สำหรับคนที่กำลังจะซื้อบ้านมือสองมารีโนเวทด้วยเหตุผลหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการได้มีโอกาสได้เห็นสภาพบ้านจริงก่อนตัดสินใจซื้อ ไม่อยากเสียเวลาสร้างบ้านเอง สามารถปรับปรุงให้เป็นบ้านในแบบที่เราต้องการได้ หรือบ้านมือสองในบางทำเลอาจจะถูกกว่าบ้านใหม่ที่เปิดขายกันอยู่ แต่เดี๋ยวก่อนค่ะ… ซื้อบ้านมารีโนเวทก็มีข้อที่ควรระวังอยู่เหมือนกัน ถ้าไม่อยากให้งบบานปลายหรือเสียเวลาโดยใช่เหตุได้ ควรหยุดดูสิ่งที่เรากำลังจะเล่าให้ฟังกันสักนิดนึงค่ะ

เราควรรู้ความต้องการของตัวเองก่อนจะตัดสินใจซื้อบ้านมารีโนเวท

ข้อนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ค่อนข้างจะสำคัญ ก่อนที่เราจะตัดสินใจซื้อบ้านควรถามตัวเองก่อนว่า เราต้องการบ้านแบบไหน? เพื่อให้ตรงกับความต้องการของเรามากที่สุด หลายๆคนอาจจะรีบตัดสินใจเพราะเห็นว่าบ้านที่ประกาศขายอยู่ราคาถูกหรือเห็นรูปลักษณ์ภายนอกบ้านแล้วถูกใจ แต่ถ้าเราซื้อบ้านตามอารมณ์โดยไม่ได้ทำการ List สิ่งที่ต้องการเอาไว้ก่อนนั้น อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ เช่น มีห้องไม่พอ ต้องเสียเวลามานั่งต่อเติมเพิ่มให้เสียเงิน เสียเวลาเปล่าอีก การถามใจตัวเองว่าต้องการบ้านแบบไหนนั้นไม่ยากค่ะ เรามาดูกันว่าควรคำนึงถึงอะไรบ้าง (บทความนี้ขอเน้นเฉพาะแนวราบก่อนนะจ้ะ)

ทำเล – ควรเลือกทำเลที่เราชอบและตอบโจทย์ Lifestyle ของเรามากที่สุด โดยอาจจะเป็นทำเลที่คุ้นชิน ใกล้ที่ทำงาน ที่สำคัญในเมื่อเป็นบ้านมือสอง ข้อดีคือเราจะสามารถเห็นสภาพแวดล้อมและเพื่อนบ้านได้ตั้งแต่ก่อนซื้อ เราอย่าลืมดูตรงนี้ด้วยนะคะ ควรเลือกบ้านที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อนบ้านน่ารัก ไม่วุ่นวาย ไม่เปลี่ยว ไม่อันตราย  และปลอดภัยจากแหล่งมิจฉาชีพค่ะ อีกอย่างหนึ่งตำแหน่งของบ้านก็ค่อนข้างสำคัญนะคะ ถ้าเราใช้รถยนต์บ่อยอาจจะดูหลังที่สามารถกลับรถได้ง่าย มีถนนหน้าบ้านที่กว้าง ถ้าชอบความเป็นส่วนตัวไม่ควรเลือกบ้านหลังที่อยู่ติดกับชุมชนคนเยอะๆ ในกรณีที่เป็นหมู่บ้านจะมีเรื่องของความใกล้ไกลทางเข้าออก ติดถนนหลักหรืออยู่ในซอยย่อย ทิศ-ลม-แดด แปลงกลาง-แปลงมุมด้วยค่ะ

ประเภทของบ้าน – เราแนะนำว่าควรเลือกในเหมาะกับวัตถุประสงค์ในการอยู่อาศัย จำนวนสมาชิก และเงินในกระเป๋า ถ้าเราอยากจะซื้อบ้านในเชิงพาณิชย์ที่ชั้นล่างเอาไว้ทำการค้าก็ควรเลือกโฮมออฟฟิศหรือตึกแถวไปเลย เพราะฟังก์ชันและทำเลจะเหมาะสมมากกว่า ใครมีจำนวนสมาชิกในบ้านเยอะ เป็นครอบครัวใหญ่ มีผู้สูงอายุก็ควรจะเลือกบ้านแฝดหรือบ้านเดี่ยว ที่มีจำนวนห้องเพียงพอ ส่วนครอบครัวไหนงบน้อย จำนวนสมาชิกไม่เยอะ หรือเป็นคู่แต่งงานใหม่ๆ อาจจะเลือกเป็นทาวน์โฮมค่ะ

พื้นที่รอบบ้านและขนาดที่ดิน – แต่ละครอบครัวจะมีความต้องการพื้นที่ดินรอบๆบ้านแตกต่างกัน บางคนไม่ชอบปลูกต้นไม้ ชอบใช้ชีวิตอยู่แค่ในบ้านถ้าได้บ้านที่ดินใหญ่ๆมาอาจจะทำให้ต้องเสียค่าดูแลรักษามากเกินจำเป็น เว้นแต่จะชอบบ้านที่มีที่ดินหน่อยแล้วปูพื้นเป็นกระเบื้องหรือจัดสวนหินเอานะคะ ส่วนบางครอบครัวก็ชอบบ้านที่มีที่ดินเอาไว้ปลูกต้นไม้ ให้ลูกวิ่งเล่น หรือกะเอาไว้ต่อเติมทำเรือนรับรอง ห้องทำงาน ก็สามารถวางแผนเลือกขนาดที่ดินที่ต้องได้ตั้งแต่ก่อนซื้อเลยค่ะ ไหนๆจะซื้อบ้านมารีโนเวททั้งทีต้องเอาให้ตรงใจเรามากที่สุดถูกไหมคะ

ฟังก์ชันภายในบ้าน – ข้อนี้เรามองว่าค่อนข้างสำคัญเลยเพราะจะเป็นตัวกำหนดว่า เราซื้อบ้านมาแล้วสามารถเข้าอยู่ได้เลยโดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติมมากนักได้หรือไม่ ฟังก์ชันที่ว่านี้คือ บ้านนี้มีกี่ห้องน้ำ ห้องนอน ที่จอดรถ พูดง่ายๆว่ามีห้องหรือพื้นที่ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในครอบครัวเราได้หรือเปล่า ถ้าซื้อบ้านมาแล้วขาดห้องนอนไปหนึ่งห้องและไม่สามารถต่อเติมเพิ่มได้ด้วยข้อจำกัดหลายๆอย่าง นั่นความหมายว่าจะต้องมีคนนอนอัดกันอยู่ห้องหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดความไม่สะดวกสบายได้ นอกจากนั้นยังหมายถึงการจัดพื้นที่ใช้งานต่างๆด้วย ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการเลือกแปลนบ้านที่เราจะพูดถึงในหัวข้อถัดไปค่ะ

ดูแปลนบ้านว่ามีห้องต่างๆตรงกับที่เราต้องการหรือไม่

ขั้นตอนต่อมาหลังจากที่เรารู้ว่าเราต้องการบ้านแบบไหน กี่ห้องนอน กี่ห้องน้ำ ที่ดินเท่าไรแล้ว เราควรดูแปลนบ้านว่าตรงกับความต้องการเหล่านั้นของเราหรือไม่ ข้อดีของการดูแปลนบ้านให้ขาดก่อนตัดสินใจซื้อคือ ถ้าแปลนบ้านตรงใจอยู่แล้ว มีห้องครบ ฟังก์ชันต่างๆพร้อม เราก็ไม่จำเป็นต้องต่อเติมให้เสียเงินและเสียเวลา อาจจะซ่อมแซม ตกแต่งนิดๆหน่อยๆก็เข้าอยู่ได้เลย นอกจากนั้นการดูแปลนยังสามารถดูพื้นที่ใช้สอยภายในห้อง ตำแหน่งของห้องต่างๆ ว่าถูกใจเราหรือไม่ด้วย และยังเป็นประโยชน์ในการวางแผนการรีโนเวทให้มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น เช่นถ้าเราต้องการทุบผนังนี้จะดีหรือไม่ ถ้าทุบแล้วจะส่งผลต่อห้องอื่นๆอย่างไรเป็นต้น อ่อ..สำหรับใครที่ไปซื้อบ้านที่เก่าหน่อยหรือเจ้าของบ้านไม่มีแปลนมาให้ เราสามารถ Sketch คร่าวๆเพื่อให้เห็นความเชื่อมต่อของห้องต่างๆได้นะคะ

เรามาลองยกตัวอย่างกันดูว่าแปลนบ้านมีผลต่อการรีโนเวทอย่างไรนะคะ

ตัวอย่างแรกครอบครัวนาย A อยากได้ทาวน์โฮมที่สามารถทำห้องนอนชั้นล่างได้และกำลังดูทาวน์โฮมเทียบกันอยู่ 2 หลัง ถ้านาย A เลือกหลังแรก เค้าจะต้องทำการเสียเงินต่อเติมกั้นห้องขึ้นมาใหม่และอาจจะได้ห้องที่ไม่ใหญ่มากนัก บวกกับตำแหน่งของห้องจะไม่มีช่องแสงเชื่อมต่อกับภายนอกอาจทำให้อึดอัดอยู่ไม่สบายได้ แต่ถ้าเลือกทาวน์โฮมหลังที่ 2 ที่ราคาพอๆกันแต่มีห้องนอนชั้นล่างมาให้อยู่แล้ว นาย A จะไม่ต้องเสียเงินทำห้องเพิ่ม และดูจากแปลนขนาดห้องก็พอเหมาะ อยู่ได้สบายๆไม่อึดอัด พอลองเทียบกันดู นาย A ควรเลือกบ้านหลังที่ 2 มากกว่าเพราะบ้านกั้นห้องที่ต้องการมาให้อยู่แล้วค่ะ

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ครอบครัวของ B ที่อยู่กับคุณพ่อคุณแม่  อยากจะได้ห้องนอนขนาดใหญ่พอๆกับ Master Bedroom อีก 1 ห้องเพราะกำลังจะแต่งงาน ถ้าดูจากแปลนบ้านหลังแรกจะไม่สามารถปรับขยายห้องได้เพราะติดห้องน้ำ ถ้ากั้นรวมเป็นห้องเดียวจะเหมือนห้องถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยห้องน้ำ พอมาดูบ้านหลังที่ 2 จะเห็นว่าระหว่างห้องน้องเล็กทั้ง 2 ห้องสามารถทุบผนังเผื่อขยายห้องนอนให้มีขนาดใหญ่ได้ อีกทั้งตรวจเช็คโครงสร้างก็เป็นผนังก่ออิฐสามารถทุบเจาะต่อเติมได้ ดังนั้นน้อง B จึงควรเลือกบ้านหลังที่ 2 เพราะซื้อมาแล้วสามารถรีโนเวทบ้านได้ตรงใจมากกว่าค่ะ

ควรตรวจดูสภาพของบ้านอย่างละเอียดก่อนซื้อ

เคยได้ยินหรือไม่คะว่า “สภาพของบ้านเป็นตัวสะท้อนจำนวนเงินที่เราต้องซ่อมแซม” ดังนั้นเราจึงควรตรวจตราดูสภาพจองบ้านให้ดีก่อนซื้อ แน่นอน “บ้านมือสอง” ไม่ใช่ของใหม่ย่อมต้องมีการชำรุด ไม่มากก็น้อย แต่บ้านมือสองก็มีหลายเกรดค่ะ ทั้งที่เพิ่งสร้างเสร็จหมาดๆ เจ้าของอยู่แปปเดียวก็ขาย แบบนี้ก็เหมือนได้บ้านใหม่ เราไม่ต้องทำอะไรมาก หรือไม่ก็เป็นบ้านที่เก่าไปตามกาลเวลา ซึ่งเราต้องมาดูกันว่าเวลาจะทำให้ตัวบ้านทรุดโทรมไปแค่ไหน และมีอะไรที่เราต้องซ่อมบ้าง จะยิ่งดีขึ้นไปอีก ถ้าเราให้ผู้รับเหมาตีราคาค่ารีโนเวทออกมาแล้วนำไปรวมกับงบประมาณที่ตั้งตั้งไว้ เราจะรู้ได้คร่าวๆทันทีว่าเราตั้งงบไว้พอหรือไม่ มิฉะนั้นอาจเกิดปัญหาเงินหมดกลางครันต้องเหนื่อยไปกู้ยืม หรือมีค่าใช้จ่ายที่งอกมาเรื่อยๆทำให้ชีวิตติดขัดได้ ซึ่งสภาพของบ้านที่เราควรดูแบ่งออกได้ดังนี้ค่ะ

โครงสร้าง

โครงสร้างที่ต้องตรวจสอบก่อนก่อนตัดสินใจซื้อบ้านมารีโนเวทแบ่งออกเป็น “โครงสร้างใต้ดิน” อย่าง เสาเข็ม ฐานราก ตอม่อ และ “โครงสร้างบนดิน” อย่างเสา คาน พื้นและผนัง สำหรับโครงสร้างใต้ดินเราอาจจะดูยากหน่อย เนื่องจากบ้านที่เราจะซื้อต่อส่วนใหญ่สร้างเสร็จแล้วแต่เราสามารถสังเกตได้จากการทรุดและรอยแตกร้าวต่างๆ โดยปกติแล้วถ้าบ้านไม่เก่าจนเกินไป มีการใช้เสาเข็มที่แข็งแรง ยาวเพียงพอ มีการก่อสร้างที่ถูกต้องและไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ดินทรุดตัวมากนัก ก็อาจจะไม่เกิดปัญหา แต่ถ้าเราพบพื้นบ้านทรุดโดยเฉพาะในส่วนต่อเติมอาจจะสันนิษฐานได้ว่าเกิดจาก การเคลื่อนตัวหรือการทรุดของดิน การที่ไม่ได้ลงเสาเข็ม เสาเข็มมีขนาดไม่เท่ากัน เสาเข็มแตกหัก หรือเสาเข็มไม่ลึกถึงชั้นดินแข็ง โดยเสาเข็มสั้นจะทรุดตัวก่อนในขณะที่โครงสร้างเดิมยังไม่ทรุดจึงส่งผลให้เกิดการแยกส่วนขึ้น ซึ่งถ้าเจอถือเป็นงานใหญ่เสียค่าใช้จ่ายมากทั้งค่า ซ่อมเสาเข็ม ฐานราก ถมดิน ทำพื้นใหม่ซ่อมกระเบื้องเป็นต้น

ยกตัวอย่างในกรณีที่มีความเสียหายมากต้องทำเสาเข็มและพื้นใหม่ในพื้นที่ขนาด 2 x 5.5 เมตร จะเห็นว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายเกือบ 2 แสนเลยทีเดียว ซึ่งเสาเข็มตอกจะมีราคาประมาณ 8,000 บาท/ต้น ส่วนเสาเข็มเจาะจะราคาสูงถึง 20,000 – 25,000 บาท/ต้น ในกรณีที่รับน้ำหนักในระดับเดียวกัน ดังนั้นควรปรึกษาวิศวกรเพื่อคำนวณทั้งโครงสร้างและค่าใช้จ่ายก่อนที่จะทำการก่อสร้างค่ะ

อ่านเรื่องของเสาเข็มเพิ่มเติมได้ที่นี่ >> บ้านทรุดหรือไม่? ขึ้นอยู่กับเสาเข็ม

สำหรับโครงสร้างบนดินอาจจะเกิดจากการชำรุดเฉพาะจุด หรือรอยร้าวที่เกิดจากโครงสร้างต่างๆมีปัญหา แนะนำให้สังเกตรอยร้าวที่เสา คาน พื้นและผนัง โดยเฉพาะลักษณะของรอยร้าวที่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างดังนี้ค่ะ

  • รอยร้าวผนังแนวเฉียง บ่งบอกถึงการทรุดตัวที่ไม่เท่ากันของฐานราก หรือเกิดจากการต่อเติมอาคารผิดหลักการโดยเชื่อมโครงสร้างส่วนต่อเติมเข้ากับโครงสร้างของบ้าน
  • รอยร้าวแตกลึกที่เสา  เนื้อคอนกรีตกะเทาะจนเห็นเหล็กเสริมภายในชัดเจน บ่งบอกว่าเสาต้นนั้นรับน้ำหนักมากเกินไป
  • รอยร้าวเสาข้อปล้อง บ่งบอกถึงการทรุดตัวที่ไม่เท่ากันของฐานรากจนทำให้เสาต้นที่ทรุดน้อยที่สุดแอ่นตัว และเกิดรอยร้าวแนวนอนหลายๆ แนวเหมือนข้อปล้อง
  • รอยร้าวแนวดิ่งกลางคาน บ่งบอกว่าคานตัวนี้รับน้ำหนักมากเกินไปจนเกิดการแอ่นตัว
  • รอยร้าวแนวเฉียงที่ปลายคานไปหัวเสา  สามารถเกิดได้เพียงด้านเดียวหรือทั้งสองด้านของปลายคาน บ่งบอกว่าคานตัวนี้รับน้ำหนักมากเกินไปอย่างมาก ซึ่งเสี่ยงต่อการถล่มลงมา
  • รอยแตกร้าวที่ปลายคาน บ่งบอกถึงการทรุดตัวที่ไม่เท่ากันของฐานราก ลักษณะและตำแหน่งของรอยร้าวขึ้นอยู่กับว่าฐานรากของเสาต้นใดทรุดตัวรอยร้าวที่พื้น
  • รอยแตกร้าวใต้ท้องพื้น หากเป็นรอยร้าวรูปตัว X หรือรอยร้าวแนวยาว บ่งบอกว่าพื้นรับน้ำหนักมากเกินไป แต่หากพบว่าคอนกรีตใต้พื้นแตกกะเทาะจนเห็นเหล็กเสริม ซึ่งมักเกิดใต้พื้นดาดฟ้าหรือพื้นห้องน้ำ แสดงว่ามีน้ำรั่วซึมจากผิวพื้นด้านบนเป็นประจำ จนทำให้เหล็กเสริมขึ้นสนิมและดันคอนกรีตจนแตกกะเทาะ
  • รอยร้าวแนวยาวที่พื้น รอยร้าวเกิดชิดผนังยาวตลอดแนว บ่งบอกถึงการทรุดตัวที่ไม่เท่ากันของฐานราก

ขอบคุณข้อมูลเรื่องรอยร้าวจาก : SCG

ผนัง พื้น เพดาน ภายในตัวบ้าน 

สำหรับผนัง พื้น เพดานที่ไม่เกี่ยวกับงานโครงสร้าง ให้ตรวจเช็คว่ายังมีสภาพดีอยู่หรือไม่ เช่น พื้นไม้มีอาการบวม กระเบื้องแตกร้าว หรือพรมฉีกขนาด ผนัง-ฝ้าเพดานสีหลุดร่อน มีรอยร้าว (ที่ไม่กระทบต่องานโครงสร้าง) เป็นต้น และควรคำนวณดูคร่าวๆว่าถ้าต้องปูพื้นหรือทาสีใหม่ เราจะใช้วัสดุอะไรและราคาเท่าไร

ตัวอย่างราคาจากการเก็บข้อมูลจากร้านขายวัสดุก่อสร้างบางแห่งค่ะ แต่ละที่อาจจะมีแตกต่างกันไปบ้างนะคะ

งานระบบต่างๆ 

ควรตรวจสอบงานระบบไฟ ระบบประปา ระบบปรับอากาศของบ้านที่จะซื้อโดยสังเกตว่าสามารถใช้งานได้ มีตรงไหนชำรุด ตำแหน่งในการติดตั้งต่างๆเหมาะสมกับการใช้งานของเราหรือไม่ ต้องติดตั้งเพิ่มกี่จุด หากเจอส่วนไหนที่เก่าและมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอันตรายแนะนำให้รีบเปลี่ยนค่ะ สำหรับงานระบบประปาให้ตรวจสอบท่อระบายน้ำที่อาจอุดตันมาเป็นเวลานาน และเปลี่ยนท่อน้ำจากสังกะสีให้เป็นทองแดงทั้งหมด

เฟอร์นิเจอร์

ให้เราตรวจสอบดูว่าในบ้านที่เราจะซื้อมีเฟอร์นิเจอร์อะไรติดมาบ้างและรายการไหนแค่เราอาจจะเก็บไว้ใช้เช่น ตู้เสื้อผ้า โต๊ะทานข้าว หรือ เคาน์เตอร์ครัว ซึ่งถ้ามีและสภาพยังดีอยู่ เราสามารถใช้ต่อได้ ถือเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายไปในตัว แต่ถ้าไม่มีแนะนำให้ลองคิดคร่าวๆว่าเราจะซื้ออะไรบ้างและรวม Cost ที่ต้องซื้อไปกับค่าบ้านเพื่อดูว่างบประมาณที่เราตั้งไว้เพียงพอหรือไม่

ควรกำหนดงบประมาณก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน

หลังจากตรวจเช็คทุกอย่างเรียบร้อยแล้วก่อนตัดสินใจจะจ่ายเงินซื้อบ้าน ให้เรากลับมาดูงบประมาณที่ตั้งเอาไว้นิดนึงค่ะ ว่าราคาบ้านยังอยู่ในงบหรือไม่และมีการเผื่อค่าต่อเติม ซ่อมแซม ซื้อเฟอร์นิเจอร์และค่าใช้จ่ายจิปาถะต่างๆเอาไว้หรือยัง ถ้ายังไม่ได้เผื่อค่าใช้จ่ายอื่นๆเอาไว้ให้เราเผื่องบไว้อย่างน้อย 10%  เพราะระหว่างที่เรารีโนเวทบ้านมักจะมีค่าใช้จ่ายที่คุณไม่คาดคิดผุดขึ้นมาเสมอ เมื่อประเมินค่าใช้จ่ายอื่นๆเบื้องต้นแล้ว ให้เราลองเอาไปรวมกับราคาบ้านดู ถ้าเรากำลังเปรียบเทียบบ้าน 2 หลังอยู่ เผลอๆบ้านที่ราคาถูกกว่าในตอนแรก ถ้าเรารวมค่ารีโนเวทไปแล้วอาจจะราคาพอๆกันหรือสูงกว่าบ้านอีกหลังก็เป็นได้  ถ้าใครยังจับต้นชนปลายไม่ถึงแนะนำให้วางแผนงบประมาณตามนี้ค่ะ

  • กำหนดงบประมาณก่อนซื้อบ้าน
  • ลอง List ค่าใช้จ่ายต่างๆในการรีโนเวทบ้าน เช่น ค่าซ่อมแซม เฟอร์นิเจอร์ ค่าออกแบบ ให้ครบ
  • หากไม่รู้ราคาค่าซ่อมแซม ให้ลองเรียกช่างหรือผู้รับเหมามาตีราคา
  • รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วเอามาเทียบกับงบประมาณที่เราตั้งไว้ว่าเกินงบรึเปล่า

วางแผนการรีโนเวทบ้านให้เสร็จทันเวลา 

ข้อนี้ถ้าเราวางแผนเอาไว้จะช่วยให้การต่อเติมซ่อมแซมบ้านเสร็จทันเวลา ไม่เลยกำหนดมากนัก อีกทั้งยังช่วยให้เราสามารถควบคุมงานไม่ให้งานล่าช้า จนทำให้เกิดความลำบากได้

และรู้ว่าตอนนี้ผู้รับเหมาควรทำอะไร เราสามารถช่วยอะไรได้บ้าง เช่นในช่วงแรกๆที่ผู้รับเหมากำลังเคลียร์พื้นที่ เตรียมของเข้างาน เราอาจจะช่วยไปซื้อวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆบางส่วนเช่น กระเบื้อง อุปกรณ์ครัว ก่อนได้ เพื่อเวลาที่ผู้รับเหมาเริ่มงานจะได้ทำได้เลยไม่เสียเวลา และในกรณีที่เกิดปัญหาระหว่างทาง เราจะได้ติดตามกับผู้รับเหมาได้ การวางแผนเราสามารถทำได้ง่ายๆโดยวาง Deadline เอาไว้ก่อนว่าอยากให้บ้านเสร็จเมื่อไหร่ เช่น ภายใน 2-3 เดือน แล้วไปปรึกษากับผู้รับเหมาเพื่อกำหนดระยะเวลาร่วมกัน ที่สำคัญควรเรียงลำดับความสำคัญของงานให้ดีและสอดคล้องกับแผนการใช้ชีวิตของเราเช่น เราอยากจะอยู่อาศัยชั้นบนได้ก่อน ก็อาจจะรบกวนให้ผู้รับเหมาเร่งงานในส่วนนี้ก่อนเป็นต้นค่ะ 

เลือกผู้ออกแบบและผู้รับเหมาให้เหมาะกับงาน 

สุดท้ายเราแนะนำว่าควรเลือกผู้ออกแบบและผู้รับเหมาที่มีความชำนาญในงานที่เราจะทำ ซึ่งบ้านในฝันของเรานั้นอาจจะยากหรือง่าย ปริมาณงานจะเยอะหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแต่ละคน เช่นถ้าเราอยากรีโนเวทบ้านสไตล์ Loft มีเหล็ก ปูนเปลือย ก็ควรเลือกผู้ออกแบบและผู้รับเหมาที่ถนัดงานสไตล์นี้  โดยอาจจะพิจารณาจากผลงานที่ผ่านมา ที่สำคัญอย่าเลือกเพราะแค่ราคาถูกอย่างเดียวค่ะ ต้องมีความชำนาญ เป็นมืออาชีพและน่าเชื่อถือด้วย เพราะเราอาจจะโดนโกงหรือโดนทิ้งงานได้

สุดท้าย…เราคิดว่าการซื้อบ้านมารีโนเวท ไม่ใช่เรื่องยาก แต่เพื่อไม่ให้เสียเงินและเสียเวลาโดยใช่เหตุ เราควรพิจาราณาสิ่งต่างๆให้ครบถ้วนทั้ง ทำเล ความต้องการของเรา ฟังก์ชันตัวบ้าน งบประมาณ และผู้รับเหมา จึงจะทำให้เราได้บ้านที่ตรงใจค่ะ


ติดตามพวกเราได้ที่
Website : www.thinkofliving.com
Twitter : www.twitter.com/thinkofliving
YouTube : www.youtube.com/ThinkofLiving
Instagram : www.instagram.com/thinkofliving
Facebook : ThinkofLiving