาน สามารถตัดไฟได้ก็ถือว่ายังทำงานได้ปกติ

วิธีการแก้ไข

กรณีเครื่องตัดไฟมีปัญหา ควรซื้อเครื่องตัดไฟใหม่ อันนี้จำเป็นเพราะอันตรายถึงชีวิตได้

4.งานโครงสร้าง

งานโครงสร้างหลายคนมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว อาจจะต้องหวังพึ่งสถาปนิกหรือวิศวกรเท่านั้น จะว่าไปแล้วถ้าต้องการข้อมูลที่เจาะลึกและแม่นยำก็ควรจะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างที่ว่าจริงๆ ค่ะ แต่เบื้องต้นเองเราก็สามารถเช็คได้ ไม่ว่าจะผ่านการสอบถาม สังเกต ให้ตรงจุดที่สำคัญ เพื่อที่เราจะตัดสินใจเบื้องต้นได้ว่า บ้านหลังที่กำลังดูอยู่โครงสร้างยังโอเคอยู่ไหม ซึ่งถ้าหากจะ Renovate หรือดัดแปลงเพิ่มเติม ก็ค่อยไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญต่อในสเต็ปถัดไปก็ยังได้ค่ะ

  • เช็คการต่อเติม

สิ่งแรกที่ควรรู้คือ บ้านหลังที่กำลังเล็งอยู่ มีการต่อเติมมาก่อนหน้านี้รึเปล่า กรณีมีการต่อเติมควรสอบถามเจ้าของเดิมว่าต่อเติมในส่วนไหนบ้าง เพื่อที่เราจะสามารถมาตรวจเช็คเรื่องโครงสร้างในขั้นต่อไปได้ว่าก่อนหน้านี้ต่อเติมตรงหลักโครงสร้างไหม และที่สำคัญอีกอย่างคือตรงกฎหมายหรือไม่ เผื่อไว้ในอนาคตจะได้ไม่มีปัญหาต้องมารื้อถอนหรือมีปัญหากับเพื่อนบ้าน

1.ผิดกฎหมาย (พรบ.ควบคุมอาคาร) เช่น

  • หลังคายื่นเกินรั้วที่ใช้ร่วมกับเพื่อนบ้าน โดยไม่มีรางน้ำกั้น
  • ผนังบ้านห่างจากรั้วที่ใช้ร่วมกับเพื่อนบ้านไม่เกิน 50 เซนติเมตร
  • ช่องหน้าต่าง/ประตู ห่างจากรั้วที่ใช้ร่วมกับเพื่อนบ้านไม่เกิน 1.50 เมตร

รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่ Living Idea : ต่อเติมบ้านอย่างไรให้ถูกกฎหมาย

วิธีแก้ไข

กรณีเจ้าของบ้านเดิมต่อเติมผิดกฎหมาย มีการยื่นหลังคา หรือ ผนังที่ Set Back เกินระยะตามกฎหมายนั้น เราที่เป็นคนซื้อต่อสามารถเจรจากับเพื่อนบ้านและออกเป็นหนังสือรับรองกันได้ แต่หากเพื่อนบ้านไม่ยินยอมและมีการแจ้งกับทางเขต/อำเภอ เราจำเป็นต้องรื้อถอนในส่วนที่ผิดกฎหมายค่ะ

2.การต่อเติมที่ผิดหลักการก่อสร้าง

เรามักจะเห็นกันบ่อยๆ คือ การต่อเติมบ้านด้านข้าง หรือครัวหลังบ้านเป็นห้องขึ้นมา แล้วเชื่อมโครงสร้างใหม่กับโครงสร้างเดิม ควรเช็คว่าห้องที่ต่อเติมมากขึ้นมีการทรุดเอียงหรือไม่ หรือกรณีที่ต่อเติมห้องในชั้น 2 ให้ยื่นออกมาโดยไม่มีเสารองรับ เกิน 1.5 ม. ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายสำหรับบ้านมือ 2 นะคะ เพราะไม่ได้เกิดจากการคำนวนน้ำหนักของวิศวกรไว้ตั้งแต่แรก

วิธีแก้ไข

เรื่องนี้เราถ้าเราตรวจเช็คแล้วรู้ว่าต่อเติมผิดหลัก หากต้องซื้อบ้านหลังนี้จริงๆ ควรปรึกษาวิศวกรเพื่อแก้ปัญหา

  • เช็ครอยร้าว

รอยร้าวของบ้านเป็นจุดที่เราต้องดอกจันทน์ไว้เลยนะคะ เพราะสำคัญมากและกระทบกับโครงสร้างบ้านโดยตรง ซึ่งรอยร้าวนี่แหละค่ะที่เป็นเหมือนลายแทงบอกว่าโครงสร้างบ้านมีปัญหาหรือไม่ ส่วนใหญ่รอยร้าวจะอยู่ที่ผนังและเสาบ้าน รวมถึงขอบหน้าต่าง ประตู โดยรอยร้าวของบ้านที่จะให้เราสังเกตก็มีอยู่หลายรูปแบบ โดยขอแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1.รอยร้าวที่ไม่กระทบกับโครงสร้าง เช่น รอยร้าวแตกเป็นลายงาตามผนังไม่ลึก หรือเป็นรอยแตกตามขอบหน้าต่าง ลักษณะแบบนี้จะเป็นเพราะการยืดหดของปูน ซึ่งเป็นปกติอยู่แล้วนะคะ

วิธีแก้ไข

การแก้ไขเพียงขัดสีและฉาบปูนปิดรอยและทาสีใหม่ก็เรียบเนียนเหมือนเดิมแล้วค่ะ

2.รอยร้าวที่มีผลกระทบกับโครงสร้าง

สำหรับโครงสร้างบนดินอาจจะเกิดจากการชำรุดเฉพาะจุด หรือรอยร้าวที่เกิดจากโครงสร้างต่างๆมีปัญหา แนะนำให้สังเกตรอยร้าวที่เสา คาน พื้นและผนัง โดยเฉพาะลักษณะของรอยร้าวที่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างดังนี้ค่ะ

  • รอยร้าวผนังแนวเฉียง บ่งบอกถึงการทรุดตัวที่ไม่เท่ากันของฐานราก หรือเกิดจากการต่อเติมอาคารผิดหลักการโดยเชื่อมโครงสร้างส่วนต่อเติมเข้ากับโครงสร้างของบ้าน
  • รอยร้าวแตกลึกที่เสา เนื้อคอนกรีตกะเทาะจนเห็นเหล็กเสริมภายในชัดเจน บ่งบอกว่าเสาต้นนั้นรับน้ำหนักมากเกินไป
  • รอยร้าวเสาข้อปล้อง บ่งบอกถึงการทรุดตัวที่ไม่เท่ากันของฐานรากจนทำให้เสาต้นที่ทรุดน้อยที่สุดแอ่นตัว และเกิดรอยร้าวแนวนอนหลายๆ แนวเหมือนข้อปล้อง
  • รอยร้าวแนวดิ่งกลางคาน บ่งบอกว่าคานตัวนี้รับน้ำหนักมากเกินไปจนเกิดการแอ่นตัว
  • รอยร้าวแนวเฉียงที่ปลายคานไปหัวเสา สามารถเกิดได้เพียงด้านเดียวหรือทั้งสองด้านของปลายคาน บ่งบอกว่าคานตัวนี้รับน้ำหนักมากเกินไปอย่างมาก ซึ่งเสี่ยงต่อการถล่มลงมา
  • รอยแตกร้าวที่ปลายคาน บ่งบอกถึงการทรุดตัวที่ไม่เท่ากันของฐานราก ลักษณะและตำแหน่งของรอยร้าวขึ้นอยู่กับว่าฐานรากของเสาต้นใดทรุดตัวรอยร้าวที่พื้น
  • รอยแตกร้าวใต้ท้องพื้น หากเป็นรอยร้าวรูปตัว X หรือรอยร้าวแนวยาว บ่งบอกว่าพื้นรับน้ำหนักมากเกินไป แต่หากพบว่าคอนกรีตใต้พื้นแตกกะเทาะจนเห็นเหล็กเสริม ซึ่งมักเกิดใต้พื้นดาดฟ้าหรือพื้นห้องน้ำ แสดงว่ามีน้ำรั่วซึมจากผิวพื้นด้านบนเป็นประจำ จนทำให้เหล็กเสริมขึ้นสนิมและดันคอนกรีตจนแตกกะเทาะ
  • รอยร้าวแนวยาวที่พื้น รอยร้าวเกิดชิดผนังยาวตลอดแนว บ่งบอกถึงการทรุดตัวที่ไม่เท่ากันของฐานราก
    ขอบคุณข้อมูลเรื่องรอยร้าวจาก : SCG

วิธีแก้ไข

หากเจอรอยร้าวที่เกรงว่าจะมีผลกระทบกับโครงสร้าง แนะนำให้ปรึกษาวิศวกรโดยตรง เพื่อหาแนวทางการแก้ไข

  • เช็คการรั่วซึม

ไม่ว่าจะเป็นบ้านใหม่เอี่ยมหรือบ้านที่อยู่มาสักพักใหญ่แล้ว ปัญหาที่เรามองว่าไม่น่าจะใหญ่อย่าง “การรั่วซึม” กลับมีบทบาทในการสร้างปัญหาและค่าใช้จ่ายได้ไม่น้อยเลย โดยเฉพาะจุดสำคัญอย่างการรั่วซึมที่ชั้นหลังคา หรือพื้นชั้น 2 บนห้องน้ำชั้นล่าง ซึ่งอาจจะเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเสื่อมสภาพ หรือช่างที่ทำได้ไม่เนี้ยบพอตั้งแต่แรก นอกจากจุดรั่วซึมใหญ่ๆ แล้วก็ควรเช็คจุดรั่วซึมทั่วไปด้วย เช่นตามขอบหน้าต่าง บานประตู

ตำแหน่งที่ควรเช็คการรั่วซึม แบ่งออกเป็น 3 จุด

1.ฝ้าเพดานชั้นบน

ส่วนใหญ่เกิดจากน้ำฝนโดยตรง กรณีที่หลังคาด้านบนเป็นพื้นคอนกรีต (Slab)อาจเกิดจากการแตกร้าวที่ผิวปูนฉาบโดยทั่วไป  หรือกระเบื้องเซรามิคหลังคาร้าวก็ทำให้น้ำซึมเข้าสู่ตัวบ้านได้ และเราจะเห็นก็ต่อเมื่อฝ้ามีน้ำซึมนั่นเองค่ะ

วิธีแก้ไข

การแก้ไขในส่วนนี้ “ไม่ใช่แค่เปลี่ยนฝ้าเพดาน” ก็จบนะคะ ควรจะหาต้นตอของจุดรั่วซึมแล้วอุดรอยรั่วเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก

2.ขอบวงกบหน้าต่างและผนัง

ปัญหาที่เรามักจะเจอจุดรั่วซึมส่วนใหญ่จะเป็นช่องว่างของวบกบประตูที่ติดกับผนังภายนอกนี่แหละค่ะ เป็นเพราะว่าซิลิโคนเสื่อมสภาพแล้วนั่นเองค่ะ

วิธีแก้ไข

ลอกซิลิโคนเดิมออกให้หมดแล้วซิลิโคนใหม่อีกรอบหรือจะใช้กาวโพลียูรีเทน (PU)

3.พื้น

กรณีน้ำแทรกตัวในผนังและซึมออกที่พื้นก็เป็นได้เช่นกันนะคะ ถ้าสังเกตบริเวณพื้นกระเบื้องอาจจะไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นพื้นไม้ พื้นลามิเนต แบบนี้เห็นชัดเลยเพราะจะเห็นการบวมของพื้นขึ้นมา

วิธีแก้ไข

กรณีนี้แก้ด้วยการรื้อวัสดุปูพื้นออกเพื่อหาต้นตอของจุดรั่วซึมก่อน ปิดรอยรั่วด้วยซิลิโคน หรือหากพื้นแตกร้าวก็ใช้ปูนฉาบใหม่ แล้วติดตั้งวัสดุปูใหม่ ไม่ใช่เรื่องยากค่ะ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายอยู่ระดับนึง และหากต้องการตัดปัญหาพื้นบวม แนะนำให้เลือกใช้กระเบื้อง หรือกระเบื้องยาง (ไวนิล)

  • เช็คการทรุดตัวของดินรอบบ้าน

การทรุดตัวของดินรอบบ้าน เราสามารถสังเกตได้ง่ายและถ้าปัจจุบันที่ไปดูบ้านแล้วยังไม่เจอการทรุดตัวของดินนั้น ก็สามารถสังเกตความเสี่ยงได้ไม่ยากโดยการดูสภาพแวดล้อมรอบบ้าน ดูบ้านเพื่อนบ้านว่ามีการขุดสระหรือถมดินสูง อาจเกิดปัญหาบ้านทรุด หรือตัวบ้านและรั้วเกิดความเสียหายได้

  • เช็คระดับพื้นของบ้าน เทียบกับ ระดับถนนหน้าบ้าน

ปัญหาใหญ่อีกปัญหานึงคือ “น้ำท่วม” ที่แม้จะไม่ใช่พาร์ทของงานโครงสร้างโดยตรง แต่ก็สร้างความเสียหายได้ไม่น้อย เราจึงคิดว่าก่อนจะพิจารณาตัดสินใจซื้อบ้านควรทำการบ้านนี้ไว้ด้วยเช่นกัน โดยลองดูจากประวัติน้ำท่วมเมื่อปี 2554 (น้ำท่วมใหญ่) ก็ได้ หรือสังเกตว่าน้ำฝนจากบ้านข้างเคียงไหลเข้ามาในบริเวณบ้านหรือไม่ เพื่อนบ้านยกพื้นบ้านตัวเองสูงทุกบ้านรึเปล่า และบ้านของเรามีระดับต่ำกว่าถนนหน้าบ้านเพียงใด เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกินปัญหาน้ำท่วมบ้าน

วิธีแก้ไข

หากบ้านที่กำลังจะซื้อมีประวัติเคยโดนน้ำท่วมใหญ่ และท่วมขังไว้สักพักแล้ว ก็ต้องเช็คเรื่องหลายจุดด้วยกัน โดยงานใหญ่ๆ ที่ควรเช็คคือ งานระบบการระบายน้ำ, รอยรั่วซึมของบ้าน, ระบบไฟฟ้า หากมีปัญหาก็สามารถแก้ตามหัวข้อด้านบนได้เลยค่ะ และควรยกพื้นที่ดินบ้านให้สูงกว่าถนน


ถ้าเจอจุดนี้ของบ้าน “ไม่ควรซื้อ”

หากคุณผู้อ่านตรวจสอบตาม Checklist แล้วเจอการต่อเติมที่เป็นอันตรายกับโครงสร้าง ที่อาจจะเกิดจากการที่เจ้าของคนก่อนต่อเติมโดยไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้าง หรือมีวิศวกร สถาปนิกรับรอง, รอยร้าวที่มีผลกับโครงสร้างตามข้อมูลด้านบน รวมไปถึงการที่เราหาจุดรั่วซึมไม่เจอ และไม่มั่นใจว่าเกิดจากสาเหตุใดนั้น การซื้อบ้านมือสองหลังนี้ไม่น่าจะคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายในการแก้ไขนะคะ ถ้าหากต้องการที่ดินของบ้านหลังนี้เพราะทำเลดีจริงๆ อาจจะคุ้มกว่าถ้าเราจะทุบแล้วสร้างใหม่ก็ได้ เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดในอนาคต


เป็นอย่างไรบ้างคะ…หวังว่าบทความนี้จะทำให้คุณผู้อ่านสามารถสำรวจงานและรู้วิธีการแก้ปัญหาโดยคร่าวๆ เพื่อตัดสินใจในการซื้อและนึกถึงงบประมาณการซ่อมแซมได้ แต่ทั้งนี้การซ่อมหรือต่อเติมหลังจากตัดสินใจซื้อแล้ว แนะนำให้ปรึกษาสถาปนิกและวิศวกรโยธา เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบ้านมือสองที่เราซื้อนั้น “ได้ คุ้ม มากกว่าเสีย” นะคะ