เมื่อวานนี้เราได้พูดถึง ที่มาที่ไปของหนังสือ ” เล็ก . อยู่ . ได้ ” และ วิวัฒนาการของคอนโดมิเนียมกันไปแล้วนะคะ ถ้าใครที่ยังไม่ได้อ่าน ก็สามารถคลิกตัวหนังสือสีฟ้าได้เลย
” เล็ก . อยู่ . ได้ ” บทนำ และ วิวัฒนาการของคอนโดมิเนียม
สำหรับวันนี้ เราขอเลือกอีกหนึ่งหัวข้อที่น่าสนใจมาลง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการจัดวางผังห้องพักอาศัยขนาดเล็กในคอนโดมิเนียม ซึ่งในบทความนี้เราจะได้ทั้งความรู้เกี่ยวกับการออกแบบ การออกแบบห้องพักแบบนี้มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร แล้วผังห้องแบบไหนที่เหมาะกับการใช้ชีวิตของเรากันแน่…. เชิญติดตามอ่านกันได้เลยค่ะ 🙂
ห้องเล็กแบบไหนถึงอยู่สบาย
เวลาจะเลือกคอนโดสักที่ เมื่อเลือกทำเลที่ใช่ โครงการที่ถูกใจได้แล้ว สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดที่ต้องคำนึงถึงคือ ห้องพักที่เราต้องอาศัยอยู่นั่นเอง ในปัจจุบันคอนโดก็มีแบบห้องให้เลือกหลากหลายตั้งแต่ห้อง Penthouse จนเล็กลงมาถึงห้อง Studio ซึ่งเงินในบัญชีของอย่างเราๆ ที่เป็นพนักงานตัวน้อย หรือหนุ่มสาวไฟแรงที่พึ่งเริ่มทำงานก็พอจะทำให้เราสามารถคัดเลือกขนาดห้องไปได้ระดับนึงแล้ว ด้วยราคาห้องที่มีพื้นที่ใช้สอยมาก ดูกว้างขวางก็นำมาซึ่งราคาที่เกินจะเอื้อมถึง สุดท้ายแล้วขนาดพื้นที่ใช้สอยที่สามารถหยิบจับได้สบายตัวก็จะเหลือไม่มากนักตามราคาที่จ่ายไหว
คำตอบของเราก็คงจะหนีไม่พ้นห้องขนาดเล็กแน่นอน แต่ใช่ว่าห้องขนาดเล็กจะมีหน้าตาแบบเดียวกันซะหน่อย จากโครงการต่างๆ ก็เห็นมีห้องขนาดเล็กหน้าตาหลากหลายให้เราเลือกมากมายทั้งแบบห้อง Studio แบบ 1 Bedroom ห้องหน้าแคบหรือห้องหน้ากว้าง เอาเข้าจริงๆ ก็ทำให้หัวหมุนอยู่เหมือนกัน แต่เมื่อเราจะควักเงินออกจากกระเป๋าแล้วแน่นอนว่าทุกคนก็อยากได้ห้องที่ดีและเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเราที่สุด ฉะนั้นบทนี้เราจะพาไปเจาะลึกห้องขนาดเล็กตั้งแต่ขนาดพื้นที่ใช้สอย 21 – 22.5 ตารางเมตร ที่เห็นกันจนคุ้นตาบนท้องตลาดคอนโดมิเนียมในปัจจุบันว่ามีแบบไหนบ้าง มีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไร เพื่อหาห้องที่ลงตัวในการอยู่อาศัยของคุณกันค่ะ
“ห้อง Studio”
ก่อนอื่นเรามารู้จักห้อง Studio กันก่อนนะคะ ความหมายของห้อง Studio นี้ก็คือ ห้องที่ไม่มีผนังมากั้นฟังก์ชันต่างๆ เลย หรือหมายถึงว่าทุกๆ ห้องเป็นพื้นที่ที่เชื่อมต่อกันหมด หรือเป็นห้องเดียวกัน
ข้อดี : สำหรับห้อง Studio นี้ข้อดีเลยคือความอิสระในการจัดวางพื้นที่ใช้สอยเองเสมือนว่าเป็นห้องพักอาศัยเป็นห้องอเนกประสงค์ รวมทั้งบรรยากาศห้องที่ดูโปร่งโล่งแม้จะเป็นห้องขนาดเล็ก เนื่องจากไม่มีผนังมากั้นให้ดูอึดอัด
ข้อจำกัด : หากใครเป็นคนชอบความเป็นระเบียบและต้องการพื้นที่เป็นสัดส่วนชัดเจนนั้นห้อง Studio ก็คงไม่เหมาะเท่าไหร่ รวมทั้งใครที่มีสมบัติเยอะ การเก็บของในที่ต่างๆ ไม่ให้ดูรกก็ดูจะเป็นเรื่องยากสำหรับห้อง Studio เช่นกัน
“ห้อง 1 Bedroom”
ห้อง 1 Bedroom เป็นห้องขนาดเล็กไปจนถึงปานกลาง ส่วนใหญ่ขนาดห้องจะไม่เกิน 40 ตารางเมตร และมีขนาดที่ใหญ่กว่าห้อง Studio แต่ในปัจจุบันก็จะเริ่มเห็นหน้าตาห้อง 1 Bedroom ที่มีขนาดเท่าๆ กับห้อง Studio กันค่อนข้างเยอะทีเดียวค่ะ
ข้อดี : สำหรับห้อง 1 Bedroom นี้ข้อดีเลยคือความเป็นสัดส่วนชัดเจนมากขึ้นจากห้อง Studio โดยส่วนใหญ่จะมีประตูบานเลื่อนกระจกกั้นระหว่างห้องนอนกับห้องนั่งเล่น ซึ่งเพิ่มความรู้สึกเป็นส่วนตัวมากขึ้น ทำให้ห้อง 1 Bedroom นี้ค่อนข้างเป็นที่นิยมของผู้บริโภค เนื่องจากตรงกับไลฟ์สไตล์ในการอยู่อาศัยของคนไทยที่ชอบความเป็นสัดส่วนชัดเจน
ข้อจำกัด : เมื่อห้องที่ถูกกั้นพื้นที่เป็นสัดส่วนชัดเจนนั้น ก็ทำให้ความรู้สึกโปร่งโล่งของห้องน้อยลงไป ซึ่งหลายโครงการส่วนใหญ่เลยนั้นจะแก้ปัญหาโดยการกั้นพื้นที่ด้วยประตูบานเลื่อน “กระจก” เพื่อให้สามารถมองทะลุได้ และพื้นที่ห้องด้านในที่ไม่ติดกับหน้าต่างยังได้รับแสงธรรมชาติส่องลอดเข้ามาได้ และจะให้ห้องดูโปร่งโล่งเทียบเคียงห้อง Studio ได้นั้นคือการกั้นด้วยประตูบานเลื่อนกระจกแบบ 3 ตอน ที่มีความสูงบานกระจกตั้งแต่พื้นจนถึงฝ้าเพดาน
จากภาพเป็นแปลนห้องพักอาศัยขนาดเล็กแบบต่างๆ ที่มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 21 – 22.5 ตารางเมตรทั้งหมด จะเห็นว่าถึงแม้ห้องนั้นจะมีขนาดพื้นที่ใช้สอยที่ใกล้เคียงกันแต่ก็ยังมีความหลากหลายของแบบห้องให้เลือกอยู่เหมือนกัน แต่หลักๆแล้วเราสามารถจำแนกห้องขนาดเล็กที่เห็นกันค่อนข้างมากในท้องตลาดได้ทั้งหมด 4 แบบด้วยกัน จากการแยกด้วย Zoning หรือเข้าใจง่ายๆ ก็คือ โซนต่างๆ ภายในห้องค่ะ
สำหรับการจัดวาง Zoning นี้ถือว่ามีบทบาทสำคัญและส่งผลต่อการอยู่อาศัยภายในห้องเหมือนกัน เพราะหากไม่มีการวาง Zoning ของฟังก์ชั่นต่างๆ ที่มีการใช้งานคล้ายคลึงกันไว้ใกล้ๆ กัน ก็จะทำให้เราใช้งานฟังก์ชันต่างๆ ภายในห้องไม่สะดวกมากนักค่ะ
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพหน่อย เช่น ระหว่างระเบียงซักล้างที่ติดกับห้องนอนและระเบียงซักล้างที่ติดกับห้องครัว แน่นอนว่าในเชิงของการใช้งานแล้วระเบียงซักล้างที่ติดกับห้องครัวก็ย่อมที่จะมีลักษณะการใช้งานที่คล้ายคลึงกัน และง่ายต่อการทำความสะอาดมากกว่า แต่หากเป็นระเบียงที่เน้นการชมวิวมากกว่าการใช้งานนั้น ก็จะเหมาะกับการจัดวางไว้ใกล้ห้องนั่งเล่นหรือห้องนอนมากกว่าห้องครัว เพราะเป็นฟังก์ชั่นที่ไม่ได้เน้นการใช้งานเหมือนระเบียงซักล้าง และไม่ได้อยู่ใน Zoning เดียวกันแม้จะใช้คำว่าระเบียงเหมือนกันก็ตาม เป็นต้นค่ะ
— โดย Zoning สำหรับผู้ออกแบบนั้นมักจะแบ่งตามการใช้งานเป็นหลัก สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ —
- Public Zone เป็นพื้นที่ใช้ต้อนรับเพื่อนหรือแขกได้ เช่น ห้องนั่งเล่นและห้องรับแขก ซึ่งส่วนใหญ่ตำแหน่งของโซนนี้จะอยู่บริเวณด้านหน้าของห้อง
- Private Zone เป็นพื้นที่ที่เน้นความเป็นส่วนตัว เช่น ห้องนอน โดยตำแหน่งมักจะวางอยู่ด้านในสุดของห้อง และติดริมหน้าต่างให้แสงธรรมชาติส่องเข้าถึงได้
- Service Zone เป็นพื้นที่ส่วนบริการต่างๆ เช่น ห้องน้ำ ห้องครัวและระเบียงซักล้าง สำหรับตำแหน่งของห้องน้ำส่วนใหญ่จะอยู่ด้านหน้าห้องติดโถงทางเดิน แต่ตำแหน่งของห้องครัวและระเบียงซักล้างนั้นจะค่อนข้างหลากหลายตามการออกแบบค่ะ
เราไปดูกันว่าห้องขนาดเล็กที่เป็นที่นิยมของโครงการในปัจจุบันมีการจัดวาง Zoning แบบไหนกันบ้างและมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง
Zone A
การจัดวาง Zoning แบบนี้ค่อนข้างเป็นที่นิยมของคอนโดในท้องตลาดทั่วไปค่ะ ลักษณะผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส การจัด Zoning ของผังนี้ถือว่าลงตัวและเป็นสัดเป็นส่วนดี จะเห็นได้ชัดเจนว่าได้จัดวางห้องที่มีลักษณะการใช้งานเหมือนกันไว้ในโซนเดียวกันหมด จนเกิดเป็น Zoning ที่ชัดเจน จะเห็นว่า Service Zone จะอยู่รวมกันข้างหนึ่งทั้งหมด ทำให้สะดวกต่อการใช้งาน เช่น ห้องนั่งเล่นที่เป็น Public Zone ไว้ด้านหน้าเพื่อใช้เป็นส่วนต้อนรับแขกหรือเพื่อนๆ ได้โดยไม่ผ่าน Private Zone ที่เป็นส่วนห้องนอน และห้องครัวที่อยู่ติดกับระเบียงซักล้างก็ใช้งานสะดวก รวมทั้งห้องนอนนั้นที่อยู่ด้านในสุดก็จะได้หน้าต่าง สามารถดูวิวจากห้องนอนได้หรือได้รับแสงธรรมชาติเข้ามาภายในห้อง
ห้องพักอาศัยจากการจัดแบบ Zoning A
ห้องนั่งเล่น : ขนาดของห้องนั่งเล่นสามารถวางโซฟาขนาดเล็ก 2-3 ที่นั่งได้ หากวางชุดโซฟาขนาดเล็ก 2 ที่นั่งจะเหลือพื้นที่ด้านข้างให้พอวางโต๊ะทำงานขนาดเล็กได้ ข้อจำกัดของพื้นที่ส่วนนี้ คือ ตรงกลางระหว่างชุดโซฟากับทีวีถูกทำเป็น Circulation (ทางเดิน) ซึ่งทำให้ไม่สามารถใช้พื้นที่ใช้สอยได้ทั้งหมด หรือคิดง่ายๆ คือ เราไม่สามารถวางโต๊ะกลางขนาดใหญ่ หรือ เก้าอี้โซฟาด้านข้างได้เพราะจะไปบังทางเดิน ทำให้เดินไม่สะดวกนัก
ห้องครัวและพื้นที่รับประทานอาหาร : ห้องครัวเป็นแบบครัวเปิด มีข้อจำกัดในเรื่องของกลิ่นอาหารที่สามารถฟุ้งไปยังห้องนั่งเล่นได้ ส่วนพื้นที่รับประทานอาหารได้ถูกจัดพื้นที่มาให้เรียบร้อยโดยการเซตผนังเข้าเป็นมุมชัดเจน ทำให้มีพื้นที่รับประทานอาหารที่เป็นสัดส่วนมากขึ้น เนื่องจากพื้นที่ครัวมีความยาวของพื้นที่ที่จำกัด ซึ่งหากวางชุดโต๊ะรับประทานอาหารขนาด 2 ที่นั่งแบบหันหน้าเข้าหากันก็จะกินพื้นที่ทางเดินและทางเข้า-ออกห้องได้ ส่วนข้อจำกัดของการแก้ปัญหาพื้นที่ขนาดเล็กของส่วนรับประทานอาหาร คือ ขนาดของโต๊ะที่ต้องมีขนาดพอดีหรือเล็กกว่ามุมห้อง ซึ่งจำเป็นต้องเช็คขนาดของพื้นที่ให้ดีก่อนที่จะไปเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ค่ะ หรือใครอยากตัดปัญหาเลยก็สามารถสั่งทำโต๊ะ Built-in ได้ค่ะ
ห้องน้ำ : ห้องน้ำมีขนาดเล็กแต่สามารถจัดเป็นสัดส่วนได้ดี แบ่งเป็นส่วนเปียกและส่วนแห้งเรียบร้อย ใช้งานสะดวกและทำความสะอาดได้ง่าย
ระเบียง : ระเบียงซักล้างขนาดเล็ก เมื่อวางเครื่องซักผ้าไปแล้ว จะเหลือพื้นที่ในการซักล้างหรือตากผ้าน้อยมาก แต่สามารถแก้ปัญหาได้โดยการใช้ราวบาร์ติดกับผนัง 2 ด้านเพื่อประหยัดพื้นที่ของพื้นด้านล่างให้พอซักล้างได้
ห้องนอน : ห้องนอนถูกกั้นด้วยประตูบานเลื่อนกระจกเป็นสัดส่วนเรียบร้อย ซึ่งสามารถเพิ่มความเป็นส่วนตัวได้มากขึ้นค่ะ ทั้งนี้แบบของประตูบานเลื่อนก็มีให้เปรียบเทียบอยู่ 2 แบบใหญ่ที่เห็นกันในโครงการทั่วไป คือประตูบานเลื่อนกระจกแบบ 2 ตอนและแบบ 3 ตอน สำหรับประตูบานเลื่อนกระจกแบบ 3 ตอนนั้นจะสามารถเปิดห้องได้กว้างกว่าแบบ 2 ตอน ซึ่งทำให้มีที่ว่างในการเดินเข้า-ออก หรือเคลื่อนย้ายขนของได้สะดวก ส่วนพื้นที่ภายในห้องเหมาะกับการวางเตียงขนาด 5 ฟุต และจะพอดีมากกว่าวางเตียงขนาด 6 ฟุต ซึ่งจะไปกินพื้นที่ทางเดินด้านข้างไป ส่วนปลายเตียงมีพื้นที่หลบเข้าไปเพื่อวางตู้เสื้อผ้าได้โดยไม่กินพื้นที่ทางเดินค่ะ
สรุป
โดยรวมแล้วเป็นห้องพักอาศัยที่มีฟังก์ชันพื้นฐานครบถ้วน มีการจัดวางฟังก์ชันต่างๆ ได้ดีเพื่อให้ใช้งานได้จริงในขนาดพื้นที่ใช้สอยที่จำกัด แต่มีบางพื้นที่ที่ยังเล็กเกินไปสำหรับการใช้งานจริงอย่าง ระเบียงซักล้าง ซึ่งต้องใช้การแก้ปัญหาด้วยเฟอร์นิเจอร์หรืออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้งานมากขึ้นหรือประหยัดพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น
Zoning B
Zoning นี้ก็เป็นอีกแบบที่เห็นกันค่อนข้างมากในโครงการต่างๆ ความแตกต่างกับ Zoning A คือลักษณะผังที่เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบหน้าแคบลึก ซึ่งจะเห็นว่าการจัดวาง Zoning ของผังนี้นั้นจะถูกสลับไปมาหน่อย ไม่ใช่ Zoning เดียวกันอยู่ใกล้กัน เหมือน Zoning A เนื่องจากถูกข้อจำกัดในเรื่องของรูปร่างผังที่ค่อนข้างยากพอสมควรที่จะสามารถจัดให้ Zoning ลงตัว ข้อดีของ Zoning B ห้องจะดูโปร่งโล่ง เพราะไม่มีผนังมากั้นในแต่ละห้องให้ดูทึบตัน หรือหากจะมีการกั้นให้เป็นสัดส่วนมากยิ่งขึ้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นประตูบานเลื่อนกระจกค่ะ ส่วนข้อเสียของการวาง Zoning แบบนี้คือการวาง Zone Service ไว้ด้านหน้าห้อง ซึ่งเป็นโซนที่มักจะมีข้าวของค่อนข้างมาก ทำให้ห้องอาจจะดูรกได้ง่ายถ้าไม่มีการเก็บให้เรียบร้อยตลอดเวลาค่ะ รวมทั้งระเบียงซักล้าง ซึ่งเป็น Zone Service อยู่ติดกับห้องนอนที่เป็น Zone Private ซึ่งอาจจะไม่สะดวกในการใช้งานมากนัก
ห้องพักอาศัยจากการจัดแบบ Zoning B
ห้องนั่งเล่น : ห้องนั่งเล่นมีขนาดไม่ใหญ่มากนักสำหรับห้องแบบ 1 Bedroom แต่พื้นที่นั่งเล่นนี้สามารถทำให้รู้สึกโล่งมากขึ้นได้หากเป็นห้อง Studio ค่ะ ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีพื้นที่ใช้สอยไม่ได้แตกต่างกันมากนัก สำหรับห้องนั่งเล่นของผังแบบนี้สามารถวางชุดโซฟาขนาด 2 ที่นั่งได้ พร้อมโต๊ะกลาง สามารถวางทีวีขนาดใหญ่ได้ด้วยระยะห่างระหว่างโซฟาและทีวีที่มีระยะพอสมควรจึงสามารถเพิ่มขนาดทีวีที่เหมาะกับระยะสายตาได้ค่ะ ส่วนข้อเสียของห้องนั่งเล่นในแปลนนี้คือทางเดินที่คั่นกลางระหว่างโซฟาและทีวี ซึ่งทางเดินนี้เป็นทางเดินที่เชื่อมกับส่วนครัวและห้องนอน หากใครที่อยู่อาศัยกับเพื่อนร่วมห้องอีกคนก็คงต้องเจอเหตุการณ์ที่เพื่อนเดินผ่านไปมาขณะที่เรานั่งดูทีวีอยู่
ห้องครัวและพื้นที่รับประทานอาหาร : พื้นที่ครัวของ Zoning นี้มักถูกจัดไว้ที่หน้าห้องเกิดจากรูปร่างของห้องที่เป็นแบบหน้าแคบลึก ทำให้ตำแหน่งของครัวที่ดีที่สุดจึงต้องอยู่ตำแหน่งหน้าห้องค่ะ พื้นที่ครัวนี้เป็นได้ทั้งครัวเปิดและครัวปิดขึ้นอยู่กับทางโครงการนั้นๆ ซึ่งหากได้เป็นครัวปิดก็จะดีในแง่ของความเป็นสัดส่วนและทำกับข้าวได้ไม่ต้องกังวลเรื่องกลิ่นฟุ้งมากนัก ส่วน Hood ที่เหมาะกับครัวแบบนี้นั้นคือ Hood แบบหมุนเวียน มากกว่า เนื่องจากสะดวกในการติดตั้งมากกว่า ถึงแม้ว่าประสิทธิภาพของการใช้งานแล้ว Hood แบบ Exhausted จะดีกว่าก็ตาม
สำหรับพื้นที่รับประทานอาหารของผังนี้จะไม่ค่อยลงตัวเท่าไหร่นักค่ะ เห็นได้จากการวางโต๊ะเก้าอี้ไว้ตรงทางเดิน หรือวางแทนที่พื้นที่วางทีวี รวมทั้งไม่มีที่วางเลยด้วยซ้ำต้องนั่งกินบนโซฟาแทน การแก้ไขปัญหานี้ก็คือการใช้เฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัว ขนาดเบาพับเก็บได้ หรือไม่ก็เป็นเฟอร์นิเจอร์ Built-in ที่สามารถพับเข้า-ออกได้
ห้องน้ำ : การวางตำแหน่งสุขภัณฑ์นั้นอาจจะไม่ได้เป๊ะเป็นแพทเทิร์นที่ชัดเจน แต่มีการแยกพื้นที่ส่วนเปียกส่วนแห้งชัดเจน ใช้งานสะดวก
ระเบียง : ระเบียงขนาดกระทัดรัดตามพื้นที่ใช้สอย จากแปลนจะเห็นอยู่ 2 แบบหลักๆ คือด้านข้างเป็นระเบียงซักล้างและอีกด้านเป็นพื้นที่ใช้สอยภายในจัดเป็นพื้นที่ทำงานเล็กๆ ได้ หรือระเบียงซักล้างขนาดยาวใช้งานได้ดีขึ้นแต่ก็ต้องแลกกับพื้นที่ใช้สอยภายในที่หายไปค่ะ หากพูดในเชิงของพื้นที่การใช้งานแน่นอนว่าแบบที่เป็นระเบียงซักล้างขนาดยาวต้องใช้งานได้ดีกว่า แต่ข้อจำกัดนั้นก็คือเรื่องวิวที่จะถูกเสื้อผ้าที่เราตากไว้บดบังได้เช่นกันนะ
ห้องนอน : ห้องนอนอยู่ด้านในสุดได้รับแสงธรรมชาติดี มีพื้นที่ภายในห้องนอนใหญ่กว่าห้องอื่นๆ วางเตียงขนาด 5 ฟุตได้สบาย มีมุมติดกับระเบียงซักล้างสามารถวางโต๊ะทำงานเล็กๆ ติดริมหน้าต่างได้
สรุป
ห้องที่มีลักษณะหน้าแคบลึกโดยส่วนใหญ่จะมีการจัด Zoning ประมาณนี้ค่ะ ถึงแม้ Zone ต่างๆ จะมีการจัดให้อยู่กระจัดกระจายบ้างอย่างระเบียงที่เป็น Zone Service อยู่ติดกับ Zone Private อย่างห้องนอน เป็นต้น แต่ภาพรวมแล้ว Zoning นี้ก็มีฟังก์ชันพื้นฐานครบถ้วนในการอยู่อาศัย ส่วนในเรื่องของความรู้สึกจะแตกต่างกับห้องที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือจัตุรัสอยู่แน่นอน ถึงแม้จะรู้สึกแคบไปหน่อย สิ่งที่ช่วยความรู้สึกแคบในใจเราได้คือความสูงของฝ้าเพดานค่ะ สำหรับผังนี้ค่อนข้างสำคัญทีเดียว ความสูงของฝ้าเพดานนั้นยิ่งสูงยิ่งทำให้ห้องดูโปร่งโล่ง เพราะได้ปริมาตรของห้องเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
Zone C
การจัดวาง Zoning แบบนี้ จัดวางได้เป็นสัดส่วนชัดเจนและมีลักษณะคล้ายคลึงกับ Zoning A เพียงแต่จะมีความแตกต่างกันตรงขนาดของแต่ละ Zoning ซึ่ง Zoning C นี้จะให้ความสำคัญกับห้องนอนและห้องนั่งเล่นที่เป็น Zone Public และ Zone Private มากกว่า เหมาะกับใครที่เน้นพื้นที่ใช้สอยในส่วนของห้องนอนมากขึ้นมาหน่อย และด้วยพื้นที่ใช้สอยของห้องครัวที่เป็นแนวยาวจึงสามารถกั้นบานเลื่อนกระจกทำเป็นครัวปิดได้ จึงสามารถทำอาหารหนักได้ดี
ห้องพักอาศัยจากการจัดแบบ Zoning C
ห้องนั่งเล่น : ห้องนั่งเล่นของผังนี้เป็นพื้นที่เชื่อมกับห้องนอน ซึ่งสามารถแบ่งพื้นที่ให้มีสัดส่วนมากขึ้นได้โดยการกั้นด้วยประตูบานเลื่อนกระจกค่ะ แต่ก็จะแลกมาด้วยพื้นที่ห้องนอนที่เล็กลงมาหน่อย และไม่โปร่งโล่งเท่าห้องที่จัด Zoning เหมือนกันแต่เป็นห้องแบบ Studio ด้วยพื้นที่นั่งเล่นขนาดกระทัดรัดสามารถวางชุดโซฟาขนาด 2 ที่นั่งได้ ส่วนโต๊ะกลางนั้นแนะนำให้วางเป็นโต๊ะขนาดเล็กเพื่อไม่ให้กินพื้นที่ทางเดินมากนัก สะดวกในการเดินมากขึ้นค่ะ
ห้องครัวและพื้นที่รับประทานอาหาร : ด้วยผังของห้องครัวนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและไม่มีพื้นที่รับประทานอาหารอยู่ภายในครัวเช่นเดียวกับ Zoning A ทำให้สามารถกั้นพื้นที่เป็นครัวปิดได้ ใกล้ระเบียงซักล้างด้านนอกทำให้การติดตั้ง Hood แบบ Exhausted ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ส่วนพื้นที่รับประทานอาหารของห้องพักแบบนี้จะไม่มีจัดมาให้ต้องอาศัยรับประทานอาหารบนโซฟาแทน
ห้องน้ำ : ห้องน้ำขนาดเล็กกระทัดรัดแต่การจัดวางฟังก์ชั่นยังเป็นสัดส่วนแยกส่วนเปียกส่วนแห้งได้ เหมาะกับการใช้งานจริง
ระเบียง : ระเบียงขนาดกระทัดรัดอีกแล้ว วางเครื่องซักผ้าใต้คอมเพรสเซอร์แอร์ เหลือพื้นที่ไว้ซักล้างและตากผ้าน้อยเช่นเดียวกับ Zoning A การแก้ปัญหาพื้นที่ขนาดเล็กก็เช่นเดียวคือ อาจจะใช้ราวบาร์แขวนติดผนัง หรืออาจจะต้องพึ่งพาทางเดินครัวในการวางที่แขวนเสื้อผ้าแทน ถึงแม้จะไม่สะดวกแต่เมื่อน้ำหยดจากเสื้อผ้าลงมาที่พื้นก็ยังทำความสะอาดได้ง่ายเมื่อเทียบกับระเบียงที่ติดกับห้องนอน
ห้องนอน : ห้องนอนอยู่ตำแหน่งที่เหมาะสมคืออยู่ติดริมหน้าต่างได้วิว และอยู่ด้านในเป็น Zone Private ชัดเจน ซึ่งสำหรับผังนี้นั้นสามารถกั้นพื้นที่ให้เป็นส่วนตัวได้ด้วยประตูบานเลื่อนแต่ก็ต้องแลกกับพื้นที่ใช้สอยภายในห้องที่มีขนาดเล็กลงมาและไม่โปร่งโล่งเท่าห้องที่ไม่มีประตูบานเลื่อน หรือห้อง Studio สำหรับห้องผังนี้และมีพื้นที่ใช้สอย 21-22 ตารางเมตร หากไม่ได้ต้อนรับญาติสนิทสมิตรสหายมากนักก็แนะนำเลือกห้อง Studio ค่ะ เพราะอาจจะสามารถวางโต๊ะรับประทานอาหารขนาดเล็กๆ แทรกตรงพื้นที่ระหว่างโซฟาและเตียงได้
สรุป
เป็นห้องพักขนาดเล็กที่มีการจัดฟังก์ชันต่างๆ เป็นสัดส่วนดี เน้นพื้นที่ใช้สอยในส่วนของห้องนั่งเล่นและห้องนอนมากขึ้น ลดทอนพื้นที่ใช้สอยส่วนครัวลงไป และมีการเพิ่มฟังก์ชันประตูบานเลื่อนให้เพื่อให้การใช้งานในครัวมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำอาหารหนักได้ แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่และการจัดวางฟังก์ชั่นภายในของผังนี้ทำให้ขาดพื้นที่รับประทานอาหารไป ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งฟังก์ชั่นที่สำคัญสำหรับการอยู่อาศัยเช่นกัน การแก้ปัญหาในส่วนนี้คือการใช้เฟอร์นิเจอร์ที่สามารถพับเก็บได้ง่าย หรืออาจจะนั่งทานบนโซฟาง่ายๆ และใช้โต๊ะขนาดเล็กที่สามารถเลื่อนได้มาเป็นโต๊ะอาหารแทนค่ะ
สรุปผังห้องของ Zoning ต่างๆ
แต่ละ Zoning และแต่ละผังนั้นก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไปนะคะ สิ่งที่สำคัญคือตัวผู้อยู่อาศัยเองว่าต้องการฟังก์ชั่นไหนเป็นพิเศษ เน้นพื้นที่ใช้สอยในห้องไหน รวมไปถึงลักษณะนิสัยของผู้อยู่อาศัยที่เหมาะกับการจัดฟังก์ชันนั้นๆ ด้วย โดยเราได้สรุปตารางมาให้ประกอบการอ่านเพื่อง่ายต่อการเข้าใจและเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อห้องค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับบทความในวันนี้ เราหวังว่าผู้อ่านจะเข้าใจการจัดวางผังห้องในพื้นที่ขนาดจำกัดกันมากขึ้นนะคะ แล้วคุณผู้อ่านชอบการจัดผังแบบไหนกัน ลองคอมเมนท์กันมาได้นะคะ 🙂