ต้นไม้ตายยาก ปลูกในบ้านยังไงก็รอด

การปลูกต้นไม้ในอาคารที่พักอาศัย เริ่มเป็นที่นิยมและแพร่หลายกันมากขึ้นในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มชีวิตชีวาให้กับพื้นที่ภายในบ้าน สร้างความรู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติชวนผ่อนคลาย นอกจากจะทำให้บรรยากาศภายในบ้านให้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยปล่อยออกซิเจน อีกทั้งบางชนิดยังมีความสามารถในการฟอกอากาศ และดูดซับสารพิษภายในบ้านออกไปด้วย แต่เมื่อซื้อต้นไม้ที่ถูกใจกลับมาปลูกตกแต่งพื้นที่ภายในบ้านได้สักระยะหนึ่ง ก็ต้องพบปัญหาว่าต้นไม้ที่เราปลูกใบเริ่มแห้ง หลุด ร่วง ไม่สวยงามเหมือนตอนที่ซื้อมาจากร้าน และอาจตายลงไปในที่สุด

ต้องบอกกันก่อนนะคะ ว่าโดยปกติแล้วต้นไม้ที่นิยมปลูกกันในบ้านจะเป็นพืชพันธุ์ที่ชอบแสงรำไร สามารถเติบโตในอาคารได้ดี แต่ปัจจัยที่จะทำให้ต้นไม้ในบ้านรอดได้นั้น มีองค์ประกอบด้วยกันหลายอย่างทั้งสภาพแสง อุณหภูมิ ความชื้น การรดน้ำดูและเอาใจใส่ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามธรรมชาติเฉพาะตัวของพืชพันธุ์นั้นๆ บางชนิดอาจต้องดูแลเอาใจใส่มากหน่อย บางชนิดก็อึด ทน ถึก สามารถปรับตัวอยู่รอด ร่วมกับเราภายในบ้านได้ โดยไม่ต้องดูแลเอาใจใส่มาก

วันนี้เราจึงได้นำ 24 ต้นไม้ยอดฮิตที่นิยมปลูกในบ้าน มาจัดแบ่งระดับ ต้นไหนตายยาก ต้นไหนตายง่าย พร้อมเคล็ดลับดีๆ ที่จะทําให้ต้นไม้ในบ้านของคุณสวยอยู่เสมอมาฝากกันด้วยค่ะ


LEVEL : EASY

สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเข้าวงการ ลองมาปลูกต้นไม้ที่เลี้ยงง่ายกันก่อนนะคะ แล้วค่อยไล่ระดับไปสู่สายพันธุ์ที่เลี้ยงยากต้องดูแลเอาใจใส่มากขึ้น

สำหรับต้นไม้ใน LEVEL EASY นี้จะเป็น ต้นไม้ตายยาก ปลูกในบ้านยังไงก็รอด ปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมต่างๆ ทนร่ม ปลูกเลี้ยงง่าย เหมาะสำหรับมือใหม่เพิ่งเข้าวงการ มีหลายชนิดให้ได้ทดลองปลูกกันก่อนค่ะ

ลิ้นมังกร : Snake Plant

พืชไม้อวบน้ำ จัดเป็นหนึ่งในต้นไม้ตายยาก ที่มีหลากหลายสายพันธุ์ เลี้ยงดูง่าย  ทนแล้งได้ดี
แสงแดด : หากปลูกในบ้านควรตั้งกระถางไว้ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทและมีแสงแดดรำไร
น้ำ : 1 ครั้ง/สัปดาห์ สามารถชีวิตรอดได้ในดินที่แห้งแล้งหนักมาก ๆ โดยไม่ต้องดูแลรดน้ำบ่อย แต่หากพื้นที่ที่ปลูกมีน้ำขัง อาจจะเน่าและตายได้
ความชื้น : เติบโตได้ในทุกสภาพอากาศ แต่ควรมีความชื้นพอสมควร เพราะใบจะสวยและสีสด
วัสดุปลูก : ดินมีความร่วนซุย และดินมีอินทรียวัตถุสูง ระบายน้ำได้ดี
ฟอกอากาศได้ 

ว่านงาช้าง : Sansevieria cylindrica

เป็นพืชตระกูลเดียวกับต้นลิ้นมังกร เลี้ยงดูง่าย
แสงแดด : สามารถเจริญเติบโตอยู่ในพื้นที่ที่มีแสงแดดน้อย-รำไรได้
น้ำ : อย่างน้อย 1 ครั้ง/สัปดาห์ สามารถชีวิตรอดได้ในดินที่แห้งแล้งหนักมาก ๆ โดยไม่ต้องดูแลรดน้ำบ่อย แต่หากพื้นที่ที่ปลูกมีน้ำขัง อาจจะเน่าและตายได้
ความชื้น : ไม่ชอบความชื้นสักเท่าไหร่นัก จึงเป็นต้นไม้ที่เจริญเติบโตในบ้าน หรือห้องแอร์ได้
วัสดุปลูก : ดินมีความร่วนซุย และดินมีอินทรียวัตถุสูง ระบายน้ำได้ดี
ฟอกอากาศได้

พลูด่าง : Golden Pothos

สุดยอดต้นไม้ตายยาก ที่ต้องนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ ต้องยกให้ตระกูลพลูด่าง และผองเพื่อนเลยค่ะ เป็นไม้เลื้อยที่ปรับตัวได้ดี ปลูกได้ทั้งในดินและน้ำ
แสงแดด : แสงร่มรำไร ไปจนถึงแสงปานกลาง
น้ำ : ทุก 2-3 วัน ไม่ต้องการน้ำมาก หากเลี้ยงในน้ำจะต้องเปลี่ยนน้ำสัปดาห์ละครั้ง
ความชื้น : ชอบอากาศที่มีความชื้นสูง แต่ก็สามารถปรับตัวได้ทุกสภาพอากาศ
วัสดุปลูก : ปลูกในดินที่ระบายน้ำได้ดี ไม่แน่นจนเกินไป ควรเป็นดินร่วนผสมกับทรายหยาบ และสามารถเลี้ยงได้ทั้งในน้ำและในดิน หากเลี้ยงในน้ำจะเติบโตได้ช้ากว่า
ฟอกอากาศได้ 

พลูงาช้าง : Epipremnum aureum “Pearls And Jade”

แสงแดด : ชอบร่มรำไร-แดดปานกลาง ไม่ชอบแดดแรง
น้ำ : เป็นไม้เลื้อยที่ไม่ต้องการน้ำมาก รดน้ำ 2-3 วันครั้ง
ความชื้น : เติบโตได้ในทุกสภาพอากาศ แต่เจริญเติบโตได้ดีในที่มีความชื้นสูง
วัสดุปลูก : ดินร่วนซุยที่ระบายน้ำได้ดี และสามารถเลี้ยงได้ในน้ำด้วย แต่หากเลี้ยงในน้ำจะเติบโตได้ช้ากว่า และจะต้องเปลี่ยนน้ำสัปดาห์ละครั้ง

พลูฉลุ : Window-leaf

แสงแดด : อยู่ได้ทั้งที่แสงน้อยและที่แสงเยอะ แต่เจริญเติบโตได้ดีในที่มีแสงแดดรำไร ไม่ชอบแดดแรง
น้ำ : อย่างน้อย 1 ครั้ง/สัปดาห์ เป็นพืชที่ต้องการความชื้นสูง ควรรดน้ำให้ชุ่มอย่างสม่ำเสมอ แต่ระวังอย่าให้แฉะ
ความชื้น : เติบโตได้ในทุกสภาพอากาศ แต่เจริญเติบโตได้ดีในที่มีความชื้นสูง
วัสดุปลูก : ดินร่วนซุยที่ระบายน้ำได้ดี และสามารถเลี้ยงได้ในน้ำด้วย แต่หากเลี้ยงในน้ำจะเติบโตได้ช้ากว่า และจะต้องเปลี่ยนน้ำสัปดาห์ละครั้ง

พญาไร้ใบ : Euphorbia tirucalli

เป็นไม้ประดับที่ดูแลง่าย และมีสรรพคุณเยอะมาก ใช้ได้ตั้งแต่ราก ลำต้น ใบ ไปจนถึงยางจากต้นไม้ แต่ระมัดระวังการสัมผัสยางโดยตรง เพราะอาจระคายเคืองได้
แสงแดด : เป็นไม้กลางแจ้ง ทนแสงแดดได้ดี แต่สามารถนำไปปลูกในบ้านที่มีแสงรำไรได้
น้ำ : ทุก 3-4 วัน ต้องการน้ำน้อยถึงปานกลาง เป็นพืชทนแล้งได้ดี
ความชื้น : อยู่ได้ทุกสภาพอากาศ ที่โล่งอากาศถ่ายเท หรือในห้องแอร์ก็ได้
วัสดุปลูก : ดินร่วนซุยที่ระบายน้ำได้ดี และสามารถเลี้ยงได้ในน้ำด้วย
ฟอกอากาศได้

สับปะรดอากาศ : Tillandsia

เป็นไม้อากาศ (air plant) ทนแล้ง เลี้ยงง่าย ไม่ง้อวัสดุปลูกใด ๆ ทั้งสิ้น แขวนไว้เฉย ๆ ก็โตได้
แสงแดด : ตำแหน่งที่ปลูกต้องมีแสงแดด 50 % หากเลี้ยงในห้องก็ควรวางไว้ริมหน้าต่างที่มีแสงแดดส่องถึงบ้าง หรือหากห้องไม่มีแสงแดดส่องถึงเลยจริงๆ ให้นำมันออกมาวางรับแสงแดดสัปดาห์ละครั้งก็ใช้ได้
น้ำ : มีความต้องการน้ำน้อย ทุก 3-4 วัน
ความชื้น : ทุกสภาพอากาศ ถ้าอากาศร้อนจัด ควรฉีดพ่นน้ำในพื้นที่ปลูกบ้างเพื่อลดความร้อนในอากาศลง แต่หากเป็นหน้าฝนที่ฝนตกชุกมีความชื้นในอากาศสูง ไม่จำเป็นต้องให้น้ำเลยและระวังเรื่องต้นเน่า
วัสดุปลูก : ไม่ต้องใช้ดิน หาขอนไม้หรือสิ่งของให้ยึดเกาะก็เพียงพอแล้ว
ฟอกอากาศได้

ไผ่กวนอิม Lucky bamboo plant

แสงแดด : ชอบแดดรำไร แต่ถ้าให้ถูกแสงแดดโดยตรงจะทำให้ใบไหม้ได้
น้ำ : 1 ครั้ง/สัปดาห์ ไผ่กวนอิมไม่ต้องการน้ำปริมาณมากนัก
ความชื้น : เติบโตได้ทุกสภาพอากาศ ชอบความชื้นปานกลาง และอากาศถ่ายเทได้สะดวก
วัสดุปลูก : ผู้คนนิยมปลูกไผ่กวนอิมในดินร่วนหรือในน้ำ หากปลูกไผ่กวนอิมในน้ำ ควรเปลี่ยนน้ำทุก 7-10 หากปลูกในดินเลือกดินที่แห้ง นำมาผสมกับดินที่ใช้ปลูกแคคตัส หรืออาจนำมาผสมกับดินร่วน พีทมอส และทราย เพื่อให้ได้ดินที่มีเนื้อดินและความชื้นในการปลูกไผ่กวนอิมพอดี

ฟิโลเดนดรอนเขียว : Philodendron burle-marxii

แสงแดด : ชอบร่มรำไร ไม่ชอบแดดแรง หากโดนแดดตรง ๆใบจะไหม้
น้ำ : ทุก 3-4 วัน โดยต้องระวังไม่ให้มีน้ำขัง หรือดินแฉะเกินไปจะทำให้ต้นไม้ตายได้
ความชื้น : เป็นพืชที่ชอบสภาพอากาศอบอุ่นตลอดทั้งปี ความชื้นสูง ควรปลูกในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่อับ เย็น ชื้น หรือร้อนมากไป
วัสดุปลูก : กาบมะพร้าวสับหรือดินร่วนซุยที่ระบายน้ำได้ดี และสามารถเลี้ยงได้ในน้ำด้วย แต่หากเลี้ยงในน้ำจะเติบโตได้ช้ากว่า และจะต้องเปลี่ยนน้ำสัปดาห์ละครั้ง
ฟอกอากาศได้

สาวน้อยประแป้ง : Dumb canes

ต้นไม้ประดับใบสีขาวสลับกับเขียวเป็นลายสวยงาม ใบฉีกขาดได้ง่ายอีกทั้งหากสัมผัสยางจะมีอาการคัน ปวดแสบปวดร้อนไปจนถึงอักเสบได้
แสงแดด : ชอบแดดรำไร แต่ถ้าให้ถูกแสงแดดโดยตรงจะทำให้ใบไหม้ได้
น้ำ : ทุก 3-4 วัน อย่ารดน้ำมากเกินไปจนแฉะ เพราะอาจทำให้เกิดก้านเน่าได้
ความชื้น : ชอบอากาศที่มีความชื้นสูง แต่ก็สามารถปรับตัวให้อยู่ในที่มีความชื้นในอากาศปานกลางได้
วัสดุปลูก : ดินร่วนที่มีส่วนผสมของอินทรียวัตถุระบายอากาศ ระบายน้ำได้ดี ไม่มีน้ำขังแฉะหรือแห้งเร็วเกินไป สามารถปลูกในน้ำได้ด้วย
ฟอกอากาศได้

เศรษฐีเรือนใน : Spider Plant

แดด : แดดรำไร ชอบแดดเช้า ไม่ชอบแสงแดดตรงๆ
น้ำ : ทุก 3-4 วัน ไม่ต้องการน้ำมาก และ อย่าปล่อยให้น้ำขังอยู่ในถาดรองกระถาง
ความชื้น : ต้องการความชื้นต่ำ – ปานกลาง เจริญเติบโตในห้องแอร์ได้
วัสดุปลูก : ดินร่วนปนทรายผสมเศษอิฐละเอียด ช่วยให้ระบายน้ำได้ดี ช่วยให้แตกกอเร็วขึ้น
ฟอกอากาศได้ เป็นมิตรกับสัตว์

กวักมรกต : Zanzibar gem

เป็นพืชอวบน้ำ ทนทาน ปลูกง่าย เลี้ยงง่าย เหมาะสำหรับใครที่อยากมีต้นไม้ในบ้านสวยๆ แต่ไม่มีเวลาดูแลมากนัก
แดด : สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพที่มีแสงน้อย แต่แนะนำให้ตั้งกวักมรกต ไว้รับแสงยามเช้าบ้าง
น้ำ : ทุก 3-4 วัน ถ้าสังเกตว่าวัสดุปลูกมีความชื้นอยู่ก็อย่าเพิ่งรด กวักมรกตที่ตายส่วนใหญ่ ตายเพราะรากเน่ามากกว่าขาดน้ำ จึงไม่ควรรดน้ำแต่ละครั้งเยอะเกินไปจนดินแฉะ
ความชื้น : อยู่ได้ทุกสภาพอากาศ ควรวางในจุดที่อากาศถ่ายเทได้ดี
วัสดุปลูก : ดินร่วนผสมแกลบดำและกาบมะพร้าวสับ เติมหินภูเขาไฟไปเล็กน้อยก็ยิ่งช่วยระบายความชื้นได้ดี เน้นวัสดุปลูกที่โปร่งที่ระบายได้ดี ไม่อุ้มน้ำจนชื้นแฉะ
ฟอกอากาศได้ เป็นมิตรกับสัตว์

 


LEVEL : MEDIUM

ใครที่ผ่านต้นไม้ระดับ EASY มาแล้ว อยากลองปลูกต้นไม้ที่หลากหลายมากขึ้น เราแนะนำต้นไม้ใน LEVEL MEDIUM เลยค่ะจะเป็นต้นไม้ที่เติบโตในที่แสงแดดรำไรได้ดี แต่เอาใจใส่เรื่องความชื้น และการรดน้ำที่เหมาะสม ต้องดูแลเอาใจใส่มากขึ้นมาอีกหน่อยค่ะ

เงินไหลมา : Syngonium

 แสงแดด : ชอบแสงแดดรำไร หากได้รับแดดจัดเกินไปใบจะไหม้ได้ง่าย หากปลูกภายในอาคารที่พัก ควรวางในที่แสงแดดส่องถึง หรือนำออกมาตั้งให้โดนแดดเป็นครั้งคราว
น้ำ : วันเว้นวัน เป็นต้นไม่ที่ไม่ชอบน้ำมากจนเกินไป ให้รดน้ำประมาณกลาง ๆ
ความชื้น : ต้องการความชื้นสูง หากปลูกในอาคาร ควรฉีดละอองน้ำบ้าง เพื่อเพิ่มความชื้นให้แก่ใบ
วัสดุปลูก : ดินร่วน ระบายน้ำได้ดี เช่นดินผสมใบก้ามปูหรือกาบมะพร้าว
ฟอกอากาศได้ 

เดหลี : Peace Lily

แสงแดด : ชอบแสงแดดรำไร และอากาศที่ไม่ร้อนมาก ไม่ชอบอากาศที่ร้อนมากจนเกินไปจึงต้องวางกระถางเอาไว้ในที่ร่มเพื่อป้องกันใบไหม้ค่ะ
น้ำ : ทุกวัน หรืออย่างน้อย 2 วันครั้ง ในปริมาณที่ทำให้หน้าดินชุ่ม
ความชื้น : ปานกลาง – สูง ต้นเดหลีเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่ชื้น แต่ก็สามารถปรับตัวให้อยู่ในที่มีความชื้นในอากาศปานกลางได้
วัสดุปลูก : ชอบดินร่วน และมีความชื้นสูง ใช้เป็นดินร่วนมาผสมกับวัสดุอินทรีย์อื่นๆ เช่น แกลบดำ หรือ ขุยมะพร้าว
ฟอกอากาศได้ 

จินนี่ : Philodendron Ginny

ชื่ออย่างเป็นทางการ Rhaphidophora terrasperma หรือบางคนเรียกว่า Mini Monstera ด้วยความที่มีลักษณะเป็นมอนสเตอร่าพันธุ์เล็กนั่นเอง
แสงแดด : ปลูกได้ทั้งในร่มและแดดรำไร ควรหลีกเลี่ยงการปลูกบริเวณที่โดนแดดช่วงบ่าย
น้ำ : ทุกวัน หรือวันเว้นวัน แต่อย่ารดจนวัสดุปลูกท่วมแฉะจะทำให้รากเน่าได้
ความชื้น : ชอบสภาพแวดล้อมที่ชื้น หมั่นฉีดละอองน้ำบนใบเพื่อสร้างความชุ่มฉ่ำอยู่เป็นประจำ และควรปลูกในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก
วัสดุปลูก : วัสดุปลูกต้องมีความโปร่ง ระบายน้ำดี แต่ก็เก็บความชื้นไว้ได้ อย่างเช่น ดินหมักใบก้ามปูผสมกาบมะพร้าวสับ เติมแกลบดำ ปุ๋ยมูลไส้เดือน และหินภูเขาไฟไปด้วยก็ยิ่งดี

อโกลนีมา : Aglaonema

มีหลากหลายสายพันธุ์ มีสีสันสวยงาม
แสงแดด : เป็นไม้ที่ชอบแสงแดดรำไร หากได้รับแสงเพียงด้านใดด้านหนึ่งให้หมั่นหมุนกระถางเพื่อให้ต้นไม่เอียงไปทางด้านที่มีแสงมากกว่า และระวังถ้าให้ถูกแสงแดดโดยตรงจะทำให้ใบไหม้ได้
น้ำ : ทุก 2-3 วัน หรือสังเกตง่ายๆ โดยสัมผัสหน้าดิน หากแห้งค่อยรดน้ำ
ความชื้น : ชอบอากาศที่มีความชื้นสูง แต่ก็สามารถปรับตัวให้อยู่ในที่มีความชื้นในอากาศปานกลางได้ และทนต่ออากาศที่แห้งแล้งและความชื้นต่ำได้ดี
วัสดุปลูก : เน้นวัสดุปลูกอุ้มน้ำ เช่น กาบมะพร้าว ถ่าน ขุยมะพร้าว เศษใบไม้ เช่น ใบก้ามปูหรือใบมะขาม เพื่อช่วยให้สีสดใส ใช้ดินร่วนระบายน้ำดี การดูแล เน้นการบำรุงดินให้ดี และควรใส่ถ่านก้นกระถางป้องกันความชื้น ป้องกันเชื้อรา
ฟอกอากาศได้ 

ฟิโลเดนดรอน ซานาดู : Philodendron Xanadu

แสงแดด : ชอบแดดรำไร ระวังอย่าให้ถูกแสงแดดโดยตรงจะทำให้ใบไหม้ได้
น้ำ : ทุก 2-3 วัน รดน้ำปานกลางพอให้ดินชุ่ม คอยสังเกตอย่าให้ดินแห้ง
ความชื้น : ชอบสภาพแวดล้อมที่ชื้น หมั่นฉีดละอองน้ำบนใบเพื่อสร้างความชุ่มฉ่ำอยู่เป็นประจำ และควรปลูกในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก สามารถเอาไว้ในห้องน้ำ ที่มีแสงสว่างเข้ามาได้
วัสดุปลูก : ชอบวัสดุปลูกร่วนโปร่ง ระบายน้ำได้ดี ใช้เป็นดินร่วนผสม กาบมะพร้าวสับ เศษกิ่งไม้ผุ
ฟอกอากาศได้

บัวบกโขด : Stephania erecta

แสงแดด : ควรเลี้ยงพื้นที่ที่มีแดดรำไร จนเมื่อรากงอกเริ่มแข็งแรงแล้วสามารถนำออกมาโดนแดดได้ ต้นบัวโขดนี้จะมีความพิเศษ คือเราสามารถคุมฟอร์มมันได้ หากต้องการให้มีก้านยาวก็ปลูกในที่ร่มหน่อย ถ้าอยากให้ก้านสั้นออกใบเยอะๆ ก็วางน้องไว้ที่มีแสงแดดหน่อย
น้ำ : บัวบกโขดไม่ชอบน้ำแฉะ จึงควรรดน้ำทุก 2-3 วัน หรือสังเกตเมื่อหน้าดินเริ่มแห้งจึงค่อยรด เวลารดน้ำควรรดไปรอบๆ และหลีกเลี่ยงการรดไปบนหัวโดยตรงเพราะหากหัวเกิดความชื้นแฉะจะทำให้เน่าได้
ความชื้น : ต้นบัวบกโขดไม่ชอบความชื้น เพราะหัวเน่าได้ง่าย ควรวางในจุดที่อากาศถ่ายเทได้ดี
วัสดุปลูก : วัสดุปลูกที่ระบายน้ำได้ดีอย่างใบก้ามปูผสมกาบมะพร้าวสับหรือขุยมะพร้าว ผสมเข้ากับทรายและหินภูเขาไฟในอัตราส่วนเท่าๆ กัน หรือบ้านใครปลูกกระบองเพชรอยู่แล้วก็สามารถใช้ดินร่วมกันได้เลย วางบัวบกโขดไว้บนวัสดุปลูกประมาณครึ่งหัว ให้อีกครึ่งโผล่ขึ้นมารับอากาศ หรือฝังกลบไว้ทั้งหัวเลยก็ได้ เพื่อให้ขนาดหัวใหญ่ขึ้น ปิดท้ายด้วยหินโรยหน้าดินเพื่อเก็บความชุ่มชื้น และยังได้ความสวยงามไปอีกแบบ


LEVEL : HARD

สุดท้ายใครที่ผ่านทั้ง 2 LEVEL แรกไปได้แล้ว อยากลองเลี้ยงพันธุ์ไม้ที่หลากหลายมากขึ้น เราขอแถมต้นไม้ปราบเซียน ซึ่งจะเป็นพันธุ์ไม้ที่มือใหม่ปลูกแล้วไม่ค่อยรอด เพราะเป็นต้นไม้ที่ต้องดูแลเอาใจใส่มากเป็นพิเศษ ปรับตัวยาก เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม มักมีอาการใบแห้ง ใบเหลือง หรือทิ้งใบให้เราได้ใจหายเล่นๆ ต้องหมั่นสังเกตว่าต้นไม้เริ่มมีอาการเปลี่ยนแปลงอะไรไปบ้างอย่างสม่ำเสมอ คนที่หัดปลูกแรกๆ แนะนำว่าอย่าเพิ่งหลงความสวยงาม จนซื้อมาปลูกเชียวล่ะ เรามาดูกันค่ะว่ามีต้นไม้ชนิดไหนบ้าง

คล้า : Calathea 

คล้าเป็นต้นไม้ที่มีความหลากหลายนับสิบสายพันธุ์ แต่ละพันธุ์มีลักษณะพิเศษอยู่ที่ใบซึ่งมีลวดลายไม่เหมือนกัน ต้องเอาใจใส่ดูแล สภาพแวดล้อม ความชื้นให้เหมาะสม สม่ำเสมอ แตกต่างกันไป

แสงแดด : คล้าเป็นต้นไม้ที่ชอบแดดรำไร หากโดนแดดจัดๆ ใบจะไหม้ ชอบอากาศค่อนข้างเย็น
น้ำ : วันละครั้ง ต้องการความชื้นสูง และระบายน้ำได้ดี เมื่อได้ความชื้นที่พอเหมาะ ใบของต้นจะชุ่มชื่น สดใส แต่หากรดมากเกินไปจนดินแฉะ ใบของต้นนี้จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและเหี่ยวค่ะ
ความชื้น : ชอบสภาพแวดล้อมที่ชื้น ถ้าอากาศแห้งเกินไปใบจะกรอบแห้ง หลีกเลี่ยงการเปิดแอร์ที่เย็นเกินไป อาจจะฉีดละอองน้ำบ้างเพื่อเพิ่มความชื้นให้แก่ใบ หรือนำภาชนะใส่น้ำไปวางใกล้ๆ จะช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศ
วัสดุปลูก : ดินต้องไม่แห้งหรือชื้นแฉะเกินไป ดินที่ใช้ควรเป็นดินที่มีส่วนผสมของพวกใบไม้ผุ กาบมะพร้าว แกลบมากๆ เพื่อความร่วนซุยของดิน หากดินแน่นเกินไป คล้าจะไม่ค่อยโต
ฟอกอากาศได้ เป็นมิตรกับสัตว์

ยางอินเดีย : Rubber Plant

ภายในลำต้นและใบของมันมีน้ำยางสีขาวซึ่งเป็นพิษ ควรระวังอย่าให้โดนมือ
แดด : เจริญเติบโตได้ดีทั้งกลางแจ้งและที่มีแสงน้อย หากปลูกในบ้านควรวางต้นไม้ในตำแหน่งใกล้หน้าต่างเพื่อรับแสงระหว่างวัน แต่ไม่ควรวางในที่ที่มีแสงแดดส่องมาโดยตรงเพราะจะทำให้ใบบิดงอและไหม้ได้
น้ำ : ทุก 3-5 วัน เป็นต้นไม้ที่ทนแล้งได้ดี ต้องการน้ำปานกลาง ระวังอย่าให้มีน้ำขังแฉะ คอยเทน้ำในจานรองทิ้งหลังรดน้ำ
ความชื้น : ต้องการความชื้นปานกลาง ควรหมั่นใช้ผ้าชุบน้ำพอหมาดเช็ดใบเพิ่มความชุ่มชื้น และควรปลูกในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
วัสดุปลูก : วัสดุปลูกควรเป็นดินร่วนซุยที่มีการระบายน้ำได้ดี อาจผสมดินร่วนกับแกลบดำเล็กน้อย จะช่วยให้วัสดุโปร่งและมีความถ่ายเทมากขึ้น
ฟอกอากาศได้

มอนสเตอร่า : Monstera

แสงแดด : ชอบสถานที่แดดรำไร ทนร่มได้ดี
น้ำ : ทุก 2-3 วัน หมั่นตรวจเช็คอย่าให้ดินแห้ง หากรดน้ำน้อยหรือมากเกินไปจะทำให้เกิดโรคใบไหม้และใบเหลืองได้
ความชื้น : ชอบอากาศที่มีความชื้นสูง แต่ก็สามารถปรับตัวได้ทุกสภาพอากาศ
วัสดุปลูก : ดินที่เหมาะสำหรับการปลูกมอนสเตอร่า ควรเป็นวัสดุโปร่งที่ระบายน้ำได้ดี โดยควรเน้นสัดส่วนไปที่กากมะพร้าวสับมากหน่อย เพื่อช่วยเพิ่มความโปร่ง และไม่ควรโรยหินไว้ด้านบน ควรเลือกกระถางและดินที่ระบายน้ำได้ดี สิ่งสำคัญคือระวังอย่าให้มีน้ำขัง คอยเทน้ำในจานรองทิ้งหลังรดน้ำ
ปุ๋ย : เติมปุ๋ยละลายช้า หรือปุ๋ยออสโมโค้ทสูตรเสมอ เช่น 13-13-13 หรือ 15-15-15 โดยโรยบนดินให้ห่างจากโคน ไม่ควรใส่เยอะจนเกินไป ประมาณทุก 2-3 เดือน
ฟอกอากาศได้

ไทรใบสัก : Fiddle Leaf Fig

แดด : แสงแดดปานกลางถึงรำไร หรือแสงอ่อนๆ ในช่วงเช้า อากาศถ่ายเทไม่ร้อนอบอ้าว ไม่ชอบแสงแดดจัด หากปลูกในบ้านควรอยู่ในตำแหน่งที่ได้รับแสงอยู่เสมอ อย่างเช่นริมหน้าต่างจะเป็นพื้นที่ที่เหมาะมาก หากได้รับแสงไม่เพียงพอ ใบจะหลุดร่วง
น้ำ : ทุก 4-5 วัน ไทรใบสักชอบน้ำน้อย-ปานกลาง ไม่ชอบน้ำแฉะ ดังนั้นอย่ารดน้ำให้ชุ่มมากเกินไป อาจมีอาการขอบใบเหลือง ไปจนถึงแห้งหรือกลายเป็นสีน้ำตาล และหากมีน้ำขังจะทำให้รากเน่าได้
ความชื้น : เจริญเติบโตในห้องแอร์ได้ ชอบอากาศที่มีความชื้นปานกลาง 30-65% และสามารถปรับตัวให้อยู่ในสภาพอากาศร้อน หรือร้อนชื้นได้ดี แต่หากเลี้ยงในพื้นที่กลางแจ้ง แล้วเปลี่ยนมาเลี้ยงในห้องแอร์ ต้นอาจต้องใช้เวลาในการปรับตัว
วัสดุปลูก : ชอบดินร่วนระบายน้ำดี อย่างดินใบก้ามปูผสมกับเม็ดดินเผา ใช้เม็ดดินเผา หินภูเขาไฟ เศษอิฐรองที่ก้นกระถางก่อนเสมอเพื่อให้ดินโปร่งมีอากาศถ่ายเท
ฟอกอากาศได้

บอนสี : Caladium bicolor

แสงแดด : มีผลต่อสีสัน และลวดลายของใบเจ้าบอนสีมาก ถ้าได้แสงในปริมาณที่พอดีจะทำให้ใบมีสีสด เข้ม และ ลวดลายสวยงาม แต่ถ้าได้รับแสงแดดน้อยเกินไปจะทำให้สีซีด และถ้าได้แสงแดดจัดเกินไปอาจทำให้ใบเหี่ยว และเป็นรอยไหม้ได้ แสงแดดที่เหมาะสมในการเลี้ยงบอนสี คือแสงแดดรำไรในตอนเช้าหรือช่วงบ่ายที่ไม่ร้อนจัด เหมาะกับการวางไว้ในทิศตะวันออก หรือทิศตะวันตกของบ้าน
น้ำ : บอนสีเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก จึงควรให้น้ำสม่ำเสมอ การรดน้ำควรรดวันละ 2 ครั้งตอนเช้า และตอนเย็น ถ้าปลูกในกระถางควรมีจานรองกระถางใส่น้ำไว้เสมอ
ความชื้นในอากาศ : บอนสีเป็นพืชที่ต้องการความชื้นในอากาศสูง ไม่ชอบอากาศที่ร้อนเกินไป หรือเย็นเกินไป เพราะความชื้นในอากาศต่ำ อาจทำให้เจ้าบอนสีทิ้งใบได้ ดังนั้นถ้าเลี้ยงในห้อง หลีกเลี่ยงการเปิดแอร์ที่เย็นเกินไปนะคะ
วัสดุปลูก : ดินที่มีความร่วนซุย ระบายน้ำและอากาศได้ดี มีอินทรียวัตถุและธาตุอาหารสูง มีส่วนผสมของขุยไผ่ ใบทองหลาง ใบมะขาม หรือใบก้ามปูที่ผุแล้ว
การให้ปุ๋ย : ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น 16-16-16 ในอัตราต่ำๆ จะช่วยให้ใบดกและสีสันสวย ไม่ควรใช้ปุ๋ยละลายน้ำที่ให้ทางใบเพราะอาจทำให้ใบเป็นรอยไหม้ได้ เนื่องจากผิวใบของบอนสีค่อนข้างบอบบาง

ตีนตุ๊กแกฝรั่ง : English Ivy

แสงแดด : ชอบแดดครึ่งวันเช้า หรือถ้าปลูกในบ้านชอบแสง indirect sunlight อย่างมาก แต่ระวังอย่าให้ถูกแสงแดดโดยตรง เป็นต้นไม้ที่ปลูกในบ้านได้ แต่ที่ไม่รอดกันเพราะส่วนใหญ่เอาน้องไปอยู่ที่แสงสว่างไม่มากพอ ชอบอากาศเย็น
น้ำ : ทุก 2-3 วัน ชอบน้ำปานกลาง ระวังอย่างให้แฉะ เป็นต้นไม้ที่รากเน่าได้ง่ายมาก
ความชื้น : ชอบอากาศที่มีความชื้นปานกลาง ควรฉีดละอองน้ำวันละครั้งเพื่อเพิ่มความชื้น เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่ต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส อากาศแบบ 20-25องศาในห้องแอร์คือดีมาก
วัสดุปลูก : วัสดุปลูกต้องมีความโปร่งและระบายน้ำดีมาก ๆ ใช้วัสดุปลูก สำหรับตะบองเพชรหรือไม้อวบน้ำ จะระบายอากาศดี และไม่อัดแน่นจนเพิ่มโอกาสรากเน่าได้ง่าย หมั่นคอยตรวจดินในกระถางอย่างให้แฉะ หรือแห้งเกินไป
ฟอกอากาศได้


สำหรับใครที่ผ่านต้นไม้มาทุก LEVELแล้ว อยากลองปลูกต้นไม้ที่หลากหลายอะไรมากขึ้น มี Skillเพิ่มขึ้นแล้วก็จัดไปเลยค่ะ สามารถมาแชร์ประสบการณ์ หรือแนะนำต่อที่ comment ด้านล่างนี้ได้เลย หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่กำลังเริ่มต้นปลูกต้นไม้ประดับบ้าน หรือกำลังหาข้อมูลในการดูแลต้นไม้อยู่นะคะ คราวหน้า Think of Living จะมีบทความอะไรดีๆมาฝากกันอีก อย่าลืมติดตามชมกันด้วยนะ ^^