สวัสดีแฟนเพจที่น่ารักของ Thinkofliving ทุกคนค่ะ ภารกิจอย่างหนึ่งในปลายปีก็คงหนีไม่พ้นการวางแผนการเงินให้ปี 64 ที่เราจะข้ามไปสู่ปีใหม่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้าแล้วนะคะ แต่ปีนี้คงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน เพราะเราเชื่อเหลือเกินว่ายังมีคนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาและยังคงคลี่คลายปัญหาด้านการเงินไม่ได้

หลายคนที่ผ่อนบ้านไม่ไหวก็อาจได้รับการช่วยเหลือลดภาระหนี้จากธนาคารไปตั้งแต่ช่วงต้นปี 63 แล้ว ซึ่งธนาคารเอกชนส่วนใหญ่ก็กำหนดระยะเวลาช่วยเหลือไว้ 6 เดือนหรือบางธนาคารให้ 12 เดือนบ้าง แล้วหลังจากนี้ล่ะ!? ..เบื้องต้นเราได้ค้นหามาตรการการช่วยเหลือจากธนาคารแห่งประเทศไทย และตรงไปสอบถามกับธนาคารชั้นนำต่างๆ ว่าเค้ามีนโยบายอย่างไรบ้าง พอจะสรุปวิธีหลักๆ ออกมาได้ 7 วิธีตามนี้ค่ะ

  1. พักชำระเงินต้น (จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย)
  2. พักชำระหนี้ (ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย)
  3. ลดยอดผ่อนชำระรายเดือนให้ต่ำกว่าปกติ
  4. Refinance
  5. Retention
  6. ขยายเวลาชำระหนี้
  7. ปรับโครงสร้างลูกหนี้รายย่อยโดยวิธีรวมหนี้

แต่ละหัวข้อจะมีรายละเอียดอย่างไร เราเตรียมข้อมูลไว้ให้แล้ว และปิดท้ายบทความเรามีนโยบายใหม่ที่เป็นตัวช่วยจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะเริ่มใช้ช่วงเมษายนปี 64 มาเล่าให้ฟังด้วยค่ะ

1. พักชำระเงินต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย หมายความว่าธนาคารจะให้เราจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย (เงินต้นยังอยู่เหมือนเดิม) ซึ่งเราต้องมาดูว่าโดยปกติแล้วเราจ่ายดอกเบี้ยไปเท่าไร ตัดเป็นเงินต้นเท่าไหร่ ก็จะจ่ายแค่เฉพาะส่วนของดอกเบี้ย ก็ถือว่ายังดีที่พอช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้ โดยธนาคารส่วนใหญ่จะต่อระยะเวลาออกไปให้อีก 3-6 เดือนและอาจจะมีเงื่อนไขอื่นๆ อีก ซึ่งมีกำหนดรับลงทะเบียนด้วยนะคะ ทางที่ดีใครที่รู้ตัวว่าผ่อนบ้านไม่ไหวให้รีบติดต่อธนาคารไปสอบถามเป็นแต่ละกรณีไปจะดีที่สุดค่ะ

2. พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หรือการพักจ่ายหนี้ไปเลย เป็นทางออกที่น่าสนใจสำหรับคนไม่มีรายได้เข้าในช่วงนี้เลยนะคะ จากการสอบถามหลายๆ ธนาคารก็จะให้เวลาอยู่ที่ 3 เดือน ถือว่าดีทำให้เราชลอการจ่ายหนี้ออกไป สามารถเอาเงินสดที่เก็บไว้ไปใช้ตอนวิกฤตแบบนี้ก่อนได้ แต่การพักชำระหนี้ไม่ได้หมายความว่า เงินต้นและดอกเบี้ยแต่ละเดือนจะหายไปนะคะ ธนาคารจะเอาคิดทบคืนย้อนหลังเมื่อครบกำหนด แล้วจะแบ่งจ่ายอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขแต่ละธนาคารอีกทีค่ะ

3. ลดยอดผ่อนชำระรายเดือนให้ต่ำกว่าปกติ มีหลายธนาคารที่ยินดีให้ขอปรับลดยอดผ่อนได้นะคะ โดยส่วนใหญ่จะปรับลดลงให้ประมาณ 30%-50% และจะมีกำหนดระยะเวลาด้วยว่าปรับลดให้กี่เดือน ซึ่งปกติธนาคารมักยอมให้ผ่อนผันได้ไม่เกิน 2 ปี และขอดำเนินการได้ครั้งเดียวค่ะ

4. Refinance เป็นอีกหนึ่งหนทางสำหรับลูกหนี้ที่ผ่อนบ้านไม่ไหวใช้เพื่อช่วยลดค่างวดแต่ละเดือนให้น้อยลงได้ โดยย้ายหนี้บ้านจากธนาคารเดิมที่เรามีสัญญาร่วมกันอยู่ไปยังธนาคารใหม่ เพื่อที่เราจะได้ดอกเบี้ยในอัตราที่ถูกกว่าเดิม ซึ่งส่วนใหญ่ธนาคารจะกำหนดให้เรา Refinance ได้หลัง 3 ปี มิฉะนั้นจะเสียค่าปรับนะคะ

เพื่อไม่ให้เสียเวลาเราได้เข้าไปทำการบ้านมาให้เพื่อนๆ แล้วว่า อัตราดอกเบี้ยที่ถูกสุดของแต่ละธนาคารเฉลี่ย 3 ปี ในกรณีไม่ทำประกันชีวิตของแต่ละธนาคารนั้นอยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งจริงๆแล้วเค้าจะมีหลายโปรแกรมให้เลือกทั้งอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่หรือลอยตัว ทำประกันหรือไม่ทำประกัน มีให้เลือกหลากหลาย และมีความเหมาะสมกับแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน ใครสนใจสามารถคลิกอ่านบทความ รู้จัก “Refinance” การย้ายหนี้บ้านไปธนาคารใหม่เพื่อเสียดอกเบี้ยต่ำกว่าเดิม ได้เลยค่ะ

5. Retention เป็นอีกวิธีหนึ่งในการลดดอกเบี้ยบ้านได้เหมือนกับ Refinance ต่างกันแค่เป็นการขอลดอัตราดอกเบี้ยกับธนาคารเดิมที่เป็นเจ้าหนี้ปัจจุบัน ซึ่งทำง่ายกว่าเพราะไม่เสียค่าธรรมเนียมในการยื่นกู้ใหม่ ไม่ต้องเสียค่าจดจำนองใหม่ แต่ก็อาจไม่ได้มีอัตราดอกเบี้ยที่ดึงดูดใจเท่ากับการย้ายไปธนาคารใหม่นะคะ

6. ขยายเวลาชำระหนี้ ตามปกติแล้วธนาคารส่วนใหญ่จะกำหนดระยะเวลาปล่อยกู้ประมาณ 30 ปี และจะต้องผ่อนชำระหนี้ทั้งหมดภายในอายุ 70 ปี ซึ่งหากการกู้เดิมยังไม่เต็มระยะเวลาการกู้ก็อาจขอขยายออกไปอีกได้ จะช่วยให้ภาระหนี้ในแต่ละเดือนลดลง เช่น จากเดิมเคยยื่นกู้ไว้ว่าจะชำระหนี้ 25 ปี ก็อาจขอยืดระยะเวลาไปเป็น 30 ปีได้ แต่รวมแล้วต้องชำระทั้งหมดก่อนอายุ 70 ปีค่ะ

7. ปรับโครงสร้างลูกหนี้รายย่อยโดยวิธีการรวมหนี้ เป็นนโยบายช่วยเหลือจากธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับใครที่ติดหนี้ทั้งสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรายย่อยที่ไม่มีหลักประกันอย่างเช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล

วิธีช่วยเหลือของเค้าคือการใช้บ้านเป็นหลักประกัน เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยให้กับสินเชื่ออื่นๆ เช่น อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตปัจจุบันอยู่ที่ 20-30% ต่อปี ก็จะถูกปรับลดลงมาไม่ให้เกิน MRR ในปัจจุบัน ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารอีกทีว่ามีค่า MRR อยู่ที่เท่าไหร่ เพราะไม่เท่ากันของแต่ละธนาคาร ล่าสุดที่เช็คมาในช่วงธันวาคมปี 63 อยู่ในช่วงประมาณ 5.7-7% ซึ่งต่ำกว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล โดยสามารถเข้าร่วมโครงการได้ถึง 31 ธ.ค. ปี 64 ติดต่อผ่านทางธนาคารที่เรากู้บ้านได้เลยค่ะ

รายละเอียดของการปรับโครงสร้างลูกหนี้รายย่อยโดยวิธีการรวมหนี้ จะมีรายละเอียดตามช่องสีแดง (New) เป็นมาตรการล่าสุดที่เพิ่งออกมาช่วยเหลือเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2563 นี้เอง แต่เค้าก็มีเงื่อนไขกำหนดมาว่าสถานะของสินเชื่อบ้านจะต้องไม่เป็นหนี้เสีย (NPL) หมายถึงว่าต้องไม่มีหนี้ค้างชำระเกิน 90 วันนะคะ

ครบแล้วสำหรับ 7 ทางเลือกที่ธนาคารได้จัดมาตรการต่างๆ มาช่วยเหลือลูกหนี้ นอกจากนี้ยังมีข่าวดีว่าในช่วงต้นปีหน้าประมาณเดือนเมษายนปี 64 จะมีประกาศจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกมาช่วยเหลือคนไม่มีเงินจ่ายหนี้โดยเฉพาะ

เราอ่านดูประกาศฉบับนี้แล้วให้ประโยชน์กับลูกหนี้ที่ผ่อนบ้านไม่ไหวแบบเต็มๆ ช่วยลดการเกิดหนี้เสีย ช่วยลดดอกเบี้ยผิดนัดที่ต้องจ่าย และช่วยลดเงินต้นได้กว่าแบบเดิมๆ ซึ่งเราสรุปออกมาได้เป็น 3 เรื่องหลักๆ ดังนี้

1. การเปลี่ยนวิธีคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดจ่ายหนี้ จากเดิมหากมีการผิดนัดจ่ายหนี้เพียงงวดเดียว ธนาคารจะคำนวณดอกเบี้ยจากฐานของเงินค้างทั้งหมด ตัวอย่างเช่น หากเงินต้นที่เราผ่อนมาเหลือ 4.77 ล้านบาท ธนาคารก็จะคิดดอกเบี้ยผิดนัดจากเงินต้นที่เหลือ 4.77 ล้านบาทเลย ซึ่งจะถือเป็นดอกเบี้ยผิดนัดประมาณ 27,xxx บาทเลยค่ะ

แต่หลังจากเดือนเมษายนปี 64 จะมีการปรับใหม่ หากเราผิดนัดไม่จ่ายหนี้ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นของเดือนที่เราผิดนัด เช่น เดือนนั้นเราต้องจ่ายค่างวด 42,000 บาท คิดเป็นดอกเบี้ย 32,000 บาท และเงินต้น 10,000 บาท เมื่อเราจ่ายหนี้ไม่ไหวต้องผิดนัด ก็จะโดนคิดดอกเบี้ยผิดนัดจากเงินต้น 10,000 บาทเท่านั้น มาตรการนี้ช่วยให้เราไม่ต้องมีหนี้พอกหางหมูเยอะขึ้นไปเรื่อยๆ แบบของเดิม ซึ่งจะช่วยลดได้เท่าไหร่ เราจะคำนวณตามตัวอย่างให้ดูค่ะ

กรณีตัวอย่างเดิมนะคะ ถ้าต้องจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดตามรูปแบบเดิมก็จะต้องจ่าย 27,433.84 บาท ในเดือนถัดไปเลยทีเดียว แต่การคิดดอกเบี้ยแบบใหม่ทำให้ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ลดลงเหลือ 8.22 บาทที่จะต้องจ่ายเพิ่มในเดือนถัดไปเท่านั้น ช่วยประหยัดค่าดอกเบี้ยไปได้ถึง 27,433.84 – 8.22 = 27,425.62 บาท

2. เปลี่ยนวิธีการตัดชำระหนี้จากแบบแนวตั้งเป็นแนวนอน อธิบายจากตัวอย่าง เช่น กรณีที่ลูกหนี้ค้างชำระ 3 งวด มียอดค้างชำระทั้งหมด 30,900 บาท เมื่อนำเงินมาชำระ 10,300 บาทแล้ว หากเป็นแบบเดิมหรือการใช้วิธีตัดชำระแบบแนวตั้ง ธนาคารจะนำเงินไปตัดค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยทั้งหมดก่อน แล้วค่อยตัดเงินต้นหลังสุด ซึ่งทำให้ดอกเบี้ยในงวดถัดไปจะคำนวณจากเงินต้นที่สูงกว่าแบบใหม่

สำหรับรูปแบบใหม่เป็นการตัดชำระแบบแนวนอน คือเมื่อเราจ่ายหนี้ให้ธนาคาร 10,300 บาท ธนาคารจะนำไปตัดยอดค่าธรรมเนียม+ดอกเบี้ย+เงินต้นของงวดที่ 1 ก่อน ส่งผลให้ดอกเบี้ยในงวดถัดไปถูกคำนวณจากเงินต้นที่ลดลงนั่นเอง

3. การกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่เหมาะสมขึ้น โดยกำหนดให้เพดานอัตราดอกเบี้ยผิดนัดไม่เกิน 9% และเมื่อรวมกับดอกเบี้ยเงินกู้แล้วต้องไม่เกิน 11% เท่านั้น จึงช่วยลดดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายได้ค่ะ


สรุปทิ้งท้าย แม้ว่าสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบันจะส่งผลกระทบกับบรรดาลูกหนี้จำนวนมาก บทความนี้เราจึงได้รวบรวมมาตรการเยียวยาต่างๆ จากทั้งทางธนาคารแห่งประเทศไทยรวมถึงธนาคารของรัฐและเอกชน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นข้อมูลที่ช่วยหาทางออกให้กับลูกหนี้ทุกคน สุดท้ายผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆท่าน และยินดีเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการให้ความช่วยเหลือ เราจะผ่านมันไปด้วยกันค่ะ