การดูแลบ้านในฤดูฝน – ตอนที่ 10 ของคอลัมน์ “รอบรู้เรื่องบ้านๆ”
ฤดูฝนผ่านเข้ามาประมาณ ๒ เดือนแล้ว เพราะฤดูฝนในประเทศไทยเราตามปกติจะเริ่มประมาณเดือนมิถุนาและสิ้นสุดประมาณเดือนตุลา แต่เอาเข้าจริงก็อาจช้าเร็วไปบ้างตามความไม่แน่นอนของสรรพสิ่งในโลกใบนี้ ถ้าอยากให้บ้านเป็นสวรรค์ของผู้อยู่อาศัยก็ต้องรู้จักดูแลให้เหมาะสม การดูแลบ้านในฤดูฝนอาจจะมีอะไรที่พิเศษกว่าช่วงอื่นๆของปีเพราะมีเรื่องของน้ำฝนเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากมีฝนตกตามปกติในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในรอบวัน บางครั้งอาจจะมีพายุเสริมเข้ามาทำให้มีฝนตกหนัก ลมแรงกว่าปกติ ซึ่งจะมีผลทำให้บ้านที่อาจจะมีปัญหาเรื่องการรั่วซึมอยู่แล้วมีปัญหาหนักขึ้นอีก หากไม่มีการดูแลและจัดการที่เหมาะสมจะทำให้บ้านกลายเป็นสถานที่ไม่พึงปรารถนาของผู้อยู่อาศัยตลอดฤดูกาล
ปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งของบ้านในฤดูฝนก็คือปัญหาการรั่วซึมของหลังคาและผนัง การั่วซึมของหลังคามีมาจากหลายสาเหตุที่สำคัญๆคือการแตกร้าวของกระเบื้องหลังคาหรือวัสดุมุงหลังคาอย่างอื่น นอกจากนั้นก็อาจเกิดจากการไหลย้อนของน้ำฝนอันเนื่องมาจากการจัดวางความลาดเอียงของหลังคาไม่เหมาะสมกับชนิดของวัสดุมุง ซึ่งในประเด็นหลังนี้จะต้องใช้วิธีการแก้ไขในเชิงช่างที่ซับซ้อนมากขึ้น ส่วนการแตกร้าวของวัสดุมุงหลังคาที่เป็นสาเหตุหลักของการรั่วซึมโดยทั่วๆไปนั้นเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ไม่ยาก ที่สำคัญคือต้องรู้ว่ามีปัญหา
เราจะรู้ได้ว่าหลังคาบ้านของเรารั่วซึมเมื่อมีฝนตกก็ต่อเมื่อเราพบเห็นน้ำซึมที่ฝ้าเพดานเพราะถ้าหลังคาไม่รั่วซึมน้ำจะไม่มีโอกาสหยดลงบนฝ้าเพดาน
เมื่อพบเห็นแล้วรอให้ฝนหยุดแล้วจึงให้ช่างขึ้นไปตรวจสอบหารอยรั่วซึม บางคนปล่อยละละเลยเมื่อพบคราบน้ำบนฝ้าเวลาฝนตกและเมื่อฝนหยุดคราบดังกล่าวจะหายไป ก็คิดว่าคงไม่เป็นอะไรมาก ปล่อยไว้จนรั่วหนักเข้าถึงขั้นฝ้าถล่มลงมาทีเดียว บางคนที่ขี้เกียจมากๆก็ตอบแบบใช้ปฏิภาณเมื่อถูกถามว่าทำไมไม่ซ่อมหลังคาว่าซ่อมไม่ได้เพราะฝนตก เมื่อถูกถามเวลาที่ฝนหยุดแล้วก็บอกว่าจะซ่อมทำไมในเมื่อมันไม่รั่วแล้ว (เพราะฝนหยุดจึงไม่มีน้ำหยดลงมา) ในส่วนของผนังก็อาจเกิดจากการแตกร้าวของผนัง มีช่องว่างตรงขอบประตูหน้าต่าง ความบกพร่องเหล่านี้สามารถสังเกตเห็นได้และแก้ไขได้ไม่ยาก
นอกจากปัญหาเกี่ยวกับความบกพร่องที่ตัวอาคารแล้ว บริเวณรอบๆ เช่น พื้นหรือทางเดินที่ไม่มีหลังคาคลุมและมีโอกาสถูกน้ำฝนก็ต้องหมั่นดูแลเช็ดถูไม่ให้มีตะไคร่น้ำจับเพราะจะทำให้ลื่นเป็นอันตรายได้ กิ่งไม้รอบๆบ้านต้องตัดให้สั้นเพื่อป้องกันการหักหรือต้นไม้โค่นล้มเมื่อมีลมแรง หรืออาจจะถูกลมพัดไปกระทบสายไฟซึ่งอาจจะเป็นอันตรายได้เช่นกัน
เรื่องเหล่านี้ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจได้มากและหากปล่อยทิ้งไว้อาจจะลุกลามทำให้เกิดความเสียหายได้มากทีเดียว
นายสิทธิพร สุวรรณสุต
นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน
CEO P.D. House