…โรคร้ายและอาการเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ มักเกิดจากเชื้อโรคและไวรัสที่อยู่รอบตัวเรา หลายคนพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่ออกจากบ้าน เพื่อที่จะลดความเสี่ยงไม่ให้ตัวเองต้องออกไปสัมผัส หรือนำพาเชื้ออันตรายต่างๆเหล่านั้นมาสู่คนใกล้ตัว แต่รู้หรือไม่…ว่าภายในบ้านอันแสนสุขของเราเอง ก็มีภัยร้ายที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายของเราได้เช่นกัน
อยู่แต่ในบ้านก็ป่วยได้?
เปล่าครับ…ผมไม่ได้พูดถึงโรคโควิดที่กำลังระบาดอยู่ในช่วงนี้ เพราะอาการที่ว่านั้นมีลักษณะที่ต่างออกไป ไม่เหมือนที่เห็นในข่าว คือ จะมีอาการระคายเคืองตามจมูกและผิวหนัง คลื่นไส้ อาเจียน แต่ไม่มีไข้ แสดงว่าสิ่งที่เป็นอยู่น่าจะมีสาเหตุมาจากอย่างอื่น และอาจเป็นสิ่งที่อยู่ภายในบ้านของเรานี่เอง
ทุกวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ของทุกอย่างที่อยู่รอบๆตัว ไม่ว่าจะเป็นวัสดุตกแต่งบ้าน ข้าวของเครื่องใช้และเฟอร์นิเจอร์หลายอย่าง ไม่ใช่ของจากธรรมชาติที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่บางอย่างก็เป็นวัสดุสังเคราะห์ที่มีสารเคมีเป็นองค์ประกอบรวมอยู่ด้วย ซึ่งผมก็ได้ลองค้นหาข้อมูลจากหลายๆช่องทางก็พบว่า “สารเคมี” คือสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายของเราได้เช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัส การหายใจ การรับประทาน และได้รับเป็นระยะเวลานานหรือในปริมาณที่เป็นอันตรายแล้วเกิดการสะสมในร่างกาย ก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วยจนต้องไปโรงพยาบาลได้ ดังนั้นบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักสารเคมีอันตราย ที่อยู่ในบ้านเหล่านี้กันดีกว่าครับว่าจะมีอะไรบ้าง แล้วจะมีวิธีป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้อย่างไร
ซึ่งผมมองว่าเรื่องนี้สำคัญนะ ยิ่งช่วงนี้หลายๆคนก็คงไม่อยากเจ็บไข้จนต้องไปโรงพยาบาลกันหรอกใช่มั๊ย? แต่ถ้าหากเรารู้ว่าสิ่งใดที่เป็นอันตราย รวมถึงรู้วิธีหลีกเลี่ยงและป้องกัน ก็จะช่วยให้เรามีความปลอดภัยในการใช้ชีวิตมากขึ้นอีกเยอะเลยครับ
แบ่งกลุ่มประเภทสารเคมีด้วยพื้นที่การใช้งานในบ้าน
เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และสอดคล้องกับเรื่องที่อยู่อาศัยตามแบบฉบับของ ThinkofLiving ผมจึงขอแบ่งกลุ่มประเภทของ “สารเคมี” ด้วยพื้นที่ตามการใช้งานในส่วนต่างๆภายในบ้านหรือคอนโด ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4 ฟังก์ชัน คือ
- พื้นและผนังบ้าน
- ห้องนั่งเล่นและห้องนอน
- ห้องครัว
- ห้องน้ำ
1. พื้นและผนังบ้าน
งานประเภท “ทาสี” เป็นพื้นฐานของการตกแต่งบ้านในทุกครัวเรือน แน่นอนว่าในอุตสาหกรรมการผลิตสีทา ย่อมมีการใช้สารเคมีเข้ามาเป็นส่วนประกอบหลัก เพื่อให้ตัวสีเกิดความคงทน รวมถึงสามารถนำไปใช้งานได้ง่ายอีกด้วย
“สี” มีอยู่หลากหลายประเภท และถูกนำไปใช้ประโยชน์ที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นสีทาอาคาร สารเคลือบวัสดุเพื่อความมันเงา ทินเนอร์ และแลกเกอร์ต่างๆ โดยจะมีคุณสมบัติหลักที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ เป็นการเคลือบลงบนวัตถุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผนังปูน ไม้ หรือเหล็ก จากนั้นตัวสีจะแปรเปลี่ยนสถานะจากเดิมที่เคยเป็นของเหลว ก็จะกลายเป็นฟิล์มแข็งห่อหุ้มให้ความสวยงาม และให้สถานะพิเศษต่างๆกับวัตถุเหล่านั้น ซึ่งสารเคมีที่ว่าหลักๆจะประกอบด้วย
ซึ่งในระหว่างที่เราทาสีหรือเพิ่งทาเสร็จใหม่ๆ เรามักจะได้กลิ่นฉุนที่เป็นกลิ่นของสารเคมีที่ลอยออกมาในอากาศ สามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้ง่ายๆ ด้วยการเปิดหน้าต่างระบายอากาศ และใส่หน้ากากเพื่อป้องกันละอองหรือไอของสารพิษไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้
หากแต่สารพิษเหล่านี้ไม่ได้เป็นอันตรายเฉพาะช่วงแรกๆที่ใช้งานเท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ สีที่เสื่อมสภาพจะเกิดการหลุดร่อนอีกครั้ง ซึ่งสิ่งที่ต้องระวังคือ ไม่ควรสัมผัสด้วยการ จับ แกะ ลอก หรือดึงสีที่เสื่อมสภาพเหล่านั้นด้วยมือเปล่า เพราะจะยิ่งทำให้ผงสีนั้นๆฟุ้งกระจายไปในอากาศ รวมถึงอาจติดมือมาและนำไปหยิบจับอาหารเข้าสู่ร่างกายได้
สำหรับบ้านที่มีเด็กยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษครับ โดยเฉพาะ “สารตะกั่ว” ซึ่งเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี ร่างกายจะสามารถดูดซึมสารต่างๆได้ดีกว่าผู้ใหญ่ถึง 5 เท่า ทำให้เข้าสู่กระแสเลือดและสมองได้ง่าย มีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก และปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่สามารถรักษาโรคที่เกิดจากสารตะกั่วได้เลยครับ
ดังนั้นหากพบเจอว่าสีที่ผนังบ้าน หรือตามวัสดุต่างๆ เริ่มมีการเสื่อมสภาพแล้ว ก็ควรจะเรียกช่างมาจัดการทาสีใหม่ให้เรียบร้อย เพื่อความปลอดภัยของคนภายในบ้านครับ
2. ห้องนั่งเล่นและห้องนอน
สำหรับฟังก์ชันนี้ผมจะเน้นไปที่เรื่องเฟอร์นิเจอร์เป็นหลักครับ รู้หรือไม่ว่าจริงๆแล้วเฟอร์นิเจอร์ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ล้วนมีส่วนผสมของสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อเราเกือบทุกชิ้น ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้อัด เฟอร์นิเจอร์พลาสติก และพรมที่วางอยู่บนพื้นก็มี โดยสิ่งของแต่ละอย่างที่กล่าวมาจะมีสารเคมีหลักๆที่เป็นองค์ประกอบดังนี้
โดยสารที่เราทุกคนสามารถพบเจอได้บ่อยที่สุดคือ “สารฟอร์มาลดีไฮด์” ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นองค์ประกอบเฉพาะในเฟอร์นิเจอร์ไม้อัดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเฟอร์นิเจอร์เกือบทุกชิ้นเลยล่ะครับ …ทุกคนจำได้มั๊ยว่าตอนที่เราซื้อเฟอร์นิเจอร์เข้าบ้านมาใหม่ๆ มักจะมีกลิ่นฉุน หรือที่เราชอบพูดกันว่ามันเป็น “กลิ่นของใหม่” ซึ่งสารนี้จะทำหน้าที่ช่วยป้องกันปลวกและแมลง ไม่ให้มากัดกินเฟอร์นิเจอร์ของเรานั่นเอง
ซึ่งนั่นแหละครับคือกลิ่นของ “สารฟอร์มาลดีไฮด์” ที่ยังมีความเข้มข้นสูง และระเหยออกมาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดการระคายเคืองทางจมูกและปวดศีรษะได้ จึงต้องเปิดหน้าต่างระบายอากาศ หรือปลูกต้นไม้ที่ช่วยดูดซับสารพิษเหล่านี้ในอากาศได้จะดีครับ
และถ้าเป็นพรมก็จะมีสาร VOCs ซึ่งเป็นสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย จึงควรนำไปซักและผึ่งแดดสัก 1 – 2 วัน เพื่อให้สารนี้ระเหยออกไปให้หมดก่อนที่จะนำมาใช้งานในบ้าน ส่วนพวกเฟอร์นิเจอร์พลาสติกกับจอทีวี ก็จะมีสาร Flame Retardant Agent หรือสารหน่วงการติดไฟผสมอยู่เช่นกัน และมักจะค่อยๆปล่อยออกมาปริมาณไม่มากนัก (ในทุกๆครั้งที่เราใช้งานหน้าจอทีวีหรือคอมพิวเตอร์จนเกิดความร้อนสะสมถึงจุดหนึ่ง) หรืออาจมาจากการเสื่อมสภาพและรูปแบบของฝุ่นผงจากอุปกรณ์เหล่านั้นครับ
โดยเฟอร์นิเจอร์ที่มีสารเคมีทั้ง 3 ชนิดที่กล่าวมานี้ หากถูกความร้อนหรือเกิดการเผาไหม้ สารเคมีที่อยู่ภายในก็จะลอยออกมาในอากาศ กลายเป็นแก๊สพิษที่ส่งผลเสียต่อร่างกายได้ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการสูดดมสารหรือกลิ่น ที่ออกมาจากเฟอร์นิเจอร์เหล่านั้นเป็นอันขาดครับ เพราะบางชนิดก็เป็นสารก่อมะเร็ง หรือบางชนิดถ้าได้รับในปริมาณมากๆก็อาจถึงแก่ความตายได้เลย
3. ห้องครัว
นอกจากวัตถุดิบและอาหารการกินที่อาจมีสารเคมีปนเปื้อนแล้ว อุปกรณ์เครื่องครัวและบรรจุภัณฑ์ต่างๆที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ก็มักจะมีสารเคมีแอบแฝงอยู่เช่นกันครับ ไม่ว่าจะเป็นหม้อ กระทะ สเปรย์ที่ไว้ใช้ฉีดพ่นป้องกันน้ำและคราบสกปรก หรือแม้แต่บรรจุภัณฑ์พลาสติก อาหารกระป๋อง และขวดนมเด็กก็มีเหมือนกัน ซึ่งมีสารพิษที่เป็นอันตรายดังนี้
ในยุคปัจจุบันหม้อและกระทะส่วนใหญ่จะเคลือบด้วยเทฟลอน ซึ่งจริงๆแล้วถึงแม้จะได้รับเข้าสู่ร่างกาย แต่ก็ไม่ได้เป็นอันตรายต่อมนุษย์มากนัก อาจแค่ทำให้เกิดอาการไข้เท่านั้น และร่างกายก็สามารถขับสารออกมาในรูปแบบของเสียได้ตามปกติ แต่จะเป็นอันตรายอย่างมากต่อสัตว์ปีกที่บังเอิญอยู่ใกล้ๆ และได้สูดดมสารชนิดนี้ที่ระเหยออกมาเข้าไป จนทำให้พวกมันตายได้เลยครับ (ถ้าบ้านใครเลี้ยงนกก็อย่าให้พวกมันอยู่ใกล้ครัวนะ)
แต่สารที่เป็นอันตรายกลับเป็น PFCs ที่แฝงอยู่ในผลิตภัณฑ์บางชนิด มีผลต่อไทรอยด์และภาวะการเจริญพันธุ์ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเทฟลอนหรือสาร PFCs จะสามารถระเหยได้ที่อุณหภูมิ 327 องศา (หรือสังเกตจากควันและกลิ่นไหม้ ที่มาจากกระทะไม่ใช่อาหาร) ดังนั้นเวลาประกอบอาหารก็อย่าใช้ไฟแรงจนเกินไปบ่อยๆ หรือถ้าเริ่มเห็นว่าสารเคลือบเริ่มหลุดร่อนแล้วก็ควรเปลี่ยนใหม่ครับ
เกร็ดน่ารู้ : ปกติแล้วเวลาทำอาหารนั้น หากในกระทะมีวัตถุดิบอื่นอยู่ เช่น น้ำ/น้ำมัน , ผัก หรือเนื้อ ก็จะช่วยดูดซับความร้อนจากกระทะ ทำให้ตัวกระทะเองมีอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 100 – 220 องศา แต่หากเป็นกระทะเปล่าๆเลย จะมีอุณหภูมิที่สูง 300 – 400 องศา ซึ่งเป็นอุณหภูมิจุดหลอมเหลว ที่ทำให้สารพิษระเหยออกมาได้ครับ
ส่วนสเปรย์ประเภทที่ใช้ฉีดพ่นป้องกันน้ำและคราบสกปรกทั้งหลาย จะมีสาร PFCs ผสมอยู่เช่นกัน เพราะมีคุณสมบัติแรงตึงผิวที่ต่ำมาก คราบต่างๆจะไม่เกาะติดและไม่ทำปฏิกิริยาใดๆกับสารตัวนี้ ซึ่งเวลาใช้งานก็ควรใส่หน้ากากป้องกันให้ดี และควรอยู่ในที่โล่งแจ้งหรือพื้นที่อากาศถ่ายเทดีๆครับ
สุดท้ายคือสาร BPA ที่ผสมอยู่ในบรรจุภัณฑ์พลาสติกต่างๆ ขวดนมเด็ก และอาหารกระป๋อง ซึ่งจะส่งผลต่อฮอร์โมน การเผาผลาญ ระบบประสาท มีผลก่อมะเร็ง และภูมิคุ้มกันบกพร่อง วิธีการป้องกันคือ พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมีชนิดนี้ (ซึ่งก็ดูยากอยู่เหมือนกันครับ ถ้าเจ้าของผลิตภัณฑ์ไม่ได้ระบุรายละเอียดมาให้)
อีกอย่างหนึ่งคือ ไม่ควรนำบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ไปใส่ของอุ่นร้อนนะครับ เพราะความร้อนจะทำให้บรรจุภัณฑ์เหล่านั้นปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษออกมานั่นเอง สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการใช้วัสดุชนิดอื่นที่ไม่ใช่พลาสติก เช่น แก้ว กระเบื้องเซรามิก ไม้ หรือวัสดุจากธรรมชาติอื่นๆ เป็นต้น โดยอาจแลกกับราคาของภาชนะที่ค่อนข้างสูงขึ้นมาอีกหน่อยครับ
4. ห้องน้ำ
สำหรับฟังก์ชันนี้สารเคมีส่วนมาก จะอยู่ในรูปแบบของน้ำยาทำความสะอาดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาเช็ดกระจก น้ำยาซักผ้าขาว และก้อนดับกลิ่นหรือลูกเหม็น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วสารเคมีเหล่านี้จะมีฤทธิ์กัดกร่อนค่อนข้างสูง ถึงแม้ว่าเราอาจไม่ได้ใช้เป็นประจำบ่อยๆนัก แต่หากใช้งานไม่ถูกวิธี ก็อาจเป็นอันตรายได้เช่นกันครับ โดยสารเคมีที่ว่าจะประกอบไปด้วย
เช่นเดียวกับการทาสีในข้อแรก เวลาใช้งานผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีประกอบเหล่านี้จะต้องมีการป้องกัน ด้วยการใส่หน้ากากหรือหาผ้ามาปิดจมูก และสวมถุงมือยางให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้น้ำยาหรือสารเคมีสัมผัสกับผิวหนังของเราโดยตรง เพราะจะเกิดการระคายเคืองและผิวหนังไหม้ได้
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสาร NPE , แอมโมเนีย , คลอรีน และโซเดียมคลอไรท์ หากน้ำยาหรือสารเคมีสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง ก็ให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดในปริมาณมากๆครับ แต่หากเกิดอาการแพ้รุนแรงก็ควรจะรีบไปพบแพทย์นะ
หมายเหตุ : ห้าม!! ผสมผลิตภัณฑ์ที่มีแอมโมเนีย เข้ากับผลิตภัณฑ์ที่มีคลอรีนเป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำยาฟอกขาว โดยเด็ดขาด เนื่องจากจะเกิดปฏิกิริยาได้ก๊าซ Chloramine (คลอรามีน) ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากต่อระบบทางเดินหายใจ รวมถึงเกิดสาร Hydrazine (ไฮดราซีน) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย
ส่วนลูกเหม็นมีสาร Paradichlorobenzene และ Naphthalene ซึ่งเรามักใช้ดับกลิ่นในตู้เสื้อผ้าหรือห้องน้ำด้วย สารเหล่านี้จะเกาะติดอยู่ที่เสื้อของเรา ซึ่งผมเจอวิธีการกำจัดสารง่ายๆอย่างหนึ่งมาคือ ให้ซักด้วยน้ำส้มสายชูผสมกับน้ำ อัตราส่วน 1 : 1 ส่วนกลิ่นหรือสารที่ระเหยในอากาศ ให้ผสมน้ำส้มสายชูกับผงกาแฟลงในถ้วย แล้วไปตั้งไว้ในห้องนั้นๆครับ
สุดท้ายคือสารตะกั่วที่จะมาตามท่อน้ำหรือแท็งค์น้ำ โดยเฉพาะบ้านที่ค่อนข้างมีอายุมากหน่อย ให้สังเกตสีและกลิ่นของน้ำที่มาจากก๊อกน้ำดีๆครับ หากมีความผิดปกติก็ควรเรียกให้ช่างเข้ามาปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องใช้อุปโภคและบริโภค ให้กลับมาอยู่ในสภาพดีเหมือนเดิม หรือเราสามารถดูแลรักษาวัสดุและอุปกรณ์ในบ้านง่ายๆด้วยตัวเองก็ได้ครับ
ต้องอ่านฉลากและวิธีการใช้งานให้ดี
ปัจจุบันมีการใช้ผลิตภัณฑ์เคมีอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก ถึงแม้ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์เคมีจะมีมากมาย แต่ก็สามารถทำให้เกิดโทษได้เช่นกัน ดังนั้นองค์การสหประชาชาติจึงได้จัดระบบสากลเพื่อจำแนกความเป็นอันตราย และติดฉลากสารเคมีให้เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก ซึ่งระบบนี้เรียกว่า ระบบ GHS (Globally Harmonized System for Classification and Labelling of Chemicals)
โดยองค์ประกอบของฉลากตามระบบสากล GHS ได้แก่
1. รูปสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย (Hazard pictogram) เป็นสัญลักษณ์สีดำบนพื้นขาวอยู่ภายในกรอบสีแดงรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด มีทั้งหมด 9 รูปสัญลักษณ์ เพื่อสื่อความหมายของความเป็นอันตรายในแต่ละด้าน และแต่ละประเภท
2. คำสัญญาณ (Signal word) มี 2 คำสัญญาณ คือ “อันตราย” และ “ระวัง’’
3. ข้อความแสดงความเป็นอันตราย (Hazard statement) เป็นการอธิบายความเป็นอันตรายของสารเคมี เช่น ละอองลอยไวไฟ เป็นอันตรายเมื่อกลืนกิน ทำให้ผิวหนังไหม้อย่างรุนแรง และทำลายดวงตาเป็นต้น
4. ข้อความ และรูปสัญลักษณ์แสดงข้อควรระวัง (Precautionary statement and pictogram) ประกอบด้วยคำเตือน และข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันอันตราย เก็บรักษา การกำจัด และจัดการเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน เช่น ใช้ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก เก็บให้ห่างจากเด็ก ห้ามนำภาชนะกลับมาใช้อีก หากถูกผิวหนังให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาด เป็นต้น
5. ตัวบ่งชี้ผลิตภัณฑ์ (Product identifier) ชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อสารเคมีที่เป็นสารสำคัญ หรือสารอันตรายในผลิตภัณฑ์ และปริมาณความเข้มข้น
6. การระบุผู้ผลิต หรือผู้จัดจำหน่าย (Supplier identification) ต้องมีชื่อที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่าย หรือหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินบนฉลาก
7. ข้อมูลเพิ่มเติมอื่น ๆ (Supplementary information)
รูปสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย ตามระบบสากล GHS
…จบลงไปแล้วนะครับสำหรับบทความเกี่ยวกับ “สารพิษที่เป็นอันตรายภายในบ้าน” จะเห็นได้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย ทุกอย่างคือสิ่งที่เรามองเห็นและใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาสุขภาพที่หลายคนอาจไม่ทันได้ระวังตัว หรือบางอย่างเป็นอันตรายอาจถึงแก่ชีวิตเลยก็มีครับ
ก็หวังว่าบทความนี้จะช่วยเป็นแนวทางให้หลีกเลี่ยง หรือใช้สารเคมีต่างๆเหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง และหวังว่าทุกคนจะมีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยหรือได้รับอันตรายจากสารพิษในบ้านเหล่านี้นะครับ และคราวหน้า ThinkofLiving จะมีบทความอะไรดีๆมาฝากกันอีก อย่าลืมติดตามกันด้วยนะ..
ติดตามพวกเราได้ที่
Website : www.thinkofliving.com
Twitter : www.twitter.com/thinkofliving
YouTube : www.youtube.com/ThinkofLiving
Instagram : www.instagram.com/thinkofliving
Facebook : ThinkofLiving