บ้านน็อคดาวน์ มาจากคำว่า Knock Down ที่มีความหมายว่าสามารถถอดและประกอบเป็นชิ้นๆได้ ซึ่งก็หมายถึง “บ้านสำเร็จรูป” (Prefabrication) ชนิดหนึ่งนั่นเองค่ะ แต่ในประเทศไทยมักจะเรียกว่าบ้านน็อคดาวน์กันจนคุ้นหูแล้ว บ้านน็อคดาวน์นั้นได้รับความนิยมมานานในประเทศแถบยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งหลายคนคงเคยได้ยินว่าเป็นบ้านที่ก่อสร้างง่าย สะดวกและรวดเร็ว แต่ถ้ายังไม่มั่นใจว่ามีข้อดี – ข้อเสียอย่างไร ถ้าจะปลูกบ้านน็อคดาวน์ต้องเตรียมตัวอย่างไร วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับบ้านน็อคดาวน์ให้มากขึ้นกันค่ะ

บ้านสำเร็จรูป เป็นบ้านที่สร้างสำเร็จเป็นชิ้นมาจากโรงงาน สามารถถอดประกอบได้ง่าย ติดตั้งมาให้ครบทุกชิ้นส่วนของบ้านแล้ว ทั้งโครงสร้าง พื้น ประตู หน้าต่าง งานระบบต่างๆ โดยจะใช้โครงสร้างผนังรับน้ำหนัก หรือใช้โครงสร้างเหล็ก มีทั้งแบบเป็นบ้านสำเร็จยกไปตั้งที่หน้างานได้เลย และแบบที่ไปประกอบที่หน้างาน ขึ้นอยู่กับขนาดและแบบที่ต้องการ บ้านน็อคดาวน์เองก็เป็นหนึ่งในบ้านสำเร็จรูปค่ะ ข้อดีที่สำคัญของบ้านสำเร็จรูปคือ ประหยัดเวลาในการก่อสร้าง โดยบ้านทั่วไประยะเวลาการก่อสร้าง ตั้งแต่ลงเสาเข็มประมาณ 5-10 วัน ช่วงโครงสร้างประมาณ 2-3 เดือน ช่วงงานสถาปัตยกรรม และงานระบบต่างๆอีกประมาณ 4 เดือน รวมๆระยะเวลา 6-12 เดือนในการสร้างบ้านหนึ่งหลัง แต่ถ้าเป็นบ้านสำเร็จรูปอย่างบ้านน็อคดาวน์จะใช้เวลาที่หน้างานจริงเพียง 1 วันถึง 30 วันเท่านั้นค่ะ

บ้านน็อคดาวน์

บ้านน็อคดาวน์ เป็นหนึ่งในบ้านสำเร็จรูปที่ผลิตชิ้นส่วนต่างๆมาจากโรงงาน มี 2 แบบ คือ บ้านที่สามารถยกทั้งหลังไปติดตั้งที่หน้างานได้เลยส่วนใหญ่จะเป็นบ้านขนาดเล็ก โครงสร้างมีน้ำหนักเบา เช่น บ้านไม้ บ้านขนาดเล็ก ตู้คอนเทนเนอร์ เป็นต้น ขนาดประมาณ 3.00 x 6.00 เมตร สามารถใช้รถบรรทุกยกไปตั้งบนที่ดินหน้างาน และเดินงานระบบต่างๆได้เลย แต่ควรให้ช่างที่มีความชำนาญเป็นผู้เคลื่อนย้ายนะคะ บ้านแบบนี้เหมาะกับคนที่ต้องการพื้นที่ใช้สอยไม่เยอะ ต้องการการก่อสร้างที่รวดเร็ว บางเจ้าอาจจะใช้เวลาติดตั้ง 1-3 วันก็เสร็จเรียบร้อยแล้วค่ะ

บ้านน็อคดาวน์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นๆ ไปประกอบที่หน้างานค่ะ จะไม่มีข้อจำกัดเรื่องขนาดของตัวบ้าน โดยระยะเวลาในการประกอบติดตั้งจะขึ้นอยู่กับขนาดและแบบบ้านที่เราเลือก ระยะเวลาก่อสร้างหน้างานทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 7 – 30 วัน ซึ่งถือว่าน้อยกว่าการสร้างบ้านแบบทั่วไปกว่า 10 เท่าเลย ทำให้สามารถลดค่าก่อสร้างในส่วนของค่าแรงของช่างไปได้เยอะทีเดียวค่ะ

บ้านน็อคดาวน์จึงเป็นทางเลือกที่หลายคนให้ความสนใจทั้งที่ต้องการสร้างที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง หรืออยากเพิ่มพื้นที่ใช้สอยในบ้าน แต่ไม่อยากต่อเติมให้วุ่นวาย ใช้เวลานาน เพราะสามารถตอบโจทย์เรื่องความเร็วในการก่อสร้าง คุมงบประมาณได้ง่าย ไม่ต้องคอยคุมผู้รับเหมาะ และสามารถเคลื่อนย้ายได้ในอนาคตอีกด้วยค่ะ

บ้านแบบนี้จะมีการผลิตเป็นบล็อค ขนาดเท่าๆกันออกมา เราสามารถเลือกเป็น Modular ต่อกันให้ได้ขนาดเท่าที่ต้องการกี่ชิ้นก็ได้ ในขั้นตอนการจัดส่งจะมาเป็นชิ้นๆ ใช้เครนยกมาวางต่อกันที่หน้างาน ระยะเวลาก่อสร้างหน้างานทั่วไปจะใกล้เคียงกับบ้านน็อคดาวน์ โดยจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการผลิต ประมาณ 30-45 วัน แต่จะสามารถติดตั้งได้รวดเร็วภายในวันเดียวก็เสร็จเรียบร้อยค่ะ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแบบของตัวบ้านเช่นกันนะ

เป็นบ้านที่ขึ้นผนังคอนกรีตสำเร็จรูปมาจากโรงงาน และมาประกอบเป็นตัวบ้านที่หน้างาน ส่วนใหญ่เรามักจะเห็นในโครงการบ้านจัดสรรและโครงการคอนโดมิเนียมเลือกใช้ เนื่องจากจะก่อสร้างได้รวดเร็ว ควบคุมคุณภาพมาจากโรงงานได้เลยค่ะ

หลังจากรู้จักกับบ้านน็อคดาวน์กันไปแล้วเรามาดูข้อดี – ข้อเสียของบ้านน็อคดาวน์ที่ควรคำนึงถึงกันบ้าง จะได้ช่วยประกอบการตัดสินใจได้ว่าบ้านที่เราต้องการนั้นควรเป็นเลือกแบบไหนค่ะ

ข้อดีของบ้านน็อคดาวน์

ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างน้อย

บ้านน็อคดาวน์เป็นบ้านสำเร็จรูปที่ประกอบไว้อยู่แล้ว หรือถ้าเป็นการเลือกประกอบเองแบบชิ้นส่วน Modular ก็มีการก่อสร้างชิ้นส่วนต่างๆรอไว้อยู่แล้ว เราสามารถเลือกแบบที่ต้องการมาติดตั้งได้เลย ถ้าเป็นบ้านก่อสร้างเองจะต้องเริ่มจากการก่อฐานราก ก่อโครงสร้างซึ่งมีระยะเวลาในการรอคอนกรีตเซ็ตตัว ในงานสถาปัตยกรรมก็ต้องใช้ช่างในการก่ออิฐ ฉาบปูน ทาสี ปูกระเบื้อง ฯลฯ ทำให้ใช้เวลานานกว่าบ้านน็อคดาวน์มากค่ะ โดยเฉลี่ยแล้วบ้านน็อคดาวน์จะใช้เวลาการผลิตในโรงงานประมาณ 10 – 45 วัน แล้วนำมาติดตั้งที่หน้างานได้ภายใน 1 วัน  หรือถ้าเป็นบ้านน็อคดาวน์ที่ประกอบหน้างานพร้อมต่องานระบบ จะใช้เวลาเสร็จเรียบร้อยประมาณ 7-30 วันเท่านั้นค่ะ

ควบคุมงบประมาณได้

ข้อดีอีกอย่างที่สำคัญของบ้านน็อคดาวน์คือ เราสามารถควบคุมงบประมาณในการก่อสร้างได้ง่ายค่ะ โดยเราจะรู้ตั้งแต่แรกแล้วว่าบ้านที่เราเลือกใช้งบประมาณเท่าไหร่ ไม่ต้องรับความเสี่ยงผู้รับเหมาทิ้งงาน หรือกังวลว่าจะมีปัญหาในการก่อสร้างหน้างานทำให้ค่าใช้จ่ายบานปลาย ซึ่งจะเหมาะกับคนที่มีงบประมาณในใจที่ตายตัวอยู่แล้วค่ะ โดยบ้านน็อคดาวน์ทั่วไปจะมีราคาตั้งแต่ 100,000 บาทไปจนถึง 1 ล้านบาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับรูปแบบที่เลือกใช้

ประหยัดค่าแรงในการก่อสร้าง

การก่อสร้างบ้านน็อคดาวน์บางส่วนผลิตจากโรงงานเป็นชิ้นส่วน วางระบบน้ำ ระบบไฟฟ้ามาให้เรียบร้อย ทำให้ค่าก่อสร้างลดลง และเนื่องจากใช้เวลาในการติดตั้งเพียงไม่กี่วันทำให้ลดค่าใช้จ่ายด้านค่าแรงของช่างไปได้เยอะทีเดียว

โครงสร้างบ้านน้ำหนักเบา

ใครที่ต้องการก่อสร้างบ้านเพิ่มเติมใกล้กับตัวบ้านเดิมอาจจะมีปัญหาในการก่อสร้างเสาเข็มฐานราก เพื่อไม่ให้ไม่กระทบกับบ้านเดิม บ้านน็อคดาวน์จะช่วยตอบโจทย์ตรงนี้ค่ะ โดยตัวบ้านน็อคดาวน์จะมีโครงสร้างน้ำหนักเบากว่า ทำให้ไม่ต้องตอกเสาเข็มลึกๆ นอกจากนั้นในขั้นตอนการก่อสร้างจะสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ต้องมีการผสมปูน เทปูน ทาสี ที่หน้างานจะเลอะเทอะ ลดมลภาวะทางเสียง และฝุ่นละอองไปได้เยอะเลยค่ะ

เคลื่อนย้ายได้

จุดเด่นอีกอย่างของบ้านน็อคดาวน์ก็คือสามารถเคลื่อนย้ายได้ค่ะ ถ้าในอนาคตมีการย้ายบ้านเปลี่ยนทำเล บ้านน็อคดาวน์จะสามารถรื้อถอนและประกอบใหม่ได้ ถ้าเป็นบ้านหลังเล็กๆขนาดประมาณ 3.00 x 6.00 ก็สามารถใช้รถบรรทุกเคลื่อนย้ายไปทั้งหลังได้เลยค่ะ สะดวกสำหรับคนที่ต้องการบ้านพักชั่วคราว หรือบ้านพักตากอากาศที่อาจจะปรับย้ายตำแหน่งในอนาคต

ควบคุมคุณภาพและลดปัญหาจุกจิกในการก่อสร้างได้

ข้อดีอีกข้อของบ้านน็อคดาวน์คือสามารถควบคุมคุณภาพการก่อสร้าง และลดปัญหาจุกจิกที่อาจจะเกิดขึ้นจากการก่อสร้างไม่ตรงแบบได้ เหมาะกับคนที่ไม่มีเวลามาคุมช่าง ไม่อยากมีปัญหากับผู้รับเหมา ติดตั้งวันเดียวให้จบไปเลย การเลือกใช้บ้านน็อคดาวน์ยังเหมือนกับเราได้เห็นตัวบ้านจริงๆก่อนตัดสินใจซื้อ เมื่อเลือกแบบมาแล้วก็จะได้แบบที่ต้องการเป๊ะๆค่ะ ถ้าเป็นบ้านสร้างเองจะต้องมีสถาปนิกควบคุมงานคอยดูช่างให้สร้างตามแบบ มักจะมีปัญหาการสร้างไม่ตรงแบบบ้าง เดินงานระบบไม่ตรงบ้าง ซึ่งจะไม่มีปัญหานี้ในบ้านน็อคดาวน์ค่ะ

ข้อเสียของบ้านน็อคดาวน์

 

แบบบ้านมีข้อจำกัด

ข้อเสียอย่างแรกของบ้านน็อคดาวน์นั้นคือ ข้อจำกัดของแบบบ้านค่ะ โดยแบบบ้านจะมีให้เลือกจำกัด เท่าที่บริษัทนั้นๆมี หรือถ้าเป็น Modular ก็จะต้องออกแบบให้ลงตัวกับขนาดของชิ้นส่วน เช่น เป็นบ้าน Modular ขนาด 4 X 4 เมตร (16 ตารางเมตร) จะสามารถออกแบบพื้นที่ได้ทีละ 4 x 4 เมตรเท่านั้น ไม่สามารถออกแบบอิสระตามความต้องการได้ค่ะ

นอกจากตัวแบบที่ไม่ได้มีอิสระในการออกแบบแล้วบางเจ้าไม่สามารถเลือกวัสดุเองได้ บ้านน็อคดาวน์จึงไม่เหมาะกับคนที่ต้องการออกแบบบ้าน ให้มีรายละเอียดตามความต้องการของตัวเองทั้งหมดได้ค่ะ

ความคงทนแข็งแรงของตัวบ้าน

ความคงทนแข็งแรงของตัวบ้านนั้นขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างค่ะ โดยส่วนใหญ่จะก่อสร้างด้วยผนังเบาติดกับโครงคร่าว ทำให้มีอายุการใช้งานและความแข็งแรงน้อยกว่าผนังก่ออิฐ บ้านน็อคดาวน์ที่แข็งแรงหน่อยจะใช้แผ่นสมาร์ทบอร์ดไฟเบอร์ซีเมนต์ ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับผนังก่ออิฐ ในปัจจุบันก็มีการพัฒนาบ้านน็อคดาวน์ให้มีอายุการใช้งานประมาณได้นานขึ้นกว่า 30 ปีค่ะ

ต่อเติมหรือเปลี่ยนแปลงตัวบ้านได้ยาก

ข้อเสียอีกอย่างของบ้านน็อคดาวน์เลยก็คือ จะต่อเติมหรือเจาะช่อง เปลี่ยนพื้นที่การใช้งานภายในบ้านนั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นวัสดุสำเร็จรูป ถ้ามีการเจาะเปลี่ยนตำแหน่งงานระบบในอนาคตจะทำให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างได้ จะต้องเดินงานระบบแบบลอยตัวแทน

บ้านน็อคดาวน์

บ้านน็อคดาวน์นั้นจะเหมาะกับคนที่ต้องการสร้างบ้านด้วยระยะเวลาที่จำกัด อยากได้บ้านรวดเร็ว ควบคุมงบประมาณการก่อสร้างได้ชัดเจนตายตัว เช่น มีงบประมาณในการสร้างบ้าน 9 แสนบาท ไม่ต้องการให้งบบานปลาย ไม่ต้องการติดต่อวุ่นวาย ไม่มีเวลามาดูผู้รับเหมาเป็นระยะเวลานานๆได้ ต้องการจ่ายทีเดียวได้ครบหมดทุกอย่าง ก็จะเหมาะกับการเลือกใช้บ้านน็อคดาวน์ค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องวางแผนไว้แล้วว่าจะไม่ต่อเติมตัวบ้าน เนื่องจากโครงสร้างของบ้านน็อคดาวน์เป็นโครงสร้างสำเร็จรูป มีการเดินงานระบบต่างๆไว้เรียบร้อยแล้ว ถ้ามีการเจาะ ทุบ ต่อเติม อาจจะทำให้โครงสร้างบ้านเสียหาย และเกิดอันตรายกับผู้อาศัยได้

บ้านโครงสร้างก่ออิฐทั่วไป

สำหรับคนที่ต้องการบ้านที่มั่นคงถาวร วางแผนไว้ว่าจะอยู่อาศัยยาวๆ ไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน และอาจจะเผื่อการต่อเติมเปลี่ยนแปลงในอนาคต ก็จะเลือกบ้านที่เป็นโครงสร้างก่ออิฐทั่วไป โดยการก่อสร้างจะต้องติดต่อกับผู้รับเหมาเข้ามาดูแลหน้างานตลอดระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี หรือมากกว่านั้น และรับมือได้กับความเสี่ยงที่งบประมาณอาจจะบานปลาย หรือมีปัญหาให้ต้องแก้หน้างานเรื่อยๆได้

ถ้ามั่นใจแล้วว่าเราสามารถรับมือกับข้อเสียต่างๆได้ เราก็ไปดูกันต่อเลยค่ะว่าการสร้างบ้านน็อคดาวน์สักหลังหนึ่ง จะต้องเตรียมตัวอย่างไร ใช้เวลาเท่าไรถึงจะพร้อมเข้าอยู่

1 เตรียมที่ดินหน้างานให้เรียบร้อย

ในขั้นตอนนี้ส่วนใหญ่เจ้าของที่ดินจะต้องจ้างผู้รับเหมามาทำให้เองนะคะ ปรับหน้าดินโดยการถมดินให้สม่ำเสมอ นำต้นไม้ออก (ควรถมดินเป็นระยะเวลากว่า 6 เดือนเพื่อลดการทรุดตัว) ถ้าต้องการบ้านขนาดใหญ่ให้ลงเสาเข็มรอไว้ก่อน (สอบถามบริษัทบ้านน็อคดาวน์ว่าแบบที่ต้องการนั้นมีความจำเป็นจะต้องลงเสาเข็มไหม ถ้าลงเป็นเสาเข็มประเภทใดได้บ้าง เนื่องจากค่าใช้จ่ายส่วนฐานรากมักจะราคาสูงค่ะ) ถ้าเป็นบ้านขนาดเล็กหรืออยู่ในพื้นที่ดินแข็ง สามารถเทพื้นคอนกรีตได้เลยไม่ต้องลงเสาเข็ม ซึ่งตรงนี้ส่วนใหญ่แล้วบริษัทบ้านน็อคดาวน์จะไม่ได้ทำให้นะคะ เจ้าของบ้านจะต้องจ้างผู้รับเหมาลงเสาเข็มและเตรียมพื้นที่เองก่อน และมีระบบสาธารณูปโภค น้ำประปา ระบบไฟฟ้าไว้รอเชื่อมต่อ ทั้งนี้บางบริษัทที่รับสร้างบ้านน็อคดาวน์จะดูแลการเชื่อมต่องานระบบในส่วนนี้ให้ด้วยค่ะ

2 เลือกแบบบ้าน

– เลือกแบบบ้านและตกลงทำสัญญากับบริษัทรับสร้างบ้านน็อคดาวน์ โดยแบบบ้านจะมีทั้งแบบสำเร็จรูปยกไปตั้งได้เลย แบบนี้จะเป็นบ้านที่ขนาดไม่ใหญ่กว่า 3.00 x 6.00 เมตร เพื่อให้สามารถขนส่งโดยรถบรรทุกได้ ถ้าเป็นแบบบ้านที่มีอยู่แล้ว จะสามารถนัดช่างยกมาติดตั้งหน้างานได้เลย โดยใช้เวลาติดตั้งแค่ 1 วันเท่านั้นค่ะ (ส่วนใหญ่จะต้องรอคิวของช่างติดตั้งด้วย) แต่ถ้าเป็นการสั่งผลิตจากโรงงานจะใช้เวลาผลิตขึ้นอยู่กับแบบบ้านที่เลือก ประมาณ 10 วัน ใช้เวลาติดตั้งหน้างาน 1 วัน

– ถ้าเป็นแบบบ้านขนาดใหญ่ขึ้นมา ต้องไปติดตั้งหน้างาน (ไม่สามารถใช้รถยกไปทั้งหลังได้) แบบนี้จะใช้เวลาในการติดตั้งประมาณ 7-15 วัน

– ถ้าเป็นบ้านสำเร็จรูปหรือเป็นระบบ Modular จะใช้เวลาในการสั่งผลิตในโรงงานโดยประมาณอยู่ที่ 30-45 วัน เมื่อผลิตเรียบร้อยมาแล้วจะใช้เวลาการติดตั้งได้ภายในวันเดียวค่ะ

3 งานระบบน้ำ-ไฟฟ้า

งานระบบน้ำประปาการต่อถังบำบัด หรือบ่อเกรอะ และการเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้า จะต้องคุยกับบริษัทบ้านน็อคดาวน์ให้ดีว่าทางบริษัทรับติดตั้งให้หรือไม่ ถ้าไม่ทางเราจะต้องเป็นคนจ้างผู้รับเหมามาติดตั้งเพิ่มเติมเองค่ะ


เป็นอย่างไรกันบ้างคะ เพื่อนๆตัดสินใจได้หรือยังว่าชอบบ้านน็อคดาวน์หรือบ้านที่ก่อสร้างแบบทั่วไปมากกว่ากัน ลองมา Comment  แลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านล่างกันนะคะ ครั้งถัดไปเราจะพาไปเจาะลึกเรื่องบ้านเรื่องไหน ติดตามได้ที่ thinkofliving.com