วันนี้ทาง Think of Living ได้รับเกียรติเป็นอย่างยิ่งจาก “คุณสิทธิพร สุวรรณสุต” ทั้งในฐานะของนายกสมาคมไทยรับสร้างบ้านและ CEO ของแบรนด์ PD House ที่อุตส่าห์สละเวลามาถ่ายทอดความรู้โดยการเป็นนักเขียนรับเชิญให้กับทางเวปไซต์ กับคอลัมน์ใหม่ “รอบรู้เรื่องบ้านๆ” ที่จะเปิดมุมมองเรื่องบ้าน หยิบเกร็ดความรู้มามอบให้กับท่านผู้อ่าน ติดตามอ่านบริโภคเนื้อหาสาระกันได้เต็มที่ครับ

โครงหลังคาเหล็กกึ่งสำเร็จรูป

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านทุกท่าน บทความนี้ถือเป็นฉบับปฐมฤกษ์ของผู้เขียน สำหรับการรับหน้าที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านและวัสดุก่อสร้างให้แฟนๆ เวบนี้ได้ติดตามอ่านกัน แต่ต้องขอออกตัวก่อนนะครับว่าผู้เขียนคงไม่ได้รอบรู้ทุกเรื่อง แต่หากว่าเรื่องใดน่าสนใจหรือมีผู้ถามไถ่เข้ามายังเวบแห่งนี้ ผู้เขียนก็จะพยายามค้นคว้าหาคำตอบมาให้ทุกท่านได้อ่านกัน เอาล่ะครับเพื่อมิให้เป็นการเยิ่นเย้อมากไปกว่านี้ ขอเริ่มต้นเขียนถึงเรื่อง…โครงหลังคาเหล็กกึ่งสำเร็จรูป

ขอออกตัวก่อนว่าเรื่องที่เขียนลงในฉบับนี้ ไม่ได้มีเจตนาจะเขียนเพื่อเชียร์ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่กำลังจะกล่าวถึง นั่นก็คือ โครงหลังคาเหล็กกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งเมื่อ 10 ปีก่อนมีผู้ผลิตอยู่เพียง1-2 รายเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีผู้ผลิตมากหน้าหลายตาขึ้น ในเร็วๆ นี้ก็ยังมีรายใหม่ๆ และเป็นรายใหญ่เข้ามาแข่งขันกันอีก ผู้เขียนเห็นว่าผลิตภัณฑ์โครงหลังคากึ่งสำเร็จรูปดังกล่าวน่าสนใจ และเป็นระบบก่อสร้างที่เหมาะจะนำมาใช้สร้างบ้านในภาวะปัจจุบัน เหตุผลก็คือ 1. ปัญหาเหล็กรูปพรรณด้อยคุณภาพ และ 2.การขาดแคลนแรงงานและช่างฝีมือ

ในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ผู้ออกแบบและนักก่อสร้างหรือบริษัทรับสร้างบ้านเกือบ 100 % นิยมนำ “เหล็กรูปพรรณ” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “เหล็กตัวซี” มาใช้ทำโครงหลังคาบ้าน เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับ “โครงหลังคาไม้” แล้วถือว่าโครงหลังคาเหล็กมีราคาถูกกว่า น้ำหนักเบา สามารถลดต้นทุนการก่อสร้างบ้านลงได้

ปัจจุบันการใช้โครงหลังคาเหล็กในการสร้างบ้าน ส่วนใหญ่ก็ยังคงใช้เทคนิคและวิธีเดิมๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงและไม่มีการพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้นแต่ประการใด มิหนำซ้ำคุณภาพผลงานและฝีมือช่างก็ด้อยลงไปกว่าเดิม ทั้งนี้เกิดจากปัญหาเรื่องฝีมือแรงงานหรือช่างเชื่อม ที่ขาดพื้นฐานความรู้ความเข้าใจในงานเชื่อมไฟฟ้า และส่วนใหญ่มิได้ผ่านกระบวนการฝึกอบรมหรือเรียนรู้เทคนิคการเชื่อมไฟฟ้าอย่างถูกต้อง

จากการสำรวจข้อมูลพบว่าช่างเชื่อมงานโครงหลังคาเหล็ก ส่วนใหญ่มาจากกรรมกรทั่วไปที่ค่อยๆ ฝึกฝนกันเองจากการทำงานจริง แน่นอนว่าย่อมจะส่งผลต่อคุณภาพและผลงานสร้างบ้าน ซึ่งบ้านของท่านที่กำลังก่อสร้างอาจจะเป็นโรงเรียนหรือที่เป็นฝึกสอนการทำงานของช่างเชื่อมไปด้วยก็ได้ จริงหรือไม่ ใครจะไปรู้ครับ

อีกประการที่สำคัญคือ เรื่องของมาตรฐานและคุณภาพสินค้า เราพบว่าเหล็กรูปพรรณหรือเหล็กตัวซี ที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดในปัจจุบัน น้ำหนักและความหนาของเหล็กไม่ได้มาตรฐาน หรือศัพท์ทางช่างจะเรียกกันว่า “เหล็กไม่เต็ม” อาทิเช่น เหล็กรูปพรรณขนาด 125 x 75 x 50 ความหนา 2.3 มม. แต่เหล็กที่จำหน่ายกันในท้องตลาด กลับมีมีความหนาจริงเพียง 1.6–2.0 มม. หรือเหล็กรูปพรรณขนาด 150 x 100 x 75 ความหนา 3.2 มม. ขณะที่เหล็กในท้องตลาดมีความหนาจริงเพียง 2.3–3.0 มม. เท่านั้น (แต่พิมพ์ความหนาเต็ม 3.2) ซึ่งหากเจ้าของบ้านไม่รู้เท่าทันร้านค้า หรือผู้รับเหมาอาจนำเหล็กขนาดไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ตรงตามวิศวกรกำหนดไว้ และนำมาใช้ในการก่อสร้างบ้าน แน่นอนย่อมส่งผลต่อความมั่นคงแข็งแรงและอายุการใช้งานที่สั้นลง

ส่วนระบบโครงหลังคาเหล็กกึ่งสำเร็จรูปนั้น มีข้อเด่นที่น่าสนใจคือ

  1. ใช้ระบบการติดตั้งด้วยน๊อตและสกรู (ไม่ใช้ระบบเชื่อมไฟฟ้าแบบเดิม)
  2. ผิวเหล็กเคลือบกาวาไนท์หรือสังกะสีป้องกันสนิม ทำให้ไม่เกิดสนิมที่เนื้อเหล็กตลอดอายุการใช้งาน
  3. รูปแบบและขนาดเหล็ก ถูกออกแบบและตรวจสอบคุณภาพโดยวิศวกรจากโรงงานผู้ผลิต พร้อมตัดความยาวเหล็กที่จะใช้ประกอบเป็นโครงหลังคามาเสร็จเรียบร้อย

เพียงข้อเด่น 3 ข้อนี้ ผู้เขียนก็ค่อนข้างพอใจแล้ว เมื่อเทียบกับโครงหลังคาเหล็กรูปพรรณแบบเดิม ที่ต้องใช้วิธีสั่งเหล็กมาเป็นท่อนๆ (ความยาวท่อนละ 6.00 เมตร) แล้วมาทำการตัดและเชื่อมด้วยไฟฟ้า ทาสีกันสนิม ณ สถานที่ก่อสร้างเอง ซึ่งควบคุมฝีมือและคุณภาพได้ค่อนข้างยาก สร้างความรำคาญในขณะทำงาน (สะเก็ดไฟ) บริเวณสถานที่ก่อสร้างก็สกปรก (เปรอะสี, มีเศษเหล็กเกลื่อน) มีขั้นตอนยุ่งยากในการทำงาน รวมทั้งมีโอกาสเกิดอุบัติขณะง่ายจากการเชื่อมไฟฟ้า

ส่วนข้อเสียนั้นก็มีเช่นกัน คือ

  1. ราคาจะสูงกว่าเหล็กรูปพรรณประมาณ 5-10 % (ขึ้นอยู่กับรูปแบบโครงหลังคา)
  2. โครงสร้างคานชั้นหลังคา (คาน อะเส) ควรเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.)

  

ดังนั้น ถ้าจะสร้างบ้านหนึ่งหลัง ซึ่งต้องจ่ายเป็นค่าโครงหลังคาเหล็กรูปพรรณแบบเดิม ประมาณ 100,000 บาท (ค่าเหล็ก ค่าสีกันสนิม ค่าแรงเชื่อม) แต่หากเปลี่ยนมาใช้โครงหลังคากึ่งสำเร็จรูป ค่าใช้จ่ายอาจเพิ่มขึ้นเป็น 110,000 บาท (10 %) เพื่อแลกกับคุณภาพบ้านและความมั่นใจในขั้นตอนการก่อสร้างที่ได้รับ คงจะต้องเป็นท่านเองที่จะตัดสินใจว่า ควรเลือกใช้โครงหลังคาเหล็กแบบใดระหว่าง “โครงหลังคาเหล็กรูปพรรณ” กับ “โครงหลังคาเหล็กกึ่งสำเร็จรูป” เพราะผู้รับจ้างหรือบริษัทรับสร้างบ้านเขาสร้างให้ได้ทั้งนั้น เพียงแต่ท่านต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินเพิ่ม (เฉลี่ยไม่ถึง 1 % ของค่าก่อสร้าง) ลองพิจารณาดูนะครับ

นายสิทธิพร สุวรรณสุต