( ภาพ: Facebook “เมืองไทยในอดีต”)
ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน กรุงเทพฯ ยังเต็มไปด้วยคลอง ผู้คนอาศัยเรือในการเดินทาง มีการไปมาหาสู่ และแลกเปลี่ยนสินค้า เกิดเป็น “ตลาดเรือ” หรือ “ตลาดน้ำ” เมื่อเวลาผ่านไป คูคลองถูกแทนที่ด้วยถนนคอนกรีต เรือถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ ตลาดน้ำถูกแทนที่ด้วยตลาดบกและห้างสรรพสินค้า
( ภาพ: Facebook “เมืองไทยในอดีต”)
เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวในเมืองไทย คนส่วนมากเลือกที่จะซื้อของในห้างฯ เพราะนอกจากอากาศที่เย็นสบายแล้ว ส่วนลดและการบริการหลังการขายก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ด้วยเหตุนี้บทบาทของ “ตลาด” ในสังคมไทย จึงลดความสำคัญลงเรื่อยๆ
วันนี้เราขอพาทุกท่าน ลัดเลาะกรุงชม “ตลาดเก่าแก่ในกรุงเทพฯ” ซึ่งจะมีที่ไหนบ้าง และแต่ละแห่งมีความสำคัญอย่างไรนั้น ตามไปอ่านกันได้เลยค่าาาา 😉
1. โบ๊เบ๊
ตั้งอยู่ย่านคลองผดุงกรุงเกษม ช่วงระหว่างสะพานกษัตริย์ศึกกับตลาดมหานาค เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณข้างวัดบรมนิวาสราชวรวิหาร ด้านริมทางรถไฟ เริ่มต้นจากตลาดค้าผ้าแบกับดิน ทำให้มีราคาถูกมาก
ต่อมามีจำนวนพ่อค้าแม่ค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เริ่มคึกคักและเป็นที่รู้จักมากขึ้น วัดบรมนิวาส (พื้นที่บริเวณโบ๊เบ๊เป็นของวัด) ได้มอบหมายให้คนไทยเชื้อสายอิสลาม เข้ามาเป็นผู้ที่เข้ามาดูแลความเรียบร้อย และจัดเก็บผลประโยชน์ให้กับทางวัด ซึ่งกิจการของตลาดโบ๊เบ๊ ก็ดำเนินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงจากแบกับดินมาเป็นแผงลอย และเปลี่ยนแปลงแผงลอยมาเป็นอาคารพาณิชย์ในที่สุด
2. สำเพ็ง
ย่านการค้าสำคัญของประเทศไทย ตั้งอยู่ในบริเวณถ.วานิช 1 ถนนเล็กๆ ในเขตสัมพันธวงศ์ โดยก่อนหน้านี้ สำเพ็งมีประวัติศาสตร์เคียงคู่มากับการสถาปนากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงเลยทีเดียว
หลังจากที่รัชกาลที่ 1 ทรงย้ายเมืองมาตั้งยังฝั่งพระนคร(กรุงรัตนโกสินทร์) ก็โปรดเกล้าให้ชาวจีนโยกย้ายจากบริเวณท่าเตียนไปอยู่ ณ ที่สวน ตั้งแต่คลองวัดสามปลื้มไปจนถึงคลองวัดสำเพ็ง ชาวจีนก็ได้สร้างชุมชนของตัวเอง ทั้งการสร้างย่านการค้าขาย จนเติบโตกว้างขวาง โดยส่วนมากจะอาศัยอยู่ทางใต้ของพระนคร ได้แก่ ชุมชนตลาดสะพานหัน ตลาดเก่า ตลาดสำเพ็ง ตลาดวัดเกาะ (วัดสัมพันธวงศ์) และตลาดน้อย
สำเพ็งเวลานั้นเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยรัชกาลที่ 4 จัดได้ว่าเป็นตลาดบกที่ใหญ่ที่สุดของพระนคร สินค้าที่นำเข้ามาขายนอกจากจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศแล้ว ยังมีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยมากเป็นข้าวของเครื่องใช้จากประเทศจีน สำเพ็งนอกจากจะเป็นตลาดใหญ่แล้ว ยังเป็นแหล่งรวมอบายมุขระดับใหญ่ของประเทศในยุคนั้น มีทั้งโรงฝิ่น บ่อนการพนัน และโรงหญิงโสเภณี (สมัยนั้นเรียก “บ้านโคมเขียว”) ซึ่งมีอยู่หลายสำนัก และด้วยเหตุที่เป็นย่านการค้าขายและแหล่งชุมชนที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น มีการเปรียบเทียบภาพของสำเพ็งในยุคนั้นว่า “ไก่บินไม่ตกพื้น” เพราะหลังคาบ้านแต่ละหลังต่างเกยกัน ทำให้มีเหตุเพลิงไหม้บ่อยอยู่เป็นประจำนั่นเอง
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นว่า สำเพ็งนั้นเติบโตมากเกินไปแล้ว และยังเป็นแหล่งไม่เจริญหูเจริญตา ฝรั่งหรือชาวต่างชาติที่มาเห็นต่างตำหนิติเตียน พระองค์จึงมีรับสั่งให้สร้างถนนตรงกลางสำเพ็ง เพื่อทำการขยายชุมชนและย่านการค้าให้ใหญ่โตรโหฐานมากยิ่งขึ้น อีกทั้งโปรดเกล้าให้สร้างตึกแบบฝรั่ง เพื่อให้ประชาชนได้ทำการค้าขาย ถนนที่สร้างใหม่ดังกล่าว เช่น ถ.ทรงวาด และ ถ.ราชวงศ์เป็นต้น
ถึงวันนี้สำเพ็งก็ยังขึ้นชื่อว่าเป็นย่านการค้าสำคัญ ที่มีสินค้าราคาถูกให้เลือกมากมาย ทั้งค้าปลีกและค้าส่ง ส่วนใหญ่เป็นสินค้ากิฟช็อป ตุ๊กตา ของเล่น เครื่องเขียน เครื่องประดับ กิ๊บติดผม กระเป๋า รองเท้า อุปกรณ์ของใช้ในบ้าน ดอกไม้ปลอม อาหารแห้ง ที่มีน้อยจะเป็นพวกเสื้อผ้าซึ่งไม่เน้นกันเท่าใด เปิดบริการทุกวันไม่มีวันหยุดตั้งแต่แปดโมงเช้าจนถึงห้าโมงเย็น โดยจะปิดทำการเฉพาะช่วงสงกรานต์
3. ปากคลองตลาด
ตลาดสดขนาดใหญ่ บริเวณถ.จักรเพชรยาวจนไปถึงถนนมหาราช ตั้งโอบล้อมวัดราชบูรณะ, โรงเรียนราชินีและโรงเรียนสวนกุหลาบ ประกอบไปด้วยตลาดใหญ่ถึง 5 แห่งตั้งติด ๆ กัน ปัจจุบันเน้นขายสินค้าเกษตรกรรมที่เน้นการค้าส่งผัก ผลไม้และดอกไม้สด ปากคลองตลาดติดอันดับที่ 4 (จากการจัดอันดับ 1 ใน 10 ของตลาดดอกไม้ทั่วโลก) ยังเป็นตลาดกล้วยไม้ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกอีกด้วย
ในสมัยอยุธยาปากคลองตลาดเป็นย่านชุมชน พบหลักฐานเป็นสิ่งปลูกสร้างทั้งวัดและป้อมปราการต่างๆ ที่ก่อสร้างขึ้นมาหลายแห่ง รอบๆ ชุมชนมีคูคลองและแม่น้ำหลายสายเข้ามาบรรจบกันจนมีลักษณะเป็นปากคลอง ต่อมาในสมัยธนบุรี เป็นจุดนัดพบของผู้คนที่สัญจรทางน้ำ มีการค้าขาย แลกเปลี่ยนสิ่งของ
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นตลาดค้าปลาขนาดใหญ่ที่ส่งตรง มาจากแม่น้ำท่าจีน (สมุทรสาคร) แล้วของที่ส่งผ่านมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา มีบันทึกว่าในในรัชสมัยของรัชกาลที่ 1 โปรดฯ ให้ขุดคลองหลายสายมาตั้งแต่เริ่มสถาปนากรุงเทพ รวมถึง “คลองตลาด” คลองเล็กข้างวัดบูรณศิริอมาตยาราม อีกทั้งในย่านไม่ไกลกันนี้ มีคลองที่ขุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2315 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน เรียกว่า “คลองใน” ซึ่งทั้ง 2 แห่งนี้เป็นตลาดสดเน้นการค้าปลาเป็นหลักมา จนในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่โปรดฯ จะเรียกตลาดนี้ว่า “ตะพานปลา” ในระยะหนึ่ง ก็เปลี่ยนจากตลาดค้าปลาไปยังตำบลวัวลำพอง หัวลำโพง แทน ตลาดปลานี้จึงแปรสภาพเป็นตลาดสด ค้าสินค้าเกษตร อย่างผัก ผลไม้และดอกไม้สด มาจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบัน ปากคลองตลาดประกอบด้วยตลาดหลัก 4 แห่งได้แก่ ตลาดองค์การตลาดเป็นของรัฐ สังกัดกระทรวงมหาดไทย ตลาดยอดพิมานเป็นของเอกชน ตลาดส่งเสริมเกษตรไทยเป็นของเอกชน และตลาดพุทธยอดฟ้าเป็นของเอกชน มีลักษณะเป็นอาคารพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่ สูง 2-4 ชั้น มีการวางสินค้าต่าง ๆ และแผงลอย กันสาด กันอย่างหนาแน่น ไม่นับรวมตลาดใต้สะพานพุทธ ซึ่งขายเสื้อผ้า ของประดับ ของเล่น อื่น ๆ อีกมาก ซึ่งจะขายเฉพาะเวลากลางคืนเท่านั้น หยุดเฉพาะวันจันทร์
4. ตลาดสะพานพุทธ
ในพ.ศ.2472 รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริให้มีการจัดงานเฉลิมฉลองการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานี ครบ 150 ปี โดยโปรดให้สร้างสะพานเชื่อมพระนครกับธนบุรีเข้าด้วยกัน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ร่วมกันรำลึกถึงโอกาสที่รัชกาลที่ 1 ทรงย้ายเมืองหลวงจากฝั่งธนบุรีมายังฝั่งพระนคร และโปรดฯให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของรัชกาลที่ 1 ไว้ที่เชิงสะพานฝั่งพระนครด้วย
(ภาพ: Thetrippacker.com)
ปัจจุบัน สะพานพุทธนอกจากจะเป็นสาธารณูปโภคที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของกรุงเทพแล้ว สะพานพระพุทธยอดฟ้า ยังเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้คน ในเวลาตั้งแต่ 18.00 น.- 23.00 น. บริเวณเชิงสะพานฝั่งพระนครจะมีตลาดนัดใหญ่มีสินค้ามากมาย โดยเฉพาะเสื้อผ้า เครื่องประดับ เป็นที่นิยมของบรรดาวัยรุ่น นอกจากนี้ยังเป็นที่ขายงานศิลปะของบรรดานักศึกษาเพาะช่างอีกด้วย สะพานพุทธ ช่วงเวลากลางวันจะเป็นท่าเรือด่วนและเรือข้ามฟาก ส่วนเวลากลางคืนตั้งแต่ 6 โมงเย็นขึ้นไปจะแปรสภาพเป็นแหล่งช้อปปิ้ง ไปจนถึงเวลาประมาณ 5 ทุ่ม
เสน่ห์ของตลาดสะพานพุทธแห่งนี้อยู่ที่ความเก๋าของสินค้า ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นน้องๆ นักเรียน นักศึกษา กลุ่มวัยรุ่น และวัยทำงาน ที่หลงเสน่ห์สินค้ามือสอง ที่สภาพดีและราคาถูก
5. ตลาดประตูน้ำ
สมัยราวปี พ.ศ. 2500 บริเวณประตูน้ำถือเป็นบริเวณขอบชานเมืองกรุงเทพฯ เพราะเลยออกจากตรงนี้ ก็มีแต่ทุ่งนาแล้ว จนกระทั่งตัดถนนเส้นใหม่ จากตลาดประตูน้ำ เลียบคลองแสนแสบไปจนถึงคลองตัน เรียกถนนเส้นนี้ว่า เพชรบุรีตัดใหม่ (ต่อจากถนนเพชรบุรีซึ่งเดิมทีตั้งต้นจากสะพานยมราชมาสิ้นสุดที่ประตูน้ำ)
พื้นที่แถวนั้นเดิมมีคลองสำหรับล่องเรือจากแถวคลองตันมาถึงถนนราชดำเนินแถวภูเขาทอง บังเอิญกรุงเทพน้ำท่วม ก็เลยทำประตูเก็บกักและระบายน้ำที่มาจากคลองตันไม่ให้ท่วมกรุงเทพฯชั้นใน ชาวบ้านก็เลยเรียกแถวนั้นว่าประตูน้ำ ซึ่งมีถนนเพชรบุรีตัดผ่าน ย่านถนนเพชรบุรีเจริญมากในสมัยก่อนเป็นแหล่งท่องเที่ยวยามราตรี ตั้งแต่ทางรถไฟยมราช ไปจนถึงประตูน้ำ และเลยประตูน้ำขึ้นไปเรื่อย ๆ ย่านประตูน้ำมี มีร้านตัดเสื้อผ้าดัง ๆ ภัตราคารร้านอาหารดัง โรงเรียน โรงหนังดัง ๆ ซึ่งคนไปเที่ยวมาก ๆ ต่อมาได้มีการสร้างห้างสรรพสินค้าไดมารูใกล้แถวนั้นซึ่งทันสมัยมาก ตามมาด้วยห้างสรรพสินค้าอินทรา-โรงแรมอินทรามีสถานที่บันเทิงที่ทันสมัย มีผลทำให้แถวนั้นกลายเป็นแหล่งการค้าเสื้อผ้า เครื่องหนัง ที่สะดวกซื้อสะดวกขายมาก ๆ
ห้างพันธ์ทิพย์สร้างขึ้นมาภายหลัง เป็นห้างที่เป็นแหล่งขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป ศุนย์พระเครื่อง และสถานบันเทิงที่มีนักร้องระดับประเทศไปร้องประจำในพันธ์ทิพย์ ภายหลังเกิดตึกใบหยกและร้านค้าเสื้อสำเร็จรุปแถวตึกใบหยกและเป็นแหล่งค้าส่งที่ดีมาก ๆ ทำให้พ่อค้าทิ้งห้างพันธ์ทิพย์ไปค้าขายด้านตึกใบหยก ต่อมาถึงยุคคอมพิวเตอร์ การค้าขายคอมพิวเตอร์มาชุบชีวิตห้างพันธ์ทิพย์ มาเป็นพันธ์ทิพย์ในปัจจุบันนี้
6. พัฒน์พงศ์
ย่านบันเทิงยามราตรีของกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บนถนนพัฒน์พงศ์ซึ่งเชื่อมระหว่างถนนสีลมกับถนนสุรวงศ์ แขวงสีลม เขตบางรัก จัดเป็นย่านโคมแดงนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบไปด้วยคลับ บาร์ ตั้งอยู่บนถนนพัฒน์พงศ์ซอย 1 และพัฒน์พงศ์ซอย 2 และยังอยู่ใกล้เคียงกับถนนธนิยะ ที่เป็นย่านค้าบริการระดับสูง นอกจากชื่อในด้านธุรกิจบริการแล้ว พัฒน์พงศ์ยังเป็นย่านที่มีแผงลอยขายสินค้าในเวลากลางคืน มีชื่อเสียงเรื่องสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น แผ่นซีดี ดีวีดี และสินค้าเลียนแบบ
ถนนพัฒน์พงศ์ ตั้งอยู่บนพื้นที่เดิมเป็นสวนกล้วยรกร้าง และครอบครองโดยกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาจากชื่อตระกูลพัฒน์พงศ์พานิช ซึ่งซื้อที่ดินบริเวณนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 สร้างอาคารพาณิชย์ และตัดถนน ตั้งชื่อว่า “ซอยพัฒน์พงศ์ 1” ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 เริ่มมีไนต์คลับและสถานบันเทิงมาเปิด เพื่อรองรับทหารอเมริกันที่มารบในสงครามเวียดนาม และมีชื่อเสียงในช่วง พ.ศ. 2515-2535
7. จตุจักร
ตลาดแห่งนี้มีความเป็นมายาวนานกว่า 66 ปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 ในสมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีรัฐบาลมีนโยบายให้จัดตั้งตลาดนัดขึ้นในทุกจังหวัด สำหรับกรุงเทพนั้นได้เลือกสนามหลวงเป็นสถานที่จัดตลาดนัด แต่เพียงไม่ถึงปีทางราชการก็ย้ายตลาดนัด ไปอยู่ในพระราชอุทยานสราญรมย์แล้วจึงย้ายออกไปตั้งอยู่บริเวณสนามไชย และย้ายตลาดนัดกลับไปอยู่ที่สนามหลวงในปี พ.ศ. 2501
ต่อมาในปี พ.ศ. 2521 ได้มีนโยบายใช้สนามหลวงเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และจัดงานกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้มอบที่ดินย่านพหลโยธิน หรือที่ดินสวนจตจักรด้านทิศใต้ให้แก่ กรุงเทพฯ เพื่อใช้ในกิจการสาธารณประโยชน์ และกรุงเทพมหานครได้ปรับพื้นที่เพื่อให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยและขณะเดียวกันก็พยายามย้ายผู้ค้าจากสนามหลวงมาด้วย จนกระทั่งดำเนินการสำเร็จ เมื่อปี พ.ศ. 2525 โดยใช้ชื่อว่าตลาดนัดย่านพหลโยธิน ต่อมาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ตลาดนัดจตุจักร” ให้สอดคล้องกับสวนสาธารณะจตุจักรในบริเวณใกล้เคียง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 จนถึงปัจจุบัน
ในปัจจุบัน ตลาดนัดสวนจตุจักรได้เปลี่ยนอำนาจการดูแลจากกรุงเทพมหานคร สู่การรถไฟไทยโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2555
8. ตลาดน้ำคลองลัดมะยม
ตลาดน้ำที่เกิดจากรวมตัวของชาวบ้านชุมชนริมคลองลัดมะยม แต่เดิมเป็นตลาดริมน้ำเล็กๆ พอให้ ชาวบ้านได้จับจ่ายใช้สอยหรือแลกเปลี่ยนข้าวของกัน มายุคหนึ่งที่การคมนาคมทางถนนมีมากขึ้น มีรถยนต์วิ่งผ่านไปมา ทำให้การค้าที่ตลาดริมน้ำแห่งนี้ หมดความสำคัญลงจนเลิกราไป ในที่สุดชาวบ้านจึงรวมตัว ให้ชุมชนได้มีแหล่งจำหน่ายสินค้าที่ผลิตในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ ขนมคาวหวานที่ สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน และชุมชนยังได้มีกิจกรรมร่วมกันอย่างอบอุ่น
เมื่อชุมชนต้องการนำ เสนอกิจกรรมในคลอง ก็ต้องอนุรักษ์แม่น้ำลำคลอง เพื่อให้คูคลองสะอาดอยู่ตลอดเวลา ชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 20 ราย ของคลองลัดมะยมจึง เปิดตลาดน้ำคลองลัดมะยมสู่สาธารณชน ตลาดน้ำคลองลัดมะยม ได้รับรางวัลชุมชนท่องเที่ยวดีเด่นในกรุงเทพมหานคร จากการท่องเที่ยว แห่งประเทศไทยอีกด้วย
จุดเด่นของตลาดน้ำคลองลัดมะยม คือ อาหารนานาชนิดทั้งคาวและหวาน ไม่ว่าจะเป็น ก๋วยเตี๋ยว ปลาช่อนเผาเกลืออาหารขึ้นชื่อ อาหารทะเล หมูสะเต๊ะ ขนมจีน ลูกชุบ ขนมไทย เฉาก๊วยโบราณ ฯลฯ ที่มีให้เลือกรับประทานมากมายหลายชนิด ทั้งในส่วนของตลาดน้ำแล้วที่มีเรือของ ชาวบ้านพายมาขายยังมีตลาดบก โดยมีที่ให้นั่งทาน ทั้งแบบโต๊ะเตี้ยๆริมคลอง และแบบนั่งโต๊ะสะดวกสบายที่มีของขายอีกมากมาย
แม้ว่าบทบาททางเศรษฐกิจของตลาดจะลดลง แต่มูลค่าทาง “ประวัติศาสตร์” กลับเพิ่มขึ้น เพราะเป็นเครื่องแสดงถึงรากเหง้าและอดีตของคนไทย ปัจจุบันมีการพัฒนาตลาดหลายแห่ง โดยนำเอาวัฒนธรรมและวิถีชีวิตเก่าๆ ใส่ลงไป เพื่อโปรโมตให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ถือเป็นการสร้างมูลค่าให้ที่ดินแถวๆ นั้นไปในตัว