บ้านขนาดไหนจะอยู่สบาย (6)

อยู่สบายในแนวราบตอน – บ้านประหยัดพลังงาน ต้นทุนต่ำ (ย้อนไปอ่านตอนเก่าๆได้ที่นี่นะคะ)

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านที่รัก ช่วงวันหยุดที่ผ่านมาคุณนายนั่งคิด นอนคิด เพราะว่าตอนต่อไปไม่รู้จะเขียนอะไรดี   ก็เกิดปิ๊งไอเดียขึ้นมาตอนที่เพื่อนด๊อกเตอร์สาวแชร์งานวิจัยของคณะสถาปัตย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงบนเฟสบุ๊กของเธอ มันเป็นงานวิจัยเรื่อง “บ้านประหยัดพลังงานต้นทุนต่ำ”     ฮั่นแน่…..คุณผู้อ่านฟังชื่อแล้วก็คงหูผึ่งสนใจเช่นเดียวกันกับคุณนายแล้วสินะคะ ซึ่งงานวิจัยอันเนี้ย ทางทีมวิจัยเขาทำให้กับการเคหะแห่งชาติ แล้วการเคหะก็นำไปสร้างเป็นบ้านต้นแบบขึ้นมาจริงๆเลย   คุณนายคิดได้ดังนั้น  ก็ติดต่อขอเข้าไปคุยและดูบ้านต้นแบบที่การเคหะค่ะ  ตามคุณนายมาชมกันนะคะว่า บ้านประหยัดพลังงานต้นทุนต่ำ มันมีแนวความคิดและหน้าตาเป็นยังไง J

1

ก่อนอื่นคุณนายก็ต้องขอเท้าความที่มาที่ไปของโครงการก่อนนะคะ   หลังจากที่คุณนายไปคุยกับคุณหมู (คุณชนากานต์ สุ่มมาตย์) สถาปนิก 3 ผู้ดูแลบ้านหลังนี้ที่การเคหะ ซึ่งคุณหมูได้อำนวยความสะดวกและให้ข้อมูลเป็นอย่างดี ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ J คุณนายได้ใช้เวลานั่งพลิกดูเล่มวิจัย ที่หนาประมาณสมุดโทรศัพท์สามเล่ม

2

มีรูปประกอบโชว์ให้ดู  เพื่อว่าคุณผู้อ่านจะได้เห็นว่าคุณนายขยันจริงอะไรจริง  ^^   แล้วคุณผู้อ่านก็จะได้รู้สึกว่าเงินภาษีที่เราเสียไป เขามีการเอาไปใช้ทำ R&D กันจริงๆนะคะ ไม่ได้โม้   ซึ่งคุณนายอยากสนับสนุนให้ประเทศเราลงทุนกับงานวิจัยและพัฒนากันเยอะๆ

จากที่คุยและอ่านมาก็สรุปได้ว่า โจทย์มันมีอยู่ว่า การเคหะต้องการบ้านที่ประหยัดพลังงาน  เหมาะกับการอยู่อาศัยในภาวะโลกร้อน โดยที่ราคาค่าก่อสร้างต่อตารางเมตรต้องไม่แพงไปกว่าการก่อสร้างบ้านแบบปกติ และต้นทุนค่าก่อสร้างและค่าที่ดินรวมจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศมีกำลังซื้อ  ซึ่งจากการศึกษาประชากรในกรุงเทพและปริมณฑลส่วนใหญ่มีกำลังซื้อบ้านที่ราคา 2.44 ล้านบาท ในขณะที่ประชากรจังหวัดอื่น มีกำลังซื้อที่ 1.22  ล้านบาท     ทีนี้ งานออกแบบก็เริ่มจากโจทย์ตรงนั้นล่ะค่ะ

การทำให้บ้าน“ไม่ร้อน”ทำได้อย่างไร ถ้าจะอธิบายกันตามหลักวิชาการที่มีอยู่ในเล่มวิจัย ใส่สูตรคำนวนสมการกันให้อลังการก็เกรงว่าคุณผู้อ่านจะปิดหน้าจอหนีคุณนายไปซะก่อน ขนาดเนิร์ดอย่างคุณนายนั่งดูสมการ ตารางสารพัด แล้วยังอึ้งไป เอาเป็นว่า คุณนายขอสรุปให้ฟังแบบบ้านๆเลยแล้วกันว่า ทางผู้วิจัยใช้กลยุทธ์หลักๆเพื่อให้บ้านไม่ร้อนดังต่อไปนี้ค่ะ คือ

1. ใช้รูปทรงอาคารที่มีการยกใต้ถุนสูงให้ลมพัดผ่านและเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม

3

ตามรูปใต้ถุนหน้าบ้านด้านซ้ายมือจะเป็นที่จอดรถค่ะ ส่วนด้านขวามือจะเป็นบ่อน้ำเพื่อใช้หลักการการระเหยของน้ำให้ความเย็นแก่ตัวบ้านซึ่งเป็นหลักการที่คุณนายจะพูดถึงต่อไปนะคะ ห้องที่เห็นอยู่ชั้นล่างนั้นเป็นส่วนปิดล้อมของบันไดที่จะใช้ขึ้นชั้นสองค่ะ คือฟังค์ชั่นการใช้งานหลักของบ้าน จะไม่มีอยู่ที่ชั้นล่างเลย

4

รูปซ้ายเป็นทางขึ้นบ้านที่ชั้นล่าง รูปขวาจะเป็นโถงบันไดที่ชั้นสองค่ะ

2. ห้องที่ใช้งานทุกห้องให้มีช่องเปิดระบายอากาศอย่างน้อย 2 ด้านเพื่อให้ลมพัดผ่าน

5

แปลนที่ได้มามันกลับด้านซ้ายขวากับบ้านของจริงนะคะ เวลาดูต้องนึกแบบ mirror เอา ต้องขออภัยในความไม่สะดวกค่ะ

6

นี่คือภายในห้องนอนค่ะ จะเห็นว่ามีช่องเปิดสองทิศ ส่วนเครื่องที่ตั้งอยู่กลางห้องคือเครื่องวัดอุณหภูมิของผนังและลูกกลมๆคือวัดการแผ่รังสีค่ะ สงสัยตอนคุณนายเปิดเข้าไปคงทำให้อุณหภูมิห้องเปลี่ยน อิอิ

3. การวางตำแหน่งพื้นที่ใช้งาน จะวางส่วนของห้องน้ำ ครัว และพื้นที่ซักล้าง ในทิศใต้หรือทิศตะวันตก เพื่อกันความร้อนจากแสงแดดเข้าสู่พื้นที่ใช้สอยหลัก

7

ด้านนี้จะเป็นด้านทิศใต้ค่ะ ซึ่งจะมีการวางส่วนของครัวและห้องน้ำบังความร้อนไว้ อยู่ทางด้านซ้ายมือของภาพ ด้านขวามือจะเป็นห้องนอนซึ่งช่องเปิดของห้องนอนด้านทิศใต้นี้จะมีแผงกันแดดบังแดดไว้

4. เรื่องเปลือกอาคาร

a. พื้นที่ส่วนมี่ใช้งานเวลากลางวันเช่นห้องนั่งเล่น จะเลือกใช้ผนังอาคารที่มีมวลสารมาก โดยบ้านต้นแบบใช้ผนังก่ออิฐหนาถึง 30 ซม. เพื่อให้หน่วงความร้อนไว้เวลาเราใช้งานตอนกลางวันความร้อนจะยังเข้ามาไม่ถึง พอถึงกลางคืนมันจะอมความร้อนจนได้ที่แล้วค่อยคลายออกมาก็ไม่เป็นไร เพราะเราหนีเข้าห้องนอนแล้วนี่…จริงไหมจ๊ะ

b. สำหรับพื้นที่ที่ต้องใช้งานเวลากลางคืนเช่น ห้องนอน  จะใช้ผนังอาคารที่มีมวลสารน้อย บ้านต้นแบบใช้ซีเมนต์บอร์ดปะสองด้านบนโครงเคร่าอลูมีเนียม คล้ายๆผนังเบาที่เวลาเคาะแล้วจะมีเสียงดังก๊องๆแบบนั้นแหละค่ะ ผนังประเภทนี้จะไม่สะสมความร้อนเพราะมวลมันน้อยแถมมีช่องว่างอากาศตรงกลาง พอถึงเวลากลางคืนที่จะใช้งานห้อง  ความร้อนก็กระจายหายไปหมดแล้ว

c. การกันความร้อนที่มาจากทางหลังคา ในบ้านต้นแบบมีการทำหลังคาสองชั้น ชั้นแรกเป็นการเทคอนกรีตธรรมดา แล้วเว้นช่องว่างเอาไว้คล้ายเป็นดาดฟ้าให้พอขึ้นไปเดินได้ แล้วชั้นที่สองก็เป็นหลังคากระเบื้องลอนรูปร่างแบบหมาแหงนโป๊ะลงไปอีกที มันก็จะมีช่องให้ลดพัดผ่านเอาความร้อนพัดออกไปได้

8

5. ใช้หลักการระเหยของน้ำ (Evaporative Cooling) เพื่อลดความร้อนของบ้าน ในบ้านต้นแบบมีการสูบน้ำขึ้นไปเพื่อปล่อยลงมาจากรางระบายน้ำบริเวณหลังคา ปล่อยน้ำลงมาตามสายโซ่ แล้วให้ตกลงในบ่อน้ำด้านล่าง ซึ่งการระเหยของน้ำจะช่วยลดอุณหภูมิของบ้านลง

9

จากรางระบายน้ำ ปล่อยน้ำมาตามสายโซ่ที่เห็นในภาพนั่นแหละค่ะ แล้วก็ตกลงสู่บ่อด้านล่าง ทีนี้เวลาลมพัดผ่านสายโซ่ที่มีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ตามภาพเข้ามาในตัวบ้าน ก็จะนำอากาศที่มีความเย็นของน้ำนั้นเข้ามาด้วย

จากการเดินเข้าชมบ้านก็จะเห็นว่าตัวบ้านต้นแบบนั้นเมื่อมีข้อจำกัดด้านราคา การเลือกใช้วัสดุจึงเลือกใช้วัสดุที่มีอยู่ทั่วๆไปในท้องตลาด เช่นประตูหน้าต่างอลูมีเนียมบานเกล็ดสีธรรมชาติ กระเบื้องขนาด 20*20 ซม. วงกบประตูไม้เนื้อแข็ง ข้อจำกัดอีกอย่างของบ้านต้นแบบคือพื้นที่ใช้สอย ถ้าใครคาดหวังว่าจะได้พื้นที่ใช้สอยแบบจัดเต็มคงไม่ใช่ เพราะขนาด พื้นที่ใช้สอยรวม ซึ่งรวมพื้นที่จอดรถ ทางเดิน บันได ทั้งหมด คือ 120 ตารางเมตร ห้องใช้งานจึงจัดได้เพียง สองห้องนอน หนึ่งห้องน้ำ หนึ่งห้องนั่งเล่น จึงเพียงพอเฉพาะสำหรับครอบครัวขนาดเล็กๆ  โดยงบประมาณก่อสร้างรวมของบ้านหลังนี้อยู่ที่ 1.4 ล้านบาทค่ะ ทั้งนี้ทั้งนั้นเราสามารถนำเทคนิคการกันความร้อนของบ้านต้นแบบไปประยุกต์ใช้กับบ้านของเราได้ตามงบประมาณ  มีมากก็วางพื้นที่ไปได้เลยเต็มๆ  อ่อ….แบบบ้านประหยัดพลังงานต้นทุนต่ำนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถขอแบบได้นะคะ ตอนนี้มีขอไปแล้วร้อยกว่ารายค่ะ อยากชมภาพรายละเอียดเพิ่มเติมเข้าไปดูได้ที่นี่ค่ะ

สำหรับการเอามาประยุกต์ใช้เอง คุณนายว่าเรื่องการหน่วงความร้อนของเปลือกอาคาร การพัดผ่านของลม เป็นเรื่องที่น่าสนใจและนำมาประยุกต์ใช้ได้ง่ายที่สุด  ส่วนเรื่องการระเหยของน้ำคุณนายว่ามันค่อนข้างทำตามได้ยากและมีภาระสิ้นเปลือง เพราะเป็นการเปิดน้ำประปา และต้องใช้ปั๊มน้ำเพื่อให้มันวนกลับขึ้นไป แต่ถ้ามีงบประมาณก็จัดไปนะคะ เพราะวิธีนี้คุณนายว่านอกจากจะลดความร้อนของบ้านแล้วถ้ามีการออกแบบ ให้น้ำไหลลงมาสวยๆ จะทำให้บ้านดูเก๋ไก๋มากค่ะ

คุณผู้อ่านอยากดูตัวอย่างที่เอาทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ในงานบ้านที่สร้างขายในท้องตลาดไหมคะ…………….โอเคค่ะ ในเมื่อมีคนเรียกร้อง อยากดูกันอื้ออึงขนาดนั้น  ; P  คุณนายจะพาไปดูบ้านประหยัดพลังงานของโครงการนึงนะคะ  ถูกค่ะ ถูกต้องแล้ว โครงการ บ้านริมสวน รามอินทรา นะคะ ข้อแรกเลยหลักการที่ใช้ในการออกแบบบ้านคือ

  1. การพัดผ่านของลม นอกจากห้องทุกห้องจะมีหน้าต่างอย่างน้อยสองด้านแล้ว ใจกลางบ้านและโถงบันไดทะลุไปยังระเบียงชั้นสองยังทำให้บ้านทั้งหลังมีลมผัดผ่านแบบ Cross Ventilation เพื่อให้พัดพาเอาอากาศร้อนออกไป เมื่อเวลาเปิดหน้าต่าง

10

11

อันนี้เป็นส่วนของระเบียงช่องลมของชั้นสองที่อยู่กลางบ้านค่ะ ซึ่งจะตรงข้ามกับส่วนของโถงบันไดที่มีช่องเปิดและช่องแสง ตามรูปซ้ายด้านล่าง ส่วนชั้นล่างของระเบียงก็จะเป็นมุมอ่านหนังสือตามรูปซ้ายล่างพอดีค่ะ เมื่อเปิดหน้าต่างลมก็จะเข้าทะลุกลางบ้านผ่านโถงบันได ออกระเบียงได้เรย ^^

12

2. ระบบเปลือกอาคาร

a. มีการก่อผนังอาคารโดยใช้วัสดุก่อผนังที่เรียกว่า Ecoblok (www.ekoblok.co.th) ซึ่งเป็นวัสดุที่ มีค่าสัมประสิทธิการนำความร้อนน้อยกว่าผนังก่ออิฐมอญประมาณ 10 เท่า และยังนำความร้อนน้อยกว่าคอนกรีตมวลเบาด้วย มีผลทำให้ความร้อนผ่านผนังเข้าสู่ภายในอาคารน้อยกว่า จึงทำให้ประหยัดพลังงานไฟฟ้าในการปรับอากาศภายในอาคาร

b. ในด้านการกันความร้อนจากหลังคา จะใช้วัสดุมุงหลังคาที่มีประสิทธิภาพสะท้อนความร้อนได้สูง และมีพื้นที่ว่างใต้หลังคามาก ทำให้มีมวลอากาศเป็นตัวกันความร้อนจากการแผ่ความร้อนจากหลังคาลงมาภายในบ้าน

13

3. การมีชายคายื่นยาว เพื่อกันแสงแดดตกกระทบผนังอาคารหรือช่องหน้าต่างโดยตรง  พร้อมทั้งมีฝ้าระแนงและเพดานที่สูงโปร่ง เอื้อต่อการถ่ายเทอากาศและระบายความร้อน

14

โอเคพอหอมปากหอคอนะคะ เดี๋ยวจะเป็นการโฆษณาขายของกันมากเกินไปนะ…….แต่ว่าถ้าโทรมาจองบ้านตอนนี้!!!! เรามีแถม…… อะ ไม่ช่ายยยย  ถ้าอยากอ่านรีวิวบ้านเพิ่มเติม คูได้ที่นี่ค่ะ

 

หวังว่าคุณผู้อ่านที่กำลังจะสร้างบ้านเองหรือเลือกซื้อบ้านคงพอใช้เป็นแนวทางในการออกแบบต่อเติมบ้านเพื่อให้ประหยัดพลังงานและอยู่สบาย ไม่ร้อนนะคะ ^^

XOXO

คุณนายสวนหลวง