…อย่างที่ทุกคนทราบกันดีครับว่า ประเทศไทยเรามี 3 ฤดูคือ ร้อน ร้อนมาก และร้อนมากที่สุด ซึ่งความร้อนจากแสงแดดหรือสภาพอากาศแบบนี้เอง ที่ส่งผลให้บ้านของเราเกิดการสะสมความร้อนในช่วงเวลากลางวัน และทำให้ในบ้านมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น

บวกกับช่วงนี้หลายๆคนก็ยังคงต้อง WFH อยู่บ้านกันอยู่ด้วยใช่มั้ยครับ นั่นเลยทำให้เราต้องเปิดแอร์เกือบตลอดทั้งวัน เพราะถ้าไม่เปิดก็อยู่แทบไม่ไหวเอาซะเลย แต่จะออกไปเดินตากแอร์เย็นๆที่ห้างก็เสี่ยงกับ Covid-19 อีก

และเมื่อเร็วๆนี้ทาง กกพ. ก็เพิ่งจะมีการปรับขึ้นค่าไฟประจำงวดเดือนพฤษภาคม ถึง สิงหาคม ทะลุเป็น 4 บาทต่อหน่วย เลยทำให้ต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้นไปอีกเป็นเดือนละหลายพัน เป็นการตอกย้ำยุคข้าวยากหมากแพงเข้าไปอีก เช่นนั้นแล้วเราจะมีวิธีแก้ปัญหาบ้านร้อน หรือทำให้บ้านเย็นลงได้อย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบครับ

ขอบคุณภาพประกอบจาก SCG

“บ้านเย็น” คืออะไร?

หมายถึง การที่บ้านมีอุณภูมิภายในที่เย็นกว่าภายนอก หรืออย่างน้อยๆก็ควรจะต่ำกว่าอุณหภูมิของร่างกายคนเราสักประมาณ 5 – 10 องศา ซึ่งจะทำให้เวลาที่เราเดินเข้ามาในบ้าน ก็จะรู้สึกถึงความเย็นสบายได้โดยไม่ต้องเปิดแอร์ช่วยเลยนั่นเองครับ

และนี่ก็คือจุดประสงค์หลักของบทความนี้ ที่จะช่วยลดปัญหาบ้านร้อนของหลายๆคนลงได้ ซึ่งเราสามารถทำได้หลายวิธี โดยเริ่มได้ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ไปจนถึงการเลือกใช้วัสดุป้องกันความร้อนต่างๆ และผมสามารถแบ่งเป็นหัวข้อใหญ่ๆได้ดังนี้

  1. การออกแบบ/วางผังบ้าน
  2. ช่องลมและการระบายอากาศ
  3. การเลือกใช้หลังคาที่เหมาะสม
  4. การเลือกใช้วัสดุช่วยป้องกันความร้อน
  5. การลดพื้นที่ผิวที่จะโดนแสงแดด/ความร้อนโดยตรง


1. การออกแบบ/วางผังบ้าน

ถ้าเรามีการออกแบบหรือการวางผังบ้านที่ดีตั้งแต่ต้น ก็จะสามารถช่วยลดปัญหาบ้านร้อนลงไปได้เยอะเลยครับ โดยหลักการง่ายๆของหัวข้อนี้จะสัมพันธ์กับ “ทิศทางของแสงแดด” ซึ่งอย่างที่ทุกคนทราบว่าประเทศไทยเป็นเมืองร้อน และถ้าตัดหน้าหนาวออกไปก็จะมีเดือนที่ร้อนจัดๆอยู่ประมาณ 9 เดือน (หรืออาจตีเป็น 12 เดือนเลยก็ได้ เพราะหน้าหนาวมันก็หนาวอยู่แค่ไม่กี่วันเอง)

ซึ่งเราก็ต้องทำความเข้าใจก่อนครับว่า ประเทศไทยมีพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก แล้วมันจะอ้อมมาทางใต้ ก่อนจะลงดินในทิศตะวันตก แน่นอนว่าทิศที่บ้านจะโดนความร้อนมากที่สุดก็คือทิศใต้และทิศตะวันตก ส่วนทิศที่แดดจะเบากว่าคือทิศตะวันออก และทิศที่เย็นสบายเกือบจะตลอดทั้งวันคือทิศเหนือ โดยเมื่อเราทราบแบบนี้แล้ว ก็จะช่วยในการออกแบบหรือวางผังบ้านได้เยอะเลยทีเดียวครับ

ฟังก์ชันบ้านกับทิศทางที่เหมาะสม

ฟังก์ชันภายในบ้านแต่ละอย่างจะมีความต้องการความร้อน แสงสว่าง หรือมีการจัดการที่ไม่เหมือนกัน และสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆได้ดังนี้

  • ห้องนั่งเล่น/ห้องทำงาน/ห้องนอน : เป็นฟังก์ชันที่เราใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุด ซึ่งต้องการแสงสว่างและความโปร่งโล่งของช่องหน้าต่าง แต่ก็อาจไม่ได้ต้องการความร้อนเป็นของแถมด้วยใช่มั้ยครับ ดังนั้นจึงเป็นฟังก์ชันที่เหมาะจะอยู่ทางทิศเหนือ หรือทิศตะวันออกของบ้านนั่นเอง
  • ห้องน้ำ/ห้องครัว : เป็นฟังก์ชันที่ไม่ได้ต้องการช่องเปิดมากนัก และยังเป็นห้องที่มีความชื้นสูงมากกว่าห้องอื่นๆด้วย ซึ่งเราก็ต้องการให้ความร้อนมาช่วยกำจัดความชื้นเหล่านี้ออกไปพอดี จึงเหมาะที่จะนำมาอยู่ในทิศใต้หรือตะวันตกของบ้านนั่นเองครับ อีกทั้งห้องเหล่านี้ส่วนมากก็จะเป็นผนังทึบ จึงช่วยบังแดดและความร้อนไม่ให้เข้าสู่ตัวบ้านได้โดยตรงอีกด้วย


2. ช่องลมและการระบายอากาศ

เมื่อเราจัดการเรื่องแสงแดดและความร้อนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยทำให้บ้านเราเย็นลงได้ก็คือ “ทิศทางของลม” เพราะถ้าบ้านมีการไหลเวียนของอากาศที่ดี และเข้ามาในทิศทางที่ถูกต้อง ก็จะช่วยในเรื่องการระบายอากาศและลดความร้อนในบ้านลงได้ครับ

สำหรับประเทศไทยนั้นลมจะพัดมาทางทิศใต้ และตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 9 เดือน ส่วนทางทิศเหนือและตะวันออกก็จะพัดอยู่ประมาณ 3 เดือน เป็นแบบนี้สลับกันอยู่ตลอดทั้งปี แน่นอนว่าถ้าพูดถึงเรื่อง “ช่องลม” ก็จำเป็นต้องมีอย่างน้อย 2 ช่องเสมอ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศเข้า-ออกภายในบ้านได้

แต่หากใครยังจำหัวข้อก่อนหน้านี้ได้ว่า ทิศใต้กับทิศตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นทิศที่แดดร้อนที่สุดใช่มั้ยครับ ซึ่งหากมีการเปิดช่องให้ลมพัดเข้าบ้านในทางทิศนี้จริงๆ ก็อาจได้แดด/ความร้อนเป็นของแถมด้วยเช่นกัน โดยเราสามารถแก้ไขได้ด้วยการทำกันสาดหรือระแนง เพื่อช่วยกรองแสงแดดจากทางทิศที่เราไม่ต้องการได้นั่นเองครับ

อ่านบทความเกี่ยวกับการต่อเติม และเลือกใช้วัสดุทำกันสาดเพิ่มได้ที่นี่ >>> ต่อเติมพื้นและหลังคาที่จอดรถ ต้องใช้งบเท่าไหร่?


ขอบคุณภาพประกอบจาก SCG

3. การเลือกใช้หลังคาที่เหมาะสม

“หลังคา” เป็นส่วนที่โดนแสงอาทิตย์ และรับความร้อนมากที่สุดของบ้าน ซึ่งทรงของหลังคาก็ย่อมมีผลมากเช่นกัน และไม่ว่าจะเป็นทรงปั้นหยาหรือทรงจั่วก็ตาม ถ้ามีองศาของหลังคาที่ลาดเอียงมากพอ จะมีส่วนช่วยเบี่ยงเบนความร้อนออกไปได้ และยังทำให้ไม่ต้องรับแสงแดดตรงๆอีกด้วยครับ

อีกอย่างหนึ่งคือ อากาศร้อนมักจะลอยตัวขึ้นที่สูง แน่นอนว่าถ้าเรามี “พื้นที่ใต้หลังคา” เยอะมากเท่าไหร่ ก็จะช่วยลดความร้อนที่อาจแผ่ลงมาจากหลังคาได้เยอะขึ้นเท่านั้น เพราะอากาศร้อนจะลอยตัวห่างจากฝ้าเพดานมากขึ้นนั่นเอง

แต่ทั้งนี้ก็จะต้องมีการจัดการในเรื่องการระบายอากาศที่ดีด้วยนะครับ ซึ่งเราสามารถทำ “ช่องระบายอากาศ” ตรงบริเวณฝ้าใต้ชายคาบ้าน เพื่อทำให้มีช่องทางให้ลมเย็นผ่านเข้าไป และพัดนำเอาความร้อนให้ระบายออกมาได้นั่นเอง หรือบางคนก็อาจติดตั้ง “พัดลมดูดอากาศ” เพื่อช่วยเร่งระบายความร้อนให้เร็วขึ้นก็ได้เหมือนกัน


ขอบคุณภาพประกอบจาก SCG

4. การเลือกใช้วัสดุช่วยป้องกันความร้อน

เมื่อเรามีการออกแบบฟังก์ชันที่ดี มีการระบายอากาศที่ดี และมีการใช้หลังคาที่เหมาะสมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยลดความร้อนได้แน่ๆก็คือ “การเลือกใช้วัสดุ” ที่สามารถช่วยป้องกันความร้อนได้ โดยจะมีหลายๆส่วนของบ้านเลยครับ ไล่มาตั้งแต่หลังคา ผนัง และประตู-หน้าต่าง ซึ่งคนที่ไม่ได้กำลังจะสร้างบ้านใหม่ หรืออยากปรับปรุงบ้านเพียงบางจุด ก็สามารถข้ามมาอ่านที่หัวข้อนี้ได้เลยนะ

หรือสามารถอ่านบทความเกี่ยวกับวัสดุป้องกันความร้อนเพิ่มเติมได้ที่นี่ >>> หน้าร้อน บ้านไม่ร้อน รวมวิธีปรับบ้านรับมือความร้อน

4.1 หลังคา

เป็นจุดที่ต้องโดนแสงแดดอยู่ตลอดเวลาในช่วงกลางวัน และความร้อนสามารถผ่านเข้ามาสะสมได้ง่ายที่สุดของบ้าน โดยจะผ่านมาตามแผ่นหลังคา ช่องใต้หลังคา และฝ้าเพดาน ซึ่งแน่นอนว่าวัสดุมุงหลังคาอย่างแผ่นกระเบื้องหรือเซรามิก ย่อมดีกว่าหลังคาเหล็กเมทัลชีทอยู่แล้ว เพราะจะมีการนำความร้อนได้น้อยกว่า แต่นอกจากนี้ก็ยังมีวัสดุอื่นๆที่สามารถช่วยป้องกันความร้อนของแผ่นหลังคาได้ดังนี้

สีทาหลังคากันความร้อน (หรือ สีสะท้อนความร้อน)

เป็นปราการด่านแรกที่จะช่วยลดความร้อนไม่ให้เข้าสู่ตัวบ้านได้ โดยมีสารประกอบหลักๆคือ Ceramic Coating และ Nano Silica ที่จะทำหน้าที่สะท้อนรังสี UV เป็นฉนวนกันความร้อน และลดการถ่ายเทความร้อนได้

  • ข้อดี :  ช่วยลดอุณหภูมิในตัวบ้านลงได้ประมาณ 5 – 10 องศา / มีความยืดหยุ่นและมีส่วนช่วยในการป้องกันรอยรั่วซึมของหลังคาได้ด้วย
  • ข้อเสีย : มีอายุการใช้งานสั้น และมีการเสื่อมสภาพเร็ว เนื่องจากต้องถูกแดด/ลม/ฝนโดยตรงอยู่ตลอดเวลา (กรณีถ้าสีที่พ่นทับไม่ใช่สีเดียวกับหลังคา ตอนสีลอกออกก็จะยิ่งเห็นชัด และดูไม่สวยงามได้ง่าย) จึงควรมีการบำรุงรักษาหรือทาสีใหม่ทุกๆ 5 – 10 ปี เพื่อให้สียังคงสภาพดีและใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพเหมือนเดิม

ขอบคุณภาพประกอบจาก Rockwool

ติดตั้งฉนวนกันความร้อนใต้แผ่นหลังคา

ปราการด่านที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญและป้องกันความร้อนได้ดีที่สุด โดยเราสามารถเพิ่มฉนวนกันความร้อนอย่างอลูมิเนียมฟอยล์ หรือ Polyethylene Bubble Foil ที่จะมีความหนาไม่มากนัก และมักจะนิยมติดตั้งตรงใต้แผ่นหลังคา (บริเวณแปหรือบนโครงหลังคา)

ซึ่งจะมีคุณสมบัติหลักๆคือ ช่วยสะท้อนรังสีความร้อนได้ดี แต่ด้วยความบางของตัววัสดุเอง ก็เลยส่งผลให้มีค่าความต้านทานความร้อนไม่มากนัก ดังนั้นความร้อนส่วนที่เหลือก็ยังคงผ่านเข้ามาได้อยู่ครับ

ขอบคุณภาพประกอบจาก SCG

ติดตั้งฉนวนกันความร้อนบนฝ้าเพดาน

เป็นปราการด่านสุดท้าย ที่จะคอยป้องกันความร้อนที่อบอวลอยู่ในช่องใต้หลังคา โดยมักจะใช้ฉนวนกันความร้อนที่มีความหนามาปูบนฝ้าเพดาน เช่น ฉนวนใยแก้ว (Fiberglass) / PU Foam / PE Foam ซึ่งจัดเป็นกลุ่มที่มีทั้งค่าสะท้อนความร้อน และค่าความต้านทานความร้อนค่อนข้างสูง แต่ก็มีราคาที่แพงขึ้นอยู่เหมือนกันครับ

4.2 ผนังบ้าน

เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะได้รับความร้อนมากที่สุดของบ้าน โดยเฉพาะฝั่งที่อยู่ทางทิศใต้และทิศตะวันตก ที่จะต้องถูกแสงแดดส่องเกือบตลอดทั้งวัน ซึ่งวัสดุที่เกี่ยวข้องกับผนังบ้านก็จะมีหลากหลายเลย ไม่ว่าจะเป็นวัสดุก่อผนัง สีทาบ้าน และประตู-หน้าต่างที่เป็นกระจก

ขอบคุณภาพประกอบจาก Onestockhome

การเลือกวัสดุก่อผนัง

วัสดุที่ใช้ในการทำผนังแต่ละชนิด จะมีความสามารถในการป้องกันความร้อนที่แตกต่างกันออกไป โดยผนังก่ออิฐมวลเบาเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถกันความร้อนได้ดีที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าผนังนั้นๆมีการเสริมฉนวนกันความร้อน หรือเพิ่มแผ่นสมาร์ทบอร์ดเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ก็จะยิ่งมีค่าป้องกันความร้อนที่สูงขึ้นครับ หรือพูดง่ายๆก็คือ ความร้อนจะผ่านทะลุผนังเข้ามาในบ้านได้ยากนั่นเอง

อีกเทคนิคหนึ่งที่สามารถทำได้คือ การทำผนัง 2 ชั้น (หรือ Double Wall) ซึ่งจะเป็นการเว้นช่องอากาศตรงกลางระหว่างผนัง 2 ด้าน โดยช่องว่างตรงนี้เองครับที่จะมีส่วนช่วยลดการนำพาความร้อน

รวมถึงยังช่วยป้องกันเสียง เพิ่มความเป็นส่วนตัวได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้ก็ต้องแลกกับค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น และยังต้องเผื่อพื้นที่ของผนังที่หนามากขึ้น ซึ่งอาจทำให้พื้นที่ใช้สอยภายในบ้านลดน้อยลงได้นั่นเองครับ

การใช้สีทาบ้าน

ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีสีทาบ้านที่สามารถป้องกัน และสะท้อนความร้อน ขายอยู่ในท้องตลาดมากมายหลายเจ้า โดยจะมีส่วนผสมหลักๆคือ Ceramic Coating ที่จะทำหน้าที่สะท้อนรังสี UV ลดการถ่ายเทความร้อน และทำให้บ้านเย็นลงได้ ซึ่งคุณสมบัติก็จะคล้ายๆกับสีทาหลังคาก่อนหน้านี้เลยครับ

แต่คราวนี้เราลองมาพิจารณาเรื่อง “โทนสี” กันบ้าง ซึ่งวัตถุทุกชนิดจะมีค่าการดูดกลืนรังสีอินฟราเรด หรือค่ารังสีความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่แตกต่างกันออกไป นั่นเลยส่งผลให้เราจะสามารถมองเห็นเฉดสีต่างๆ ที่วัตถุชิ้นนั้นไม่สามารถดูดซับได้ แล้วสะท้อนกลับออกมานั่นเองครับ

หมายความว่า วัตถุที่เป็นสีเข้มหรือสีดำจะมีค่าดูดซับความร้อนที่เยอะ และสะท้อนแสงออกมาได้น้อยมาก แต่ในขณะเดียวกันสีโทนสว่างหรือสีขาว จะมีค่าดูดซับความร้อนที่น้อย และสามารถสะท้อนแสงออกมาได้เกือบทั้งหมดเลยนั่นเอง ดังนั้นเราจึงควรเลือกใช้สีโทนสว่าง หรือสีขาวในการทาบ้าน ก็จะเป็นการช่วยลดความร้อนในบ้านได้ดีที่สุดครับ

ประตู-หน้าต่างที่เป็นกระจก

บริเวณช่องแสงจะเป็นส่วนเปิดโล่ง ที่ยอมให้ทั้งแสงและความร้อนสามารถผ่านเข้ามาในบ้านได้ง่ายที่สุด ซึ่งบางครั้งช่องกระจกเหล่านี้ก็อาจไปอยู่ในทิศทางที่เราไม่ต้องการ หรือเป็นด้านที่ได้รับแสงและความร้อนมากเกินไปได้เช่นกัน แต่จริงๆแล้วตัวกระจกเองก็มีอยู่หลากหลายแบบ และเราสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับตำแหน่งนั้นๆได้ดังนี้ครับ

  • กระจกโฟลต (Annealed Glass) : เป็นกระจกใสธรรมดาที่ไม่กันแสงหรือความร้อนเลย เหมาะที่จะใช้กั้นผนังภายในบ้าน หรือเป็นผนังบ้านที่หันไปทางทิศเหนือ
  • กระจกตัดแสง (Tinted Glass) : มีการผสมออกไซด์ของโลหะบางประเภทลงในเนื้อกระจก เพิ่มคุณสมบัติช่วยกรองแสงและกักเก็บความร้อนไว้ที่กระจก ซึ่งเป็นที่นิยมในท้องตลาดมาก หลักๆจะมี 3 สีให้เลือกคือ สีชา สีเขียว และสีฟ้า
  • กระจกลามิเนต (Laminated) : เป็นการนำกระจก 2 แผ่น มาประกบกันด้วยแผ่นฟิล์มบางๆ ซึ่งเวลาที่กระจกแตกก็จะไม่กระจายให้เป็นอันตราย เพราะยังมีแผ่นฟิล์มยึดเกาะเอาไว้ อีกทั้งยังช่วยป้องกันรังสี UV ได้ดีขึ้น และมีการเพิ่มคุณสมบัติป้องกันเสียงรบกวนภายนอกได้อีกด้วยนะครับ
  • กระจกแผ่รังสีต่ำ (Low-E Glass) : จะมีการเคลือบผิวกระจกด้วยสารเงินบางๆ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยสะท้อนความร้อนออกไปได้มาก แต่ยังยอมให้แสงส่องผ่านเข้ามาได้อยู่
  • กระจกอินซูเลต (Insulated Glass) : มีลักษณะเป็นกระจก 2 ชั้น และมีช่องอากาศตรงกลางระหว่างแผ่นกระจก ทำหน้าที่ช่วยป้องกันไม่ให้ความร้อนถ่ายเทถึงกันได้ อีกทั้งยังสามารถป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกได้ดีอีกด้วย แต่ก็มีราคาที่สูงมากๆเช่นกันครับ

ติดตั้งระบบ Airflow System

เป็นช่องระบายอากาศเล็กๆ ที่มักจะถูกติดตั้งอยู่ตามประตู/หน้าต่างของบ้าน โดยแต่ละเจ้าก็จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปครับ เช่น SCG = Active AIRflow System, Land and Houses = Air Plus, Sansiri = Breeze Panel เป็นต้น

ซึ่งวิธีการก็จะคล้ายๆกันคือ เป็นระบบที่ช่วยถ่ายเทอากาศของตัวบ้านได้ แม้ว่าเราจะปิดประตูไว้หรือไม่อยู่บ้านก็ตาม เพียงแค่เราเปิดช่องระบายอากาศไว้ (มีมุ้งลวดกันแมลงติดไว้แล้ว) ก็จะทำให้อากาศใหม่ที่มีอุณหภูมิต่ำไหลเวียนเข้ามาแทนที่ และดันอากาศเก่าที่มีอุณหภูมิสูงให้ลอยขึ้นไปด้านบน

โดยที่บางระบบก็จะทำงานร่วมกับ พัดลมดูดอากาศที่อยู่ชั้นบนของบ้าน ที่จะช่วยดูดความร้อนจากในบ้านขึ้นไปบนฝ้าเพดาน ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการดันความร้อนบริเวณช่องใต้หลังคา ให้ระบายออกไปได้เร็วขึ้นอีกด้วยครับ


5. การลดพื้นผิวที่จะโดนแสงแดด/ความร้อนโดยตรง

มาถึงเทคนิคสุดท้ายที่ง่ายที่สุดคือ “การปลูกต้นไม้” เพื่อช่วยบังแดดให้กับผนังบ้านของเรานั่นเอง ซึ่งหากเป็นบ้านที่พอจะมีพื้นที่สักหน่อย ก็สามารถปลูกไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ได้สบายๆเลยครับ แต่ถ้าใครที่มีพื้นที่จำกัดก็สามารถปลูกเป็นต้นไม้กระถาง หรือทำสวนแนวตั้งบนผนังได้เหมือนกัน

ซึ่งร่มเงาของต้นไม้ก็จะช่วยบังแสงแดด และลดพื้นที่ผิวของผนังที่จะสัมผัสกับความร้อนโดยตรงลงได้ จากเดิมที่อาจโดนแดดเต็มๆแบบ 100% ก็อาจเหลือเพียง 30 – 50%  เพียงเท่านี้ก็จะสามารถช่วยลดความร้อนของตัวบ้านลงได้ แถมยังทำให้อากาศก่อนที่จะพัดเข้ามาในบ้านมีอุณหภูมิลดลง และกลายเป็นลมที่เย็นสดชื่นขึ้นได้อีกด้วยนะครับ

อ่านบทความเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ได้ตามนี้ :

…เป็นอย่างไรบ้างครับ กับ “วิธีแก้ปัญหาบ้านร้อน” ที่ผมนำมาฝากกันในวันนี้ ซึ่งก็จะมีอยู่หลากหลายวิธีมากๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การเลือกใช้วัสดุ ไปจนถึงวิธีง่ายๆอย่างการปลูกต้นไม้ โดยแต่ละวิธีก็จะมีส่วนช่วยในการลดอุณหภูมิในบ้านให้เย็นลงได้ไม่มากก็น้อย และแต่ละคนก็อาจมีวิธีการที่เหมาะสมกับบ้านของตัวเอง หรือเงินในกระเป๋าที่ต่างกันออกไป ซึ่งถ้าใครสามารถทำได้ครบตามนี้เมื่อไหร่ ผมเชื่อว่าตัวบ้านจะต้องเย็นสบาย และช่วยประหยัดค่าไฟลงได้อย่างแน่นอนครับ


ThinkofLiving มี LINE Official Account แล้วนะ
ไม่อยากพลาดข้อมูลข่าวสารก็ Add เลย > https://lin.ee/svACOxc