พื้นที่ดาดแข็ง (3)

นวัตกรรมเพื่อบ้านแห่งความสุข by MAGNOLIA ตอนที่ 3
มาสร้าง “สภาวะน่าสบาย” ผ่านการลดและปรับ “พื้นที่ดาดแข็ง” กันเถอะ (1)

ทางฝ่ายวิจัยและพัฒนาของแมกโนเลียกลับมาแบ่งปันความรู้กันอีกครั้งนะคะ ตั้งชื่อเรื่องมาแบบนี้ หลายคนอาจไม่คุ้นนักกับคำว่า “พื้นที่ดาดแข็ง” แต่ถ้าบอกว่าคือ พื้นที่บริเวณรอบๆ บ้านที่มีลักษณะแข็ง ซึ่งเรามักออกแบบให้เป็นทั้งที่จอดรถ ทางเดินเท้า หรือลานที่ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นอีกหน่อยว่าคือ พื้นลาดยาง พื้นอิฐ พื้นคอนกรีต พื้นหิน หรือพื้นไม้ คนทุกคนย่อมรู้จักกันเป็นอย่างดี

แล้วอะไรคือปัญหา ? หากบ้านสักหลังมีบริเวณโดยรอบเต็มไปด้วย — พื้นที่ดาดแข็ง

หากมี “พื้นที่ดาดแข็ง” อยู่ในบริเวณรอบๆ บ้านเป็นปริมาณมาก คุณสมบัติของวัสดุนั้นๆ จะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิโดยรอบเพิ่มสูงขึ้น แสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องจ้าเข้ามาก็จะแยงตาโดยตรง และเสียงสะท้อนจากกิจกรรมต่างๆ ก็จะตรงสู่อาคารมากเป็นพิเศษ

นึกภาพ “บ้าน” ที่ไม่มีต้นไม้ใหญ่ๆ สักต้นให้ร่มเงา ซอกมุมซ้ายขวาก็ไม่มีกระถางต้นไม้น้อย-ใหญ่ตั้งอยู่ และเจ้าของบ้านก็เลือกที่จะเปลี่ยนบริเวณรอบๆ โดยส่วนใหญ่เป็น “พื้นที่ดาดแข็ง” แบบต่างๆ เพื่อการใช้สอยที่สะดวกยิ่งขึ้น   หากเป็นเวลากลางคืน แสงอาทิตย์ที่หมดไปและความเงียบสงบที่มาเยือน ก็คงไม่สร้างปัญหาอะไรมากนัก หากแต่ในเวลากลางวัน ผู้อยู่อาศัยย่อมรู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัวไปกับบรรยากาศโดยรอบของบ้าน

“พื้นที่ดาดแข็ง” ที่สร้างผลกระทบต่อ “สภาวะน่าสบายด้านความร้อน” เกิดขึ้นจากการที่วัสดุมี “ค่าสะท้อนความร้อน” ในระดับต่ำ – ปานกลาง “ค่าดูดกลืนความร้อน” และ “ค่าแผ่ความร้อน” ในระดับสูง จนพื้นที่นั้นกลายเป็นแหล่งสะสมความร้อน  และเมื่อเปรียบเทียบกับบริเวณโดยรอบที่เป็น “พื้นสีเขียว” จะพบว่ามีอุณหภูมิสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยตัวเลขการเปรียบเทียบ “อุณหภูมิพื้นผิว” ของพื้นคอนกรีต บล็อคคอนกรีตปูหญ้า บล็อคพลาสติกปูหญ้า และสนามหญ้า จะมากถึง 42, 36, 30 และ 27 องศาเซลเซียสตามลำดับ

พื้นที่ดาดแข็ง (4)

รูปที่ 1 แสดงอุณหภูมิพื้นผิวของวัสดุพื้นผิวดาดแข็งกับพื้นที่ถูกปกคลุมด้วยวัสดุพืชพรรณ ช่วงเวลา 14:00 น. 

ด้านผลกระทบต่อ “สภาวะน่าสบายทางการมองเห็น” เกิดขึ้นจากการที่วัสดุมีค่าการสะท้อนแสงสูง ส่งผลให้แสงจ้าและแยงตามากเมื่อเทียบกับ “พื้นที่สีเขียว” ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบระหว่างพื้นคอนกรีต กับบล็อคคอนกรีตปูหญ้า บล็อคพลาสติกปูหญ้า และสนามหญ้า จะสามารถลดการสะท้อนแสงได้ร้อยละ 31 , 62 และ 77 ตามลำดับ

ขณะที่ผลกระทบต่อ “สภาวะน่าสบายทางเสียง” จะเกิดขึ้นจากวัสดุมีค่าการดูดซับเสียงต่ำ เพราะพื้นที่ดาดแข็งโดยส่วนมากจะมีลักษณะทึบตัน ทางแก้จึงต้องใช้การออกแบบทางเดินเท้าในรูปแบบโค้งอิสระ เพื่อช่วยเพิ่มจำนวนการตกกระทบและสะท้อนเสียงก่อนเข้าสู่อาคาร หรือแก้โดยแทรกพืชพรรณต่างๆ ไปยังทางเดินเท้า เพื่อช่วยในการดูดซับเสียง และลดความต่อเนื่องของเสียงสะท้อนก่อนเข้าสู่อาคาร

เมื่อพื้นที่ดาดแข็งเป็นสาเหตุที่สร้างความรู้สึกไม่สบาย การที่เจ้าของบ้านลุกขึ้นมาลดปริมาณ “พื้นที่ดาดแข็ง” ให้เหลือน้อยที่สุด หรือถ้ายังจำเป็นต้องใช้สอยพื้นที่จริงๆ ก็ควรหันมาปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสม แล้วแทนที่ด้วย “พื้นที่สีเขียว” จะจากการปลูกต้นไม้ใหญ่ สนามหญ้า บล็อคปูหญ้า หรือการเติมต้นไม้เป็นกระถางไปเพียงเล็กน้อย ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความรู้สึกสบายให้กับบริเวณโดยรอบและภายในบ้านได้

พื้นที่ดาดแข็ง (3)

รูปที่ 2 แสดงตัวอย่างวัสดุที่มีปริมาตรดาดแข็งน้อย

พื้นที่ดาดแข็ง (2)

รูปที่ 3 แสดงตัวอย่างวัสดุที่มีปริมาตรดาดแข็งน้อย

พื้นที่ดาดแข็ง (1)

รูปที่ 4 แสดงตัวอย่างการออกแบบภูมิทัศน์ดาดแข็ง

หลังจากทำความเข้าใจแล้วว่า “พื้นที่ดาดแข็ง” คืออะไร และมีผลต่อ “สภาวะน่าสบาย” ของผู้อยู่อาศัยอย่างไรบ้าง ตอนต่อไปเราจะมาแนะนำแนวทางการลดและปรับพื้นที่รอบๆ ให้เหมาะสมกัน

แบ่งปันข้อมูล : ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด