บ้านประหยัดพลังงาน – ตอนที่ 3 ของคอลัมน์ “รอบรู้เรื่องบ้านๆ”

“บ้าน” หรือที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ในอดีตที่ผ่านมาการออกแบบและก่อสร้างบ้านส่วนใหญ่ จะคำนึงถึงการสนองความต้องการของเจ้าของบ้านหรือผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก องค์ประกอบอื่นๆยังไม่ถูกนำเข้ามาร่วมพิจารณามากนัก แต่เมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้นความต้องการที่อยู่อาศัยก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ทำให้ทรัพยากรของโลกถูกนำมาใช้มากขึ้น และทำให้ความต้องการในการใช้พลังงานก็เพิ่มมากขึ้นด้วย แนวคิดในการออกแบบและก่อสร้างบ้านในปัจจุบัน จึงตระหนักและให้ความสำคัญถึงเรื่องการประหยัดพลังงาน “บ้านประหยัดพลังงาน” จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันมากขึ้น

ประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศมีมูลค่านับแสนล้านบาทต่อปี เพราะกิจกรรมในการดำเนินชีวิตของบุคคลและกิจกรรมการพัฒนาประเทศ ล้วนต้องพึ่งพาการใช้พลังงานทั้งสิ้น การขยายตัวของที่อยู่อาศัยที่เพิ่มสูงขึ้น ก็ยิ่งทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย บ้านประหยัดพลังงานจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่สำคัญ เพื่อจะช่วยลดการใช้พลังงานทั้งในระดับครอบครัวและระดับสังคมโดยรวม

บ้านประหยัดพลังงานเป็นลักษณะของบ้าน ที่ถูกออกแบบมาให้มีความร้อนสะสมในบ้านน้อยที่สุด เพื่อลดปริมาณการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องปรับอากาศและพัดลมให้น้อยลง การออกแบบบ้านจึงต้องสามารถป้องกันแสงอาทิตย์โดยตรง เพราะความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่เข้าสู่ตัวบ้านทำให้อุณหภูมิในบ้านสูงขึ้น ส่งผลให้ต้องเพิ่มการใช้พลังงานไฟฟ้า เพื่อให้เครื่องปรับอากาศปรับอุณหภูมิให้ลดลง

โดยทั่วไปการออกแบบบ้านประหยัดพลังงานจะเน้นวิถีทางธรรมชาติ (Passive Cooling) เป็นหลัก แต่ต้องผสมผสานการออกแบบ ที่เตรียมการสำหรับการทำให้เกิดความเย็น ด้วยวิธีกลไกและการพึ่งพาเทคโนโลยี (Active Cooling) การประหยัดพลังงานโดยวิถีธรรมชาติหรือ Passive Cooling นั้นเป็นการออกแบบและก่อสร้างบ้านให้เกิดความเย็นโดยการพึ่งพาธรรมชาติ ด้วยการเปิดหน้าต่างเป็นส่วนใหญ่ คำนึงถึงการได้รับประโยชน์จากการระบายอากาศตามธรรมชาติ มีการป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวอาคารโดยการปลูกต้นไม้บังแดด การสร้างชายคากันแดด และการระบายความร้อนออกจากหลังคาด้วยการใช้ช่องเปิดที่เหมาะสม รวมทั้งการเปิดรับแสงแดดจากธรรมชาติ เพื่อช่วยประหยัดไฟฟ้าในเวลากลางวัน ส่วนการออกแบบบ้านเพื่อให้เกิดความเย็นโดยการพึ่งพาเทคโนโลยีหรือ Active Cooling นั้น เป็นการติดตั้งระบบปรับอากาศให้กับตัวบ้าน โดยเน้นการเปิดเครื่องปรับอากาศมากกว่าการเปิดหน้าต่าง การจะเลือกใช้แบบบ้านที่เน้น Active Cooling หรือ Passive Cooling นั้นจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมเป็นสำคัญ

นอกจากนั้นการเลือกใช้วัสดุในการก่อสร้างเช่น การใช้หลังคากระเบื้องคอนกรีตเคลือบมันจะสะท้อนความร้อนออกไปได้ดีกว่ากระเบื้องลอนคู่หรือลอนลูกฟูกใยซีเมนต์ การมุงฟอยล์ใต้หลังคากระเบื้องจะช่วยสะท้อนความร้อนออกไป การใช้ฝ้าเพดานที่เก็บความร้อนไว้กับตัวแผ่นฝ้าเองเช่นยิปซั่ม ไมโครไฟเบอร์เคลือบผิว รวมถึงการใช้อิฐคอนกรีตมวลเบาในผนังด้านนอก ที่รับแสงอาทิตย์ในยามบ่ายก็จะช่วยป้องกันความร้อนได้มาก หากเป็นอาคารที่ต้องใช้ผนังเป็นกระจกก็ควรใช้กระจกสะท้อนแสง (Heat Mirror) ซึ่งสามารถสะท้อนแสงอาทิตย์ได้ประมาณร้อยละ 60 สำหรับการติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเช่น เครื่องปรับอากาศ ควรติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิ (Thermostat) ภายในห้องปรับอากาศให้เหมาะสมคือ ไม่ควรให้โดนแสงอาทิตย์โดยตรงเพราะจะทำให้ thermostat อ่านค่าผิดพลาด ควรติดตั้งในบริเวณที่สามารถอ่านค่าอุณหภูมิได้ง่าย และสะดวกต่อการปรับอุณหภูมิตามต้องการ ควรติดตั้งเครื่องซักผ้า อบผ้าในบริเวณที่ไม่ปรับอากาศและเปิดโล่ง และถ้าเป็นไปได้ควรทำห้องครัวให้อยู่นอกตัวบ้าน เพราะห้องครัวมักประกอบด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิด เช่น เตาอบ เตาหุงต้ม ตู้เย็น ซึ่งเป็นแหล่งปล่อยความร้อนที่สำคัญ อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดต้องเลือกใช้ที่มีประสิทธิภาพสูง เพราะจะช่วยลดความร้อนที่ปล่อยออกมาในเวลาใช้งาน

ความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการทำให้มนุษย์สามารถคิดค้นเทคโนโลยีที่สนองตอบความต้องการได้มากขึ้น ในปัจจุบันได้มีความพยายามพัฒนารูปแบบของบ้านประหยัดพลังงานเช่น บ้านheimที่เป็นบ้านแห่งนวัตกรรม โดยใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างที่ทันสมัย ส่วนประกอบของบ้าน เช่นพื้น ผนัง เพดาน ผลิตมาจากโรงงาน เทคโนโลยีที่ว่ารี้เริ่มต้นในประเทศเยอรมันแต่ญี่ปุ่นนำมาพัฒนาจนแพร่หลาย อาจจะเป็นไปได้ว่าคุณสมบัติพิเศษอีกอย่างหนึ่งของบ้านชนิดนี้คือต้านแรงแผ่นดินไหวได้ถึง ๗ ริคเตอร์จึงได้รับความนิยมในญี่ปุ่นเพราะเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวสูง นอกจากนั้นภายในบ้านยังมีระบบการถ่ายเทอากาศทำให้อากาศในบ้านสะอาดและอุณหภูมิต่ำ ช่วยลดการใช้เครื่องปรับอากาศจึงเป็นลักษณะหนึ่งของบ้านประหยัดพลังงานด้วย แต่เท่าที่ทราบมาว่าราคาค่าก่อสร้างสูงกว่าการก่อสร้างในลักษณะที่เราใช้กันอยู่ค่อนข้างมาก ก็อาจจะเป็นทางเลือกสำหรับบางคนที่ถูกอกถูกใจกับความใหม่ของเทคโนโลยีก็ได้

ไม่ว่าจะเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างไร “บ้าน” ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ การออกแบบและก่อสร้างบ้านประหยัดพลังงาน ถึงแม้จะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบทางด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สถาปนิกผู้ออกแบบที่ดีก็จะยังคงเน้นสนองความต้องการของมนุษย์เป็นหลักโดยไม่ทำให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ด้อยลง และยังจะช่วยให้มนุษย์มีชีวิตอยู่อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลมากขึ้น

นายสิทธิพร สุวรรณสุต