..กองทัพต้องเดินด้วยท้อง!! วลีติดหูที่เราเองได้ยินบ่อยๆ เป็นเสียงที่ลอยออกมาจากห้องครัวก่อนออกไปทำงานทุกเช้า เพราะคุณแม่ที่น่ารักมักจะเตรียมอาหารไว้ให้ “ห้องครัว” จึงมีบทบาทสำคัญในการเตรียมอาหารให้กับทุกคนในบ้าน แต่สำหรับทาวน์โฮมนั้นพื้นที่ครัวมักจะอยู่ในตัวบ้าน มีพื้นที่กะทัดรัดหน่อย ถ้าแม่ครัว พ่อครัวบ้านไหนชอบทำอาหารจริงจังนัก ก็อาจจะไม่ปลื้มเท่าไหร่ ทำให้ชาวทาวน์โฮมส่วนใหญ่เลือกที่จะต่อเติม “ห้องครัวหลังบ้าน” เป็นลำดับแรกๆ เพื่อให้ได้ครัวไทยที่ใหญ่ขึ้น

แต่ก็มีคำถามมากมายตามมาเช่นกัน ว่าควรเลือกวัสดุแบบไหน? มีขั้นตอนในการต่อเติมอย่างไร? หลายคนจึงเริ่มสอบถามจากเพื่อนๆ ว่าเค้าใช้งบกันเท่าไหร่ ได้อะไรบ้าง? เอาล่ะ..วันนี้เราไปสำรวจมาให้เพื่อนๆ แล้วว่าค่าต่อเติมครัวทาวน์โฮมส่วนใหญ่จะใช้งบประมาณเบื้องต้นกันที่ 1 – 2 แสนบาท จะได้วัสดุอะไรบ้างและมีขั้นตอนอย่างไร ไปดูกันเลย

PART 1 : ก่อนต่อเติมครัวต้องรู้เรื่องกฎหมาย

กฎหมายเป็นสิ่งที่สำคัญและไม่ควรจะมองข้ามในการต่อเติมบ้าน หากเราทำการต่อเติมไปแล้วผิดกฎหมายก็จะเดือดร้อนต้องมาทุบทิ้งกัน หรืออาจจะเกิดการร้องเรียนขึ้นทำให้เป็นปัญหาใหญ่ตามมา ทำให้เราเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา แต่พอพูดถึงกฎหมายหลายๆ คนจะคิดว่าต้องอ่านเยอะแน่เลย เราขอออกตัวก่อนว่าบทความนี้เราจะไม่ได้เอากฎหมายมาแปะให้อ่านกันยาวๆ (จะใส่ Link ไว้ให้แทน) แต่จะขอสรุปกฎหมายที่ต้องระวังหลักๆ 2 ข้อ ดังนี้

1. การต่อเติมครัวหลังบ้านนั้นเข้าข่าย “การดัดแปลงอาคาร รื้อถอนอาคาร” หรือไม่ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

หัวข้อนี้เกี่ยวกับการขออนุญาตดัดแปลงครัวหลังบ้าน ซึ่งเข้าข่ายง่ายมากเพราะถ้าคิดกันจริงๆ ทาวน์โฮมส่วนใหญ่มีหน้ากว้างไม่ต่ำกว่า 5 เมตร นั่นหมายความว่าต่อเติมครัวออกไปได้แค่ 1 เมตร จึงจะไม่ต้องขออนุญาต ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเรานิยมต่อเติมครัวให้เต็มพื้นที่หลังบ้านประมาณ 10 ตร.ม. ขึ้นไป ดังนั้นการต่อเติมครัวหลังบ้านมักจะต้องขออนุญาตดัดแปลงอาคารค่ะ

2. การต่อเติมครัวหลังบ้าน “เป็นไปตามข้อกำหนดระยะถอยร่น”  หรือไม่ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 ออกตามความในพรบ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ตามที่เคยเห็นว่าการต่อเติมทาวน์โฮมส่วนใหญ่จะต่อเติมจนเต็มพื้นที่หลังบ้าน จึงไม่เป็นไปตามระยะถอยร่นที่กฎหมายกำหนด จะก่อสร้างได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากเพื่อนบ้านข้างเคียง (เป็นลายลักษณ์อักษร) เท่านั้น เราจึงควรจัดกระเช้าให้สวยงาม และไปเจรจากับเพื่อนบ้านให้เซ็นต์ยินยอมค่ะ

ลองมาดูรูปแบบการต่อเติมครัวกันดีกว่า ว่าทำแบบไหนต้องขออนุญาตบ้าง…

แบบแรกเลยเป็นรูปแบบยอดฮิตที่ชาวทาวน์โฮมส่วนใหญ่นิยมทำกัน เพราะทำให้ได้พื้นที่ใช้สอยในตัวบ้านเยอะที่สุด ซึ่งการต่อเติมครัวลักษณะนี้เข้าข่าย “การดัดแปลงอาคาร” ด้วยเหตุผลที่ว่า มีการขยายเนื้อที่ใช้สอยและพื้นที่หลังคาเกิน 5 ตารางเมตร ถึงไม่มีการเพิ่มลดเสาคานก็ต้องขออนุญาตก่อนค่ะ

และการต่อเติมครัวเต็มพื้นที่หลังบ้านแบบนี้ยังเข้าข่ายผิดข้อกำหนดเรื่อง “ระยะถอยร่นระหว่างอาคาร” ด้วย จึงต้องได้รับความยินยอมจากเพื่อนบ้านข้างเคียงก่อนนะ

ถัดมาเป็นแบบต่อเติมที่ดูง่ายขึ้นแต่ก็ยังเข้าข่าย “การดัดแปลงอาคาร” เช่นกัน เพราะ มีการทำหลังคาคลุมหลังบ้านที่ยื่นจากเดิมออกไปเกิน 5 ตารางเมตร  แต่ไม่ผิดเรื่องกฎหมายระยะถอยร่นเลย เพราะเค้าเว้นระยะจากชายคา จนถึงแนวเขตที่ดินไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร จึงไม่ต้องขออนุญาตเพื่อนบ้านก็ได้ค่ะ

ดังนั้น หากต่อเติมครัวของเราเข้าเกณฑ์ตามกฎหมายข้างต้น เวลาจะทำการต่อเติมจำเป็นที่จะต้อง ” ยื่นแบบขออนุญาตกับสำนักงานเขต” ..ส่วนตัวเราเองเคยไปขออนุญาตต่อเติมกับทางเขต ก็มีเอกสารที่เราต้องใช้ ได้แก่

  1. แบบฟอร์ม ข.1 (คําขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคารหรือรื้อถอนอาคาร)
  2. แบบก่อสร้างที่มีลายเซ็นต์ของสถาปนิกและวิศวกรควบคุม
  3. หนังสือยินยอมให้ทําการปลูกสร้างอาคารชิดเขตที่ดิน ที่ต้องนำมาให้บ้านข้างเคียงเซ็นต์ และอาจรวมถึงต้องขออนุญาตนิติบุคคล สำหรับบางโครงการที่มีการจัดตั้งนิติบุคคลและกฎระเบียบที่เคร่งครัดด้วย

PART 2 : รู้ว่าโครงการให้โครงสร้างมาแบบไหน?

รู้หรือไม่ว่าโครงสร้างพื้นหลังบ้านของทาวน์โฮมแต่ละโครงการนั้นให้มาแตกต่างกันนะ ก่อนซื้อทาวน์โฮมจึงต้องสอบถามโครงการก่อนว่าให้โครงสร้างมาแบบไหน ดังนี้

โครงสร้างพื้นมี 3 แบบที่เห็นในตลาดทั่วไปคือ โครงสร้างพื้นคอนกรีตวางบนดิน (Slab On Ground), โครงสร้างพื้นคอนกรีตวางบนคาน (Slab On Beam) แบบเข็มสั้น และแบบเข็มยาว เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าเพราะจะอยู่ใต้พื้นดิน จึงต้องสอบถามกับทางโครงการเอานะ

  • โครงสร้างพื้นคอนกรีตวางบนดิน (Slab On Ground) เป็นรูปแบบดั้งเดิมของโครงการทาวน์โฮม ส่วนใหญ่เราจะเจอในโครงการราคาย่อมเยา ล้านกว่า 2 ล้านต้นๆ แน่นอนว่าโครงการต้องประหยัดงบในการก่อสร้าง ซึ่งส่งผลต่อการต่อเติมครัวว่าพื้นครัวจะมีการทรุดลงเร็วกว่าตัวบ้านที่มีเสาคานรองรับ หากโครงสร้างนี้อยู่บนทำเลที่ดินทรุดง่าย แนะนำให้ลงเสาเข็มเพิ่ม ซึ่งทำให้ต้องเสียงบในการต่อเติมมากกว่าแบบอื่นๆ
  • โครงสร้างพื้นคอนกรีตวางบนคาน (Slab On Beam) แบบเข็มสั้น ถึงจะเป็นโครงสร้างที่มีการลงเสาเข็มมาให้ แต่ว่าเสาเข็มส่วนใหญ่จะมีความลึกไม่มาก ประมาณ 2 – 6 เมตร ทำให้พื้นครัวทรุดลงได้เร็วกว่าตัวบ้านอยู่ดี แต่ก็จะช้ากว่าโครงสร้างแบบ On Ground แนะนำให้ต่อเติมแบบไม่ฝากโครงสร้างไว้กับตัวบ้าน ต้องมีการตัด Joints (แยกจุดเชื่อมต่อโครงสร้าง) แยกพื้นที่หลังบ้านออกจากตัวบ้านเลย จึงจะไม่เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง
  • โครงสร้างพื้นคอนกรีตวางบนคาน (Slab On Beam) แบบเสาเข็มยาว ประมาณ 22 – 26 เมตร เป็นรูปแบบที่ดีที่สุด ซึ่งปัจจุบัน Developer ส่วนใหญ่เริ่มหันมาใช้โครงสร้างนี้กันแล้ว ไม่ต้องห่วงเรื่องการทรุดตัวของหลังบ้านและง่ายในการต่อเติมที่สุด

ดังนั้น เมื่อทราบโครงสร้างทั้งพื้นและรั้วของตัวบ้านแล้ว ต้องมาตัดสินใจก่อนว่าจะลงเสาเข็มเพิ่มหรือไม่ แนะนำว่าหากเป็นโครงสร้าง Slab On Ground ให้ลงเสาเข็มเพิ่ม ซึ่งพื้นที่เล็กๆ แบบหลังบ้าน ช่างส่วนใหญ่จะแนะนำเสาเข็มแบบไมโครไพล์ จะตอกลงไปได้ลึกเหมือนเสาเข็มยาว แต่ก็ไม่ควรฝากโครงสร้างไว้กับตัวบ้านและต้องต่อเติมแบบตัด Joints เพื่อไม่ให้ดึงตัวบ้านทรุดไปด้วยค่ะ

หากเป็นโครงสร้างแบบเสาเข็มสั้นจะไม่ลงเสาเข็มเพิ่มก็ได้ แต่ต้องต่อเติมแบบไม่ฝากโครงสร้างไว้เช่นกัน


PART 3 : รู้ค่าต่อเติมและเลือกวัสดุได้ตามงบประมาณ

มาถึงส่วนที่ต้องคำนวณค่าใช้จ่ายในการต่อเติมครัวกันแล้ว ซึ่งปกติจะเป็นหน้าที่ของผู้รับเหมาที่จะทำการเสนอราคามาให้ แต่เราอยากให้ผู้อ่านได้รู้ราคาคร่าวๆ ไว้เช่นกันว่าการต่อเติมครัวนั้นจะต้องเตรียมงบประมาณไว้สักเท่าไหร่ ถ้ามีงบ 1 – 2 แสนจะได้อะไรบ้าง

โดยเราได้หาราค่าวัสดุรวมค่าติดตั้งในส่วนงานหลักๆ มาให้ แยกเป็นโครงสร้างครัวแต่ละส่วน ดังนี้

นอกจากนี้ยังมีงานยิบย่อยอื่นๆ เช่นงานระบบไฟ หรือการทำเฟอร์นิเจอร์ Built-in เพิ่มเติม ซึ่งต้องไปคิดราคาเพิ่มเป็นกรณีไปนะคะ


1. ฐานราก ก่อนที่เราจะไปเลือกผนังและโครงหลังคาจะต้องเริ่มจากฐานรากก่อน ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆด้วยกันคือ

พื้นคอนกรีตวางบนคาน (Slab on Beam) พื้นชนิดนี้จะถ่ายน้ำหนักลงสู่คานและเสาเข็มโดยตรง ซึ่งจะมีความแข็งแรงและน้ำหนักได้ดี ช่วยลดปัญหาเรื่องการทรุดตัวในระยะยาวได้ด้วย เหมาะกับทำเลที่พื้นดินยังไม่แน่น หรือยังมีการทรุดตัวอยู่ ซึ่งเสาเข็มที่นิยมใช้กับงานหลังบ้านคือ “เสาเข็มแบบไมโครไพล์”

ข้อดีของเสาเข็มชนิดนี้คือสามารถตอกได้ลึกเหมือนเสาเข็มยาว และมีผลกระทบต่อโครงสร้างเดิมของบ้านน้อย แต่ก็ใช้เวลาในการตอกเสานานกว่าปกติหน่อย เพราะต้องค่อยๆ ตอกลงไปทีต้นสั้นๆ ต้นละ 1.5 เมตร ซึ่งเหมาะกับการต่อเติมห้องครัวมากกว่าพวกเสาเข็มสั้น 2-6 เมตร ซึ่งเสาเข็มพวกนี้จะมีการทรุดตัวที่เร็วกว่ามากค่ะ

พื้นคอนกรีตวางบนดิน (Slab on Ground) เป็นการวางโครงเหล็กและเทคอนกรีตลงที่พื้นโดยตรง ซึ่งวิธีนี้ในเรื่องความแข็งแรงอาจสู้แบบมีเสาเข็มไม่ได้ แต่สามารถทำได้ง่ายไม่ยุ่งยาก และมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่ามาก โดยโครงสร้างประเภทนี้จะเหมาะกับบ้านที่อยู่ในทำเลพื้นดินแน่นและแข็งแรง หรือมีอัตราการทรุดตัวของดินน้อยนั่นเอง

จากตารางจะเห็นได้ว่า ค่าก่อสร้างพื้นคอนกรีตวางบนคาน (Slab on Beam) จะมีราคาที่สูงกว่าแบบพื้นคอนกรีตวางบนดิน (Slab on Ground) ค่อนข้างมาก เพราะนอกจากจะมีค่าเทพื้นและคานคอนกรีตเหมือนกันแล้ว ยังต้องมีค่าเสาเข็มและค่าแรงตอกเสาเข็มเพิ่มขึ้นอีกด้วย แนะนำว่าการต่อเติมห้องครัวที่ต้องรับน้ำหนักของโครงหลังคา ผนัง เคาน์เตอร์ครัวต่างๆ ก็ควรมีการลงเสาเข็มไมโครไพล์เพิ่ม

แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีงบเพียงพอนะ สุดท้ายแล้วคุณต้องกลับมามองเงินในกระเป๋าและเลือกสิ่งที่คุณพอจะสามารถทำได้ ทำให้หลายคนที่งบไม่พอเกิดคำถามต่อมาคือ “ถ้าใช้โครงสร้างแบบ On Ground พื้นจะทรุดหรือป่าว?” แน่นอนว่าทรุดค่ะ ก็แนะนำให้ใช้วิธีแยกโครงสร้างห้องครัวออกจากโครงสร้างบ้านหลัก เพื่อที่เวลาเกิดการทรุดตัวจะได้ไม่กระทบกับตัวบ้านนะคะ


2. หลังคา มาดูในส่วนที่กันแดดกันฝนให้กับพื้นที่หลังบ้านกันบ้าง ส่วนนี้จะประกอบด้วย “โครงสร้างและวัสดุมุงหลังคา”

“โครงสร้าง” การต่อเติมห้องครัวหลังบ้านจะมีโครงสร้าง 2 รูปแบบหลักๆ ด้วยกัน ดังนี้

แบบที่ 1 : ฝากโครงสร้างพื้นที่จอดรถไว้กับโครงสร้างบ้าน วิธีนี้เหมาะกับบ้านที่ถูกออกแบบโครงสร้างมาเผื่อการรับนำหนักส่วนต่อเติมในอนาคต คือรูปแบบโครงสร้างพื้น On Beam ที่ลงเสาเข็มยาวเท่าตัวบ้าน และใช้คานชุดเดียวกัน (สอบถามวิศวกรหรือช่างของโครงการได้) โดยการตั้งเสาด้านหน้าเพิ่มเติม และนำโครงหลังคาส่วนหนึ่งไปฝากไว้กับโครงสร้างเดิม เหมาะกับบ้านที่มีพื้นที่จำกัด และต้องการประหยัดงบประมาณ

แต่ข้อควรระวังคือ หากนำวิธีนี้ไปใช้กับโครงสร้างพื้นที่ไม่ได้ลงเสาเข็มมาเท่ากับตัวบ้าน จะทำให้มีการทรุดตัวของโครงสร้างที่อยู่บนเข็มและคานที่ต่างชนิดกัน ก็อาจส่งผลกระทบกับโครงสร้างบ้านหลัก ด้วยการฉุดรั้งถ่วงน้ำหนัก ทำให้โครงสร้างบ้านหลักเอียงไปด้วยได้

แบบที่ 2 : แยกโครงสร้างจากตัวบ้าน เป็นวิธีที่ดีที่สุด เนื่องจากพื้นที่ครัวหลังบ้านจะไม่กระทบกับโครงสร้างเดิมของตัวบ้านเลย เหมาะกับรูปแบบของโครงสร้างพื้นแบบ Slab On Ground และโครงสร้างพื้น Slab On Beam แบบเสาเข็มสั้น ที่จะมีการทรุดตัวของสร้างไม่พร้อมกับตัวบ้าน แต่ก็ทำยากและมีราคาสูงกว่ารูปแบบแรกเพราะต้องทำโครงสร้างเพิ่มขึ้นมานะ

ดังนั้น ในส่วนของโครงสร้างไม่ว่าจะมีการลงเข็มสั้นหรือลงเข็มยาว หรือไม่ลงเสาเข็มก็ตาม จะมีการทรุดตัวของพื้นมากหรือน้อย ช้าหรือเร็ว ตามแต่ชนิดของเข็ม และสภาพดินบริเวณนั้นๆ เราจึงแนะนำให้แยกโครงสร้างของส่วนต่อเติมออกมาก่อน ไม่ให้ยึดเข้ากับตัวบ้านหลัก เพราะการทรุดตัวที่ไม่เท่ากันของบ้านหลักและส่วนต่อเติม จะทำให้เกิดการแยกตัวที่ทำความเสียหายให้ทั้งส่วนที่ต่อเติม และจะพลอยดึงโครงสร้างบ้านเดิมให้เสียหายไปด้วยได้

ถัดมาคือเรื่อง “วัสดุมุงหลังคา” ที่เห็นมีขายในท้องตลาดนั้นก็มีค่อนข้างหลากหลายเช่นกัน และบางชนิดก็มีลักษณะและคุณสมบัติที่คล้ายๆ กันอีกด้วย เราจะยกตัวอย่างมาเฉพาะวัสดุเด่นๆ ที่เป็นที่นิยมในท้องตลาดดังนี้ค่ะ

  • หลังคากระเบื้องลอนคู่

ค่อนข้างเป็นที่นิยม เพราะมีราคาถูก ดูแลรักษาง่าย สามารถเลือกเปลี่ยนเฉพาะแผ่นที่เสียหายได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนกระเบื้องใหม่ทั้งแผง ส่วนใหญ่ทำมาจากไฟเบอร์ซีเมนต์ แข็งแรง และมีอายุการใช้งานที่ยืนยาว แถมเวลาเกิดฝนตกก็จะไม่ส่งเสียงดังรบกวนอีกด้วย

ข้อเสียคือ มีน้ำหนักเยอะ ดังนั้นโครงสร้างหลังคาจึงต้องแข็งแรงมากส่วนหนึ่ง รวมถึงมักจะเกิดปัญหารั่วซึมผ่านรอยต่อได้ง่าย จึงต้องคอยปิดจุดรั่วต่างๆดีๆหน่อยนะ

  • หลังคาโพลีคาร์บอเนต

ทำมาจากเม็ดพลาสติก ลักษณะเป็นลอนฟูก มีคุณสมบัติโปร่งแสงและน้ำหนักเบา สามารถดัดรูปร่างให้โค้งได้ตามต้องการ จึงมักนิยมใช้กับหลังคาหรือกันสาดที่มีรูปทรงโค้ง มีราคาถูก และมีสีสันให้เลือกเยอะ

ข้อเสียคือ เมื่อได้รับความร้อนจะมีการขยายตัวค่อนข้างสูง และหดตัวลงเมื่ออุณหภูมิลดลง ซึ่งส่งผลต่อความแข็งแรงของวัสดุที่อาจเกิดเปราะแตกได้ง่าย และเมื่อเกิดรอยร้าว ช่องว่างภายในก็จะมีฝุ่นและคราบตะไคร่น้ำเข้าไปสะสม ทำให้สกปรกและไม่สามารถทำความสะอาดจากภายนอกได้ และหากแผ่นหลังคาเกิดความเสียหาย ก็จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนใหม่หมดทั้งผืนค่ะ

  • หลังคาเมทัลชีท

ทำมาจากเหล็กที่ผ่านกระบวนการรีดจนบาง ก่อนจะขึ้นรูปเป็นลอนยาว ด้วยเหตุนี้เองจึงช่วยลดเรื่องการรั่วซึมของน้ำฝนได้ค่อนข้างดี อีกทั้งยังมีหลากหลายสีสันให้เลือก และมีราคาที่ไม่แพงมากอีกด้วย

ข้อเสียคือ ด้วยความที่เป็นเหล็กจึงกักเก็บและแผ่รังสีความร้อน ซึ่งค่อนข้างเยอะกว่าวัสดุชนิดอื่น (ปัจจุบันจึงมักติดตั้งฉนวนกันความร้อนเพิ่มเติมด้วย) อีกทั้งยังมักจะเกิดเสียงดังเวลามีฝนตก และความบางของเหล็กเมื่อผ่านระยะเวลานานๆ จะเกิดการชำรุดและผิดรูปได้ง่าย

  • หลังคาไฟเบอร์กลาส

ผลิตมาจากเส้นใยแก้ว ซึ่งมีคุณสมบัติกึ่งโปร่งแสง เวลามีแสงตกกระทบเราจะเห็นเส้นใยจำนวนมากอยู่ภายใน ซึ่งแสงส่องจะผ่านได้ในปริมาณที่ไม่ได้รู้สึกร้อนจนเกินไป เพราะด้านบนมักเคลือบสารกัน UV เพื่อยืดอายุการใช้งาน น้ำหนักค่อนข้างเบาและมีความยืดหยุ่น จึงสามารถดัดเป็นหลังคาทรงโค้งได้อีกด้วย

ข้อเสียคือ มีราคาค่อนข้างสูง และเวลาฝนตกหนักๆ อาจเกิดเสียงดังรบกวนอยู่บ้าง อีกทั้งเวลาใช้งานผ่านไปนานๆ สีก็อาจเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามกาลเวลา

ขอบคุณรูปจาก www.wazzadu.com

  • หลังคากระจกลามิเนต

ประกอบด้วยกระจก 2 แผ่นประกบกันโดยมีฟิล์มกัน UV อยู่ตรงกลาง หากกระจกแตกจะเกาะกับฟิล์มไม่ร่วงหล่นลงมาทำอันตราย ส่วนใหญ่เลือกใช้กระจกเทมเปอร์ซึ่งเมื่อแตกจะมีลักษณะเหมือนเม็ดข้าวโพดไม่แหลมคม ข้อดีของการใช้กระจกเป็นหลังคากันสาดคือ เวลาฝนตกจะไม่ค่อยมีเสียงรบกวนมากนัก มีหลายสีให้เลือก ทั้งสีฟิล์มและสีกระจก เนื้อกระจกใสมองเห็นบรรยากาศภายนอกชัดเจน

ข้อเสียคือ ควรหมั่นทำความสะอาดเป็นประจำ เพราะจะสกปรกได้ง่าย สิ่งที่สำคัญคือต้องติดตั้งให้ถูกวิธีโดยช่างผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ มีโครงสร้างรองรับที่แข็งแรง ราคาจะสูงกว่าหลังคาแบบอื่นๆ หน่อย แต่จะราคาเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับประเภทกระจกและความหนาที่เลือกใช้

  • หลังคาอะคริลิก

แผ่นโปร่งแสงอะคริลิกมีพื้นผิวเรียบ มีความใสเทียบเท่ากระจกแต่น้ำหนักเบากว่ามาก เนื้อเหนียว ดัดโค้งได้ ไม่กรอบหรือแตกลายงา ไม่เป็นฝ้า มีทั้งรุ่นธรรมดาที่กรองแสงแดดได้ระดับหนึ่งและรุ่นที่กรองแสงและป้องกันความร้อนได้มากขึ้น

ข้อควรระวัง คือ ต้องติดตั้งตามมาตรฐานตามระยะโครงสร้างที่บริษัทกำหนด หรือต้องติดตั้งด้วยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ต้องระวังรอยขีดข่วนจากของมีคมช่วงการติดตั้ง ดูแลรักษาง่ายเพียงทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่า หรือน้ำสบู่อ่อนๆ ก็เพียงพอแล้ว

ในส่วนของวัสดุหลังคาให้เลือกตามงบประมาณและความชอบได้เลยว่าจะเป็นแบบทึบแสงหรือโปร่งแสงดี แต่แนะนำว่าอย่าใช้วัสดุแบบโปร่งแสงในพื้นที่หลังบ้านทั้งหมด เพราะจะทำให้ห้องครัวร้อนเกินไป เหมาะจะใช้วัสดุโปร่งแสงแค่บางส่วนเท่านั้น เช่น บริเวณที่จะใช้ตากผ้า ปลูกต้นไม้ เป็นต้น


3. โครงสร้างผนังครัว ในกรณีการต่อเติมหลังบ้านน้ำหนักเป็นเรื่องสำคัญ Keyword มันอยู่ที่ว่ายิ่งทำให้เบาได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะจะทำให้ส่วนต่อเติมมีการทรุดตัวช้าลง ซึ่งวัสดุน้ำหนักเบาที่เราเห็นว่านิยมใช้ในการต่อเติมหลังบ้านมี 3 ชนิดได้แก่

ขอบคุณรูปภาพจาก https://howtosteel.wordpress.com/

  • ผนังก่ออิฐมวลเบา

เป็นวัสดุก่อสร้างที่ได้รับความนิยมในการต่อเติมมากในปัจจุบัน เพราะ เป็นอิฐที่มีฟองอากาศเล็กๆ เป็นรูพรุนไม่ต่อเนื่องอยู่ในเนื้อวัสดุประมาณ 75% จึงมีน้ำหนักเบา ช่วยประหยัดโครงสร้าง และฟองอากาศเหล่านี้ยังเป็นฉนวนกันความร้อนได้ดี ทนทานต่อไฟ แข็งแรง รับแรงกดได้มาก สะดวกในการก่อสร้างและใช้เวลาไม่นาน

ข้อเสีย อยู่ตรงที่มีราคาสูงกว่าอิฐชนิดอื่นๆ และต้องการช่างที่มีประสบการณ์และฝีมือดี จึงจะได้ผนังที่มีคุณภาพ

  • ผนังไฟเบอร์ซีเมนต์ หรือสมาร์ทบอร์ด

ผลิตจากปูนซีเมนต์ผสมเส้นใยเซลลูโลส (ปลอดใยหิน) ผสมทรายซิลิกา แล้วนำไปอบไอน้ำแรงดันสูง มีข้อดีที่น้ำหนักเบากว่าพวกอิฐ ดัดโค้งได้ ทนแดด ทนฝน ผิวด้านหนึ่งเรียบสามารถทำผนังโชว์ผิวได้เลย

ข้อเสีย คือ การฉาบรอยต่อระหว่างแผ่นทำให้เนียนยาก จึงเจาะ ตัด ซ่อมแซมได้ยากกว่า และถ้าใช้ในพื้นที่มีความสูงชื้นสูงมากๆ ต้องทาเคลือบกันความชื้นไว้ก่อน เพื่อกันสีลอกร่อน

  • ไม้ระแนงเทียม

ถ้าต้องการความโปร่งหน่อยก็แนะนำเป็นไม้ระแนงเทียม จะมีน้ำหนักที่เบากว่าไม้จริง มีการติดตั้งที่ง่ายกว่า มีสีที่คล้ายธรรมชาติ แต่ผิวสัมผัสให้ความเงามากกว่า นอกจากนี้มีคุณสมบัติที่ทนแดด ทนฝน และไม่ต้องกังวลปัญหาเรื่องปลวกค่ะ

ข้อเสีย คือมีราคาสูงนั่นเอง

การเลือกประเภทผนังต้องดูให้สัมพันธ์กับฐานรากด้วยว่าแข็งแรงขนาดไหน หากไม่ได้ลงเสาเข็มยาวไว้ ก็แนะนำให้เลือกใช้ผนังไฟเบอร์ซีเมนต์จะช่วยลดน้ำหนักของห้องครัวไปได้


4. วัสดุปิดผิวพื้นและผนัง ซึ่งในท้องตลาดปัจจุบันมีอยู่ค่อนข้างหลากหลายเลยนะคะ โดยในที่นี้เราขอหยิบยกวัสดุ 3 แบบมาให้ดู ซึ่งเป็นที่นิยมและพบเห็นได้บ่อยที่สุด ประกอบด้วย

  • กระเบื้องพื้น/ผนังแกรนิตโต้

เป็นที่นิยมมากที่สุด เพราะมีลวดลายและสีสันให้เลือกหลากหลาย ราคาขึ้นอยู่กับเกรดของกระเบื้องที่เลือก ซึ่งมีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน สามารถติดตั้งและทำความสะอาดได้ง่าย โดยเราควรเลือกแบบที่เหมาะสมกับการใช้งานของพื้นที่คือ กระเบื้องสำหรับใช้งานภายนอก แบบผิวด้านกันลื่น เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน และมีคุณสมบัติที่สามารถรับน้ำหนักเยอะๆได้ดี

  • กระเบื้องพื้น/ผนังเซรามิค

เป็นกระเบื้องที่ผ่านการเผา 1 หรือ 2 ครั้งตามลักษณะการใช้งาน มีทั้งแบบเคลือบและ ไม่เคลือบ ถ้าเคลือบผิวจะมันหน่อยถ้าไม่เคลือบผิวจะด้าน มีขนาดหลากหลายและมีโทนสีสไตล์ต่างๆ ให้เลือกใช้มากที่สุด แต่ต้องระวังในการเลือกใช้ว่าอย่าเอากระเบื้องปูผนังไปปูพื้น เพราะความแข็งแรงของกระเบื้องจะแตกต่างกัน คุณสมบัติของกระเบื้องชนิดนี้จะแข็งแรงทนทาน ดูแลรักษาง่าย แต่ไม่ทนต่อรอยขีดข่วน และลื่นเมื่อเปียกน้ำ นิยมใช้ปูผนังในห้องครัวค่ะ

  • ผนังฉาบเรียบทาสี

หากไม่ได้มีงบประมาณในการปูกระเบื้องห้องครัวก็สามารถทาสีเอาได้นะ แต่อาจไม่ได้สวยงามเหมือนการปูกระเบื้อง และเวลาเกิดรอยแตกร้าวก็จะสังเกตเห็นได้ง่าย เหมาะกับคนที่ไม่ซีเรียสเรื่องความสวยงามนัก หรืออยากประหยัดงบประมาณในการตกแต่งบ้าน

ส่วนใหญ่แล้วการเลือกวัสดุปิดผิวพื้นและผนังห้องครัวจะขึ้นอยู่กับสไตล์ในการตกแต่งมากกว่า เพราะกระเบื้องเหล่านี้ก็มีลวดลายให้เลือกอีกมาก แนะนำว่า ในส่วนของผนังที่อยู่ใกล้เคาน์เตอร์ครัว ควรมีการปูกระเบื้องเพื่อให้เช็ดทำความสะอาดง่ายค่ะ


5. เคาน์เตอร์ครัว มาถึงส่วนที่บ่งบอกประโยชน์การใช้สอยของห้องได้มากที่สุด ก็คือเคาน์เตอร์ครัวนั่นเอง ถึงตอนที่ต้องเลือกเคาน์เตอร์แล้ว หลายๆ คนคงมีคำถามว่าจะเลือกแบบ “ก่อปูน-บิวท์อิน-สำเร็จรูป” แบบไหนดี? ซึ่งเรื่องนี้ทางทีมงานเคยอธิบายไว้อย่างละเอียดในบทความ เคาน์เตอร์ครัว “ก่อปูน-บิวท์อิน-สำเร็จรูป” เลือกแบบไหนให้เหมาะกับบ้าน ซึ่งคลิกเข้าไปรายละเอียดกันต่อได้เลย ในบทความนี้เราจะสรุปราคาของเคาน์เตอร์แต่ละแบบมาให้ละกันนะ

“ครัวปูน” เป็นแบบที่เรามักจะเห็นกันบ่อยๆ ในโครงการบ้าน เพราะเหมาะจะใช้ทำครัวหนัก ครัวไทย ที่มีอุปกรณ์ทำครัวเยอะ ต้องการความแข็งแรงในการใช้งาน และยังมีราคาถูกที่สุดด้วย สำหรับ “ครัวสำเร็จรูป” จะเหมาะกับคนที่ชอบความสวยงามของเคาน์เตอร์ มีหลายขนาดให้เลือก แต่เราก็ต้องเลือกรูปแบบที่เข้ากับขนาดของห้องครัว แต่ด้วยความที่โครงส่วนใหญ่เป็นไม้จึงไม่เหมาะกับการใช้งานที่หนักมาก สุดท้ายคือ “ครัว Built-in” ที่เหมาะจะใช้ในพื้นที่จำกัด มีความเฉพาะตัว ได้เคาน์เตอร์ที่สวยงาม พอดีกับขนาดของห้อง แต่ก็มีราคาแพงที่สุดเช่นกัน


พอจะทราบลักษณะของวัสดุและราคากันแล้ว ต่อไปเราจะลองเอาค่าของและค่าติดตั้งวัสดุต่างๆ มาประกอบร่างกันดูนะคะ ย้ำอีกครั้งว่าค่าก่อสร้างที่ออกมา เป็นเพียงการเอาราคาของโครงสร้างหลักๆ มาบวกกันเท่านั้น ยังไม่ได้รวมค่าติดตั้งระบบไฟ และเฟอร์นิเจอร์ Built-in อื่นๆ ที่ไม่ใช่โครงสร้างหลัก และเวลาที่ผู้รับเหมาคิดราคามา ก็มักบวกกำไรเพิ่มเข้าไปอีกประมาณ 15 – 20% ลองไปดูตัวอย่างกันเลย

Case Study ของคุณโกมุนยอง ที่ต้องการต่อเติมครัวให้เป็นแบบบ้านตัวอย่าง สมมุติว่าพื้นที่หลังบ้านไม่ได้ลงเสาเข็มมาให้ ทำให้โกมุนยองเลือกต่อเติมโครงหลังคาแบบตั้งเสาเพิ่มทั้งหมดเพื่อไม่ให้น้ำหนักของครัวไปฝากไว้กับตัวบ้านหรือรั้ว ค่าใช้จ่ายหลักๆ จะประกอบด้วย

  • เสาเข็มไมโครไพล์ 4 ต้น = 13,000 x 4 = 52,000 บาท
  • พื้นคอนกรีต 11 ตร.ม. = 250 x 11 = 2,750 บาท
  • หลังคาเมทัลชีท 11 ตร.ม. = 1,500 x 11 = 16,500 บาท
  • พื้นกระเบื้องแกรนิตโต้ 11 ตร.ม. = 500 x 11 = 5,500 บาท
  • ก่อผนังอิฐมวลเบาเพิ่ม (ฝั่งเดียวกับรั้ว) 12 ตร.ม. = 500 x 12 = 6,000 บาท
  • เคาน์เตอร์ครัว Built-in พร้อมตู้ลอย 3 เมตร = 17,000 x 3 = 51,000 บาท
  • ทาสีผนัง 15 ตร.ม. = 80 x 15 = 1,200 บาท
  • ฝ้าเพดาน 11 ตร.ม. = 300 x 11 = 3,300 บาท
  • ดังนั้น รวมค่าใช้จ่ายหลักๆ ของครัวอยู่ที่ 138,250 บาท
  • ลองคิดเล่นๆ ว่าผู้รับเหมาจะต้องคิดกำไรบวกเพิ่มเข้าไปอีก 15% ~ 159,000 บาท

ราคานี้ยังไม่รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัว เช่น เตาแก๊ส เครื่องดูดควัน ซิงค์ล้างจาน ซึ่งมีช่วงราคาที่หลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับเจ้าของบ้านจะเลือกใช้เลยค่ะ


หรือหากพื้นที่ครัว 11 ตร.ม. เท่ากันแต่ต้องการหลังคาห้องครัวที่มีแสงธรรมชาติส่องผ่านตามแบบบ้านตัวอย่างด้านล่างนี้ ลองมาคิดราคาคร่าวๆ กันดูค่ะ

  • เสาเข็มไมโครไพล์ 4 ต้น = 13,000 x 4 = 52,000 บาท
  • พื้นคอนกรีต 11 ตร.ม. = 250 x 11 = 2,750 บาท
  • หลังคาเมทัลชีท 9 ตร.ม. = 1,500 x 11 = 13,500 บาท
  • หลังคาอะคริลิก 2 ตร.ม. = 6,000 x 2 = 12,000 บาท
  • พื้นกระเบื้องแกรนิตโต้ 11 ตร.ม. = 500 x 11 = 5,500 บาท
  • ก่อผนังอิฐมวลเบาเพิ่ม (ฝั่งเดียวกับรั้ว) 12 ตร.ม. = 500 x 12 = 6,000 บาท
  • เคาน์เตอร์ครัว Built-in พร้อมตู้ลอย 3 เมตร = 17,000 x 3 = 51,000 บาท
  • ทาสีผนัง 15 ตร.ม. = 80 x 15 = 1,200 บาท
  • ฝ้าเพดาน 11 ตร.ม. = 300 x 11 = 3,300 บาท
  • ดังนั้น ราคารวมจะอยู่ที่ 147,250 บาท
  • บวกกำไรของผู้รับเหมาเพิ่มเข้าไปอีกประมาณ 15% ~ 169,300 บาท

ราคานี้ยังไม่รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัว ทั้งเตาแก๊ส เครื่องดูดควัน ซิงค์ล้างจาน มีช่วงราคาที่หลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับเจ้าของบ้านจะเลือกใช้เลยค่ะ


…จบไปแล้วนะคะสำหรับบทความ “งบ 1-2 แสนต่อเติมครัวทาวน์โฮมให้ถูกกฎหมายแบบไหนได้บ้าง” หวังว่าจะเป็นประโยชน์และช่วยในการตัดสินใจเลือกวัสดุในการต่อเติมครัวหลังบ้านของใครหลายๆคนได้นะคะ

และหากใครที่มีประสบการณ์ในการใช้งานวัสดุประเภทไหนอยู่ ก็สามารถมาแชร์กันได้ที่ comment ด้านล่างนี้ได้เลย และคราวหน้า ThinkofLiving จะมีบทความดีๆอะไรมาฝากกันอีก อย่าลืมติดตามกันด้วยนะ


ติดตามพวกเราได้ที่
Website : www.thinkofliving.com
Twitter : www.twitter.com/thinkofliving
YouTube : www.youtube.com/ThinkofLiving
Instagram : www.instagram.com/thinkofliving
Facebook : ThinkofLiving