กระแส “รถยนต์ไฟฟ้า (EV)” กำลังมาแรง สังเกตจากบนท้องถนนเริ่มมีรถยนต์ประเภทนี้ให้เห็นกันมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การมีรถยนต์ไฟฟ้านั้น ไม่ใช่แค่ซื้อรถเข้าบ้านมาแล้วจบ เราต้องมีการเตรียมบ้านให้พร้อมสำหรับการชาร์จด้วย

การเตรียมบ้านให้พร้อมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้ามีหลายอย่างที่ต้องทำด้วยกัน ทั้งการตรวจสอบหัวชาร์จของรถยนต์ การเลือกเครื่องชาร์จ เตรียมระบบไฟบ้าน และเตรียมพื้นที่สำหรับชาร์จรถ เราไปค่อยๆตามไปดูทีละเรื่องกันค่ะ

ตรวจสอบหัวชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

ตรวจสอบที่เสียบหัวชาร์จรถยนต์ของคุณผู้อ่านว่าเป็นประเภทไหน เพื่อที่จะได้ติดตั้งเครื่องชาร์จให้เหมาะสม

สำหรับบ้านเราปกติแล้วหัวชาร์จที่นิยมใช้กันจะมีอยู่ 3 แบบ คือ

  • Type 1 : สำหรับหัวชาร์จที่พบในรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น กับอเมริกา เช่น Nissan Leaf / Tesla ที่ขายในอเมริกา
  • Type 2 : สำหรับหัวชาร์จที่พบในรถยนต์สัญชาติยุโรป เช่น Mercedes-Benz / BMW/ Volvo / Porsche / Tesla ที่ขายในยุโรป
  • Type GB/T : สำหรับรถจีน เช่น BYD และรถที่ขายในจีน

โดยหัวชาร์จก็จะถูกแบ่งย่อยออกไปตามกระแสไฟที่ได้รับ ซึ่งก็ได้แก่ หัวชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าประเภท AC (กระแสไฟฟ้าสลับ) กับประเภท DC (กระแสไฟฟ้าตรง)

ตรวจสอบขนาดมิเตอร์ไฟฟ้า

คำถามที่หลายๆคนสงสัยอย่าง อยากมีรถยนต์ไฟฟ้า เตรียมไฟบ้านยังไง? ต้องเปลี่ยนเป็นไฟ 3 เฟสมั้ย? เริ่มจากต้องตรวจเช็คมิเตอร์ไฟฟ้าที่บ้านของเราก่อนค่ะ 

ก่อนจะติดตั้ง EV Charger ที่บ้าน เพื่อนๆ อาจเคยได้ยินกันต่อๆ มาว่า ต้องขอไฟบ้าน 3 เฟสนะ ซึ่งนั่นไม่เป็นความจริงทั้งหมดนะคะ เพราะเครื่อง EV Charger ในตลาดของไทยที่ขายๆ กันอยู่นั้นก็มีรุ่นที่ติดกับไฟบ้านเฟสเดียวได้ด้วยเช่นกัน

สำหรับการดูว่ามิเตอร์ที่บ้านเหมาะสำหรับติดตั้ง EV Charger แล้ว หรือต้องเปลี่ยนใหม่ โดยมีวิธีตรวจสอบโดยให้สังเกตข้อความบนมิเตอร์ของบ้านท่าน ในส่วนของ “Phase” หรือ “Type”จะบอกได้ว่ากำลังการจ่ายไฟของบ้านท่าน จ่ายไฟได้เท่าไหร่

มิเตอร์บ้านทั่วไปที่สร้างนานแล้ว มักจะอยู่ที่ Single-Phase 5(15)A หรือ Single-Phase 15(45)A ซึ่งเป็นกำลังไฟที่ไม่เพียงพอกับการใช้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าการจะติดตั้งเครื่อง EV Charger และใช้ไฟในบ้านได้อย่างเสถียร มาตรฐานขนาดมิเตอร์ที่ทางการไฟฟ้าฯแนะนำ คือ Single-Phase 30(100)A หรือ 3-Phase 15(45)A จึงจะเพียงพอ ทั้งนี้ทางช่างผู้ติดตั้งจะคำนวณควบคู่กับการใช้ไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็น Case by Case ด้วยค่ะ

อีกเรื่องที่เราควรทราบคือทุกวันนี้ประชาชนคนไทยอย่างเราๆ ซื้อไฟฟ้าใช้จาก 2 แห่งหลักๆคือ

  • MEA (การไฟฟ้านครหลวง) ที่จะดูแล 3 จังหวัดก็คือ กรุงเทพฯ, นนทบุรี และ สมุทรปราการ
  • PEA (การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) จะดูแลจังหวัดที่เหลือทั้งหมด

แม้ว่า MEA และ PEA จะทำหน้าที่เหมือนๆ กัน แต่จะมีพวกกฎระเบียบของการให้บริการที่ต่างกันเล็กน้อยที่เราควรทราบไว้นะคะ เช่น บ้านพักอาศัยที่อยู่ในการดูแลของ MEA หนึ่งบ้านเลขที่จะติดมิเตอร์ไฟฟ้าได้เพียงตัวเดียว  แต่บ้านพักอาศัยที่อยู่ในการดูแลของ PEA บ้านเลขที่เดียวก็สามารถติดมิเตอร์เพิ่มเป็น 2 ตัวได้

นั่นหมายความว่าบ้านที่อยู่ภายใต้การดูแลของ PEA (การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) จะสามารถติดตั้งมิเตอร์เพิ่มสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแยกต่างหาก คิดค่าไฟแยกกับตัวบ้าน ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับมิเตอร์และวงจรไฟเดิมเลย

ส่วนบ้านที่อยู่ในการดูแลของ MEA (การไฟฟ้านครหลวง) เนื่องจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าของ 3 จังหวัด กรุงเทพฯ, นนทบุรี และ สมุทรปราการ มีปริมาณมาก ทางการไฟฟ้าเขาจึงกำหนดให้แต่ละบ้านติดตั้งมิเตอร์ได้เพียงแค่ตัวเดียว ดังนั้นหากเราจะเตรียมไฟฟ้าให้เพียงพอกับการติดตั้ง EV Charger จะต้องทำการ “เปลี่ยนมิเตอร์” นั่นเองค่ะ โดยขนาดที่แนะนำคือ  Single-Phase 30(100)A หรือ 3-Phase 15(45)A ซึ่งขั้นตอนยังก็จะยากขึ้นมาอีกนิดนึงค่ะ

ตัวอย่างการติดตั้ง EV Charger ในกรุงเทพฯ ซึ่งทาง MEA (การไฟฟ้านครหลวง) กำหนดให้ติดตั้งมิเตอร์ได้เพียงแค่ตัวเดียว ดังนั้นจึงต้องทำการเปลี่ยนมิเตอร์ใหม่ ให้มีกำลังไฟเพียงพอต่อการใช้งาน

บ้านที่มีการเพิ่มขนาดของมิเตอร์จะมีลูกถ้วยไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมา โดยลูกถ้วยไฟฟ้าคืออุปกรณ์ที่ใช้รองรับสายไฟ โดยมันจะทำหน้าที่เป็นฉนวนในการป้องกันไม่ให้กระแสไฟฟ้ารั่วไหลลงดินหรือลัดวงจรลงดิน

ขอติดตั้งหรือเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าติดต่อใคร?

การดำเนินการขอติดตั้งหรือเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้า สามารถแจ้งไปที่การไฟฟ้าฯในเขตของคุณผู้อ่าน เพื่อขอเปลี่ยนขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าในบ้านได้ โดยจะมีเจ้าหน้าที่มาติดตั้งให้การไฟฟ้าฯ ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับขนาดมิเตอร์และสายส่งเข้าอาคารค่ะ

ช่องทางติดต่อการไฟฟ้า เพื่อขอเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้า

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค PEA Call Center 1129
การไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center 1130

เอกสารที่ต้องเตรียม

1. สำเนาทะเบียนบ้านที่ขอติดตั้งการใช้ไฟฟ้า
2. สำเนาทะเบียนบ้านที่อยู่ปัจจุบัน
3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
4. สัญญาซื้อขาย (กรณีซื้อขายบ้าน)
5. ใบเสร็จค่าไฟฟ้าข้างเคียงของเสาที่จะติดตั้งมิเตอร์ (ถ้ามี)

ค่าใช้จ่ายขอเปลี่ยนมิเตอร์ของค่าย MEA และ PEA ซึ่งเราหาข้อมูลจากทาง Official Website มาฝากกัน เป็นราคาคร่าวๆ ซึ่งในการติดตั้งจริงอาจมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติมเป็น Case by Case ค่ะ

ข้อมูลอ้างอิง MEA > https://www.mea.or.th/content/116/288

เปลี่ยนสายเมน และลูกเซอร์กิต (MCB)

สำหรับสาย Main ของเดิมใช้ขนาด 16 ตร.มม. ต้องปรับให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 25 ตร.มม. และเปลี่ยนลูกเซอร์กิต(MCB) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ป้องกันร่วมกับตู้ MDB ที่แต่เดิมรองรับได้สูงสุด 45(A) เปลี่ยนเป็น 100(A) หรือพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ ขนาดมิเตอร์ ขนาดสายเมน และขนาดลูกเซอร์กิต (MCB) ต้องสอดคล้องกัน

ตู้ควบคุมไฟฟ้า (MDB)

ตรวจสอบภายในตู้ว่ามีช่องว่างสำรองเหลือให้ติดตั้ง Circuit Breaker อีก 1 ช่องรึเปล่า? เพราะการชาร์จไฟของรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องมีส่วนตัว แยกใช้งานกับเครื่องไฟฟ้าอื่นๆ หรือถ้าหากภายในตู้หลักไม่มีช่องว่าง ยังไงเราก็ต้องเพิ่มตู้ควบคุมย่อยอีก 1 จุดนะคะ

เครื่องตัดไฟรั่ว (RCD)

เป็นเครื่องตัดไฟฟ้าอัตโนมัติที่จะตัดวงจรไฟฟ้า เมื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่านเข้าออกมีค่าไม่เท่ากัน ซึ่งอาจจะส่งผลให้ไฟฟ้าลัดวงจร และเกิดเพลิงไหม้ได้ในอนาคต กรณีที่สายชาร์จไฟฟ้ามีระบบตัดไฟภายในตัวอยู่แล้ว เราก็ไม่ต้องติดตั้งเพิ่ม

เลือกจุดติดตั้งรถยนต์ไฟฟ้า 

ควรเลือกจุดติดตั้งรถยนต์ไฟฟ้าให้มีระยะทางไม่เกิน 5 เมตร เนื่องจากสายเครื่องชาร์จ EV Charger โดยทั่วไปอยู่ที่ 5-7 เมตรเท่านั้น เลือกทำเลใกล้ตู้เมนไฟฟ้า (MDB) ในบ้าน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินสายไฟที่มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น และควรเลือกจุดที่อยู่ด้านในใต้หลังคา เพื่อป้องกันละอองฝน และเป็นการรักษาให้ใช้งานได้ยาวนานมากขึ้นค่ะ