%e0%b8%9b%e0%b8%81%e0%b8%ad%e0%b8%a2%e0%b8%b9%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%a2%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%a2%e0%b8%b8%e0%b8%84%e0%b8%ab%e0%b8%b4%e0%b8%99

ความเหนื่อยล้าของการทำงานและความเร่งรีบในปัจจุบัน ทำให้คนเราโหยหาที่จะกลับคืนสู่ธรรมชาติมากขึ้นนะคะ บางคนเลือกที่จะหนีความวุ่นวายไปเที่ยวป่า เที่ยวภูเขา ทะเล น้ำตก เพื่อชาร์ทพลังตัวเองกลับคืนมา บางคนเลือกจะไปพักรีสอร์ทสวยๆ อยู่ในบรรยากาศดีๆ แต่จะดีไหมถ้าเราจะลอง Back to Basic กลับไปสู่จุดเริ่มต้นโดยการมีบ้านสักหลังที่ทำให้เราอยู่ท่ามกลางธรรมชาติจริงๆ ตื่นเช้ามาก็ไม่ต้องฟังเสียงรถยนต์..แต่กลายเป็นเสียงนก ไม่ต้องมองผนังปูน..แต่ได้มองผนังต้นไม้เขียวๆแทน ลองจิตนาการดูเล่นๆก็คงดีไม่น้อย

วันนี้ผู้เขียนเลยมีไอเดียมาแนะนำสำหรับคนที่อยากสร้างบ้านแบบใกล้ชิดธรรมชาติ คือการลองกลับไป ”อยู่อย่างยุคหิน” ถ้าคุณมี Location ดีๆ มีที่ดินอยู่ติดหิน แค่นี้ก็เหมาะเลย!

ภาพวาดบนผนังถ้ำของมนุษย์ยุคหินกลาง

สมัยเริ่มแรก มนุษย์ได้อาศัยแหล่งธรรมชาติเป็นที่พักนอน เช่น ถ้ำและเพิงหิน ภายหลังก็รู้จักตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร ดัดแปลงสร้างบ้านจากวัสดุที่หาได้จากธรรมชาติ ปัจจุบันนักโบราณคดีต่างก็ได้ทำการศึกษาขุดค้นแสวงหาร่องรอยของมนุษย์สมัยโบราณ และตามหลักฐานข้อมูลที่ได้มาปรากฏว่า เรามีหลักฐานที่แสดงถึงกิจกรรมของมนุษย์ที่มีอายุย้อนหลังไปประมาณเกือบ 4๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว ในสมัยนั้นถือว่าเป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งมนุษย์ยังไม่รู้จักการใช้ภาษาเขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมตัวเอง

สำหรับประเทศไทยซึ่งมีทั้งที่ราบ ที่สูงหุบเขา แม่น้ำ ทะเลสาบ และชายฝั่งทะเล จากข้อมูลทางภูมิศาสตร์ปรากฏว่ามนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์อาศัยอยู่กันเป็นกลุ่มๆ ตามสถานที่ธรรมชาติต่างๆ เช่น เพิงหิน และถ้ำตามภูเขาที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำและอาหาร มนุษย์ในสมัยนั้นเลือกสถานที่พักอาศัยที่อยู่สูงจากพื้นที่ราบที่ปลอดภัยจากสัตว์ร้ายนานาชนิด และสามารถหลบลมหรือฝนได้ แหล่งที่พักอาศัยนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากแหล่งที่มนุษย์สามารถเก็บหาพืชผักผลไม้และจับสัตว์ทั้งบนบนและในน้ำ เช่น ปลาและหอยมาบริโภคได้วันต่อวัน (ขอบคุณข้อมูลจาก  : สาราณุกรมไทยฉบับเยาวชน เล่มที่ 18)      

จากข้อมูลข้างต้นทำให้เราเห็นว่าแต่เดิมมนุษย์เราอาศัยอยู่ในถ้ำ เพิงหิน ซึ่งข้อดีประการสำคัญของหินคือการทำหน้าที่เสมือนฉนวนกันความร้อนธรรมชาติ จินตนาการง่ายๆว่าเวลาเราเข้าไปในถ้ำจะรู้สึกเย็นมากก็เพราะว่าหินมีมวลที่หนาช่วยกันความร้อนเข้ามาภายในถ้ำได้ดีนั่นเองค่ะ ทีนี้เราลองมาคิดว่าถ้าเราลองกลับไปอยู่อย่างยุคหิน โดยการหาสถานที่ที่เราสามารถสร้างบ้านโดยไม่ใช่แค่ “ตั้งอยู่” แต่เข้าไป “แทรกตัว” อยู่ในหินธรรมชาติบ้างจะเป็นอย่างไร  ซึ่งประเทศไทยของเราเองก็มีสถานที่ต่างๆที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างบ้านลักษณะนี้ ก็คือ ภูเขาและเหมืองแร่หินอ่อน ส่วนไอเดียจะเป็นอย่างไรเดี๋ยวเราจะพาไปดูตามลำดับนะคะ

ภูเขา

ภูเขา คือลักษณะภูมิประเทศ ที่มีความสูงตั้งแต่ 600 เมตรขึ้นไปจากพื้นที่บริเวณรอบ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเนินเขา แต่ว่าเนินเขานั้น จะมีพื้นที่สูงจากบริเวณรอบ ๆ ประมาณ 150 แต่ไม่เกิน 600 เมตร โดยภูเขาสามารถแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

  • ภูเขาโก่งตัว เกิดจากการบีบอัดตัวของหินหนืด ในแนวขนาน
  • ภูเขาเลื่อนตัวหรือหักตัว เกิดจากการเลื่อนของหินทำให้มีการยกตัวและการทรุดตัวเกิดเป็นภูเขา
  • ภูเขาโดม เกิดจากการที่หินหนืดดันตัว แต่ว่ายังไม่ทันพ้นพื้นผิวของโลก ก็เย็นตัวก่อน
  • ภูเขาไฟ เกิดจากการที่หินละลาย ก่อตัวและทับถมกัน

ธรรมชาติของภูเขาจะมีชั้นหินอยู่ภายใน เป็นเสน่ห์ที่หาไม่ได้ในพื้นที่ราบ การออกแบบบ้านในบริเวณภูเขาจะต้องคำนึงถึงระดับของพื้น ชั้นหิน และสภาพของดินในพื้นที่นั้นๆ ตัวบ้านจึงมักมีการเล่นระดับและมีรายละเอียดที่ดูแปลกตาน่าค้นหากว่าบ้านบนที่ราบทั่วไป ทีนี้มาลองดูไอเดียบ้านที่แทรกตัวอยู่ในภูเขากันบ้าง

   04

บ้านถ้ำสไตล์ที่แทรกตัวอยู่บนภูเขาหลังนี้เป็นของ ไลโอเนล บัคเกต (Lionel Bucket) ถูกสร้างขึ้นมาบนเนื้อที่ 1,500 ไร่ เขาเริ่มต้นสร้างบ้านหลังนี้เพื่อเป็นที่พักผ่อนของครอบครัวตั้งแต่ปี 1950 ซึ่งเค้ามีไอเดียมาจากการที่เห็นหินที่โผล่มาจากหน้าผา ในเทือกเขาบลู ประเทศออสเตรเลีย โดยเขาต้องการให้หินที่โผล่ออกมาเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงบ้านของเขา

บ้านถ้ำหน้าผานี้ถูกสร้างขึ้นมาด้วยโครงสร้างของเหล็กและคอนกรีต รอบๆบ้านจะใช้เป็นหินธรรมชาติ ที่มีประตูบ้านทำจากไม้ ให้ความรู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติมากๆ ใครที่ชอบบ้านสไตล์ถ้ำแบบนี้ก็สามารถนำไอเดียไปใช้ได้ค่ะ

สำหรับใครที่ชอบความโมเดิร์น เรียบง่าย ไม่อยากให้มีหินงอกหินย้อยในบ้าน ก็มีอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ โดยบ้านนี้เป็นบ้านริมหน้าผาที่มีชื่อว่า Casa Brutale ของ 2 นักออกแบบชาวกรีก จาก OPA (Open Platform for Architecture)

แนวความคิดของบ้านหลังนี้ คือต้องการออกแบบให้ตัวบ้านฝังเข้าไปในหน้าผา เป็นรูปตัว L คว่ำ  โดยด้านบนจะเป็นสระว่ายน้ำ ส่วนด้านหน้าจะเป็นผนังกระจกบานใหญ่ ทำให้สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ด้านนอกหน้าผาได้ อีกทั้งพื้นสระว่ายน้ำทำเป็นกระจกใสเพื่อเพิ่มแสงสว่างให้กับตัวบ้านด้านล่าง พร้อมให้อารมณ์เสมือนถูกโอบล้อมไปด้วยผืนน้ำ

พื้นที่ใช้งานภายในบ้านจะจัดพื้นที่คล้ายห้อง Loft ที่หลายๆคอนโดในกรุงเทพนิยมทำกัน คือเป็นห้องฝ้าเพดานสูงและมีชั้นลอย โดยจัดฟังก์ชั่นให้ส่วนนั่งเล่นอยู่ชั้นล่าง ส่วนห้องนอนอยู่บนชั้นลอย เนื่องจากพื้นที่ใช้สอยของบ้านมีจำกัด แต่การจัดฟังก์ชั่นแบบนี้ก็มีข้อดีตรงที่ทั้งห้องนั่งเล่นและห้องนอน สามารถ Take วิวทะเลได้เต็มที่ สามารถมองเห็นสระว่ายน้ำด้านบน รวมทั้งได้แสงและเงาสะท้อนจากพื้นผิวของน้ำในสระว่ายน้ำส่องลงมาในตัวห้องอีกด้วย 

ตามแนวคิดของ OPA บ้านริมหน้าผานี้ จำลองสถานที่ตั้งอยู่ที่ริมทะเล Aegean Sea โดยวัสดุจะประกอบไปด้วย แก้ว, คอนกรีต, เหล็ก และไม้ ผสมผสานกันในรูปทรงของเรขาขณิต ซึ่งตัวบ้านจะฝังอยู่ในหน้าผา เพื่อใช้ประโยชน์จากฉนวนกันความร้อนตามธรรมชาติ ทำให้ภายในตัวบ้านเย็นสบาย เป็นการทำงานร่วมกันของธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม Casa Brutale ยังเป็นเพียงแนวความคิดที่ยังไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาจริง แต่ก็เป็นไอเดียที่น่าสนใจ แต่ถ้าจะสร้างที่ประเทศไทยอาจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบบางอย่างเนื่องจากบ้านเราเป็นเมืองร้อนและฝนตกชุก ดังนั้นจึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อที่จะสามารถออกแบบให้ตัวอาคารสามารถป้องกันความร้อนและกันฝนมากขึ้นค่ะ

เหมืองแร่หินอ่อน

เหมืองแร่หินอ่อน เป็นสถานที่หนึ่งซึ่งเหมาะกับการสร้างบ้านแนวนี้ โดยลักษณะของเหมืองหินจะเป็นแอ่งลงไปเนื่องจากผ่านการขุดมา ลักษณะทางกายภาพจึงจะมีชั้นหินสลับซับซ้อน บางส่วนที่ถูกนำไปใช้แล้วก็จะถูกตัดขาดหายไปไปบ้าง แต่ด้วย Texture ของหินที่มีความเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ทำให้ร่องรอยเหล่านั้นกลับมีเสน่ห์ในตัวเอง ในเมืองไทยเราก็มีแหล่งหินอ่อนอยู่ทั่วประเทศ โดยจังหวัดที่มีหินอ่อนที่มีคุณภาพเหมาะสมกับการทำเหมือง เช่น จังหวัดลำปาง จังหวัดลพบุรี สระบุรี  อ.ปากช่อง นครราชสีมา เป็นต้น ซึ่งเหมืองแร่นี้ก็เป็นสถานที่ที่คงจับจองเป็นเจ้าของกันไม่ได้ง่ายๆ แต่ถ้าใครมีเหมืองแร่หินอ่อนที่ถูกระวางไปแล้ว แทนที่จะทิ้งที่ดินผืนนั้นให้เสียเปล่า ถ้าลองมาเปลี่ยนให้เป็นบ้านสวยๆก็คงดีนะคะ

หน้าผา รีสอร์ท เขาใหญ่ เป็นรีสอร์ทที่เกิดขึ้นมาบนที่ดินของเหมืองแร่หินอ่อนเก่า เจ้าของคือ อาจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์  ด้วยความที่ท่านเป็นคนชอบงานศิลปะ เมื่อได้เจอที่ดินผืนนี้จึงรู้สึกว่าเหมืองหินอ่อนแบบนี้น่าสนใจกว่าพื้นที่ราบทั่วไป อย่างบริบทของเขาใหญ่เองจะมีภูมิประเทศที่เป็นภูเขาซึ่งแน่นอนว่าคนที่มาที่นี่มักอยากไปพักผ่อนในที่ที่เห็นวิวภูเขาซะเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่นี่จะต่างออกไปตรงที่จะได้เห็นหินธรรมชาติและเหมืองหินอ่อนที่เกิดจากการขุดของมนุษย์ พอมารวมกันแล้วมันมีเสน่ห์เฉพาะตัวบางอย่าง

ภายในรีสอร์ทจะมีลักษณะเป็นแอ่งลงไปตามธรรมชาติของเหมืองหินอ่อน เมื่อเข้ามาจึงรู้สึกถูกโอบล้อมด้วยโขดหิน โดยห้องพักจะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมเรียบๆใช้โทนสีเทา-น้ำตาล เพื่อให้กลมกลืนกับบริบทและจะแทรกตัวไปอยู่ตามจุดต่างๆของเหมือง ในตอนกลางคืนจะมีการซ่อนไฟ Warm write ตามจุดต่างๆที่เมื่อสะท้อนกับผิวหินแล้วจะช่วยขับ Texture ของหินให้เด่นขึ้นในตอนกลางคืน

ห้องพักมีจำนวนทั้งหมด 8 ห้อง โดยแบ่งเป็นห้องแกรนด์วิลล่าชมหินผา จำนวน 3 ห้องอยู่ชั้นบนสุด พร้อมอ่างจากุซซี่ และห้องวิลล่าผิงผาหิน จำนวน 5 ห้อง ขนาดห้องไซส์มาตรฐาน อยู่ด้านล่าง 

เมื่อมองเผินๆจากภายนอกแล้วจะคิดว่าที่นี่เหมือนกับรีสอร์ทธรรมดาที่มีการวางห้องพักไว้บนเพิงหิน คงเดาได้ง่ายๆว่าจุดขายของที่นี่คงเป็นวิวเหมืองหินเท่านั้นใช่ไหมล่ะคะ แต่ไฮไลท์ของที่นี่จริงๆแล้วอยู่ภายในห้องพักต่างหาก ส่วนหน้าตาภายในห้องจะเป็นอย่างไร สามารถติดตามได้ในหนังสือ อยู่ นอก กรอบ ฉบับเต็มค่ะ

และนี่เป็นเพียงออเดิฟเรียกน้ำย่อยจากบทความในหนังสือตอน อยู่อย่างยุคหิน | Back to Basic ซึ่งยังไม่ใช่เวอร์ชั่นเต็มนะคะ สำหรับใครที่อยากอ่านบทความฉบับเต็มพร้อมบทสรุป สามารถอ่านได้ในหนังสือ อยู่ นอก กรอบ ที่จะมาแจกให้ผู้อ่านทุกท่านในงาน Think of Living Expo 2017 ในเดือนพฤษภาคม 2017 ที่จะถึงนี้ ที่สยามพารากอน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้บนหน้าเวปไซต์ Think of Living ค่ะ 🙂

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

  • kanchanapisek.or.th
  • catdumb.com
  • nationtv.tv
  • cdn.architecturendesign.net
  • nhapha-khaoyai.com
  • jadagram.com/i/jeabjeabj
  • Forfur.com
  • mt068.wordpress.com
  • khundee.com
  • chiangmaionly.com
  • wallpapersok.com