พื้นแบบนี้…ดีไหม? ครัวอย่างนี้ทนน้ำหรือเปล่า? กระเบื้องแกรนิตโต้ต่างจากเซรามิคยังไง? อ่างไฟเบอร์กับเซรามิคแบบไหนดีกว่ากัน? คำถามเหล่านี้คงเกิดขึ้นอยู่ในใจหลายๆคน ขณะที่กำลังเดินดูห้องหรือบ้านตัวอย่าง หรือเวลาไปดูห้องตัวอย่างเค้าดูอะไรกัน หลักๆที่เค้าดูกันก็คือการดูพื้นที่การใช้งานจริง, แนวทางการตกแต่ง และวัสดุ ครับ ทีนี้เวลาไปเดินดูห้องตัวอย่างหรือบ้านตัวอย่าง เราจะรู้ได้ยังไงว่าของที่แต่ละโครงการเค้าให้ๆกันมามันดีหรือเปล่า เวลาเซลล์อธิบายเรื่องวัสดุบางคนอาจจะไม่รู้จัก แถมชื่อวัสดุบางอย่างก็ไม่คุ้นหู บางคนซื้อเสร็จก็พาญาติๆมาดู พอถาม พี่ ป้า น้า อา ต่างๆ บ้างก็ว่าดี บ้างก็บอกว่าห่วย คุยไปคุยมาเลยไม่รู้ว่าตกลงที่เราตัดสินใจไปซื้อมานี่มันคุ้มไหมนะ
การจะตัดสินว่าโครงการที่เราซื้อมาคุ้ม หรือไม่คุ้ม มีหลายปัจจัยที่ต้องดูประกอบกัน และหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของวัสดุครับ ในบทนี้ผมจะไม่ลงรายละเอียดลึกในแต่ละวัสดุ แต่จะแนะนำว่าวัสดุที่เค้าฮิตๆนำมาใช้สร้างให้เราอยู่กันมันคืออะไร มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง ประเด็นแรกที่ต้องเคลียร์กันก่อนเลยคือเรื่องของความคุ้มค่า อันนี้ต้องดูภาพรวมของตลาดเป็นสำคัญครับ เพราะเราจะไม่รู้เลยว่าโครงการที่เราซื้อมามันคุ้มหรือไม่ถ้าไม่เปรียบเทียบกับโครงการอื่นๆในช่วงราคาเดียวกัน เช่น ถ้าเราซื้อคอนโดระดับ Main Class (70,000 – 90,000 บาท/ตร.ม.) ได้พื้นกระเบื้องยางมา ขณะที่คอนโดเพื่อนบ้านข้างเคียงได้ พื้นลามิเนต หรือ พื้นไม้เอนจิเนียร์ (Engineering Wood) อันนี้เรียกได้ว่าไม่คุ้มแล้ว
แต่…เรื่องความคุ้มค่าของวัสดุ บางทีจะวัดกันตรงๆเลยก็ไม่ได้ เพราะบางโครงการก็ให้ของมาดีเพื่อชดเชยเรื่องของทำเลที่ห่างไกลความเจริญก็ได้ครับ ยกตัวอย่างเช่น บางโครงการอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าแต่ต้องเข้าไปในซอยลึกหลายร้อยเมตร แถมมีคู่แข่งตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้ามากกว่า ถ้าอยากให้คนมาซื้อเค้าก็เลือกใช้วัสดุตกแต่งห้องที่ดูกว่าโครงการคู่แข่ง และแถมนู่นนี่นั่นมาให้เยอะแยะไปหมด เพื่อจะดึงดูดให้ลูกค้ามาสนใจมากขึ้น ซึ่งถ้าใครที่ยอมเดินทางไกลขึ้นก็จะได้คุณภาพวัสดุที่ดีกว่ามาทดแทน
เอาหละทีนี้มาเข้าเรื่องวัสดุกันบ้างดีกว่า ในวงการอสังหาริมทรัพย์บ้านเราการเลือกใช้วัสดุจะไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก ถามว่าทำไมแต่ละเจ้าถึงเลือกใช้วัสดุที่คล้ายๆกัน คำตอบคือเป็นเรื่องความคุ้มค่าของการก่อสร้างและการทำธุรกิจครับ ยิ่งมีการใช้วัสดุประเภทเดียวกันในปริมาณมากๆ ราคาก็จะยิ่งถูกลง แถมยังช่วยให้การหาช่างก่อสร้างทำได้ง่ายขึ้นด้วย ตัววัสดุของแต่ละโครงการที่ใช้กันจะมีชื่อที่คุ้นๆหูกันอยู่ เช่น พื้นลามิเนต, กระเบื้องไวนิล, กระเบื้องเซรามิค, กระเบื้องแกรนิตโต้, หินสงเคราะห์, อิฐมวลเบา, หรือ ผนัง Precast เป็นต้น ผมจะแนะนำวัสดุ ยอดฮิต ที่สมัยนี้เค้าใช้กันเป็นหมวดๆไปนะครับ
- พื้น (พื้นกระเบื้องไวนิล, พื้นลามิเนต, พื้นกระเบื้องเซรามิค และพื้นกระเบื้องแกนนิตโต้)
- ผนัง (ผนังก่ออิฐฉาบปูน, ผนังสำเร็จรูป (Pre-Cast) และ ผนังโครงเคร่า(ผนังเบา)
- ครัว (ท๊อปเคาน์เตอร์ปาติเกิ้ลปิดผิวเมลามีน, หินแกรนิต, หินสังเคราะห์)
- บานประตู, มือจับ และฉากกั้นห้องต่างๆ (บานเลื่อน, บานเปิด, บานจูง, บานกระจก)
- ดวงโคมไฟส่องสว่างต่างๆ (ซาลาเปา, ดาวน์ไลท์, ฮาโลเจน, LED)
- ระบบของแอร์ต่างๆ (ฝังฝ้า, แขวน) และขนาดที่เหมาะสมของ BTU ต่อตัวห้อง
- กรอบวงกบ (อลูมิเนียมธรรมชาติ, อโนไดซ์ขาว, สีพ่น)
1.หมวดพื้น
1.1 พื้นกระเบื้องไวนิล ใครที่เคยฟังเซลล์อธิบายเรื่องวัสดุห้องแล้วเจอคำว่า กระเบื้องไวนิล แล้วเกิดอาการงงๆว่ามันคืออะไร จริงๆแล้วมันก็คือกระเบื้องยางนั่นแหละครับ แต่เนื่องด้วยเทคโนโลยีสมันนี้มีการพัฒนาไปพอสมควรทำให้รูปร่างหน้าตาไม่ได้ดูเชยๆเหมือนเมื่อก่อนที่เป็นแผ่นเรียบๆ สีเขียวน้ำเงินปูสลับกัน ด้วยเทคโนโลยีการผลิตในสมัยนี้ทำให้ได้พื้นกระเบื้องที่มีทั้งสีสันลาดลายคล้ายวัสดุธรรมชาติมากขึ้น แถมยังมีพื้นผิวที่ขรุขระอีกด้วย เช่น ลายหินธรรมชาติ และลายไม้ต่างๆ
ทีนี้มาดูข้อดีและเสียของวัสดุกันบ้าง ข้อดีคือราคาค่อนข้างถูก ถ้าเทียบกับพวกพื้นไม้หรือกระเบื้อง มีความทนทานได้ดีในระดับนึง แถมยังรับแรงกดได้ดีด้วย ถึงแม้จะทนน้ำได้ไม่เท่าพวกกระเบื้อง แต่ก็ดีกว่าพวกพื้นไม้ลามิเนต สามารถใช้ได้ทั้งในบริเวณครัวและห้องนั่งเล่นทั่วไป เวลาทำน้ำหกใส่ก็สามารถทำความสะอาดได้ง่าย การซ่อมบำรุงก็ทำได้ไม่ยากครับ แผ่นไหนเสียช่างเค้าก็เลาะแผ่นนั้นออกและปะแผ่นใหม่เข้าไปแค่นั้นเอง ยิ่งสมัยนี้มีลวดลายให้เลือกมากมายก็ช่วยให้กระเบื้องยางเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ส่วนข้อเสียหลักๆ…คือเรื่องของผิวสัมผัสที่แข็งกระด้างเสียหน่อย อีกปัญหาที่มักจะเจอกันคือพอใช้ไปนานๆแล้วบางแผ่นอาจหลุดร่อนได้เพราะกาวเสื่อมสภาพ แต่จะชอบหรือไม่ก็แนะนำให้ลองไปตามห้างร้านวัสดุก่อสร้างแบรนด์ชั้นนำเค้าจะมีปูพื้นไว้ให้ดูด้วย
1.2 พื้นลามิเนต ฟังจากชื่อหลายคนอาจจะไม่รู้ว่าพื้นประเภทนี้ทำมาจากไม้ แต่…ไม่ใช้การตัดเอาต้นไม้จริงๆมาทำเป็นพื้น และลามิเนตก็ไม่ใช่ชื่อพันธุ์ไม้นะครับ แต่พื้นลามิเนตเกิดมาจากแนวคิดของการหาวัสดุมาใช้ทดแทนไม้จริง ทำให้วัสดุประเภทนี้ประกอบไปด้วยวัสดุ แบบธรรมชาติ กับ แบบสังเคราะห์ ผสมๆกัน ข้อดีของพื้นลามิเนตคือเมื่อปูแล้วให้ความรู้สึกคล้ายไม้จริงแต่ราคาถูกกว่า งบประมาณในการดูแลรักษาก็ถูกกว่า และการยืดหดตัวของไม้ก็มีน้อยกว่าไม้จริงด้วย ส่วนข้อเสียคือถ้าช่างปูพื้นหรือผู้รับเหมาปรับสภาพพื้นผิวไม่ดีจะทำให้คุณภาพของการใช้งานลดลง เช่น ปูพื้นไปได้ไม่นานพื้นก็โป่งบวมออกมา เหมือนลอยสูงจากพื้นเป็นหย่อมๆ เวลาเดินผ่านจะรู้สึกยวบๆเหมือนพื้นมันพองออกมา ต่อไปมาดูส่วนประกอบของพื้นลามิเนตกันดีกว่า พื้นลามิเนตจะมีส่วนประกอบทั้งหมด 4 ส่วน
ส่วนแรกคือ “แกนกลาง” เป็นส่วนที่ใช้เป็นในการรับน้ำหนักและแรงกดจากการเดินหรือวางของต่างๆ วัสดุที่ใช้จะเรียกว่า HDF(High Density Fiberboard) วิธีการทำ HDF จะเริ่มจากการนำไม้จริงมาย่อยจนเป็นผงละเอียดและผสมกับสารเคมีอื่นๆอย่างเช่น เรซิ่น หลังจากนั้นทำการขึ้นรูปเป็นแผ่นขนาดใหญ่ แล้วผ่านเครื่องอัดแรงดันสูงด้วยอุณหภูมิ 260 องศาเพื่อให้ได้ความหนาที่ต้องการ ข้อดีของวัสดุแบบนี้คือมีอัตราการยืดและหดตัวน้อยกว่าไม้จริง บางยี่ห้อจะมีระบบ Click Lock System ช่วยให้พื้นไม้ประกับกันสนิทและแข็งแรงมากขึ้นโดยไม่ต้องใช้กาวในการทำงาน ตรงรอยต่อระหว่างแผ่นก็มีการใช้สารประเภทพาราฟินแวกซ์เคลือบไว้กันความชื้นซึมเข้าสู่ตัวแกนของพื้นไม้
ส่วนที่ 2 ผิวลายไม้ ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่เอาไว้ตกแต่งลวดลายวัสดุส่วนนี้จะเป็นกระดาษ ซึ่งมีลวดลายต่างๆให้เลือกมากมาย ส่วนนี้จะไม่ได้มีอะไรพิเศษมากมายนักในการใช้งานนอกจากเพื่อความสวยงามเท่านั้น
ส่วนที่ 3 วัสดุปิดผิวหน้าเป็นส่วนที่ช่วยในเรื่องของรอยขีดข่วนและกันความชื้นเข้าสู่ตัวแกนกลางที่เป็นไม้ ส่วนนี้เป็นส่วนที่ดูเหมือนไม่มีอะไรแต่จริงๆแล้วสำคัญมากเพราะเป็นส่วนที่ต้องสัมผัสกับการใช้งานอยู่ตลอดเวลา ส่วนนี้จึงเป็นอีกส่วนนึงที่สะท้อนถึงราคาและคุณภาพของแต่ละยี่ห้อที่แตกต่างกัน การทำสารเคลือบลงไปบนผิวหน้าจะต้องมีความบางและทนต่อแรงกดกับการขีดข่วนได้เป็นอย่างดี ส่วนผสมหลักๆของพวกนี้จะเป็นเรซิ่น
ส่วนที่ 4 คือแผ่นรองพื้น ส่วนนี้จะทำหน้าที่เพิ่มความแข็งแกร่งและคอยกันความชื้นจากพื้นด้านล่างไม่ให้เข้าสู่แกนกลางของพื้นไม้ลามิเนต แถมบางเจ้าจะมีเคลือบสารเมลามีนลงไปใสส่วนนี้เพิ่มด้วย เพื่อให้ป้องกันความชื้นได้ดียิ่งขึ้น
1.3 พื้นไม้เอนจินียร์ (Engineering Wood) จะเป็นพื้นไม้ที่มีความสมจริงมากขึ้น เพราะใช้ไม้จริงๆมาปิดเป็นหน้า ตัวโครงสร้างจะคล้ายๆกับพื้นไม้ลามิเนตคือมีแกนกลางและแผ่นรองปูพื้น จะต่างกันก็ตรงผิวหน้าที่ได้ไม้จริงหนาประมาณ 3.5 – 4 มม. ผิวสัมผัสของพื้นไม้แบบนี้ก็จะให้ความรู้สึกสมจริงมากขึ้น และลายไม้ที่ได้สามารถเลือกเป็นลายไม้จากต่างประเทศได้เยอะหน่อย แต่การบำรุงรักษายังคงแตกต่างจากไม้จริง เพราะเมื่อใช้งานไปนานๆแล้วจะไม่สามารถขัดผิวหน้าทำสีใหม่ได้เหมือนลายไม้ ดังนั้นถ้าจะเลือกติดตั้งพื้นไม้ประเภทนี้ควรเลือกยี่ห้อที่มีการเคลือบผิวหน้าที่ดีทนทานต่อการใช้งาน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วผิวหน้าไม้มักจะผ่านกรรมวิธีเสริมความแข็งแกร่งของผิวหน้าอยู่แล้วเช่น การอบน้ำยาเพื่อป้องกันปลวกและแมลงกินไม้ต่างๆ หรือจะเป็นการเคลือบผิวหน้า ก่อนจะไปดูวัสดุอื่น
ขอสรุปเรื่องราคาของพื้นที่นิยมใช้ในแต่ละประเภทให้ดูนิดหน่อยนะครับ พื้นกระเบื้องไวนิลจะเป็นพื้นที่มีราคาถูดสุดผิวสัมผัสจะไม่เย็นเหมือนกระเบื้องแต่จะไม่รู้สึกดีเหมือนพื้นไม้จริง ราคาอยู๋ที่ประมาณ 250 – 500 บาท/ตร.ม. ส่วนราคาของพื้นไม้ลามิเนตจะถูกสุดอยู่ที่ประมาณ 450 – 1200 บาท/ตร.ม. สุดท้ายพื้นไม้ Engineering Wood จะแพงกว่าลามิเนตประมาณ 2 – 3 เท่าอยู่ที่ประมาณ 1,000 – 2,500 บาท/ตร.ม. ราคาของวัสดุที่บอกมาจะแตกต่างกันตามยี่ห้อและลวดลายด้วยนะครับ
1.4 พื้นกระเบื้องแกรนิตโต้ และกระเบื้องเซรามิค เป็นวัสดุที่มักจะถูกใช้งานในส่วนของห้องนั่งเล่น, ห้องครัว และห้องน้ำ หรือพื้นที่ๆต้องทนต่อความชื้นและการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับน้ำครับ ที่เเค้านิยมใช้กันเพราะคุณสมบัติของกระเบื้องจะมีค่าการดูดซับน้ำที่ค่อนข้างต่ำ หรือพื้นแกรนิตโต้บางประเภทแทบจะเรียกว่าไม่ดูดซับน้ำเลยก็ว่าได้ วัสดุ 2 อย่างนี้มีความคล้ายคลึงกันพอสมควร แต่หลายคนคงสงสัยว่ากระเบื้องแกรนิตโต้มันต่างกับเซรามิคยังไง
ขออธิบายถึงตัวแกรนิตโต้ก่อนหละกันนะครับ แกรนิตโต้คืออะไร? แกรนิตโต้นั้นมีชื่อเรียกที่หลากหลาย ทั้ง Homogeneous Tile, Granite Tile, Granito Tile, Porcelain Tile แต่โดยรวมๆแล้วเนื้อวัสดุจะถูกเรียกว่า Porcelain ครับ วิธีการผลิตทำได้โดยการนำเศษหินแกรนิตมาย่อยสลายเป็นผงๆและขึ้นรูปเป็นแผ่นด้วยความร้อนสูง หลังจากนั้นจะมีการตกแต่งผิวหน้าเป็นแบบขัดผิวหน้าและไม่ขัด แต่สิ่งที่ควรดูเวลาซื้อคือด้านข้างของแผ่นว่าเนื้อของกระเบื้องเป็นแบบ Porcelain ทั้งแผ่นหรือไม่ เพราะมีบางรุ่นบางยี่ห้อที่ใช้เนื้อ Porcelain แค่ผิวหน้า ทำให้การแข็งแรงโดยรวมลดลง การบำรุงรักษาของวัสดุจะทำได้ง่ายหน่อยเพราะแกรนิตโต้จะมีรูพรุนที่พื้นผิวน้อยทำให้ฝุ่นหรือสิ่งสกปรกไม่เข้าไปเยอะ ส่วนกระเบื้องเซรามิคจะมีความแกร่งและทนทานน้อยกว่าแกรนิตโต้ และมีราคาถูกกว่า
2. หมวดผนัง
ผนัง Precast, อิฐมอญ, อิฐมวลเบา, ผนังโครงเคร่า(ผนังเบา) : ผนังหรือกำแพงบ้านที่นิยมใช้กันบ่อยๆในบ้านเราทุกวันนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือผนังแบบก่ออิฐ(อิฐมอญและอิฐมวลเบา), ผนังสำเร็จรูป (Pre-cast), ผนังโครงเคร่า(ผนังเบา) ผนัง 3 อย่างนี้มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันและแบ่งตามการใช้งานได้อีกด้วย จริงๆแล้วรายละเอียดของวัสดุจะมีค่อนข้างเยอะแต่ขออธิบายคร่าวๆเพื่อให้เข้าใจภาพโดยรวม เดี๋ยวผมจะค่อยๆอธิบายไปทีละอย่างนะครับ
2.1 ผนังแบบก่ออิฐฉาบปูน จะเป็นผนังที่ใช้ได้ทั้งภายในและนอกแต่ส่วนใหญ่จะใช้ภายนอกมากกว่า ผนังแบบนี้จะใช้วิธีก่ออิฐฉาบปูนไปเรื่อยๆซึ่งการก่อสร้างจะใช้เวลานานกว่าแบบ Precast แต่มีข้อดีตรงที่สามารถทุบหรือต่อเติมได้โดยไม่มีผลกับตัวโครงสร้าง อิฐที่มาใช้แบ่งคร่าวๆได้อีก 2 ประเภทคือ อิฐมอญ กับ อิฐมวลเบา อิฐมอญจะเป็นสีส้มๆที่เราๆท่านๆน่าจะคุ้นเคยกันอยู่ ส่วนอิฐมวลเบาจะเป็นการผสมระหว่าง ปูนซีเมนต์, ทราย, ปูนขาว, ยิปซั่มและน้ำ สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ อิฐมวลเบาจะมีข้อดีในแง่การก่อสร้าง เพราะมีน้ำหนักเบา, ก้อนใหญ่ ทำให้ใช้เวลาในการก่อสร้างน้อย ส่วนการใช้งานอิฐมวลเบาจะเก็บเสียงและกันความร้อนได้ดีกว่าเพราะมีรูพรุนในเนื้อเยอะ แต่พอมีรูพรุนเยอะเวลาจะเจาะรูสำหรับแขวนของที่มีน้ำหนักต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะในการยึดติด เนื่องจากอิฐมวลเบามีความร่วนมากกว่าอิฐมอญ ถ้าเป็นอิฐมอญสามารถเจาะแล้วใส่ปุ๊กตามท้องตลาดทั่วไปได้เลย
2.2 ผนังแบบสำเร็จรูป หรือที่เรียกกันว่า ผนัง Precast ผนังประเภทนี้เพิ่งจะเริ่มมาใช้งานกันอย่างแพร่หลายในไม่กี่ปีที่ผ่านมา และมีการใช้กับโครงการทั้งบ้านและคอนโดด้วย ผนังแบบนี้จะแตกต่างจากผนังทั่วไปตรงขั้นตอนการก่อสร้างและคุณสมบัติบางอย่าง เริ่มกันที่การก่อสร้างก่อนนะครับ วิธีการผลิตจะเริ่มต้นจากในโรงงานเลย โดยตัวผนังจะถูกผลิตขึ้นตามแบบที่ต้องการ หลังจากนั้นจะนำมาแผ่นผนังที่ได้มาประกอบที่เป็นตัวบ้านที่หน้างาน การก่อสร้างแบบนี้จะใช้เวลาน้อยกว่าแบบก่ออิฐฉาบปูนค่อนข้างมากเพราะไม่ต้องเสียเวลาเอาคนมานั่งก่ออิฐที่ละอัน และทำไปทีหละหลัง ทีนี้มาดูข้อดีเสียกันบ้าง ข้อดีของผนังแบบนี้คือมีความแข็งแรงกว่าผนังก่ออิฐเพราะมีการเสริมเหล็กเข้าไปด้านใน ด้วยความแข็งแรงของตัวผนังเองทำให้ระบบการก่อสร้างบ้านจะเปลี่ยนเป็นแบบผนังรับน้ำหนักไม่ใช่เสาและคาน ทำให้เราจะเห็นบ้านในยุคสมัยใหม่จะไม่มีเสาตามมุมต่างๆของตัวบ้าน แต่การใช้ระบบนี้ก็มีข้อเสียอยู่ในตัวคือถ้าจะต่อเติมหรือทุบกำแพงบางส่วนออกจะไม่สามารถทำได้ เพราะพื้นที่ของผนังทั้งหมดมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงสร้าง ถ้าจะเจาะรูที่ผนังก็ทำได้ไม่ใหญ่มากหรือเจาะได้แค่ใส่ท่อสำหรับงานระบบเท่านั้น อีกจุดหนึ่งที่มีความสำคัญคือรอยต่อของชิ้นส่วนแต่ละชิ้น ถ้าจุดนี้มีการออกแบบทีดีและสามารถควบคุมการก่อสร้างให้ได้คุณภาพ ปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น สรุปแล้วถ้าใครที่ซื้อเป็นระบบแบบ Precast ถ้าจะต่อเติมอะไรควรปรึกษาทางโครงการให้ดีก่อน แต่ถ้าเป็นแบบก่ออิฐฉาบปูนจะไม่มีปัญหาอะไร ส่วนคอนโดก็เช่นกันครับ แต่ปัญหาในการต่อเติมจะมีน้อยกว่าเพราะโดยพื้นฐานจะไม่มีการเจาะอะไรมากอยู่แล้ว
2.3 ผนังโครงเคร่า(ผนังเบา) ผนังประเภทนี้จะเป็นผนังที่ใช้สำหรับภายในเท่านั้น ส่วนใหญ่จะใช้ในการแบ่งห้องต่างๆให้เป็นสัดส่วน ข้อดีของผนังแบบนี้คือมีราคาที่ไม่แพงและการก่อสร้างทำได้ไม่ยาก ต่อเติมง่าย, ใช้เวลาติดตั้งเร็ว ตัวผนังทำสีได้ง่ายและพื้นผิวมีความเรียบเสอมกันทั้งแผ่น วัสดุตัวโครงจะทำจากเหล็กชุบสังกะสีเพื่อให้ทนต่อการขึ้นสนิม ส่วนแผ่นผนังที่ติดจะเป็นยิปซั่มบอร์ด ผนังส่วนดีสามารถรื้อทอนได้ง่าย ดังนั้นถ้าใครที่ต้องการแบ่งพื้นที่ในบ้านแบบชั่วคราวก็เลือกใช้ผนังแบบนี้ได้ ถ้าในอนาคตอยากแบ่งห้องใหม่หรือยุบห้องรวมก็ทำได้ไม่เยอะแถมการรื้อถอดก็เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าด้วย
3. ส่วนครัว
Top เคาน์เตอร์ครัว ปาติเกิ้ลเคลือบเมลามีน, หินสังเคราะห์, หินแกรนิต วัสดุเหล่านี้จะเป็นส่วนที่ใช้กับ Top เคาน์เตอร์ครัว ซึ่งถ้าเรียงตามลำดับแล้วปาติเกิ้ลปิดผิวด้วยเมลามีนจะมีราคาถูกที่สุดและคุณภาพจะด้อยที่สุดด้วย ไม้ปาติเกิ้ลทำมาจากเศษไม้หรือขี้เลื่อยมาผสมกับสารเคมีแล้วนำมาบีบอัดด้วยความร้อนสูง ลักษณะจะคล้ายๆกับไม้ MDF และ HDF ต่างกันตรงที่ทำจากเศษไม้ที่ชิ้นใหญ่กว่า มีน้ำหนักที่เบากว่าและความหนาแน่นต่ำกว่า ส่วนเมลามีนจะเป็นการนำกระดาษที่มีลวดลายมาชุบเมลามีนเรซิ่นแล้วนำมาอัดด้วยความร้อนแรงดันสูงกับแผ่นปาติเกิ้ล ความทนทานต่อความชื้นของวัสดุประเภทนี้จะทนได้น้อยกว่าวัสดุประเภทหินค่อนข้างมาก ถึงแม้จะมีความทนทานต่อความชื้นและการใช้งานในครัวได้ดีระดับนึง แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้มีน้ำแช่อยู่นานๆเพราะอาจทำให้ไม้บวมได้ง่าย
หินสังเคราะห์กับหินแกรนิต วัสดุ 2 อย่างนี้จะคล้ายๆแต่คุณสมบัติโดยรวมหินแกรนิตจะมีคุณภาพที่ดีกว่า หินแกรนิตจะเป็นมีความแข็งแกร่งทนทานต่อการขีดข่วน และทนต่อความร้อนสูงถึง 1,200 องศาฟาเรนไฮท์ อัตราการดูดซับน้ำต่ำ ทนต่อกรด ด่างได้ระดับนึง ลวดลายจะเป็นไปตามธรรมชาติและจะมีรอยร้าวโชว์อยู่บ้าง ขนาดในการใช้งานจะมีระยะจำกัดไม่เหมือนหินสังเคราะห์ที่สามารถปรับเปลี่ยนขนาดได้หลากหลายกว่า มาพูดถึงหินสังเคราะห์กันต่อ หินสังเคราะห์จะใช้ส่วนผสมของหินควอตซ์ แก้ว โพลิเมอร์ และสีตามที่ต้องการ เนื่องจากหินประเภทเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่มนุษย์เราทำขึ้นกันเอง ทำให้มีลวดลายที่สวยกว่าและดูต่อเนื่องมากกว่าหินธรรมชาติ รวมถึงการทนต่อสารเคมีที่ดีกว่าด้วย นอกจากนี้รูพรุนในเนื้อของหินสังเคราะห์มีน้อยมากจนแทบจะเรียกว่าไม่มีเลยก็ได้ ทำให้การสะสมของสิ่งสกปรก เชื้อโรคต่างๆมีน้อยลง ข้อเสียหลักของหินสังเคราะห์ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของราคาที่สูงมากครับ
4. บานประตู, มือจับ และฉากกั้นห้องต่างๆ
เรื่องบานประตูและมือจับต่างๆนั้น เป็นอีกเรื่องที่อาจจะเช็คลำบากหน่อย เพราะว่าสมัยนี้หลายๆโครงการไม่ค่อยยอมติดตัวบานประตูมาให้ดูสักเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแต่ละโครงการอยากให้ห้องตัวอย่างดูสวยงามและดูกว้าง โปร่ง โล่งสบาย ทีนี้พอไม่ได้ติดประตูมาแล้วมันก็ดูโล่งจริงๆนะครับ ถ้าอยากรู้ว่าความรู้สึกจริงที่อยู่จะเป็นอย่างไรก็ต้องจินตนาการกันเอง ยกเว้นว่าโครงการไหนที่แถมกลอนประตู Digital Door Lock มาให้มักจะติดตั้งประตูบานแรกของห้องไว้ให้เสมอ เพราะต้องการจะโชว์ว่ามีแถมให้นะ หรือโครงการไหนที่ต้องการเน้นว่าประตูของเค้าออกแบบมาพิเศษและสวยกว่าคนอื่นเค้าก็จะติดไว้ให้ดู อย่างโครงการ The Room 69 ที่ใส่ลูกเล่นใหม่ให้กับเฟรมประตูที่เป็นช่องเก็บของ, ตู้ใส่จดหมาย และช่องระบายอากาศ ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกบ้านได้ดี
ถ้าเป็นคอนโดบานประตูที่ใช้เป็นบานแรกสุดมักจะแตกต่างจะบานภายใน เพราะจะต้องเป็นประตูทึบและมีความทนทานได้ดี วัสดุส่วนใหญ่ที่ใช้จะเป็น HDF (High Density Fiberboard) บานประตูประเภทนี้คือบานประตูสำเร็จรูป ที่ผลิตมาจากใยไม้มาผสมกับเรซิ่นและขึ้นรูปด้วยแรงดันสูง การยืดหดตัว และการบิดงอตัวจะมีอัตราที่ต่ำกว่าไม้จริง ส่วนความสวยงามของตัววัสดุจะสู้ไม้จริงไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเป็นแค่การทำสีบนพื้นผิวเท่านั้น แต่ถ้าต้องการให้ดูสวยงามขึ้นก็สามารถปิดผิวด้วยไม้วีเนียร์ซึ่งเป็นไม้จริง แต่ราคาก็จะสูงตามและน้อยโครงการที่จะทำให้ครับ
ส่วนบานประตูภายในจะมีหลายส่วนด้วยกันขึ้นอยู่กับการออกแบบของแต่ละโครงการ โดยมาแล้วห้องที่เป็นแบบ Studio จะไม่มีฉากกระจกกั้นมาให้ แต่ถ้าเป็นแบบ 1 ห้องนอนในสมัยนี้ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 22.5 ถึง 30 ตร.ม. มักจะนิยมให้ฉากกระจกกั้นมาเพราะจะทำให้ตัวห้องดูไม่แคบเกินไป บานประตูที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นบานกระจกเลื่อนกรอบอลูมิเนียม ส่วนจะเป็นแบบบานเลื่อน 2 หรือ 3 ตอนก็ต้องดูว่าหน้ากว้างห้องกว้างมากรึเปล่า ถ้ากว้างมากการเลื่อนแบบ 3 ตอนจะช่วยในประหยัดพื้นที่ตอนเก็บไปด้านใดด้านนึง อีกส่วนที่ต้องดูคือตัวรางเลื่อนครับ เพราะถ้ามีรางที่พื้นเวลาเดินอาจจะสะดุดได้ บางโครงการเลยใช้วิธีทำรางเลื่อนฝังลงไปในตัวพื้นเลย ซึ่งแบบนี้จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าแต่ได้ความสะดวกสบายมากว่าเช่นกัน หรือบางโครงการอาจจะไม่มีรางเลื่อนที่พื้นเลยแต่วิธีนี้ต้องดูว่าน้ำหนักของประตูมีเยอะรึเปล่า ถ้าไม่เยอะการใช้งานจะไม่มีปัญหาอะไรแต่ถ้าตัวบานประตูหนักมากต้องดูว่าอุปกรณ์ยึดจับต่างๆต้องใช้ของที่มีคุณภาพเพียงพอ ไม่อย่างนั้นการใช้งานระยะยาวอาจมีปัญหาได้ครับ
ต่อมาในส่วนของประตูห้องครัวและประตูออกไปยังระเบียง ส่วนใหญ่จะให้เป็นบานกระจกเลื่อนกรอบอลูมิเนียมเช่นกัน แต่จะเป็นบานติดตาย(Fix) ด้านนึงมากกว่า สิ่งที่ต้องดูสำหรับห้องครัวคือดูว่ามีซีลปิดที่ขอบประตูมาให้หรือไม่ ถ้าโครงการไหนให้มาถือว่าทำงานได้ละเอียดดีครับ เพราะการทำครัวจะมีการส่งกลิ่นออกมายังภายนอกดังนั้นถ้ามีตัวซีลจะช่วยกันไม่ให้กลิ่นไหลออกมาภายนอกได้ เช่นเดียวกับซีลที่ให้มาที่ระเบียงจะช่วยกันฝุ่นไม่ให้เข้ามาภายในห้องได้
สุดท้ายคือประตูห้องน้ำ ส่วนใหญ่จะให้มาแค่ 2 อย่างคือประตู HDF ที่ได้อธิบานไปแล้ว กับประตูอีกแบบนึงคือประตู PVC ประตูแบบนี้หลายคนอาจจะไม่ค่อยชอบเพราะผิวสัมผัสและความสวยงามจะด้อยกว่าวัสดุชนิดอื่นๆ เหตุผลที่เป็นแบบนี้เพราะประตู PVC ทำมาจากพลาสติกนั่นเองครับ แต่ข้อดีของประตูแบบนี้ก็คือ ทนทานต่อความชื้น หรือจะเรียกว่าความชื้นไม่มีผลต่อประตูประเภทนี้เลย ไม่เหมือน HDF ที่ยังมีโอกาสเสื่อมสภาพเมื่อใช้งานไปนานๆ ปัญหาของประตู PVC ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องคุณภาพของพลาสติกที่ไม่ดี ทำให้กรอบแตกง่าย และเนื้อพลาสติกไม่ทนต่อแรงกระแทกกับการขูดขีดจากของมีคม
แถมท้ายด้วยเรื่องของวัสดุกรอบประตูและหน้าต่างที่นิยมใช้กัน โครงการประเภทคอนโดจะนิยมกรอบอลูมิเนียมเป็นหลัก ส่วนบ้านและทาวน์เฮาส์ จะมีใช้ทั้งอลูมิเนียมและ UPVC เรามาดูในส่วนของอลูมิเนียมกันก่อนนะครับ กรอบอลูมิเนียมส่วนใหญ่ที่ผลิตออกมาจากโรงงานจะมีการทำสีแค่ 2 แบบคือ การชุบอโนไดซ์ (Aluminium Anodized) และ การสีพ่นสีฝุ่น (Powder Coating) แล้วแต่อลูมิเนียมละสีแตกต่างกันอย่างไร
ขั้นแรกขออธิบายเรื่องของสีอลูมิเนียมที่หลายคนมักเข้าใจผิดกันก่อน สีพื้นฐานของอลูมิเนียมที่เราเห็นในท้องตลาดทั่วไปที่เป็นสีเงินๆ นั่นไม่ใช่สีของอลูมิเนียมแท้ๆนะครับ แต่ผ่านขั้นตอนการชุบอโนไดซ์มาแล้วแต่เค้าชุบเป็นสีเงินเท่านั้นเอง เหตุผลของการชุบก็คือเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับพื้นผิวของวัสดุ ให้ทนต่อรอบขีดข่วนต่างๆ นอกจากสีธรรมชาติที่นิยมใช้กันแล้ว ยังมีอีก 2 สีที่นิยมก็คือ สีดำ และ สีชา (มีทั้งสีชาเข้มและสีชาทอง) สำหรับอลูมิเนียมที่ไม่ผ่านการชุบก็มีขายอยู่เหมือนกันครับ แค่จะใช้ในงานที่ซ่อนอยู่ด้านใน ไม่เน้นความสวยงาม สำหรับแบบพ่นสีฝุ่นจะมีผิวสัมผัสที่ให้ความรู้สึกดีกว่า เพราะการทำสีทำให้ผิวของอลูมิเนียมมีความหนามากขึ้น ทำสีได้หลากหลายกว่า สำหรับเรื่องความคงทนและอายุการใช้งานทั้ง 2 อย่างก็ใกล้เคียงกันครับ
สำหรับกรอบประตูหน้าต่างแบบ UPVC เป็นการใช้วัสดุที่เป็นพลาสติกมาผลิต ซึ่งมีข้อดีคือน้ำหนักเบาและติดตั้งง่าย อายุการใช้งานก็ใกล้เคียงกับอลูมิเนียมครับ แต่…ต้องเลือกใช้ยี่ห้อที่มีมาตรฐานในการผลิต เลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพในการผลิตชิ้นงาน ไม่อย่างนั้น พอใช้ไปไม่นานอาจจะเสี่ยงต่อการกรอบ, แตก และร่อนได้ สำหรับใครที่ใช้กรอบเป็นสีขาวต้องทำใจเรื่องสีที่ของวัสดุที่อาจจะกลายเป็นสีเหลืองเมื่อใช้ไปนานๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องปรกติของทุกวัสดุครับ ต่อให้เป็นอลูมิเนียมพ่นสีฝุ่นเมื่อใช้ไปประมาณ 15 ปีสีจะเริ่มออกเหลืองบ้างแล้ว จะเหลืองเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมว่าโดดแดดเยอะหรือน้อยด้วยนะครับ
5. ดวงโคมไฟส่องสว่าง
ถ้าใครเคยไปดูห้องตัวอย่างหรือบ้านตัวอย่างแล้วเห็นว่าสวยมาก อยากได้แบบนี้บ้าง พยายามเลือกของตกแต่งให้ใกล้เคียงที่สุดแต่ก็ยังพบว่าไม่สวยเหมือนห้องตัวอย่างซักที เหตุผลนึงที่ห้องตัวอย่างดูสวยนั้นเป็นเพราะการจัดแสงภายในห้องครับ ดูผ่านๆอาจจะไม่เห็นผลมากนัก แต่ถ้าใครลองได้จัดแสงตามห้องตัวอย่างจะพบว่ามันต่างกันมากเลยครับ ไฟส่องสว่างนั้นมีผลกับบรรยากาศและความสวยงามในห้องโดยตรงเลย ดวงโคมส่องสว่างโดยมากที่แถมมาให้จากโครงการจะเป็นแบบ โคมไฟซาลาเปา กับ โคมไฟดาวน์ไลท์ ครับ
ทั้งสองอย่างนี้จะแตกต่างกันตรงไหน วิธีดูก็ดูง่ายๆครับ โคมไฟซาลาเปาจะมีฝาแก้วครอบตัวหลอดไฟอยู่ ระยะการกระจายแสงทำได้กว้างกว่าแต่ความเข้มข้นของแสงมีน้อยกว่า ส่วนโคมไฟดาวน์ไลท์จะซ่อนอยู่ในฝ้า มีระยะการกระจายแสงที่แคบกว่าแต่ได้ความเข้มข้นของแสงมากกว่า การติดตั้งโคมไฟดาวน์ไลท์จะเสียค่าแรงมากกว่านิดหน่อย เรื่องที่ต้องดูต่อมาคือตำแหน่งและจำนวนของดวงไฟ บริเวณไหนที่มีพื้นที่กว้างก็ควรจะติดตั้งในปริมาณที่พอดีกับการใช้งานและมีตำแหน่งที่เหมาะ อย่างห้องนั่งเล่นอาจจะติดเพิ่มจากที่โรงการให้มากระจายสัก 4 จุดเพื่อให้ทั่วถึงต่อการใช้งาน แต่ถ้าเป็นโต๊ะทำงานก็ใส่ไฟเพิ่มเฉพาะที่วางโต๊ะก็ได้เพราะเป็นการใช้งานเฉพาะที่ ส่วนห้องน้ำหรือระเบียงอาจจะไม่ต้องติดเพิ่มเยอะเพราะพื้นที่เหล่านี้มีระยะเวลาในการใช้งานที่น้อยกว่าพื้นที่ทั่วๆไปอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะติดไฟเพื่อเพิ่มความสวยงามมากกว่าเช่น การติดไฟซ่อนหลังกระจกเงา หรือการติดไฟใต้ฝ้าให้ส่องกระทบกับผนังกระเบื้องในห้องน้ำ
สุดท้ายเรื่องของหลอดไฟที่จะนำมาใช้ หลอดไฟในยุคปัจจุบันที่นิยมใช้กันจะมีอยู่ 4 ประเภท คือ หลอดไส้ (Incandescent), หลอดฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent), หลอด LED และหลอดฮาโลเจน หลอดส่วนใหญ่ที่ให้มาจะเป็นหลอด ฟลูออเรสเซนต์ แต่บางโครงการก็เริ่มมีหลอดแบบ LED มาให้เห็นกันบ้างแล้ว ซึ่งมาโรงการก็นำหลอด LED มาใช้กับพื้นที่ส่วนกลางทั้งหมดด้วย ถ้าใครที่ได้มาก็ถือว่าได้ของดีมาครับ เพราะการใช้หลอด LED จะมีต้นทุนในตอนแรกสูงแต่พอใช้งานไปนานๆจะประหยัดค่าไฟได้มากกว่า ยิ่งถ้าเป็นพื้นที่ส่วนกลางหรือพื้นที่ๆมีการใช้งานมากๆเปิดไฟนานๆก็ยิ่งคุ้มค่าครับ
แถมให้อีกนิดเรื่องสีของหลอดไฟครับ ใครที่เคยไปซื้อหลอดไฟมาเพื่อมาเปลี่ยนหลอดไฟซักดวงในบ้านแล้วงงกับคำที่เขียนข้างกล่องว่า Daylight, Cool White และ Warm White แล้ว 3 อย่างนี้มันต่างกันอย่างไร ผมขออธิบายแบบสั้นๆเขาใจง่ายหละกันนะครับ
- Daylight : โทนสีออกขาวอมฟ้า คมๆ มองเห็นได้ชัดสีไม่ค่อยเพี้ยน เน้นการใช้งานในพื้นที่ๆมีกิจกรรม ชวนให้รู้สึกตื่นตัว เช่น โต๊ะทำงาน, โต๊ะเครื่องแป้งไว้แต่งหน้า และในออฟฟิศ
- Cool White : โทนสีขาว ดูเย็นสบายตากว่า Day Light แต่ก็ไม่ออกสีส้มเหมือน Warm White เน้นการใช้งานพื้นที่ทั่วๆไป อย่างห้องนั่งเล่น หรือ ห้องทานอาหาร
- Warm White : โทนสีออกส้มๆ แสงจะนวลๆ สบายตา เอาไว้ใช้บรรยากาศให้รู้สึกอบอุ่น ผ่อนคลาย โรแมนติก เอาไว้ใช้ ในห้องนอน หรือ ห้องนั่งเล่นก็ได้ครับ
6. ระบบเครื่องปรับอากาศ (แอร์)
ถึงแม้สภาพอากาศในบ้านเราจะมีอยู่ 3 ฤดู … แต่ก็เป็นฤดูร้อน, ร้อนมาก, และ ร้อนที่สุด ดังนั้นเครื่องปรับอากาศ(แอร์)จึงจำเป็นต่อการอยู่อาศัยในบ้านเราเป็นอย่างมาก ไม่ว่าคุณจะอยู่บ้านหรือคอนโดยังไงก็ต้องมีติดไว้ซักห้องอยู่แล้ว ในเมื่อทุกบ้านต้องมีแอร์อยู่แล้วเราก็ควรจะรู้ว่าแอร์ที่นิยมใช้กันในปัจจุบันมีอยู่กี่ประเภท แล้วแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร ระบบปรับอากาศที่ใช้กันอยู่มีทั้งหมด 3 แบบคือ
- ระบบปรับอากาศแบบ ติดหน้าต่าง (Window Type)
- ระบบปรับอากาศแบบ แยกส่วน (Split Type)
- ระบบปรับอากาศ เครื่องทำน้ำเย็น (Water Chiller)
ถึงแม้จะมีระบบอยู่ทั้งหมด 3 แบบแต่แบบที่ใช้บ้านหรือคอนโดส่วนใหญ่จะเป็นระบบ Split Type ส่วน Window Type ไม่ค่อยได้ใช้เพราะการติดตั้งต้องเตรียมระบบผนังไว้รับน้ำหนักและพอติดตั้งแล้วไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ แบบ Water Chiller ก็เอาไว้ใช้สำหรับพื้นที่ใหญ่ๆอย่างห้างสรรพสินค้าและอาคารสำนักงานใหญ่
ระบบปรับอากาศแบบ แยกส่วน (Split Type) คือเครื่องปรับอากาศที่แยกตัวระบายความร้อน (Condensing Unit) และส่วนเป่าลมเย็น (Fan Coil Unit) ออกจากกัน ระบบนี้มีข้อดีคือ ระบบนี้จะเน้นการใช้งานพื้นที่เล็กๆหลายๆพื้นที่ สามารถเปิดหรือปิดแยกส่วนกัน พื้นที่ไหนไม่ได้ใช้ก็ไม่ต้องเปิด เหมาะกับการใช้งานประเภทบ้านและคอนโด เวลาติดตั้งแล้วจะมีความสวยงามกว่าแบบอื่นๆ และการทำงานจะเงียบกว่าเพราะเอาเครื่องระบายความร้อนแยกไปวางไว้ที่อื่น แต่สิ่งที่ต้องระวังคือเรื่องของระยะห่างระหว่างตัวระบายความ กับส่วนเป่าลมเย็น เพราะต้องมีการเดินท่อน้ำยาและน้ำทิ้งเพิ่ม ถ้าพื้นที่มีความซับซ้อนมากจะเปลืองค่าใช้จ่ายในการเดินท่อเพิ่มเติม (ปรกติซื้อแอร์ 1 เครื่องจะแถมท่อให้ 4 เมตร) ระบบแอร์แบบนี้จะมีการติดตั้งได้หลายแบบ แต่ผมจะขออธิบายแบบที่โครงการส่วนใหญ่เค้าใช้กันนะครับ
- แบบตั้ง/แขวน (Ceiling / Floor Type)
- แบบติดผนัง (Wall Type)
- แบบฝังเพดาน (Ceiling Cassette Type)
- แบบซ่อนในฝ้า (Ceiling Concealed Type)
แบบตั้ง/แขวน (Ceiling / Floor Type) แบบนี้จะเป็นแบบที่ไม่ค่อยนิยมใช้กันแล้ว ถ้าจะมีคนใช้ก็จะเป็นบ้านที่มีอายุหลายสิบปีแล้ว แบบนี้จะมีส่วนเป่าลมเย็น (Fan Coil Unit) ตั้งอยู่ที่พื้น หรือแขวนห้อยลงมาจากเพดาน แบบนี้เสื่อมความนิยมไปเพราะเปลืองพื้นที่ของห้องมากกว่าแบบอื่น และดูไม่สวยงามเท่าไหร่
แบบติดผนัง (Wall Type) แบบนี้จะเป็นแบบที่นิยมใช้กันมากที่สุด เพราะติดตั้งแล้วดูสวยงาม ในท้องตลาดมีรุ่นและรูปแบบให้เลือกหลากหลาย แถมได้พื้นที่ใช้งานเพิ่มขึ้นเพราะส่วนเป่าลมเย็น จะไม่วางเกะกะอยู่ที่พื้น
แบบฝังเพดาน (Ceiling Cassette Type) แบบนี้ส่วนเป่าลมเย็นจะถูกฝังอยู่ในฝ้าเพดาน แบบนี้จะมีความสวยกว่าแบบ Wall Type เพราะตัวเครื่องจะไม่ปูดๆ นูนๆ ออกมาให้เห็น สิ่งที่เห็นจะเป็นแค่หน้ากากแอร์เท่านั้น ข้อเสียของระบบนี้คือการติดตั้งมีความยุ่งยากมากขึ้นเพราะต้องฝังตัวเครื่องลงในฝ้า
แบบซ่อนในฝ้า (Ceiling Concealed Type) แบบนี้จะเป็นแบบที่ติดตั้งแล้วต้องการให้เห็นตัวแอร์น้อยที่สุด หรือมีความกลมกลืนไปกับตัวห้องมากที่สุด ส่วนใหญ่ระบบนี้จะติดตั้งในห้องที่เน้นเรื่องการตกแต่งภายในที่สวยงาม โดยส่วนเป่าลมเย็นจะเป็นคัวเครื่องเปลือยๆ แล้วติดตั้งอยู่ในฝ้า สิ่งที่จะเห็นมีแค่ตะแกรงลมนั้น ข้อเสียของระบบนี้คือการบำรุงรักษาจะยุ่งยากมากว่าแบบอื่นๆครับ
ขนาดที่เหมาะสมของ BTU ต่อพื้นที่ห้อง
เรื่องขนาดของ BTU เป็นเรื่องสำคัญของการใช้งานในระยะยาวครับ เพราะถ้าเราเลือก BTU ที่ไม่เหมาะสมจะทำให้เปลืองค่าไฟเพิ่มขึ้น ถ้าหาก BTU สูงเกินความจำเป็น คอมเพรสเซอร์จะตัดบ่อย และสิ้นเปลืองงบประมาณ หรือถ้าหาก BTU ต่ำเกินไปคอมเพรสเซอร์ก็จะทำงานหนักตลอดเวลา อายุการใช้งานของแอร์ลดลง ถ้าอยากรู้ว่าพื้นที่ห้องของเราเหมาะสมกับ BTU ขนาดเท่าไหร่ก็ดูได้จากตารางด้านล่างเลยครับ
นอกเหนือจากขนาดห้องยังมีอีกหลายสิ่งที่ควรนำมาพิจารนาเพิ่มเติมควบคู่กันไปด้วย
- ความสูงของฝ้าเพดาน ถ้าห้องเรายิ่งมีฝ้าเพดานสูงมากเท่าไหร่ พื้นที่ๆแอร์ต้องทำงานก็มีมากขึ้น
- ทิศของหน้าต่างที่แดดส่องเข้า ถ้าเป็นทิศตะวันออกหรือตะวันตกที่ต้องรับแดดเต็มๆ ไอร้อนของแดดจะมีผลต่อการทำความเย็นของห้องด้วยครับ
- ขนาดและจำนวนของหน้าต่าง ถ้าเป็นบานใหญ่แบบเต็มความสูงจากพื้นถึงฝ้าเพดานและกินพื้นที่เต็มความกว้างของกำแพง ความร้อนจากภายนอกจะเข้ามาได้เยอะขึ้นเช่นกันครับ
- ปริมาณของคนที่ใช้งานในห้อง เช่นถ้าเป็นพื้นที่ในห้องนั่งเล่นหรือห้องทานอาหาร จะต้องใช้ BTU เยอะกว่าห้องนอน
- ข้าวของเครื่องใช้ที่เกิดความร้อนภายในห้อง เช่น คอนโดที่ได้ครัวแบบเปิด จะมีการใช้งานทั้งหม้อหุงข้าว เตาไฟฟ้า หรือเตาอบ การทำความเย็นของแอร์ก็จะหนักขึ้นครับ
วิธีการคำนวณจะซับซ้อนขึ้นอีกนิดหน่อยตามสูตรด้านล่างครับ
BTU = พื้นที่ห้อง ( กว้าง x ยาว ) x ความแตกต่าง
ค่าความแตกต่างจะใช้ตัวเลขด้านล่างในการคำนวณ
- 700-800 : ห้องที่มีความร้อนน้อย เน้นการใช้งานตอนกลางคืน เช่นห้องนอน
- 800-900 : ห้องที่มีความร้อนกลาง – มาก โดยเป็นห้องรับแดดทางทิศตะวันตก สำหรับห้องรับแขก หรือ ห้องทานอาหาร
- 900-1000 : ห้องที่มีความร้อนสูง เช่นห้องที่โดนแดดทั้งวัน อยู่ชั้นบนสุดของอาคาร มีแหล่งกำเนิดความร้อนภายในห้อง และมีฝ้าเพดานสูงเดิน 3 เมตรขึ้นไป อย่างห้องมุมของคอนโดมี Double Space ผนังเป็นกระจกทั้งหมด