คงปฏิเสธไม่ได้นะครับว่าการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในสมัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นคอนโดมิเนียม หรือบ้านแนวราบ เรื่องของ “Facilities หรือ พื้นที่ส่วนกลาง” มักจะเข้ามามีส่วนในการตัดสินใจเลือกซื้อด้วยเสมอ ซึ่งแต่ละคนก็จะมี Lifestyle และความต้องการที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นเราจึงต้องเลือกโครงการที่สามารถตอบสนองความต้องการของเราได้มากที่สุดนั่นเอง เพราะสิ่งนี้จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิต ณ สถานที่แห่งนั้นได้อย่างมีความสุขครับ
นับตั้งแต่ที่ Think of Living เคยได้ไปเยือนโครงการมาหลายแห่ง ก็ทำให้เห็นว่าแต่ละโครงการมีจุดเด่นของส่วนกลางที่แตกต่างกันออกไปครับ ทั้งนี้ก็เพราะแต่ละทำเล แต่ละโครงการ ล้วนมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นของตัวเอง และยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้ส่วนกลางของโครงการต่างๆ ก็มีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน บ้างก็ทันสมัยและดีขึ้นมากจนน่าตกใจ บ้างก็กลายเป็นฟังก์ชันในตำนาน ที่เริ่มเลือนหลายไปตามกาลเวลา และจะพบเจอได้เฉพาะโครงการสมัยก่อนเท่านั้น
โดยทั่วไปพื้นที่ส่วนกลางจะมีอยู่ค่อนข้างหลากหลาย เพื่อให้ง่ายต่อการจำแนก ผมจึงจะขอแบ่งตามฟังก์ชันการใช้งานดังนี้ครับ
- พื้นที่จอดรถ (Parking)
- พื้นที่ออกกำลังกาย (Fitness & Swimming Pool)
- พื้นที่ทำงานอ่านหนังสือ (Library & Co-Working Space)
- พื้นที่อเนกประสงค์บนดาดฟ้า (Roof Top & Sky Lounge)
และเพื่อความเป็นกลางของเนื้อหา ในบทความนี้ผมจึงคัดเลือกเฉพาะคอนโดระดับ Segment : Main Class (หรือ 70,000 บาท/ตร.ม.) – High Class (หรือ 120,000 บาท/ตร.ม.) ของ Think of Living ซึ่งเป็นระดับกลางที่คนส่วนใหญ่ยังพอจะสามารถหยิบจับเป็นเข้าของได้ และเป็นโครงการที่สร้างเสร็จพร้อมอยู่ เพื่อนำมาเปรียบเทียบความแตกต่างของส่วนกลางในแต่ละยุคให้เห็นกันชัดๆ จะเป็นอย่างไรบ้าง เราไปชมกันเลยครับ
1. เรื่องรถ “ลด” ในคอนโด
ถึงแม้ว่าโดยปกติแล้วคอนโดมิเนียมจะมีทั้งกฏกระทรวงฉบับที่ 7 และพรบ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 คอยกำหนดเรื่องจำนวนที่จอดรถขั้นต่ำเอาไว้อยู่แล้ว แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ความเจริญ และการคมนาคมดีขึ้น ก็ทำให้สัดส่วนบางอย่างโดยเฉพาะ “ที่จอดรถ” ในคอนโดเปลี่ยนไปเช่นกันครับ ถ้าเช่นนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่า จำนวนที่จอดรถตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน จนถึงปัจจุบัน จะมีการเปลี่ยนนแปลงไปอย่างไรบ้างครับ
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 – 20 ปีก่อน จะเห็นว่าคอนโดมิเนียมในช่วงนั้นมีที่จอดรถประมาณ 70 – 100% ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่เยอะมากเมื่อเทียบกับในสมัยนี้ แทบจะเรียกได้ว่าห้องทุกยูนิตจะต้องมีที่จอดรถเป็นของตัวเองอย่างน้อย 1 ช่องจอด ซึ่งถ้าเป็นสัดส่วนแบบนี้ในสมัยนี้ เราจะเห็นได้เฉพาะคอนโดระดับ Luxury เท่านั้นครับ
นั่นเป็นเพราะการเดินทางสมัยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ยังคงต้องพึ่งรถยนต์ส่วนตัวเป็นหลัก เนื่องจากเครือข่ายรถไฟฟ้ายังไม่ครอบคลุมเท่ากับตอนนี้ ซึ่งรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท (ช่วงหมอชิต – อ่อนนุช) เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 2542 และต่อมาในปี 2547 ก็ได้มีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT เกิดขึ้น ทำให้การคมนาคมด้วยรถสาธารณะในเมืองสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ส่งผลให้ตัวคอนโดมิเนียมเองก็มีจำนวนที่จอดรถที่ลดลงเช่นกันครับ (จำได้ว่าตอนนั้นผมยังเรียนมัธยมอยู่เลย ฮ่าๆๆ)
และในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ช่วง 5 ปีแรก จะเห็นจำนวนที่จอดรถมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆครับ จากเดิมคือประมาณ 62% เหลือเพียง 47% (ลดลง 15%) ส่วนในช่วง 5 ปีหลัง ที่จอดรถลดลงจาก 49% เหลือเพียง 42% (ลดลง 7%) สาเหตุเป็นเพราะ การคมนาคมในปัจจุบันสะดวกมากขึ้น ทั้งรถไฟฟ้า GrabTaxi และอื่นๆอีกมากมาย อีกทั้งราคาที่ดินปัจจุบันเริ่มมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ แปลงที่ดินใหญ่ๆตำแหน่งดีๆในเมืองก็เริ่มหายากขึ้นทุกวัน ดังนั้น Developer จึงได้ลดทอนพื้นที่ส่วนจอดรถลง แล้วนำไปเพิ่มกับพื้นที่ส่วนกลางและพื้นที่ขายแทนครับ เพื่อให้โครงการนั้นๆคุ้มทุนมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
ดังนั้น ถ้าปัจจุบันใครเป็นคนยังคงใช้รถยนต์ในการเดินทางเป็นหลัก แต่คงไม่อาจเอื้อมถึงคอนโด Luxury ที่มีที่จอดรถเยอะๆในสมัยนี้ได้ อาจลองเปลี่ยนมามองหาคอนโดตัวเก่าๆดูบ้างก็ได้ครับ เวลากลับบ้านมาแล้วจะได้มั่นใจได้ว่า โครงการจะมีที่จอดรถเพียงพอ หมดปัญหาเรื่องแย่งที่จอดรถกันเอง แถมราคายังเป็นมิตร เข้าถึงได้ง่ายกว่าอีกด้วยครับ
แต่ถ้าสังเกตดีๆในช่วงปีตั้งแต่ปี 2559 – 2562 เป็นต้นมา บางโครงการจะเริ่มมี % ที่จอดรถเพิ่มมากขึ้นครับ นั่นหมายความว่า Developer เริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้กันอีกครั้งหนึ่ง และเริ่มมีการใช้ที่จอดรถแบบ Automatic Parking System หรือระบบที่จอดรถอัตโนมัติกันมากขึ้นครับ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และทดแทนส่วนจำนวนที่จอดรถในโครงการที่ลดน้อยลงไป ทำให้สามารถจอดรถได้มากขึ้น และประหยัดพื้นที่ได้มากกว่าการจอดแบบปกติ
ซึ่งก็มีทั้งคนที่ชอบระบบนี้ เพราะค่อนข้างสะดวก ที่สำคัญคือ ตัวรถจะไม่ต้องตากแดดตากฝน หรือเกิดความเสียหายเฉี่ยวชนกับอย่างอื่นให้เป็นรอยง่ายๆ แต่ก็ต้องแลกมากับค่าบำรุงรักษาประจำปีที่เพิ่มขึ้นตามมาเช่นกันครับ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว Developer มักจะใช้ระบบนี้กับคอนโดในเมือง ทำเลดีๆ แต่ราคาที่ดินแพง เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าของต้นทุนที่ดินให้มากที่สุดนั่นเอง
ส่วนคนที่ไม่ชอบ อาจเพราะไม่สะดวกเหมือนเก่า เช่น บางทีเราอาจแค่ต้องการหยิบของในรถสัก 1 – 2 ชิ้น ก็จะต้องรอเรียกรถลงมาทุกครั้ง ซึ่งก็ใช้เวลาค่อนข้างนานอย่างน้อยๆ 2 – 3 นาทีต่อคัน หรือถ้าบางครั้งลิฟต์จอดรถเกิดเสียหรือขัดข้องขึ้นมา ก็จะเอารถขึ้น/ลงมาไม่ได้เลย เป็นต้น
ซึ่งจริงๆแล้วระบบนี้เริ่มมีใช้ในไทยมาเป็น 10 ปีแล้วนะครับ ซึ่งในช่วงแรกๆจะใช้กับพวกห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆที่เรารู้จักกันดี เช่น ห้าง EmQuartier แต่สำหรับคอนโดมิเนียมแล้วก็พึ่งจะเริ่มใช้กันจริงๆจังๆก็เมื่อไม่กี่ปีก่อนนี้เอง ซึ่ง Developer เจ้าแรกๆส่วนใหญ่ก็จะเป็นที่รู้จักกันดีในท้องตลาด ทั้ง Origin Property, Ananda Development, Raimon Land, Major Development และเจ้าอื่นๆอีกมากมายครับ
สุดท้ายคือเรื่อง EV Charger Station หรือ สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ที่เราเริ่มเห็นคอนโดสมัยใหม่เริ่มนำใช้ภายในโครงการกัน หลายๆคนมักเกิดคำถามในใจว่า “มีทำไม?…มีไปก็ไม่ได้ใช้” งั้นเราลองมาดูกันว่า ณ วันนี้ที่ผมเขียนบทความอยู่ มีรถยนต์ไฟฟ้ากี่คันที่คนทั่วไปสามารถหยิบจับเป็นเจ้าของได้บ้าง
จะเห็นได้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่มีขายอยู่ตามท้องตลาด ไม่ได้มีราคาสูงอย่างที่คิดเลยครับ (สมัยก่อนมีแค่เฉพาะรถนอกอย่าง Tesla ราคา 12 ล้านบาท) และสถานีชาร์จไฟฟ้าก็เริ่มมีให้เห็นกันแล้วตามจุดต่างๆทั่วประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ในคอนโดมิเนียมระดับ Main Class ทั่วไปด้วยครับ ได้แก่
ซึ่งในความคิดเห็นของผม “ถ้าในอนาคตภาครัฐให้ความสนใจ หรือมีมาตรการช่วยเหลือด้านภาษีประชาชน และมีภาคเอกชนให้การสนับสนุน เราอาจได้เห็นรถยนต์ประเภทนี้บนท้องถนน หรือในคอนโดมิเนียมกันมากขึ้นก็ได้ครับ ซึ่งในวันนั้น “วัยรุ่นยุคใหม่” ที่ต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือมีอยู่แล้วในครอบครอง ถ้าคอนโดไหนที่ไม่มี EV Charger Station ในตอนนั้นก็คงจะลำบากหน่อย อาจถูกตัดออกจากตัวเลือกในการซื้อคอนโดตั้งแต่ตอนแรกเลยด้วยซ้ำครับ”
2. พื้นที่ออกกำลังกาย สำหรับคนรักสุขภาพ
ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย “สุขภาพที่ดี” เป็นสิ่งสำคัญที่คนเราทุกคนใฝ่หา เพราะนอกจากจะทำให้รูปร่างและบุคลิกของเราดูดีแล้ว ยังทำให้เรามีร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย จะได้อยู่กับคนที่เรารักไปนานๆด้วย โดยในคอนโดมิเนียมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเกือบทุกแห่ง มักจะมีพื้นที่ส่วนกลางอย่าง ห้องออกกำลังกาย (Fitness) และสระว่ายน้ำ (Swimming Pool) เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ซึ่งจะเล็กหรือใหญ่นั้นก็ขึ้นอยู่กับ Segment และขนาดของโครงการนั้นๆครับ แต่ทุกคนทราบหรือไม่ครับว่า ส่วนกลางที่เราเห็นกันในปัจจุบันนี้ ก็มีวิวัฒนาการที่แตกต่างไปจากอดีตอยู่เหมือนกัน
สำหรับสระว่ายน้ำผมสามารถแบ่งออกเป็น 3 ยุคสมัยนะ โดยในยุคแรกๆของคอนโดมิเนียม ช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 จะยังใช้ระบบคลอรีนกันอยู่ อีกทั้งตำแหน่งของสระว่ายน้ำส่วนใหญ่ก็จะตั้งอยู่บนพื้นชั้น 1 หรือชั้น 2 แล้วยังมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก นั่นเป็นเพราะเทคโนโลยีในสมัยนั้นยังไม่เจริญมากเท่าสมัยนี้ครับ แต่ที่แน่ๆเราจะได้สระว่ายน้ำที่มีบรรยากาศสบายๆ สไตล์รีสอร์ท หรือบางทีก็จะเหมือนสระว่ายน้ำตามสโมสรเลยครับ
หลังจากนั้นในยุคที่ 2 จะเริ่มมีระบบเกลือเข้ามา แต่ในตอนนั้นการทำสระว่ายน้ำระบบเกลือ จะยังใช้งบประมาณการก่อสร้าง และการดูแลรักษาที่สูงอยู่ครับ จึงทำให้เกิดระบบลูกผสมระหว่าง “เกลือ + คลอรีน” ที่บางโครงการมีการใช้กันอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่ก็เริ่มมีการขยับตำแหน่งของสระว่ายน้ำไปอยู่บนชั้นโพเดียม ลานจอดรถกันมากขึ้น ซึ่งคอนโดที่ผมกล่าวมาทั้ง 2 ยุคนี้ ส่วนใหญ่เราจะพบในคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จมาแล้วประมาณ 7 – 8 ปีก่อน หรือในช่วงไม่เกินปี 2555 ได้แก่
- Patumwan Resort by AP (สร้างเสร็จปี 2540)
- Lumpini Place Phahonyothin – Saphankhwai by LPN (สร้างเสร็จปี 2552)
- Ideo Ladprao 5 by Ananda (สร้างเสร็จปี 2553)
- The Issara Ladprao by Charn Issara (สร้างเสร็จปี 2554)
- Voque Sukhumvit 31 by Apollo Asset (สร้างเสร็จปี 2555)
- Sense Phaholyothin by Sense Estate (สร้างเสร็จปี 2555)
จนมาถึงคอนโดในช่วงยุคที่ 3 หลังๆก็จะกลายเป็นระบบเกลือทั้งหมดอย่างที่เราเห็นกันปัจจุบันแล้วครับ ถึงแม้ว่าขนาดของสระจะไม่ได้ใหญ่มากขึ้นกว่ายุคที่ 2 มากนัก เพราะส่วนมากจะแปรผันตามจำนวนผู้ใช้งานในโครงการอยู่แล้ว แต่คอนโดยุคใหม่ๆนี้ ส่วนใหญ่จะจัดให้สระว่ายน้ำอยู่ในตำแหน่งชั้นสูงๆของโครงการ ถ้าเป็น Low Rise ก็มักจะอยู่ชั้นดาดฟ้า และถ้าเป็น High Rise ก็จะอยู่บน Sky Facilities เหนือห้องพักอาศัยทั่วไป ซึ่งนอกจากตัวสระจะมีความทันสมัยมากขึ้นแล้ว ยังได้ว่ายน้ำออกกำลังกายและสามารถ Take View สวยๆเป็นมุมกว้างได้อีกด้วยครับ
โดยวิธีการวางในตำแหน่งแบบนี้ ถ้าเป็นโครงการในสมัยก่อนเราจะพบเห็นได้เฉพาะคอนโดระดับ Luxury ขึ้นไปเท่านั้น แต่ด้วยเทคโนโลยีก่อสร้างในปัจจุบัน จึงทำให้เป็นเรื่องง่าย รวมถึงค่าก่อสร้างและค่ารบำรุงรักษาก็ไม่สูงเวอร์เท่าสมัยก่อนอีกแล้วนั่นเอง ซึ่งถ้าใครเป็นคนชอบว่ายน้ำเป็นประจำ ก็อาจเลือกคอนโดที่มีสระว่ายน้ำที่ใหญ่ และอยู่ในตำแหน่งที่ดีๆแบบนี้ คอนโดสมัยใหม่ก็มีตัวเลือกค่อนข้างเยอะเลยครับ
และนอกจากนี้ บางโครงการก็มีฟังก์ชันในน้ำพิเศษ เช่น Jacuzzi, Jet Spa หรือแม้แต่ Aqua Bike ซึ่งเป็นเครื่องออกกำลังกายในน้ำ สำหรับผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ ที่ต้องทำการกายภาพในน้ำก็มีครับ ซึ่งจะเห็นว่าสมัยนี้แค่สระว่ายน้ำก็มีให้เราเลือกได้มากมายหลายแบบ ตามความต้องการและความชอบของแต่ละคน
ถ้าใครเป็นคนที่ชอบว่ายน้ำจริงจัง ต้องการสระยาวๆใหญ่ๆ วิวดีๆ ก็สามารถเลือกคอนโด High Rise ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ได้ครับ ซึ่งก็แลกมากับจำนวนเพื่อนบ้านที่เยอะด้วยเช่นกัน แต่ถ้าใครเป็นคนชอบทำกิจกรรมรูปแบบอื่น ก็อาจให้ความสำคัญกับฟังก์ชันอื่นๆแทนก็ได้นะ
ต่อมาคือฟังก์ชัน “Fitness” ภายในโครงการ โดยสิ่งที่แตกต่างจากอดีตก็คือ Mood & Tone, ขนาดพื้นที่ และอุปกรณ์เครื่องเล่นต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไปครับ ซึ่งห้องออกกำลังกายในคอนโดสมัยก่อน มักจะเป็นห้องที่ “มีปริมาตรพื้นที่เยอะ” มีหลายโครงการเลยครับที่ทำห้อง Fitness แบบฝ้าเพดานสูง
ซึ่งไม่ใช่แค่ 6 เมตร แต่บางโครงการสูงไปถึง 9 เมตร เลยก็มี บรรยากาศภายในจึงค่อนข้างโปร่งโล่งมากๆ ได้ช่องแสงขนาดใหญ่ ชมวิวภายนอกได้เต็มที่ และมีแสงธรรมชาติเข้าอย่างเพียงพอโดยไม่ต้องเปิดไฟในตอนกลางวันเลยด้วยซ้ำ ส่วนพื้นที่ใช้สอยก็กว้างขวางมาก สามารถจัดวางอุปกรณ์ออกกำลังกายได้แบบหลวมๆ ใช้งานสบายๆ
แต่สำหรับ Fitness ของคอนโดในยุคใหม่ จะมีจุดเด่นในเรื่อง “การจัดสรรพื้นที่” ได้ดีขึ้นครับ เพราะยิ่งนับวันราคาที่ดินยิ่งสูงขึ้น Developer จึงต้องใช้สอยพื้นที่ส่วนกลางให้คุ้มค่ามากที่สุด สังเกตได้จากฝ้าเพดานที่เคยสูงโปร่งแบบเมื่อก่อน จะไม่ค่อยมีให้เห็นกันแล้ว แต่จะมีเครื่องเล่นจำนวนเยอะและหลากหลายมากขึ้น
รวมถึงมีการจัดโซนเครื่องเล่นต่างๆกับพื้นที่ภายใน ให้สัมพันธ์กับฟังก์ชันการออกกำลังกายนั้นๆได้ดีขึ้น และบางโครงการก็มีห้องโยคะ เวทีมวย หรือ Golf Simulator แยกออกไปเลยก็มีครับ และแน่นอนว่าอุปกรณ์เครื่องเล่นต่างๆ ก็จะมีหน้าตาและเทคโนโลยีที่ดีมากขึ้นอีกด้วย เรียกได้ว่าสมัยนี้ฟังก์ชัน Fitness ในคอนโดค่อนข้างสะดวก และครบวงจร ไม่แพ้ Gym ตามห้างสรรพสินค้าเลยครับ
3. เมื่อห้องอ่านหนังสือ กลายเป็นห้องทำงาน
สำหรับฟังก์ชัน ห้องสมุด หรือ Library เป็นมุมเงียบสงบในคอนโดมิเนียม ที่ใครหลายๆ มักจะมาใช้นั่งทำงานอ่านหนังสือกัน ซึ่งถ้าเป็นในสมัยนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่จะมีฟังก์ชันนี้ภายในคอนโด แต่ถ้าเรานับย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีก่อน หรือกลุ่มคอนโดที่สร้างก่อนปี 2554 นับโครงการได้เลยครับที่จะมีฟังก์ชัน Library เป็นของตัวเอง
ซึ่งส่วนใหญ่เฟอร์นิเจอร์ภายในก็จะเป็นชุดโต๊ะเก้าอี้ แบบที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดีเวลาเราไปตามห้องสมุดต่างๆ หรือไม่ก็เป็นชุดโซฟาให้มานั่งอ่านหนังสือกันแบบชิลๆ สบายๆ มากกว่า และอีกอย่างคือ “ขนาดพื้นที่” ของฟังก์ชันนี้จะไม่ใหญ่มากครับ เพราะคนในสมัยนั้นส่วนมากแล้ว วันปกติเราก็ต้องออกไปทำงานที่ออฟฟิศ เย็นกลับบ้านมาก็จะพักผ่อนอยู่ในห้อง จึงทำให้มีแค่วันหยุดเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้มาใช้งานจริงๆ
แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไป Lifestyle การใช้ชีวิตของคนก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน จากเดิมที่ทุกคนเคยต้องออกไปทำงานทุกวันจันทร์ – ศุกร์ ก็กลายเป็นว่ามีงานที่เราสามารถนั่งทำที่บ้าน และส่งงานออนไลน์ได้โดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ แน่นอนว่าคนที่อยู่อาศัยในคอนโดที่มี Library ก็ต้องเลือกที่จะมานั่งทำงานกันอยู่ในห้องนี้บ่อยๆ นานวันเข้าจึงทำให้ฟังก์ชันนี้กลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันไปเลยครับ
ซึ่งทาง Developer ก็ได้เห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้เหมือนกันครับ จึงได้มีการพัฒนามาเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นฟังก์ชันที่เรียกว่า Co-Working Space ซึ่งมีการแบ่งโซนพื้นที่ทำงานค่อนข้างหลากหลาย มีทั้งแบบนั่งทำงานเดี่ยว แบบนั่งเป็นกลุ่ม แบบเคาน์เตอร์บาร์ หรือแบบโซฟานั่งชิลๆ สบายๆ ก็มี บางที่ก็ทำโต๊ะทำงานให้มีฉากกั้นแยกเป็นสัดส่วน และแต่ละจุดจะมีปลั๊กไฟให้เสียบชาร์จคอมพิวเตอร์ได้ Free Wi-Fi รวมถึงบางทีก็จะมี Meeting Room ที่กั้นแยกออกไปเป็นสัดส่วน เพื่อความเป็นส่วนตัวอีกด้วยครับ
ดังนั้นใครที่เป็นสายฟรีแลนซ์ หรือต้องทำงานที่บ้านไม่ต้องเข้าออฟฟิศ ส่วนตัวผมมองว่า “คอนโดยุคใหม่” น่าจะตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ดีเลยทีเดียว เพราะถ้าเรามี Lifestyle ลักษณะนี้ แล้วคอนโดไหนที่ไม่มีฟังก์ชันแบบนี้เลย ก็แทบจะถูกตัดออกจากตัวเลือกไปตั้งแต่แรกเลยจริงมั๊ยครับ ซึ่งคนที่เป็นพนักงานออฟฟิศปกติก็สามารถใช้ประโยชน์จาก Co-Working Space ได้เช่นกันนะ แต่เราอาจให้น้ำหนักกับฟังก์ชันอื่นมากน้อยขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกันครับ
4. มงกุฎของคอนโด
เคยสังเกตกันมั๊ยครับว่าโครงการคอนโดในสมัยก่อนแต่ละแห่ง จะไม่ค่อยมี Sky Facilities ที่ชั้นบนสุดของอาคารครับ เพราะมักถูกนำไปใช้เป็นพื้นที่ขาย ที่ยูนิตแพงๆ วิวดีๆ ไปเลยมากกว่า (ถ้าไม่ใช่คอนโดระดับ Luxury ขึ้นไป) ก็พึ่งจะเริ่มมี Sky Facilities ให้เห็นจริงๆจังๆกัน เมื่อประมาณ 6 ปีก่อน หรือในช่วงปี พ.ศ. 2556 นี้เองครับ
ซึ่งเป็นยุคที่คอนโดมิเนียมเริ่มแข่งกันที่ Facilities ค่อนข้างดุเดือด โดยทาง Developer หลายๆเจ้าให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่วนกลางภายในโครงการกันมากขึ้น นั่นเป็นเพราะว่าคนไทยเริ่มคุ้นชินที่อยู่อาศัยประเภทนี้กันแล้ว และมีการอยู่อาศัยแบบจริงจังกันมากขึ้น ไม่ต่างจากบ้านแนวราบเลยครับ
สำหรับชั้นดาดฟ้าของคอนโดในยุคแรกๆ ส่วนใหญ่จะจัดเป็นพื้นที่ Outdoor ที่มีการปูพื้นหญ้าและสวนสีเขียว ให้เราสามารถเดินขึ้นมานั่งพักผ่อนหรือชมวิวได้ ต่อมาจึงได้เกิดเป็นพื้นที่แบบ Semi – Outdoor คือจะมีฟังก์ชัน “ศาลา” ที่มีหลังคาคลุม ช่วยบังแดดบังฝนได้ ทำให้สามารถขึ้นมานั่งเล่นบนดาดฟ้ากันได้จริงจังมากขึ้นครับ หรือบางโครงการก็มีการทำพื้นที่ส่วนหนึ่งของดาดฟ้า ให้กลายเป็นพื้นที่แบบ Indoor ไปเลยก็มีนะ ซึ่งนี่เองคือเป็นจุดเริ่มต้นของ Sky Lounge ที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันนี้ เพียงแต่ขนาดพื้นที่ Indoor อาจจะไม่ได้ใหญ่มากนัก เพราะยังคงเน้นหนักไปทางสวนแบบกลางแจ้งมากกว่าครับ
วิวัฒนาการต่อมาคือ เกิดเป็น Sky Lounge แบบเต็ม Floor เพื่อให้ลูกบ้านสามารถมาใช้งาน Sky Facilities ได้อย่างเต็มที่มากขึ้น และจะมีความแตกต่างกันของฟังก์ชันนี้ระหว่าง “คอนโดยุคเก่า” และ “คอนโดยุคใหม่” อย่างเห็นได้ชัดครับ คือถ้าเป็น Sky Lounge ของคอนโดสมัยก่อน จะมีขนาดพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ จัดวางเฟอร์นิเจอร์ที่มีแต่ชุดโต๊ะเก้าอี้และชุดโซฟาแบบหลวมๆ ซึ่งเห็นได้ชัดเลยครับว่ายังเป็นยุคที่จัดสรรพื้นที่ฟังก์ชันได้ไม่ดีนัก แต่บางคนก็อาจจะชอบบรรยากาศที่ดูโอ่อ่าและโปร่งโล่งแบบนี้ก็ได้นะครับ
ส่วนถ้าเป็น Sky Lounge ของคอนโดยุคใหม่ ก็จะมีการแบ่งแยกฟังก์ชันที่ชัดเจนและหลากหลายมากขึ้น เช่น มีเคาน์เตอร์บาร์ มุมนั่งดินเนอร์ จุดชมวิวพิเศษ เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าขนาดพื้นที่ของคอนโดยุคใหม่ในแต่ละฟังก์ชัน จะไม่ได้มีขนาดที่ใหญ่ หรือโล่งกว้างเท่ากับคอนโดยุคเก่า แต่จะเหมาะกับคนที่เน้นความหลากหลายในการใช้งาน มากกว่าเน้นเรื่องปริมาตรและขนาดพื้นที่ครับ
…เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับข้อมูลและวิวัฒนาการของพื้นที่ส่วนกลาง (Facilities) ของคอนโดมิเนียม ที่ผมได้นำมาฝากกันในวันนี้ อย่างที่ผมได้บอกไปตั้งแต่ต้นแล้วครับว่า ยุคสมัยเปลี่ยน อะไรๆก็เปลี่ยนแปลงไป แต่ความต้องการและ Lifestyle ของคนแต่ละยุค ก็ยังคงมีหลากหลาย ซึ่งแต่ละโครงการก็มีฟังก์ชันที่ตอบสนองคนเหล่านี้ได้ไม่เหมือนกันครับ
บางคนต้องการที่จอดรถเยอะๆ ก็อาจเหมาะกับคอนโดสมัยก่อน แต่ถ้าคำนึงถึงเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าด้วยแล้ว คอนโดใหม่ก็อาจตอบโจทย์ได้ดีกว่าก็ได้ บางคนชอบออกกำลังกายในพื้นที่ใหญ่ๆโล่งๆ ก็อาจเหมาะกับคอนโดสมัยก่อนที่เน้นปริมาตรพื้นที่เยอะๆ แต่ถ้าใครที่ต้องทำงานอยู่ที่บ้าน หรือเป็นฟรีแลนซ์ ก็อาจเหมาะกับคอนโดใหม่ๆ ที่มีพื้นที่ทำงานเป็น Co-Working Space จริงจัง และถ้าใครเป็นคนที่ชอบชมวิวสูงๆ หรือทำกิจกรรมบนดาดฟ้าบ่อยๆ ก็อาจเหมาะกับคอนโดใหม่ก็ได้เช่นกันครับ
ซึ่งถ้าเราเลือกโครงการที่มีฟังก์ชันส่วนกลาง ที่เหมาะสมกับ Lifestyle ตัวเอง ก็จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ที่โครงการนั้นๆได้อย่างมีความสุขครับ ^^
ติดตามพวกเราได้ที่
Website : www.thinkofliving.com
Twitter : www.twitter.com/thinkofliving
YouTube : www.youtube.com/ThinkofLiving
Instagram : www.instagram.com/thinkofliving
Facebook : ThinkofLiving