เมื่อไม่นานมานี้เราได้เห็นข่าวไฟไหม้อาคารพักอาศัยแห่งหนึ่ง ผู้คนในอาคารนั้นต่างชุลมุนตกใจหนีไฟไหม้กันวุ่นวาย และในเหตุการณ์นั้นก็มีผู้เสียชีวิตด้วย ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า หากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้บ้านหรือคอนโดที่กำลังอาศัยอยู่ขึ้นมาจะต้องทำอย่างไร หนีอย่างไร ที่จะสามารถเอาชีวิตรอดปลอดภัยได้ แล้วเราจำเป็นต้องรู้จักอุปกรณ์ในการดับเพลิงมากน้อยแค่ไหน วันนี้เราได้รวบรวบขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติในเวลาที่ต้องเจอกับไฟไหม้ที่อยู่อาศัยมาให้อ่านกัน หากวันใดเกิดเหตุขึ้นมา เราก็จะสามารถรับมือได้อย่างมีสติและถูกวิธีกันค่ะ
สาเหตุที่พบบ่อยที่ทำให้ไฟไหม้บ้านและคอนโด
อัคคีภัยเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน และที่ผ่านมาก็พบว่าสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความประมาทและมองข้ามสิ่งเล็กๆน้อยๆ เช่น
- การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชำรุดเสียหาย ไม่ได้มาตราฐาน หมดระยะเวลาการใช้งาน เสื่อมสภาพ สายไฟชำรุด
- การใช้เชื้อเพลิงทั้งน้ำมัน และแก๊สต่างๆ เปิดทิ้งไว้และเกิดมีประกายไฟ ทำให้เกิดเพลิงไหม้
- การจุดเชื้อเพลิง ธูป เทียนไฟต่างๆ ทิ้งไว้ และการทิ้งก้นบุหรี่ ที่ยังดับไม่สนิท
และอีกอย่างคือ ไฟฟ้าลัดวงจร ที่เรียกได้ว่าเป็นสาเหตุอันดับต้นๆของเพลิงไหม้ที่พบได้บ่อยๆ เนื่องจากสภาพการใช้งานยาวนาน ขาดการดูแลบำรุงรักษา ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร หรือจากการใช้เครื่องใช้เครื่องไฟฟ้าต่างๆได้
จากฝีมือมนุษย์ บุคคลภายในบ้าน ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งเช่นกัน โดยเฉพาะเด็กๆ ที่อาจรู้เท่าไม่ถึงการ ผู้สูงอายุที่ความจำไม่ดี เผลอลืมว่าติดเตาไฟทิ้งไว้ หรือจุดไฟทิ้งไว้โดยไม่ได้เฝ้าระวัง
นอกจากนั้นก็จะเป็นเหตุจากภายนอก เช่น การเผาขยะและหญ้าแห้ง บ่อยครั้งที่สาเหตุเพลิงไหม้ที่สร้างความสูญเสียมากๆนั้น เกิดจากสิ่งเล็กๆน้อยๆ อย่างการเผาขยะและหญ้าแห้งดังนั้นจึงไม่ควรมองข้าม ไม่ควรเผาขยะในที่ที่มีลมแรงและต้องคอยดูแลควบคุมตลอด หรือหลีกเลี่ยงการเผา ให้ใช้วิธีกำจัดด้วยวิธีอื่นแทนก็จะสามารถป้องกันได้เช่นกัน
กรณีอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมนั้น เป็นการอยู่อาศัยรวมกันหลายๆครอบครัว มีหลายห้องเป็นหลักร้อย หลักพันห้อง มีทั้งอยู่ในอาคารตั้งแต่ 8 ชั้นขึ้นไป (Low Rise ) หรือบางแห่งก็เป็นคอนโดอาคารสูง (High Rise) จึงจำเป็นที่จะต้องมีการเรียนรู้ที่จะอยู่อาศัยรวมกันกับคนหมู่มาก ต้องมีการวางแผนเรื่องอัคคีภัยกรณีเมื่อเกิดเพลิงไหม้ เพื่อให้ทุกคนในอาคาร สามารถหนีไฟได้พร้อมกันอย่างปลอดภัยนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ส่วนครัวในคอนโดมิเนียมทางโครงการจะติดอุปกรณ์ Smoke Detector และ Sprinkler ดับเพลิงไฟไหม้ให้พร้อมใช้งาน
สังเกตและสำรวจ
เมื่อเข้ามาอยู่อาศัยในคอนโด สิ่งสำคัญแรกๆ คือต้องสังเกตและสำรวจ พื้นที่พักอาศัยของตนเองให้เข้าใจ เริ่มจากห้องพักอาศัยของเราเองก่อน สังเกตจุดปลั๊กไฟต่างๆ สายไฟ ดวงไฟต่างๆ และบริเวณครัว อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ว่ามีความชำรุดเสียหายหรือไม่
สังเกตที่ฝ้าเพดานว่าทางโครงการมีการติดตั้ง อุปกรณ์ตรวจจับควัน (Smoke Detector) , เครื่องดักจับความร้อน (Heat Detector) และหัวฉีดน้ำดับเพลิง (Sprinkler) มาให้เรียบร้อยหรือไม่ แต่ไม่ต้องทดลองทดสอบใช้งานด้วยตนเองนะ หากเห็นว่าอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมใช้งานจากสายตาที่มองเห็น เช่น รูปทรงบิดเบี้ยว บางส่วนของอุปกรณ์หลุดห้อยลงมา ให้รีบแจ้งกับทางโครงการเพื่อตรวจสอบทันที
แปลนทางหนีไฟที่ติดบริเวณโถงลิฟต์ในแต่ละชั้นพักอาศัย เพื่อใช้บอกเส้นทางหนีไฟ ตำแหน่งบันไดหนีไฟ และตำแหน่งที่ติดตั้งถังดับเพลิง
สำรวจชั้นพักอาศัย และชั้นส่วนกลาง มองหาตำแหน่งบันไดหนีไฟว่าอยู่ตรงไหนบ้าง อยู่ใกล้หรือไกลจากตำแหน่งห้องของเราแค่ไหน สังเกตตำแหน่งอุปกรณ์ดับไฟว่าอยู่ตรงไหนของโถงทางเดิน ซึ่งโดยปกติแล้วที่แนวทางเดินจะมีป้ายสัญลักษณ์ติดตั้งอยู่ หรือที่บริเวณโถงลิฟต์ บริเวณด้านหน้าทางเข้าลิฟต์โดยปกติแล้วจะมีป้ายหรือภาพแปลนของชั้นนั้น (Key Plan) ติดอยู่ เป็นแผนผังของชั้นแสดงให้เห็นเส้นทางหนีไฟ ตำแหน่งของบันไดหนีไฟ ตำแหน่งที่ติดตั้งถังดับเพลิง
บริเวณห้องลิฟต์ขนของ ซึ่งเมื่อเกิดไฟไหม้จะถูกใช้เป็นลิฟต์ดับเพลิง
ส่วนลิฟต์ขนของ เมื่อกรณีเกิดไฟไหม้จะถูกใช้เป็น ลิฟต์ดับเพลิง (Fireman’s elevator) จะพบได้ในอาคารสูง โดยมีความสูงตั้งแต่ 23 เมตร ขึ้นไป ในกรณีเกิดเพลิงไหม้ลิฟต์ดับเพลิงจะให้ใช้ได้เฉพาะนักดับเพลิงเท่านั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามารถใช้เพื่อเดินทางไประงับเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่ชั้นใดก็ได้ และสามารถป้องกันควันไฟได้ เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการทำงานของเจ้าหน้าที่ดับเพลิง
บริเวณจุดรวมพล หลังจากที่ออกมาจากบันไดหนีไฟ ให้มารวมตัวกันที่บริเวณนี้ เพื่อตรวจเช็คจำนวนคน และตรวจเช็คสภาพร่ายกายว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่
การซ้อมหนีไฟ
เป็นอีกกิจกรรมที่ผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม ควรให้ความสำคัญ เพราะการซ้อมหนีไฟนั้นจะช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์และสามารถเอาตัวรอดจากการเกิดเพลิงไหม้ได้ในเวลาฉุกเฉินจริงๆ หลายคนอาจคิดว่าแค่วิ่งไปที่ทางหนีไฟเท่านั้นก็เพียงพอ แต่จริงๆแล้วการได้ฝึกซ้อมหนีไฟจากเจ้าหน้าที่ ที่มีประสบการณ์จะได้คำแนะนำที่ถูกต้องและช่วยให้การหนีไฟแบบปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปจนถึงการรู้จักปฐมพยาบาลเบื้องต้น ช่วยทำให้เราไม่ตื่นตระหนก นึกออกว่าต้องทำอย่างไรต่อไป โดยการซ้อมหนีไฟจะใช้การสร้างเหตุการณ์สมมุติขึ้น ทำให้ได้รู้ขั้นตอนที่ถูกต้องในการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเพลิงไหม้จริงๆ เช่น
- ได้รู้จักตำแหน่งจุดรวมพลที่ปลอดภัย และทำความเข้าใจกับป้ายเตือนภัย ป้ายเส้นทางหนีไฟ
- ได้รู้จักตำแหน่งบันไดหนีไฟ ช่องทางหนีไฟต่าง ๆ ที่ติดตั้งอยู่ภายในคอนโด เป็นการตรวจสอบเส้นทางหนีไฟที่ถูกต้องไว้ล่วงหน้า
- ได้รู้จักการใช้งานถังดับเพลิงอย่างถูกวิธี และเป็นการตรวจสอบความพร้อมของระบบความปลอดภัยอุปกรณ์ป้องกัน และดับเพลิงต่างๆในคอนโดที่เราอยู่อาศัย ว่ายังมีประสิทธิภาพใช้การได้ดีอยู่เสมอ
- ได้เรียนรู้ถึงวิธีการเอาชีวิตรอดเมื่อเกิดเพลิงไหม้ ที่ถูกต้องจากเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้
เมื่อเกิดไฟไหม้ต้องทำอย่างไร
สิ่งแรกที่เราควรทำเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้คือ การตั้งสติและเมื่อได้สติ ให้สังเกตพื้นที่ที่เกิดไฟไหม้ เราอยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัยหรือไม่ โดยพิจารณาตามสถานการณ์ ต่อไปนี้
- ถ้าหากเกิดเหตุเพลิงไหม้คอนโดมิเนียมของเรา ให้รีบแจ้งบุคคลใกล้เคียงก่อน ห้องข้างๆ โดยการเคาะประตูและตะโกน หรือระหว่างทางไปกดปุ่มแจ้งสัญญาณเตือนภัยเพื่อแจ้งให้ทุกคนรีบออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด โดยมุ่งหน้าไปโถงทางเดินหลักไปที่บันไดหนีไฟที่อยู่ใกล้ที่สุด
- ในกรณีที่เราไม่ทราบเหตุไฟไหม้มาก่อน เมื่อได้ยินเสียงสัญญาณให้รีบหาทางหนีโดยทันที ไม่ควรคิดว่าอาจจะเป็นการซ้อม ให้คิดไว้เสมอว่าทุกครั้งที่ได้ยินสัญญาณ มีเหตุไฟไหม้เกิดขึ้นจริง ให้รีบไปยังจุดรวมพลให้เร็วที่สุด โดยหยิบแต่ของมีค่าและของที่จำเป็นเท่าที่หยิบได้เท่านั้นเพื่อความคล่องตัว
- เมื่อเราหนีลงมาข้างล่างได้แล้ว ให้รีบออกห่างจากตัวอาคารโดยเร็วที่สุด แต่ถ้าหากเพลิงลุกไหม้รุนแรงมากจนไม่สามารถลงไปจุดรวมพลหรือออกจากตึกได้ แนะนำให้รีบขึ้นไปที่ชั้นสูงสุดหรือชั้นดาดฟ้าของอาคารเพื่อรอการช่วยเหลือ เพราะในปฏิบัติการช่วยชีวิตของหน่วยกู้ภัยในเหตุเพลิงไหม้ เจ้าหน้าที่จะเริ่มจากชั้นล่างและชั้นบนสุดก่อน และไปบรรจบที่ตรงกลางของตึก
หากเกิดเพลิงไหม้และติดอยู่ภายในห้องพักอาศัย
- ในกรณีที่ติดอยู่ในห้องพักและไฟไหม้ลุกลามจนไม่สามารถดับได้ ให้หาทางออกโดยให้ใช้หลังมือในการสัมผัสกับประตูหรือหน้าต่างก่อน อย่าเพิ่งจับไปในทันที ถ้าหากรู้สึกร้อนมากๆ ให้ใช้ทางออกอื่น หรือส่งสัญญาณให้หน่วยกู้ภัยทราบโดยทุบกระจกหน้าต่างออกเพื่อส่งสัญญาณให้ทีมกู้ภัยข้างนอกรู้ตำแหน่งที่แน่นอน ใช้วิธีการตะโกนดังๆ โบกผ้า หรือใช้ไฟฉายส่อง
- ในกรณีที่ติดอยู่ในบริเวณหรือห้องพักแล้วมีกลุ่มควันไฟ ให้ก้มตัวให้ต่ำหรือหมอบคลาน เพื่อหาทางออก ใช้การหายใจสั้นๆ จะช่วยให้สามารถฝ่าออกจากเหตุเพลิงไหม้ได้ เพราะการหายใจสั้นๆ จะทำให้เราสูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์น้อยลง ช่วยลดสาเหตุที่จะทำให้เราหมดสติจากควันไฟได้
- ในกรณีที่ความช่วยเหลือไปไม่ทัน คุณสามารถช่วยเหลือและดูแลตัวเองเบื้องต้นได้โดยใช้ถุงพลาสติกใสใหญ่ตักอากาศบริสุทธิ์ครอบหัว ผ้าชุบน้ำปิดจมูก หรือหมอบคลานต่ำ หรือกรณีหนีไฟไม่ได้ให้อยู่แต่ในห้องแล้วปิดประตู ใช้ผ้าชุบน้ำอุดบริเวณขอบบานประตู แล้วไปขอความช่วยเหลือที่หน้าต่างหรือระเบียงแทน
กรณีอาศัยอยู่ในบ้านพักอาศัย
ขั้นตอนการหนีไฟไหม้
- หนีทันทีเมื่อมีสัญญาณ หรือรับรู้ได้เมื่อเกิดไฟไหม้ มองคาดการณ์แล้วไม่สามารถดับไฟด้วยตนเองได้แล้ว สิ่งแรกที่จะต้องทำเมื่อเกิดไฟไหม้ขึ้นในบ้านก็คือ ทั้งตัวคุณและสมาชิกในครอบครัวต้องรีบออกจากบ้านไปทันที เพราะไฟสามารถลุกลามได้เร็วกว่าที่คุณจะวิ่งได้ทัน ดังนั้นจงรีบหนีออกไปให้เร็วที่สุด
- หากในตัวบ้านเกิดควันปกคลุมภายใน ให้ใช้วิธีคลานหนี ถ้าจำเป็นต้องหนีฝ่าควันไฟออกไป จงหมอบคลานใกล้พื้นเข้าไว้ห้ามวิ่งออกไปเพราะ 80% ของผู้เสียชีวิตเกิดจากสำลักควันและขาดอากาศหายใจ ควรหาถุงพลาสติกตักเอาอากาศบริสุทธิ์ครอบศีรษะแล้วคลานต่ำหรือใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกเพื่อป้องกันสำลักควัน
- หายใจสั้นๆ ทางจมูก อย่าหายใจทางปาก
- ซ้อมแผนหนีไฟ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสมาชิกในบ้านโดยเฉพาะเด็กๆ สามารถเปิดประตูและหน้าต่างออกไปสู่ทางหนีไฟได้เอง ถ้าพบควันไฟที่บันไดหรือในห้องโถง ต้องเลือกไปใช้เส้นทางอื่นที่ได้กำหนดกันไว้ก่อนแล้ว
- ฝึกรับเหตุการณ์ไฟไหม้อย่างง่าย กับสมาชิกในครอบครัวของคุณเป็นประจำ เช่น ฝึกเดินในความมืด โดยหลับตาแล้วเดินชิดกำแพงไปที่ประตูทางออก และสอนเด็กให้รู้จักใช้โทรศัพท์แจ้งไฟไหม้ ในกรณีติดอยู่ในบ้านออกจากบ้านไม่ได้
หากเกิดเพลิงไหม้และติดอยู่ภายในบ้าน
- หากไม่สามารถออกจากบ้านได้ ให้กลับเข้าห้องแล้วปิดประตู จะช่วยป้องกันตัวเราจากเปลวไฟได้ แล้วรอคนมาช่วย
- หากไม่มีคนมาช่วย ต้องรู้ว่าทางออกอยู่ที่ไหน ควรวางแผนให้ดีก่อนจะมุ่งหน้าออกไป หาเส้นทางที่ใกล้และปลอดภัยที่สุด ไม่มุ่งหน้าไปมุมห้อง ทางตัน พื้นที่อับของตัวบ้าน
- หากมีควันไฟอยู่ให้ก้มตัวให้ต่ำหรือหมอบคลาน เพื่อหาทางออก ใช้การหายใจสั้นๆ จะช่วยให้สามารถฝ่าออกจากเหตุเพลิงไหม้ได้
- ในกรณีหนีไฟไม่ได้ให้อยู่แต่ในห้องแล้วปิดประตู ใช้ผ้าชุบน้ำอุดบริเวณขอบบานประตู แล้วไปขอความช่วยเหลือที่หน้าต่างหรือระเบียงแทน และใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกเพื่อป้องการการสูดดมควันมากเกินไปและป้องกันการสำลักควันไฟ
- หากอยู่ในบ้านในชั้นสูงหรือตึกสูง ให้โทรแจ้งพนักงานดับเพลิงมาช่วย นำผ้าเปียกวางปิดช่องประตู แล้วเปิดหน้าต่างและคอยส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ
การจัดเตรียมอุปกรณ์ดับไฟ พื้นฐานภายในบ้าน
เราสามารถเตรียมอุปกรณ์เพื่อรองรับเหตุเพลิงไหม้สำหรับครัวเรือนเบื้องต้นได้ เป็นการป้องกันไว้ก่อน ซึ่งปัจจุบันก็มีหลากหลายประเภทให้เลือกใช้ ไม่ได้มีเฉพาะถังดับเพลิงเพียงอย่างเดียว เพราะในสถานการณ์จริงเมื่อเกิดไฟไหม้ขึ้นจริงเราอาจควบคุมเพลิงไหม้เล็กๆได้ แต่ถ้าเพลิงไหม้เกิดลุกลามเกินกว่าจะดับด้วยตนเองแล้ว การมีเพียงแค่ถังดับเพลิงอาจจะไม่เพียงพอ หรือป้องกันเหตุการณ์ได้ครอบคลุมทั้งหมด ควรหาทางหนีและแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้ามาจัดการแทน
อุปกรณ์ตรวจจับเพลิงไหม้ : จะเป็นสิ่งแรงที่ช่วยเตือนภัย โดยการส่งสัญญาณเตือนผู้พักอาศัย ให้รู้ว่าเกิดเพลิงไหม้ในบ้านก่อนที่จะลุกลามเป็นวงกว้างได้ เช่น อุปกรณ์ตรวจจับควัน (Smoke Detector) , เครื่องดักจับความร้อน (Heat Detector) และอุปกรณ์ตรวจจับเปลวไฟ (Flame Detector) ควรติดตั้งในจุดเสี่ยงที่จะเกิดไฟไหม้ที่สุด เช่น ห้องครัว ยกเว้นห้องน้ำ
ถังดับเพลิง : ถังดับเพลิงมีอยู่หลากหลายประเภท แยกตามการใช้งานว่าต้องใช้ดับเพลิงไหม้จากวัสดุประเภทไหน ได้แก่
- เพลิงไหม้ประเภท A จากเชื้อเพลิงธรรมดาติดไฟง่าย เช่น กระดาษ พลาสติก เสื้อผ้า
- เพลิงไหม้ประเภท B จากเชื้อเพลิงของเหลวติดไฟ เช่น มีส่วนประกอบพื้นฐานเป็นน้ำมัน น้ำมันพืช น้ำมันก๊าซ น้ำมันเบนซิน ก๊าซไวไฟ ก๊าซ LGV และสารไวไฟทุกชนิด
- เพลิงไหม้ประเภท C จากอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ไฟฟ้าลัดวงจร หรือเกิดความร้อนสูงจนไฟไหม้
- เพลิงไหม้ประเภท D จากการทำปฏิกิริยาของโลหะ
- เพลิงไหม้ประเภท K จากเชื้อเพลิงจากการทำครัว เช่น น้ำมันที่ใช้ประกอบอาหาร น้ำมันพืช ไขมันสัตว์
ถังดับเพลิงมีหลากหลายประเภทให้เลือกใช้ ภายในถังจะมีสารต่างๆที่อยู่ด้านในที่แตกต่างกันไป บางประเภทเหมาะกับบ้านพักอาศัย และบางประเภทเหมาะกับงานอุตสาหกรรม โรงงาน โดยถังดับเพลิงที่เหมาะสำหรับใช้ภายในบ้าน ได้แก่
- แบบผงเคมีแห้ง : ภายในบรรจุผงเคมีแห้ง (Dry Chemical Extinguishers) ใช้ดับไฟประเภท A, B และ C เหมาะสำหรับติดตั้งตามตำแหน่งทั่วไปของบ้าน หาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพง เมื่อเปิดใช้แล้วก็ต้องส่งไปบรรจุใหม่เนื่องจากแรงดันหมดแม้จะยังใช้ไม่หมดก็ตาม เมื่อพ่นใช้งานจะเกิดคราบทิ้งไว้ หากพ่นโดนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้เสียหายเกิดสนิมได้
- แบบน้ำยาเหลวระเหย : ภายในบรรจุสารเคมีเหลวระเหย ใช้ดับเพลิงประเภท A, B, C , K ไม่ทิ้งคราบสกปรกหลังดับ และไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้าเหมาะกับการใช้งานในห้องที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่างๆ หรือติดตั้งในครัว แต่ราคาค่อนข้างแพงกว่าถังประเภทอื่นๆ
- แบบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ : ภายในบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide (CO2) Extinguishers)ใช้ดับไฟประเภท B และ C เมื่อฉีดออกมาจะเป็นไอเย็นจัดปกคลุมบริเวณที่เกิดไฟไหม้ ลดความร้อนได้เร็ว ไม่ทิ้งคราบสกปรกหลังดับ ไม่ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าเสียหาย เหมาะสำหรับใช้ภายในอาคาร ไฟที่เกิดจากแก๊ส น้ำมัน ไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้า สามารถติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆในบ้าน มีราคาไม่สูงมาก และหาซื้อได้ง่าย
นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ เช่น ลูกบอลดับเพลิง ภายในบรรจุสารแอมโมเนียฟอตเฟตสำหรับดับเพลิง เมื่อสัมผัสกับเปลวไฟเคมีข้างในก็จะฟุ้งกระจายออกมา สามารถดับเพลิงได้รวดเร็ว ใช้งานง่าย แต่ใช้ได้เพียงครั้งเดียวและมีราคาที่ค่อนข้างสูง
วิธีการใช้ถังดับเพลิง
หลักการใช้ถังดับเพลิงแบบถูกวิธี เบื้องต้นมีเพียง 4 ขั้นตอนง่ายๆ คือ ดึง ปลด กด ส่าย
- ดึง : บิดที่ยึดสลักไว้ให้ขาดออก แล้วดึงสลักสีเงินให้หลุดออก
- ปลด : ปลดสายฉีดของถังดับเพลิงออกมา ให้จับบริเวณปลายสายจะช่วยให้ดึงออกง่ายกว่า
- กด : ปลดสายออก จับบริเวณปลายสายจ่อไปยังเพลิงไหม้ แล้วกดคันบีบถังดับเพลิง
- ส่าย : ส่ายปลายสายถังดับเพลิงไปมา แนะนำให้ฉีดไปยังฐานของเชื้อเพลิงหรือจุดที่เป็นต้นเพลิง ไม่ควรฉีดบริเวณเปลวไฟที่ลุกไหม้ เพราะไฟจะไม่ดับและเปลืองน้ำยา
*** ถ้าต้องการโทรแจ้งเหตุไฟไหม้-ดับเพลิง ให้โทรไปที่ สายด่วน 199 สามารถโทรขอความช่วยเหลือได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ทางทีมงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ สำหรับผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านและคอนโดที่ต้องรับมือกับเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ ช่วยลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินต่างๆ ทางที่ดีคือเราต้องควรหมั่นตรวจตรา ระมัดระวัง และที่สำคัญคือต้องมีสติอยู่เสมอนะคะ
ThinkofLiving มี LINE Official Account แล้วนะคะ
ไม่อยากพลาดข้อมูลข่าวสารก็ Add เลย > https://lin.ee/svACOxc