ปัจจุบันหลายๆประเทศในโลกเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุกันแล้วนะคะ ยิ่งในสังคมตะวันออกอย่างในประเทศไทยของเราหลายๆครอบครัวก็มักจะอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ อยู่กันแบบ 3 Generations ทีนี้การเลือกซื้อที่อยู่อาศัยหรือการตระเตรียมพื้นที่รองรับการใช้งานของผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่อนาคตจะสูงอายุก็ถือเป็นหนึ่งข้อควรคำนึงที่สำคัญที่ควรรู้ในการเลือกที่อยู่อาศัยค่ะ วันนี้เราจะพาไปดู 5 ตำแหน่งสำคัญ จัดห้องนอนผู้สูงอายุยังไง? ให้อยู่สบาย…หายห่วง

ปัญหาการจัดห้องนอนผู้สูงอายุ

ข้อแตกต่างของห้องนอนผู้สูงอายุกับห้องนอนทั่วๆไปจะอยู่ที่ 2 เรื่องนี้ค่ะ

  1. ระยะการใช้งาน 
    สำหรับผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ปัญหาหลักของท่านเลยคือการเดินค่ะ หลายๆท่านก็จะใช้ไม้เท้าบ้าง walker บ้าง หรือบางท่านก็ต้องนั่ง wheelchair เพื่อความปลอดภัย ดังนั้นระยะการใช้งานต่างๆ เช่น ทางเดินจากเตียงไปห้องน้ำ ระยะข้างเตียง จึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเวลาเราจะจัดห้องนอนผู้สูงอายุค่ะ
  2. การเลือกเฟอร์นิเจอร์ วัสดุ อุปกรณ์ที่เหมาะสม
    นอกจากระยะที่ต้องคำนึงถึงแล้ว วัสดุที่เลือกใช้หรือว่าเฟอร์นิเจอร์ควรเป็นวัสดุที่ปลอดภัย ไม่มีเหลี่ยมแหลมคมเยอะ ไม่ลื่น เฟอร์นิเจอร์ขนาดพอดี ไม่ใหญ่ไป ไม่เล็กไปค่ะ

สำหรับใครที่กำลังจะจัดห้องนอนผู้สูงอายุภายในบ้าน Living Idea นี้เรามี 5 ตำแหน่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงมาให้เป็นแนวทางในการจัดกันนะ

[ขนาดความกว้างประตู] เรื่องแรกที่จะพูดถึงเลยคือประตูห้องค่ะ ในบ้านทั่วไปหรือว่าตามคอนโด ส่วนใหญ่จะให้ประตูขนาดกว้าง 90 ซม.มาอยู่แล้วเป็นมาตรฐานค่ะ

และถ้าเรามาดูขนาด Wheelchair หรือรถเข็นนั้น มักจะมีขนาดกว้าง 70-80 ซม. ดังนั้นในการเลือกขนาดประตู ก็ควรเลือกอย่างน้อย 90 ซม. ซึ่งก็อาจจะพอดีกับการเข้าออกจนเกินไป ถ้าอยากให้เข้า-ออกห้องแบบสบายๆเลยก็ 100-120 ซม.ก็ได้นะคะ ใช้งานก็จะสะดวกขึ้น

[รูปแบบการเปิดประตู] สำหรับประตูที่เหมาะสมควรจะเป็นประตูบานเลื่อนหรือบานเปิดสวิงค่ะ

สำหรับประตูบานเลื่อนหรือว่าบานสไลด์นั้น เราจะเห็นได้ว่าเมื่อใช้งาน ผู้สูงอายุก็จะไม่ต้องถอยเพื่อหลบบานสวิงใช่ไหมคะ? ดังนั้นประตูบานเลื่อนจึงเหมาะสำหรับการใช้งานในห้องผู้สูงอายุมากเลย สำหรับการติดตั้งประตูบานสไลด์นั้น จะมีหลายแบบค่ะ ทั้งแนวรางที่อยู่ข้างบนและล่าง หรือว่ามีเฉพาะรางที่อยู่ด้านบน ถ้าเป็นไปได้แนะนำให้เลือกติดเฉพาะรางบนจะดีกว่านะคะ เพื่อที่ว่าระดับพื้นล่างจะไม่มีรางโผล่พ้นพื้นสูงขึ้นมา ป้องกันการเดินสะดุดล้มได้ค่ะ

ส่วนประตูบานเปิดสวิงนั้น เราแนะนำให้เป็นประตูที่สามารถสวิงได้ทั้งสองทาง(เข้าและออก) หรือถ้าได้ทางเดียวก็แนะนำให้เปิดออกนอกห้องจะดีกว่าค่ะ เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน อากงล้มหน้าประตูถ้าห้องนั้นเป็นประตูเปิดเข้าทางเดียวเราก็จะเปิดเข้าไม่ได้ ติดคนที่นอนล้มอยู่นั่นเองค่ะ ส่วนลูกบิดประตู

ถ้าเลือกได้แนะนำให้ใช้มือจับแบบก้านโยก เพราะเวลาใช้งานจะออกแรงน้อยกว่ามือจับที่เป็นลูกบิดค่ะ

สำหรับหัวข้อต่อมาคือเรื่องวัสดุปูพื้นค่ะ ส่วนใหญ่วัสดุปูพื้นที่เรามักจะเจอกันก็จะเป็นลามิเนตบ้าง หรือว่ากระเบื้องบ้างนะคะ สองอย่างนี้มักจะให้มาตามมาตรฐานของบ้านจัดสรรหรือคอนโดทั่วๆไปค่ะ แต่ถ้าเราต้องเลือกเองแนะนำวัสดุพื้นที่มีพื้นผิวไม่มันหรือว่าไม่ลื่น ถ้าเป็นกระเบื้องก็ให้มีผิวด้านหรือฝืด ซึ่งจุดนี้จะสามารถสังเกตได้จากค่า R ค่ะ โดยสามารถเลือกค่า R อยู่ในช่วง R9-R12 โดย R9 ก็จะหยาบน้อยสุด ส่วน R12 จะหยาบมากสุดค่ะ ยิ่งหยาบมากยิ่งดี โดยเฉพาะในห้องน้ำนะคะ เลือกกระเบื้องค่า R เยอะๆจะช่วยให้ไม่ลื่นและยังคงทำความสะอาดได้ง่ายค่ะ

ในส่วนของห้องนอน ครั้นจะใช้กระเบื้องก็จะไม่ได้บรรยากาศที่อบอุ่นเท่าไหร่ เท้าเย็นอีกด้วย หลายๆคนก็ยังอยากได้สีสันลวดลายพื้นให้ดูเป็นไม้ ดังนั้นวัสดุที่เราแนะนำจะเป็นวัสดุปูพื้นลดการกระแทกค่ะ เช่น Absorbtion floor ของ SCG หรือว่าพื้นไม้คอร์ก ที่ได้พื้นผิวใกล้เคียงกับไม้จริง ได้บรรยากาศ warm&cozy

หัวข้อถัดมาคือระยะการสัญจรค่ะ หัวข้อนี้จะสำคัญอย่างยิ่งกับผู้สูงอายุที่ต้องใช้ wheelchair เลยค่ะ นอกจากทางเดินที่ควรจะต้องกว้างไม่น้อยกว่า 90 ซม.แล้ว เราต้องมีพื้นที่สำหรับกลับตัวให้รถเข็นด้วย อย่างน้อย 1-2 จุดในห้องเพื่อให้หมุน wheelchair ได้ค่ะ

โดยจุดกลับตัวนั้นควรออกแบบให้เป็นพื้นที่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 150 ซม. จะได้สะดวกทั้งกรณีที่มีคนเข็นให้ หรือว่าผู้สูงอายุบางท่านก็เข็น wheelchair เองก็สะดวกนะ

พูดถึงห้องนอนแล้วจะไม่พูดถึงเตียงนอนก็คงเป็นไปไม่ได้ค่ะ ในการเลือกเตียงนอนนั้น เน้นซื้อเตียงที่ไม่มีเหลี่ยมมุมก็จะดีนะคะ แนะนำให้หาดีไซน์ของเตียงที่บุด้วยเบาะหรือผ้า โค้งมนบริเวณมุมต่างๆ เพื่อลดโอกาสในการเดินชน กระแทก บาดเจ็บได้ค่ะ

ส่วนความสูงจากพื้นถึงขอบฟูกด้านบน ให้อยู่ในระยะประมาณ 45-50 ซม. เป็นระยะใกล้เคียงกับเก้าอี้นั่ง เพื่อที่จะได้ลุกนั่งสะดวกนั้นเองค่ะ และสำหรับผู้สูงอายุที่ใช้ wheelchair ก็อย่างลืมเผื่อระยะเข็นข้างเตียงไว้อย่างน้อย 90 ซม.ด้วยนะคะ

บริเวณหัวเตียงอาจจะมีโต๊ะไว้วางกระดิ่ง โทรศัพท์ หรือติดตั้งปุ่ม Emergency ไว้ในระยะที่เอื้อมถึง เผื่อวันดีคืนดีเกิดอากงล้มแล้วลุกไม่ขึ้นก็จะได้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังสมาชิกคนอื่นภายในบ้านได้ค่ะ

สำหรับหัวข้อสุดท้ายคือห้องน้ำ เป็นตำแหน่งที่มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะเลยนะคะ เพราะถือเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้สูงเลย

[ขนาดห้องน้ำ] ภายในห้องน้ำนั้น ไม่ใช่ว่ายิ่งขนาดใหญ่ยิ่งดีนะคะ เพราะอาจจะลื่นล้มหัวฟาดได้ถ้าขนาดใหญ่ไป คิดซะว่าเป็นขนาดที่ถ้าเดินแล้วบังเอิญลื่นก็สามารถคว้าราวจับที่อยู่ข้างผนังได้ง่ายค่ะ แต่ก็ไม่แคบไปจนเข็น wheelchair เข้าไม่ได้(ในกรณีผู้สูงอายุที่ต้องใช้รถเข็น) และถ้าจะออกแบบให้สามารถเข็น wheelchair เข้าไปใช้งานได้ก็อย่าลืมเผื่อระยะกลับรถเข็น 150 ซม.ด้วยค่ะ โดยส่วนใหญ่ขนาดห้องน้ำที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุจะอยู่ที่ประมาณ 2.4×2.8 เมตรค่ะ

[ระดับพื้นภายในห้องน้ำ] เมื่อแก่ตัวขึ้นการจะยกขาก้าวเดินก็อาจจะทำไม่ได้ดั่งใจคิด อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุอย่างหนึ่งก็คือการสะดุดล้มนั่นเองค่ะ ถ้าเป็นไปได้ระหว่างพื้นห้องนอนกับห้องน้ำไม่ควรมีพื้นต่างระดับนะคะ

ส่วนการแก้ปัญหาเช่น น้ำจากในห้องน้ำ ฝุ่น ผงต่างจะจะไหล ปลิวมายังภายในห้องนอนก็สามารถแก้ได้ด้วยทำขอบสูงระหว่างห้องนอนและห้องน้ำประมาณ 1-2 ซม. และให้ขอบลาด เพื่อกันน้ำภายในห้องน้ำไหลนองเปียกไปยังห้องนอนค่ะ ส่วนภายในห้องน้ำเอง ก็ควรแยกพื้นที่ส่วนเปียกกับพื้นที่ส่วนแห้งจากกันนะคะ (พื้นที่ส่วนเปียกคือพื้นที่อาบน้ำ พื้นที่ส่วนแห้งคือโถสุขภัณฑ์ อ่างล้างหน้าที่เมื่อทำกิจกรรมแล้วพื้นไม่เปียก) ที่ควรแยกก็เพราะกันน้ำไหลนอง ลดโอกาสการลื่น หรือเกิดอุบัติเหตุนั่นเองค่ะ

[ห้องอาบน้ำ] พื้นที่ส่วนเปียกหรือพื้นที่อาบน้ำ เราอาจจะก่อขอบสูงลาดขึ้น 1-2 ซม.เหมือนที่กั้นระหว่างห้องน้ำและห้องนอนก็ได้ หรืออย่างในรูปจะนำเอารางระบายน้ำทำเป็นขอบเลยค่ะ น้ำจากพื้นที่อาบน้ำก็ไหลลงท่อเรียบร้อย ไม่ไปเลอะเทอะส่วนอื่นๆ

แต่ในการใช้งานอาบน้ำจริงน้ำก็จะกระเด็นออกไปอยู่ดีใช่ไหมค่ะ ในห้องอาบน้ำตามปกตินั้นเราก็มักจะแก้ปัญหาด้วยการติดฉากกั้นกระจก แต่สำหรับห้องน้ำผู้สูงอายุใช้งานนั้นไม่ควรค่ะ เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาแม้จะเป็นกระจก tempered ที่แตกละเอียดก็ยังสามารถก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้ ทางที่ดีหรือที่เราจะแนะนำก็อยากให้ใช้เป็นม่านอาบน้ำแทนจะดีกว่านะคะ

ส่วนภายในห้องอาบน้ำถ้ามีที่นั่งอาบน้ำด้วยก็จะดีค่ะ ช่วยให้ผู้สูงอายุที่ไม่มีแรงยืนนั่งอาบได้สะดวกขึ้น แต่ถ้าห้องน้ำนั้นไม่ได้ก่อที่นั่งอาบน้ำเอาไว้ให้ เราก็หาซื้อเก้าอี้สำเร็จรูปมาใช้ได้นะคะ แล้วอย่าลืมติดยางกันลื่นที่ขาเก้าอี้ไว้นะคะ

Image 1/3

[ชนิดสุขภัณฑ์] สำหรับสุขภัณฑ์นั้น ขอให้เลือกดีไซน์หรือรุ่นที่ออกแบบมาขอบโค้งมน ไรเหลี่ยมมุมนะคะ ขนาดต่างๆก็ตามมาตรฐาน เช่น โถสุขภัณฑ์สูงจากพื้น 40-45 ซม. , อ่างล้างหน้าสูงจากพื้น 80 ซม.ค่ะ

ข้อแนะนำในการเลือกโถสุขภัณฑ์อีกเรื่องคือปุ่มกดน้ำ (flush bottom) เราแนะนำแบบที่สามารถเอาฝ่ามือกดหรือว่าแบบก้านโยกที่ใช้งานง่ายนะคะ แบบนี้จะออกแรงน้อยกว่าแบบปุ่มกดบนฝานะ หรือว่าจะซื้อเป็นสุขภัณฑ์ที่พ่วงระบบชำระล้างอัตโนมัติไปด้วยเลยก็ดีค่ะ

ส่วนการเลือกดีไซน์ของอ่างล้างหน้านั้น ให้เลือกดีไซน์ที่มีพื้นที่โล่งใต้อ่าง (ไม่ต้องทำเป็นชั้นเก็บของ) ก็จะดีค่ะ เพราะสามารถเข็น wheelchair ไปใช้งานได้ง่าย หรือจะเป็นแบบก่อเคาน์เตอร์ครึ่งหนึ่งของอ่างแบบในรูปก็ได้เลย

[ราวจับ] อีกสิ่งสำคัญที่ควรจัดเตรียมไว้ภายในห้องผู้สูงอายุคือราวจับค่ะ ตัวราวจับเองก็มีหลายประเภทเลย เหมาะสำหรับติดตั้งที่ตำแหน่งที่ต้องเปลี่ยนท่าทางอิริยาบท

ราวจับที่เป็นเส้นตรงจะช่วยในการพยุงตัวเวลาเดิน

ราวจับตัว L ก็จะเหมาะเวลาเปลี่ยนอิริยาบทจากนั่งเป็นยืน ช่วยทั้งดึงตัวและพยุงตัวค่ะ

ส่วนบริเวณอ่างล้างหน้าจะมีแบบที่เฉพาะเจาะจงหน่อย เพราะจะยึดกับทั้งพื้นและผนัง ช่วยพยุงตัวและพอดีกับการใช้งานรถเข็นด้วยค่ะ

ตำแหน่งของห้องก็สำคัญเช่นกัน ถ้าห้องนอนอยู่ชั้นล่าง ใกล้ห้องน้ำ หรือมีประตูหน้าต่างเข้าถึงง่ายก็ดีค่ะ เพราะถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินก็สามารถพาขึ้นรถได้ง่าย นอกจากนั้นบรรยากาศภายในห้องก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ห้องนอนอยู่สบายนะคะ ควรเป็นห้องที่ถ่ายเทอากาศได้ดี ปลอดโปร่ง ปลอดภัย สบายใจค่ะ

นอกจากจะรู้วิธีการจัดห้องนอนผู้สูงอายุแล้ว ถ้าบทความนี้ยังไม่จุใจเข้าไปอ่านต่อกันที่บทความ >> รวมเทคนิคและราคา ปรับบ้านธรรมดาให้เหมาะกับผู้สูงอายุ

#ห้องนอนผู้สูงอายุ #ห้องนอนผู้สูงอายุชั้นล่าง #ElderlyBedroom


ThinkofLiving มี LINE Official Account แล้วนะคะ
ไม่อยากพลาดข้อมูลข่าวสารก็ Add เลย > https://lin.ee/svACOxc